ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดแข่งขันโต้เถียงปัญหากฎหมายโดยการแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นอุทธรณ์ รอบภายในคณะนิติศาสตร์ ครั้งที่ 18 ประจำปีการศึกษา 2563 โดยผู้ชนะเลิศการแข่งขันในปีนี้ได้แก่ จิรภัทร ชนะสิทธิ์ (ซีดี) เชาวสุ วุฒิเกตุ (เชน) นันทรัตน์ ขำตรี (กิ๊ฟ) เราจะไปคุยกับทั้งสามคนถึงความรู้สึกและประสบการณ์ที่ได้รับจากการแข่งขัน
คำถาม (1) : เหตุผลที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขัน
นันทรัตน์ : “เคยเข้าชมการแข่งขันกิจกรรมเมื่อปีที่แล้วและรู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมาก เนื่องจากตอนเรียนในห้องเราก็เรียนแค่ภาคทฤษฎี แต่ละวิชาก็เรียนแยกกัน สอบแยกกัน แต่กิจกรรมนี้คือโจทย์ที่ได้มาไม่มีการแยกให้แบบในห้องเรียนอีกแล้ว ทุกอย่างมันผสมกันมาหมด เหมือนเป็นการจำลองสิ่งที่เราจะได้เจอจริง ๆ ในเส้นทางการประกอบวิชาชีพกฎหมายในอนาคต ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายและน่าสนุกมากก็เลยเข้าร่วมกิจกรรมค่ะ”
เชาวสุ : “จุดเริ่มต้นคือจิรภัทร ชวนเข้าร่วมทีมครับ วินาทีแรกคือผมสนใจมากแต่ก็ลังเลว่าจะเข้าร่วมดีไหม เนื่องจากไม่มั่นใจในความสามารถของตนเอง และกลัวทำให้เพื่อนผิดหวัง แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเข้าร่วม เพราะคิดว่านี้คือโอกาสที่ดีมากที่จะช่วยให้ผมได้พัฒนาศักยภาพและความสามารถของตนเอง อีกทั้งยังเป็นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีอีกด้วย”
จิรภัทร : “ผมเห็นประกาศการเเข่งขันนี้ตั้งเเต่ช่วงเปิดภาคเรียนเเรก ๆ เเต่คิดว่าคงหาเพื่อนร่วมทีมยาก เเละประกอบกับในเทอมนี้ก็ทำกิจกรรมมากพอสมควรอยู่เเล้ว ในตอนนั้นเลยไม่ได้คิดว่าจะสมัครเข้าเเข่งขันครับ เเต่พอประมาณปลายเดือนสิงหาคม นันทรัตน์ได้มาชักชวนผมให้สมัครเเข่งขันด้วยกัน ผมเลยตัดสินใจตอบตกลงไป เพราะเหตุว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ยังไม่เคยทำ เเละผมก็รับหน้าที่หาเพื่อนอีกคนมาร่วมทีม ซึ่งก็ได้เชาวสุมาเป็นเพื่อนในทีมอีกคนครับ”
คำถาม (2) : มีวิธีการเลือกเพื่อนร่วมทีมอย่างไร
นันทรัตน์ : “เพื่อน ๆ ในแก๊งที่เราสนิทบางคนก็มีทีมแล้ว ส่วนคนอื่น ๆ ไม่ได้สนใจลงแข่ง เลยลองไปชวนเพื่อนนอกกลุ่มดูค่ะ ก็คือไปชวนซีดี (จิรภัทร) เพราะคิดว่าน่าจะสนใจกิจกรรมเหมือนกัน ปรากฏว่าซีดีก็ตอบตกลงทันที แล้วหลังจากนั้นซีดีก็ชวนเชน (เชาวสุ) มาเพิ่มจนทีมครบ 3 คนค่ะ มองว่าทีมโชคดีอย่างหนึ่งคือทุกคนเป็นคนมุ่งมั่นตั้งใจทำงานหมดเลย อีกอย่างคือในแต่ละวิชาที่เรียนจะมีคนที่เรียนคนละเซคชันกัน ทำให้เราได้รู้ความเห็นทางวิชาการหลายความเห็น เป็นประโยชน์ในการค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ”
