มุมมองอาจารย์กับการจัดการความเครียด 101 [ Season 3] EP.3 : อ.ดร.ญาดา เดชชัย เธียรประสิทธิ์
บทสัมภาษณ์โดยศูนย์ดูแลสุขภาวะของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Law TU Health & Wellness)
สำหรับบทสัมภาษณ์ของศูนย์ดูแลสุขภาวะของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Law TU Health & Wellness) สุดท้ายประจำปีการศึกษา 2567 พบกับ อ.ดร.ญาดา เดชชัย เธียรประสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ Law TU Health & Wellness และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา
(1) ประวัติส่วนตัวและแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมาย
อาจารย์จบการศึกษาจากแผนการเรียนศิลป์-ภาษาเยอรมัน จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ด้วยความที่ไม่ชอบคณิตศาสตร์ เลยหาคณะที่ไม่ต้องใช้คณิตศาสตร์ เลยมาจบที่นิติศาสตร์ ตอนนั้นเลยสอบตรง (วิชาเฉพาะ) เข้ามาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ตอนนั้นตั้งใจและแน่วแน่มากว่านิติคือทางของเรา และต้องธรรมศาสตร์เท่านั้นด้วย เลยไม่ได้สอบแอดมิดชั่นเผื่อไว้เลย (รุ่นนั้นสอบ O-Level และ A-Level จำได้ว่าสอบแต่ O-Level เพราะบังคับสอบ) เข้ามาก็เรียนจนจบนิติศาสตรบัณฑิต จบออกมาก็ไปเรียนปริญญาโท
ที่อังกฤษ ที่มหาวิทยาลัย Oxford Brookes ต่อเลย กลับไทยก็มาทำงานเป็นอาจารย์ที่สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทำงานได้อยู่เกือบ 3 ปี ก็ลาออกไปเรียนต่อปริญญาเอก โดยได้รับทุนการศึกษาปริญญาเอกเต็มจำนวนจากมหาวิทยาลัย Aberdeen
ที่สกอตแลนด์
(2) ความสุขในการศึกษากฎหมายและเหตุผลที่เลือกประกอบอาชีพอาจารย์
ความสุขในการศึกษากฎหมาย บอกตรงๆ ว่าสมัยปริญญาตรีไม่ได้สุขขนาดนั้นค่ะ (หัวเราะ) ออกแนวแอบทุกข์มากกว่านิดนึงด้วย จำได้ว่าหลังผลการศึกษาปีหนึ่งออกมาคะแนนไม่ค่อยดีเท่าไร ตอนนั้นช็อคมาก เพราะตอนเรียนเตรียมฯ เราเป็นเด็กเรียนดี (เกือบ 3.90) ตอนนั้นมานั่งคิดด้วยซ้ำว่าย้ายคณะดีมั้ย สุดท้ายสรุปได้ว่า ก็ไม่ได้ไม่ชอบเรียนนิติขนาดนั้นแต่อาจจะไม่ได้ชอบวิธีการวัดผล (5ข้อ100 ไฟน่อลอย่างเดียว) และตอนนั้นก็แอบนอยด์ว่ามาเรียนธรรมศาสตร์ทำไมไม่รู้ เพราะเพื่อนๆ เตรียมฯ ไปอยู่จุฬาฯหมด แต่หลังปรับตัว (และทำใจ) ได้ หลังจากนั้นคะแนนก็ดีขึ้นค่ะ เรียนต่อมาจนจบปริญญาตรี ก็ไปต่อปริญญาโทและเอก ตอนเรียนโทก็ปรับตัวเยอะหน่อย เพราะระบบโทอังกฤษ หนึ่งปีสั้นมาก ทุกอย่างอัดแน่น วิธีการเรียนการสอนที่ไม่เหมือนปริญญาตรีที่ไทยเลย ก็ผ่านมาได้ค่ะ จบแบบ merit (ดี) ตอนเข้าไปเรียนโท เป็นสาขา international trade and commercial ด้วยนะคะ เรียนไปๆ ไม่ชอบ จะเปลี่ยนไปเรียน criminal law and criminal justice เปลี่ยนไม่ทันแล้ว แต่ตอนมาทำวิทยานิพนธ์ ยังทำหัวข้อที่เกี่ยวกับอาญาได้ ก็โชคดีไปค่ะ ตอนเรียนโทเรียนเอก พอได้ทำหัวข้อวิทยานิพนธ์และดุษฎีนิพนธ์ที่ชอบที่สนใจการเรียนนิติมันก็ไม่ได้แย่นัก เริ่มenjoyและทำได้ดีมากขึ้นค่ะ สุดท้ายวิทยานิพนธ์ ปริญญาโทได้ระดับ distinction (ดีมาก) และดุษฎีนิพนธ์ ปริญญาเอก สอบผ่านแบบ no correction (ไม่มีการแก้ไข) ส่วนดุษฎีนิพนธ์ส่งประกวดสองเวทีได้รางวัลทั้งสองเวที อันนี้ภูมิใจมากค่ะ (อันนี้ เคยมีคนปรามาสด้วยนะคะว่า หัวข้อดุษฎีนิพนธ์ไม่น่าสนใจ ทำไม่ได้หรอก) จากเด็กที่อาจไม่ค่อยโดดเด่นมากตอนปริญญาตรี มาพีคได้ตอนจบปริญญาเอกค่ะ (หัวเราะ)
ส่วนเหตุผลที่เลือกประกอบชีพอาจารย์ จริงๆ ต้องบอกว่า อันนี้เป็นอาชีพที่คุ้นเคยนะคะ ปู่ย่าอาจารย์เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ตายายและแม่ก็เป็นครู (สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ) อยู่ในแวดวงการศึกษาอยู่แล้ว (หัวเราะ) เรียนนิติมาซักปีสองปี เริ่มรู้สึกว่าไม่ได้อยากเป็นพวกศาล อัยการ ไม่ได้อยากทำ law firm (ไปฝึกแล้วไม่ชอบ) หันกลับมามองอาชีพอาจารย์ มีอาจารย์บางท่านที่เป็นไอดอลเราด้วยค่ะ เลยเกิดแรงบัลดาลใจและความตั้งใจค่ะ จบตรีก็รีบไปต่อโทเลย ที่แรกที่ได้งานอาจารย์ หลังจบปริญญาโท คือที่เชียงราย (มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง) ก็เก็บกระเป๋าไปเลย แบบไม่มีญาติพี่น้อง ไม่รู้จักใคร ทำได้เกือบสามปี ก็ออกมาเรียนเอก เรียนเอกเกือบจบ โชคดีมากที่นิติ มธ. เปิดรับสมัครอาจารย์ สาขาอาญาพอดี เลยได้มาอยู่ที่นี่ทุกวันนี้ค่ะ
(3) กิจกรรมและงานอดิเรกระหว่างศึกษาและเทคนิคการบริหารจัดการเวลาระหว่างเรียนและการใช้ชีวิต
ตอนเรียนอยู่ที่นิติ มธ. ได้มีโอกาสไปทำชมรมคาทอลิก ของมหาวิทยาลัย แบบเพราะไม่มีคนทำ ชมรมจะถูกยุบ เลยมาทำแบบงงๆ การทำชมรมเป็นสิ่งที่ดีค่ะ มันสอนให้จัดการการงานเป็น ติดต่อประสานงาน รู้ระบบกิจกรรมนักศึกษาและระบบการทำงานของมหาวิทยาลัย (ที่เกี่ยวกับส่วนนี้) ได้สกิลการจัดการปัญหาเฉพาะหน้าและสกิลการบริหารจัดการตนเองและผู้อื่น ทำได้อยู่สามปี ตั้งแต่ปีสองถึงปีสี่ค่ะ เป็นทั้งประธานชมรมและตำแหน่งอื่นๆ จริงๆ ข้อดีของการทำชมรมของมหาวิทยาลัยอีกอันคือมีโอกาสได้รู้จักเพื่อนๆพี่ๆน้องๆต่างคณะค่ะ เพราะตัวเราเองไม่ใช่เด็กกิจกรรมและเป็น introvert โดยสภาพ สถานการณ์มันแกมบังคับให้ต้องไปรู้จักคน ซึ่งก็ขอบคุณประสบการณ์ที่ทำชมรมตรงนี้มากๆ (พอมาทำฝ่ายการนักศึกษา ภาพในหัวเลยพอมีอยู่บ้าง) ในส่วนของเพื่อนๆพี่ๆน้องๆจากชมรมก็ยังอยู่ในชีวิตเราจนถึงตอนนี้ค่ะ ขอบคุณทุกคนที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลมาตลอดค่ะ ฮ่าๆ ส่วนการจัดการการเรียนพร้อมทำชมรม อันนี้เนื่องจากกิจกรรมชมรมมันไม่ได้เยอะ มันก็แบ่งเวลาได้ค่ะ แต่ก็ต้องกำหนดพวกไทม์ไลน์กิจกรรมและการวางแผนงานดีๆ ค่ะจะได้ไม่กระทบต่อการเรียนของเราค่ะ
