คุยกับสุธินี รักทอง กับแนวทางการเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญแบบออนไลน์ในช่วงโควิด-19 (กลุ่ม ศ.ดร.บุญศรี, ผศ.ดร.ปริญญา)
1️⃣ คำถาม (1) : อาจารย์ผู้บรรยาย / คะแนนสอบ และเนื้อหาวิชา
(1.1) อาจารย์ผู้บรรยายคืออาจารย์ท่านใดบ้าง และคะแนนที่สอบได้
สุธินี : “อาจารย์ผู้บรรยายคือ ศาสตราจารย์ ดร.บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ค่ะ”
“สำหรับคะแนนที่สอบได้ ตอนกลางภาคคือ 33 คะแนน คะแนนสอบปลายภาคคือ 36 คะแนน และคะแนนรายงาน 18 คะแนน คะแนนรวมของวิชานี้คือ 87 คะแนนค่ะ”
(1.2) ตอนที่เรียนคิดว่าเนื้อหาวิชานี้เป็นอย่างไรบ้าง และความรู้สึกก่อนและหลังเรียนต่างกันอย่างไร
สุธินี : “ความรู้สึกก่อนเรียนคือกลัวค่ะ (หัวเราะ) เพราะเท่าที่ทราบมาเซคชั่นนี้ขึ้นชื่อว่าโหดเรื่องคะแนนและชื่อเสียงอาจารย์ผู้สอนค่อนข้างเป็นที่เลื่องลือว่าเข้มงวดเรื่องมารยาทในห้องเรียนค่ะ”
“ส่วนตอนเรียนคิดว่าวิชานี้เป็นวิชาที่น่าสนใจมาก ๆ ค่ะ ต้องบอกก่อนว่าส่วนตัวชอบติดตามข่าวการเมืองอยู่แล้ว เลยคิดว่ามีส่วนช่วยให้อินกับการเรียนวิชานี้มากยิ่งขึ้น แต่การบรรยายของอาจารย์บุญศรีค่อนข้างต่างจากอาจารย์ในเซคชั่นอื่น ๆ คือท่านจะสอนประวัติศาสตร์การปกครองของสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี อันนำมาสู่เหตุผลในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ เพราะฉะนั้นตอนเรียนในส่วนนี้เลยคิดว่าเป็นการเรียนประวัติศาสตร์ซะส่วนใหญ่ค่ะ”
“สำหรับการเรียนในส่วนของอาจารย์ปริญญา ท่านจะสอนในส่วนของรัฐธรรมนูญไทย เพราะฉะนั้นเราเลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัวขึ้นมาหน่อย ประกอบกับตอนนั้นมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดียุบพรรคอนาคตใหม่ซึ่งท่านอาจารย์ก็ได้หยิบยกมาสอนในชั้นเรียนด้วย ก็ทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ ในบ้านเมืองมากยิ่งขึ้นค่ะ อีกทั้งท่านยังสอนเรื่องผู้แทน ระบบการเลือกตั้ง วุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ เป็นต้น เพราะฉะนั้นหลังจากเรียนวิชานี้ก็ทำให้เราเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญไทยฉบับต่าง ๆ มันมีปัญหาหรือข้อบกพร่องในเรื่องอะไรบ้าง และควรแก้ไขอย่างไรต่อไปค่ะ ซึ่งก็นับว่าเป็นประโยชน์ของการศึกษาวิชานี้เพราะรัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อประชาชนในฐานะที่เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยค่ะ”
?????
2️⃣ คำถาม (2) : เทคนิคในการเรียนและหนังสือแนะนำ
2.1 ใช้เทคนิคอย่างไรในการเรียนและการทำความเข้าใจเนื้อหาวิชา
สุธินี : “เทคนิคในการเรียนสำหรับตัวเองคือการตั้งใจเรียนในชั้นเรียนค่ะ เข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลา ไม่เล่นโทรศัพท์ขณะเรียน แต่อาจารย์บุญศรีท่านเป็นคนเข้มงวดเรื่องการใช้โทรศัพท์อยู่แล้วค่ะ เพราะฉะนั้นบรรยากาศในห้องเรียนจะเงียบมาก เรียกได้ว่าแทบไม่มีเสียงใครคุยกันเลย ก็จะทำให้เรามีสมาธิเพราะไม่มีเสียงรบกวนจากเพื่อนค่ะ การบรรยายในส่วนของอาจารย์บุญศรีจะมีเนื้อหาค่อนข้างมากและไม่มีเอกสารประกอบการสอน ต้องอาศัยการจดเอง เพราะฉะนั้นก็จะอ่านเลคเชอร์ของตัวเองเป็นหลักบวกกับอ่านหนังสือเพิ่มเติมในประเด็นที่สำคัญ ๆ เพื่อทำให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น พยายามจัดความคิดให้เป็นระบบและทบทวนเนื้อหาช่วงใกล้สอบค่ะ”
“ในส่วนของอาจารย์ปริญญาโดยส่วนตัวก็จะเน้นการตั้งใจเรียนออนไลน์ เช่นกันค่ะ พยายามโฟกัสให้ได้มากที่สุด ถ้าฟังไม่ทันตรงไหนก็จะย้อนกลับไปฟังบันทึกการบรรยายที่ท่านบันทึกไว้ อาจารย์ปริญญาท่านจะชอบตั้งคำถามให้เราคิดตาม ก็พยายามคิดตามค่ะ เพราะจะทำให้เราได้เปิดมุมมองความคิดใหม่ ๆ ได้ฟังความเห็นของเพื่อน ๆ ทำให้การเรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และท่านมักจะแนะนำให้ไปอ่านบทความเพิ่มเติม ก็อ่านตามที่ท่านแนะนำค่ะ อีกทั้งถ้ามีเวลาว่างมากพอ ก่อนเรียนก็จะอ่านหนังสือห้องเรียนรัฐธรรมนูญแบบ Active Learning ซึ่งจะช่วยให้เรียนในคาบเรียนเข้าใจมากยิ่งขึ้นค่ะ กล่าวโดยสรุปเนื้อหาในส่วนของอาจารย์ปริญญาจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะฉะนั้นก็จะเน้นการตั้งใจเรียน คิดตามที่ท่านอาจารย์ถาม และทบทวนบทเรียนหลังเรียนค่ะ”
