จากซ้ายไปขวาในภาพ วีรภัทร พรหมฤทธิ์ (ราม) ชญานนท์ แสงอ่วม (ฟลุค) เขมทัต ปิ่นชูทอง (ทีม)
วีรภัทร พรหมฤทธิ์ (ราม) ชญานนท์ แสงอ่วม (ฟลุค) เขมทัต ปิ่นชูทอง (ทีม) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งเป็นตัวแทนคณะนิติศาสตร์เข้าแข่งขันตอบปัญหากฎหมายออนไลน์ทั่วประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2563 จัดโดยสำนักงานศาลยุติธรรม และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการแข่งขัน เราจะไปคุยกับทั้งสามคนถึงความรู้สึกและประสบการณ์ที่ได้รับจากการแข่งขัน
คำถาม (1) : เหตุผลที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขัน
วีรภัทร : “หลังจากที่ทีมของเราเข้าร่วมการแข่งขันตอบปัญหาเนื่องในวันรพีรอบภายในเมื่อตอนปี 3 เราก็คุยกันว่าจะลงทุกรายการที่จัด แต่ถ้าถามเหตุผลส่วนตัวของผม เหตุผลของผม คือ ผมอยากเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ บ้าง อยากรู้ว่าการแข่งขันตอบปัญหาจะมีโจทย์หรือเนื้อหาแบบไหนบ้าง อยากหาความรู้เพิ่มเติมมาพัฒนาตัวเอง อยากเพิ่มโปรไฟล์กิจกรรมที่ทำในมหาลัยบ้างเพราะชีวิตมหาลัยผมจะค่อนข้างจำเจ ไม่ค่อยได้ทำอะไรเลย”
ชญานนท์ : “สมัยผมเข้ามาเรียนที่นี่ประมาณปี 1 ปี 2 ผมติดตามรุ่นพี่คนนึงเพราะเป็นเพื่อนกับเขาใน Facebook ครับ ติดตามเรื่องเรียน เรื่องกิจกรรมอะไรต่าง ๆ จนวันนึงก็เห็นเขาถ่ายภาพกับเพื่อนร่วมทีมอีก 2 คน มีเงินรางวัล เกรียติบัตร แล้วก็ถ้วยพระราชทานครับ ซึ่งพี่เขาก็ชนะรายการนี้เหมือนกัน เห็นแล้วเท่ห์ดี เราก็เลยรู้สึกว่าอยากถ่ายรูปแบบนั้นบ้างครับ”
“ด้วยความที่เป็นคนที่แทบจะไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลยในช่วงปี 1 ปี 2 จะมาเริ่มทำจริง ๆ ก็ช่วงปี 3 ครับ พอขึ้นปี 4 รู้สึกว่าเวลาว่างเยอะมากเพราะเรียนวิชาบังคับแค่เทอมละ 3 วิชา เลยรู้สึกอยากทำกิจกรรมที่ตัวเองอยากทำให้ได้มากที่สุดครับ อย่างการแข่งตอบปัญหากฎหมาย ส่วนจะผ่านการคัดเลือกหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องนึง เพราะคิดว่าจบปี 4 ไปแล้วก็จะไม่มีโอกาสรวมตัวกับเพื่อน ๆ เพื่อทำอะไรแบบนี้อีกครับ เนื่องจากเขารับแค่ระดับอุดมศึกษา”
เขมทัต : “เข้าการแข่งขันครั้งนี้เพราะช่วงปี 3 ก็ลงแข่งขันกับรามกับฟลุคเหมือนกันครับ และตั้งใจจะเอาทีมเดิมตอนปี 4 เหมือนกันครับ เลยลงแข่งด้วยกันต่อตอนปี 4”
คำถาม (2) : มีวิธีการเลือกเพื่อนร่วมทีมอย่างไร
วีรภัทร : “คือผมกับฟลุคเรารู้จักกันเป็นการส่วนตัวอยู่แล้วครับ แล้วเราก็เคยคุยกันไว้ว่าเราจะลงแข่งขันตอบปัญหากฎหมายกัน รายการแรกที่เราตัดสินใจเข้าร่วม คือ รายการตอบปัญหากฎหมายวันรพีรอบภายใน ซึ่งในขณะนั้นเรากำลังเรียนอยู่ปี 3 ครับ กติกาของรายการนั้นบอกว่าทีมนึงสามารถมีสมาชิกได้ไม่เกิน 3 คน ด้วยความที่เราสองคนถนัดด้านกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กันทั้งคู่ ผมกับฟลุคก็เลยคุยกันว่าเพื่อให้ทีมของเรามีความรู้รอบด้านทั้งสายแพ่ง สายอาญา แล้วก็สายมหาชนก็เลยจะหาสมาชิกเพิ่มอีกคนนึง เลยตกลงกันว่าฟลุคจะเป็นคนหาสมาชิกมาเพิ่ม ส่วนเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกทีมเข้ามาเป็นสมาชิกอีกหนึ่งคนอันนี้ต้องให้ฟลุคเป็นคนตอบครับ (หัวเราะ)”
