มุมมองอาจารย์กับการจัดการความเครียด 101 [ Season 3] EP.1 : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วริษา องสุพันธ์กุล
บทสัมภาษณ์โดยศูนย์ดูแลสุขภาวะของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Law TU Health & Wellness)
คำถาม (1) : ประวัติส่วนตัวและแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมาย
“ชื่อ วริษา องสุพันธ์กุล ชื่อเล่น ผิงผิง ค่ะ เป็นอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชนและศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ เป็นศิษย์เก่านิติศาสตร์ ธรรมศาตร์เช่นกันค่ะ
เหตุผลที่เลือกเรียนกฎหมายนั้นจะขอเล่าย้อนไปตอนสมัยประถมที่ได้อ่านหนังสือแฮรรี่ พอตเตอร์เล่มแรกแล้วทำให้อยากไปพจญภัยในที่ใหม่ ๆ จึงขอที่บ้านไปเรียนต่างประเทศ และได้ไปเรียนประถม 5 ที่อินเดียเพราะค่าใช้จ่ายไม่สูง แม้ที่อินเดียจะไม่ค่อยเหมือนฮอกวอตส์ที่จินตนาการไว้ แต่ประสบการณ์ตรงนั้นทำให้ประทับใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรม เมื่ออยู่ม.ปลายจึงขวนขวายที่จะไปแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกา การได้อยู่ในครอบครัว สังคมและวัฒนธรรมใหม่ที่แตกต่างจากไทย ทำให้ยิ่งชัดเจนกับตัวเองว่าชอบเรียนรู้เกี่ยวกับผู้คนและสังคม จึงคิดว่าตัวเองน่าจะเหมาะกับสายมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์มากกว่า ตอนเลือกคณะ ลังเลระหว่างจิตวิทยากับนิติศาสตร์ แต่สุดท้ายได้มางาน open house ที่ธรรมศาสตร์ ได้คุยกับรุ่นพี่คณะนิติศาสตร์ ชอบบรรยากาศของเสรีภาพ และเชื่อว่ากฎหมายจะทำให้เราเข้าใจสังคมและมีส่วนเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้ จึงเลือกคณะนี้ค่ะ”
คำถาม (1) : ประวัติส่วนตัวและแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมาย
“ช่วงชีวิตการเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่มีความสุขมาก ด้วยความอิสระในการใช้ชีวิต การได้เลือกวิชาเองตามความสนใจซึ่งพี่ก็ได้ลองเลือกวิชานอกคณะเช่นวิชาการตลาด วิชาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แม้การเรียนบางวิชาจะอยากลำบากจนต้องถอนแต่ก็ทำให้เปิดโลกของสาขาอื่นและรู้จักเพื่อนต่างคณะ ส่วนการเรียนวิชาในสายกฎหมายก็ค่อนข้างชอบเพราะอาจารย์แต่ละคนต่างก็มีสไตล์การสอน ตัวอย่าง องค์ความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีความสุขเวลาเรียนวิชาสายกฎหมายมหาชนและกฎหมายระหว่างประเทศ แม้เนื้อหาค่อนข้างเป็นนามธรรมและพี่ทำคะแนนได้ไม่ดี เช่นวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญที่เรียนกับอาจารย์วรเจตน์สนุกมาก แม้คะแนนออกมาได้ 60 ก็กลับดีใจที่สอบผ่านคาบเส้นและได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก หรือวิชาเลือกกฎหมายมหาชนเยอรมันที่เรียนเป็นภาษาอังกฤษ มีความสุขมากเพราะอาจารย์ชาวเยอรมันสอนแบบตั้งคำถาม ให้คิด วิเคราะห์ และค้นคว้าด้วยตัวเอง