“ผู้ป่วย Covid-19 ที่ไม่เปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงกับความรับผิดทางอาญา”
ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายดำไปหาหมอหลังจากไปประเทศกลุ่มเสี่ยงมาแล้วไม่ยอมแจ้งหมอกับพยาบาล หรือนายแดงไปสนามมวยลุมพินีในวันที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ แล้วยังใช้ชีวิตปกติไปเดินตลาดโดยไม่ยอมปิดหน้ากาก ไม่ได้บอกคนอื่นว่าไปสนามมวยมา ในกรณีเหล่านี้เมื่อนายดำ หรือนายแดงทำให้หมอ พยาบาล หรือคนที่ใช้ชีวิตในชุมชนเดียวกันต้องกลายมาเป็นคนกลุ่มเสี่ยงและต้องกักตัวเอง ทำให้เสียโอกาสในการทำงาน นายดำ และนายแดงมีความผิดทางอาญาหรือไม่ แล้วถ้าหมอ พยาบาล หรือคนที่ใช้ชีวิตในชุมชนเดียวกันต้องติดเชื้อทำให้ไม่สบาย หรือถึงขั้นเสียชีวิต นายดำ และนายแดงจะมีความรับผิดทางอาญาอย่างไร
ในลำดับแรกก่อน เมื่อกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงแล้วไม่แจ้งหมอกับพยาบาล หรือไปสนามมวยแล้วไม่บอกใคร ทั้งที่รู้ว่าตัวเองเสี่ยงที่จะแพร่เชื้ออันตรายให้คนอื่น อย่างนี้ทางกฎหมายเรียกว่าการกระทำโดยประมาท [1] เพราะเป็นเรื่องที่คนทั่ว ๆ ไปที่อยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นเค้าไม่ทำกัน คนที่ทำแบบนี้แสดงว่าไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติตัวอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตามกฎหมายอาญาโดยทั่วไปจะกำหนดให้บุคคลต้องมีความรับผิดทางอาญาโดยประมาทก็ต่อเมื่อมีผลร้ายแรงเกิดขึ้น เช่นมีคนได้รับอันตรายแก่กาย จิตใจ หรือเสียชีวิต ลำพังแต่การกระทำโดยประมาทปกติแล้วยังไม่มีความผิดแต่อย่างใด [2] นอกจากนั้นการที่หมอ พยาบาล หรือคนอื่นติดต่อใกล้ชิดกับนายดำ หรือนายแดงโดยไม่ได้ป้องกันอย่างเพียงพออันเป็นผลจากการไม่เปิดเผยข้อมูลของคนทั้งสอง ทำให้เค้าต้องกักตัวเอง ไม่ได้ทำมาหากิน หรือไม่ช่วยเหลือคนอื่นอย่างที่เค้าควรจะทำ แบบนี้ก็ยังไม่ถึงกับเป็นผลที่กฎหมายเอาผิดกำหนดโทษ ในชั้นนี้ ถ้าไม่มีใครเป็นอะไรนายดำและนายแดงก็ยังไม่มีความผิดอาญา ส่วนความผิดอื่น ๆ ทางแพ่ง หรือความรับผิดชอบต่อสังคมก็คงต้องแยกไปว่ากันเป็นอีกเรื่องต่างหาก
อย่างไรก็ตาม เฉพาะกรณีของนายดำที่ไปหาหมอนั้น หากโรงพยาบาลที่นายดำไปเป็นโรงพยาบาลของรัฐ หมอและพยาบาลที่ทำหน้าที่ในโรงพยาบาลดังกล่าวจึงย่อมเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการจ้างแบบประจำหรือชั่วคราวก็ตาม การที่นายดำให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ไม่ยอมบอกข้อความจริงอันควรแจ้งว่าตนเพิ่งกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง นายดำจะมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับได้
ขั้นต่อไป ผลจะเป็นอย่างไรถ้ามีหมอ พยาบาล หรือคนอื่นติดเชื้อจากนายดำ หรือนายแดงแล้วเกิดอาการต่าง ๆ ของโรค ในกรณีนี้ต้องพูดให้ชัดเจนว่าในช่วง 2-3 เดือนหลังข่าวเรื่องความร้ายแรง และอัตราการพัฒนาอาการหรือการตายของโรค COVID-19 ที่สูงนั้นเป็นที่รับรู้เป็นการทั่วไปจนรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้ออกมาตรการต่าง ๆ รวมไปถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ดังนั้นคนทั่ว ๆ ไปย่อมคาดหมายได้ว่าเมื่อมีการติดเชื้อนี้แล้วผู้ติดเชื้อมีโอกาสที่จะไม่สบาย[3] ดังนั้นถ้ามีคนป่วย หรือตายขึ้นมานายดำและนายแดงก็ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาตามมาตรา 390 จำคุก 1 เดือน ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าผู้เสียหายเพียงเจ็บป่วยธรรมดา ไม่ได้มีอาการใดที่ส่งผลถาวรต่อการใช้ชีวิต หรือต้องหยุดทำงานเป็นเวลาตั้งแต่ 21 วันขึ้นไป แต่ถ้าผู้เสียหายต้องหยุดงานตั้งแต่ 21 วันขึ้นไป หรืออาจจะหายกลับมาเร็ว แต่มีอาการตกค้าง เช่นปอดทำงานไม่ปกติไปตลอดชีวิตแบบนี้ นายดำและนายแดงมีความผิดตามมาตรา 300 อาจถูกจำคุกสูงถึง 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้ามีใครต้องตายเพราะการกระทำโดยประมาทของนายดำ หรือนายแดงนั้น ความรับผิดของคนทั้งสองจะเป็นการฆ่าคนโดยประมาทตามมาตรา 291 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
สำหรับพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 นั้นเป็นกำหนดอำนาจของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการต่าง ๆ รวมทั้งกำหนดหน้าที่ให้เอกชนเช่นเจ้าของกิจการ เจ้าบ้าน รวมถึงเจ้าตัวต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่รู้ถึงการแพร่โรค หรือการเข้ารับการตรวจ โดยกำหนดโทษไว้สำหรับการฝ่าฝืนหน้าที่หรือคำสั่งเหล่านั้น แต่ไม่ปรากฏว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวกำหนดแนวทางในการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันของคนที่ติดเชื้อ หรือเสี่ยงติดเชื้อแต่อย่างใด จึงไม่สามารถนำมาใช้กับกรณีของนายดำ และนายแดงได้โดยตรง
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ ช่วยแจ้งหมอ แจ้งพยาบาล แจ้งคนรอบตัวเถอะครับ ไม่เช่นนั้นนอกจากจะเสี่ยงติดเชื้อต้องนอนโรงพยาบาลนาน ๆ แล้วอาจยังต้องเสี่ยงติดคุกนอนเรือนจำยาว ๆ ด้วย ไม่สบายตัวหรอก
[1] โดยทั่วไปการกระทำในลักษณะดังกล่าวไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าคนที่เสี่ยงติดเชื้อนี้ต้องการให้คนอื่นติดเชื้อแล้วไม่สบาย หรือเสียชีวิต (State v. Haines (1989) 545 N.E.2d 834; State v. Caine (1995) 652 So.2d 611) หรือสามารถคาดเห็นได้ว่าหมอ พยาบาลที่มารักษาตนจะ “ต้อง” ติดเชื้อไม่สบาย “อย่างแน่นอน” แต่ยังคงไม่ใยดีและไปรักษาโดยไม่แจ้ง หรือใช้ชีวิตต่อไป ถ้าเพียงแต่การคิดว่าหมอ พยาบาลที่มารักษาตนอาจจะติดเชื้อก็ได้นั้นยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำโดยเจตนาตามกฎหมาย (9805/2554; เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค 1 เล่ม 1 (พิมพ์ครั้งที่ 11 2562, กรุงสยามพับลิชชิ่ง) 215; จิตติ ติงศภัทิย์, กฎหมายอาญาภาค 1 (พิมพ์ครั้งที่ 11 2555, เนติบัณฑิตยสภา) 203; และดูข้อโต้แย้งทางทฤษฎีที่มีการรวบรวมไว้ที่ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, กฎหมายอาญา ภาคทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ 17 2559, วิญญูชน) 78.
[2] มีข้อยกเว้นในบางกรณีเช่นกันที่กฎหมายเอาผิดทันทีที่มาการกระทำโดยประมาทซึ่งสร้างความเสี่ยงให้กับบุคคลอื่น ทั้งที่ผลเสียหายยังไม่เกิดขึ้นเลยเราเรียกความผิดกลุ่มนี้ว่าความผิดฐานก่อภยันตราย (endangerment offences) ซึ่งเป็นหนึ่งในความผิดที่เป็นการเริ่มต้น (inchoate offences) เช่นความผิดฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4)
[3] ในชั้นนี้กฎหมายเพียงดูว่าวิญญูชนคาดเห็นได้หรือไม่ว่าผลนั้นคือการไม่สบาย หรือความตาย “อาจ” จะเกิดขึ้น ไม่ถึงขั้นว่าต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเหมือนการพิจารณาเรื่องเจตนา