เชาวสุ : “ผมไม่ได้มีโอกาสเลือกเพื่อนร่วมทีมนะครับ เพราะผมเป็นสมาชิกคนสุดท้ายที่ได้เข้าร่วมในทีม แต่ผมรู้สึกเป็นเกียรติและดีใจมากที่ได้อยู่ทีมนี้ เพราะสนิทและคุ้นเคยกับจิรภัทรดีอยู่แล้ว ส่วนนันทรัตน์ แม้จะไม่ใช่เพื่อนในกลุ่มเดียวกันมาก่อนแต่ผมก็พอทราบถึงความสามารถของเพื่อนคนนี้มาบ้างแล้วเช่นกัน ยิ่งได้ร่วมงานกับเพื่อนทั้งสองคน ผมยิ่งดีใจที่ผมตัดสินใจเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของทีมนี้ครับ”
จิรภัทร : “ในส่วนของผมที่เป็นคนเลือกเชาวสุเข้ามาร่วมทีม เพราะเห็นว่าเขาเป็นคนที่จับประเด็นเก่ง หาช่องว่างของข้อเท็จจริงเเละกฎหมายได้ดี อาจพูดเป็นภาษาทั่วไปว่าเขาเป็นคนจับช่องโหว่ของกฎหมายเป็น ประกอบกับผมเเละเชาวสุก็เป็นเพือนกลุ่มเดียวกันที่สนิทคุ้นเคย เเละพูดคุยประเด็นทางกฎหมายกันบ่อย ๆ เลยคิดว่าถ้ามาร่วมทีมกันน่าจะทำงานได้ง่าย เเละจะไม่รู้สึกอึดอัดถ้าจะต้องเเนะนำหรือเสนอเเนะความเห็นเวลาปรึกษางาน กัน ผมเลยตัดสินใจเลือกมาเข้าร่วมทีมครับ”
คำถาม (3) : การเตรียมตัวก่อนแข่งขัน และระหว่างการแข่งขันเป็นอย่างไร
จิรภัทร : “ตอนเเรกที่ผมเห็นโจทย์ว่า “กฎหมายแพ่งกับสถานการณ์โควิด” ก็เดาในใจว่าน่าจะเป็นเรื่องผลของการรับบาปเคราะห์จากภัยพิบัติ (มาตรา 370-372 ป.พ.พ.) เลยหาหนังสือเรื่อง “หลักสุจริตเเละเหตุเหนือความคาดหมายในการชำระหนี้” ของอาจารย์กิตติศักดิ์มาอ่านไปพลาง ๆ เเละเเนะนำให้เพื่อนในทีมอ่าน ปรากฏพอเห็นโจทย์จริง ๆ ก็รู้สึกว่าหนังสือของอาจารย์กิตติศักดิ์ตรงกับประเด็นในโจทย์พอสมควรเลยครับ เเต่เนื่องจากในโจทย์ผูกโยงหลายประเด็นมาก ๆ ช่วงนั้นเลยเเบ่งกับเพื่อนในทีมให้ไปค้นเรื่องต่าง ๆ ที่เเต่ละคนถนัด อย่างผมจะค้นเรื่องกฎหมายลักษณะหนี้เป็นหลักครับ พอค้นคว้าข้อมูลเเละทำสรุปย่อคำแถลงการณ์เสร็จเเล้ว ก็จะมาเตรียมตัวในเรื่องการพูดเพื่อเเถลงการณ์ครับ โดยผมกับนันทรัตน์จะผลัดกันพูด เเล้วในทีมจะคอยติชมให้คำแนะนำกัน มันทำให้ความตื่นเต้นเวลาพูดต่อหน้าคนอื่นน้อยลง เวลาต้องเเถลงการณ์จริง ๆ จะไม่รู้สึกตื่นเต้นครับ”
“ส่วนการเตรียมตัวในช่วงเเข่ง ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การหาประเด็นเเละข้อมูลมาโต้เเย้งการเเถลงการณ์ของฝ่ายตรงข้าม ก็จะช่วยกันหาข้อมูล เเละเเยกย้ายกันไปฝึกซ้อมการพูด โดยจะมีเชาวสุคอยหาข้อมูลสำหรับอ้างอิง ทำเอกสารอ้างอิงสำหรับยื่นต่อศาล เเละคอยตรวจสอบความถูกต้องของข้อเท็จจริงที่เเถลงการณ์ออกมาครับ เเละสำหรับการเตรียมตัวก่อนเเถลงการณ์ประมาณ 1 ชั่วโมง โดยส่วนตัวผมก็จะทำสมาธิ ฟังเพลงสบาย ๆ ให้คลายความตื่นเต้นความกังวล เวลาเเถลงการณ์จะทำให้ไม่เกร็งครับ”