2.2 หนังสือแนะนำสำหรับการศึกษากลุ่มนี้
สุธินี : “ในส่วนของอาจารย์บุญศรีจะใช้หนังสือ “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นหนังสือของท่านอาจารย์บุญศรีเอง เนื่องจากหนังสือมีเนื้อหาค่อนข้างมากเพราะฉะนั้นจะดูจากคำบรรยายในชั้นเรียนเป็นหลักและอ่านหนังสือเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นที่ท่านอาจารย์เน้นย้ำค่ะ”
สำหรับเนื้อหาในส่วนของอาจารย์ปริญญาจะใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และหนังสือ “ห้องเรียนรัฐธรรมนูญแบบ Active Learning ฉบับใช้เรียน” ค่ะ เป็นหนังสือที่อ่านเข้าใจง่าย กระชับ ใช้ภาษาที่เข้าใจได้ไม่ยาก และมีประเด็นที่น่าสนใจเยอะค่ะ”
?????
3️⃣ คำถาม (3) : การสัมมนา
3.1 วิชานี้มีการสัมมนาโดยอาจารย์ท่านใด และคิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
3.2 ได้เขียนการบ้านสัมมนาส่งไหม และคิดว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
สุธินี : “วิชานี้ไม่มีการสัมมนาค่ะ แต่ในส่วนของอาจารย์บุญศรี ท่านจะนัดบรรยายเพิ่มประมาณ 2 ครั้ง ในช่วงก่อนสอบกลางภาค เป็นการทบทวนความรู้ในคาบการบรรยายหลักที่ได้เรียนไป และท่านจะรวบรวมคำถามที่เคยออกสอบในครั้งก่อน ๆ ให้นักศึกษาช่วยกันคิดและแสดงความเห็นในชั้นเรียนค่ะ เราก็จะสามารถสโคปเนื้อหาที่จะออกสอบได้จากการฟังบรรยายในครั้งนี้ เพราะท่านอาจารย์จะช่วยเน้นจุดสำคัญ ๆ ค่ะ”
?????
4️⃣ คำถาม (4) : การเรียนออนไลน์
4.1 อาจารย์ใช้รูปแบบใดในการสอนออนไลน์
สุธินี : “ท่านอาจารย์ปริญญาสอนผ่าน Microsoft Teams ค่ะ เวลาเรียนก็ใช้เวลาเหมือนกับที่เรียนในห้องปกติ”
4.2 การเรียนในช่วงเรียนในห้องและเรียนออนไลน์ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง และเรียนออนไลน์เจอปัญหาอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร
สุธินี : “ส่วนตัวคิดว่าการเรียนในห้องเรียนทำให้เรามีสมาธิจดจ่อมากกว่าค่ะ บรรยากาศในห้องเรียนทำให้เรามีสมาธิ เวลาที่อาจารย์ตั้งคำถามแล้วเพื่อน ๆ ช่วยกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทำให้เรารู้สึกสนุก ได้คิดตาม ทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อค่ะ หรือถ้าเป็นการฟังบรรยายปกติถ้าเราฟังไม่ทันหรือจดไม่ทันก็หันไปถามเพื่อนข้าง ๆ ได้ แต่พอเป็นการเรียนออนไลน์ก็ไม่สามารถทำแบบนั้นได้”
“การเรียนออนไลน์ในช่วงแรกจะมีความยากลำบากอยู่นิดหน่อยในเรื่องของสัญญาณอินเทอร์เน็ตของอาจารย์ผู้สอนค่ะ และการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างอาจารย์ผู้สอนกับนักศึกษาก็ไม่สามารถโต้ตอบกันได้ทันทีเหมือนกับการเรียนในห้องเรียนปกติ ในส่วนนี้ก็อาจทำให้การเรียนออนไลน์ดูน่าเบื่อไปบ้าง และถ้ามีข้อสงสัยอะไรถ้าเป็นการเรียนในห้องเรียนก็สามารถถามอาจารย์ได้ทันทีหลังจบการบรรยายหรือถามในคาบการบรรยายครั้งถัดไป แต่พอเป็นการเรียนออนไลน์ก็ต้องเปลี่ยนเป็นการส่งอีเมลแทนหรือส่งข้อความไปทาง Facebook ของท่านอาจารย์ปริญญาค่ะ”
“ปัญหาส่วนตัวที่เจอตอนเรียนออนไลน์คิดว่าเป็นเรื่องของเวลาเรียนค่ะ เวลาบรรยายคือ 8.00 ซึ่งสำหรับเราคือเช้ามาก (หัวเราะ) วิธีแก้ปัญหาคือคืนก่อนหน้านั้นจะไม่นอนดึกค่ะ และจะตื่นเช้ามาอาบน้ำและกินข้าวให้เรียบร้อย ไม่เรียนในชุดนอน เตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมเรียน คิดว่าวิธีนี้ทำให้เรามีสมาธิกับการเรียนมากขึ้น เป็นการสร้างบรรยายกาศในการเรียนที่ดีค่ะ”
?????
