มุมมองความรักในสมัยเรียนเทียบกับปัจจุบัน Special Ep : รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล
บทสัมภาษณ์โดยศูนย์ดูแลสุขภาวะของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Law TU Health & Wellness)
“รักในวัยเรียน ก็เหมือนจุดเทียนกลางสายฝน? รักคือการให้? อกหักดีกว่ารักไม่เป็น?”
วลีคุ้นหูที่ได้ยินตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วทุกคนเคยสงสัยไหมคะว่าวลีไหนล่ะที่เป็นความจริง วันนี้พวกเราจึงได้เชิญรศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อาจารย์ในดวงใจของใครหลาย ๆ คน หนึ่งในตัวแม่ตัวมัมแห่งคณะนิติศาสตร์ของพวกเรามาพูดคุยและแลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องของความรัก เหมาะกับวันวาเลนไทน์วันแห่งความรัก
คำถาม (1) : ความรักในนิยามของอาจารย์คืออะไร
ในภาพรวมของความรัก ความรักคือการให้ ซึ่งการให้เริ่มตั้งแต่ การให้เวลา ถ้าเราหรือใครบอกว่าไม่มีเวลา คำตอบก็คือมันน่าจะไม่ใช่ความรัก เวลาหรือการให้เวลา หมายถึง “เวลาเชิงคุณภาพ” ไม่ใช่ “เวลาเชิงปริมาณ” การแค่ยกหูโทรศัพท์คุยกันซักนิด การส่งข้อความหากันซักหน่อย การถามไถ่ทุกข์-สุขกันซักน้อย …กินข้าวรึยัง …นอนรึยัง หรือ แค่ Good morning กับ ฝันดีนะ มันก็คือการให้เวลาคุณภาพแล้ว ไม่มีใคร “ไม่ว่าง” จนไม่มี “เวลาคุณภาพ” สำหรับ “คนสำคัญ” หรอกนะ
การให้อย่างที่สอง คือ การให้อิสระ ถ้าเรารักเขา เราก็ต้องให้อิสระกับเขา แต่ต้องอยู่บนขอบเขตที่เหมาะสม และเขาก็ต้องเคารพในอิสระที่เขาได้รับ ซึ่งอิสระในที่นี้ไม่ได้หมายถึงไปคบกับคนอื่นในระหว่างที่คบกับเรา เพราะเราคงไม่อยากให้คนที่เรารักหรือคนคุยของเราไปคุยกับคนอื่นใช่ไหม?เพราะฉะนั้น การให้อิสระ คือ เขาก็มีสังคมของเขา เขาก็มีเพื่อนของเขา เขาก็มีเวลาส่วนตัวของเขา เราไม่จำเป็นต้องไปตามติดเป็นเงาเหมือนปาท่องโก๋ก็ได้ การให้อิสระต้องบวกกับการให้ความไว้วางใจ ถ้าเราให้อิสระและความไว้ใจซึ่งกันและกันก็จะไม่ทำให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตร่วมกัน
การให้อันที่สาม คือ การให้อภัย ครูคิดว่ามันสำคัญมาก เพราะไม่มีมนุษย์คนไหนสมบูรณ์แบบ ไม่มีความรักไหนที่ดีที่สุด มันต้องมีช่วงที่สะดุด ช่วงที่จะไปต่อหรือพอแค่นี้ เป็นคำถามที่เราถามซ้ำ ๆ เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดปัญหาใด ๆ ขึ้นมา สิ่งที่สำคัญ คือ ตั้งสติ ระงับอารมณ์ตัวเองให้ได้ และหันกลับมาพูดกันด้วยเหตุผล มันอาจต้องใช้เวลาในการตั้งสติ การเงียบบางครั้งก็ดี แต่ถ้าเงียบนาน เงียบถี่ ๆ เงียบแบบไม่มีสัญญาณใด ๆ เงียบแบบไม่อธิบายอะไร สุดท้ายมันก็ยากที่จะให้อภัยกันหรือยากที่จะเข้าใจกัน ! การให้อภัยต้องบวกไปกับการพร้อมที่จะเรียนรู้หรือรับฟัง หรือพยายามเข้าใจในสิ่งที่อีกฝ่ายพยายามอธิบายในมุมของเขา ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าการให้อภัยมันผูกไปด้วยการเอาชนะ มันก็ให้อภัยกันไม่ได้ ! แค่อภัยก็พอแล้ว บางครั้งแม้ไม่เข้าใจก็ให้อภัยเถอะ มันก็จะพอที่ไปต่อด้วยกันได้
เพราะฉะนั้น ถ้านิยามว่า ความรักคือการให้ สรุปสั้น ๆ ก็คือ ให้เวลาเชิงคุณภาพ ให้อิสระซึ่งบวกกับการให้ความไว้วางใจ และอันที่สามคือให้อภัยบวกไปกับให้ความเข้าใจและรับฟัง ซึ่งมันก็จะทำให้เป็นความรักที่มั่นคง ยืนยง ยืนยาวได้ในช่วงเวลาหนึ่ง เพราะครูต้องบอกก่อนว่า สุดท้ายแล้วความรักคืออารมณ์ มันจึงมีขึ้น-มีลง และไม่มีอะไรตลอดไป เพียงแต่คนสองคนจะช่วยกันประคับประคองไปได้นานแค่ไหน ดังนั้น เวลามันดิ่งจะทำยังไงให้มันกลับฟูขึ้นมาได้ เวลามันฟูฟ่องล่องลอยอยู่ในอากาศ ต้องทำยังไงให้ตกลงมาแล้วไม่เจ็บจนเกินไป ! ถ้าเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติตรงนี้ได้ก็จะเป็นความรักที่ดีต่อใจได้นานๆ
