วีริศ อติชาตพงษ์สุข (ซ้ายในภาพ) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (LLB ท่าพระจันทร์) ได้รางวัล Best Mooter – Prosecution ในแข่งขันว่าความศาลจำลองเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law Moot Court Competition) รอบภาษาอังกฤษ ซึ่งแข่งขันเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2563 จัดขึ้นโดยคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) สำนักงานภูมิภาคกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์
การแข่งขันว่าความนี้จัดคู่ขนานไปกับบทบาทสมมติในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL Role Play) ที่แข่งขันในเนื้อหาสถานการณ์เดียวกันในวันก่อนหน้า โดยผู้เข้าแข่งขันทีมเดียวกันนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันบทบาทสมมติ (อ่านข่าวเกี่ยวกับ IHL Role Play ได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/ihl-role-play-competition-2020/ และอ่านบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับ IHL Role Playได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/talkwithlawstudents-ep39/) ส่วนในการแข่งขันว่าความนั้น ทีมคณะนิติศาสตร์ได้เข้ารอบ Semi-Final และได้รับการจัดลำดับเป็นทีมอันดับที่ 4 โดยสมาชิกอีกสองคนของทีมคือศุภกร วิลาศรัฒมี และณธัช จงเจริญพานิช (กลางในภาพ) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (LLB ท่าพระจันทร์) วันนี้เราจะไปพูดคุยกับวีริศถึงประสบการณ์และสิ่งที่ได้รับในการเข้าแข่งขัน IHL Moot Court Competition 2020 รอบภาษาอังกฤษ
คำถาม (1) : เตรียมตัวอย่างไร
วีริศ : “โจทย์ของ IHL moot จะเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เนื้อหาก็จะครอบคลุมว่า ในสงครามเราจะปฎิบัติต่อพลรบหรือ พลเรือนอย่างไร มีอะไรที่ห้ามทำบ้าง อะไรที่สามารถทำได้บ้าง ก่อนอื่นเราก็ต้องมาหาข้อมูลกันก่อนครับ ก็ต้องไปดูว่าโจทย์เป็นเรื่องอะไร ข้อกฎหมายไหนที่เข้าเค้า เราจะได้ทำหน้าที่เป็นทั้งสองฝั่ง ซึ่งมันก็ดีตรงที่ว่าพอเราไปเป็นอีกฝั่งแล้ว ก็จะกลายเป็นว่า “ถ้าเราเป็นฝั่งนั้น เราจะแย้งมาอย่างไร” เราก็อาจจะได้มุมมองอะไรใหม่ ๆ เหมือนกัน จากนั้นก็เริ่มเขียนสรุปย่อแถลงการณ์ (memo) ของทีมโดยค้นหาข้อมูลจากตัวสนธิสัญญา ข้อกฎหมายต่าง ๆ เคส และคำพิพากษาเก่า จากนั้นก็นำมาปรับใช้ และสรุปลงใน memo ของทีม จากนั้นก็จะมาเตรียมตัวอ่านสำหรับวันพูดจริง”
คำถาม (2) : ในการเตรียมตัวมีปัญหาอะไรไหม
วีริศ : “คือผมไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อนเลยครับ (หัวเราะ) แรก ๆ หาข้อมูลก็งง ๆ อยู่บ้าง เช่น ต้องเขียน memo ออกมาแบบไหน อะไรยังไง กับ ผมคิดว่าสิ่งที่ตัวเองต้องปรับปรุงคือ การตั้งธงไปก่อนว่าสู้ไม่ได้ครับ คือ พอคิดว่า ฝั่งนี้หาข้อมูลแล้วมันเสียเปรียบ ก็จะเริ่มท้อ แล้วทำให้ผลออกมาไม่ดีพอ การจัดการเวลาก็สำคัญมากครับ”
“ส่วนตอนปฎิบัติแรก ๆ ก็มีประหม่า แต่พอไปได้สักพักแล้ว ก็เริ่มเป็นตัวของตัวเอง กิจกรรมนี้ดีอย่างนึงคือ พอจบรอบแล้ว judges ก็จะมาสรุปให้เราฟังว่า เป็นอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ซึ่งทำให้เราได้มาพิจารณาตัวเองว่าเราพลาดอะไรไปบ้าง ผมว่าผมเป็นคนติดทำอะไร แบบ by the book มากเกินไป เวลาเจออะไรที่ต้องพลิกแพลงขึ้นมา ก็จะเริ่มลน ข้อมูลบางส่วนที่ไม่แน่นมากพอ พอผมเจอ judge จี้เข้าไป ก็เสียขบวนเลยครับ ซึ่งผมว่าถ้าเกิดมีโอกาสในการในการทำ moot court อีก ก็ต้องมาปรับมาแก้กันในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผม”
“ระหว่างงานก็เจอปัญหาการสื่อสารระหว่างในทีมอยู่ด้วยครับ บางทีผมเขียน memo พลาด หาหาข้อมูลมาได้ไม่ดีพอ หรือไม่ได้ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ทำให้เพื่อนร่วมทีมต้องเจอปัญหา หรือไม่เข้าใจกันได้”
คำถาม (3) : สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรม moot court ครั้งนี้
วีริศ : “กิจกรรม moot court ของ IHL ช่วยพัฒนาทักษะความรู้ความเข้าใจทางด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ได้ดีจริง ๆครับ หากใครที่อยากจะทำงานกับคณะกรรมการกาชาด กิจกรรมนี้ถือเป็นช่องทางที่ดีเลยครับ การฝึกเขียนสรุปแถลงการณ์ ก็เป็นทักษะที่สำคัญมากในการทำงานสายกฎหมายในอนาคต การให้เหตุผล การใช้กฎหมายให้เหมาะกับสถานการณ์ การค้นคว้าหาข้อมูล งานนี้ก็ได้ฝึกส่วนนี้มากครับ”
“การทำงานเป็นทีมก็เป็นสิ่งที่ผมได้ทั้งประสบการณ์และบทเรียนจากกิจกรรมนี้อยู่มากครับ การแบ่งหน้าที่ของแต่ละคน ฝึกการสื่อสารระหว่างเพื่อนในทีม ถ้าถึงจุดที่ต้องเจออุปสรรคแล้ว ควรจะทำยังไง งานนี้เป็นบทเรียนชิ้นใหญ่ผมเลยครับ แน่นอนว่าทักษะการพูด การแสดงออก พอได้มาแล้ว เหมือนปลดล็อคตัวเองเลยครับ เพราะไม่เคยลองมาก่อน พอได้ลองแล้ว เหมือนจะได้ความมั่นใจมากขึ้น ถ้าเกิดได้มีโอกาสมาพูดต่อหน้าสาธารณะอีก ก็คาดว่าคงจะทำได้ดีขึ้นแน่นอน นอกจากนี้ก็ยังได้เปิดวิสัยทัศน์ให้เรามองอะไรต่าง ๆ ได้กว้างมากขึ้น มองจากหลาย ๆ มุมมอง ความละเอียดอ่อนในการทำงาน วางแผน ทำให้เรามาคิดได้อีกทีว่า เรามีอะไรที่ต้องมาพัฒนาปรับปรุงตัวเองอยู่เยอะ ในด้านการทำงานในเวลาที่จำกัดก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ก็เป็นบทเรียนให้ตัวเองได้รู้ว่า ควรบริหารจัดการเวลาให้ดีมากขึ้น”
ภาพโดย อ.ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล
เรียบเรียง KK