บทสัมภาษณ์พรปวีณ์ อุดมรัตนศิลป์ นิติกรศูนย์นิติศาสตร์ เกี่ยวกับประสบการณ์ทำงานที่ศูนย์นิติศาสตร์ สัมภาษณ์โดยผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์
ตอนนี้ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังรับสมัครพนักงานมหาวิทยาลัย สายสนับสนุนวิชาการ ตำแหน่งทนายความ ประจำท่าพระจันทร์ จำนวน 1 อัตรา ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/recruiting-a-lawyer/
คำถาม (1) : ประวัติการศึกษาและประวัติการทำงาน
พรปวีณ์ : “สวัสดีค่ะ ดิฉันนางสาวพรปวีณ์ อุดมรัตนศิลป์ จบปริญญาตรีคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และได้ทำงานกับบริษัทเอกชน เมื่อเราโตขึ้นได้ใช้ชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัยก็เห็นว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับเราทุกคน จึงสนใจและศึกษาต่อจนสำเร็จได้รับปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต เมื่อปีพ.ศ. 2557 ในขณะที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ได้มีโอกาสรู้จักศูนย์นิติศาสตร์ ผ่านการลงวิชาทักษะในการปฏิบัติงานทางกฎหมาย 1 หรือ น.385 เห็นว่าศูนย์นิติศาสตร์มีภารกิจในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนทั่วไป จึงมาขอเรียนรู้งานที่ศูนย์นิติศาสตร์ ทำให้ได้มีโอกาสนำความรู้ที่ได้เรียนมาปรับใช้กับปัญหาทางกฎหมายอย่างแท้จริง ทั้งได้สัมผัสถึงความเดือดร้อนของประชาชนทั่วไปที่ไม่ทราบถึงสิทธิและหน้าที่ที่ตนมีตามกฎหมาย ซึ่งในขณะนั้นได้ศึกษาเนติบัณฑิตควบคู่ไปด้วย ยิ่งทำให้ได้ทักษะในการเขียนตอบปัญหาข้อกฎหมาย การปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายได้ดียิ่งขึ้น และเมื่อตอนสอบไปอนุญาตว่าความภาคปฏิบัติ ก็ได้ฝึกภาคปฏิบัติกับศูนย์นิติศาสตร์เช่นกันค่ะ”
คำถาม (2) : เหตุผลที่สมัครงานที่ศูนย์นิติศาสตร์
พรปวีณ์ : “จากการที่เราได้รับโอกาสเข้ามาเรียนรู้งานที่ศูนย์นิติศาสตร์ ได้รับทักษะด้านกฎหมายหลายด้านจากพี่ ๆ ทนายความทั้งด้านให้คำปรึกษากฎหมาย การทำสำนวนคดี การว่าความ การให้ความเห็นทางกฎหมาย เมื่อได้เห็นภารกิจทั้งหมดที่ศูนย์นิติศาสตร์มี ประกอบกับเราต้องการเปลี่ยนสายงานมาทางด้านกฎหมาย และต้องการใช้ความรู้กฎหมายช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง อีกทั้งยังต้องการต่อยอดทั้งวิชาความรู้และทางด้านวิชาชีพ เมื่อเห็นศูนย์นิติศาสตร์ประกาศรับสมัครนิติกร จึงรีบสมัครทันที และเมื่อครั้งที่รู้ว่าสอบผ่านและจะได้เข้าร่วมงานที่ศูนย์นิติศาสตร์อย่างเต็มตัว ตอนนั้นจำได้ว่าดีใจมากและบอกกับตัวเองว่าจะตั้งใจทำงานให้บรรลุตามภารกิจของศูนย์นิติศาสตร์ให้ดีที่สุด ทั้งเพื่อตัวเองและเป็นการตอบแทนคณะนิติศาสตร์ที่ให้โอกาสดี ๆ กับเราเสมอค่ะ”
ภาพบรรยากาศการทำงานต่าง ๆ ของพรปวีณ์
(1) เป็นตัวแทนศูนย์นิติศาสตร์ร่วมกับผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง คุณวีระศักดิ์ ทัพขวา เข้าร่วมการหารือความร่วมมือระหว่างกระทรวงยุติธรรมและคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (22 กรกฎาคม 2562)