วัดผลด้วยรายงาน ซึ่งตอนนั้นพี่ตั้งใจตอบคำถามในห้องแต่ไม่ตั้งใจทำรายงานเพราะประมาทและยุ่งกับการทำ Moot court จึงสอบตก ทำให้ไม่ได้เกียรตินิยม แม้ตอนนั้นจะเสียใจแต่ก็ยังชอบการเรียนแบบนี้จึงยังตามไปลงเรียนวิชาสัมมนากฎหมายมหาชนที่สอนในรูปแบบเดิมที่ให้นักศึกษามีส่วนร่วมอีก คราวนี้ตั้งใจทำรายงานและนำเสนอในห้องเรียนทำให้ได้คะแนนดีและเกิดแรงบันดาลใจในการไปเรียนต่อต่างประเทศ
“ส่วนเรื่องการเลือกอาชีพนั้น สำหรับบางคนอาจจะชัดเจนตั้งแต่แรก เป็นการเลือกครั้งเดียวและทำไปตลอด แต่สำหรับพี่ มันเหมือนการกระบวนการรู้จักตัวเองและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยากสัมผัสการทำงานหลาย ๆ แบบ พี่จึงฝึกงาน law firm ช่วงปีสาม และก่อนไปเรียนปริญญาโทที่ฝรั่งเศสก็มีโอกาสเป็นผู้ช่วยวิจัยระยะสั้นที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ช่วงอยู่ปิดเทอมในแต่ละปีของปริญญาโท พี่ก็ไปฝึกงานที่คณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย และที่ NGO ที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิของคนที่มีความหลายทางเพศในประเทศตูนิเซีย”
(ฝึกงานที่ L’Association-Shams ที่ประเทศตูนิเซีย)
“พี่สังเกตว่าชีวิตตัวเองขับเคลื่อนด้วยการเรียนรู้ จึงสมัครทุนเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศออสเตรเลีย เห็นว่าเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย และจะได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ซึ่งพี่ก็ไม่ผิดหวัง พี่เห็นว่าตัวเองรักอิสระมาก และมีความสนใจที่หลากลาย ชอบการเปลี่ยนแปลง รวมถึงให้ความสำคัญกับมิติทางจิตวิญญาณ จึงคิดว่าตัวเองไม่น่าจะเหมาะกับงานประจำ โดยเฉพาะงาน office อยากหางานที่น่าสนใจ เป็นประโยชน์กับสังคม ในลักษณะเป็นโปรเจคระยะสั้น ไปเรื่อย ๆ ทำที่ไหนก็ได้บนโลกที่คุณภาพชีวิตดี คนน้อย อยู่ใกล้ธรรมชาติ มีเงินมาดูแลครอบครัว ทำกิจกรรมและงานอาสาที่ชอบ
แต่พอธรรมศาสตร์ประกาศรับสมัครอาจารย์ พี่ทบทวนตัวเองว่าที่พี่มีโอกาสทางการศึกษา การได้ลองทำงานหลายรูปแบบ ได้ไปใช้ชีวิตในหลายประเทศก็เพราะพี่เติบโตมาจากธรรมศาสตร์ ที่ให้พื้นที่ในการค้นหาตัวเอง ลองผิดลองถูก ผ่านการเรียนและการทำกิจกรรม โดยความช่วยเหลือของอาจารย์ รุ่นพี่และเพื่อน ๆ ที่เกื้อกูลกัน พี่จึงอยากมีโอกาสช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ตั้งคำถาม ค้นคว้าด้วยตัวเอง และที่สำคัญคือเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง เหมือนที่พี่มีเคยได้รับแรงบันดาลใจแบบนั้นสมัยเป็นนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ คิดว่าตัวเองเหมาะกับบทบาทนี้เพราะเป็นคนสนใจเรียนสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ และชอบแชร์ความรู้กับคนอื่นผ่านการมีส่วนร่วมและลงมือทำในลักษะกลุ่มเล็ก ๆ เช่นการติวเพื่อนหรือการสอนกีฬามาตั้งแต่เด็ก นอกจากนี้ พี่เห็นว่างานอาจารย์ก็เป็นงานประจำที่อิสระที่สุดงานหนึ่ง เช่นพี่สามารถเลือกทำวิจัยในเรื่องที่อยากทำได้ มีช่วงเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น เลือกเข้าสังคมได้ จึงสมัครมาเป็นอาจารย์ค่ะ”
