เนื่องจากการศึกษาวิชากฎหมาย เป็นศาสตร์ที่มีวิธีการศึกษาที่แตกต่างจากศาสตร์อื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย ที่ต้องประกอบด้วยการวางหลักกฎหมาย การยกข้อเท็จจริงที่มีนัยยะทางกฎหมายมาปรับกับข้อกฎหมาย เพื่อสรุปผลในทางกฎหมาย การเขียนตอบข้อสอบกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่ยากสำหรับผู้เริ่มศึกษากฎหมาย เพื่อเป็นการสนับสนุนนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่เพิ่งศึกษากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัดให้มีโครงการผู้ช่วยอาจารย์สัมมนา มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 โดยคัดเลือกนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 ที่มีผลการเรียนดีและมีทักษะในการเขียน มาเป็นผู้ช่วยอาจารย์สัมมนาในการตรวจการบ้านให้แก่นักศึกษา โดยเริ่มต้นจากวิชาชั้นปีที่ 1 ได้แก่วิชา น.100 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมาย และวิชา น. 101 กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา และหลังจากนั้นได้ขยายให้ครอบคลุมสำหรับวิชาชั้นปีที่ 2 (หลักสูตรเก่า) เช่น น. 210 กฎหมายอาญา-ภาคทั่วไป น.230 เอกเทศสัญญา 1 ฯลฯ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างสม่ำเสมอ โดยในปีการศึกษา 2562 คณะนิติศาสตร์ยังคงสนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยได้เปลี่ยนชื่อจาก “โครงการผู้ช่วยอาจารย์สัมมนา” เป็น “โครงการผู้ช่วยอาจารย์” เนื่องจากบางวิชาที่แม้ไม่มีการสัมมนา หากอาจารย์บรรยายประสงค์จะสั่งแบบฝึกหัด ก็สามารถมีผู้ช่วยอาจารย์ได้เช่นกัน
เราจะพาคุณไปพูดคุยกับศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ ซึ่งเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาเคยทำกิจกรรมนี้ ถึงรายละเอียดและประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำกิจกรรม โดยคนแรกที่จะมาพูดคุยกับเราก็คือ อาจารย์กิตติภพ วังคำ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ ซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์สัมมนา วิชา น.100 ถึงสองปีซ้อน เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 (ปีการศึกษา 2558) และ 4 (ปีการศึกษา 2559)
คำถาม (1) : ทำไมจึงสมัครเข้าร่วมกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์สัมมนา
อ.กิตติภพ : “ตอนเรียนปริญญาตรี ปี 1 และ ปี 2 ผมไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมครับ ตอนปี 3 จึงเริ่มคิดได้ว่าการเรียนอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกเรื่อง ชีวิตการเป็นนักศึกษานอกจากเรียนดีแล้วควรที่จะต้องมีกิจกรรมเสริมด้วย มิฉะนั้นแล้วคนอื่นอาจจะมองว่าเราเรียนเก่งอย่างเดียว แต่ทำงานและเข้าสังคมไม่เป็น ตอนนั้นเลยคิดว่าจะต้องหากิจกรรมบางอย่างทำครับ คืออยากมีประสบการณ์การทำกิจกรรมดูบ้าง ประกอบกับช่วงปี 3 ต้องหาที่ฝึกงานพอดี หากใน Resume ที่ยื่นขอฝึกงานไม่มีกิจกรรมอะไรเลย ผมคิดว่าน่าจะถูกตั้งคำถามจากกรรมการผู้สัมภาษณ์พอสมควรเลยครับ นอกจากนี้ คิดว่าการเป็นผู้ช่วยอาจารย์สัมมนายังให้ประโยชน์ในแง่ที่ทำให้เรารู้จักผู้คนหลากหลายหรือมีคอนเนคชั่นมากขึ้น ทั้งในแง่นักศึกษาที่เข้ามาเป็นผู้ช่วยอาจารย์สัมมนาด้วยกัน หรืออาจารย์หลาย ๆ ท่าน”