(2) ปฏิบัติหน้าที่หน้าบัลลังก์ในารแข่งขันโต้เถียงปัญหากฎหมายโดยการแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นอุทธรณ์ รอบภายในคณะนิติศาสตร์ ครั้งที่ 17 ประจำปีการศึกษา 2562 (15 พฤศจิกายน 2562)
(3) เป็นพิธีกรในเสวนาวิชาการ เรื่อง “มาตรา 6 ร่างพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ : คุ้มครองสิทธิหรือกระทบการแบ่งแยกอำนาจ” จัดโดยศูนย์นิติศาสตร์ (5 มีนาคม 2562)
(4) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการจัดการแข่งขันโต้เถียงปัญหากฎหมายในการแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นอุทธรณ์ รอบภายใน คณะนิติศาสตร์ ครั้งที่ 17 ประจำปีการศึกษา 2562 (6 ตุลาคม 2562)
คำถาม (3) : ลักษณะหรือรูปแบบของงานที่ทำ
พรปวีณ์ : “ศูนย์นิติศาสตร์มีลักษณะและรูปแบบของงานที่ค่อนข้างหลากหลาย เนื่องจากศูนย์นิติศาสตร์เป็นหน่วยงานหนึ่งของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถานศึกษา ดังนั้น จึงสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ประเภทแรกด้านการให้บริการสังคม เช่น การให้บริการความรู้ทางด้านกฎหมายและการให้ความช่วยเหลือทางด้านอรรถคดี ประเภทที่สอง ด้านวิชาการเพื่อการพัฒนาทักษะของนักศึกษาค่ะ”
“ด้านการให้บริการสังคม เนื่องจากศูนย์นิติศาสตร์มีภารกิจด้านการให้ความรู้ทางด้านกฎหมายและให้ความช่วยเหลือทางด้านอรรถคดีแก่ประชาชนทั่วไป โดยศูนย์นิติศาสตร์จะจัดให้มีนิติกรและทนายความให้คำปรึกษาทางกฎหมายประจำที่ท่าพระจันทร์และศูนย์รังสิต โดยสามารถขอคำปรึกษาทางโทรศัพท์ การมาขอคำปรึกษาด้วยตนเอง ทั้งสองช่องทางนี้ผู้ขอคำปรึกษาสามารถติดต่อได้ตามวันและเวลาราชการค่ะ หรือสามารถส่งคำถามมาทางไปรษณีย์ ทางเว็บไซต์ หรือกล่องข้อความใน Facebook ของศูนย์นิติศาสตร์ ส่วนกรณีการขอความช่วยเหลือทางคดีนั้น ศูนย์นิติศาสตร์จะเข้าเป็นทนายความว่าต่างแก้ต่างให้ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ขอเพียงผู้ขอความช่วยเหลือผ่านเงื่อนไข 5 ประการ คือ เป็นผู้ยากไร้ไม่สามารถว่าจ้างทนายความได้ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในกรณีพิพาท ไม่เป็นผู้มีส่วนกระทำความผิด ไม่ใช่คดีเกี่ยวกับการฟ้องหย่า เว้นแต่เป็นกรณีการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร และรูปคดีทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งเมื่อที่ประชุมศูนย์นิติศาสตร์นี้มติให้ความช่วยเหลือ โดยการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแต่ละครั้งจะต้องผ่านมติที่ประชุมของศูนย์นิติศาสตร์ก่อนนะคะ”
“ศูนย์นิติศาสตร์ยังมีการจัดอบรมเผยแพร่ความรู้กฎหมายแก่ประชาชนและคลินิกกฎหมายเคลื่อนที่ โดยจะเป็นการลงพื้นที่บรรยายให้ความรู้กฏหมายเบื้องต้นแก่ประชาชนในพื้นที่ตามจังหวัดต่าง ๆ โดยในส่วนนี้นอกจากเจ้าหน้าที่ของศูนย์นิติศาสตร์แล้วยังมีน้องนักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการไปร่วมทำกิจกรรมด้วย ทั้งเป็นผู้ร่วมบรรยายคู่กับวิทยากรและการจัดแสดงละครกฎหมายระหว่างการบรรยายเพื่อเป็นการให้ความรู้ด้านกฎหมายผ่านละคร และยังเป็นการเสริมทักษะให้แก่นักศึกษาไปพร้อมกันด้วยค่ะ”
