นันทวัฒน์ ศักดิ์สกุลคุณากร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 4 ซึ่งมีประสบการณ์การทำกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งกิจกรรมในและนอกคณะนิติศาสตร์ กิจกรรมวิชาการและไม่วิชาการ และยังรักษาผลการเรียนให้อยู่ในระดับที่ดี เราจะพาคุณไปคุยกับนันทวัฒน์ ถึงประสบการณ์และมุมมองในการทำกิจกรรมนักศึกษา รวมถึงการแบ่งเวลาในการเรียน
คำถาม (1) : กิจกรรมที่เคยทำตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 มีอะไรบ้าง
นันทวัฒน์ : “จริง ๆ ทำเยอะมาก ผมจัดเป็นสองกลุ่มแล้วกัน กลุ่มแรกคือกิจกรรมภายในคณะ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ชุดแล้วกัน ชุดแรก งานชิ้นแรกที่ผมทำในชีวิตความเป็นนักศึกษาคือการเป็นพิธีกร ของศาลจำลอง วันรพีวิชาการปี 2560 ครับ เพราะว่าด้วยความที่ตอนมัธยมเราสนใจงานนี้ เราเป็นคนชอบพูด ชอบที่จะได้แสดง อยากให้ผู้คนฟังเสียงเรา (หัวเราะ) แล้วอีกสักพักก็จะมาทำงานฝ่ายโสตฯ ที่มาทำเครื่องเสียง ทำไมโครโฟน ถ่ายรูป วิดีโอ แล้วก็มาทำงานวิชาการ”
“ตอนแรกผมก็ทำพิธีกรของศาลจำลองอยู่ แต่ว่าพอเราทำงานไปสักพักนึง ก็ได้เวลามาทบทวนตัวเอง เรารู้สึกว่า การที่เราอยู่เป็น MC มันจะเป็นการจำกัดกรอบเราไปรึเปล่า แล้วผมก็เป็นคนที่ชอบถ่ายรูปด้วยอยู่แล้ว ก็เลยลองที่จะสลับตัวเองจากข้างหน้า เพราะว่าผมก็ไม่ค่อยได้ทำงานข้างหน้าเท่าไหร่นัก ก็เลยเลือกที่จะมาลองทำงานฝ่ายโสตฯ เริ่มจากเป็นช่างภาพ ในสมัยก่อนมันมีชมรมชื่อ DUCK@DOME ผมก็อยู่ตรงนั้นก่อน แล้วก็มาทำฝ่ายโสตฯ ครั้งแรกของค่ายพรีแคมป์ครั้งที่ 24 นี่เป็นงานโสตฯ ครั้งแรกที่ทำ ที่เป็นงานสเกลใหญ่นะครับ จนมาถึงจุดเปลี่ยนก็คืองานกลุ่มที่ 3 เป็นจุดเปลี่ยนเลยก็ว่าได้ ก็คืองานสายวิชาการ”
(มาทำกิจกรรมวิชาการได้อย่างไร?) “สองอันแรกคือความชอบส่วนตัว แต่ว่าถ้าพูดถึงเป้าหมายในชีวิตเนี่ย ผมชอบงานที่เป็นอาจารย์ ชอบการเป็นอาจารย์ เพราะฉะนั้นผมก็เลยอยากจะลองหาโอกาสที่ได้สัมผัสงานวิชาการ งานเกี่ยวกับที่อาจารย์เขาทำกันอะไรอย่างนี้ ให้เรารู้จัก ให้เราได้อยู่กับมัน ได้คลุกคลีกับมัน แต่ว่าตอนนั้นก็ไม่รู้จะเริ่มยังไง จนมีเพื่อนมาชวนไปสมัครคณะกรรมการนักศึกษาก็เลยเอาฝ่ายวิชาการ เพราะว่าทั้งทุกคนที่อยู่ในพรรคเดียวกันกับผมแล้วก็ตัวผมเองก็เห็นว่าอันนี้แหละ ได้สุดแล้ว ทุกคนก็ยกให้ เราก็รับมา เลยเป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการคณะกรรมการนักศึกษาปีการศึกษา 2560 ทีนี้พอพ้นภาระไปผมก็มีงานวิชาการเข้ามาอีกงานหนึ่ง ก็คือพวกผมกับเพื่อนอีกคนนึงมีเพื่อนสนิทอีกคนนึงเนี่ย ร่วมกันทำกลุ่มกิจกรรมนึงขึ้นมาชื่อว่า กลุ่มนิติวิชาการ”
คำถาม (2) : อยากให้เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับกลุ่มนิติวิชาการว่ามีความเป็นมาอย่างไรและกลุ่มทำอะไรบ้าง
