“เหตุสุดวิสัย” กับสิทธิในการได้รับค่าจ้างของลูกจ้าง”
ผู้เขียน นันทวัฒน์ ศักดิ์สกุลคุณากร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 นี้ทำให้นายจ้างจำเป็นต้องเปลี่ยนการทำงานจากทำงานในสถานประกอบการเป็นทำงานที่บ้านของลูกจ้าง แต่นายจ้างบางคนกลับต้องปิดกิจการลงชั่วคราวลงในสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ลูกจ้างหลายคนก็มักจะมีข้อสงสัยตามมาว่า เมื่อสถานประกอบการต้องหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวในสถานการณ์นี้ตนยังมีสิทธิได้ค่าจ่างอยู่หรือไม่
ตามหลักของกฎหมายแรงงาน สิทธิในการได้รับค่าจ้างของลูกจ้างนั้นจะต้องมาจากการที่ลูกจ้างได้ทำงานและนายจ้างจ่ายค่าจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานนั้น กล่าวคือ ถ้าลูกจ้างไม่ได้ทำงาน นายจ้างก็ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้าง แต่มีข้อยกเว้นในกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานแต่นายจ้างยังคงมีหน้าที่ในการจ่ายค่าจ้างอยู่ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่งซึ่งกำหนดหลักการไว้ว่า หากการที่กิจการของนายจ้างจะต้องหยุดลงเป็นการชั่วคราวว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเกิดขึ้นเพราะ “เหตุที่ไม่เป็นเหตุสุดวิสัย” ทำให้ลูกจ้างยังมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างอยู่ เพียงแต่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในวันทำงานปกติก่อนที่จะมีการปิดกิจการลง ดังนั้น ปัญหาสำคัญในประเด็นนี้คือ เหตุการณ์ใดบ้างที่ “ไม่เป็นเหตุสุดวิสัย” และถ้าการปิดกิจการเกิดจาก “เหตุสุดวิสัย” ลูกจ้างยังคงมีสิทธิได้รับค่าจ้างอยู่หรือไม่
ความหมายของเหตุสุดวิสัยและตัวอย่างการพิจารณาเหตุสุดวิสัย
ความหมายของ “เหตุสุดวิสัย” ถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 ซึ่งหมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดจากการกระทำโดยธรรมชาติหรือการกระทำของมนุษย์ โดยอาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันหรืออย่างฉับพลัน ซึ่งบุคคลที่ประสบภัยไม่อาจจะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นได้ แม้จะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรที่บุคคลนั้นพึงคาดหมายจาก “ฐานะของบุคคล” และ “ภาวะหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น”
หากพิจารณาว่าการปิดกิจการของนายจ้างเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่นั้น ในบริบท อาจเห็นทำนองว่า หากเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับกิจการของนายจ้างโดยที่ “นายจ้างไม่สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้ด้วยความระมัดระวังตามสมควรที่บุคคลในฐานะนายจ้างพึงมี และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลให้เกิดหยุดกิจการของนายจ้างนั้น” จากความหมายของคำว่าเหตุสุดวิสัยที่ได้กล่าวไปนั้น สามารถยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ดังนี้
กรณีที่เป็นการปิดกิจการชั่วคราวเพราะเหตุที่เป็นเหตุสุดวิสัย
หากนายจ้างปิดกิจการโดยเหตุนี้จะทำให้ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 75 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แต่ยังมีสิทธิได้รับเงินประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม (ทั้งนี้โปรดอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากโพสต์ก่อนหน้าของเพจ แนบลิงก์)
(1) นายจ้างต้องปิดกิจการเพราะคำสั่งของรัฐบาลโดยเฉพาะ หากกิจการของนายจ้างถูกสั่งให้หยุดกิจการเนื่องจากคำสั่งของรัฐบาลโดยเฉพาะ เช่น ธุรกิจในที่ถูกสั่งให้ปิดสถานที่ตามข้อ 2 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นต้น การที่รัฐบาลมีคำสั่งโดยเฉพาะเจาะจงเช่นนี้ นายจ้างไม่สามารถที่จะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการหยุดกิจการได้แต่อย่างใด การปิดกิจการชั่วคราวเพราะการออกคำสั่งของรัฐโดยเฉพาะจึงเป็นการปิดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุที่เป็นเหตุสุดวิสัย
(2) นายจ้างปิดกิจการเพราะกรณีที่ถึงขนาดว่าเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในสถานประกอบการของนายจ้าง
กล่าวคือ แม้กิจการของนายจ้างจะไม่ใช่กิจการที่รัฐได้สั่งให้ปิดเป็นการเฉพาะก็ตาม แต่ถ้าการดำเนินกิจการต่อไปนั้นทำให้เชื้อโรคเกิดการแพร่ระบาดในสถานประกอบการและเป็นผลทำให้นายจ้างและลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ตามปกติและมีผลต่อสาธารณชนต่อไปได้ จึงเป็นกรณีที่นายจ้างไม่สามารถป้องกันได้ตามสมควรแก่ฐานะความเป็นนายจ้างและโดยภาวะของการแพร่ระบาดที่ควบคุมไม่ได้ การปิดกิจการของนายจ้างด้วยเหตุนี้จึงเป็นการปิดกิจการด้วยเหตุที่เป็นเหตุสุดวิสัย
กรณีที่เป็นการปิดกิจการชั่วคราวเพราะเหตุที่ไม่เป็นเหตุสุดวิสัย
หากนายจ้างปิดกิจการโดยเหตุนี้จะทำให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 75 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยนายจ้างจะต้องแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบก่อนวันเริ่มหยุดกิจการไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ ตามมาตรา 75 วรรคสอง เช่น
(1) นายจ้างต้องปิดกิจการเพราะลูกจ้างในสถานประกอบการเคยเดินทางไปพื้นที่ที่มีการระบาด หรือประวัติมีความใกล้ชิดกับบุคคลที่มีติดเชื้อไวรัส หากนายจ้างพบว่าลูกจ้างของตนอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงทั้งในและนอกประเทศ หรือมีประวัติว่ามีความใกล้ชิดกับกับบุคคลที่ติดเชื้อไวรัส ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอาการเป็นเวลา 14 วันตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดและนายจ้างสามารถสั่งให้ลูกจ้างเหล่านั้นไม่มาทำงานและเฝ้าระวังอาการตามที่กำหนดไว้ได้โดยที่ไม่มีความจำเป็นต้องปิดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวอันเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคในสถานประกอบการ อย่างไรก็ดี ถ้านายจ้างเลือกที่จะปิดกิจการชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในสถานประกอบการ เห็นว่าเป็นการปิดกิจการโดยที่ยังไม่ได้เกิดเหตุการณ์อย่างใด ๆ ที่นายจ้างไม่อาจป้องกันหรือหลีกเลี่ยงด้วยความระมัดระวังได้เกิดขึ้น แต่เป็นการปิดกิจการเนื่องจากความสงสัยของนายจ้างเองว่ามีการแพร่ระบาดของโรคในสถานประกอบการของตนหรือไม่ ดังนั้น กรณีนี้จึงเป็นการปิดกิจการชั่วคราวของนายจ้างเพราะเหตุที่ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
(2) นายจ้างปิดกิจการเพราะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ กรณีที่นายจ้างประสบปัญหาการประกอบกิจการในภาวะการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้นายจ้างเลือกที่จะปิดกิจการชั่วคราวเพื่อรักษากิจการของนายจ้างและทำให้ลูกจ้างไม่ได้ทำงานในช่วงเวลาดังกล่าว การปิดกิจการลักษณะนี้ย่อมเป็นการปิดกิจการโดยที่ไม่ได้มีเหตุการณ์ใด ๆ ที่เป็นลักษณะที่นายจ้างไม่สามารถจะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดได้ แต่เป็นความประสงค์ของนายจ้างโดยแท้จริง การกรณีนี้จึงเป็นการปิดกิจการชั่วคราวของนายจ้างเพราะเหตุที่ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
กรณีนายจ้างปิดกิจการโดยถาวร
ถ้านายจ้างประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนักจนถึงขนาดที่ทำให้นายจ้างต้องปิดกิจการไปโดยถาวร กรณีนี้จะเป็น “การเลิกจ้างเพราะนายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้” ตามความหมายในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง ทำให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามรายการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง
นอกจากนี้ ในการเลิกจ้างโดยนายจ้างนั้น กฎหมายกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ในบอกกล่าวการเลิกจ้างแก่ลูกจ้างของตน โดยต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือ และต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ช่วงการจ่ายค่าจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 17 หากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างทันทีโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น นอกจากนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยแล้วนายจ้างจะต้อง “สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า” เพิ่มอีกด้วย