บทสัมภาษณ์ณัฐพงศ์ รงค์ทอง นิติกรศูนย์นิติศาสตร์ เกี่ยวกับประสบการณ์ทำงานที่ศูนย์นิติศาสตร์ สัมภาษณ์โดยผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์
ตอนนี้ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังรับสมัครพนักงานมหาวิทยาลัย สายสนับสนุนวิชาการ ตำแหน่งทนายความ ประจำท่าพระจันทร์ จำนวน 1 อัตรา ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/recruiting-a-lawyer/
คำถาม (1) : ประวัติการศึกษาและประวัติการทำงาน
ณัฐพงศ์ : “สวัสดีครับ ผมนายณัฐพงศ์ รงค์ทอง จบปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาครับ นอกจากนี้ก็จบเนติบัณฑิต และสอบได้ใบอนุญาตให้เป็นทนายความครับ โดยในช่วงแรกหลังจากที่ผมจบปริญญาตรีผมก็ไปศึกษาเนติบัณฑิตประมาณ 1 ปี แล้วก็เริ่มทำงานที่แรกที่สำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน ซึ่งหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภคก่อนดำเนินคดีในชั้นศาลครับ หลังจากนั้นไม่นานประมาณปลายปี 2558 ผมก็ย้ายมาทำงานที่ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในตำแหน่งนิติกรจนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลาประมาณ 5 ปี ครับ”
คำถาม (2) : เหตุผลที่สมัครงานที่ศูนย์นิติศาสตร์
ณัฐพงศ์ : “ในตอนแรกก็ผมเองก็ยังไม่ค่อยรู้ว่าศูนย์นิติศาสตร์ทำงานเกี่ยวกับอะไรบ้างครับ แต่เท่าที่รู้คือให้คำปรึกษากฎหมายแก่บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และประชาชนทั่วไป รวมถึงยังทำหน้าที่เป็นทนายความในการดำเนินคดีให้ด้วย ซึ่งผมเองพึ่งจบมาได้ไม่นานยังไม่ได้มีประสบการณ์ในการทำงานมากนัก จึงอยากมาหาประสบการณ์ในการให้ความเห็นทางกฎหมายและทำหน้าที่ทนายความ เพราะคิดว่าความรู้ที่เราได้รับมาระดับปริญญาตรีอาจจะยังไม่เข้าใจและเห็นภาพได้เพียงพอถ้าขาดการฝึกฝนและปรับใช้ในสถานการณ์จริงครับ ประกอบกับช่วงเวลานั้นผมกำลังศึกษาต่อปริญญาโทไปด้วยจึงคิดว่าถ้าทำงานอยู่ใกล้ชิดแหล่งความรู้กฎหมาย มีห้องสมุดที่มีตำราครบถ้วนสามารถค้นคว้าได้ง่าย รวมทั้งมีครูบาอาจารย์คอยให้คำแนะนำ และมีเพื่อน ๆ ที่ศึกษาด้วยกันหลายคน น่าจะทำให้ทั้งการทำงานและการเรียนสามารถดำเนินไปพร้อม ๆ กันได้ด้วยดีครับ”
ร่วมกับผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง คุณวีระศักดิ์ ทัพขวา คุณเขมสิริณัชช์ ศรีพลพัชร แถลงข่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการของคดีอุบัติเหตุทางด่วนโทลเวย์ ณ กระทรวงยุติธรรม (23 กรกฎาคม 2562)
คำถาม (3) : ลักษณะหรือรูปแบบของงานที่ทำ
ณัฐพงศ์ : “ลักษณะงานของที่นี่มีค่อนข้างหลากหลายครับ โดยผมจะขอกล่าวแยกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ กล่าวคือ ประเภทแรกเป็นงานด้านการให้บริการความรู้กฎหมายแก่สังคมและการดำเนินคดี และประเภทสองเป็นงานด้านวิชาการเพื่อพัฒนาทักษะของนักศึกษาครับ”
