สรุปสาระสำคัญจากโครงการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “ความสอดคล้องของมาตรการห้ามนำเข้าเนื้อสุกรที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงของประเทศไทย ภายใต้พันธกรณีขององค์กรการค้าโลก” ซึ่งจัดขึ้นในวันพุธที่ 2 มิถุนายน 2564 เวลา 09.00-12.00 น. ทางระบบ Cisco Webex และ Facebook Page คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จารุประภา รักพงษ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายศุภสิน เจียรพาณิชย์พงศ์ นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
กล่าวเปิดงานและขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ให้การสนับสนุนในการทำงานวิจัย :
ผศ.ดร.จารุประภากล่าวขอบคุณทางคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้โอกาสสนับสนุนการทำงานวิจัยในครั้งนี้จนได้เผยแพร่
งานวิจัยในครั้งนี้เป็นวิจัยที่ได้รับสนับสนุนจากคณะฯที่ช่วยให้อาจารย์ประจำได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ ได้ทำงานวิชาการ แต่ด้วยภาระหน้าที่อาจารย์หลายอย่าง ทำให้ไม่มีเวลานั่งให้ความคิดตกผลึก จึงขอขอบคุณคณะฯที่ให้โอกาสทำเรื่องที่ตนสนใจและขอบคุณ ผู้ให้ข้อมูลทุกท่าน โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ อ.ย. ผู้ประกอบการที่ให้ข้อมูลที่หาไม่ได้จากแหล่งอื่น
และขอขอบคุณทุกท่านที่เข้าร่วมงานเสวนาในวันนี้ คาดไม่ถึงที่จะมีผู้ให้ความสนใจมาก อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเทคนิค แต่อย่างไรก็อยู่ในชีวิตของทุกคน เพราะ เป็นเรื่องมาตรการของประเทศไทยที่ห้ามนำเข้าสุกรที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการผลิตของต่างประเทศ แต่อาจทำให้ทุกท่านมองเมื้ออาหารเก่า ๆ ไม่เหมือนเดิม
เนื้อหาของงานวิจัย :
ลำดับต่อมา ผศ.ดร.จารุประภา ได้ชี้แจงในส่วนเนื้อหาของงานวิจัยว่า ในส่วนเนื้อหาหลักจะอยู่บทที่ 3 เป็นประเด็นความสอดคล้อง การปฏิบัติตาม (compliance) ผลทางกฎหมาย (legal implication) ของกฎหมายองค์กรการค้าโลก (WTO) หรือเป็นกฎหมายที่ควบคุมกระบวนการค้าต่างประเทศ กฎหมายไทยในปัจจุบันที่ห้ามนำเข้าเนื้อสุกรที่มีสารเร่งเนื้อแดงทุกรูปแบบ (สาร Beta-agonist) เพื่อศึกษาว่ากฎหมายไทยมีความสอดคล้องกับพันธกรณีของ WTO หรือไม่ และเสนอแนะว่าควรทำอย่างไรเพื่อให้กฎหมายของไทยสอดคล้องกับพันธะเหล่านั้น
ในเบื้องต้น ผศ.ดร.จารุประภา ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าของโลกและประเทศไทยในปัจจุบันว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อพิพาทเป็นทางการระหว่างประเทศต่าง ๆ แต่อาจมีหลายประเทศที่ต้องการให้ไทยเปิดตลาดนำเข้าเนื้อสุกรจากประเทศเหล่านั้นที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง เช่น สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก บราซิล อื่น ๆ
หลัก ๆ จะใช้ตัวอย่างจากสหรัฐอเมริกา เพราะมีการออกหนังสือเจรจากับรัฐบาลไทยบ่อยครั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่างานวิจัยชิ้นนี้จะศึกษาเฉพาะสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว
ในประเด็นเกี่ยวกับสารเร่งเนื้อแดง ผศ.ดร.จารุประภา ได้ให้ข้อมูลในเบื้องต้นว่า ความจริง “สารเร่งเนื้อแดง” ไม่ใช่สีที่ทำให้เนื้อเป็นสีแดง แต่ชื่อนี้เป็นชื่อที่เป็นที่รู้จักในตลาด (well-known) เป็นสารที่ทำให้เกิดเนื้อของสัตว์ส่วนที่ไม่มีไขมัน (lean meat) หรือว่าเนื้อแดง หลัก ๆ จะเน้นเนื้อสุกร เพราะเป็นเนื้อที่คนไทยรับประทานมาก นอกจากนั้นสุกรโดยพื้นฐานโดยธรรมชาติของสัตว์ไม่ขยันวิ่ง ขุนได้ง่าย เพิ่มน้ำหนักได้ มีสัดส่วนของไขมันมาก ทำให้เกษตรกรทั่วโลกอยากใช้สารนี้ก่อนที่สุกรจะถูกนำไปโรงฆ่า เพื่อให้มีเนื้อแดงได้เยอะส่วนเนื้อจะสีชมพูหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
เนื้อแดงจะขายได้ดีกว่าไขมันเยอะ ทำให้ตนสนใจ แต่พอศึกษาลึกลงไปอีก จะพบว่าสารนี้บุคคลที่เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ตั้งครรภ์ หรือเด็ก ไม่ควรรับประทาน เพราะว่าจะทำให้เกิดหัวใจเต้นเร็วขึ้น หรือเต้นผิดจังหวะ ด้วยโดยสารนี้จะทำให้เกิดความกระวนกระวายในสุกร ทำให้เดินไปรอบ ๆ เผาผลาญแคลอรี่ก่อนนำไปชำแหละ หากมีการตกค้างในคนในจุดหนึ่ง (sensitivity) โดยแต่ละคนจะมีความอ่อนไหวของสารนี้ไม่เท่ากัน โดย ผศ.ดร.จารุประภา ได้ยกตัวอย่างถึงสมาชิกในครอบครัวของตนว่า มีคุณพ่อเป็นโรคหัวใจ คุณแม่ความดันโลหิตสูง
ซึ่งปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศเสนอมาว่าการที่ไม่นำเข้าเนื้อที่มีสารนี้ ไม่สอดคล้องกับในประเทศไทยเองหรือไม่ เพราะยังพบการลักลอบใช้สารดังกล่าวในประเทศไทยบางส่วน อีกทั้งการรับประทานอาหารของประเทศไทยยังเน้นการทานทุกส่วน แม้แต่เครื่องใน ซึ่งในต่างประเทศโดยเฉพาะชาติตะวันตกบางประเทศไม่ทานเครื่องใน เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เพราะสารดังกล่าวจะตกค้างในส่วนตับ ไต และปอดของสุกรในปริมาณที่มาก โดยจุดนี้เป็นที่มาที่ทำให้ตนสนใจ