(คำถามเสริม) ก่อนจะรักใครต้องรักตัวเองให้เป็น รักตัวเอง คือ อย่างไร
รักตัวเองให้เป็นก่อนที่จะไปรักคนอื่น หลายคนตีความผิด ๆ คิดว่าเป็นความเห็นแก่ตัว ซึ่งความจริงมันไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว แต่มนุษย์เกิดมาพร้อมธรรมชาติที่จะต้องดูแลตัวเองให้ได้ก่อน แม้แต่หลักคำสอนในพระพุทธศาสนายังบอกว่า เราเกิดมาเพื่อเรียนรู้ตัวตนและรู้จักตัวเองให้ได้ ถ้าเราเข้าใจตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นขีดจำกัดหรือความสามารถของเรา จุดแข็งหรือจุดด้อยของเรา เราก็จะสามารถอยู่ในสังคมได้ง่ายขึ้นและสามารถเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้นด้วย อย่างน้อย เมื่อเราเข้าใจตัวเอง เราก็จะรู้ว่าสิ่งไหนดีกับเรา สิ่งไหนไม่ดีกับเรา ตรงไหนที่เราควรอยู่ ตรงไหนที่เราไม่ควรอยู่ ตรงไหนที่เราสบายใจ ตรงไหนที่เราไม่สบายใจ เพราะถ้าเรายังงงกับตัวเองว่า เราชอบหรือไม่ชอบอะไร ครูว่ามันก็ใช้ชีวิตยากแล้วนะ เพราะฉะนั้น การรักตัวเองให้เป็นก็คือการรู้จักตัวเอง ทำความเข้าใจข้อจำกัดและศักยภาพของตัวเองให้ดี บางคนคิดว่าฉันเป็นของฉันแบบนี้ ฉันไม่เปลี่ยน จริง ๆ ความรักไม่ได้ทำให้ใครเปลี่ยนตัวเองได้ ถ้าคนคนนั้นไม่ได้อยากอยู่กับอีกคนหนึ่งมากพอ ! ถ้าเรารักใครแล้วอยากอยู่กับคนนั้นจริงๆ เราจะปรับจูนตัวเองเข้าหาคนคนนั้น เพราะไม่มีใครดีสมบูรณ์แบบ ไม่มีใครเปลี่ยนนิสัยที่แท้จริงของตัวเองได้ แต่เราสามารถปรับจูนตัวเองหรือลดองศาความร้อนของเราเพื่อให้ได้อยู่กับคนที่เขาอยากอยู่กับเราและเราก็อยากอยู่กับเขาให้นานขึ้น นั่นแหละคือการรักตัวเอง
ดังนั้น ความหมายของการรักตัวเองให้เป็น คือ การเรียนรู้ตัวเองและจัดการกับอารมณ์ของตัวเองให้ได้ เราอาจจะขี้น้อยใจ ขี้หึง ขี้ระแวง คิดมาก เราอาจจะชอบดูแลเอาใจใส่ ชอบช่วยเหลือ ซึ่งฟังดูแล้วไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ถ้าเราไปอยู่กับใครแล้วไม่รู้จักนิสัยตัวเองดีพอ ความใจดีมีน้ำใจ ความชอบเป็นผู้ให้ ชอบช่วยเหลือเกื้อกูลของเราอาจจะกลายเป็นปัญหาได้ในวันหนึ่ง เพราะถ้าเราไปให้คนที่เขาไม่อยากได้ หรือให้มากเกินไป หรือดูแลเขาจนเขารู้สึกว่าเขาทำอะไรเองไม่ได้ เขารู้สึกไม่ภูมิใจในตัวเอง รู้สึกด้อยค่า คุณรู้มั้ย เมื่อรีแอคชั่นที่เขาไม่โอเคกับความปรารถนาดีของเรามาบวกเข้ากับ “ด้านมืด” ของเราที่เป็นคนขี้น้อยใจ ขี้ระแวง ขี้หึง นึกภาพออกมั้ยคะว่ามันจะพังแค่ไหน นั่นแหละ แล้วยิ่งในโลกโซเชียลที่คุณชอบทักไปหาเขาทุกเช้าเพราะคุณเป็นคนใส่ใจ แต่คุณดันน้อยใจที่เขาไม่ read ซักทีเพราะเขาอาจยังนอนอยู่ หรือ read แล้วแต่เขาไม่ตอบทันทีเพราะเขาอาจจะคิดว่าไม่จำเป็นต้องตอบเพราะคุณก็ทักมาตามปกติทุกวันอยู่แล้ว หรือเขาอาจจะกำลังวุ่นวายจนลืมตอบเพราะมีธุระอื่น ๆอยู่ ถ้าคุณเป็นคนขี้น้อยใจ จินตนาการก็กระฉูด ซึ่งครูเข้าใจว่า มันอันตรายแค่ไหนในเวลาที่ทุกอย่างมันเกิดจากการที่เรายังไม่รู้จักลิมิตหรือจุดอ่อนของตัวเองมากพอ ! เพราะฉะนั้น เมื่อเรารักตัวเองเป็นและรู้จักข้อดี-ข้อเสีย-ข้อจำกัด-จุดอ่อน-จุดแข็งของตัวเองดีแล้ว เราก็จะสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนที่เราอยากจะคบหาต่อไปได้ อย่างน้อย เราก็บอกเค้าได้ว่า เราเป็นคนอย่างนี้ และเราจะดีลกับเขายังไงในความขี้ใจน้อย ขี้หึง ขี้ระแวง เพื่อที่จะทำให้ตัวเขาและตัวเราสบายใจทั้งสองฝ่าย หรือในความที่เราเป็นคนชอบใจดีชอบช่วยเหลือแต่เขามองว่าเราไปยุ่งวุ่นวายก้าวก่ายชีวิตของเขา เราจะทำยังไงให้เขารู้สึกถึงความห่วงใยของเรา โดยที่เขาไม่รู้สึกอึดอัดใจจนเกินไป ในทางตรงข้าม เขาเองก็เช่นกันถ้าหากเขารู้จักตัวเองดีพอ เขาก็สามารถสื่อสารกับเราได้และทำให้ทั้งสองฝ่ายปรับจูนเข้าหากันได้ ละอยู่ด้วยกันได้ง่ายขึ้น เดี๋ยวนี้ เราไม่ได้ต้องการอะไรมากมายจากความรัก เพราะยุคนี้ผู้หญิง-ผู้ชายดูแลตัวเองได้เท่าเทียมกัน ดังนั้น หลายคนจึงรอคอยเพียงคนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ ! อยู่ด้วยแล้วสบายใจไม่ใช่ว่าฉันทำอะไรก็ได้หมดนะ แต่หมายถึง การอยู่ด้วยกันด้วยความเคารพและการให้เกียรติกัน การดูแลกันแบบพอดี ๆ อันนี้แหละคือผลพวงมาจากการที่ เรารู้จักตัวเองมากพอและรักตัวเองเป็น