คำถาม (3) : กิจกรรมและงานอดิเรกระหว่างศึกษาและเทคนิคการบริหารจัดการเวลาระหว่างการเรียนกับการใช้ชีวิต
ช่วงชีวิตในมหาวิทยาลัย เป็นช่วงที่พี่ตั้งใจค้นหาตัวเอง โดยไม่กลัวที่จะโดนตัดสิน ล้มเหลว หรือผิดพลาด จึงได้ลองกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะที่เราขาดแต่เห็นว่าเป็นประประโยชน์ ก็คือ การพูดในที่สาธารณะ เพราะพี่เป็นคนชอบเขียนมากกว่าพูด กลัวการพูดในที่สาธารณะมาก และมีข้อบกพร่องในการพูดเยอะ ทั้งพูดเร็ว พูดติดอ่าง โมโนโทน ขี้อาย ซึ่งข้อจำกัดนี้เป็นอุปสรรคในการแชร์ไอเดียและประสบการณ์กับคนอื่น พี่จึงสมัครคัดตัวของชมรมปาฐกถาและโต้วาที ซึ่งแน่นอนว่าไม่ผ่านการคัดเลือก แต่สุดท้ายก็ได้เข้าไปอยู่ในทีมเพราะพี่ติดตามช่วยงานชมรมและเป็นจัวหวะที่มีตัวแทนคนหนึ่งถอนตัวไปค่ะ ซึ่งรุ่นพี่ชมรมก็จะเหนื่อยในการฝึกพี่พอสมควรแต่ก็สามารถทำให้พี่ค่อย ๆ เอาชนะความกลัวมาได้ ไม่งั้นคงไม่กล้าสมัครเป็นอาจารย์ค่ะ
นอกจากนี้ พี่สนใจกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับกฎหมาย เพราะอยากเห็นการใช้กฎหมายนอกเหนือจากตำราและเลคเชอร์ในห้องเรียน จึงทำกิจกรรม Moot court ทั้งในไทย คือ แถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นศาลอุทธรณ์ และที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และในต่างประเทศ คือ Asia cup ที่ญี่ปุ่น และ Vis moot ที่เวียนนาค่ะ และได้ลองทำกิจกรรมที่ทำให้ได้ฝึกการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ คือเป็นกรรมการ ALSA, TILSA, ชมรมปาฐกฐาและโต้วาที แต่ละชุมนุมทำให้ได้ประสบการณ์ทำงานที่หลากหลายทั้งในแง่เนื้องานและคนค่ะ
“ส่วนงานอดิเรกพี่ชอบออกกำลังกายหลายประเภท ชอบกิจกรรมที่อยู่กับธรรมชาติ โดยเฉพาะเดินป่า ปีนเขา ว่ายน้ำ-ดำน้ำในทะเล และชอบอ่านหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือวิชาการ ตอนนั้นพี่ไม่ได้ใช้เทคนิคบริหารจัดการเวลาอะไร แต่อาจด้วยกิจวัตรประจำวันพี่ทำให้สามารถทำสิ่งต่างๆได้เยอะโดยที่ยังรักษาสุขภาพกาย-ใจให้ปรกติได้ เพราะรู้ตัวเองว่าเป็นคนที่ไม่ค่อยอึด เหนื่อยง่าย ไม่สามารถที่จะอ่านหนังสือเยอะๆ ข้ามคืนและข้ามมื้ออาหารเหมือนเพื่อนๆ เพราะฉะนั้นเรื่องกิน นอน ออกกำลังกาย จึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่รักษาให้เป็นปรกติ ชอบนอนเร็วประมาณ 3 ทุ่ม ตื่นเช้า อ่านหนังสือตั้งแต่เช้าตอนที่ทุกคนยังไม่ตื่นหรือถ้าไม่ใช่ช่วงสอบก็ไปออกกำลังกาย และเลิกเรียนตอนเย็นก็ทำกิจกรรมหรือออกกำลังกาย ไม่ค่อยอ่านหนังสือแล้ว ภาระอื่น ๆ ที่เหลือก็อยู่ไปในตารางประจำวันของตัวเอง แม้จะไม่สมบูรณ์แบบและหลายครั้งก็ไม่ได้เข้าห้องเรียน แต่จะคอยตามจากเพื่อน ๆ ซึ่งพี่โชคดีที่มีกลุ่มเพื่อนที่เนิร์ดและมีน้ำใจมาก แบ่งปันเลคเชอร์และติวให้ ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเป็นคนที่เห็นค่าของเวลามาก ๆ รู้สึกว่าช่วงเวลาในรั้วมหาวิทยาลัยสี่ปีมันสั้น และเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว จึงค่อนข้างเลือกมากว่าจะใช้เวลากับใครหรือสิ่งใดค่ะ”