ขอบเขต (Scope) ของงานวิจัย :
ในส่วนขอบเขตผลิตภัณฑ์ที่ทำการศึกษา ผศ.ดร.จารุประภา กล่าวว่า หลัก ๆ จะทำการศึกษาเนื้อสุกร แต่ในส่วนของงานวิจัยจะมีการขยายความถึงผลิตภัณฑ์ทุกอย่างที่ใช้ส่วนต่าง ๆ ของสุกร เช่น ไส้กรอก เครื่องใน กระดูกอ่อน ทั้งหมด ทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์แปรรูป
ในส่วนขอบเขตของกฎหมายไทย ผศ.ดร.จารุประภา กล่าวว่า ประเทศไทยร่างกฎหมายในลักษณะที่ครอบคลุมในทุกส่วน คือ ไม่ได้ห้ามแค่เนื้อ แต่ห้ามทุกประเภท แต่จะเน้นในส่วนเนื้อสุกรเป็นพิเศษ เพราะเป็นส่วนที่ต่างประเทศทักท้วงว่าไม่สอดคล้องกับ WTO ซึ่งอาจนำมาซึ่งการฟ้องร้อง การตัดสิทธิประโยชน์ระหว่างประเทศ (สิทธิภาษี GSP เหตุผลหลักที่ปรากฏในเอกสาร คือ ประเทศไทยไม่จริงใจในการเป็นคู่ค้าที่ดีกับประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากไทยไม่เปิดตลาดส่งออกเนื้อสุกร) ดังนั้น ในงานวิจัยครั้งนี้จะศึกษากฎหมายที่ห้ามทั้งหมด (ห้ามใช้ ห้ามจำหน่าย ห้ามผสม ห้ามนำเข้า) และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ในส่วนของขอบเขตกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ผศ.ดร.จารุประภา กล่าวว่า กฎเกณฑ์ของ WTO ที่เกี่ยวข้อง จะมี 2 ความตกลงหลัก ๆ ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยการใช้บังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Agreement on the Application of Sanitary and Phytosanitary Measures หรือ ความตกลง SPS) ซี่งในส่วนของสารเร่งเนื้อแดงจะอยู่ในข้อสุขอนามัย และความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade หรือความตกลง GATT)
วัตถุในการวิจัยที่สำคัญอีกอัน คือ สารเร่งเนื้อแดง ในกลุ่ม Beta-agonist เช่น Ractopamine ซึ่งเป็นที่นิยมมากในสหรัฐอเมริกา โดยประเทศไทยไม่ได้ห้ามแค่สารตัวนี้ แต่ห้ามทุกสาร โดยกรมปศุสัตว์มีการตรวจสอบเก็บตัวอย่างจากปัสสาวะ ก็เจอ Clenbuterol Salbutamol ก็มีการเก็บสถิติและลงโทษผู้กระทำผิด โดยในส่วนของซัลบูทามอล มีส่วนผสมของยาตัวหนึ่ง คือ ยาพ่น ยา Ventolin ก็มีสารนี้ด้วย ก็สามารถซื้อได้เพื่อรักษาอาการหอบหืด อาการอื่น ๆ
ประเด็นเรื่องสารเร่งเนื้อแดงกับความสอดคล้องกับกฎหมาย WTO :
ผศ.ดร.จารุประภา กล่าวว่า เป็นความพยายามถ่วงดุลอะไรหลาย ๆ อย่างในอุดมคติที่ควรจะสมดุล แต่มีข้อสังเกตว่าแต่ละประเทศ ไม่มีประเทศไหนสมดุล WTO ต้องการเปิดเสรีทางการค้า ต้องไม่มีการปกป้องการผลิตภายในประเทศ เพราะผู้บริโภคมีสิทธิเลือก ดังนั้นกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่อ้างว่าเป็นไปเพื่อปกป้องประชาชนภายใน รัฐที่ออกกฎเกณฑ์เหล่านั้นมีหน้าที่พิสูจน์ว่ามันไม่เกินจำเป็น ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นประเทศไทยอาจมี ความเสี่ยงต่อสุขภาพ (certain health risk) ที่ไม่เหมือนประเทศอื่น กล่าวคือ วัฒนธรรมการกินของไทย
ผศ.ดร.จารุประภา ยังกล่าวต่อไปว่า เรื่องของกฎหมายความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety) เป็นเรื่องพื้นฐานแต่ละวัฒนธรรม การเมือง และภูมิภาค หรือ safety culture คือ วัฒนธรรมของไทยไม่เหมือนต่างประเทศ เช่น กินไส้ อาศัยเหตุผลตามที่กล่าวมาข้างต้นจึงไม่สามารถตัดสินได้ว่ากฎเกณฑ์ไหนดีกว่าเพราะทุกประเทศต้องการปกป้องประชากรของตน ไม่สามารถตัดสินได้ว่ากฎเกณฑ์หนึ่ง ๆ จะใช้ได้ทั่วโลกในแวดวงของกฎหมายที่เป็น SPS ทั้งหมด
ในเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร มีทฤษฎีข้างต้นนี้อยู่ ดังนั้นการที่ WTO บอกกว่าถ้าอย่างนั้นก็ถ่วงดุลโดยการพิสูจน์ ต้องเข้าใจก่อนว่าทุกประเทศก็ไม่ได้มีความสามารถในการพิสูจน์ (feasibility) ได้ทุกครั้งไป
ในประเด็นการถ่วงดุลระหว่าง เรื่องมาตรการป้องกันความเสี่ยงทางสุขภาพ กับ เรื่องของการอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (protecting certain health risk กับ based on scientific principles) ที่บอกกว่าถ้าประเทศคุณไม่มั่นใจแล้วจึงกำหนดมาตรการที่เคร่งครัดกว่าที่อื่นก็ต้องพิสูจน์ เป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนเสมอไป ตัวอย่าง เรื่องความเสี่ยงสุขภาพระยะยาว (long-term health) เช่น วันนี้ประเทศไทยให้นำเข้าเนื้อสุกรที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง เราก็กินปกติ เราก็ระวังแล้ว มันก็สะสม เราก็ไม่รู้ว่ามันสะสมถึงระดับไหนจะถึงจุด แต่ละคนก็ไม่เท่ากัน และก็ไม่มีการศึกษา และเรื่องนี้เป็นเรื่องการสะสม (add on) ไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดสุดท้าย ซึ่งเป็นเรื่องที่พิสูจน์ยาก หรืออีกกรณี ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งตรงนี้เบื้องต้นใช้เป็นเหตุผลในการยืนยันให้ไทยได้
กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางอาหารสามารใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าและส่งผลกระทบข้ามแดนได้ค่อนข้างง่าย เช่น เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ประเทศไทยมีประเด็นเรื่องไข้หวัดนก การกีดกันทางการค้าค่อนข้างง่าย ตอน ณ เวลานั้นก็มีกระแสห้ามไก่ไทย จากตอนแรกเริ่มบางประเทศ จนกระทั่งเกิดผลต่อกระทบต่อเนื่องจนกระจายไปทั่วโลก
ประเด็นเนื้อหาของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
กฎหมายไทย เป็นการกีดกันทางการค้าสูงสุด หรือเป็นการห้ามทั้งหมด ดังนั้นภาระการพิสูจน์ในทางระหว่างประเทศค่อนข้างจะสูงมาก
ในส่วนของไทยนอกจากการห้ามนำเข้าแล้ว เราแบ่งออกมา เป็น 1. กระบวนการผลิต กล่าวคือ ใช้ตั้งแต่อยู่ในฟาร์ม จนถึง การฆ่า เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาหารสัตว์ มีประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้อง การเลี้ยงสัตว์ มีประกาศกรมปศุสัตว์เรื่องฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ปลอดสารเบต้าอะโกนิสต์ รับรองฟาร์มปลอดสาร และการฆ่าสัตว์ ควบคุมการฆ่าสัตว์ ณ โรงฆ่าสัตว์ ต้องมีการอนุญาตโดยเจ้าพนักงาน ในทุกขั้นตอนห้ามมีสารเบต้าอะโกนิสต์
อีกส่วนคือผลิตภัณฑ์สุดท้าย จะมี พ.ร.บ.อาหาร หากมีสารเร่งเนื้อแดง ก็เป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ อาหารไม่ปลอดภัย อาหารผิดมาตรฐาน หลายความผิด ดังนั้นจึงห้ามผลิต จำหน่าย นำเข้า หากกระทำเรื่องเหล่านี้ก็จะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ค่อนข้างเคร่งครัด เพราะเป็นกฎหมายที่ใช้ทั้งระบบ
กฎหมาย WTO จะมี SPS และ GATT
ในส่วนของ SPS
หลักการ non-discrimination principal Art.2.3 SPS Agreement การไม่เลือกปฏิบัติระหว่างสถานการณ์ที่เป็นประเด็นความเสี่ยงสุขภาพที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน
หลักการ harmonization and equivalence principle การเทียบเท่าของมาตรฐานว่า ต่างชาติได้มาตรฐานเท่านี้ เราจะได้มาตรฐานเท่านั้นหรือไม่
หลักการ necessary principle หลักความจำเป็น เราจะต้องมีมาตรการที่กีดกันทางการค้าที่อยู่ในระดับเท่าที่จำเป็น ซึ่งค่อนข้างยาก อยู่ที่มุมมองซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอัตวิสัย
ในส่วนของ GATT
หลักการไม่เลือกปฏิบัติ “หลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ” คือ การเปรียบเทียบระหว่างสินค้าที่นำเข้า คือ เนื้อสุกรจากต่างประเทศ และเนื้อสุกรในประเทศ ต่อการปรับใช้กฎหมายที่เคร่งครัด เพราะทางประเทศที่ต้องการส่งสินค้ามาไทย จะกล่าวว่าสินค้าที่มีสารเร่งเนื้อแดงนั้นจากมุมมองของผู้บริโภคชาวไทยน่าจะมองว่าเหมือนกับสินค้าที่ไม่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งหากไปถามผู้บริโภคทั่วไปก็คงเข้าใจว่ามันไม่น่าเป็นอะไร
สุดท้ายเป็นเรื่องข้อยกเว้นในการปกป้องชีวิตคนในประเทศ ซึ่งต้องเป็นการใช้มาตรการที่จำเป็นจริง ๆ โดยความเห็นส่วนตนของ ผศ.ดร.จารุประภา เห็นว่าเป็นไปได้
ในเรื่อง SPS Agreement ประเทศไทยต้องรับอยู่แล้ว เพราะเราเป็นสมาชิกของ WTO และความตกลงนี้เป็นความตกลงเฉพาะที่เฉพาะมากกว่าความตกลงทั่วไป เช่น GATT
ประเทศสมาชิกมีสิทธิที่จะออกมาตรการด้านสุขอนามัยเพื่อปกป้องชีวิตประชากรในประเทศ โดย “สิทธิ” ดังกล่าวนี้มีทันทีที่เป็นสมาชิก WTO แต่ในขณะเดียวกันมาตรการต่าง ๆ ที่ใช้จะต้องสอดคล้องกับ SPS ทั้งหมด
ความสอดคล้องที่สำคัญ คือ หลักปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ กล่าวคือ ต้องไม่เลือกปฏิบัติตามอำเภอใจ หรือไม่มีเหตุผลสำหรับประเทศที่มีปัญหาด้านสุขอนามัย หรือความเสี่ยงสุขภาพที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน โดยต้องเปรียบเทียบระหว่างบรรดาประเทศต่าง ๆ ที่ส่งสินค้ามาประเทศไทย และบรรดาประเทศต่าง ๆ ที่นำเข้าสินค้าจากประเทศไทย เช่น เราต้องห้ามทุกประเทศเหมือนกันที่มีสารเนื้อแดง แต่หากเรายอมให้นำเข้ามา 1 ประเทศ ก็ต้องยอมให้ทุกประเทศนำเข้ามา
ในส่วนของช่องโหว่ตามกฎหมายไทย ผศ. ดร.จารุประภา กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสารเร่งเนื้อแดงเข้มงวดมาก เราครอบคลุมทั้งระบบ การนำเข้า การผลิต การจำหน่าย แต่ในทางปฏิบัติมีช่องโหว่อยู่ คือ ในปัจจุบันมียาบางตัวที่เป็นสารเร่งเนื้อแดง เพราะผู้ใช้ยาประเภทนี้ไม่ต้องลงทะเบียน ทำให้ส่วนของยาในคนที่มีโอกาสเล็ดลอดไปใช้เลี้ยงสัตว์ แต่จะมีการปฏิบัติจริงหรือไม่อยู่นอกขอบเขตงานวิจัย
ซึ่งช่องโหว่ดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ก็เป็นการปิดโอกาสที่จะผิดพันธกรณีหลักปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ คือ ในทางระหว่างประเทศเราเข้มงวดแม้แต่น้อยก็เจอไม่ได้ แต่ในประเทศกลับมี มันมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ ซึ่งหากเป็นอย่างนี้ ในทางกฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้พิสูจน์ว่ามีช่องโหว่หรือไม่ แต่หากมีหลักฐานเพียงแค่เห็นความเป็นไปได้ที่มันจะเกิดการเล็ดลอดก็เพียงพอแล้วที่เกิดประเด็นทางการค้าระหว่างประเทศ