ชญานนท์ : “สำหรับการเลือกเพื่อนร่วมทีมนั้น ทีมของเราไม่ได้มีเกณฑ์อะไรเลยครับ ต่างคนต่างก็มาจากคนใกล้ตัวผมทั้งนั้น เริ่มต้นจากรามที่รู้จักกับเขามาตั้งแต่เปิดเทอมปี 1 แล้วช่วงปี 1 ปี 2 ผมก็มักจะบอกกับรามบ่อย ๆ ว่าจะชวนกันไปสมัครแข่งตอบปัญหากฎหมาย ส่วนทีมก็เป็นเพื่อนอีกคนที่ผมชวนมาในภายหลังเพราะคิดว่าเขาชอบด้านมหาชนครับ เพราะฉะนั้น ก็เลยไม่ได้มีเกณฑ์ในการเลือกเพื่อนร่วมทีมครับ แต่จะมาจากเพื่อนใกล้ตัวทั้งนั้น”
“ในส่วนนี้โดยส่วนตัวผมอยากจะแนะนำเพิ่มเติมว่า เวลาจะทำงานหรือกิจกรรมอะไรก็ตามอาจจะไม่จำเป็นต้องหาคนที่มีความเชี่ยวชาญหรือความสามารถพิเศษในเรื่องนั้นก็ได้ครับ อย่างของเราที่เห็นได้ชัดว่ารักการอ่านหนังสือกฎหมายเป็นพิเศษก็จะเป็นทีมครับ แต่พอได้คนที่อยากแข่ง ได้คนที่อยากทำกิจกรรมนี้จริง ๆ ทุกคนต่างจริงจังในส่วนนี้มาก เพราะฉะนั้น ชวนคนที่อยากทำ อยากแข่งจริง ๆ ก็โอเคแล้วครับ แล้วแต่ละคนก็จะพยายามกันเอง”
เขมทัต : “การเลือกเพื่อนเรา ฟลุคเป็นคนชวนผมกับรามเข้าทีมครับ เพราะมีรามกับฟลุค แล้วยังขาดอีกคน”
“เนื่องจากตอนปี 1 ผมได้มีโอกาสไปรับประทานอาหารกับอาจารย์กรศุทธิ์ในวิชา น.100 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมาย รวมกันกับรามและฟลุคด้วย เพราะสอบได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับ จึงทำให้ผมได้รู้จักกับรามและฟลุคครับ จึงสนใจมาลงแข่งด้วยกันต่อ”
วีรภัทร พรหมฤทธิ์ (ราม)
คำถาม (3) : การเตรียมตัวสำหรับการแข่งขันในรอบคัดเลือกตัวแทนคณะ
เขมทัต : “ในรอบคัดเลือกตัวแทนมหาลัย ผมเตรียมตัวค่อนข้างน้อยครับ เพราะเป็นช่วงปิดเทอมและยังไม่ตื่นตัวกับการเตรียมตัวแข่งขันมากนัก จึงไม่ได้แบ่งเนื้อหาในการอ่านครับ ช่วย ๆ กันอ่านแต่ละส่วนที่ตัวเองถนัดครับ”
ชญานนท์ : “ในส่วนของการเตรียมตัวเพื่อแข่งขันในรอบคัดเลือกนั้น ตอนแรกเข้าใจว่าไม่มีการทดสอบภายในคณะ เพราะคิดว่าคัดจากคะแนนเฉลี่ยวิชากฎหมาย มาทราบอีกทีว่าจะมีการทดสอบก็ตอนเย็นก่อนวันส่งใบสมัครวันสุดท้าย 1-2 วัน ก็เลยมีเวลาอ่าน 3-4 ชั่วโมงก่อนการแข่งขันรอบภายในครับ แล้วด้วยเวลาที่มีน้อยมาก ๆ แต่ละคนก็เลยแบ่งอ่านตามวิชาที่ตัวเองถนัดครับ”
“ข้อแนะนำในส่วนนี้ก็คืออ่านตามที่อาจารย์สอนในห้องได้เลย เพราะกรรมการที่มาออกข้อสอบในส่วนนี้จะเป็นอาจารย์ภายในคณะเราทั้งนั้น สิ่งที่ถามก็จะเป็นความรู้พื้นฐานที่ควรจะรู้ในวิชานั้น ๆ เช่น กฎหมายปกครองก็อาจจะให้อธิบายคำสั่งทางปกครองว่าคืออะไร นิติกรรมทางปกครองว่าคืออะไร กฎหมายวิอาญาก็อาจจะถามว่าการมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องคืออะไร เป็นต้น”