นันทวัฒน์ : “กลุ่มนี้เราตั้งขึ้นด้วยจุดประสงค์ว่าเราอยากให้มีการจัดกิจกรรมในทางวิชาการให้กับนักศึกษาที่นี่ เพราะว่าส่วนมากกิจกรรมวิชาการ โดยเฉพาะอย่างเสวนาต่าง ๆ จะไปกองอยู่ที่ท่าพระจันทร์ซะส่วนใหญ่ เราอยากจะให้ที่รังสิต นักศึกษาที่อย่างน้อยเขามีความสนใจในงานวิชาการ เขาได้มาร่วม มาเป็นส่วนหนึ่งหรือมาลองแลกเปลี่ยน ได้มีพื้นที่ในการถก ในการแลกเปลี่ยน ในการสร้างสรรค์งานกิจกรรมวิชาการของเขา”
“เป้าหลักก็คือนักศึกษาอยู่นี่ เราก็โฟกัสที่นี่ แล้วเราก็รู้สึกว่าที่นี่เราไม่ค่อยได้มีพื้นที่ของ academic freedom เราไม่ได้มีพื้นที่ในทางเสรีภาพวิชาการเท่าไหร่ มันจะจับกลุ่มอยู่กับคนไม่กี่คน อยู่กับเด็กเรียน ๆ เด็กทีมชาติ เด็กหน้าห้อง เราก็อยากเห็นภาพว่าถ้าเราเอาไอ้ที่พวกเรานั่งคุยกันเนี่ย ซึ่งในความเป็นจริงสิ่งที่พวกผมคุยกันเนี่ยไม่ได้เป็นที่เด็กเรียนคุยกันรู้เรื่อง แต่เชื่อเถอะครับว่านักศึกษาคนอื่นเขาก็สนใจเหมือนกัน เพียงแค่เขาไม่มีที่ได้พูด”
“ผมก็เลยจัดร่วมกับเพื่อนตั้งกลุ่มกิจกรรมนี้ขึ้นมาชื่อกลุ่มนิติวิชาการ ก็รับงานแรกสุดก็คือช่วยคณะในการจัดผู้ช่วยสอนหรือ TA วิชาน.160 ซึ่งเกิดขึ้นใหม่ในหลักสูตร 61 เมื่อปีที่แล้ว วิชาน.160 เป็นวิชาที่มันถูกปรับหลักสูตรขึ้นมาใหม่ เป็นวิชาเขียนตอบ ก็ต้องมี TA มาช่วยอาจารย์ผู้บรรยายในการเขียนตอบข้อสอบให้กับน้องปีหนึ่งที่เข้ามาใหม่ พวกผมก็รับเป็นทีมงานในการช่วยค้นหาดูแล TA กลุ่มนี้ครับ จน TA ชุดนั้นก็เป็น Staff กลุ่มแรกของเรา แล้วพอเขาเป็นกลุ่มแรกของเราปุ๊บ แล้วพอเขาจบเทอมที่ 1 เขาก็แยกย้ายกันไปตามเส้นทางของเขาพอเทอมสองเราก็รับคนข้างนอกที่มีความสนใจจริง ๆ เข้ามาทำงานกับเรา”
“เทอมสองก็จะเริ่มมีงานที่เป็นงานกระแสหลักของกลุ่มเราแล้ว ก็คือการจัดเสวนาวิชาการ แล้วก็จะมีเสวนาอีกประเภทหนึ่ง เป็นเสวนาที่ไม่ได้เป็นเชิงวิชาการ เป็นเสวนาเกี่ยวกับว่าประสบการณ์ชีวิต คุยเรื่อง work and travel คุยเรื่องเกี่ยวกับฝึกงานยังไง คุยเรื่องเกี่ยวกับว่ารุ่นพี่มาพูดให้น้องฟัง โดยงานนี้เราจะมี franchise ชื่อว่า ‘นั่ง talk นอกประมวล’ เป็นงานเสวนาที่เป็น non-academic ทั้งหมดนี้อยู่ในกลุ่มกิจกรรมชื่อกลุ่มนิติวิชาการ”
“คือกลุ่มนิติวิชาการรับผิดชอบงานเสวนาวิชาการที่จัดโดยนักศึกษา ซึ่งงานเสวนาวิชาการก็อาจจะไม่ได้จำเป็นต้องเชิญอาจารย์มาอย่างเดียวนะครับ เราจะมีงานที่แบบว่าเอานักศึกษามาพูด เหมือนกับเป็นการตั้งคำถาม เหมือน game show อะครับ ให้เขามานำเสวนา แล้วก็ให้ท่านอาจารย์อีกท่านมาเป็น commentator ว่าตรงนี้มีประเด็นเพิ่มเติมอย่างนี้ รวมถึงเป็นงานเสวนาที่อาจจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมาก็มี แต่ว่าเราก็จะพยายาม balance ให้มันเท่ากัน”
“มันจะมีเหมือนกับเป็นงานสองกลุ่มอะครับ ถ้าเกิดคนอยากจัดเสวนา ผมรับหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายกิจกรรมคนแรกของกลุ่ม ผมก็จะให้อิสระกับน้องเลยว่าเราอยากทำแบบไหน ถ้าเราอยากทำงานวิชาการจ๋า ก็จะจัดเป็นเสธ.วิชาการ พวกนี้คือ ‘เสธ.วิฯ’ ๆ แต่ถ้าคุณอยากจะจัดงานที่ไม่เป็นเชิงวิชาการ ได้ ก็จัดในนาม ‘นั่ง talk นอกประมวล’ EP (episode) เท่าไหร่”