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผศ. ดร.จารุประภา เสนอว่า มียาอยู่ตัวหนึ่งชื่อ ซูโดเอฟรีดรีน (Pseudoephedrine) ยาที่เป็นยาแก้หวัด คัดจมูก ก่อนหน้านี้เป็นยาที่เราใช้กันทั่วไป และมีส่วนผสมในยาแก้หวัดเยอะมาก ซึ่งเป็นสารตั้งต้นทำยาเสพติดได้ โดยการสกัดไม่ยากนัก ในที่สุดทาง อ.ย. ก็ควบคุมยาพวกนี้ ควบคุมขนาดว่าเวลาไปซื้อชื่อคนซื้อกับใบจ่ายยาต้องตรงกัน จากกรณีที่ใกล้เคียงกันดังกล่าวสามารถนำมาใช้พิจารณาปรับใช้เพื่อจะอุดช่องว่างเพื่อให้กฎหมายไทยไม่ขัดกับ หลักการ WTO ในเรื่องหลักการไม่เลือกปฏิบัติ ในส่วนของกฎหมายไทย ที่ตอนนี้สถานการณ์ในประเทศมีช่องว่างทำให้สารเร่งเนื้อแดงในยารักษาคนเล็ดลอดในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ ได้ ซึ่งหากอุดตรงนี้ได้ก็ครบถ้วน
อีกหลักการ การสร้างความกลมกลืนของมาตรฐาน (harmonise) กล่าวคือ ทำให้กลมกลืนภายใต้กฎเกณฑ์พื้นฐาน ในส่วนของสมาชิก WTO คือกฎหมายขององค์การมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) ในตัวของความตกลง คือ มาตรา 3 การสร้างหลักความกลมกลืนกันของมาตรฐาน ประเทศสมาชิกต้องอ้างอิงหลักของ Codex มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ หากไม่เป็นไปตาม Codex สมาชิกจะมีภาระการพิสูจน์ว่าทำไมไม่เอา Codex แต่หากเราทำตาม Codex ประเทศสมาชิกจะได้ presume compliance status คือ เป็นหลักการอนุมานเบื้องต้นว่าทำตามกฎเกณฑ์ WTO
ผศ.ดร.จารุประภา ได้ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจดังกล่าวว่า กฎหมายไทยใช้นโยบายความอดกลั้นเป็นศูนย์ (zero tolerance) คือ ห้ามทุกรูปแบบ ไทยไม่ได้ใช้ labelling หรือ MRL หรือ Control used (การใช้อย่างจำกัดภายใต้การอนุญาต ภายใต้การควบคุมตรวจสอบ)
แต่ใน Codex กลับมีมติ 69/67 คะแนนเสียงแบบลับ 69 เสียงเห็นด้วยกับมาตรฐาน Codex อีก 67 ไม่เห็นด้วย คือ เห็นด้วยกับการใช้ MRL อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงจำพวกแรคโตปามีนได้ภายใต้หลักการ MRL การกำหนดค่าตกค้างของสารต้องไม่เกิด 10 ppb (หนึ่งต่อพันล้านส่วน – parts per billion) หลักการชำแหละในกล้ามเนื้อของโค สุกร ในตับต้องไม่เกิน 40 ppb ในไตต้องไม่เกิน 90 ppb ค่อนข้างน้อย แต่ยังตกค้างได้
เห็นได้ว่าในเครื่องในสารตกค้างจะมากกว่ากล้ามเนื้อ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ทานทุกอย่าง ซึ่งต่างประเทศเขาไม่ค่อยทาน ทำให้เกิดความน่าสนใจ การลงคะแนนของ Codex จะใช้ระบบ Consensus หรือ ฉันทามติ คือ ไม่มีใครค้าน แต่อันนี้มีการค้าน และมีการลงว่าออกเท่าไร ไม่ออกเท่าไร ซึ่งคะแนนใกล้เคียงมาก ซึ่งเป็นการลงมติที่น่าจับตามองว่าทำไมองค์กร Codex ซึ่งมีหน้าที่สร้างกฎเกณฑ์ที่มีความกลมกลืนของมาตรฐานทุกประเทศ ทำไมดูเหมือนไม่กลมกลืนกัน
กฎหมายไทยห้ามไม่เอาทั้งหมด ดังนั้นกฎหมายไทยขัดกับมาตรฐานของ Codex ไทยจะไม่ได้ประโยชน์ (benefit) ของการเป็น presume equivalent status
ประเด็นต่อมาในส่วนของการสร้างความกลมกลืนกันของมาตรฐาน คือ หลักการ Benchmarking หรือ equivalence หรือ เทียบเท่าของมาตรฐาน กล่าวคือ การมีมาตรฐานหนึ่งสามารถมีกรรมวิธีที่หลากหลายในการตรวจ หรือดำเนินการ ซึ่งหากผลลัพธ์ของกรรมวิธีเหล่านั้นเท่ากันจะต้องให้ประโยชน์ในเรื่องของความเทียบเท่า
สรุป คือ ประเทศไทยต้องได้ในหลักการเทียบเท่ากันของมาตรฐานระหว่างประเทศ เว้นแต่มาตรฐานระหว่างประเทศไม่เหมาะสม หรือไม่มีประสิทธิผล ไม่สอดคล้องกับสังคมเศรษฐกิจของไทย ซึ่งเราใช้ zero tolerance ไทยมีภาระต้องตรวจได้ศูนย์ตลอด
ผศ. ดร.จารุประภา ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในต่างประเทศสำหรับประเทศที่ต่อต้านการนำเข้าสารเร่งเนื้อแดงในปัจจุบันว่า ในปัจจุบันจีนและไต้หวันยอมให้นำเข้าได้ภายใต้การตรวจและติดสติ๊กเกอร์ แต่ไทยอาจต้องบอกกว่าไม่สามารถใช้หลักการ equivalent ได้เพราะว่าไทยไม่พร้อมที่จะตรวจ อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่าไทยเน้นในเรื่อง zero tolerance มานาน ดังนั้นทางแก้คือต้องให้ภาระในการพิสูจน์ zero tolerance เป็นของผู้ส่งออก และไทยเป็นคนรับรองห้องแล็ปมาตรฐานที่ใช้ในการตรวจเอง จะทำให้ภาระของประเทศไทยลดลง และอีกประเด็นที่สำคัญที่ไทยไม่สามารถใช้หลักการ equivalent ได้ คือ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ได้จบที่ supermarket อย่างเดียว แต่อาจจบที่ตลาดสด ซึ่งเป็นการซื้อส่วนใหญ่ของประเทศไทย จึงไม่เหมาะสมกับประเทศไทย