“นอกจากนี้ ศูนย์นิติศาสตร์จะเลือกประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่น่าสนใจหรือเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป มาจัดเป็น โครงการสัมมนาหรือเสวนาทางวิชาการ โดยจะเชิญผู้ทรงความรู้ในองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชนและองค์กรอื่น ๆ รวมถึงคณาจารย์ มาร่วมอภิปรายให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ โดยกิจกรรมนี้ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการคิดค้นและริเริ่มการจัดโครงการด้วยตัวนักศึกษาเองภายใต้การดูแลของศูนย์นิติศาสตร์ค่ะ”
“ส่วนงานด้านวิชาการเพื่อการพัฒนาทักษะของนักศึกษานั้น ศูนย์นิติศาสตร์พยายามที่จะจัดกิจกรรมแก่นักศึกษาเพื่อให้ครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดโครงการต้องเถียงปัญหากฎหมายโดยการแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นอุทธรณ์ ทั้งรอบภายในของคณะนิติศาสตร์และระดับประเทศ หรือเรียกว่า Moot Court การจัดโครงการอบรมทักษะการปฎิบัติงานทางกฏหมาย หรือ Legal Practice Workshop โครงการอบรมเพื่อเตรียมสอบใบอนุญาตว่าความ โครงการฝึกงานภาคฤดูร้อนแก่นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ เป็นต้น โดยการจัดกิจกรรมทั้งหมดศูนย์นิติศาสตร์จะมุ่งเน้นเพื่อประโยชน์ของนักศึกษาของคณะนิติศาสตร์ในการนำวิชาความรู้ทั้งทางด้านกฎหมาย การเสริมทักษะด้านอื่น ๆ ให้แก่นักศึกษาก่อนที่จะสำเร็จการศึกษา เป็นนิติศาสตรบัณฑิตต่อไป”
พรปวีณ์ (4) : คดีประทับใจที่เคยทำ
“เป็นคำถามที่ตอบยากมากเลยนะคะ เพราะตั้งแต่ปฏิบัติงานที่นี่มาเป็นเวลาเกือบสี่ปีมีโอกาสได้ทำคดีหลายประเภท และเนื่องการทำงานที่นี่ตั้งต้นด้วยการที่เราให้ความช่วยเหลือผู้ขอความช่วยเหลือทุกท่านด้วยความเต็มใจและเข้าใจในความเดือดร้อนที่ได้รับโดยเราไม่มีส่วนได้เสียใด ๆ ในผลแห่งคดี ดังนั้นเราจึงทำเพื่อผลประโยชน์ของลูกความเป็นสำคัญ และทุกครั้งที่ทำคดีไหนสำเร็จก็จะได้รับคำขอบคุณจากผู้ร้องอย่างจริงใจทุกครั้ง เท่านี้เราก็ถือว่างานบรรลุผลแล้วค่ะ แต่ถ้าให้เลือกคดีที่น่าประทับใจก็คงเป็นคดีอุบัติเหตุทางด่วนโทลเวย์ ซึ่งคดีนี้มีผู้ได้รับความเสียหายจำนวนมากและทีมทนายความก็ดำเนินกระบวนการทางกฎหมายเป็นระยะเวลานานเกือบ 10 ปี อีกทั้งยังเป็นคดีที่เป็นที่สนใจของสังคมและสื่อมวลชนทำให้ศูนย์นิติศาสตร์เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ได้รับความไว้วางใจและมีโอกาสให้ความช่วยเหลือประชาชนอันเป็นไปตามวัตถุประสงค์ประการหนึ่งของศูนย์นิติศาสตร์ด้วยค่ะ”
คำถาม (5) : งานอื่น ๆ ที่มีโอกาสได้ทำ
