มุมมองอาจารย์กับการจัดการความเครียด 101 : ณัชพล ศิริชัยนฤมิตร (พี่วิน) นิสิตปริญญาโท คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 60)
บทสัมภาษณ์โดยศูนย์ดูแลสุขภาวะของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Law TU Health & Wellness)
คำถาม (1) : ประวัติส่วนตัว และแรงบันดาลใจในการเข้าศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ชื่อนายณัชพล ศิริชัยนฤมิตร ชื่อเล่น วิน อายุ 24 ปี เป็นศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 60 ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโทคณะจิตวิทยา แขนงจิตวิทยาการปรึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในชั้นปี 2 ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงระหว่างการเก็บชั่วโมงฝึกงานครับ”
“แรงบันดาลใจในการเข้าศึกษาคณะนิติศาสตร์ ความจริงค่อนข้างตลกเลยทีเดียว เพราะเราไม่ได้อยากเข้าเพราะสนใจในคณะนิติศาสตร์ตั้งแต่แรก จริง ๆ สนใจนิเทศศาสตร์มากกว่าในตอนนั้น แต่ทางบ้านไม่อยากให้เรียน ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงทางการงานในอนาคต แล้วพอดีมีเพื่อนหลายคนที่สนใจอยากเรียนในด้านนิติศาสตร์ เราก็เลยลองหาข้อมูล ลองหาอ่านและลงเรียนติวเตอร์ ก็เริ่มรู้สึกสนใจมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้รู้สึกชอบอะไรมากมาย แค่รู้สึกว่าตัวเองน่าจะเรียนได้ เพราะคณะก็เน้นการอ่าน และวิเคราะห์อยู่แล้วซึ่งเป็นส่วนที่ผมถนัดมาแต่ไหนแต่ไร เลยลองมาสอบตรงดู แล้วปรากฏว่าสอบติดตั้งแต่รอบสอบตรงเลย ไม่รู้ด้วยบุญหรือกรรม 5555”
คำถาม (2) : อยากให้เล่าถึงประสบการณ์ที่เผชิญกับความเครียดในระหว่างกำลังศึกษา และวิธีการจัดการความเครียดที่เกิดขึ้น
“พอแรงบันดาลใจมาจากเพียงความรู้สึกว่าตัวเองน่าจะเรียนได้ พอมาเจอของจริงก็ทำให้ตะลึงเหมือนกัน ถึงแม้ตามหลักสูตรเก่าปีหนึ่งจะเรียนวิชากฎหมายเทอมละตัวเท่านั้น แต่ด้วยความที่เนื้อหาต้องอาศัยการทำความเข้าใจอย่างมาก รวมกับหนังสือที่ต้องอ่านซึ่งก็เยอะเช่นกัน แถมวิชาแรกสุด หลักกฎหมายทั่วไป ยังเรียนเซคของอาจารย์สมยศด้วย ทำให้ยิ่งไม่ค่อยเข้าใจเนื้อหาเข้าไปอีก (ซึ่งไม่ใช่ความผิดของอาจารย์นะ555เป็นเพราะเรายังปรับตัวไม่ค่อยได้) นั่นแหละก็เลยทำให้ตอนนั้นเครียดมาก ๆ คะแนนก็ไม่ได้ดีมาก แต่ก็ไม่แย่ แต่พอถึงเทอมสองเรียน นิติกรรมสัญญา ก็เริ่มปรับตัวได้มากขึ้น อาจเพราะเนื้อหาที่ดูจับต้องได้มากขึ้น และเริ่มปรับพฤติกรรมการอ่านหนังสือของตัวเอง เพราะรู้ว่าเนื้อหาต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจ เราเลยอ่านหนังสือล่วงหน้าไปเลยตั้งแต่ต้น ๆ เทอม เก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อย ๆ จึงเรียนรู้เรื่องมากขึ้น คะแนนก็ดีขึ้นมาก เริ่มมีความหวังกับคณะนิติศาสตร์มากขึ้นแล้ว
