(จากซ้ายไปขวา ดาวอนงค์ พงษ์ขาว ธนกร หิรัญไพศาล และนนทวัตน์ แสนหาญ)
ตามที่นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้าร่วมและได้รับรางวัลข้อเขียนดีเด่นจากการแข่งขันบทบาทสมมติและการแข่งขันว่าความในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ภาคภาษาไทย (International Humanitarian Law Roleplay and Moot Court Competition) ประจำปี ค.ศ.2020 (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/international-humanitarian-law-roleplay-and-moot-court-competition-2020-2) วันนี้เราจะไปพูดคุยกับดาวอนงค์ พงษ์ขาว ธนกร หิรัญไพศาล และนนทวัตน์ แสนหาญ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ถึงประสบการณ์และความรู้สึกในการเข้าแข่งขันดังกล่าว
คำถาม (1) : เข้าร่วมการแข่งขันได้อย่างไร
ดาวอนงค์ : “ตอนเรียนอยู่ปี 3 เทอม 2 ได้มีโอกาสแข่งมูทคอร์ทของรพีวิชาการ ที่คณะนิติศาสตร์ มธ. ลำปางค่ะ แล้วมีโอกาสได้พบกับท่านพลภวิษย์ ซึ่งท่านเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขัน ได้แนะนำกิจกรรมนี้ให้รู้จักว่า ทุก ๆ ปีคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศประจำประเทศไทย (ICRC) จะมีการจัดการแข่งขันมูทคอร์ทเกี่ยวกับกฎหมายอาญาระหว่างประเทศและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศทั้งรอบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยส่วนตัว มีความสนใจที่อยากจะใช้กฎหมายเป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้วค่ะ และอยากทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำด้วย เพราะ ก็เคยทำกิจกรรมทั้งในคณะและมหาวิทยาลัยมาเยอะพอสมควร เลยอยากทำกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัยบ้าง จึงตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขัน โดยเริ่มต้นจากเข้าร่วมแข่งขันรอบภาษาอังกฤษที่มธ.ท่าพระจันทร์กับน้องๆอีกทีมนึงก่อนค่ะ และก็โชคดีที่ท่านอาจารย์ยศสุดา ให้เกียรติมาเป็นอาจารย์ผู้ควบคุมทีมด้วย พอได้เข้าร่วมการแข่งขันรอบภาษาอังกฤษมาแล้ว ก็เลยอยากแก้ไขข้อผิดพลาดของตัวเอง จึงตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขันรอบภาษาไทยอีกครั้งค่ะ”
ธนกร : “ในช่วงต้นของการเรียนในคณะนิติศาสตร์ปี 3 ผมได้มีความคิดที่จะเข้าร่วมการแข่งขันมูทคอร์ทเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และกับพบการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับรายการการแข่งขันของ IHL ผ่านทางเพจคณะ ประกอบกับมีเพื่อนคือนนทวัตน์ได้ชักชวนเข้าร่วมทีมจึงได้ตัดสินใจที่จะลงแข่ง แต่ ณ ขณะนั้นก็เป็นการตัดสินใจที่ยากพอสมควร เพราะในการทำคำฟ้อง-คำให้การนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่อยู่ในระหว่างการสอบกลางภาค และช่วงแข่งขันนั้นก็ใกล้กับการสอบปลายภาคมาก ๆ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็นับว่าเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าที่ได้เข้าร่วม ได้ทราบถึงจุดด้อยของตัวเองที่จะต้องไปพัฒนาต่อไป และยังได้มิตรภาพกับทีมผู้เข้าแข่งขันอื่น ๆ ด้วยครับ”