คำถาม (3) : กิจกรรมนอกคณะที่ทำมีอะไรบ้าง
นันทวัฒน์ : “กิจกรรมนอกคณะก็ยังจะมีความเป็นวิชาการอยู่ ผมทำค่ายอยู่ค่ายหนึ่งชื่อว่าค่าย ‘สู้สอบตรง’ สู้สอบตรงจัดโดยกลุ่มอิสระเพื่อวิชาการ ก็เป็นงานวิชาการ แต่งานนี้จะไม่ใช่งานแบบคิดกิจกรรมแล้ว แต่เป็นงานสอน เป็นงานที่ได้สอน ผมก็ไปทำค่ายนี้ เริ่มตั้งแต่ประมาณสักหลังเสร็จศาลจำลองเดือนมกราคม 2560 ก็ทำสู้สอบตรงต่อเลย สู้สอบตรงจะเป็นค่ายติวฟรีสำหรับนักเรียนมัธยมที่เขามีความสนใจจะเข้าต่อคณะนิติศาสตร์ หรือคณะรัฐศาสตร์แต่ว่าเขาเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เราเลยจัดค่ายฟรีให้กับเขา”
“เราจัดให้ เป็นค่าย 3 วัน 2 คืนที่ธรรมศาสตร์ ตอนนี้มีมาแล้ว 4 ครั้ง แต่ที่ผมทำมาผมทำค่ายใหญ่ ก็คือที่ชื่อว่าสู้สอบตรงเนี่ยครับ 2 ครั้ง คือครั้งที่ 2 ปี 60 แล้วก็ปีที่แล้วครั้งที่ 3 เด็กทั้งค่ายจะ 100 คน แบ่งเป็นนิติศาสตร์ 50 รัฐศาสตร์ 50 แต่บางปีอาจจะมีค่ายที่ 3 อย่างเช่นค่ายสอง อะครับที่ผมทำ จะมีสังคมสงเคราะห์อีก 50 ตอนนี้เหลือแค่สองละ เหลือนิติฯ รัฐศาสตร์ แล้วก็จะมีอีกชื่อนึงก็คือสู้สอบตรงเหมือนกัน แต่เติมคำว่า on tour ต่อท้ายเข้าไป ‘สู้สอบตรง on tour’ สู้สอบตรงจัดที่ธรรมศาสตร์ครับ แต่สู้สอบตรง on tour เราจะไปตามจังหวัด ไปข้างนอก”
“สู้สอบตรงเนี่ยผมทำผมไม่ได้ค่าตอบแทน แต่สำหรับเงินทุน ทางกลุ่มเขามีเงินทุนของเขาอยู่แล้ว เขามีเงินทุนที่เขาเอาไว้ใช้ โอเค มีบ้างแหละที่เราต้องออก แต่เราก็ต้องดูความเหมาะสมว่าอันไหนมันควรออกเยอะ อันไหนมันควรออกน้อย”
(มีสปอนเซอร์ไหม?) “มีครับ แต่ว่าส่วนมากด้วยความที่สมัยก่อนเราเป็นกลุ่มอิสระ เขาจะไม่ค่อยให้เป็นตัวเงินเขาจะให้เป็นสิ่งของ ให้เป็นหนังสือ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ เสื้อ หรืออะไรอย่างนี้มาซะมากกว่าที่จะเป็นเงินอย่างนี้ครับ แล้วก็มีไปเปิดกล่อง ไปเปิดกล่องตามวัด ตามรถไฟฟ้าอะไรอย่างนี้ครับ บางทีก็มีสถานที่ต่าง ๆ แล้วก็เพราะว่าเราเป็นค่ายฟรีเนอะ เราก็ต้องทำงานหนักกว่า เราต้องหาเงินเยอะ แต่ว่ามันก็เป็นอะไรที่เราสนุกก็สนุกดี ได้ไปทำ”
(หาเพื่อนอุดมการณ์อย่างไร?) “ก็ต้องบอกว่า คือต้องบอกว่าผมเข้ามาทีหลัง มันมีคนทำมาก่อนอยู่แล้วในค่ายหนึ่ง อู๋เข้ามาตอนสู้สอบตรง on tour ครั้งแรก ประมาณต้นปี 60 มาทีหลังเขา ซึ่งเขามีคนทำอยู่แล้ว ทีนี้คำถามคือจะหาได้ยังไง ผมเชื่อว่าคนที่เข้ามาทำสู้สอบตรง เขาไม่ได้เข้ามาด้วยเพราะว่าเขาหวังค่าตอบแทน เขาหวังใจที่อยากจะทำงานลักษณะอย่างนี้ เขาชอบงานสอน เขาชอบที่จะถ่ายทอดความรู้”