พอถึงปีสองไปจนถึงปีสี่ ก็เหมือนต้องปรับตัวใหม่อีกครั้ง เพราะต้องเรียนวิชากฎหมายเทอมนึง 5-6 ตัว ซึ่งทำให้ทั้งจำนวนเนื้อหาและจำนวนหนังสือก็เพิ่มขึ้นมาก จากปีหนึ่งที่เรียนแค่เทอมละตัว ทั้งยังเรียนแปดโมงเช้าเกือบทุกวัน ทำให้ช่วงนั้นก็ประสบปัญหาพักผ่อนไม่เพียงพอ ทั้งเครียดกับการวางแผนอ่านหนังสือเพื่อให้เก็บเนื้อหาสำคัญได้หมดทุกวิชาก่อนถึงช่วงสอบ ทำให้ช่วงนั้นก็ซึมมาก วิตกกังวลกลัวจะอ่านไม่ทัน เคยวิตกมากจนนอนไม่หลับทั้งคืนเลยก็มี แต่ไม่ได้เข้าพบกับนักจิตวิทยา เนื่องจากในตอนนั้นยังไม่รู้ว่าให้บริการกันยังไงที่ไหน ซึ่งก็น่าเสียดายเหมือนกัน”
“ในการจัดการความเครียดตัวเองในตอนนั้นก็ใช้วิธีการแบ่งเวลาจากการอ่านหนังสือเรียน มาจดบันทึกสะท้อนตัวเอง ให้เห็นว่าที่เครียดนี้เพราะอะไร ก็ทำให้เห็นความคาดหวังของตัวเองที่อยากจะทำให้ดีที่สุด อยากอ่านให้มากที่สุด เตรียมตัวให้พร้อมที่สุด เพื่อให้ได้คะแนนดี มันทำให้ได้เผชิญหน้ากับตัวเอง และตั้งคำถามว่าสุดท้ายแล้วเราจะเรียนไปเพื่อให้คะแนนดีแค่นั้นเหรอ? สรุปแล้วมาเรียนนิติศาสตร์เพื่ออะไร? ถ้าคะแนนดีมากทุกวิชา แต่ต้องแลกด้วยสุขภาพกายและจิตของตัวเองมันคุ้มมั้ย? พอได้เผชิญหน้ากับตัวเองมันเลยทำให้เริ่มปล่อยวางได้ ก็อ่านหนังสือเตรียมตัวไปให้เต็มที่ แต่เพื่อให้ตัวเองเข้าใจเนื้อหาไม่ใช่แค่ให้คะแนนออกมาดีเฉย ๆ และอนุญาตให้ตัวเองได้พักผ่อนไปทำอะไรที่ทำให้ตัวเองแฮปปี้บ้าง เช่น ดูหนัง อ่านนิยาย ทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย เป็นต้น รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอด้วย เหล่านี้ก็เลยทำให้เราสามารถจัดการกับความเครียดในการเรียนได้ ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าหลังจากนั้นก็ไม่เครียดอีกเลย มันก็ยังกลับมาเรื่อย ๆนั่นแหละแต่แค่เรารับมือกับมันได้ดีขึ้น”
คำถาม (3) : หากย้อนเวลากลับไปได้ จะเลือกเส้นทางให้ตัวเองใหม่หรือไม่ ในระหว่างเรียนค้นพบได้อย่างไรว่าตัวเองไม่ได้อยากทำงานตรงสาย และอยากให้เล่าสิ่งที่ขับเคลื่อนให้เรียนในคณะนี้จนจบได้
“อย่างที่บอกถึงแม้จะจัดการความเครียดตัวเองได้มากขึ้น แต่พอได้กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า สรุปแล้วเราเรียนนิติศาสตร์ไปเพื่ออะไรนะ? อนาคตจะเป็นยังไงต่อไป เราตอบคำถามนี้ไม่ได้เลย พอยิ่งเรียนมากขึ้น ก็ยิ่งชัดเจนกับตัวเองมากขึ้นว่าเราไม่ได้รู้สึกชอบนิติศาสตร์เลย ความไม่ชอบนี้มาจากความรู้สึกที่ว่าเราไม่อยากรู้อะไรเพิ่มเติม เราไม่ได้อยากจะหาอ่านเพิ่ม หรือสนใจอยากหาข้อมูลเพิ่มเองเลย ตอนนั้นแค่คิดว่าก็เรียน ทำความเข้าใจแค่เนื้อหาที่อาจารย์สอนก็เพียงพอแล้ว มันเลยทำให้อนาคตต่อจากนี้ไม่ชัดเจน เราไม่รู้ว่าอยากทำงานอะไรต่อ แล้วจุดเปลี่ยนก็มาถึงตอนปีสองเทอมสองเราสอบตกตัวแรก ตอนนั้นมันทำให้เป้าหมายในการเรียนที่ตอนแรก ๆ ตั้งใจจะเอาเกียรตินิยมถูกทำลายไปเลย ไม่มีอะไรให้ยึดเหนี่ยวอีกต่อไป ตอนนั้นแหละเราเลยเริ่มจริงจังกับการค้นหาคำตอบในเรื่องเป้าหมายในชีวิตของตัวเองจริง ๆ แต่ก็ใช้เวลานานเป็นปี ๆเหมือนกันกว่าจะหาคำตอบกับตัวเองได้ว่าสรุปแล้วเราอยากจะทำอะไรกันแน่”