คำถาม (2) : อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรกับวลี “รักในวัยเรียน”
ครูเองไม่เคยมีประสบการณ์ความรักในวัยเรียน เพราะในยุคสมัยของครู ความรัก คือ เรื่องที่ต้องโตก่อนและรับผิดชอบตัวเองให้ได้ก่อน ซึ่งในอดีตก็ไม่ผิดที่จะคิดอย่างนั้น แต่ในสมัยนี้ ครูคิดว่ารักในวัยเรียนไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่เราต้องเข้าใจธรรมชาติว่า รักในวัยเรียนยังไม่ใช่ช่วงชีวิตที่เราได้ใช้ชีวิตอย่างจริงจัง เพราะในวัยเรียนหน้าที่หลักของเราก็คือเรียน ยิ่งในสังคมไทยที่ไม่จำเป็นต้องทำมาหาได้เพื่อส่งตัวเองเรียนแบบในต่างประเทศ ความรักในช่วงนี้ จึงมักจะเป็นเรื่องพื้น ๆ แค่ว่า เธอรักฉันอยู่ไหม เธอมีใครหรือเปล่า ซึ่งถ้าจะเลิกกันก็น่าจะมาจากปัญหาหึงหวงควงหลายคนประมาณนั้น แต่ในโลกความเป็นจริง มันไม่ใช่แบบนั้น เพราะเมื่อเข้าสู่โหมดการทำงานชีวิตคุณก็ไม่ได้มีแต่เรื่องความรัก คุณจะรู้ว่า ความรักไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต คุณจะเริ่มมองเห็น “ความมั่นคงในอนาคต” เป็นเรื่องสำคัญ ทุกคนอยากมีความมั่นคงในชีวิต ทุกคนอยากเติบโต ทุกคนอยากสามารถดูแลตัวเองได้ หรือดูแลคนที่รักได้ และยังมีปัจจัยอื่นๆที่จะเข้ามาเป็นตัวแปรอีกเยอะแยะ ดังนั้น เมื่อมาถึงจุดที่ความคิดเปลี่ยน รักในวัยเรียนอาจจะ “พัง” ซึ่งมันคือที่มาของบทสรุปที่คนส่วนใหญ่มักมองว่า รักในวัยเรียนเป็นเรื่อง Negative และมองว่ามันไม่มีทางเป็นความรักที่ยืนยาวได้ อย่างไรก็ตาม ครูว่า เอาเข้าจริงๆ มันไม่ใช่ว่าเป็นไปได้ แค่เป็นไปได้ยากมากกว่านะ เพราะครูมีเพื่อนที่คบกันมาตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม มหาลัยแล้วก็แต่งงานกัน ครูก็เคยแซวว่า ไม่เบื่อกันบ้างเหรอ บ้านก็อยู่ข้างๆกันมาตลอด เขาบอกว่า เขารักกันแบบนี้มาตั้งแต่แรก เขาเห็นกันมาตั้งแต่เด็ก พวกเขา “รักกันแบบเพื่อนและเติบโตเรียนรู้มาด้วยกัน” แม้มันจะเป็นความรักในวัยเรียนมาตลอด แต่สำหรับคู่นี้ มันคือความรักในแบบที่ครูชอบมากๆ จนกลายเป็นสโลแกนประจำใจมาตั้งแต่เด็กว่า ครูอยากมีความรักที่ “รักกันเหมือนเพื่อน แต่ดูแลกันเหมือนคนในครอบครัว” เพราะมันคือข้อพิสูจน์ว่า ไม่ว่าคุณจะรักกันในวัยไหน ช่วงชีวิตใด มันไม่ได้มีปัญหาด้วยตัวของช่วงเวลาที่คุณจะรักกัน แต่มันมีปัญหาจากปัจจัยที่เข้ามาในช่วงเวลาที่คุณรักกันมากกว่า เมื่อเราเติบโตขึ้น ความรักก็จะมีนิยามที่แตกต่างไปจากตอนคุณเป็นวัยรุ่น และถ้าคุณมีความรักที่ “รักกันแบบเพื่อน” คุณก็จะพบกับนิยามความรักในอีกรูปแบบหนึ่งที่ยืดหยุ่น-ผ่อนปรน-ลดการคาดหวัง-พร้อมที่จะรับฟัง-คุยกันได้ทุกเรื่อง-ไม่โกรธเคืองจนเลิกคบ-ไม่จบความสัมพันธ์กันง่ายๆ เหมือนคำพูดที่ได้ยินกันบ่อยๆว่า “เป็นแฟนอาจเลิกกันได้ แต่เป็นเพื่อนไม่มีทางเลิกกันง่ายๆหรอกนะ”
ด้วยเหตุนี้ ถ้ามองตามนิยามของความรักที่ครูบอกไว้ในตอนแรกว่า ความรักคือการให้ ไม่ว่าคุณจะรักกันในรูปแบบไหน การให้ทั้งสามสิ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อคุณถึงวัยที่ตกผลึกกับชีวิตแล้ว จะเร็วจะช้า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณอายุเท่าไหร่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าคุณเจออะไรในชีวิตมาบ้างและคุณเรียนรู้จากสิ่งที่เจอมานั้นอย่างไร