นันทรัตน์ : “พอได้รับโจทย์มาแล้วอันดับแรกเลยคืออ่านโจทย์ให้เข้าใจ ตอนอ่านครั้งแรกคือค่อนข้างสับสนเพราะโจทย์ยาวมาก แต่พอเริ่มนัดประชุม เริ่มพูดคุยกันทำให้เราเริ่มเห็นประเด็นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ละครั้งที่มาประชุมกันทุกคนจะแบ่งประเด็นไปค้นคว้าเพิ่มเติม พอกลับมาประชุมครั้งต่อมาก็จะเอาสิ่งที่ตัวเองค้นเจอมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันค่ะ ในส่วนของขั้นตอนการเตรียมแถลง เราต้องการพัฒนาทักษะด้านการพูด เนื่องด้วยเราไม่ใช่คนที่พูดเก่งเลย คือไม่มีพรสวรรค์ในด้านการพูด (หัวเราะ) เลยไปย้อนดูการแข่งขันแถลงการณ์ระดับประเทศที่บันทึกเป็นวิดีโอในยูทูปค่ะ แล้วก็เลือกสไตล์การพูดที่ชอบและคิดว่าเหมาะกับเรา เพราะรู้ว่าตัวเองพูดไม่เก่งและบวกกับวันจริงยังไงเราก็ตื่นเต้นแน่ ๆ ศักยภาพในการพูดวันจริงมันจะลดลงจากตอนซ้อมอยู่แล้ว ตอนที่ประกาศแล้วว่าจะได้เป็นฝ่ายโจทก์หรือจำเลยจึงฝึกพูดเยอะมาก ๆ ซ้อมพูดกับตัวเอง พอใกล้วันแข่งก็จะไปพูดให้เพื่อนในทีมฟังและให้เพื่อนช่วยกันคอมเมนท์ค่ะ ซึ่งจริง ๆ แม้การแข่งจะจบไปแล้วแต่เราก็คิดว่าตัวเองยังต้องพัฒนาทักษะการพูดไปอีกเรื่อย ๆ เลยค่ะ”
เชาวสุ : “เนื่องจากระยะเวลาที่กำหนดให้ทำสรุปย่อแถลงการณ์ค่อยข้างน้อยมาก ประกอบกับหัวข้อโจทย์ในการแข่งขันที่กำหนดก่อนประกาศโจทย์แข่งขันก็ค่อนข้างกว้างมากเช่นกัน ดังนั้นช่วงก่อนแข่งขันผมจึงจำเป็นต้องทบทวนเนื้อหาที่เคยเรียนมาอย่างหนัก เพื่อเป็นการเตรียมความรู้ให้พร้อมสำหรับการแข่งขัน”
“ส่วนการเตรียมตัวระหว่างแข่งขัน ผมต้องค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมให้มากที่สุดเนื่องจากโจทย์ที่กำหนดให้ จำเป็นต้องอาศัยความรู้จากกฎหมายหลายบทหลายเรื่องมาก ซึ่งบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่เราได้ศึกษาไปแล้ว กำลังศึกษาอยู่ และยังไม่เคยได้ศึกษามาก่อน เราจึงต้องทบทวนความรู้ที่ได้ศึกษาไปแล้วควบคู่ไปกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยได้ศึกษามาก่อน นับเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถมาก ๆ เลยครับ เพราะทุกอย่างต้องทำให้ดีที่สุดในช่วงเวลาที่จำกัด”
คำถาม (4) : รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโจทย์คำถามในการแข่งขัน
นันทรัตน์ : “ครั้งแรกที่อ่านโจทย์คืองงและสับสนมาก (หัวเราะ) เนื่องจากโจทย์ยาวถึง 12 หน้าและยังมีสัญญาแนบท้ายด้วย ข้อเท็จจริงก็พันกันยุบยับไปหมด แต่พอเริ่มพูดคุยกับเพื่อน เขียนไทม์ไลน์ข้อเท็จจริง เริ่มแกะประเด็นก็รู้สึกสนุกมากขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ รู้สึกชื่นชมทางคณะกรรมการที่แต่งโจทย์มาก ๆ ส่วนตัวมองว่าโจทย์ที่ออกมาเจ๋งมาก สามารถเชื่อมโยงกฎหมายหลายบรรพเข้าด้วยกัน คือทุกอย่างในโจทย์สามารถเป็นประเด็นทางกฎหมายได้หมดเลย”