วีรภัทร : “อันนี้สารภาพตามตรงเลยนะครับ ส่วนตัวผมเองไม่ได้มีการเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษเลยเนื่องจากช่วงที่มีการคัดเลือกเป็นช่วงที่เพิ่งผ่านพ้นการฝึกงานมาไม่กี่วัน เพราะฉะนั้นผมก็เลยไม่มีเวลาอ่านหนังสือเท่าที่ควร แต่ก็อาจเป็นเพราะในระหว่างฝึกงานผมก็ได้ใช้ความรู้กฎหมายอย่างต่อเนื่องและได้ทบทวนอยู่บ้างประกอบกับยังพอมีความรู้เดิมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาและคำถามก็อยู่ขอบเขตของความรู้เดิม ก็เลยตอบได้บ้างครับ”
เขมทัต ปิ่นชูทอง (ทีม)
คำถาม (4) : การเตรียมตัวสำหรับการแข่งขันตอบปัญหากฎหมายออนไลน์ทั่วประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2563 จัดโดยสำนักงานศาลยุติธรรม
เขมทัต : “ช่วงรอบตัวแทนมหาลัย เริ่มเตรียมตัวกันแล้วครับโดยแบ่งกันคือ ทีมจะอ่านกฎหมายอาญา และประวัติพระองค์เจ้ารพี ครับ รามจะอ่านกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และกฎหมายพิเศษ อย่าง พ.ร.บ.เด็ก ฟลุครับผิดชอบในส่วนกฎหมายวิอาญากับกฎหมายรพี และผู้บริโภค ส่วนประมาลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ช่วยกันดูสามคนครับ เนื่องจากเนื้อหามาก และมาตราเยอะ การช่วยกันอ่านจะทำให้ครอบคลุมมากกว่า และไม่ตกประเด็นครับ”
“เหตุผลที่ต้องแบ่งกันอ่านในแต่ละรายวิชา เนื่องจากแต่ละคนมีความถนัดต่างกันครับ ซึ่งถ้าหากในแต่ละวิชาที่แต่ละคนถนัดและสนใจ จะทำให้มีความมุ่งมั่นในการอ่านหนังสือครับ และในทีมของผมนั้น รามและฟลุคต่างก็ถนัดและชื่นชอบกันคนละวิชา จึงไม่มีปัญหาในการแบ่ง เพราะแต่ละคนชอบไม่เหมือนก้น อย่างผมชอบกฎหมายอาญา เป็นต้น”
“ในการแข่งขันจริง หนึ่งข้อจะมีเวลาน้อย ถ้าหากไม่แบ่งกันอ่าน จะทำให้เกิดการถกเถียงกันได้ ดังนั้น การแบ่งกันอ่านในวิชาที่แต่ละคนถนัด จะทำให้ไม่เกิดปัญหาการถกเถียงกันในข้อนั้น ๆ และไม่เสียเวลาโดยไม่จำเป็น เพราะคนที่รับผิดชอบในวิชานั้นจะเป็นคนตัดสินใจว่าจะตอบอะไรครับ”
วีรภัทร : “รายการนี้จะมี Outline บอกครับว่าเนื้อหาที่จะถามนั้นมีเรื่องอะไรบ้างเราก็เลยแบ่งกันจากตรงนั้น โดยเนื้อหาส่วนที่ผมได้จะเป็นส่วนแพ่งและพาณิชย์บรรพ 3 ถึง 6 แล้วก็วิแพ่งทั้งหมด ผมก็เน้นปูพื้นฐานตัวเองให้แน่นโดยทวนหลักการของแต่ละเรื่องแต่ละมาตราตามที่ผมเลคเชอร์ลงประมวล แล้วก็อัพเดทฎีกาจากหนังสือแพ่งพิสดาร วิแพ่งพิสดารครับ”