ครูเองเชื่อว่า รักในวัยเรียนน่ะดี เพราะคุณมีโอกาสผิดหวังกับรักในวัยเรียนสูง ซึ่งความผิดหวังจะเป็นบทเรียนที่ทำให้เราได้มีโอกาส “รู้จักตัวเอง” มากขึ้นในหลายๆด้าน เราจะไม่สามารถรู้จักตัวเองได้ ถ้าเราไม่เคย “เผชิญหน้า” กับปัญหาในชีวิต ความรักในวัยเรียนมีตัวแปรและปัจจัยหลายอย่างที่เปราะบาง และด้วยช่วงวัยที่คุณอาจยังไม่ได้เรียนรู้อารมณ์ของตัวเองหรือรู้จักตัวเองดีพอ คุณจึงมีโอกาสอกหักมากกว่าสมหวังในความรัก และถ้าทุกครั้งที่เรามีปัญหาในชีวิตและเราสามารถ “ก้าวผ่าน” มันมาได้ ให้เราหันหลังกลับไปดูว่าเราผ่านมันมายังไง แล้วคุณจะเติบโตขึ้นและคุณจะแข็งแรงขึ้น คุณเคยได้ยินประโยคที่ว่า “อะไรที่ฆ่าเราไม่ได้จะทำให้เราแข็งแรงขึ้น” ไหม คุณหันกลับไปดูสิว่า คุณผ่านอะไรมาแล้วบ้าง คุณผ่านความรัก ความเกลียดชัง ความสมหวัง ความผิดหวังในแต่ละช่วงเวลามากี่ครั้ง และคุณได้เรียนรู้อะไรจากประสบการณ์เหล่านั้นบ้าง
เพราะฉะนั้น รักในวัยเรียนสำหรับครูมันคือโอกาสที่เราจะได้พัฒนาตัวเองและได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวตนที่แท้จริงของเรา ถ้าคุณโชคดีได้เจอคู่แท้คู่บุญที่ดีต่อใจหรือบุพเพสันนิวาสมีอยู่จริง คุณก็จะได้ครองคู่อยู่ด้วยกันได้แบบยาว ๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นคู่แท้คู่บุญหรือเป็นคู่บุพเพสันนิวาสกันมาแต่ชาติไหน จงจำไว้ว่า ไม่มีอะไรราบรื่นถาวรและไม่มีความแน่นอนในชีวิต ดังนั้น ถ้าเราผ่านอุปสรรคมาได้โดยจับมือกันไว้ไม่ปล่อยมือกันเลย นั่นแหละความรักในวัยเรียนถึงจะมีคุณค่าและเรียกได้ว่า “รักแท้” แต่ถ้ามันไปไม่ถึงปลายทางอย่างที่คุณฝันเอาไว้ อย่างน้อยคุณก็ได้เรียนรู้แล้วว่า ทางข้างหน้าคุณจะต้องเดินยังไง และต้องเดินกับคนแบบไหน แล้วคุณก็จะเดินได้ไกลมากขึ้น เมื่อคุณเจอคนที่ “พอดีกับใจของกันและกัน” จริงๆ
คำถาม (3) : มุมมองความรักของอาจารย์ในสมัยเรียนกับปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไร
อย่างที่บอกไว้ในตอนต้นว่า ครูไม่เคยมีความรักในวัยเรียน หมายถึง ครูเคยมีแฟนหรือคนที่คบหาดูใจ แต่ครูไม่ได้รู้จักความรักแบบหนุ่มสาวเหมือนคนทั่วไป เพราะในมุมมองของครูในตอนนั้น ครูมองว่า ความรักคือการได้รับความรักจากคนที่ “ทำดี-ปฏิบัติดี” กับเรา ครูรู้สึกว่า ตัวเองโชคดีที่ได้รับความรักจากหลาย ๆ คน แต่ครูก็โชคร้ายในมุมหนึ่งที่ครูไม่รู้คุณค่าของความรักแบบหนุ่มสาวเลย ครูวิ่งหนี ปฏิเสธ และรู้สึกกลัวการมีความรักแบบหนุ่มสาว ครูสบายใจที่จะมีความรักแบบเพื่อนเท่านั้น เพราะครูเชื่อว่า ความรักแบบหนุ่มสาวมันคือสิ่งที่อันตรายต่อการเรียนและอนาคตของเรา เพราะฉะนั้น เมื่อมีใครจริงจังกับความรู้สึกที่เรียกว่า “รัก” ในตอนนั้น ครูก็จะบ๊ายบายทันที เพราะครูกลัวว่ามันจะเป็นปัญหา ในอดีตครูจึงไม่เคยรู้จักการให้ความรักกลับคืน ครูเป็นฝ่ายได้รับความรักมากกว่า เพราะครูกลัวความผิดหวัง กลัวการผูกมัด กลัวสารพัดปัญหาที่ครูเคยเห็นและเคยได้ยินมาจากคนรอบ ๆตัวมาตลอด ครูจึงไม่เคยเข้าใจว่า การใช้ชีวิตคู่และการเลือกคู่ชีวิตต้องอาศัยมุมมองความรักแบบไหนเป็นพื้นฐาน
แต่หลังจากที่ครูได้ผ่านชีวิตการแต่งงานและการตกลงหย่าด้วยความยินยอม ซึ่งครูได้ใช้เวลาในการเรียนรู้เพื่อปรับตัวกับการใช้ชีวิตคู่มายาวนานถึง 15 ปี ครูก็ได้เริ่มต้นรู้จักความรักกับความที่แท้จริง ซึ่งครูได้เรียนรู้ว่า เมื่อมนุษย์มีความรัก มันไม่ง่ายที่จะควบคุมความรู้สึกของตัวเองและต้องคอยถนอมรักษาความรู้สึกของคนที่เรารักไปพร้อมๆกัน มันไม่ง่ายที่จะต้องต่อสู้กับความต้องการข้างในของตัวเองและต้องรักษาสมดุลกับความต้องของคนในครอบครัว และมันไม่ง่ายที่จะต่อสู้กับความคิด มุมมอง และสายตาของคนรอบ ๆ ตัว ซึ่งบทเรียนในการใช้ชีวิตครอบครัวได้สอนให้ครูว่า