เชาวสุ : “ครั้งแรกที่อ่านโจทย์ ผมรู้สึกว่าเป็นโจทย์ที่ยาวมาก และยังมีประเด็นข้อต่อสู้ทางกฎหมายหลายประเด็นมากอีกด้วย เนื่องจากโจทย์ได้มีการมัดข้อเท็จจริงและซ่อนประเด็นไว้อย่างซับซ้อน ซึ่งต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบและระมัดระวังเป็นอย่างมาก”
จิรภัทร : “สำหรับผมมองว่าโจทย์ค่อนข้างยากมากทีเดียว ซ่อนประเด็นต่าง ๆ ไว้เยอะมาก ต้องอ่านข้อเท็จจริงซ้ำหลายรอบถึงจะเจอประเด็นที่ซ่อนไว้ บางทีเป็นเรื่องที่เรียนตั้งเเต่ชั้นปี 1 ก็มีลืมไปบ้างเเล้ว เลยต้องกลับไปทบทวนเเละทำความเข้าใจใหม่หลายเรื่อง เเละยังมีกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งผมรู้สึกไม่ค่อยถนัดด้วย รวมถึงโจทย์ลักษณะนี้ผมไม่ได้เจอในการเรียนทั่วไป เพราะมีการผูกโยงกฎหมายลักษณะต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกันหลายเรื่อง มันทำให้เราต้องคิดกว้าง คิดไกลในทุกเรื่อง ทีมผมก็พยายามช่วยกันหาประเด็นทั้ง 6 บรรพในประมวลกฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์เลยครับ ซึ่งในเรื่องนี้สำหรับผมเองต้องขอขอบพระคุณ อ.สุรศักดิ์ มณีศร เเละ อ.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ที่เวลาท่านสอนในห้องเรียน ท่านจะฝึกให้คิดไปหลาย ๆ เรื่อง โยงกฎหมายหลายลักษณะใน ป.พ.พ. เลยทำให้ผมไม่รู้สึกตกใจมากที่เจอโจทย์ลักษณะนี้ครับ”
คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลดโจทย์คำถามในการแข่งขัน
คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลดเอกสารแนบสำหรับโจทย์คำถามในการแข่งขัน
คำถาม (5) : รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับรูปแบบการแข่งขัน
จิรภัทร : “ส่วนรูปแบบการเเข่งขัน ผมประทับใจมากที่ใช้เกณฑ์คะแนนมาตัดสิน ไม่ใช้ระบบ knock out และชอบที่การเเข่งขันค่อนข้างกระชับ ใช้เวลาในการเเข่งขันภายในประมาณเเค่สัปดาห์เดียวก็รู้ผลเลย ทำให้ผมเเละทีมไม่รู้สึกล้ากับการเเข่งขันครับ”
นันทรัตน์ : “ในส่วนของรูปแบบการแข่งขันเห็นด้วยกับซีดี (จิรภัทร) ค่ะ คือชอบที่การแข่งขันใช้เกณฑ์คะแนน ไม่ใช่ knock out ทำให้รู้สึกว่าทุกทีมมีโอกาสเข้ารอบหมด ไม่ใช่การแข่งขันกับทีมที่เราแข่งด้วย แต่คือการเตรียมทีมตัวเองให้พร้อมที่สุด ทำในส่วนของทีมตัวเองให้ดีที่สุดค่ะ”
เชาวสุ : “ส่วนรูปแบบการแข่งขัน ผมคิดว่ามีความท้าทายและใกล้เคียงกับชีวิตจริงในวิชาชีพนักกฎหมายมาก เนื่องจากปีนี้กำหนดให้ทีมที่แถลงการณ์ด้วยวาจาจะได้รับสรุปย่อแถลงการณ์ของทีมคู่ต่อสู้ก่อนวันแข่งขัน ดังนั้นผู้เข้าแข่งขันทุกทีมจึงต้องทำการบ้านหนักมาก เพื่อปิดข้อเสียเปรียบในประเด็นข้อต่อสู้ของทีมตนเอง และเพื่อหาข้อเสียเปรียบในประเด็นข้อต่อสู้ของทีมฝ่ายตรงข้าม”