หลักการสำคัญอีกอย่าง คือ “หลักความจำเป็น” ซึ่งเป็นหลักที่มาจากทางปกครอง ซึ่งค่อนข้างอัตวิสัย จำเป็นนี้เหล่าถามประเทศไหน ในแง่ผู้นำเข้า หรือผู้ส่งออก ในแง่ผู้ออกกฎหมาย หรือผู้บริโภค แล้วแต่ว่าใครจะมองว่าจำเป็นอย่างไร
ประเด็นการตีความกฎเกณฑ์ ประกอบข้อพิพาทในทางปฏิบัติ :
ในกฎเกณฑ์ของ WTO มีการกำหนดการตีความ ขยายความโดยข้อพิพาทต่าง ๆ อยู่ จะเห็นได้ว่ามาตรการของไทยค่อนข้างเข้มงวด ซึ่งประสบปัญหาว่าประเทศไทยอยากใช้หลักนี้ต่อ แต่ประเทศไทยกลับมีช่องโหว่ต่าง ๆ อยู่ ซึ่งพอตรวจสอบข้อพิพาทต่าง ๆ อยู่ มีข้อพิพาทที่น่าสนใจ คือ การที่เราจะพิสูจน์มาตรฐานของเราที่เคร่งครัดมากกว่าที่ Codex กำหนด 1. จะต้องเป็นมาตรการเฉพาะเจาะจง พิสูจน์ได้ทางมาตรการทางวิทยาศาสตร์ และ2.จะต้องครอบคลุมความเสี่ยงต่าง ๆ ได้ครบถ้วน
คดีที่สำคัญ คดี EC-Hormones เป็นคดีที่สหภาพยุโรป ตอนนั้นเป็นประชาคนยุโรปอยู่ห้ามนำเข้าเนื้อวัวที่ใช้ Growth hormone ฮอร์โมนเจริญเติบโต และมีการตกค้างอยู่ในเนื้อวัว ทางสหภาพยุโรปพยายามห้ามนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกา เพราะทางนั้นมองว่าเป็นเรื่องที่เพิ่มผลผลิตที่ทำได้เป็นปกติวิสัย แต่ทางสหภาพยุโรปกลัวว่าเป็นการเร่งให้เกิดมะเร็ง ซึ่งอาจเกิดการกลายพันธุ์ สหรัฐอเมริกาแย้งว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่สหภาพยุโรปกล่าวเพียงว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ซึ่ง WTO ยกให้อเมริกาชนะ เพราะในเรื่องการพิสูจน์สหภาพยุโรปไม่สามารถพิสูจน์ได้
ซึ่งหากเทียบกับกรณีของประเทศไทย ในเรื่องการห้ามนำเข้าสารเร่งเนื้อแดง เนื่องจากอาจไปเพิ่มภาวะความเสี่ยงให้บุคคลต่าง ๆ ที่มีภาวะสุขภาพซับซ้อนอยู่แล้ว ในส่วนนี้ต้องมีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีการศึกษาอยู่ ก็ต้องให้มีสถิติมากยิ่งขึ้น
คดี Japan-Varietals เป็นคดีที่ว่าการตรวจสินค้าต่าง ๆ พืช ผัก ผลไม้ ต้องมีการตรวจแยกแต่ละประเภท เช่น แอปเปิล ก็มีการตรวจแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ ทางญี่ปุ่นให้เหตุผลว่าสินค้าแต่ละสายพันธุ์มีหน่วยทางพันธุกรรมที่ต่างกัน WTO บอกว่ามันไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าทำไมต้องตรวจสอบที่แตกต่างกัน เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ส่งออก
คดี Australia – Salmon เป็นข้อพิสูจน์ว่าต้องครอบคลุมความเสี่ยงสุขภาพในการใช้สารเร่งเนื้อแดงในกระบวนการผลิตทุกรูปแบบ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังมีช่องว่างอยู่ คดีนี้บอกว่า แม้ว่าประเทศจะมีกฎเกณฑ์กำหนดมาตรการที่เข้มงวด แต่หากมีทางเล็ดลอดเพียงหนึ่งทาง แปลว่ามาตรการนั้นไม่จำเป็น
คดีนี้ เป็นคดีที่ประเทศออสเตรเลียห้ามนำเข้าแซลมอนสดจากประเทศต่าง ๆ เนื่องจากมีเชื้อจากสัตว์น้ำนั้นชนิดหนึ่งติดอยู่ที่แซลมอน แต่ทางรัฐบาลออสเตรเลียอนุญาตให้นำเข้าแซลมอนที่ได้รับความร้อนบางส่วนซึ่งอาจยังไม่สุกพอดีได้อยู่ ทางWTO บอกว่าอันนี้ไม่ครอบคลุมความเสี่ยงทั้งหมด แสดงว่ามาตรการที่เข้มงวดของคุณไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น ซึ่งคุณยังอนุญาตให้มีช่องว่างทางกฎหมายอยู่
คดี Japan – Apples เป็นคดีทางญี่ปุ่นต้องการป้องกันโรคพืชชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อแบคทีเลียทำให้ใบไม้หยิกงอ จึงไม่อนุญาตนำเข้าแอปเปิลจากต่างประเทศ แต่การลักลอบนำเข้ายังมีอยู่ ในส่วนนี้จึงไม่เพียงพอครอบคลุมทุกความเสี่ยง
ในส่วนของ GATT มีประเด็นที่น่าสนใจ 2 ประเด็น
ประเด็นแรก การดูว่าสารเร่งเนื้อหมู หรือผลิตภัณฑ์ที่มีสารเร่งเนื้อแดง กับ ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารเร่งเนื้อแดงเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกันหรือไม่ ภายใต้หลักการไม่เลือกปฏิบัติ โดยดูที่สินค้าที่เหมือนกันต้องได้รับการปฏิบัติที่เช่นเดียวกัน สินค้าที่ไม่เหมือนกันได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันได้ เช่น รถยนต์เก๋งกับรถกระบะ รัฐบาลมีกฎเกณฑ์ภาษีรถกระบะถูกกว่า ถ้าเรามองว่าไม่เหมือนกันรถกระบะใช้ขนของ รถเก๋งใช้ขนคน การเก็บภาษีจึงเก็บต่างกันได้
ประเด็นที่น่าสนใจ ข้อพิพาท EC-Asbestos ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหิน ไม่เหมือนกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีแร่ใยหิน เพราะหากมีจะเป็นอันตรายต่อระบบหายใจได้ ปัจจัยที่ใช้ในการตัดสิน 4 ประการ คือ 1. ลักษณะทางกายภาพของผลิตภัณฑ์ เช่น สินค้าที่มีสารเร่งเนื้อแดงในต่างประเทศ กับสินค้าที่ไม่มีสารเร่งเนื้อแดงในประเทศ อันหนึ่งมีอีกอันไม่มี ได้ 2. ผู้บริโภคทั้งสองกลุ่มเป็นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายกลุ่มเดียวกัน 3. รสนิยมและอุปนิสัยของผู้บริโภค 4. ฐานภาษี ค่อนข้างไม่สำคัญเพราะไม่ว่าเนื้อสุกรจะมีสารเร่งเนื้อแดงหรือไม่ก็เสียภาษีเท่ากัน