“สิ่งที่ทำให้ขับเคลื่อนให้เรียนจนจบได้ ก็มาจากการที่เราชัดเจนแล้วในระดับนึงนั้นแหละว่าหลังจากนี้จะทำอะไรต่อไป เราไม่ได้คิดจะซิ่ว เพราะตอนนั้นเราได้ตัดสินใจแล้วว่าจะศึกษาต่อจิตวิทยาการปรึกษาในระดับปริญญาโท และเริ่มปูทางของตัวเองแล้วด้วยการไปหาอ่าน และลงเรียนวิชาเสรีเกี่ยวกับจิตวิทยา เราจึงตั้งมั่นเลยว่าถึงจะไม่ชอบยังไง เราก็ต้องเรียนให้จบให้ได้ สุดท้ายแล้วความรู้ทางด้านนิติศาสตร์ก็เป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตอยู่ดี การที่ไม่ชอบก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะหาประโยชน์จากการเรียนไม่ได้ เราก็เลยตั้งใจเรียนเหมือนเดิม พยายามเก็บเกี่ยวอะไรก็ตามที่คณะนี้จะมอบให้ ๆ มากที่สุด สุดท้ายจึงสามารถเรียนจนจบได้ภายในระยะเวลา 4 ปีไม่ขาดไม่เกิน”
“สุดท้ายนี้หากย้อนเวลากลับไปได้ จะเลือกเส้นทางให้ตัวเองใหม่มั้ย ถ้าพูดในแง่ว่าจะยังตัดสินใจเบนสายไหม ก็คงเหมือนเดิม เพราะอย่างที่บอกว่าเราได้ใช้เวลาในการตกตะกอนกับตัวเองเป็นปี ๆ กว่าจะสามารถตัดสินใจได้ เมื่อตัดสินใจแล้วยังไงก็จะลองไปอยู่ดี ส่วนถ้าพูดในแง่ว่าจะซิ่วไปเลยไม่ต้องบากบั่นเรียนจนจบไหม คิดว่าก็คงไม่ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ชอบนิติศาสตร์ แต่สุดท้ายแล้วประสบการณ์จากการได้มาเรียนที่นี่ก็ทำให้เรามีความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับตัวเอง กล้าจะตั้งคำถาม และค้นหาเส้นทางของตัวเองจริง ๆ เราไม่เคยรู้สึกเสียใจเลยที่ได้มาเรียนที่นิติศาสตร์ เพราะสุดท้ายนิติศาสตร์ก็ทำให้เราเติบโตกลายเป็นเราในทุกวันนี้“
คำถาม (4) : เมื่อตัดสินใจที่จะเบนสายแล้ว มีอุปสรรคและปัญหาอย่างไรระหว่างทางบ้าง มีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไร
”พอได้ตัดสินใจแล้วว่าต่อจากนี้จะศึกษาต่อด้านจิตวิทยาการปรึกษาแน่ ๆ สิ่งที่จะเป็นทั้งจุดแข็งและอุปสรรคใหญ่ของเราก็คือความมั่นคงในจิตใจ การที่เราเลือกเส้นทางที่แตกต่างจากคนอื่น โดยที่จะต้องเห็นเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันเริ่มมีความก้าวหน้าด้านการงาน เริ่มมี progress ในชีวิต ในขณะที่เราก็ยังเรียนอยู่ งานประจำจริง ๆ ก็ยังหาไม่ได้ ก็ทำให้เกิดความท้อแท้ สงสัยในทางเลือกของตัวเอง และหลายครั้งก็เจ็บปวดมากเลยทีเดียว เจ็บปวดที่ทำไมเราถึงไม่สามารถชอบนิติศาสตร์ที่เราอุตส่าห์เรียนมาตั้ง 4 ปีเหมือนคนอื่น ๆ ได้ ซึ่งเหล่านี้ก็ส่งผลให้ความมั่นคงในจิตใจลดลง
วิธีการแก้ไขก็คืออยู่กับความจริงอะ ไปอาลัยอาวรณ์ว่าทำไมถึงชอบเหมือนคนอื่นไม่ได้ก็เท่านั้น เพราะเราย้อนเวลากลับไปทำให้ตัวเองชอบไม่ได้ และในแง่ของ progress ในชีวิต ทุกคนก็มีเส้นทางการเดินทางของตัวเองทั้งนั้นแหละ เราอาจจะเลือกทางที่ไม่เหมือนคนอื่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มี progress ในชีวิตเลย แค่โฟกัสกับตอนนี้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่และเต็มที่กับทางที่เราเลือก สุดท้ายอนาคตจะเป็นยังไงเดี๋ยวก็จะรู้เอง“