5️⃣ คำถาม (5) : การเตรียมตัวสอบและฝากถึงรุ่นน้อง
5.1 ใช้เทคนิคอย่างไรบ้างในการเตรียมตัวสอบวิชานี้
สุธินี : “สำหรับการเตรียมตัวสอบวิชานี้ส่วนตัวจะเน้นการเข้าฟังบรรยายเป็นหลักค่ะ เพราะจะทำให้เราทราบว่าอาจารย์ผู้สอนเน้นเนื้อหาส่วนไหนเป็นสำคัญ อย่างที่สองคือการทบทวนเลคเชอร์ของตัวเองและอ่านหนังสือเพิ่มเติมในประเด็นที่ท่านอาจารย์เน้นย้ำ อย่างที่สามคือการทำข้อสอบเก่า ถ้าเป็นเนื้อหาในส่วนของอาจารย์บุญศรีก็จะดูคำถามที่น่าสนใจจากที่ท่านอาจารย์ลิสท์มาให้และจะเตรียมคำตอบคร่าว ๆ ไว้ค่ะ โดยเรียบเรียงเป็นภาษาของตัวเอง ในส่วนของอาจารย์ปริญญาท่านจะโพสต์ “แนวคำถาม” ไว้ในหน้า Facebook ของท่าน และด้วยการวัดผลในส่วนของอาจารย์ปริญญาเป็นการสอบออนไลน์ เพราะฉะนั้นก็จะทำสรุปเนื้อหาโดยดูจากคำถามที่ท่านโพสต์ไว้ พยายามจัดความคิดให้เป็นระบบและเน้นทำความเข้าใจค่ะ เวลาสอบจริงท่านจะพลิกแพลงคำถาม แต่ส่วนตัวคิดว่าวิธีนี้จะช่วยประหยัดเวลาในการทำข้อสอบค่ะ”
“และอาจารย์ปริญญาท่านจะให้ทำรายงานด้วยค่ะ ซึ่งให้เวลาประมาณ 2 วัน เป็นคำถามปลายเปิด ในส่วนนี้สิ่งที่คิดว่าสำคัญคือการเขียนให้เป็นระบบ ไม่สลับวกวนไปมา มีเหตุผลสนับสนุนความคิดตัวเอง และที่สำคัญคืออย่าทำตอนใกล้ส่งเกินไป ควรให้เวลากับมันโดยหาข้อมูลและวางแผนการเขียนดี ๆ ค่ะ”
5.2 ฝากถึงน้อง ๆ ปีหนึ่งที่กำลังเรียนวิชานี้
สุธินี : “อยากบอกน้อง ๆ ทุกคนว่าสู้ ๆ ค่ะ บางคนอาจคิดว่าเนื้อหาวิชานี้เป็นเรื่องที่ยากหรือตัวเองไม่ชอบ แต่ความจริงแล้วรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่เราคิด อยากให้เปิดใจรับมัน ลองตั้งใจกับมันดู เข้าเรียน หรือบางคนอาจตามเทป ทบทวนคำบรรยาย อ่านหนังสือ ทำข้อสอบเก่า พี่เชื่อว่าต้องสอบผ่านแน่นอนค่ะ แบ่งเวลาดี ๆ อย่าหักโหมเกินไป การสอบผ่านเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ก็อยากให้มีความสุขในระหว่างทางด้วย สุขภาพกายและสุขภาพจิตของเราก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน และที่สำคัญคือต้องเชื่อมั่นว่าเราทำได้ สู้ ๆ นะคะ”
?????
ภาพ สุธินี
เรียบเรียง KK