ประเด็นสุดท้าย ประเทศไทยสามารถอ้างความจำเป็นในการปกป้องชีวิตประชากร ภายใต้ข้อยกเว้นนี้ได้หรือไม่ อันนี้ มีข้อพิพาทต่าง ๆ เช่น คดี Thailand – Cigarettes (1990) – The Old Cigarett Case พ.ร.บ.ยาสูบ 2509 ตอนนั้นรัฐบาลไทยพยายามห้ามนำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศ เพราะว่าวัยรุ่นยุคนั้นนิยมสูบบุหรี่ ในขณะที่ไม่ได้ห้ามขายบุหรี่ในประเทศ เพราะไม่ได้มองว่าโก้เก๋ในวัยรุ่น คดีนี้ไทยแพ้คดี เนื่องจาก WTO มองว่าไม่จำเป็นในการปกป้องประชากรในประเทศ เพราะเป็นการกีดกันทางการค้าโดยมีวิธีการอื่นที่ทำได้ ซึ่งในปัจจุบันเรามีแล้ว เช่น ห้ามโฆษณาบุหรี่ จำกัดการขาย จำกัดอายุ เวลาจะขายเสนอขายมีการกั้นม่าน สุดท้ายเราก็ต้องปรับมาตรการของเราโดยการอนุญาตให้นำเข้าบุหรี่ได้
ข้อสังเกตจากคดีนี้ ถ้ายังมีมาตรการทางเลือก และในประเทศยังมีการขาย มีช่องทางรั่วไหลอยู่ ก็จะทำให้ภาระในการพิสูจน์ที่จะพ้นพันธะในเรื่องความจำเป็นยากมากยิ่งขึ้น
ซึ่งหากเทียบกับคดี EC – Asbestos (2001) สหภาพยุโรปมีการห้ามนำเข้าสินค้าที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินทุกประเภท ห้ามจำหน่าย ห้ามผลิต โดยเขาปิดทุกช่องว่างทำให้ในคดีนี้สหภาพยุโรปสามารถออกมาตรการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์แร่ใยหินได้
ข้อเสนอแนะ :
- ต้องออกกฎหมายเพิ่มเติม หรือปรับกฎหมายขยายขอบเขต หรือออกเป็นในลักษณะประกาศ บรรจุยาที่เป็นสารตั้งต้นของเบต้าอะโกนิสต์ที่อาจรั่วไหลสู่ห่วงโซ่อุปทานอาหารได้ เพื่อควบคุมการใช้ มีการลงทะเบียนผู้ให้ ผู้รับ เพื่อไม่ให้รั่วไหวเกินไป และมีการดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด
- เก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภคในกลุ่มที่อ่อนไหวซึ่งน่าจะมีอยู่แล้ว รวมเป็นหมวดหมู่ว่าปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ที่อ่อนไหวต่อสารเบต้าอะโกนิสต์เท่าไร โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น อาจต้องมีข้อมูลตลาดเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเนื่องจากไม่เหมือนต่างประเทศ อาจไม่มีประสิทธิภาพเท่ากัน ในชุมชนเมืองกับชนบท เพื่อยืนยันว่ามาตรการทางเลือกที่ประเทศอื่นมองว่าทำได้และสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ไทยต้องการได้เช่นกันอาจไปแย้งว่ามันอาจจะบรรลุได้ แต่ไม่เหมาะสมและมีประสิทธิพลเพียงพอ
- พิจารณาดำเนินคดีเกี่ยวกับการลักลอบนำสารเร่งเนื้อแดงที่อาจจะปนเปื้อนอยู่ในอาหาร อยู่ในยารักษาโรคในคนแอบเอาไปใช้ในสัตว์ และลงโทษอย่างเข้มงวด ลงเป็นฐานข้อมูลเพื่อให้นำไปใช้เจรจาได้ทันที
- การให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงสุขภาพการบริโภคอาหารที่มีสารเร่งเนื้อแดงในกลุ่มของผลิตภัณฑ์สุกรว่าไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกัน มีโทษอย่างไร เพื่อไม่ให้ต่างประเทศนำเป็นข้อกล่าวอ้างว่าประเทศไทยทำผิดพันธกรณีขององค์การการค้าโลก ในขณะเดียวกันก็สามารถปกป้องประชากรในประเทศได้ต่อไป
คำถามและข้อคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมเสวนา
คำถาม (1) : การห้ามนำเข้าเนื้อสุกร มีผลในทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาอย่างไรบ้าง
ผศ.ดร.จารุประภา : เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เป็นประเด็นส่วนตัว ทางไทย อเมริกามีนิติสัมพันธ์ทางการค้าโดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรมาเป็นเวลานานโดยเฉพาะในส่วนของเรา ทางประเทศไทยมองว่าสหรัฐอเมริกาตั้งประเด็นเรื่องการกีดกั้นทางการค้า และทางไทยอาจจะตั้งการ์ด
มีผลอย่างไร อย่างที่แจ้งไป เรื่องทางนโยบายการค้า ตนคิดว่ามีโพลทางการค้าอยู่แล้ว ในแต่ละสมัย แต่ละรัฐบาล เช่น ตอนปัจจุบัน โจ ไบเดน แต่ของทรัมป์ ค่อนข้างให้ใช้สินค้าในประเทศเพื่อปกป้องสินค้าในประเทศด้วยวิธีการต่าง ๆ ส่วนของโจ ไบเดน ตนมองว่า liberal มากกกว่า แต่ไม่ได้เข้าใจขนาดไทย ตนคิดว่าในทุกสมัยใช้เรื่องการค้าเป็นเหตุผลทางการเมือง อย่างล่าสุดสหรัฐอเมริกาห้ามนำเข้าสินค้าประเภทอัญมณีโดยเฉพาะทับทิมจากประเทศพม่า เขาต้องการกดดันให้พม่าเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่พม่าเขาไม่กระทบเยอะ แต่ที่ไทยจะกระทบเพราะทับทิมพม่าจะมาอยู่ที่ไทยก่อนเพื่อแปรรูปก่อนส่งออกสู่สหรัฐอเมริกาอีกทีหนึ่ง แต่ธงก็จะเห็นเลยว่าทุกเรื่องก็ไม่ได้มีคำกล่าว ท่าทีในเรื่องเนื้อสุกรที่ไทยห้ามนำเข้า และสหรัฐอเมริกาเรียกร้องมาตลอด แต่ที่ดูจากสหรัฐกับพม่า ทางสหรัฐเหมือนจะใช้การค้าเสรีแต่ขณะเดียวกันก็ใช้กลไกการกีดกันทางการค้าเพื่อประโยชน์ทางการเมือง
อีกประเด็นที่น่าสนใจ ทางสหรัฐอเมริกาสามารถกดดันให้จีนสามารถยอมรับเนื้อสุกรจากสหรัฐอเมริกาได้แล้ว แต่ต้องมาจากฟาร์มที่ปลอดสาร Beta-agonist และติดฉลากว่าBeta-agonist free ดังนั้นเขาน่าจะสามารถกดดันไทยให้ยอมรับระบบนี้ได้ด้วย