คำถาม (6) : ปัญหาที่เกิดขึ้นในการแข่งขันมีอะไรบ้าง
จิรภัทร : “สำหรับผมคิดว่าไม่ได้เจอปัญหาใหญ่ ๆ ในการเเข่งขันครับ ส่วนมากจะเป็นปัญหาจิปาถะทั่วไป เช่น การหาข้อมูล เพราะหนังสือบางเล่มถูกยืมไปบ้าง ไม่มีบ้าง หรือปัญหาเกี่ยวกับสถานที่ที่จะใช้สำหรับปรึกษางานในทีมที่หาสถานที่ที่สงบค่อนข้างยากครับ ส่วนปัญหาที่ผมคิดว่าหนักที่สุดในการเเข่งครั้งนี้ การที่ผมป่วยระหว่างเเข่งในช่วงรอบคัดเลือกครับ ตอนนั้นคิดว่าต้องฟื้นตัวให้เร็ว เพื่อที่จะมาเเข่งต่อเเละไม่เป็นภาระของทีมครับ”
นันทรัตน์ : “ส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่เป็นปัญหามาก ๆ สำหรับหลาย ๆ ทีมที่เข้าแข่งขันคือในส่วนของการเขียนสรุปย่อคำแถลงการณ์ในรอบแรกค่ะ สังเกตว่าทางเพจศูนย์นิติศาสตร์ได้ชี้แจงวิธีการเขียนที่ถูกต้องภายหลังที่ทุกทีมได้ส่งสรุปย่อในรอบแรกไปแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีหลายทีมมาก ๆ ที่เข้าใจผิด เขียนประเด็นที่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลไปด้วย ซึ่งนอกจากจะไม่ได้คะแนนในส่วนนี้แล้วยังทำให้เปลืองพื้นที่ตัวอักษรด้วยค่ะ เนื่องจากการเขียนจำกัดแค่ 1,000 คำ ดังนั้นหากเราเขียนส่วนที่เห็นด้วยกับคำพิพากษาไปเยอะ แล้วเขียนประเด็นที่จะอุทธรณ์ไปน้อย คะแนนสรุปย่อคำแถลงการณ์ก็จะได้น้อยตามไปด้วย ซึ่งคะแนนนี้มีผลมากในการคัดเลือกรอบแรกที่จะเป็นตัวตัดสินว่าเราได้ไปต่อหรือไม่ ในส่วนของทีมเราตอนเขียนสรุปย่อคำแถลงการณ์รอบแรกก็เข้าใจผิดเรื่องนี้เหมือนกันค่ะ เป็นข้อผิดพลาดของทีมเราด้วยที่ไม่ได้สอบถามเพิ่มเติมเอง แต่เมื่อเห็นว่าหลาย ๆ ทีมก็มีปัญหาเช่นเดียวกันจึงอยากจะเสนอให้ทางคณะกรรมการจัดงานในปีหน้าช่วยชี้แจงให้ชัดเจนขึ้น เพื่อจะได้เป็นประโยชน์กับทุกทีมที่เข้าแข่งขันค่ะ”
เชาวสุ : “ปัญหาความไม่เข้าใจในวิธีการเขียนสรุปย่อแถลงการณ์ที่ถูกต้อง ซึ่งไม่ระบุในคู่มือการเข้าแข่งขันแต่อย่างใด ทำให้ไม่ทราบว่าประเด็นทางกฎหมายที่ควรใส่ในสรุปย่อแถลงการณ์ควรเป็นประเด็นที่ศาลชั้นต้นตัดสินให้เป็นโทษกับฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลยเพียงเท่านั้น ไม่ควรยกประเด็นที่เป็นประโยชน์ใส่ในสรุปย่อแถลงการณ์ด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นสรุปย่อแถลงการณ์ของโจทก์ และศาลได้พิพากษาให้โจทก์ได้รับประโยชน์แล้ว แม้เราจะเห็นว่าเหตุผลที่ศาลยกขึ้นประกอบคำพิพากษาจะขัดกับหลักกฎหมายก็ตาม แต่ในท้ายที่สุดศาลได้พิพากษาตามที่โจทก์ร้องขอแล้ว เช่นนี้ ประเด็นเหตุผลที่เราเห็นแตกต่างจากศาลก็ไม่จำเป็นต้องใส่ในสรุปย่อแถลงการณ์ และการไม่ใส่ประเด็นดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้เราสามารถอธิบายขยายประเด็นอื่น ๆ ได้ยิ่งขึ้นอีกด้วย เนื่องจากกฎกติกาการแข่งขันกำหนดให้สรุปย่อแถลงการณ์ของฝั่งโจทก์และจำเลยไม่เกินฝั่งละ 1,000 คำ”