ความรักที่ดีเป็นเรื่องของคนสองคนที่ไจตรงกันและพร้อมจะจับมือกันเดินข้ามทางม้าลายไปด้วยกัน ซึ่งในตอนแรกครูเคยเข้าใจว่า แค่ช่วยพาเขาข้ามทางม้าลายแล้วปล่อยมือเขาเมื่อถึงฝั่งก็จบแล้ว แต่ความจริง มันคือการที่ใครสักคนจะจับมือเราข้ามทางม้าลายไปเรื่อย ๆ โดยไม่เคยคิดจะทิ้งอีกคนไว้กลางทางต่างหาก เพราะชีวิตคู่ไม่ใช่การข้ามทางม้าลายแค่ที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น แต่มันคือการเดินไปบนถนนซึ่งเราต้องตัดสินใจอย่างถูกต้องบนกฎกติกาของการอยู่ร่วมกันในสังคม และในช่วงเวลาที่เราร่วมกันตัดสินใจเดินข้ามถนนไปนั้น เราจะต้องไม่ปล่อยมือกัน ไม่ว่าบนถนนนั้นจะมีอันตรายมากมายเพียงไหน ความรักที่ดี คือ การเลือกอยู่กับคนที่พร้อมจะเดินไปกับเราในทุก ๆ เส้นทาง ไม่ว่ามันจะต้องเดินไปบนถนนที่ยากลำบากหรือต้องขึ้นเขา-ลงห้วยยังไงก็ยังจับมือกันไว้ เป็นความอุ่นใจและเป็นกำลังใจให้กัน
การข้ามถนนเป็นสิ่งที่ทุกคนกลัว และทุกคนก็มีความกลัวที่จะ “เปลี่ยนเส้นทาง” จากที่หนึ่งยังไปอีกที่หนึ่ง หรือจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ดังนั้น ถ้ามีใครสักคนที่ทำให้เรารู้สึก “อุ่นใจ” ได้ว่าเขาจับมือเราไว้และพาเราเดินไปในเส้นทางที่ถูกต้อง ครูมั่นใจว่า การข้ามทางม้าลายมันก็จะไม่น่ากลัวอีกต่อไป
คำถาม (4) : อาจารย์เชื่อในวลีไหนมากกว่ากันระหว่าง “ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์” กับ “รักคือสิ่งสวยงาม”
จริงๆครูเชื่อทั้งสองประโยคเลย แต่ว่าด่านแรก ถ้าเรายังไม่รู้จักธรรมชาติของความรัก ความรักย่อมกลายเป็นความทุกข์แน่นอน เพราะความรักคืออารมณ์ เวลาเรามีความรักมันเป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะรักรูปแบบไหน รักเพื่อน รักครอบครัว รักพ่อรักแม่ รักลูก รักแบบชู้สาว ความรักมันทำให้เรากลัวการสูญเสีย กลัวการเปลี่ยนแปลงแล้วก็อ่อนไหว นั่นแหละมันถึงทำให้เราทุกข์ แต่ถ้าเรามาถึงจุดหนึ่งที่ได้เรียนรู้ธรรมชาติของความรัก และพบว่ารักแท้มีอยู่จริงจนเราสามารถเข้าใจและยอมรับมันได้ ความรักจะกลายเป็นความสวยงามและพลังงานดีๆในชีวิต มันอาจจะดูซีเนม่า หรือไม่น่าเชื่อว่ามันจะมีความรักที่มีแต่การให้อยู่จริงๆเหรอ ครูยืนยันว่า มีค่ะ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้สัมผัสกับความรักที่ไร้เงื่อนไขแบบนี้
ความรักที่คุณไม่ได้สนว่าเค้าจะอายุเท่าไหร่ ตีนกามีมากแค่ไหน อ้วนหรือผอมเกินไปไหม สภาพร่างกายเปลี่ยนไปแค่ไหน หัวล้านหรือไม่ พุงยื่นเป็นห่วงยางขนาดไหน หรือความรักที่คุณยังรักเขา แม้ในวันที่เขาเปลี่ยนไปจากวันแรกที่คุณตกหลุมรัก หรือในบางวันบางช่วงเวลาที่เขาไม่ดี ไม่เอาใจใส่ ไม่น่ารักเหมือนเดิม แต่คุณก็ยังสามารถให้อภัยและให้โอกาสในการปรับปรุงแก้ไข สิ่งเหล่านี้ คือ รักแท้ที่ยากนักจะได้เจอ ถ้าคุณเข้าใจรักแท้แล้ว คุณจะเข้าใจว่านั่นแหละความรักคือสิ่งสวยงาม แม้แต่ในวันที่คุณไม่มีเขาอยู่ในชีวิตอีกต่อไปแล้ว
คำถาม (5) : สำหรับอาจารย์อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในความรัก / ความสัมพันธ์
สั้น ๆ ง่าย ๆ เลยมี 3 ข้อ ข้อแรก คือ การดูแลเอาใจใส่ ไม่ได้หมายถึงการ support ในเรื่องทรัพย์สินเงินทอง แต่หมายถึงการดูแลจิตใจ เวลาล้มก็คอยประคับประคองพยุงกันไว้ เวลามีเรื่องยินดีก็ให้กำลังใจ เวลามีเรื่องร้าย ๆ ก็ไม่ทิ้งกัน อันเนี่ยคือความหมายของการดูแลเอาใจใส่ ครูคิดว่าคนสมัยนี้ก็ต้องการสิ่งนี้กันทั้งนั้นแหละ การที่มีใครสักคนที่เป็นความสบายใจของเรา ดูแลกันในระยะที่ปลอดภัย พอดี ๆ ไม่มากเกินไป ไม่ทำให้อึดอัดใจ แค่นี้ก็ดีต่อใจแล้ว
ข้อที่สอง คือ การให้เกียรติ ครูหมายถึงการให้เกียรติซึ่งกันและกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง มันไม่มีใครดีพร้อมสมบูรณ์แบบหรอกนะ แต่เราก็ไม่ควรเอาความในไปเล่าให้คนนอกฟัง เราไม่ควรนินทาว่าร้ายบ่นด่ากันลับหลัง เมื่อไม่พอใจให้สงบอารมณ์ลงก่อนแล้วค่อยหันหน้ามาพูดคุยกันอย่างให้เกียรติ พูดกันด้วยสติ ไม่ใส่อารมณ์ดีกว่าเอาไปเล่าให้คนอื่นฟัง