“เพราะฉะนั้นเรื่องเงินมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องหลัก เป็นเรื่องที่อาจจะเผลอ ๆ เข้ามานี่ไม่ได้คิดถึงมันด้วยซ้ำ เขานึกถึง skill ซะมากกว่า ทีนี้พูดถึง on tour เนี่ย ผมก็ได้รับบทเป็นประธานค่ายอยู่ 2 ครั้ง ก็คือสู้สอบตรงเมื่อปีที่แล้ว on tour ครั้งที่ 4 ครั้งที่ 4 ผมไปที่สุรินทร์ ไปอำเภอปราสาท โรงเรียนปราสาทวิทยาคาร”
“จับหลายอย่าง เพราะว่าเมื่อก่อนคนมันน้อยอะครับ ทีนี้พอคนเยอะเราแบ่งซอยเนื้อหาได้ พอมาครั้งหลัง ๆ ผมก็เริ่มไปสอนแบบเอกเทศสัญญาบ้าง ไปสอนครอบครัวมรดกบ้าง ไปสอนกฎหมายอาญาภาคทั่วไปพาร์ทเดียว สอนภาคความผิดบ้าง ก็แล้วแต่เรา manage คนอย่างนี้ครับ ว่าโอเคนนี้สอนอะไร ถ้าเกิดอะไรที่มันขาด ถ้าเราสามารถพอลงไป support ได้ เราก็ลงไปช่วยเขา”
“สู้สอบตรงก็จะมีสามค่าย ตอนนี้ที่ผมทำ อีกตัวนึงที่เป็นตัวหลักตอนนี้คือค่ายธรรมศาสตร์ – อุดรธานี เพราะว่าที่อุดรเนี่ย ผมภูมิลำเนาเป็นคนอุดรธานี ก็จะเกิดปัญหาอย่างนึงว่า ตอนที่ผมอยู่ครับ ผมไม่ได้ข้อมูลเรื่องธรรมศาสตร์เลย ผมไม่มีข้อมูลว่าผมจะเข้านิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ทำยังไง อันนี้แบบ basic ที่สุดนะครับ ผมเชื่อว่าคณะอื่นก็อาจจะเป็น เพราะว่าถ้าเกิดคุณจะรู้ได้ คุณต้องมางาน open house เอย หรือว่ามางานของคณะเอย ซึ่งมันลำบาก ในการเดินทาง 564 กิโลฯ จากอุดรธานีมาในกรุงเทพฯ มันไม่ใช่เรื่องตลก มันค่อนข้างหนักอะครับในการเดินทางมา มันต้องใช้เงินใช้กำลัง กำลังตัวเราด้วยที่เราจะต้องมาอย่างนี้อะครับ เพราฉะนั้นผลก็คือว่า เราก็อยากจะเอาคนที่อยู่ธรรมศาสตร์เนี่ยแล้วเขาอยากจะทำค่ายหรือสนใจอย่างนี้อะครับ เราเอารุ่นพี่พวกนี้ไปที่อุดรฯ”
(สรุปแล้วกิจกรรมในคณะเด่นเรื่องอะไร นอกคณะเด่นเรื่องอะไร?) “ในคณะจะเด่นเรื่องวิชาการ อันนี้แน่ ๆ เลยเป็น trademark ของตัวผมเอง ให้เป็น trademark ตัวเอง นอกคณะจะมีอยู่สองกลุ่ม กลุ่มวิชาการไปเลย กับกลุ่มทำค่าย เด่นทั้งคู่ (หัวเราะ) ขอใช้คำนี้แล้วกัน เพราะว่ามันเด่นกันคนละมุมมองกัน ในงานวิชาการมันก็มาเสริมของในคณะ ส่วนงานกลุ่มประธาน กลุ่มประธานค่าย head กิจฯ เนี่ย ที่ผมใช้คำว่าเป็นงานบริหารเนี่ยก็ได้อีก skill นึงมา ได้การ communicate กับคน ได้มีการ share มีการเรียนร่วมกันอย่างนี้ครับ ผมเลยมองว่ามันเด่นเหมือนกันแต่เด่นคนละแบบ”
คำถาม (4) : เวลาการทำกิจกรรมมีแล้วมีปัญหากับเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน แก้ปัญหาอย่างไร
นันทวัฒน์ : “เรื่อง conflict ของการทำงาน เราต้องยอมรับก่อนในเบื้องต้นว่ามันเป็นเรื่องปกติ ทุกที่มันต้องมีอยู่แล้ว แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ผมไม่อยาก ผมจะพยายามไม่ค่อยอยากจะเล่นพรรคเล่นพวกสักเท่าไหร่ วิธีการที่ผมใช้เลย ที่ใช้บ่อยที่สุดก็คือการคุย ไม่ว่าจะยังไงก็ตามในเนื้องานนะครับ ในเนื้องานไม่ว่าเขาจะเป็นใคร เราอาจจะไม่ชอบเขามาข้างนอกในโลกส่วนตัว แต่ว่าพอมาทำงานเราก็ต้องคุย ต้องสื่อสาร เพราะถ้าเกิดการไม่สื่อสารกันของคนที่ทำงาน มันเป็นอะไรที่ผมว่ามันเป็นแบบคล้าย ๆ toxic