“โดยในประเภทแรกนั้น หลัก ๆ คือ ศูนย์นิติศาสตร์จะมีทนายความและนิติกรที่คอยให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในวันเวลาราชการ โดยมีหลายช่องทาง ทั้งการโทรศัพท์เข้ามาปรึกษา การเข้ามาปรึกษาด้วยตนเองทั้งที่ท่าพระจันทร์และศูนย์รังสิต การขอคำปรึกษาทางอีเมล ทางเวปไซต์ หรือทางจดหมายก็ได้เช่นกัน และหากผู้ร้องประสงค์จะให้ดำเนินคดีให้ ศูนย์นิติศาสตร์ก็รับเป็นทนายความให้แต่ต้องผ่านเงื่อนไข 5 ประการคือ ต้องเป็นผู้ยากไร้ไม่สามารถว่าจ้างทนายความได้ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีส่วนกระทำความผิด ไม่ใช่คดีเกี่ยวกับการฟ้องหย่า และรูปคดีทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมีทางดำเนินคดีต่อไปได้ โดยหากที่ประชุมคดีศูนย์นิติศาสตร์เห็นว่าคดีที่ขอความช่วยเหลือผ่านเงื่อนไขดังที่ได้กล่าวไป ก็จะจัดหาทนายความดำเนินคดีให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกันครับ”
“นอกจากนี้ยังมีงานอื่น ๆ ที่ให้บริการความรู้ด้านกฎหมายแก่สังคมอีกครับ คืองานจัดอบรมเผยแพร่ความรู้กฎหมายแก่ประชาชนและคลินิกกฎหมายเคลื่อนที่ โดยจะเป็นการให้ความรู้กฎหมายเบื้องต้นที่ใกล้ตัวแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เพราะเราคำนึงถึงว่ายังมีผู้คนอีกมากที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายหรือเข้าใจไม่ถูกต้อง และอาจถูกมิจฉาชีพหลองลวงหรืออาจกระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยไม่รู้ตัว จึงควรให้ความรู้ความเข้าใจแก่เขาให้มากขึ้นนั่นเองครับ และกิจกรรมดังกล่าวก็จะเป็นพื้นที่ที่ให้นักศึกษาของเราได้ฝึกฝนทักษะการให้ความรู้ด้านกฎหมายด้วย ทั้งการร่วมเป็นวิทยากรบรรยายให้หัวข้อต่างๆ การร่วมให้คำปรึกษากฎหมายในกิจกรรมคลินิกกฎหมายและการแสดงละครกฎหมายเพื่อสอดแทรกความสนุกสนานระหว่างการบรรยายด้วยครับ”
“ส่วนในประเภทที่สอง งานด้านวิชาการเพื่อพัฒนาทักษะของนักศึกษาก็จะมีแยกย่อยอยู่หลายงานครับ ได้แก่ การจัดโครงการโต้เถียงปัญหากฎหมายโดยการแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นอุทธรณ์ หรือมูทคอร์ท (Moot Court) จะเป็นโครงการที่ให้นักศึกษาสวมบทบาทเป็นพนักงานอัยการหรือทนายความ ทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย และให้ค้นหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคดีที่ได้รับมาพร้อมทั้งหาพยานหลักฐานต่าง ๆ มาสนับสนุนความเห็นของฝ่ายตนแล้วนำมาอภิปรายในรูปแบบการแข่งขันชิงรางวัล โดยจะมีการจัดแข่งขันทั้งภายในคณะนิติศาสตร์และระดับประเทศครับ ถัดมาเป็นการจัดโครงการเสวนาวิชาการครับจะเป็นการนำเอาประเด็นทางกฎหมายที่เป็นที่สนใจของสังคมมาเสวนากัน โดยจะเชิญผู้ทรงความรู้ในองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรอื่น ๆ รวมถึงคณาจารย์ มาร่วมกันอภิปรายให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการครับ นอกจากนี้ศูนย์นิติศาสตร์ยังทำหน้าที่พัฒนาทักษะของนักศึกษาทั้งการจัดโครงการฝึกงานภาคฤดูร้อนให้แก่นักศึกษา โครงการอบรมทักษะการปฏิบัติงานทางกฎหมาย โครงการอบรมเพื่อเตรียมสอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความ รวมถึงบรรยายในรายวิชาต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น วิชา น.385 ทักษะในการปฏิบัติงานทางกฎหมาย 1 เป็นต้นครับ”