นนทวัตน์ : “ในช่วงนั้นผมมีความตั้งใจว่าอยากจะเข้าแข่งขันมูทคอร์ทในรายการใดรายการหนึ่งซึ่งก็ได้รับการประชาสัมพันธ์จากทางเพจ Facebook ของคณะ และทางคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคกรุงเทพ ประกอบกับการชักชวนของเพื่อนซึ่งในที่นี้ขออนุญาตเรียกนามสมมติว่า “ตั๊ก” ให้ลองสมัครและลงแข่งขัน จึงตัดสินเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้เพื่อหาประสบการณ์ซึ่งไม่แน่ใจว่าหากพลาดไปจะมีโอกาสได้ลองมาเรียนรู้ในสิ่งตรงนี้หรือไม่ ซึ่งความจริงแล้วก็ตัดสินใจยากอยู่พอสมควรเนื่องจากช่วงเวลาอยู่ในช่วงใกล้สอบ แต่อย่างไรก็ตามการได้เข้าแข่งขันในครั้งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเป็นอย่างมากครับ เพราะ สิ่งที่ได้มากนอกจากความรู้และประสบการณ์คือมิตรภาพระหว่างการแข่งขันครับ”
คำถาม (2) : แรงบันดาลใจในการเข้าร่วม และสิ่งที่ได้รับจากการแข่งขัน
ดาวอนงค์ : “แรงบันดาลใจ คือ อยากทำให้นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางได้มีโอกาสเข้าถึงกิจกรรมการแข่งขันนอกมหาวิทยาลัยบ้างค่ะ เพราะเท่าที่ทราบมาเหมือนว่านักศึกษาที่นี่ ยังไม่เคยเข้าร่วมการแข่งขันมูทคอร์ทที่ศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศและต้องใช้ภาษาอังกฤษมาก่อน จึงอยากจุดประกายให้กับน้อง ๆ ที่คณะ ได้มาลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำดู ว่าพวกเราที่อยู่ที่นี่ ก็สามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่เราคิดว่าเราทำไม่ได้ แต่จริง ๆ เราก็ทำได้เหมือนกันค่ะ แม้ว่าอาจจะได้ประสบความสำเร็จดั่งที่เราหวังทั้งหมด แต่อย่างน้อยเราก็ชนะใจตัวเองที่กล้าก้าวข้ามผ่านความกลัวของเราของเราได้ค่ะ”
“สิ่งที่ได้รับจากการแข่งขัน อย่างแรกที่ได้แน่ ๆ คือ ความเข้าใจในกฎหมายอาญาระหว่างประเทศและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศค่ะ เนื่องจาก ในการแข่งขันครั้งนี้ทำให้ต้องค้นคว้าข้อมูลเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญาเจนีวาทั้ง 4 ฉบับ และคำพิพากษาต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการเขียนคำให้การ-คำฟ้อง และการเตรียมการให้การด้วยวาจา อีกทั้งยังช่วยทำให้เข้าใจกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีเมืองได้มากขึ้นอีกค่ะ เพราะตอนแข่งขัน ท่านกรรมการก็จะถามตลอดเลยว่าสิ่งที่เรานำมาเสนอต่อศาลนี้ โดยเฉพาะคำพิพากษาของศาล ศาลจำเป็นปรับใช้ในการพิจารณาคดีนี้หรือไม่ ซี่งจริง ๆ แล้ว ท่านก็ถามถึงความรู้เรื่องบ่อเกิดกฎหมายระหว่างประเทศนั่นเอง โชคดีที่ได้เรียนมาแล้วตอนปี 3 เทอมสอง ก็พอตอบได้ค่ะ (หัวเราะ) และท่านก็ยังช่วยชี้ข้อบกพร่องให้เราทราบค่ะ ว่าเราจะต้องไปพัฒนาในแนวทางไหนบ้าง นอกจากนี้ ก็ได้เรียนรู้จากท่านอาจารย์ยศสุดาด้วยค่ะ เพราะ ไม่เคยเรียนกฎหมายอาญาระหว่างประเทศและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมาก่อน อาจารย์ก็มาช่วยอธิบายภาพรวมของกฎหมายอาญาระหว่างประเทศและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศแบบคร่าว ๆ ให้ก่อน จากนั้นท่านก็แนะนำหนังสือให้ไปอ่าน