นอกจากนี้ การให้เกียรติรวมถึงความซื่อสัตย์ต่อกันด้วยนะ คนเรามันมีโอกาสรักคนได้มากกว่าหนึ่งคนในเวลาเดียวกัน ชอบคนได้เป็นร้อยในเวลาเดียวกัน หรือชื่นชมคนเป็นพันได้ในเวลาเดียวกัน แต่เราต้องแบ่งระดับความรู้สึกให้ดี เรามีความรักได้หลายแบบ แต่ความรักแบบคู่ชีวิตต้องมีคนเดียว รักษาเส้นให้ดี วางตัวให้ดี นั่นคือการให้เกียรติกัน ความซื่อสัตย์ต่อกันมันจะทำให้คนสองคนมีความรู้สึกที่ดีต่อกันได้ยาวนาน
ข้อที่สาม คือ การไว้ใจกัน เรื่องความไว้ใจกันนี่ถือว่าสำคัญมาก เพราะคนเรารักกันก็จะมีหึงหวงและหวาดระแวง แต่ครูคิดว่าควรเริ่มต้นที่คำว่า “ห่วง” จะดีกว่า เพราะความรู้สึก “เป็นห่วง” คือความรู้สึกที่ Positive ส่วน “หวง” ถือว่าเป็นความรู้สึกที่พอจะยอมรับได้ คนเรารักกันไม่หวงกันเลยมันก็แปลกอยู่นะ แต่ก็อย่าหวงกันบ่อย เพราะถ้าล้ำไปจากคำว่าหวงมันจะกลายเป็น “หึง” อารมณ์ “หึง” มันเป็นเรื่องของการไม่มีเหตุผล ไม่ให้เกียรติกัน ซึ่งสิ่งนี้ครูมองว่าเป็นเรื่องที่อันตราย การหึงจะทำให้เราระแวงและไม่ไว้ใจกัน ซึ่งมันก็อยู่ที่ว่าเราจะทำตัวยังไงเพื่อให้เขาสบายใจและให้เขาไว้ใจเราได้ ส่วนเขาเองก็จะทำตัวให้เราสบายใจและไว้ใจได้เช่นกัน ซึ่งทั้งคู่ก็ต้องตกลงกันเอาเอง เพราะแต่ละคู่ก็มีลิมิตที่ไม่เหมือนกัน บางทีอีกคนชอบรายงานแต่อีกคนรำคาญ หรืออีกคนชอบให้รายงานแต่อีกคนขี้เกียจ มันก็ต้องพูดคุยกันว่าเอาแค่ไหนที่พอดี
เพราะคนที่ใช่ก็คือคนที่ “พอดีกัน” ไม่ว่าจะเลวพอ ๆ กันหรือดีพอ ๆ กันนั่นแหละ นอกจากนี้ การไว้ใจกันได้ในความหมายของครู รวมถึงการไว้ใจได้ว่าเขาจะไม่ทิ้งเราในวันที่มีปัญหาด้วยนะ
ครูคิดว่า ในปัจจุบัน การอยู่คนเดียวได้และดูแลตัวเองได้มันก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ามีคนที่เราไว้ใจได้ให้เกียรติเราและพร้อมที่จะดูแลเราในวันที่เราดูแลตัวเองดูแลตัวเองไม่ได้มันจะโค_รดีต่อใจจริงๆนะ
คำถาม (6) : ถ้าให้อาจารย์นำหลักกฎหมายมาปรับใช้กับความรัก อาจารย์จะเลือกใช้หลักอะไร
หลักการง่าย ๆ เลยค่ะ “หลักสุจริตและหลักต่างตอบแทน” ซึ่ง “หลักสุจริต” นั้น ครู หมายถึง การทำอะไรก็ให้ทำด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ จริงใจต่อกัน ปรารถนาดีต่อกัน ส่วน “หลักต่างตอบแทน” หมายถึง ถ้าเขาดูแลเราดี ให้เกียรติเรา ไว้ใจเรา เราก็ควรที่จะให้สิ่งเหล่านั้นกลับคืนไปแก่เขาเช่นกัน
ผู้สัมภาษณ์: อันนี้จะเริ่มเข้าเป็นพาร์ทกฎหมายนิดนึงนะคะ
คำถาม (7) : อะไรคือปัญหาของ ปพพ.ลักษณะ 1 การสมรส สำหรับอาจารย์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เป็นบรรพที่มีการพูดถึงเรื่องครอบครัว หมวดที่เกี่ยวกับการสมรสนั้นผิดตั้งแต่การมากำหนดว่าใครที่จะเป็นคู่สมรสกันได้ ในความเป็นจริงความรักไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศ วัย และเงื่อนไขใด ๆ ทั้งหมดที่พูดไปเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น สิ่งที่กฎหมายจะมาจำกัดควรมีแค่เรื่องที่เกี่ยวกับศีลธรรมอันดีและความสงบเรียบร้อย เช่น อย่าผิดลูกเขาเมียใคร ถ้าพวกเขายังเป็นคู่กันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคู่ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าจะรักใครชอบใครก็เก็บไว้ในใจ เขาเลิกกันเมื่อไหร่เราก็ค่อยว่าไปอีกกรณี แต่ไม่ใช่เราเป็นคนไปทำให้เขาเลิกนะ