ภาพบรรยากาศการทำงานต่าง ๆ ของณัฐพงศ์
(1) ปฐมนิเทศการแข่งขันโต้เถียงปัญหากฎหมายโดยการแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นอุทธรณ์ ระดับประเทศ ครั้งที่ 5 ประจำปีการศึกษา 2561 (18 กุมภาพันธ์ 2562)
(2) เป็นวิทยากรร่วมกับคุณพรปวีณ์ อุดมรัตนะศิลป์ นิติกรศูนย์นิติศาสตร์ ในการแนะนำภารกิจศูนย์นิติศาสตร์ในกิจกรรม Thai-ed with Love 2019 ซึ่งจัดร่วมระหว่างกลุ่มกิจกรรม Thammasat Pro Bono Society กับกลุ่มกิจกรรม NUS Pro Bono ของ National University of Singapore (10 มกราคม 2562)
(3) เป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันโต้เถียงปัญหากฎหมายโดยการแถลงการณ์ด้วยวาจา ในชั้นอุทธรณ์ รอบภายในคณะนิติศาสตร์ ครั้งที่ 16 ประจำปีการศึกษา 2561 ร่วมกับคุณวีระศักดิ์ ทัพขวาและผศ.ดร.นพร โพธิ์พัฒนชัย (8 พฤศจิกายน 2561)
(4) เข้าร่วมพิธีมอบวุฒิบัตรและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “โครงการฝึกอบรมกฎหมายภาคปฏิบัติ ประจำปีการศึกษา 2561” ร่วมกับผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อ.ศุภวิช สิริกาญจน อ.ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ และอ.กิตติภพ วังคำ (23 สิงหาคม 2562)
ถ่ายภาพร่วมกับผู้ที่มีส่วนร่วมในคดีอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลล์เวย์หลังเสร็จสิ้นคดี (17 สิงหาคม 2562)
คำถาม (4) : คดีประทับใจที่เคยทำ
“ความจริงก็มีหลากหลายคดีครับ แต่ที่น่าจะประทับใจที่สุดคงเป็นคดีอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลล์เวย์ ซึ่งเป็นคดีที่ใช้ระยะเวลาดำเนินคดียาวนานพอสมควรเกือบ 10 ปี และมีทีมทนายที่ร่วมทำคดีกันหลายรุ่นหลายคน เพราะเป็นคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมากทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิต และเป็นที่สนใจของสังคมและสื่อมวลชน โดยสุดท้ายแล้วแม้จะใช้ระยะเวลานานแต่ผู้เสียหายก็ได้รับการเยียวยาชดเชยเป็นที่พึงพอใจรวมกันน่าจะประมาณ 40 ล้านบาทครับ”
บรรยายหัวข้อ “การดำเนินคดีอาญา” ในโครงการอบรมทักษะทางกฎหมายภาคปฏิบัติ (Legal Practice Workshop) ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (28 พฤศจิกายน 2563)
คำถาม (5) : งานอื่น ๆ ที่มีโอกาสได้ทำ