คำถาม (4) : ถ้ามีความเครียดอาจารย์มีวิธีการจัดการอย่างไร รวมถึงตอนเรียนมีวิชาใดที่อาจารย์ไม่ชอบ วิชาที่ไม่ชอบและรู้สึกว่ายากมากๆนั้น อาจารย์มีวิธีการจัดการกับวิชาเหล่านั้น อย่างไร
“หากรู้สึกไม่สบายใจขึ้นมา พี่จะอยากอยู่กับตัวเองเพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวและรับรู้อารมณ์ตัวเองก่อน เพราะเชื่อว่าถ้าอยากจะออกจากความไม่สบายใจ ก็ต้องยอมรับว่าขณะนี้ตัวเองกำลังอยู่ในความไม่สบายใจ จะยังไม่เอากิจกรรมอื่นมาหันเหความสนใจ โดยเมื่อเรากล้าเผชิญกับอารมณ์ตัวเอง ก็อาจจะได้ยินเสียงในหัวตัวเอง เช่น เราไม่ดีพอ เราไม่มีคุณค่า ฯลฯ สังเกตว่ามีความรู้สึกอะไรทางกายเกิดขึ้น เช่น แน่นหน้าอก ปวดหัว เมื่อพายุอารมณ์สงบแล้วก็ค่อยมาวิเคราะห์ต่อว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องเราแก้ไขได้มั้ย ต้องเป็นเรื่องที่จัดการ หรือต้องตัดสินใจหรือเปล่า ถ้าเป็นกรณีแบบนั้น ก็จะตัดสินใจหรือแก้ปัญหาโดยใช้เหตุผลไม่ใช่อารมณ์ชั่ววูบ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ควบคุม แก้ไข หรือจัดการอะไรไม่ได้ เช่นการสูญเสีย สอบตก ได้ยินว่ามีคนนินทา ก็จะแค่ถอดบทเรียนและค่อย ๆ ทำใจ ไปทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ อยู่กับคนที่รักเราแบบที่ตัวเราเป็น
“เมื่อก่อนพี่จะทำกระบวนการทั้งหมดนี้อยู่คนเดียว จะไม่เล่าให้ใครฟังจนกว่าจะแก้ปัญหาเสร็จ เพราะด้วยความเป็นพี่คนโตก็อยากเป็นคนที่เข้มแข็ง ดูพึ่งพาได้ ตัดสินใจถูกเสมอ ไม่อยากให้พ่อแม่เป็นห่วง และกลัวเอาพลังงานลบไปใส่คนรอบข้างหากเราระบายเรื่องทุกข์ใจ แต่ช่วงหลังที่พี่เรียนรู้ที่จะรักตัวเองแบบไม่มีเงื่อนไข มันก็ทำให้พี่เปิดเผยความคิด ความรู้สึก ความฝันของตัวเองกับครอบครัวและเพื่อนสนิทมากขึ้น ไม่ว่าชีวิตจะโยนแบบทดสอบยาก ๆ อะไรมาให้ พี่ก็รู้สึกว่าครอบครัวจะเป็นหลุมหลบภัยที่แข็งแกร่งที่สุด รวมถึงกัลยาณมิตรดี ๆ ที่ทำให้พี่เห็นถึงคุณค่าของการรับฟังด้วยใจ การให้กำลังใจ ยอมรับในความเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ไม่สมบูรณ์แบบของเรา ถ้านักศึกษามีเพื่อนแบบนี้อยากให้รู้ว่าโชคดีมาก ๆ ถ้ายังไม่มีก็อยากให้ลองเป็นเพื่อนแบบนี้ให้กับผู้อื่นค่ะ