ในปัจจุบันไทยใช้ระบบแบบห้ามแบบนิดเดียวก็ไม่ได้ เราไม่เอา ก็เป็นไปได้ที่เขาจะกดดัน แต่เราต้องการปกป้องประชากรเราจริง ๆ
คำถาม (2) : หากมีข้อพิพาทเรื่องการห้ามนำเข้าสารเร่งเนื้อแดงต้องขึ้นสู่ศาลอะไร หากประเทศไทยแพ้คดีจะมีช่วงระยะเวลาให้เอกชนปรับตัวหรือไม่
ผศ.ดร.จารุประภา : ประเด็นข้อพิพาท เป็นประเด็นในกระบวนการของ WTO จริง ๆ ก่อนไปสู่ศาลจะปรึกษาหารือกันก่อน เป็นการระงับข้อพิพาททางเลือก ของไทยจะมีกรมเจรจาทางการค้า ถ้าคุยกันแล้วไม่ได้ผลอาจใช้กระบวนการ consult กันก่อนที่จะใช้กะบวนการที่เผชิญหน้ากัน ทางศาลของ WTO ระยะเวลา consult อยู่ที่ 60 วัน ถ้าไม่คืบหน้าก็จะใช้กระบวนการอย่างศาล คือ ตั้งผู้ตัดสินฝ่ายละ 1 คน และทั้งสองคนก็เลือกอีกคน ค่อนข้างเป็นเรื่อง technical อาจจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญนั่ง 1 คน ถ้าตัดสินโดย Trialist เสร็จแล้ว จะมีกระบวนการอยู่ 1 กระบวน คือ การอุทธรณ์ของ WTO เป็นสิทธิของประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน แต่กระบวนการนี้ตอนนี้ยังไม่ฟังก์ชัน เนื่องจากคนที่นั่งดำรงตำแหน่งได้หมดวาระไป จนไม่พอที่จะเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาอุทธรณ์ได้ ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่รู้ อย่างของไทยคดี Philip Morris ซึ่งเราก็รอดูอยู่ว่า WTO จะทำอย่างไรอยู่ ถ้าไทยแพ้ ปกติจะมี transitional period ใน WTOในการที่ให้ประเทศที่แพ้คดีไปปรับปรุงกฎหมายจะอยู่ภายใต้ระยะเวลาที่เหมาะสม คือ ต้องไปตกลงกันเอาเอง ซึ่งมีระยะเวลามากสุดคือ 18 เดือน
คำถาม (3) : เนื่องจากการขอเปิดตลาดของภาคปศุสัตว์แบบ SPS เป็นการพิจารณาจากประเทศต้นทางส่งคำขอมากรมปศุสัตว์ อยากจะทราบว่าของ WTO จะมีการประชุมที่เวลาจัดประชุม stake holder มีกฎไหนของ WTO ไหมว่าเวลาประชุมจะสามารถเชิญภาคเอกชนนั้น ๆ มาประชุมได้ไหม เพราะได้ยินว่าไม่สามารถเชิญมาได้ เนื่องจากในส่วนของประเทศไทยการอนุญาต SPS เราไม่เคยจัดตั้ง
ผศ.ดร.จารุประภา : ก็แปลกใจเหมือนกัน เพราะโดยปกติ WTO ค่อนข้าง pro เรื่องประเทศสมาชิกมีหลักฐานการรับฟังความคิดเห็นของผู้บริโภค ซึ่งปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินว่าสินค้าที่มีความเสี่ยงกับสินค้าที่ไม่มีความเสี่ยงเป็นสินค้าที่เหมือนกันหรือไม่ ซึ่งอันหนึ่งเลยคือ end consumer ผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ถ้าเราเปลี่ยนผู้บริโภคเป็นสเตคโฮล (stake holder) คือ ผู้ประกอบการรายใหญ่ ปกติเวลาเขากำหนดว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างมีนัยยะสำคัญ มันก็คือสเตคโฮลเดอร์ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าแต่ละเรื่องเป็นเรื่องอะไร ซึ่งปกติเขาค่อนข้าง pro ในเวลาที่เราทำประชาพิจารณ์ วางหลักที่ใช้คือหลักความโปร่งใส ซึ่งในส่วนของ SPS ในความโปร่งใสบางที่จะใช้คำว่า ประเทศสมาชิกต้องดำเนินการในทุกรูปแบบเพื่อชี้แจงที่มา เหตุผลในการปรับใช้ SPS ที่ค่อนข้างเคร่งครัดอย่างครบถ้วน ชี้แจงทุกประเทศสมาชิกที่ร้องขอ เราแจ้งที่มาที่ไป เหตุผล สามารถตีความได้เหมือนกัน “เราต้องบอกว่ากฎหมายของเราเป็นอย่างไร ระยะเวลาอนุมัติกี่เดือน เป็นลักษณะของวิธีสบัญญัติ เราต้องแจ้งเหตุผลในเชิงสารบัญญัติด้วย ” ก่อนที่เราจะ public เราจะต้องให้ notification ก่อน public เวลาเรามีการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศอื่นอาจไม่เข้าใจ เราสามารถให้ข้อมูล ที่มาที่ไป วัตถุประสงค์ในการปรับเปลี่ยน ออกกฎหมาย โดยส่งผ่านทางเลขาธิการ WTO ได้ จริง ๆ ไทยเรามี office ที่ WTO ด้วย เร็วที่สุดที่จะทำได้ แต่หลาย ๆ ครั้งมีการตั้งประเด็นว่ากฎหมายไทยเอากฎเกณฑ์นี้มาจากไหน และสามารถโชว์ได้ว่ามาจาก stake holder และต้องบอกว่าเราให้เวลาการปรับตัวเขาไม่น้อยกว่า 6 เดือนในการคอมเมนต์เราต้องให้ระยะเวลาของประเทศอื่นในการปรับเปลี่ยนกฎหมายของเขาด้วยภายใน 6 เดือน จริง ๆ ข้อมูลของ stake holder น่าจะยินดี เพราะเป็นการแจ้งที่มาที่ไป ดีกว่ามีเพียงเอกสารที่ทางรัฐบอกว่าจำเป็น แต่ไม่มีที่มาที่ไป ส่วนตัวเห็นว่ามีก็ดี
ผู้เข้าร่วมเสวนา : รัฐบาลไทยมีแนวโน้มจะดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้
ผศ.ดร.จารุประภา : ช่วงนี้มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจาก Covid-19 อีกทั้งทางอเมริกาเปลี่ยนประธานาธิบดี ซึ่งไม่ทราบว่าทางรัฐบาลไทยจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งตอนนี้ทุกประเทศกำลังจับตามอง เพราะว่าหากเราให้เพียงประเทศเดียว ต้องให้ทุกประเทศ ซึ่งตอนนี้ทางอเมริกามีการให้ติดฉลากแรคโตฟามีน ฟรี ซึ่งตอนนี้ค่อนข้างยากในการพิสูจน์ ในทางปฏิบัติจริง ๆ ทางปศุสัตว์ ทาง อ.ย. อาจลองแชร์ได้ โดยเฉพาะในการทำ processed food เพราะเครื่องจักรมันแพงอาจต้องใช้สายพานเดียวกัน การที่จะให้มีสารตกค้างเท่านั้น เท่านี้ ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ใครจะตรวจ ภาระใคร หากเป็นภาระรัฐบาลก็เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตอีก ซึ่งเราไม่เหมือนจีนที่ค่อนข้างมี feasibility ในการตรวจ แต่รู้สึกเหมือนสหรัฐอเมริกาเตรียมพร้อมแล้ว เพราะตลาดในสหรัฐอเมริกาค่อนข้างเต็มแล้ว เนื่องจากสามารถใช้เทคโนโลยีในการผลิตได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นราคาต่อกิโลของเขาต่ำกว่าของไทยแน่นอน เพราะฉะนั้นเขาผลักดันแน่นอน