มันเป็นสิ่งที่แบบค่อนข้างจะกระทบต่อทุกอย่าง ต่อ mood ในที่ทำงาน ต่อการทำงาน มันเป็นอุปสรรคต่อเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ เพราะว่าเขาก็จะเกิดการแบบไม่กล้าทำ เดี๋ยวก็ไปอันนี้ เราก็จะคุยก่อน มีอะไรพูดคุยกัน อาจจะยอมรับว่ามันก็มี conflict มีขึ้นมาบ้าง แต่เราก็ให้เข้าใจว่ามันคือเนื้องาน ก็จะพูดคุยกัน ค่อย ๆ หาทางออก เว้นแต่ว่าถ้าไม่ได้จริง ๆ หรือมันสุดแล้วจริง ๆ อันนั้นค่อยว่ากัน แต่โดยหลัก สิ่งที่ผมทำโดยหลักก็คือคุย เข้าไปคุยก่อน ว่าทำไมมันเป็นแบบนี้ ทำเอกสารมันยังไม่เสร็จ ทำไมมันเป็นอย่างนี้ ถ้าเขามีเหตุผลที่เขาฟังขึ้น อย่างเช่น เออแบบ มันติดอย่างนี้จริง ๆ ครับพี่ เราก็โอเค ไม่เป็นไร ครั้งหน้าก็พยายามอย่าอย่างนี้นะ วางแผนดี ๆ นะ ก็จะเป็นการบอกแนะนำน้องเขาไปด้วยว่า โอเค ทำอย่างนี้ ๆ นะ ถ้าเกิดครั้งหน้าพยายามวางแผนให้ดีกว่านี้ไปนิดนึง เพราะว่าเดี๋ยวมันกระทบต่อภาครวมคนอื่นเขา ซึ่งก็เป็นความโชคดีในกลุ่มผมที่แบบว่าน้อง ๆ เขาก็โอเค เขาฟังแล้วเขาไม่ได้แบบว่าจะไม่เอา จะทำแบบนี้จนเกิดไป เรามีเหตุมีผลเราก็เคารพกัน อย่างนี้ครับ ประมาณนี้”
คำถาม (5) : ทำกิจกรรมค่อนข้างเยอะ แบ่งเวลากับการเรียนอย่างไร และคิดว่าถ้าเราไม่ทำกิจกรรมเยอะขนาดนี้ คะแนนจะดีกว่านี้ไหม
นันทวัฒน์ : “อย่างที่บอกไปนะครับ อย่างนึงที่เรารู้กันว่าการเรียนในระดับปริญญาตรีเนี่ย การเรียนต้องมาก่อน เราไม่ใช่ว่าเราทำกิจกรรมจนสรณะของชีวิต เราต้องเอาเรื่องเรียนมาก่อน วิธีการของผมก็คือส่วนใหญ่ ถ้าสามารถเข้าเรียนได้จะเข้าเรียน ทีนี้ปัญหามันเกิดอย่างนี้ครับว่าบางทีสมมติเข้าเรียนไม่ทัน โดยเฉพาะคาบเช้า (หัวเราะ) เป็นปัญหาหลักของชีวิตตอนนี้ ซึ่งตอนนี้ผมก็พยายามแก้อยู่เหมือนกัน คาบเช้าไม่ทัน อะ ทำยังไง ผมก็อาจจะไปให้เพื่อนช่วยรบกวนอัดเสียงให้หน่อย แล้วก็มานั่งทบทวนฟังแล้วก็อ่านหนังสือ ถ้าผมรู้ว่าวิชานี้ผมไม่ค่อยเข้า ผมก็ต้องอ่านหนังสือทดแทนกันไป”
“ส่วนตัว เอาแบบจริงใจเลย ผมเชื่อว่าถ้าไม่ทำกิจกรรมคะแนนจะเยอะขึ้น แต่มันก็จะรู้สึกว่า มันก็คือการเลือกอะครับ เราต้องเลือกว่า ถ้าเราทำกิจกรรมแบบนี้มันก็มีโอกาสที่อาจจะ โอเค ผมไม่ได้พูดว่าทุกคนจะได้คะแนนน้อยนะ เพราะมันมีคนที่ทำกิจกรรมเยอะ คะแนนก็เยอะ การที่เราได้ทำกิจกรรมเยอะเนี่ย เราก็ต้องรับแรงกระแทกไปว่าโอกาสที่มันจะได้คะแนนไม่เท่ากับคนอื่นมันก็มี แต่เราก็แค่เราพยายาม focus ในสิ่งที่ไม่ใช่คะแนน เรา focus ความรู้ที่เราได้ เรา focus การต่อยอด ผมจะ focus ตรงนี้มากกว่า ก็จะพยายามเสริมสร้างตรงนี้ เราพยายามเสริมสร้างในทางของความรู้ความเข้าใจมากกว่า แต่โอเคถามว่าคะแนน concern มั้ย ก็ concern อยู่ แต่ไม่ได้เป็นว่า ฉันต้องตายให้ได้เลยไม่ได้คะแนนเท่านี้ เพราะว่าทางมันก็คือเราทำไปแล้วอะครับ เราคงจะไม่ไปเสียเวลาที่ต้องไปโทษตัวเอง”