คำถาม (7) : สิ่งที่ประทับใจจากการแข่งขัน
จิรภัทร : “ผมรู้สึกประทับใจเพื่อน ๆ ทีมอื่นที่เข้าร่วมเเข่งขันด้วยกันครับ ผมกับเพื่อนทีมอื่นปรึกษา ช่วยกันเเนะนำหนังสือ เเลกเปลี่ยนประเด็นกัน โดยไม่ได้คิดว่าเป็นคู่เเข่งกันเลย เเละอีกอย่างที่ผมประทับใจก็คือเพื่อนในทีมที่คอยช่วยเหลือ เเนะนำกัน เเละคอยดูเเลเป็นห่วงกันตลอดการเเข่งขันครับ”
เชาวสุ : “ประทับใจที่ได้มีโอกาสศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งเอกสารประกอบการเรียน หนังสือ ตำราวิชาการ ตลอดจนแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ทั้งหมด ซึ่งมีผลทำให้ผมได้ทบทวนเนื้อหาที่เคยเรียนไปแล้วอีกครั้งจนเกิดความแม่นยำ รวมทั้งยังได้ความรู้ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยได้ศึกษามาก่อน”
“ประทับใจในการเข้าร่วมแถลงการณ์ด้วยวาจาที่เสมือนได้จำลองตัวเองในสถานการณ์จริงในชั้นศาล ได้เห็นวิธีการเตรียมตัว วิธีการรับมือกับความเครียดและความกดดัน วิธีการบริหารจัดการเวลา และวิธีการเลือกใช้คำพูด น้ำเสียง และเหตุผล ในการแถลงการณ์ทั้งจากสมาชิกทีมและสมาชิกทีมฝ่ายตรงข้าม”
นันทรัตน์ : “ประทับใจที่การแข่งขันเสมือนกับการจำลองว่าความในศาลจริง ๆ เป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ทำให้รู้สึกตื่นเต้นและท้าทายค่ะ นอกจากนั้นยังได้ทบทวนความรู้กฎหมายที่เรียนมาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ซึ่งบางเรื่องก็อาจจะลืมไปแล้ว ได้แลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนซึ่งบางเรื่องเรายังไม่เคยเรียนมาก่อนเลย หรือยังไม่เคยลองปรับใช้เชื่อมโยงกับเรื่องอื่น ๆ ทำให้เรามองเห็นภาพการใช้กฎหมายในชีวิตจริงชัดขึ้นมาก รู้สึกทึ่งและสนุกไปในเวลาเดียวกันค่ะ นอกจากนั้นขอขอบคุณอาจารย์และพี่ ๆ ทีมงานศูนย์นิติศาสตร์ทุกคนด้วยค่ะที่ดูแลตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้ายที่แข่งขัน อีกอย่างหนึ่งที่ประทับใจคือท่านคณะกรรมการ (ศาล) ทุกท่าน ที่คอมเมนท์การแถลงของพวกเราในแต่ละรอบ ทำให้เรารู้ว่ายังมีข้อเสียอะไรบ้าง และนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้นในการแถลงรอบต่อไปค่ะ”
คำถาม (8) : สิ่งที่ได้รับจากการแข่งขัน