“ส่วนวิชาที่พี่รู้สึกว่ายากจะเป็นวิชาที่พี่เป็นเรื่องทางเทคนิคหรือมีตัวเลขมาเกี่ยวข้อง ไม่ค่อยมีความรู้สึกของมนุษย์มาเกี่ยวข้องเหมือนสิทธิมนุษยชนที่พี่ชอบ เช่นกฎหมายการเงินการลงทุนซึ่งพี่ลงเป็นวิชาเลือก หรือกฎหมายวิธีพิจารณาความ กฎหมายภาษี กฎหมายธุรกิจ หุ้นส่วนบริษัท ทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ วิธีจัดการของพี่คือพยายามหาเหตุผล พี่ก็จะใช้วิธีหาเหตุผลหรือประโยชน์ของการได้องค์ความรู้เรื่องนั้น เพราะพี่เป็นคนที่ต้องเห็นความสำคัญของสิ่งที่จะทำถึงจะอยากทำและพร้อมที่จะใช้ความอดทนและพยายาม ต่อให้เป็นสิ่งที่ง่ายแต่ไม่มีแก่นสารก็จะไม่ค่อยอยากทำ ดังนั้นถ้ารู้ว่าความรู้เรื่องนี้มันสำคัญหรือมีประโยชน์อย่างไรสำหรับเราที่จะไปเป็นนักกฎหมายหรือพลเมืองไทยในอนาคต เช่นเราทุกคนต้องจ่ายภาษีก็ควรมีความรู้เรื่องนี้ หรือแม้เราไม่คิดจะทำธุรกิจหรือ Law Firm แต่ก็อาจมีญาติหรือเพื่อนที่ทำธุรกิจมาขอความช่วยเหลือ เราก็อยากช่วยเขาได้ ทำให้เราอดทนและพยายามกับวิชานั้นได้มากขึ้นค่ะ
ถ้ายังยากลำบาก พี่ก็จะมองในภาพรวมกลับไปหาเหตุผลที่เราอยากเรียนปริญญาตรีให้จบ ซึ่งพี่ได้แรงจูงใจมาจากครอบครัว ที่เมื่อก่อนคุณพ่อกับคุณแม่พี่ทำงานหนักมากเพื่อให้โอกาสทางการศึกษาและการเห็นโลกกว้างอย่างดีที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้กับพี่และน้องชาย ตอนนั้นเป็นยุคที่อากงของพี่นั่งเรือมาจากเมืองจีนแบบเสื่อผืนหมอนใบ สมัยพ่อพี่อยู่ม.ต้น ก็รับจ้างเป็นกรรมกรแบกปูนหลายสิบกิโลช่วงปิดเทอม ซึ่งทำให้เขายังคงมีอาการปวดหลังเรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้ ช่วงเปิดเทอมก็เรียนตอนกลางวัน เสิร์ฟอาหารตอนกลางคืน และทำงานเก็บเงินหนักมาก ส่วนคุณแม่พี่ก็อดทนทำงานที่ตัวเองไม่ได้ชอบมากว่าสามสิบปี ทั้งหมดนี้เพื่อให้ลูกสองคนไม่ต้องลำบากเท่าเขา และสามารถโฟกัสกับการเรียนและออกแบบชีวิตตัวเองได้เต็มที่ ทำให้พี่มีแรงจูงใจว่าแม้พี่คงไม่ได้ทำธุรกิจจนร่ำรวย แต่อยากชิงทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ พาครอบครัวมาเที่ยวต่างประเทศ และแบ่งเงินทุนจากรัฐบาลต่างประเทศส่งกลับไปที่บ้าน ให้พ่อแม่ได้มีโอกาสพักผ่อน และกล้าใช้เงินและเวลาไปกับการทำกิจกรรมที่ชอบค่ะ”
(ช่วงเรียนปริญญาโทที่ประเทศฝรั่งเศส)
คำถาม (5) : เมื่อมีสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวังเกิดขึ้น อาจารย์มีวิธีจัดการยังไงคะ
“พี่ค่อนข้างที่จะคุ้นเคยกับการที่สิ่งที่คาดหวังนั้นไม่เกิดขึ้น หรือสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดก็เกิดขึ้น อาจจะด้วยความที่ตัวเองไม่ได้หัวดี เรียนหนังสือเก่งโดยธรรมชาติ มีอัตลักษณ์และความสนใจที่หลากหลาย หลายอย่างอยู่นอกบรรทัดฐานเช่นบุคลิกลักษณะ เพศวิถี หรือดูขัดแย้งกันในสายตาคนอื่น เช่นชอบการใช้เหตุผลทางวิชาการแต่ก็ให้ความสำคัญกับมิติทางจิตวิญญาณมาก ทำให้ที่ผ่านมาพี่เหนื่อยกับการพยายามพิสูจน์ว่าตัวเองมีคุณค่าในสายตาคนอื่น และหา belonging หรือที่ที่เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งอย่างสบายใจเป็นตัวเองได้เต็มที่ แต่ก็ไม่ได้มีที่ไหนสมบูรณ์แบบ สุดท้ายก็พบว่าตัวเรานั่นแหละที่จะเป็นที่พักพิงให้กับตัวเอง การเรียนปริญญาเอกที่พี่ทำวิทยานิพนธ์เรื่องเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ ในด้านนึงก็ดึงดูดคำพูดรุนแรงจากคนเคร่งศาสนาบางคนที่ทำให้พี่รู้สึกไม่สบายใจ ในอีกด้านนึงมันก็ทำให้พี่ค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะรักและเคารพตัวเองมากพอที่จะเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งทำให้เราดึงดูดเพื่อนที่รักในความเป็นตัวเราจริง ๆ ไม่ใช่ภาพลักษณ์ที่เราสร้างขึ้นเพื่อให้ได้รับการยอมรับ
นอกจากนี้ การที่พี่มีกิจวัตรที่ค่อนข้างมีแบบแผน ในเรื่องการกิน การนอนและการออกกำลังกาย ทำให้พี่รักษาสุขภาพกาย-ใจได้พอสมควรค่ะ และช่วงหลัง พี่ก็เพิ่มกิจวัตรขึ้นมาสองอย่าง อย่างแรกคือเรื่องของการโทรคุยกับครอบครัวเป็นประจำ สมัยเรียนปริญญาตรี พี่มัวแต่วุ่นวายแต่กับเรื่องการเรียนและการทำกิจกรรมของตัวเอง แต่อยู่มาวันนึงคุณแม่โทรมาหาพี่ว่าอากงกำลังจะตายนะ ตอนนี้อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช พี่ก็รีบนั่งรถตู้จากรังสิตและต่อเรือข้ามฝากไปที่โรงพยาบาลแต่ก็ไม่ทัน พี่เสียใจเพราะคิดว่าอากงที่เลี้ยงพี่มาอย่างใกล้ชิดจะอยู่กับพี่จนเรียนจบรับปริญญา หลังจากนั้น ตอนที่เรียนต่อปริญญาโทที่ฝรั่งเศส อาม่าของพี่ก็ป่วยและเสียชีวิตโดยพี่ไม่ทันตั้งตัวและไม่สามารถเดินทางไปหาได้ทันจากฝรั่งเศส และพี่ก็นึกย้อนถึงตอนพี่เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนก็มีเหตุการณ์ที่โฮสต์แม่ซึ่งอายุมากล้มหัวฟาดพื้นในบ้านและเสียชีวิต เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้พี่เห็นว่าความตายอยู่ใกล้กับเรามาก ช่วงชีวิตในวัยเรียนของเรา มันยุ่งและสดใส เต็มไปด้วยความฝันและการเดินสู่เป้าหมาย เวลาผ่านไปเร็ว แต่กับคนที่ดูแลเรามา บางทีเราก็ลืมว่าเวลาของเขาเหลือน้อยหรือมีอุบัติเหตุอะไรที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ช่วงที่เรียนปริญญาเอกและทำงาน พี่จึงใช้เวลากับพ่อแม่และโทรคุยกับน้องชายที่อยู่ต่างประเทศ รวมถึงคุณยายที่ยังเหลืออยู่เป็นประจำ ซึ่งกิจวัตรตรงนี้มันกลับช่วยพี่ได้มาก เพราะเมื่อได้เชื่อมโยงกับคนที่เรารัก แม้เรายังไม่ได้เล่าความไม่สบายใจให้เค้าฟัง แต่ได้ยินเสียงของความรัก การถามไถ่ใส่ใจ ก็ช่วยเยียวยาได้มากเลยค่ะ
“และกิจวัตรอีกอย่างหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากการที่พี่มีโอกาสได้เข้าอบรมวิปัสสนา 10 วันตามแนวทางของอ.โกเอ็นก้าตอนเรียนปริญญาตรี และช่วงเรียนปริญญาเอกได้มีโอกาสเข้าอบรมและไปช่วยงานศูนย์วิปัสสนามากขึ้น จึงยิ่งเห็นค่าของวิธีปฏิบัติที่เป็นสากล ทำให้อยากรักษาการปฏิบัตินี้ให้อยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากที่สุด จึงนั่งปฏิบัติตอนเช้าและตอนเย็น ตอนแรกพี่ลังเลเพราะเหมือนเราเสียเวลา 2 ชั่วโมงในการนั่งสมาธิ แต่มันกลับช่วยพี่ได้มากเพราะช่วงเวลาที่นั่งวันละ 2 รอบนี้ แม้จะมีฟุ้งซ่านและง่วงเป็นปรกติ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่พี่ได้กลับมาอยู่กับตัวเองกับลมหายใจและความรู้สึกในร่างกาย