(มีวิชาไหนที่สอบไม่ผ่านไหม?) “มีครับ นั่นก็คือวิชาจัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ ละเมิด ตอนปี 2 เทอม 1”
(คิดว่าที่สอบไม่ผ่านเกี่ยวกับการทำกิจกรรมไหม?) “ตอนนั้นจริง ๆ ยอมรับว่ากิจกรรมยังไม่เยอะครับ เพราะว่าเป็นช่วงเริ่มขึ้นมาทำกน. (กรรมการนักศึกษา) อะครับ งานจะยังไม่เยอะ จริง ๆ ถามว่าการที่ผมสอบไม่ผ่านเนี่ยมันเป็นเพราะกิจกรรมมั้ย จริง ๆ ไม่เชิงครับ มันเป็นปัญหาที่ตัวเราด้วย ว่าเราอาจจะเตรียมตัวไม่ดี เพราะว่าหลังจากนั้นอะครับ หลังจากที่ตกตัวแรกไป กิจกรรมผมเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว มันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อะครับ โดยเฉพาะปี 3 ที่ผ่านมา เพิ่มแบบเยอะมากอะครับ ไม่มีสอบตก แต่ว่าคะแนนก็ประคองอยู่ที่ประมาณแบบ 80 81 อะไรอย่างนี้ครับ อยู่ในระดับแบบ 78 79 80 81 จะอยู่ที่ประมาณนั้น”
“จริง ๆ ละเมิดเนี่ยสอบตัวแรกด้วย แล้วแบบว่าเราก็ใหม่ ๆ ถือว่ายังใหม่อยู่ แต่ว่าพอหลังจากนั้นก็เริ่มปรับตัวได้ เทอมสองก็ รู้สึกว่ากิจกรรมเยอะมาก คะแนนดีที่สุดในบรรดาเทอมที่ผ่านมาเลย คือปี 2 เทอม 2 ผมก็แปลกใจ แต่ผมก็ เอ้อ มันก็เลยบอกว่าบางทีกิจกรรมไม่ได้เป็นตัวฉุดคะแนนเราขนาดนั้น มันอยู่ที่เรามากกว่า”
“มันขึ้นกับตัวเรา ถ้าเราตั้งใจในวิชานั้น ถ้าเราใส่ใจกับมัน มันสามารถเยอะได้ ถ้าเราใส่ใจกับมันไม่เต็มที่ ถ้าเราทำมันไม่เต็มที่ มันก็จะตามความตั้งใจของเรา เพราะฉะนั้นกิจกรรมมันไม่ได้เป็นตัวบอกเราอะครับว่าเราจะตกหรือจะผ่าน แต่มันกลับบอกเราให้รู้ว่าเราอะจะต้องทำยังไงก็ได้ที่จะต้องจัดการทุกอย่างให้ได้ อย่างนี้ครับ”
คำถาม (6) : รู้สึกอย่างไรกับกิจกรรมวิชาการและกิจกรรมที่ไม่ใช่วิชาการ
นันทวัฒน์ : “ก็คงจะเป็นเพราะว่าด้วยความที่ผมทำงานมาทั้งสองอย่าง เราจะเห็นความแตกต่างของมัน กิจกรรมวิชาการเนี่ยมันจะเกี่ยวกับความรู้แน่นอน เพราะฉะนั้นเมื่อกี้กับความรู้มันก็จะมีคนที่มีความรู้มาอยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้นกิจกรรมวิชาการมันจึงเป็นกิจกรรมที่นอกจากได้ความรู้แน่ ๆ เราได้อยู่แล้ว เรานั่งเถียงกับเพื่อนเราได้อยู่แล้ว แต่ว่าการทำกิจกรรมวิชาการเนี่ยมันจะมีอีกอย่างนึงที่แฝงอยู่คือเรื่องของการเคารพกัน เพราะในเมื่อทุกคนมีความสามารถทุกคนมีความรู้ในระดับเท่ากัน เราต้องเคารพ มันคือการฝึกการ respect ในความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โอเค อาจจะมีบ้างที่เราอาจจะไม่พอใจ มีการ argument บ้าง มีการถกเถียง มีการอะไรบ้าง แต่สุดท้ายจุดนึงในการทำงานวิชาการคือต้องหาทางลงให้ได้ เพื่อจะให้งานมันไปต่อ ส่วนกิจกรรมที่ไม่ใช่วิชาการเนี่ย ถ้าพูดถึงสายค่ายต่าง ๆ อย่างเช่น สายบริหาร สันทนาการอะไรอย่างนี้ครับ หรือว่างานโสตฯ ที่ผมทำ”