คำถาม (5) : ทราบมาว่าพี่วินกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นปริญญาโททางด้านจิตวิทยา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแรงบันดาลใจอย่างไรจึงเลือกเข้าศึกษาต่อในด้านนี้ และตอนนี้การเรียนเป็นอย่างไรบ้าง
”แรงบันดาลที่เลือกศึกษาต่อด้านนี้หลัก ๆ ก็มาจากปัญหาความเครียดจากการเรียนนิติศาสตร์นั่นแหละ ในช่วงที่เรายังปรับตัวไม่ได้ สภาพจิตใจเราแย่มาก ๆ เราเครียดจนนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อารมณ์สวิง อยู่กับเพื่อนร่าเริง แต่พออยู่คนเดียวก็ดิ่งเลย จนได้ไปปรึกษากับเพื่อนที่ได้เรียนเรื่องการปรึกษามา แล้วเขาทำให้เราสามารถเห็นปัญหาของตัวเองได้ชัดเจนมากขึ้น และรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น นั่นเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราเริ่มสนใจศาสตร์ในด้านนี้ อยากรู้กลไกภายในจิตใจของคนเราเป็นยังไง อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเราเกิดความทุกข์ใจ และจะสามารถช่วยคนอื่นด้วยวิธีการให้การปรึกษาเชิงจิตวิทยาได้ยังไง เราเลยใช้เวลานานมากในการตกตะกอนกับตัวเองว่าทำไมเราถึงอยากเรียนต่อด้านนี้ และก็หาอ่านหาเรียนเพิ่ม จนสุดท้ายก็ได้มาเรียนจริง ๆ“
”การเรียนตอนนี้ในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก เรารู้สึกมีความสุขและสนุกกับการเรียนและการฝึกงาน ถึงแม้ว่าจะหนักหน่วงและยากมาก เต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะขึ้นชื่อว่าปริญญาโทมันหนักกว่าปริญญาตรีมากอยู่แล้ว แต่เราก็มั่นใจมากว่าอนาคตยังไงเราก็เป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาแน่ ๆ ไม่มีความลังเลในเรื่องนี้“
คำถาม (6) : หากฝากถึงตัวเองในอดีตได้ มีอะไรที่อยากบอกตัวเองในตอนนั้น และอยากให้ฝากข้อคิดหรือกำลังใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้นักศึกษาและผู้ที่กำลังอ่านบทความนี้
”ฝากอะไรถึงตัวเองในอดีต ขอบคุณที่กล้าตัดสินใจละกัน555 สิ่งที่อยากฝากให้ผู้อ่านทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรือใครก็ตาม ความเครียด ความทุกข์ใจมันเกิดขึ้นได้เสมอ การที่เราเครียดหรือทุกข์ใจมันไม่ใช่เรื่องแย่เลย แต่หากเราปล่อยให้เข้ามาครอบงำจิตใจ มันก็ทำให้โลกของเรามืดมัวได้ การอ่านหนังสือเตรียมสอบ ท่องมาตรา ทำความเข้าใจเนื้อหาเป็นสิ่งสำคัญในการศึกษาในคณะนิติศาสตร์ก็จริง แต่บางครั้งการที่เราลองถอยออกมาก้าวนึงเพื่อถามตัวเองว่า “ตอนนี้ตัวเราเป็นยังไงบ้างแล้วนะ” ก็เป็นสิ่งที่สำคัญพอๆกับการเรียนเหมือนกันนะ“
”กลับมาดูแลใจตัวเองเยอะๆนะครับ:)“
ภาพ : ณัชพล ศิริชัยนฤมิตร
เรียบเรียง : Law TU Health & Wellness