การนั่งตอนกลางคืนทำให้เราได้ detox เรื่องราวและอารมณ์ต่างๆที่เข้ามากระทบในวันนั้น ไม่ว่าเราจะโต้ตอบมันด้วยความชอบหรือความชัง ทำให้หลับอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ความต้องการการนอนลดลง ตื่นเช้าขึ้นโดยธรรมชาติ ส่วนการนั่งตอนเช้ามืดทำให้พี่เริ่มต้นวันใหม่อย่างปลอดโปร่งขึ้น ทำงานได้อย่างจดจ่อมากขึ้น และที่สำคัญคือวางสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ได้ดั่งใจได้ง่ายขึ้น ให้อภัยง่ายขึ้น และมีความสงบสุขมากขึ้นค่ะ”
คำถาม (6) : ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อาจารย์อยากจะบอกอะไรตนเองในสมัยยังไม่จบการศึกษา
“พี่อยากขอบคุณตัวเองที่พยายามทำทุกบทบาทเต็มที่ และอยากเพิ่มเติมให้ตนเองใส่ใจกับความสุขในระหว่างทางไปสู่เป้าหมายมากขึ้นค่ะ โดยไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะเป็นการเรียนให้จบหรือเป็นการไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะช่วงเวลาที่กำลังเดินทางก่อนจะไปถึงเป้าหมายก็มีความสุขและความสนุกในแบบของมัน เช่นการเตรียมงานหรือเตรียมแข่งขันในกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการติวเตรียมสอบกับเพื่อน ๆ ชมรม จึงอยากให้ตนเองซึมซับกับบรรยากาศหลากหลายรสชาติตรงนั้นมากกว่าการกดดันตนเองบรรลุเป้าหมาย ได้รับคัดเลือก แข่งขันชนะ หรือได้ใบจบการศึกษาค่ะ”
คำถาม (7) : ฝากข้อคิดถึงนักศึกษา
“พี่อยากให้นักศึกษามองตัวเองและเห็นในสิ่งที่พี่เห็นในตัวนักศึกษาแต่ละคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพ ความเป็นไปได้ และพลังที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ที่ตัวเองใฝ่ฝันค่ะ ไม่ว่าจะเรื่องเรียน ความสัมพันธ์ ปัญหาการเมืองและสังคม แต่หากนักศึกษาอยู่ในช่วงเวลาที่รู้สึกเหนื่อย ท้อแท้สิ้นหวังกับเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ก็อยากให้นักศึกษาให้เวลาตัวเอง ถอดหมวกบทบาททุกอย่างของตนเองในขณะนั้น และหันกลับมารักและเมตตาตัวเองเป็นที่หนึ่ง ดูแลใส่ใจตนเองเหมือนเวลาที่นักศึกษาอยากดูแลคนที่นักศึกษารัก เพราะพี่เชื่อว่าเมื่อเราเมตตาและเข้มแข็งก่อน เราจึงจะมีแรงไปช่วยผู้อื่นด้วยจิตใจที่สมดุลค่ะ และหากนักศึกษารู้สึกว่าไม่มีทางออกหรือไม่เหลือใคร อยากให้รู้ว่าพี่และอาจารย์ท่านอื่นปรารถนาดีกับนักศึกษาทุกคนมาก ยินดีให้นักศึกษาเข้าหา พร้อมที่จะรับฟังและเป็นกำลังใจให้เสมอนะคะ”
(ช่วงเรียนปริญญาเอกที่ออสเตรเลีย)
Quote ที่เลือก: “พี่อยากให้นักศึกษามองตัวเองและเห็นในสิ่งที่พี่เห็นในตัวนักศึกษาแต่ละคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพ ความเป็นไปได้ และพลังที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ที่ตัวเองใฝ่ฝันค่ะ”
ภาพ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วริษา องสุพันธ์กุล
เรียบเรียง : Law TU Health & Wellness