นอกจากเรื่องพวกนี้ ครูคิดว่าเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นเหมือนกติกาสังคมมากกว่า บางเรื่องจริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่สามารถการันตีความเป็นครอบครัวที่สงบเรียบร้อยหรือว่าอยู่กันได้ยั่งยืน โดยเฉพาะระบบทรัพย์สินที่ค่อนข้างเป็นปัญหามากที่ทำให้การใช้ชีวิตยาก เนื่องจากกฎหมายทีใช้ขณะนี้ไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน
เพราะฉะนั้นในเรื่องการสมรส ครูคิดว่าถ้ากฎหมายเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขเรื่องเพศก็น่าจะดี ส่วนเรื่องของการกำหนดอายุครูคิดว่าจริง ๆ 17 ปีก็ไม่ได้แย่ แต่ถ้าจะให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็กครูคิดว่าจะปรับไปที่ 18 ก็ได้ ตามที่ครูบอกไปว่าความรักมันมาตอนไหนก็ได้ ช่วงอายุไหนก็ได้ อย่าไปมองว่า คนที่มีความรักตอนเป็นผู้สูงวัยต้องกลายเป็นพวก “เฒ่าหัวงู” หรือ “วัวแก่กินหญ้าอ่อน” หรืออะไรก็ตามแต่ที่เป็นการ “ด้อยค่า” กัน อย่างไรก็ตาม เมื่อความรักเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตคู่เพื่ออยู่เป็นครอบครัว เรื่องวุฒิภาวะก็มีความจำเป็นพอสมควร ดังนั้น ถ้าต่ำกว่า 18 ก็ยังเป็นเด็กอยู่ ยังไม่มีประสบการณ์ในเรื่องของการใช้ชีวิต การดูแลตัวเอง หรือที่เรียกกันว่า รักตัวเองให้เป็น การที่เขาจะมาสร้างครอบครัวซึ่งจะต้องดูแลชีวิตอีกชีวิตหนึ่งที่จะมาเป็นคู่ชีวิต หรือต้องดูแลลูกที่จะเกิดมาจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ยังต้องการทักษะและความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ในระดับหนึ่ง ครูจึงมองว่า การที่ขยับเกณฑ์อายุไปที่ 18 ปีน่าจะเป็นช่วงวัยที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลซึ่งมีการวิเคราะห์กันมาแล้วว่า มีความเป็นผู้ใหญ่พอที่จะตัดสินใจได้ด้วยตัวเองแล้ว นอกจากนี้ ครูมองไปถึงการปรับเกณฑ์อายุที่จะบรรลุนิติภาวะด้วย ซึ่งอายุ 18 ก็น่าจะบรรลุนิติภาวะได้แล้ว เพราะในเมื่ออายุ 18 อาจจะปรับเป็นเกณฑ์ที่จะมีครอบครัวได้แล้ว ความเป็นผู้เยาว์ก็ควรหมดไปด้วยเช่นกัน และกฎหมายไปเขียนข้อยกเว้นว่า”บรรลุนิติภาวะโดยอายุหรือการสมรส” ครูเลยมองว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าคุณแต่งงานมีคู่ชีวิตได้ก็หมายความว่าคุณโตพอที่จะดูแลจัดการชีวิตตัวเองและจัดการชีวิตคนอื่นได้ด้วย ดังนั้น เมื่ออายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้วย่อมสามารถ “เลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง” ได้ โดยไม่จำต้องอาศัยสถานะการสมรสมาเป็นเงื่อนไขในการบรรลุนิติภาวะเป็นกรณีพิเศษอีกต่อไป
คำถาม (8) : อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรกับการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้มีสมรสเท่าเทียม
ครูเคยพูดไปหลายเวทีแล้วว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการใช้พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพราะเป็นการแก้ที่จุดเดียว แต่สามารถส่งผลกับ พ.ร.บ.อีกหลาย ๆ ฉบับที่มุ่งคุ้มครองสถานภาพการเป็นคู่สมรสได้ในคราวเดียวกัน
การที่สมรสกันได้ทุกเพศก็จะเกิดความเท่าเทียมที่แท้จริงในการที่จะชีวิตในลักษณะที่เป็นครอบครัวได้อย่างถูกต้องสอดคล้องกับความจริงของสังคมไทยในปัจจุบัน และเป็นการใช้กฎหมายอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งในอนาคต ถ้าเป็นไปได้ ครูอยากให้มี พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศด้วย เพราะมันจะส่งผลในด้านอื่น ๆ อย่างครอบคลุมมากกว่า เพราะการแก้ไข ป.พ.พ. บรรพ 5 จะส่งผลแค่เรื่องการใช้ชีวิตคู่เท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยให้คนที่ไม่ต้องการมีคู่ชีวิต หรือคนที่แฮปปี้กับตัวเองใน lifestyle แบบคนโสดได้มีสิทธิที่เท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศจึงควรเป็นเรื่องที่ถูกผลักดันอย่างจริงจังต่อไป