คำถาม (2) : ระบบการคัดเลือกผู้ช่วยอาจารย์สัมมนาเป็นอย่างไร
อ.กิตติภพ : “เบื้องต้นคือกรอกแบบฟอร์มใบสมัครพร้อมกับแนบผลการเรียนไปด้วยครับ ซึ่งถ้าผมจำไม่ผิดรายละเอียดในใบสมัครก็จะให้ระบุผลการเรียน กิจกรรม เวลาว่าง วิชาที่ชอบ อะไรทำนองนี้ครับ เกณฑ์ในการคัดเลือกผมเข้าใจว่าคงดูผลการเรียนเป็นหลักครับ ประกอบกับพิจารณาการสัมภาษณ์ เพราะบางคนแม้ผลการเรียนจะโดดเด่นแต่อาจจะขาดความสามารถในการถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ หรืออาจจะมีทัศนคติไม่เหมาะกับการเป็นผู้สอนหรือตรวจแบบฝึกหัด คร่าวๆน่าจะประมาณนี้ครับ”
(ตอนนั้นเป็นผู้ช่วยอาจารย์สัมมนาท่านใด?) “ทำกิจกรรมนี้มาสองครั้งครับ ทำครั้งแรกตอนอยู่ปี 3 ตอนนั้นเป็นผู้ช่วยท่านอาจารย์ฉัตรดนัยครับ ซึ่งตอนนั้นท่านเป็นอาจารย์สัมมนา วิชา น.100 ให้กับอาจารย์กิตติศักดิ์ ครั้งที่สองตอนอยู่ปี 4 เป็นผู้ช่วยสัมมนาท่านอาจารย์กรศุทธิ์ เป็นอาจารย์สัมมนา วิชา น.100 อีกเช่นกันครับ เป็นกลุ่มบรรยายอาจารย์กรศุทธิ์กับอาจารย์มุนินทร์”
(ทำไมจึงตัดสินใจสมัครเป็นผู้ช่วยในวิชาเดิมอีกรอบ?) “จริง ๆ เหตุผลไม่ได้มีอะไรมากครับ คือเลือกทำตามความสะดวกของตัวเองซึ่งช่วงเวลาที่ผมสะดวกมักจะตรงกับภาคการศึกษาที่ 1 ซึ่งตรงกับ วิชา น.100 พอดีครับ คือส่วนตัวผมคิดอยู่เสมอว่าวิชาภาคการศึกษาที่ 1 มักจะง่ายหรือเบากว่าภาคการศึกษาที่ 2 ครับ ไม่รู้จะจริงไหมนะ (หัวเราะ) อย่างปี 3 ภาค 2 มีวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ส่วนปี 4 ผมก็เลือกลงทะเบียนวิชานิติปรัชญาไว้ภาค 2 ครับ ตอนภาค 1 เลยคิดว่าตัวเองมีเวลาค่อนข้างมากครับ เลยตัดสินใจทำกิจกรรมนี้”
คำถาม (3) : รูปแบบการทำงานร่วมกับอาจารย์เป็นอย่างไร
อ.กิตติภพ : “วิธีการทำงาน คือ อาจารย์สัมมนาก็จะรับการบ้านมาจากนักศึกษา เสร็จแล้วก็จะมามอบหมายให้ผู้ช่วยอาจารย์สัมมนาแต่ละคนรับมอบไปตรวจและคอมเมนต์ครับ กลุ่มหนึ่งจะมีผู้ช่วยอาจารย์สัมมนาประมาณ 4 – 5 คน ส่วนใหญ่มักจะรับมาตรวจสัปดาห์ละครั้งครับ ส่วนปริมาณแล้วแต่ว่าสัปดาห์นั้นส่งมากหรือส่งน้อย เฉลี่ยน่าจะอยู่ประมาณ 30 – 50 แผ่นแล้วแต่สัปดาห์ หลังจากนั้นเมื่อทำงานเสร็จแล้วก็จะมีตารางเวลาให้เรากรอกตามแบบฟอร์มของคณะว่าแต่ละสัปดาห์เราทำไปเท่าไร โดยเราจะได้รับค่าตอบแทนตามจำนวนที่คณะกำหนด นอกจากนี้ ในบางครั้งยังได้มีโอกาสไปพูดในคาบสัมมนา เป็นการบรรยายสั้น ๆ เกี่ยวกับวิธีการเขียนตอบข้อสอบด้วย น่าจะคล้าย ๆ กับวิชา น.160 ในปัจจุบันครับ คือเป็นการอธิบายให้นักศึกษาฟังว่าการเขียนตอบส่วนใหญ่ของนักศึกษามีข้อบกพร่องอย่างไร วิธีการที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร เช่น ข้อสอบอุทาหรณ์ต้องมีการตั้งประเด็น มีการวางหลักกฎหมาย มีการปรับบท และสรุปคำตอบ อะไรทำนองนี้ครับ”
คำถาม (4) : ปัญหาของนักศึกษาส่วนใหญ่ที่เจอตอนตรวจการบ้านสัมมนามีอะไรบ้าง