พรปวีณ์ : “นอกจากงานตามภารกิจของศูนย์นิติศาสตร์อย่างที่ได้อธิบายไปบ้างแล้ว ก็ยังได้มีโอกาสทำกิจกรรมกับหน่วยงานภายนอกคณะนิติศาสตร์ ทั้งการเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนครอบครัว จัดโดยกรมการปกครอง เข้าร่วมกิจกรรมกฎหมายชาวบ้าน กับทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ครบรอบ 1 ปีนารีกระจ่าง “ตลาดนัดรวมใจ พอเพียง ยั่งยืน” และได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเพื่อบรรยายในโครงการอบรมทักษะทางกฏหมายภาคปฏิบัติ โดยส่วนใหญ่งานอื่น ๆ ที่จะได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ปฎิบัติงานนอกเหนือจากงานหลักของศูนย์นิติศาสตร์ จะเป็นงานที่ได้รับเชิญจากหน่วยงานภายนอกและเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ซึ่งก็จะค่อนข้างหลากหลายเช่นกันค่ะ”
(1) พรปวีณ์และเพื่อนร่วมงานที่ศูนย์นิติศาสตร์
(2) พรปวีรณ์และอาจารย์ประจำคณะนิติศาตร์ที่เป็นคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ของศูนย์นิติศาสตร์ (อ.ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ / อ.กิตติภพ วังคำ / ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง / อ.เพียรรัตน์ ลีลาพงศธร / อ.ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร / อ.ศุภวิช สิริกาญจน)
คำถาม (6) : ความรู้สึกกับเพื่อนร่วมงาน
พรปวีณ์ : “ด้วยความที่หน่วยงานเราไม่ได้ใหญ่มาก มีผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์เป็นผู้บังคับบัญชา เราจึงอยู่ร่วมกันในลักษณะของพี่น้อง ช่วยกันแบ่งเบาภาระหน้าที่ตามความเหมาะสมค่ะ นอกจากนี้ก็ยังมีการทำงานและประสานงานร่วมกับอาจารย์ในคณะซึ่งเป็นกรรมการชุดต่าง ๆ ของศูนย์นิติศาสตร์ด้วยค่ะ”
คำถาม (7) : สิ่งที่ได้รับจากการทำงานที่ศูนย์นิติศาสตร์
พรปวีณ์ : “น้องได้รับอะไรหลายอย่างจากศูนย์นิติศาสตร์ ตั้งแต่ช่วงที่ยังเป็นเพียงผู้มาขอเรียนรู้งานจนถึงตอนนี้ได้เป็นเจ้าหน้าที่ประจำแล้วรวมระยะเวลาหกปี ทั้งความเป็นพี่น้อง เพื่อน ได้รับความรู้ด้านกฎหมาย ประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งไม่สามารถหาได้จากที่ไหน ศูนย์นิติศาสตร์นับเป็นสถานที่แรกที่ทำให้เราเริ่มต้นการทำงานในสายวิชาชีพกฎหมายนี้เลยก็ว่าได้ ทุกสิ่งที่ได้รับจากการทำงานที่นี่เป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับเรา การได้ร่วมทำงานกับพี่ทนายความที่มีประสบการณ์ อาจารย์ด้านกฎหมายผู้ทรงคุณวุฒิ ทำให้น้องได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองตลอดเวลาและสามารถนำมาใช้เพื่อต่อยอดการทำงานสายวิชาชีพกฎหมายนี้ได้ นอกจากนี้ น้องยังได้เห็นข้อผิดพลาดของตนเองและแก้ไขจุดบกพร่องให้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังได้มีโอกาสทำกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบโครงการ ซึ่งคิดว่าหากเราไปทำงานที่อื่นก็คงไม่รับโอกาสดี ๆ แบบนี้ค่ะ”
คำถามสุดท้าย : ฝากถึงนักศึกษาคณะนิติศาสตร์
“น้องก็ขอฝากถึงน้องนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ทางที่สำเร็จการศึกษาแล้วและกำลังจะสำเร็จการศึกษาค่ะว่า หากน้องนักศึกษาต้องการหาสถานที่ที่เป็นแหล่งรวมวิชาความรู้ด้านกฎหมาย ควบคู่ไปกับการได้ใช้ทักษะด้านกฎหมาย การมีพี่ทนายความที่มีประสบการณ์คอยดูแลและให้คำแนะนำ ศูนย์นิติศาสตร์นับว่าเป็นสถานที่ทีดีสำหรับน้อง ๆ ในการเริ่มต้นการทำงานสายวิชาชีพนักกฎหมายเลยค่ะ”
ถ่ายภาพ Pump
แต่งภาพ Film
เรียบเรียง ผศ.ดร.กรศุทธิ์