และก็พยายามให้ค้นคว้าเป็นภาษาอังกฤษที่เป็นต้นฉบับเลย จะได้เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างแท้จริง เป็นการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษไปในตัวด้วยค่ะ อีกทั้งก็ได้พบเจอผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าแข่งขัน คณาจารย์ที่มาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทีมงาน ท่านคณะกรรมการ ทีมงานทุกท่าน ก็ให้การต้อนรับที่อบอุ่นด้วย ประทับใจในส่วนนี้มากเลยค่ะ”
นนทวัตน์ : “การแข่งขันในครั้งมีจุดสร้างแรงบันดาลใจ คือ ความอยากรู้และความอยากลองของตัวเองครับ ความท้าทายในสิ่งที่เราไม่เคยได้ลอง ซึ่งต้องกล่าวก่อนเลยว่าการแข่งขันในครั้งนี้เป็นครั้งแรกของผม และตัวของผมเองก็มีความตื่นเต้นเป็นอย่างมากเรียกได้ว่าตื่นสนาม (หัวเราะ) และประกอบกับในส่วนตัวมีความต้องการที่จะศึกษาในสายระหว่างประเทศด้วยจึงอยากจะหาประสบการณ์การเรียนรู้ในสายนี้ครับ อีกทั้ง อยากลองมีประสบการณ์ในศาลระหว่างประเทศซึ่งมีกระบวนการพิจารณาที่ต่างจากศาลภายในอยู่พอสมควรครับ”
“สิ่งที่ได้รับจากการแข่งขันในครั้งนี้ ต้องกล่าวเลยว่า ได้อะไรมากกว่าที่คิดครับ จากคนที่ว่างเปล่าในเรื่องของกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งในช่วงแรกที่ได้เข้ามาในการแข่งขันในครั้งนี้สิ่งที่พบในตอนแรกเลยคือ ความงง (หัวเราะ) และความสงสัยครับ เนื่องจากความคุ้นชินของเรามักจะอยู่ในกฎหมายภายในประเทศ เมื่อเจอโจทก์ที่ไปในทางระหว่างประเทศซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เคยศึกษามาก่อน แต่ในคณะของเรามีอยู่ในวิชาเลือก ก็ต้องมานักศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเยอะมากครับ โดยในส่วนนี้ทำให้เราได้รับความรู้ในส่วนของกฎหมายตรงนี้พอสมควร และประสบการณ์ที่พบเจอในการแข่งขันซึ่งมีทั้งความเครียด กดดัน สนุกปนกันไป (หัวเราะ) และที่สำคัญมิตรภาพระหว่างการแข่งขันทั้งผู้ร่วมแข่งขันซึ่งหลากหลายมหาวิทยาลัยก็ได้ทำความรู้จักกันครับ รวมถึงคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และคณะทำงานก็ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นครับ โดยรวมแล้วมันคือภาพจำซึ่งจะทำให้เราได้กับมาคิดถึงอยู่เสมอครับ
ธนกร : “แรงบันดาลใจ คือ ด้วยความที่ผมสนใจที่จะเข้าร่วมรายการแข่งมูทคอร์ทอยู่แล้ว ประกอบกับด้วยหัวข้อการแข่งขันคือหัวข้อเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนซึ่งผมได้สนใจในเรื่องนี้อยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงเป็นแรงผลักดันในการแสวงหาความรู้ อีกทั้งยังต้องการที่จะทราบถึงความแตกต่างของกระบวนพิจารณาของศาลระหว่างประเทศอีกด้วยครับ”
“สิ่งที่ได้รับจากการเข้าแข่งขัน ในช่วงต้องของการ research นั้นทำให้ทราบว่าแหล่งข้อมูลใดที่เราจะสามารถนำใช้ได้ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล และเนื้อหา รวมไปถึงคำพิพากษาต่าง ๆ ที่นำมาประกอบกับการเขียนคำให้การ-คำฟ้อง จากตอนแรกที่ในหัวว่างเปล่าจับทิศทางไม่ถูกไม่ทราบว่าจะไปเริ่มจากตรงไหนดี ประกอบกับการที่ไม่เคยศึกษาอาญาระหว่างประเทศมาก่อน จึงทำให้ต้องหาข้อมูลรวมถึงศึกษาเยอะมาก ๆ (หัวเราะ) และในการแข่งขันนั้นก็ทำให้พบว่าตนเองนั้นควรที่จะพัฒนา และปรับปรุงในด้านใด นอกจากนี้ยังทำได้พบเจอกับบุคคลที่หลากหลาย มิตรภาพจากต่างสถาบัน ไปจนถึงคณาจารย์ และกรรมการการแข่งขันมูทคอร์ทไปจนถึงคณะทำงานที่ต้อนรับอย่างอบอุ่น ถือว่าเป็นการเปิดโลกทัศน์ที่ดีมากอย่างหนึ่ง”