คำถาม (5) : ที่ผ่านมาเราใช้มาตรการในการควบคุมสารนี้โดยวิธีการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ และอาหารในฟาร์ม เข้าใจว่าเป็นการควบคุมต้นทาง ประเด็นว่าการควบคุมต้นทาง มากกว่าการควบคุมปลายทาง เข้าใจว่าการตรวจเช็คของเราไม่สามารถตรวจเช็คได้เป็นพันล้านส่วน คงตรวจเช็คได้ในระดับล้านส่วนเท่านั้น คงเข้าใจว่าวัตถุดิบอาหารทั่วไปก็จะมีการใส่อยู่ใน 6-10 ส่วนในล้านส่วน หรือถ้าในอาหารหรือในเนื้อสัตว์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วไม่สามารถตรวจสอบได้ สามารถใช้จุดช่องโหว่ได้หรือไม่ว่าเป็นความจำเป็นของประเทศไทยด้วยข้อกำหนดห้ามใช้ในการตรวจสอบปลายทาง กรณีจีนที่เปิดให้มีการนำเข้าเนื้อสัตว์ของอเมริกา เข้าใจว่ามีวาระแฝงอื่น ๆ ที่ผ่านมาความเสียหายจาก African Swine Fever (ASF) อาจเป็นสาเหตุอันหนึ่งที่ไม่ใช่เป็นเหตุเนื่องจากยอมรับเงื่อนไขข้อตกลงตามมาตรฐาน Codex คิดว่าเป็นอย่างนั้นหรือไม่
ผศ.ดร.จารุประภา : รู้สึกว่าในตัวเอกสารของทางจีน คิดว่าไม่ใช่เอกสารทางการ บอกว่า ไม่ได้แปลว่าเขายอมรับในส่วนของมาตรฐาน Codex แต่ว่าเขาอาจจะไม่ได้บอกเหตุผลว่าจีนมีปัญหาเรื่องซัพพลาย (supply) แต่เขาไม่ได้ยอมรับ เขาเลยบอกว่านำเข้าได้ภายใต้ระบบฟาร์มที่ปลอดสารที่ทางรัฐบาลจีนอนุญาตเท่านั้น แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองต่าง ๆ อะไรไม่ได้บอก แต่เรื่อง แอฟริกัน สไวน์ ฟีเวอร์ (African Swine Fever – ASF) มีส่วน
แต่ที่มีส่วนทางการเมืองเลยคือ ไต้หวันกับจีน ทางไต้หวันเป็นตัวตั้งตัวตีเรื่องไม่เอาสารเร่งเนื้อแดง แต่เขาก็ยอม ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นเพราะเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก ซึ่งในประเด็นแรกคงต้องถามผู้รู้เพราะค่อนข้างเทคนิค ซึ่งการตรวจในต้นทางเป็นการสุ่มตรวจเพื่อดูแนวโน้ม ถ้าเจ้าพนักงานมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีบริเวณไหนลักลอบใช้สารจะใช้วิธีตรวจวิเคราะห์มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายสูง แต่จะตรวจได้ในระดับ ppb แต่ไม่ถึงระดับอาหารเป็นระดับกระบวนการการผลิต และเนื่องจากเราห้ามระดับ 0 เราจะตรวจได้ถึงระดับนั้นได้หรือเปล่า และเราจะสามารถยืนยันความมีประสิทธิผลเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของไทยหรือเปล่า
ผู้เข้าร่วมเสวนา : ประเด็นที่มีข้อกังวลถ้าเราอนุญาตให้เนื้อสัตว์ที่มีสารนี้เข้าประเทศ เราต้องแก้กฎหมายอนุญาตให้เกษตรกรไทยใช้ได้ด้วยโดยมีข้อกำหนดให้เนื้อสัตว์ขั้นสุดท้ายต้องมีสารตัวนี้ในระดับเท่ากัน ซึ่งการควบคุมของกรมปศุสัตว์จะยากขึ้น ถึงระดับล่มสลายในการควบคุมเลยเพราะเรายังไม่มีความพร้อมตรงนี้ ดังนั้นการอนุญาตให้ใช้ได้จะเป็นภัยที่สำคัญเนื่องจากเราไม่สามารถทำได้ อยากจะลองเสนอสักเรื่องหนึ่ง ในกรณีที่เราแพ้ในกระบวนการต่อรอง ถ้าแพ้ คิดว่าน่าจะลองทำให้อาหารหรือวัตถุดิบที่ใช้ในการทำอาหารเกิดความแตกต่างเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิที่จะเลือก จริง ๆ น่าจะนำเข้าเครื่องมือที่จะตรวจสอบในระดับผลิตภัณฑ์เพื่อจะแปะลงบนสินค้า
ผศ.ดร.จารุประภา : ขอเสริมในเรื่องนี้ จริง ๆ เรื่องนี้มีการทำมาแล้วหลาย ๆ ประเทศ เช่น เกาหลีใต้เขามีความชาตินิยม คิดว่าเนื้อเกาหลีมีกรรมวิธีค่อนข้างดี ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ก็สามารถให้ความรู้ผู้บริโภคไปพร้อมกันได้ ตนคิดว่าน่าจะทำได้ อย่างเช่นกรณีไข้หวัดนก
คำถาม (6) : ถ้าจะอุทธรณ์คำวินิจฉัยจะมีระยะเวลามากน้อยแค่ไหนในการทำวิจัยประเด็นผลกระทบต่อสุขภาพ มีความเป็นไปได้หรือไม่
ผศ.ดร.จารุประภา : ต้องเป็นส่วน อ.ย. ส่วนตัว ผศ.ดร.จารุประภาไม่ได้จบ food science จริง ๆ เราไม่ต้องทำเอง เพราะประเทศสมาชิกสามารถใช้ข้อมูลในประเทศสมาชิกที่มีความเสี่ยงใกล้เคียงกันได้ เช่น จีนที่บริโภคเครื่องในอย่างไร ประเทศหนึ่งที่ทำวิจัยคือรัสเซีย แต่ไม่สามารถอนุมานได้กับประเทศทางเอเชีย เพราะเขาทานเนื้อเป็นหลัก เขาก็ไม่อนุญาตให้นำเข้าเนื้อที่มีสารเร่งเนื้อแดง
คำถาม (7) : ประเด็น Animal Welfare
ผศ.ดร.จารุประภา : ในเรื่องมาตรการที่จำเป็นในการปกป้องศีลธรรม คล้าย ๆ กับประเทศมุสลิมที่ห้ามนำเข้าหมูเลย ในกรณีของไทยอาจเทียบได้ในเรื่องการใช้สารเร่งเนื้อแดง เพราะจะทำให้หมูวิ่งก็อาจจะเป็นประเด็นเรื่องศีลธรรมได้ในเรื่องทางพุทธศาสนา