นันทรัตน์ : “การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ามาก ๆ ค่ะ นอกจากจะทำให้เราได้ทบทวนความรู้ที่เรียนไปแล้ว ยังได้ความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเยอะมาก ได้รู้จักเพื่อนเพิ่มขึ้น ได้พัฒนาทักษะการพูด ที่สำคัญมากคือการเขียนสรุปย่อคำแถลงการณ์ที่ไม่เคยทำมาก่อน ได้ฝึกคิดและปรับใช้กฎหมายหลาย ๆ มุม พยายามอุดช่องว่าง หาเหตุผลสนับสนุนและหาข้อต่อสู้ที่จะเป็นประโยชน์กับลูกความให้มากที่สุดโดยอยู่บนพื้นฐานหลักการกฎหมาย ที่ชอบมากที่สุดคือการเชื่อมโยงความรู้กฎหมายทุกบรรพเข้าด้วยกัน เพราะเหมือนกับเราได้ใช้กฎหมายจริง ได้เอาความรู้เรื่องนิติวิธี การตีความและปรับใช้กฎหมายที่ตอนปี 1 เรายังงง ๆ มาลองใช้จริงแล้ว (หัวเราะ) โดยสรุปคือประทับใจมาก ๆ ค่ะ หากใครที่กำลังสนใจอยู่การทำกิจกรรมนี้จะเป็นประโยชน์อย่างแน่นอนค่ะ”
จิรภัทร : “สิ่งเเรกที่ผมได้รับเเละรู้สึกมีคุณค่ามากคือประสบการณ์ในการเเข่งขันครั้งนี้ครับ เพราะว่าเป็นครั้งเเรกที่ผมได้มีโอกาสเเถลงการณ์ด้วยวาจา ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมตัว บรรยากาศในการเเข่งขัน กฎกติกา ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่สำหรับผมทั้งหมด ถือว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ผมได้รับครับ นอกเหนือจากนี้ ก็เป็นเรื่องที่ผมได้ฝึกการทำงานเป็นทีม จากเเต่ก่อนที่เวลาเราเรียนก็จะคิดอะไรคนเดียว เเต่ครั้งนี้พอต้องแก้ปัญหาโจทย์เป็นทีม ทำให้ได้มีโอกาสเเสดงทัศนะ เเลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อนร่วมทีม ซี่งทำให้ผมรู้ว่าบางทีความเห็นเเละเหตุผลของเราก็ฟังไม่ขึ้น หรือมีข้อบกพร่องอยู่มาก ก็ได้เรียนรู้เเละนำมาแก้ไขครับ เเละสุดท้ายที่คิดว่าการเเข่งขันครั้งนี้ให้บทเรียนกับผมมากที่สุด คือ ทักษะการพูดครับ การเเถลงการณ์ในการเเข่งขันครั้งนี้ ฝึกฝนให้ผมพูดได้อย่างกระชับได้ใจความสำคัญภายใต้เวลาที่จำกัด เเละต้องควบคุมให้การพูดมีความสุขุม หนักเเน่นเเละโน้มน้าวความคิดผู้ฟังไปในเวลาเดียว นับว่าช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารของผมได้เป็นอย่างดีเลยครับ”
เชาวสุ : “สิ่งที่ผมได้รับจากการแข่งขันที่มีคุณค่าที่สุดคือประสบการณ์จากการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ทำให้ผมได้มีโอกาสทบทวนความรู้ที่เคยได้ศึกษาไปแล้วให้แตกฉานยิ่งขึ้น ได้ค้นคว้าทำความเข้าใจในสิ่งที่ไม่เคยได้ศึกษามาก่อน ได้เห็นถึงลักษณะและรูปแบบการทำงานในชีวิตจริงในอนาคตในฐานะนักกฎหมาย ได้ฝึกการเขียนสรุปย่อแถลงการณ์ซึ่งไม่เคยได้ฝึกทำมาก่อน ได้รับทักษะในการคิดและแยกแยะเพื่อเลือกใช้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ได้เรียนรู้ทักษะการให้เหตุผลอย่างมีน้ำหนักในรูปแบบการเขียนและการพูด ทั้งในส่วนการให้เหตุผลเพื่อสนับสนุนข้อกฎหมายฝั่งตนเองและคัดค้านฝ่ายตรงข้าม ได้เรียนรู้มิตรภาพและการทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมทีม”
ภาพ ศูนย์นิติศาสตร์
เรียบเรียง KK