คำถาม (3) :รู้สึกอย่างไรที่ได้รับรางวัลคำให้การดีเด่น (Best Memorial)
ดาวอนงค์ : “รู้สึกดีใจและหายเหนื่อยค่ะ ที่ความตั้งใจและพยายามของเราปรากฏผลสำเร็จออกมาเป็นรูปธรรมแล้ว เพราะอย่างที่บอกไปในเหตุผลการเข้าร่วมการแข่งขันข้างต้นว่าอยากที่จะแก้ไขข้อบกพร่องของตัวเอง ก่อนที่จะไปแข่งขันที่ม.แม่ฟ้าหลวง ก็พยายามหาข้อมูลกฎหมายและทำความเข้าใจในโจทย์ให้มากที่สุด ซึ่งก็ใช้เวลาในการทำการบ้านพอสมควรเลยค่ะ ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ที่ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการเข้าร่วมการแข่งขัน ขอบคุณอาจารย์ยศสุดา ที่คอยดูแลพวกเราในการเข้าร่วมการแข่งขัน ขอบคุณน้อง ๆ ในทีมสำหรับความทุ่มเทและความตั้งใจ และสุดท้ายนี้ ขอขอบคุณคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย (ICRC) ที่ได้ให้โอกาสพวกเราเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ เลยค่ะ”
นนทวัตน์ : “ความรู้สึกที่ได้รับรางวัล Best Memorial ทั้งฝ่ายอัยการและจำเลยนั้น สิ่งแรกที่รู้สึกเลยก็คือ ดีใจครับ ในช่วงนั้นทีมเราทำการบ้านหนักพอสมควรครับเรียกได้ว่าอดหลับอดนอนเลยครับ (หัวเราะ) แต่สิ่งที่ได้มาก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่า และเป็นสิ่งที่ทำให้จุดประกายให้เกิดแรงบันดาลใจในการแข่งขันในครั้งต่อ ๆ ไปอีกด้วยครับ โดยนอกจากรางวัลที่ได้แล้ว เหนือสิ่งอื่นใด คือ สิ่งที่เราได้พบเจอระหว่างการแข่งขันครับ รวมถึงการพัฒนาตนเองซึ่งเมื่อเราได้ลองมาเรียนรู้ในจุดนี้ก็ทำให้เราได้พบว่าต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอด ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณผู้จัดการแข่งขัน กล่าวคือ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคกรุงเทพฯ ที่ทำให้ได้เข้ามาร่วมในการแข่งขันในครั้งนี้ และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางที่คอยสนับสนุนกิจกรรมนักศึกษาในครั้งนี้ และที่สำคัญท่านอาจารย์ยศสุดา หร่ายเจริญ ที่คอยแนะนำให้เกิดการเรียนรู้ในครั้งนี้อีกด้วย ขอกราบขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูงครับ”
ธนกร : “ในตอนแรกที่ได้ทราบว่าได้รับรางวัล Best Memorial นั้นคือเป็นความรู้สึกที่ดีใจมาก ๆ เนื่องจากตลอดเวลาที่เริ่มทำ memo นั้นก็ได้พบกับปัญหาทั้งเรื่องส่วนตัว ความเครียดสะสมมาจากช่วงการสอบ และจากการอดหลับอดนอนมาอย่างยาวนาน (หัวเราะ) อาจเป็นความดีใจที่สุดในนับจากการเข้ามหาวิทยาลัยเลยก็ว่าได้
“ท้ายที่สุดนี้ต้องขอขอบคุณคณะผู้จัดการแข่งขัน คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางที่คอยสนับสนุนกิจกรรมของนักศึกษา และท่านอาจารย์ยศสุดา หร่ายเจริญ ที่คอยให้คำแนะนำ กราบขอบพระคุณอย่างสูง”
ภาพ MFUconnect
เรียบเรียง KK