ณัฐพงศ์ : “อย่างที่กล่าวไปครับว่างานที่ทำจะมีค่อนข้างหลากหลายทั้งด้านการดำเนินคดีในชั้นศาลและด้านวิชาการ นอกจากนี้บางโอกาสยังมีภารกิจอื่น ๆ นอกเหนือการทำงานในคณะนิติศาสตร์ เช่น การเข้าร่วมอบรมกับกรมคุ้มครองสิทธิ หรือล่าสุดได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยไปบรรยายในโครงการอบรมทักษะทางกฎหมายภาคปฏิบัติ ซึ่งเป็นอีกงานหนึ่งที่ผมประทับใจเนื่องจากอาจารย์ผู้ประสานงานของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้แจ้งวัตถุประสงค์ของโครงการมาว่าอยากให้คณะของเขามีการดำเนินงานเกี่ยวกับการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนในลักษณะเดียวกันกับศูนย์นิติศาสตร์ จึงริเริ่มจัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางแก่นักศึกษาของเขาต่อไป ผมก็รู้สึกยินดีที่มีคนเล็งเห็นว่างานที่เราทำอยู่นี้มีประโยชน์แก่สังคมและสามารถต่อยอดเป็นแนวทางให้แก่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ได้ครับ”
ณัฐพงศ์และเพื่อนร่วมงานที่ศูนย์นิติศาสตร์
คำถาม (6) : ความรู้สึกกับเพื่อนร่วมงาน
ณัฐพงศ์ : “ด้วยความที่ส่วนงานของศูนย์นิติศาสตร์อาจจะไม่ได้ใหญ่มากมีบุคลากรรวมผู้อำนวยการฯและที่ปรึกษาด้วยประมาณ 7 คน ครับ เพื่อนร่วมงานทุกคนจึงค่อนข้างอยู่กันแบบเป็นพี่น้องสามารถพูดคุยปรึกษาได้ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว รวมถึงในผู้อำนวยการฯและที่ปรึกษาเองก็ให้ความเป็นกันเองสามารถขอคำแนะนำและความเห็นในเรื่องต่างๆ ที่เรายังไม่เข้าใจได้ตลอดครับ”
คำถาม (7) : สิ่งที่ได้รับจากการทำงานที่ศูนย์นิติศาสตร์
ณัฐพงศ์ : “ผมเองตอนเรียนไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมเท่าไร จึงไม่ค่อยมีทักษะด้านการสื่อสาร การพูด และการแสดงออกในที่สาธารณะมากเท่าที่ควรครับ แต่พอได้มาทำงานที่นี่ทำให้ผมพัฒนาทักษะดังกล่าวได้ดีขึ้นมาก เพราะเราต้องใช้ตลอดเวลา ใช้ทุกวัน ทั้งการให้คำปรึกษากฎหมาย การดำเนินคดีในชั้นศาล รวมถึงการบรรยายให้ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นทักษะที่ต่อยอดในการทำงานในอนาคตได้ครับ นอกจากนี้ผมก็ยังได้รับเทคนิคต่าง ๆ ในการให้ความเห็นทางกฎหมายและการดำเนินคดีในชั้นศาล เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะค่อย ๆ สั่งสมมาในระหว่างการทำงาน ทั้งจากคำแนะนำของผู้อื่น การค้นคว้าเพิ่มเติมและที่สำคัญที่สุดคือจากการเรียนรู้ในสิ่งที่ผิดพลาดของตนเองครับ”
คำถามสุดท้าย : ฝากถึงนักศึกษาคณะนิติศาสตร์
“ผมก็อยากฝากถึงน้อง ๆ นักศึกษานะครับ ผมแนะนำว่าศูนย์นิติศาสตร์เป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับน้อง ๆ ที่กำลังศึกษาหรือสำเร็จการศึกษามาแล้ว ทั้งในการร่วมกิจกรรมต่าง ๆ การฝึกงาน หรือการทำงาน เพราะน้องจะได้นำเอาความรู้ที่ได้รับในห้องเรียนมาลงมือปฏิบัติจริงทำให้เราสามารถเข้าใจเนื้อหาจากตัวอักษรให้เห็นกลายเป็นภาพที่เข้าใจได้มากขึ้น เรียกได้ว่าศูนย์นิติศาสตร์เป็นสถานีแรกที่ดีสำหรับการเริ่มต้นทำงานในสายวิชาชีพกฎหมายเลยครับ”
ถ่ายภาพ Pump
แต่งภาพ Film
เรียบเรียง ผศ.ดร.กรศุทธิ์