“ความรับผิดทางอาญาในการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลในสถานการณ์ COVID-19”
ผู้เขียน อธิป ปิตกาญจนกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ แม้ว่าทั้งภาครัฐและเอกชนจะมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวแล้ว ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าสถานการณ์ COVID-19 นี้สิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ประชาชนส่วนใหญ่ก็คอยติดตามสถานการณ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (social media) เช่น Facebook, Line, Twitter ฯลฯ และในหลายครั้งก็ได้แชร์ข้อมูลต่อให้กับเพื่อน ครอบครัว และคนอื่น ๆ โดยไม่ได้มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าวเสียก่อน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน หรือแม้กระทั่งการบอกกันปากต่อปากกับคนใกล้ตัวก็อาจก่อความเสียหายกับคนอื่นได้เช่นกัน การเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับ COVID-19 ที่อาจก่อความเสียหายแก่ผู้อื่น และอาจก่อให้เกิดความรับผิดทางอาญานั้นอาจเกิดขึ้นได้ตามกรณีตัวอย่างดังต่อไปนี้
กรณีที่ 1 นายแดง นายดำ นายขาว เป็นเพื่อนบ้านกัน นายแดงนำเรื่องที่นายขาวติดเชื้อไวรัสไปบอกกับนายดำ เพราะต้องการให้นายดำอยู่ห่างจากนายขาว ไม่ว่าเรื่องดังกล่าวนี้จะเป็นความจริงหรือไม่ นายแดงก็อาจมีความรับผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ได้ ด้วยเหตุที่ว่าการกระทำของนายแดง (ผู้ใด) นั้น เป็นการใส่ความนายขาว (ผู้อื่น) ต่อนายดำ (บุคคลที่สาม) โดยประการที่น่าจะทำให้นายขาวเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรงยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง นายแดงจึงมีความรับผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาทต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีที่ 2 ต่อเนื่องจากกรณีแรก ถ้านายแดงนำเรื่องที่นายขาวติดเชื้อไวรัสดังกล่าวเผยแพร่บน social media เช่น Facebook, Line, Twitter ก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ด้วย เนื่องจากเป็นกรณีที่นายแดงหมิ่นประมาทนายขาวโดยมีการเผยแพร่ต่อประชาชนทั่วไป (การโฆษณา) หรือแม้กระทั่งการแชร์หรือส่งต่อข้อมูลที่มีเนื้อหาลักษณะเดียวกันนี้ต่อจากบุคคลอื่นก็มีความผิดเช่นเดียวกัน ซึ่งต้องระวางโทษหนักกว่ากรณีแรก คือจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
อย่างไรก็ตาม นายแดงอาจจะไม่มีความผิดตามมาตรา 326 หรือ 328 ข้างต้น เพราะมีเหตุยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) กรณีติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายกรณี เช่น นายแดงไม่ได้กระทำไปเพราะต้องการให้นายขาวเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง แต่ทำไปตามวิสัยที่ประชาชนพึงกระทำ กล่าวคือในสถานการณ์เช่นนี้ เมื่อทราบว่าใครมีน่าจะติดเชื้อไวรัส นายแดงหรือประชาชนทั่วไปก็มักจะบอกหรือเตือนผู้อื่น รวมถึงประชาชน หรือแม้กระทั่งสังคม เพื่อให้ระมัดระวังตัว เป็นต้น หรืออาจได้รับการยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 กรณีที่นายแดงสามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ตนหมิ่นประมาทนายขาวนั้นเป็นความจริง ด้วยเหตุที่การใส่ความในเรื่อง COVID-19 ในสถานการณ์นี้ย่อมมิใช่การใส่ความในเรื่องส่วนตัวของนายขาว เพราะอาจกระทบต่อสังคมโดยรวมได้ และการพิสูจน์ของนายแดงย่อมเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ในส่วนนี้ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่านายแดงสามารถอ้างเหตุยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 ได้
กรณีที่ 3 การเผยแพร่ข้อความบน social media หรือส่งข้อมูลเข้าไปในกลุ่ม Line ที่มีลักษณะเป็นสาธารณะ กล่าวคือ มีประชาชนเป็นสมาชิก เช่น กลุ่ม Line ของคนในชุมชนหรือหมู่บ้าน โดยมีลักษณะเป็นการใส่ความตัวเอง ตัวอย่างเช่น นายขาวไปตรวจ COVID-19 มาแล้ว ทราบดีว่าตนไม่ได้ติดเชื้อไวรัส แต่กลับเผยแพร่ข้อความบน Facebook ของตน หรือส่งข้อมูลดังกล่าวเข้าไปในกลุ่มไลน์ของหมู่บ้าน การกระทำของนายขาวเป็นการนำข้อมูลที่ว่าตนติดเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้คนที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันกับนายขาว เช่นนี้เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 14 (2) พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากตัวอย่างทั้ง 3 กรณีข้างต้น สามารถสรุปได้ว่าในสถานการณ์ที่เชื้อไวรัส COVID-19 นี้ การเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อ COVID-19 ทุกคนควรใช้วิจารณญาณกลั่นกรองข้อเท็จจริงต่าง ๆ ให้รอบคอบเสียก่อน และไม่ควรที่จะแสวงหาโอกาสจากสถานการณ์นี้เพื่อกลั่นแกล้งผู้อื่น ไม่ว่าจะด้วยการใส่ความผู้อื่นหรือตนเองก็ตาม ซึ่งอาจมีความรับผิดทางอาญาตามกฎหมายได้ อีกทั้ง หากเป็นข้อมูลซึ่งผู้เผยแพร่หรือส่งต่อรู้หรือควรจะได้รู้ว่าฝ่าฝืนต่อความจริง ผู้นั้นก็อาจจะมีความรับผิดในทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 ซึ่งสามารถถูกผู้เสียหายเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับความเสียหายที่เขาได้รับจากการกระทำดังกล่าวได้อีกด้วย