“มันให้ skill อีกแบบนึง เมื่อกี๊เราให้ skill ในการเคารพกัน ทีนี้อีกฟากนึงคือ skill ในการติดต่อสื่อสาร ในการพูด มันก็ยังอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลกันอยู่ คือจริง ๆ ตัวกิจกรรมที่ไม่วิชาการเนี่ยมันคือเรื่องของการสื่อสาร มันคือเรื่องของการวางแผน การวางแผนสำคัญมาก วางแผนให้ชัดเจน ให้ครอบคลุมว่าในการทำกิจกรรมของเราเนี่ยมันจะต้องมีอะไรบ้าง นึกภาพในหัวว่าคุณทำค่ายซักค่ายนึง คุณต้องนึกแล้วว่าในตลอด 3 วันจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง คุณอยากให้มีอะไร แต่ละอันมันมีขึ้นไปเพื่ออะไร มันเป็นการวางแผน แล้วก็การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในกิจกรรมที่ไม่เป็นวิชาการเนี่ยสำคัญมาก เพราะว่าในการไปออกค่ายก็ดีเนี่ย มันมีปัญหาแน่นอน แล้วปัญหาเราไม่สามารถมานั่งถกพร้อมกันของบอร์ดทั้งสิบคนแล้วมาคุยกันไม่ได้ มันต้องอาศัยความฉับไวรวดเร็วในการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้ปัญหานี้มันลุกลามบานปลายไปสู่งานที่มันใหญ่กว่า”
“ถ้าเป็นกิจกรรมวิชาการเนี่ยจะเป็นเรื่องของการ respect การเคารพ แล้วก็การ express การแสดงออกของเรา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสองเกมนี้มีส่วนเสริมกันอยู่ เราสามารถเอา skill สลับไปใช้ได้ ผมทำกิจฯ วิชาการ ผมก็เอา skill ในกิจกรรมที่ไม่เชิงวิชาการมาปรับใช้ได้ ผมเอา skill ในความเป็นวิชาการมาใช้ในกิจกรรมที่ไม่เป็นวิชาการก็ได้”
“คือแล้วแต่ความชอบ คนไหนอยากทำสันทนาการ คุณก็ทำไป คุณไหนชอบศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา คุณก็ทำไป คนไหนชอบวิชาการคุณก็ทำไป ไม่ได้มีอะไรตายตัวครับ มันขึ้นกับความชอบของเรา มันใช้ด้วยกันและกันได้ มันเอามาพัฒนาตัวเองได้ซึ่งกันและกันทั้งสิ้น”
คำถามสุดท้าย : อยากฝากอะไรถึงเพื่อน ๆ หรือรุ่นน้องเกี่ยวกับการทำกิจกรรม
นันทวัฒน์ : “ตอนเด็ก ๆ เนี่ยผมก็อยากที่จะเป็นคนแบบนั้น คนที่แบบเรียนอย่างเดียว ตั้งใจเรียน อ่านหนังสือแบบเล่มใหญ่ ๆ จบสักสองรอบ ตอนเด็ก ๆ คิดอย่างนั้นจริง ๆ นะครับ ตอนแบบม.6 ตอนที่ติดมา แบบว่าจะไม่ทำแล้วกิจกรรม เพราะว่าม.ปลายก็มีทำมาบ้าง แต่ทีนี้พอเราเข้ามา เรากลับมาตั้งคำถามกับตัวเองใหม่ว่าเราจะอยู่อย่างนั้นจริง ๆ เหรอ เราจะอยู่แบบเป็นคนที่เรียนอย่างเดียวจริง ๆ เหรอ แต่อันนี้ไม่ได้โทษคนที่เรียนอย่างเดียวผิดนะครับ มันเป็นสิทธิที่เราจะเลือก มันเป็นเสรีภาพที่เราจะเลือกได้ว่าเราอยากจะทำแบบไหน เราอยากเรียนเราก็ทำแบบนั้น ถ้าเราอยากที่จะทำกิจกรรมด้วย เราก็ทำแบบนั้น”
“การทำกิจกรรมมันไม่ใช่สิ่งที่จะฉุดเราลง แต่มันมีข้อดีข้อมันอยู่ หนึ่งเลยก็คือเรามี connection เรารู้จักเพื่อนมากกว่ากลุ่มที่นั่งอ่านหนังสือด้วยกัน เรามีเพื่อนหลายกลุ่ม เรารู้จักคนที่ทำงานด้วยกัน รู้ว่าคนไหนมีจุดเด่นอะไรยังไง เวลาที่เราสักวันนึงเราต้องร่วมงานกับเขา เราก็สามารถรู้ว่าเขาเป็นยังไง และรู้เราด้วย รู้ว่าเราอะเป็นคนยังไง เรายังมีอะไรให้ต้องปรับแก้ เพราะการอยู่กับคนอื่นมันคือการที่ให้คนอื่นสะท้อนเรา เหมือนเราเห็นตัวเองในกระจกเงา