ชญานนท์ : “การเตรียมตัวแข่งขันในรอบตัวแทนคณะทีมเราจะมีเวลามากขึ้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ครับ ซึ่งข้อสอบที่เจอจะมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ในส่วนของความจำ เช่น ประวัติของพระองค์เจ้ารพี ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับศาลยุติธรรมครับ แล้วก็ข้อสอบที่จะถามเกี่ยวกับตัวบทกฎหมายโดยตรง คือจำตัวบทได้ก็สามารถตอบได้ นอกจากนี้ จะมีคำถามในเชิงวิเคราะห์ซึ่งทุกข้อจะมีแนวคำพิพากษาของศาลฎีการองรับครับ”
“สำหรับข้อแนะนำเกี่ยวกับหนังสือที่ต้องอ่านจะเป็นหนังสือของคนที่เตรียมสอบเนติบัณฑิตซะเป็นส่วนใหญ่ เพราะทุกข้อที่กรรมการออกจะมีคำพิพากษารองรับหมดเลยครับ นอกจากนี้ ก็แบ่งตามความถนัดของสมาชิกในทีม หรือถ้าใครมีเวลาว่างเยอะหน่อยก็อาจจะรับเนื้อหาอื่น ๆ เพื่อไปอ่านเพิ่มได้”
ชญานนท์ แสงอ่วม (ฟลุค)
คำถาม (5) : สิ่งที่ได้รับจากการแข่งขัน
วีรภัทร : “จริง ๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องของความภาคภูมิใจแหละครับ ภูมิใจกับทีมของที่มีการทุ่มเทของเรามันแสดงผลลัพธ์ออกมาได้ดี แต่ก็แอบเสียดายที่เรามีโอกาสทำได้ดีกว่านี้ ภูมิใจกับตัวเองที่ตอนนั้นเป็นช่วงที่เอาตามตรงเลยคือเริ่มหมดไฟในการอ่านหนังสือ ไม่ค่อยอยากอ่านแต่ก็ฝืนอ่านจนได้ผลลัพธ์ออกมาดี ภูมิใจกับตัวเองที่ทำให้พ่อแม่มีความสุขได้เพราะตอนเราบอกผลกับพวกเขาเขาก็ดีใจ คนรอบข้างเราก็ดีใจ”
ชญานนท์ : “สิ่งที่ได้รับจากการแข่งขันของผมหลัก ๆ มี 2 อย่างครับ อย่างแรกคือได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะว่าทั้ง 3 คนรู้จักกันก็จริง แต่ว่าเราไม่เคยมีช่วงเวลาอ่านหนังสือด้วยกัน ไปกินข้าวด้วยกัน เหมือนต่างคนต่างแยกกันใช้ชีวิตเลยครับ แต่พอมาแข่งแล้วทำให้รู้สึกว่าเหมือนเราเป็นคน ๆ เดียวกัน สัมผัสได้ถึงอารมณ์ร่วมของเพื่อน ๆ ตอนตอบคำถามถูก ตอนได้รับรางวัลก็เช่นกันครับ อะไรที่ไม่เคยได้เห็นก็ได้เห็นหมดเลยครับ เช่น สมาชิกในทีมโวยวายพร้อมกันตอนรู้ว่าผ่านเข้ารอบ หรือแม้กระทั่งตัวของเขมทัตที่ลุกขึ้นเต้นท่าอะไรของเขาก็ไม่รู้ครับ”
“อย่างที่สองคือได้แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตครับ อันนี้เกิดจากตอนไปดูงานที่ศาลยุติธรรมแล้วเจอรุ่นพี่หลายคนที่จบจากคณะนี้ไป ทุกคนให้การต้องรับดีมาก พูดคุยกันเหมือนพี่เหมือนน้อง แล้วพี่ ๆ เขาก็ให้กำลังใจเราในการที่จะไปประกอบวิชาชีพในอนาคตด้วยครับ”
เขมทัต : “ข้อแรก การแข่งขันนี้ทำให้ผมได้มีโอกาสทบทวนเนื้อหาที่เรียนมาตลอดสามปี ทำให้เห็นว่าบางเรื่องผมก็ไม่ได้เข้าใจเนื้อหาอย่างถ่องแท้ พอได้มีโอกาสกลับมาทวน ผมว่ามันก็ดีนะที่เรารู้ก่อนว่าเราไม่เข้าใจเรื่องอะไรจริง ๆ
ข้อสอง ด้วยระยะเวลาการแข่งขันที่จำกัด แต่เนื้อหาที่ต้องอ่านคือสามปี ผมมองว่ามันคือความท้าทายว่าเราจะอ่านยังไง จะท่องยังไง เพื่อให้เข้าใจเนื้อหาได้มากที่สุด และพร้อมสำหรับการแข่งขันครับ”
ทั้งสามมอบโล่รางวัลจากการแข่งขันฯ ให้แก่คณะนิติศาสตร์ โดยมีรศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ เป็นผู้รับมอบ
ถ่ายภาพ Film
เรียบเรียง KK