(4) เมื่อมีความเครียด อาจารย์มีวิธีจัดการอย่างไร
ความเครียดมันเป็นเรื่องปกติของชีวิตคนเรานะคะ ที่สำคัญคือเราจะจัดการกับมันอย่างไร ไม่ไหวก็ว่าไม่ไหว ไม่ต้องฝืน บางทีเครียดมากๆ ร้องไห้ก็มี อ่ะ ร้องออกมา ร้องแล้วบางทีก็ดีขึ้น ปาดน้ำตา ลุกขึ้นมาใหม่ บางทีก็การจมอยู่กับความเครียด ณ จุดๆนั้น มันก็ไม่ดี อ่ะ ถอยออกมาก่อน จะได้หัวโล่งๆ พอคิดอะไรออก หาอะไรอย่างอื่นทำเบี่ยงเบนความสนใจ พูดคุยระบายกับเพื่อน คนใกล้ชิด ฮีลใจไปก่อน ทำอะไรที่อยากทำ อ่ะ แล้วค่อยกลับมาลุย หรือบางทีจะทิ้งตัวเฉยๆ เลยก็ได้ค่ะ แต่สุดท้ายก็ต้องลุกขึ้นมาจัดการตัวเองอยู่ดีนะคะ เอาเป็นว่าหลบไปชาร์จแบตก่อนแล้วค่อยกลับมาลุยค่ะ
(5) วิชาที่ไม่ชอบหรือรู้สึกว่ายากและอาจารย์มีวิธีจัดการกับวิชาเหล่านั้นอย่างไร
เอาจริงๆ อันนี้ไม่ดีอย่าทำตาม (หัวเราะ) คือวิชาที่ไม่ชอบเรียนเอาผ่านค่ะ เพราะทำไงได้ มันบังคับเรียนอ่าค่ะ (หัวเราะ) คือจะให้ชอบทุกวิชามันก็คงไม่ใช่ แต่ย้อนกลับไปมองดู ก็คิดว่า จริงๆ น่าจะตั้งใจกว่านี้อีกซักหน่อยก็ได้นะ
(6) เมื่อมีสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังเกิดขึ้น อาจารย์มีวิธีการจัดการอย่างไร
ความผิดหวังเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตค่ะ ชีวิตคนเรามันไม่ได้จะเป็นไปดังใจหวังทุกเรื่องหรอกค่ะ เพราะมันมีหลายๆ ปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ด้วยค่ะ ก็ต้องทำใจ เสียใจได้ค่ะ ให้ท้อใจนิดหน่อยก็ได้ค่ะ แต่ก็ต้องมูฟออน สิ่งหนึ่งที่พอโตมาเริ่มบรรลุคือ ถ้าคาดหวังมาก็มีโอกาสผิดหวังมากค่ะ บางครั้งความคาดหวังนี่แหล่ะ คือตัวทำให้ผิดหวัง เพราะฉะนั้นอันนี้อาจจะต้องบาลานซ์นิดนึง เผื่อพื้นที่ให้ความผิดหวังบ้างค่ะ คิดบวกเป็นเรื่องที่ดีค่ะ แต่ก็ต้องตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงด้วยนะคะ ไม่ใช่เข้าข้างตัวเอง100% ถ้าให้ตอบแบบสวยๆ ทุกอย่างเป็นประสบการณ์ชีวิต สิ่งไหนเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นดีเสมอค่ะ
(7) ข้อคิดที่อาจารย์อยากฝากให้กับนักศึกษา
เราแต่ละคนมีช่วงเวลาพีคไม่เหมือนกันค่ะ ฝากไว้สำหรับนักศึกษาปริญญาตรีเป็นพิเศษ การไม่ได้จบเกียรตินิยมไม่ได้ความว่าชีวิตคุณจะจบสิ้นแล้ว ไม่จริงค่ะ บางคนไปพีคเอาตอนเรียนสูงขึ้นหรือตอนทำงานหรือช่วงอื่นๆของชีวิต คุณยังมีโอกาสที่จะพีคอีกทั้งชีวิตค่ะ อย่าเพิ่งท้อใจค่ะ และอย่ากดดันตัวเองมากเกินไป (don’t be too hard on yourself) หรือมีความรู้สึกต้องเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นตลอด คนเรามันมีความพีคในแบบของตนเองค่ะ ซักวันหนึ่งจะเป็นช่วงเวลาของเราค่ะ เป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ (:
ภาพ : อ.ดร.ญาดา เดชชัย เธียรประสิทธิ์
เรียบเรียง : Law TU Health & Wellness