เราจะสามารถปรับได้ว่าเราจะต้องแก้ตรงไหน ข้อสอง นอกจากเรื่องของการมี connection ก็คือเรื่องของ soft skill โดยเฉพาะ skill พวกการพูดคุย การ communicate พวกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งอันนี้เป็น skill ที่แบบผมเชื่อว่าในตำราเรียนยังไงก็ไม่มี แต่มันต้องไปเจอจริง ๆ พอเราไปเจอจริง ๆ เราก็จะมี skill พวกนี้ขึ้นมา ครั้งแรกที่เราเจออาจจะแบบเครียด กดดัน หรือแบบโอโห ทำยังไงดี แต่พอเราอยู่กับมันไปบ่อย ๆ เราก็จะชิน แล้วเราก็จะรู้ว่าทางออกมันอยู่ตรงไหน เราจะรู้แก่นของปัญหา แล้วเราก็จะแก้มันถูก”
“แล้วก็อีกข้อนึง การทำกิจกรรมคือมันทำให้เรารู้จักตัวเอง รู้ว่าเราชอบอะไร จริง ๆ ก็ต้องขอบคุณหลาย ๆ คนที่ผ่านเข้ามา ทั้งแบบเพื่อน ๆ ในกน. ที่ดันให้มาเป็นตอนนั้น เพื่อน ๆ ที่ร่วมทำนิติวิชาการ รุ่นพี่ที่ดันผมเข้ามาในกลุ่มในสู้สอบตรง เพื่อน ๆ ที่คอยสนับสนุน น้อง ๆ ทุกคนที่ร่วมงานกับผม ทุกคนมีส่วน มีส่วนทำให้ผมรู้ว่าเราเป็นใคร มีส่วนทำให้ผมรู้ว่าความชอบของผมอยู่ตรงไหน ผมก็ต้องขอบคุณทุกคน”
“แล้วอีกอย่างนึงคือตัวผมเองด้วยที่พาตัวเองไปอยู่ในจุดที่ทำให้เรารู้ว่าเราอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นถ้าจะฝากถึงทุกคนก็คือชีวิตในมหาลัยอะครับ ถ้าเปรียบเทียบก็คือเหมือนกับเป็นรอยตะเข็บของผ้า จากผ้าที่เป็นมัธยม เป็นนักเรียน เป็นคนที่ยังไม่ได้มีความพร้อมในทางคุณวุฒิหรือวัยวุฒิก็ดี เราอาจจะข้ามไปสู่วัยผู้ใหญ่ที่อยู่ในโลกจริง ๆ ต้องทำงาน ต้อง earn ตัวเอง เลี้ยงตัวเอง ช่วงมหาลัยเป็นเหมือนรอยตะเข็บระหว่างชีวิตสองวัยนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีโอกาสที่เราจะทำอะไร ถ้าเรามีความชอบแบบไหน ให้เราทำสิ่งที่เราอยากทำไปให้เต็มที่เลย การที่เราทำเนี่ยมันไม่ใช่เพียงเพราะว่าเราจะเอาความสนุกเพียงอย่างเดียว มันแฝงหลาย ๆ อย่าง ทั้งการสร้างความพร้อมให้ตัวเราเอง ในการที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น ในการที่จะทำงานร่วมกับคนอื่นก็ดี รวมไปถึงเราได้เล่น ได้ใช้ชีวิตตามวัยของเรา ไม่ใช่ว่า 20 เราต้องกระโดด ทุกคน 20 ต้องทำงานเครียดแล้ว ในเมื่อเราอยู่ในรั้วมหาลัย เรายังมีความเป็นนักศึกษา เราสามารถใช้ตรงนี้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้ ใช้ตรงนี้เก็บเกี่ยวสิ่งต่าง ๆ ที่มันจะเป็นผลดีต่อการใช้ชีวิตของเราในอนาคตได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นและสุดท้ายยังไงก็ดีก็แล้วแต่คน แล้วแต่ใจของแต่ละคนที่จะเลือก คุณเลือกเป็นไหนก็คือ ‘คุณ – ism’ ก็คือเป็นตัวของคุณอง อย่างผมผมก็คือ ‘อู๋ – ism’ ก็คือตัวอู๋เอง คุณจะเป็นใครคุณก็เลือกแบบนั้น เมื่อคุณเลือกได้ คุณสามารถใส่ ‘- ism’ หลังนามคุณ เพื่อบอกว่านี่แหละคือตัวฉันได้ เพราะฉะนั้นการค้นหาตัวเองก็เป็นอะไรที่สำคัญด้วยเหมือนกันในการค้นหาตัวเอง”
ถ่ายภาพ Pump
แต่งภาพ Yesman
เรียบเรียง KK