(จากซ้ายไปขวา ญาณิศา กันวี มิลันดา พยุงวัฒนา และนภัสชนก อินสว่าง)
ตามที่นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตได้เข้าร่วมและได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 จากการแข่งขันบทบาทสมมติและการแข่งขันว่าความในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ภาคภาษาไทย (International Humanitarian Law Roleplay and Moot Court Competition) ประจำปี ค.ศ.2020 (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/international-humanitarian-law-roleplay-and-moot-court-competition-2020/) วันนี้เราจะไปพูดคุยกับญาณิศา กันวี มิลันดา พยุงวัฒนา และนภัสชนก อินสว่าง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ ศูนย์รังสิต ถึงประสบการณ์และความรู้สึกในการเข้าแข่งขันดังกล่าว
คำถาม (1) : เข้าร่วมการแข่งขันได้อย่างไร
ญาณิศา : “รู้สึกสนใจเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศอยู่แล้วจึงคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้พัฒนาตัวเองไปอีกขั้น เนื่องจากเพิ่งเคยเข้าร่วมการแข่งขันแค่ไม่กี่รายการเท่านั้น อีกทั้งตอนที่มีโอกาสได้แข่ง internal moot court ก็ได้คำแนะนำจากอาจารย์ฐิติรัตน์ทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของเรา จึงอยากจะปรับปรุงคำแนะนำต่าง ๆ เหล่านี้ให้ดีขึ้นด้วย”
มิลันดา : “เคยลงเรียนวิชา LA265 Moot Court กับอาจารย์ฐิติรัตน์และอาจารย์สุประวีณ์ เมื่อปีที่แล้วและรู้สึกว่า Moot Courtเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ อีกทั้งยังท้าทายความสามารถมาก ๆ รวมถึงมีความสนใจในด้านมนุษยธรรมและด้านสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว ก็เลยชักชวนเพื่อน ๆ ที่มีความสนใจในกิจกรรม Moot Court เหมือนกันมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ค่ะ”
นภัสชนก : “ด้วยความที่ตนมีความฝันอยากจะทำอาชีพที่ได้ใช้กฎหมายระหว่างประเทศในอนาคต และเนื่องจากตนเองและเพื่อนร่วมทีมชอบทำกิจกรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเห็นประชาสัมพันธ์การแข่งขันนี้ จึงไม่ลังเลที่จะมาเข้าร่วมค่ะ”
คำถาม (2) : แรงบันดาลใจในการเข้าร่วม และสิ่งที่ได้รับจากการแข่งขัน
นภัสชนก : “การเข้าร่วมการแข่งขันนี้ทำให้ได้ฝึกฝนทักษะในการค้นคว้า การเขียน และการพูดเป็นอย่างมากค่ะ เพราะนอกจากการเขียน memo แล้ว เรายังต้องไปพูดแถลงการณ์ต่อชั้นศาล ซึ่งศาลก็จะมีการถามคำถามแทรก เช่น สิ่งที่เราพูดนี้เอาหลักมาจากไหน แหล่งอ้างอิงน่าเชื่อถือไหม ฯลฯ ซึ่ง ณ ตอนนั้น ตื่นเต้นแล้วก็กดดันมากค่ะ เพราะเป็นครั้งแรกที่มาแข่งขัน แล้วต้องพยายามคิดคำตอบให้ได้ทันที นอกจากนี้ผู้ที่มารับบทบาทเป็นศาลก็ยังเป็นคนในแวดวงกฎหมายที่มีความสามารถมาก ๆ ทั้งนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ ICRC อัยการ และผู้พิพากษาตัวจริง นับเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ล้ำค่า และหาไม่ได้จากในห้องเรียนค่ะ”
มิลันดา : “แรงบันดาลใจ คือ ได้อ่านหนังสือกฎหมายอาญาระหว่างประเทศของรศ. ดร. ปกป้อง ศรีสนิท ส่วนตัวชอบกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ประกอบกับเรียนเซคชั่นของอาจารย์ปกป้อง จึงได้ลองซื้อหนังสือของท่านมาอ่าน พออ่านแล้วรู้สึกว่าอาญาระหว่างประเทศเป็นอีกหนึ่งสาขาที่น่าสนใจมาก ๆ ซึ่งในหนังสือของท่านเองก็ได้กล่าวถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศด้วย จึงอยากลองแข่งขันเพื่อหาประสบการณ์ดูค่ะ”
“การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ามาก ๆ ค่ะ เนื่องจาก IHL Moot Court เป็นการจำลองการว่าความในศาลอาญาระหว่างประเทศ ใช้ Rome Statute และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งไม่เคยศึกษามาก่อน ทำให้ต้องค้นคว้าทำความเข้าใจในสิ่งที่ไม่เคยได้ศึกษามาก่อนด้วยตัวเอง นับเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถมาก ๆ อีกทั้งยังได้ฝึกคิดและปรับใช้กฎหมายจากหลาย ๆ มุมมอง ทั้งจากทางฝั่งโจทก์และฝั่งจำเลย และที่สำคัญที่สุดคือได้เรียนรู้การทำงานกับเพื่อนร่วมทีมอย่างมีประสิทธิภาพ”
ญาณิศา : “กฎหมายระหว่างประเทศเป็นกฎหมายที่น่าสนใจมาก เนื่องจากแต่ละการแข่งขันก็จะใช้กฎหมายประเภทที่แตกต่างกันออกไป และเป็นกฎหมายที่ใหม่สำหรับเราเองเพราะบางกฎหมายก็ยังไม่เคยได้ยินมาก่อนว่ามีกฎหมายเฉพาะกรณีเช่นนี้ด้วย ทำให้คิดว่าในประเทศไทยเองน่าจะยังมีคนที่ไม่เคยได้ยินหรือไม่เคยรับรู้ถึงการมีอยู่ของกฎหมายนี้เหมือนเรา ในภายภาคหน้าก็อยากจะศึกษากฎหมายระหว่างประเทศประเภทต่าง ๆ ให้มากขึ้น และอยากผลักดันให้กฎหมายเหล่านี้ได้รับความสนใจมากขึ้น ที่สำคัญก็คือได้เห็นอาจารย์ฐิติรัตน์ศึกษา ทำงานเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชนแล้วรู้สึกว่าอาจารย์เท่และดูสนุกกับงานมาก ๆ ก็เลยรู้สึกว่าอยากทำให้ได้แบบอาจารย์บ้างค่ะ”
คำถาม (3) : รู้สึกอย่างไรที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 จากการแข่งขัน
มิลันดา : “รู้สึกดีใจมาก ๆ เพราะไม่คาดคิดมาก่อนเลยว่าจะได้รับรางวัล เนื่องจากเป็นการแข่งขัน Moot Court ครั้งแรกในชีวิต อีกทั้งยังมีเวลาเตรียมตัวเพียง1อาทิตย์เท่านั้น ขอขอบคุณคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศที่จัดกิจกรรมที่ดีและมีประโยชน์อย่างมาก และขอขอบคุณทุก ๆ ท่านที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีซึ่งไม่อาจกล่าวถึงในที่นี้ได้ทั้งหมด”
นภัสชนก : “รู้สึกตกใจมากค่ะที่ได้รางวัล เพราะใช้เวลาทำ memo กันแค่ประมาณ 1 สัปดาห์เท่านั้น แล้วยังไม่มีโค้ชด้วย เตรียมตัวกันเองทั้งหมด แต่ก็โชคดีที่เคยได้เรียนวิชา LA265 กับอาจารย์ฐิติรัตน์ และอาจารย์สุประวีณ์เมื่อปีที่แล้ว โดยวิชานี้เป็นวิชาที่ทำให้ได้ลองทำ Moot Court เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมีส่วนช่วยในการแข่งขันนี้มาก เพราะถึงแม้จะเป็นการแข่งขันรอบภาษาไทย แต่ก็ต้องรีเสิร์ชเป็นภาษาอังกฤษแทบทั้งหมด ทั้งตัวกฎหมาย เอกสารวิชาการ และคำพิพากษาค่ะ นอกจากนี้ยังรู้จักรุ่นพี่ที่เคยแข่ง IHL เลยได้หนังสือ Geneva Conventions มาด้วย ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ได้กล่าวไป และความพยายามของเพื่อนร่วมทีมจริง ๆ ค่ะ”
ญาณิศา : “รู้สึกตกใจมาก เพราะว่าก่อนได้รางวัลยังคุยกับเพื่อนร่วมทีมว่าเราไม่น่าได้รางวัลอะไรแน่ ๆ เลย พอประกาศชื่อทีมออกมายังงงอยู่เลยว่า “นี่เราได้รางวัลอะไรนะ” และเวลาที่เตรียมตัวก็มีน้อยมาก ๆ ประมาณ 1 สัปดาห์เท่านั้นที่ต้องทำทั้งเมโม่และพลีดดิ้งให้เสร็จ เป็นอะไรที่ท้าทายมาก ๆ เพราะทั้งเราและเพื่อนร่วมทีมได้เรียนรู้ Mooting Skill มาคนละหน่อย แต่ก็รู้สึกดีใจที่แม้ว่าเราจะไม่มีทั้งโค้ชและเวลาแต่ก็สามารถทำให้มาถึงจุดนี้ได้ ในสายตาคนอื่น ๆ อาจจะรู้สึกว่าไม่ได้มากมายอะไร แต่สำหรับทีมเราแล้วรู้สึกว่ารางวัลนี้มีค่ามาก ๆ อาจจะด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาและประสบการณ์ ไหนจะข้อผิดพลาดอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น การที่ได้รางวัลนี้มาก็ถือว่าเกิดความคาดหมายมากแล้วค่ะ และที่สำคัญก็คือรู้สึกขอบคุณเพื่อนร่วมทีม และหนังสือของอาจารย์อีกหลายท่านที่เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จนี้ด้วยค่ะ”
ภาพ MFUconnect
เรียบเรียง KK