คำถาม (9) : การแก้ไขให้มีการสมรสเท่าเทียมส่งผลต่อกฎหมายอาญาหรือไม่
ส่งผลแน่ค่ะ เพราะจะส่งผลต่อเรื่องของผู้กระทำความผิดในฐานความผิดเกี่ยวกับเพศ ซึ่งแม้ว่าตอนนี้จะได้มีการแก้ประมวลกฎหมายอาญาไปแล้ว แต่ก็อาจจะต้องไปทบทวนกันอีกหลาย ๆ มุมว่าจะเกิดปัญหาในมิติใดขึ้นมาอีก เช่น กรณีที่เป็นกลุ่มที่มีการ transexual ไปแล้วจะถูกรับรองในความหมายของการข่มขืนในอนาคตได้ไหม เพราะในตอนนี้ยังเป็นได้แค่อนาจารซึ่งเป็นเหตุฉกรรจ์
นอกจากนี้ ถ้าเรารับรองความเป็นคู่สมรสของเขาก็จะมีตัวอย่างในเรื่องของการป้องกัน ว่าถ้าเขาเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วก็จะมีสิทธิอ้างเรื่องป้องกัน ไม่ใช่แค่บันดาลโทสะ หรือการได้รับประโยชน์ในเรื่องของระบบทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา ซึ่งถ้าเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว คนเพศเดียวกันก็จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 71 เป็นต้น
(อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง transexual และ transgender ที่ https://www.issm.info/sexual-health-qa/what-is-the-difference-between-transsexual-and-transgender)
คำถาม (10) : อาจารย์อยากบอกอะไรกับนักศึกษาที่กำลังอกหัก
อกหักก็เหมือนการสอบตก แค่ต้องเรียนรู้ว่าผิดพลาดตรงไหนแล้วแก้ไขให้ตรงจุด ถ้ายังอกหักอีกก็พัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็สอบผ่านอาการอกหักซ้ำซากไปได้ เมื่อเราเข้าใจความรักในแบบของตัวเอง ดังนั้นอกหักดีกว่ารักไม่เป็น
ผู้สัมภาษณ์: แล้วถ้าเลือกได้อาจารย์จะเลือกอะไรคะระหว่างอกหัก หรือ รักไม่เป็น
เดินคนเดียวก็ไปได้ แต่ถ้าได้เดินกับคนรู้ใจก็ไปได้ไกลกว่า
ถ้าเราเลือกได้ครูยังสรุปว่า ถ้าคุณ “ดู-รู้-วางได้” การมีความรักจะกลายเป็นพลังงานมหาศาลที่ดีต่อใจและเป็นสิ่งดีๆที่เป็นกำไรให้ชีวิติ ซึ่ง ดู ก็คือ การดูใจตัวเอง ดูลิมิตและข้อจำกัดอารมณ์ของตัวเอง รู้ ก็คือ รู้เท่าทันสิ่งที่ทำให้เราทุกข์ และ วาง ก็คือ การปล่อยวางให้เป็นเมื่อมันถึงจังหวะที่ไม่เป็นไปในแบบที่เราคาดหวัง
ทั้งนี้ ในมุมมองของคนเป็นแม่ ความรักที่ครูมีให้ลูกๆเป็นความรักที่ปราศจากเงื่อนไขและเป็นพลังงานดีๆที่นำพาให้ครูมาถึงวันนี้และมีความสุขในทุก ๆ วัน ในมุมมองของทาสแมว ความรักที่ครูมีให้แมวก็เป็นพลังงานความรักในฐานะของผู้ให้ และเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความรักที่ไม่คาดหวังซึ่งเป็นพลังบวกในชีวิต ดังนั้น ถ้าเราจะมีความรักและเรารักเป็น ครูก็สนับสนุนให้มีความรัก ไม่ว่าจะมีความรักในรูปแบบใด หรือในช่วงเวลา หรือในช่วงอายุใด เพราะถ้า “รักให้เป็น” ความรักนั้นก็จะเป็นพลังงานดี ๆ มากกว่าจะเป็นความทุกข์ที่ทำให้เราท้อแท้ ที่สำคัญ ถ้ารักกันให้เหมือนรักเพื่อนและดูแลกันให้เหมือนคนในครอบครัวได้ ความรักนั้นก็จะกลายเป็นเรื่องดีๆในทุกวันของชีวิต
โปรดบอกตัวเองไว้เสมอ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่าลืมที่จะรักตัวเอง ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น ไม่ใช่เพื่อใคร ไม่ใช่เพราะรักใคร แต่เป็นเราในเวอร์ชั่นที่น่ารักขึ้นเพื่อตัวของเราเอง เมื่อถึงเวลานั้น หากมีโอกาสที่เจ้าความรักผ่านเข้ามาอีกครั้ง เราก็จะเป็นการที่คนที่รู้คุณค่าของตัวเองและพร้อมที่จะอยู่กับคนที่เหมือนกันในวันหนึ่ง อย่าด้อยค่าตัวเองเพียงเพราะผิดหวังในความรัก และอย่าลืมว่า ความรักมีหลายรูปแบบ รักพ่อแม่ รักพี่น้อง รักเพื่อน รักหมาแมว ทั้งหมดก็คือความรัก และความรักที่สำคัญที่สุดซึ่งคนเรามักมองข้ามไป คือ การรักตัวเองให้เป็นโดยไม่เห็นแก่ตัว
”กลับมาดูแลใจตัวเองเยอะๆนะครับ:)“
ภาพ : รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล
เรียบเรียง : Law TU Health & Wellness