อ.กิตติภพ : “ความยากสำหรับนักศึกษาบางคนในการเขียนตอบข้อสอบอาจจะเป็นเพราะก่อนหน้านี้เรายังไม่มีวิชาที่ฝึกการเขียนตอบอย่างชัดเจนเหมือนวิชา น.160 มีแต่เพียงการสัมมนาซึ่งเป็นการเน้นทบทวนเนื้อหาโดยไม่มีเวลาในการเน้นวิธีการเขียนเท่าที่ควร แม้แต่ตัวผมเองก็ยอมรับว่าตอนเรียนอยู่ปี 1 ภาคการศึกษาที่ 1 ยังเขียนตอบข้อสอบไม่เป็น ยังเขียนวนไปวนมาอยู่เลย เพราะฉะนั้นผมคิดว่านักศึกษาปี 1 ส่วนใหญ่ก็น่าจะมีปัญหาในทำนองเดียวกัน ยังไม่รู้จักการวางแผนหรือวางโครงการตอบ เรียบเรียงไม่ถูก เขียนวนไปวนมา ไม่วางหลักกฎหมาย ไม่มีการปรับบท เขียนมาเฉพาะหลักกฎหมายแล้วสรุปเป็นคำตอบเลย เขียนเป็นภาษาพูด หรือไม่มีการย่อหน้า ซึ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ความจริงอาจารย์บางท่านโดยเฉพาะในปีสูงขึ้นไปอาจจะไม่ได้สนใจวิธีการเขียนมากมายนัก แค่ตอบคำถามถูกก็เพียงพอที่จะให้ผ่านแล้ว แต่ส่วนตัวผมคิดว่าเราควรที่จะฝึกตามวิธีการที่ถูกต้องไว้ตั้งแต่เริ่มต้นในการฝึกเขียนตอบจนเกิดความเคยชิน เมื่อฝึกจนชำนาญตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว เราก็จะหมดความกังวลเกี่ยวกับการเขียนทำให้สามารถใช้เวลากับส่วนเนื้อหาวิชาได้อย่างเต็มที่”
คำถาม (5) : สิ่งที่ได้รับจากการทำกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์สัมมนา
อ.กิตติภพ : “หนึ่ง คือ ได้ประสบการณ์ในการทำกิจกรรมและการทำงานร่วมกับผู้อื่น ได้ลองทำอะไรใหม่ๆในชีวิตการเป็นนักศึกษานอกจากการเรียน สอง คือ ทำให้เรารู้จักผู้คนหลากหลายและมีคอนเนคชั่นมากขึ้น ตรงนี้ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากครับ เพราะกิจกรรมนี้ทำให้ผมได้รู้จักอาจารย์ รุ่นพี่ และเพื่อน ๆ หลายท่านที่มีความรู้ความสามารถและยังเป็นที่ปรึกษาและคอยช่วยเหลือผมจนถึงทุกวันนี้ครับ สาม คือ ได้ทราบว่าการตรวจข้อสอบนักศึกษาเป็นอย่างไร เหมือนรู้สึกได้เป็นอาจารย์ไปครึ่งตัว (หัวเราะ) คือผมคิดว่าเป็นการเรียนรู้การทำงานบางส่วนของวิชาชีพอาจารย์ไปในตัวด้วยซึ่งผมรู้สึกชอบครับ โดยเฉพาะเวลาที่ผมไปพูดเรื่องการเขียนตอบข้อสอบ รู้สึกภูมิใจครับที่เราสามารถแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ซึ่งให้กับน้องๆนักศึกษาได้ และสี่ คือ ได้ค่าตอบแทนครับ ซึ่งตรงนี้เหมือนผลพลอยได้มากกว่า คือถ้าไม่มีค่าตอบแทน ส่วนตัวผมก็คิดว่าคงจะทำกิจกรรมนี้อยู่ดีครับ โดยรวมแล้วคิดว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ ครับ”
จากการพูดคุยกับอ.กิตติภพ โครงการผู้ช่วยอาจารย์สัมมนา มิได้เพียงเป็นประโยชน์เฉพาะแก่รุ่นน้องที่ส่งแบบฝึกหัดเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์แก่รุ่นพี่ที่เป็นผู้ช่วยฯ ให้มีโอกาสได้ทำกิจกรรมวิชาการอีกด้วย โดยในช่วงนี้ เป็นช่วงของการรับสมัครผู้ช่วยอาจารย์หลากหลายวิชาประจำปีการศึกษา 2562 เช่น กฎหมายลักษณะครอบครัว กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา กฎหมายลักษณะละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ กฎหมายอาญา-ภาคทั่วไป กฎหมายลักษณะหนี้ : หลักทั่วไป และวิชาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมาย
และในโอกาสหน้าเราจะพาคุณไปพูดคุยกับศิษย์เก่าคนอื่น ๆ ที่เคยทำกิจกรรมนี้ ติดตามได้เร็ว ๆ นี้
ถ่ายภาพ Pump
แต่งภาพ Pump และสุธีร์ เจริญต้นภูบาล
เรียบเรียง KK