สรุปสาระสำคัญจากการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ซีวิลลอว์ vs คอมมอนลอว์: การแบ่งแยกที่ไม่จำเป็น?” ซึ่งจัดโดยศูนย์นิติศึกษาทางสังคม ประวัติศาสตร์ และปรัชญา ในวันอังคาร ที่ 25 มิถุนายน 2562 เวลา 09.30-12.30 น. ณ ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
วิทยากร
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน
- รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ
ผู้ดำเนินรายการ
- อาจารย์คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายอานนท์ แก้วปัญญา นักศึกษาระดับปริญญาโท ชั้นปีที่ 2 สาขากฎหมายธุรกิจ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง และศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ (ผู้เรียบเรียง)
ตามที่ได้มีการเปิดตัวตำรา “ระบบกฎหมายซีวิลลอว์: จากกฎหมายสิบสองโต๊ะสู่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ของ ผศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน เมื่อวันอังคารที่ 25 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมานั้น ในวันดังกล่าวยังได้มีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ซีวิลลอว์ vs คอมมอนลอว์: การแบ่งแยกที่ไม่จำเป็น?” โดย ผศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน และมี รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ เป็นผู้วิพากษ์ (Commentator) ซึ่งสาระสำคัญจากการบรรยายพิเศษมีดังนี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน
ผศ.ดร.มุนินทร์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นคำถามว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแบ่งแยกระบบกฎหมายคอมมอนลอว์และซีวิลลอว์เช่นว่านี้หรือไม่ และในปัจจุบันนี้ระบบกฎหมายยังถูกแบ่งแยกโดยความเป็นคอมมอนลอว์หรือซีวิลลอว์อีกหรือไม่ ผศ.ดร.มุนินทร์กล่าวว่า มีการให้ความสำคัญกับการแบ่งแยกซีวิลลอว์กับคอมมอนลอว์เกินความจำเป็นและความเป็นจริง ซึ่งแท้จริงแล้วอาจไม่ได้สำคัญขนาดนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในการศึกษากฎหมายเปรียบเทียบในการเลือกกฎหมายของรัฐใดรัฐหนึ่ง คือจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมถึงเลือกระบบกฎหมายนั้น เหตุในการเลือกจึงน่าจะมีความสำคัญมากกว่า ตัวอย่างเช่น การเลือกกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งในการทำวิทยานิพนธ์เพื่อแก้ไขปัญหาจะมีประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาในประเทศไทยอย่างไร เช่น การเลือกกฎหมายสิงคโปร์และอังกฤษก็เพราะเป็นสองระบบกฎหมายที่ประสบความสำเร็จที่สุดหรือประสบความล้มเหลวที่สุดแต่ทั้งสองระบบได้ถือว่าเป็นคอมมอนลอว์ทั้งคู่ เป็นต้น แต่ทว่าบางคนมีมุมมองที่จะต้องเอากฎหมายของระบบซีวิลลอว์มาอย่างน้อย 1 ระบบจึงนำไปสู่คำถามต่อมาว่า การที่เอากฎหมายซีวิลลอว์มานั้นมีประโยชน์อย่างไร เพราะว่าความเป็นซีวิลลอว์และความเป็นคอมมอนลอว์นั้นไม่ได้มีประโยชน์ในตัวมันเอง มันอาจจะมีประโยชน์ในแง่ประวัติศาสตร์ ถ้ามันมีความเชื่อมโยงกับเรื่องของประเทศไทย แต่ว่าไม่มีประโยชน์ในตัวของมันเอง กล่าวโดยสรุปได้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ในเชิงแง่มุมของกฎหมายเปรียบเทียบเวลาในการเลือกระบบกฎหมายต่างประเทศนั้นจะศึกษาไปทำไม บทเรียนที่จะได้จากกฎหมายแต่ละระบบช่วยสอนอะไร และสามารถนำมาช่วยแก้ไขปัญหาที่ศึกษาอย่างไร นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด
รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ
ในประเด็นการแบ่งแยกระหว่าง “คอมมอนลอว์” และ “ซีวิลลอว์” ว่าจำเป็นแค่ไหน เพียงใด รศ.ดร.กิตติศักดิ์ได้กล่าวว่า ในเชิงโครงสร้างต้องยอมรับว่าทั้งสองระบบมีความแตกต่างกัน แม้ว่าในปัจจุบันนี้ก็ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่าข้อแตกต่างที่เคยมีมาในอดีตนั้นมันได้หลอมละลายเข้าหากันจนเกือบจะเรียกได้ว่ามีความแตกต่างกันน้อยมาก แต่ว่าตัวโครงสร้างกันก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่ แม้ว่าจะมีการเกิดขึ้นซึ่งสหภาพยุโรปก็ตาม เนื่องด้วยมีกฎหมายพิเศษเฉพาะสาขาแยกย่อยต่าง ๆ ซึ่งได้หลอมรวมเข้ามาคล้ายคลึงกัน แต่โครงสร้างหลัก ๆ ก็ยังแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ในข้อที่เห็นว่าการแยกคอมมอนลอว์และซีวิลลอว์อาจจะไม่มีความจำเป็นนั้น รศ.ดร.กิตติศักดิ์เห็นว่ามีความจำเป็นแต่ไม่มีความจำเป็นอย่างสูงสุด สิ่งที่คอมมอนลอว์และซีวิลลอว์ได้รับการแยกแยะจากนักวิชาการต่าง ๆ ให้ศึกษากันนั้น เป็นวิธีการทำความเข้าใจกฎหมายเพื่อให้เข้าใจกฎหมายว่ามันแตกต่างกันได้ในบริบททางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และวิธีการในการแก้ปัญหามันใช้วิธีการที่แตกต่างกันได้เพื่อที่จะแสวงหาความยุติธรรมในแง่นี้แม้แต่ในปัจจุบัน แม้ในระบบซีวิลลอว์ด้วยกันก็ต้องทำความเข้าใจว่ากฎหมายเยอรมันก็มีบริบททางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองแบบของเยอรมนี
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ได้ยกตัวอย่างประเด็น “ทรัพย์อิงสิทธิ” ว่า ในกฎหมายเยอรมันไม่เอาหลักภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์มาบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะยืนยันหลักกรรมสิทธิ์ ซึ่งเป็นเหตุผลที่เกิดจากแนวความคิดเสรีนิยมเพราะมีการเชื่อว่าภาระติดพันเป็นซากของสังคมศักดินา แต่อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสก็รับเอาเรื่องนี้มาใช้ ในแคนาดาก็ยังมี ในทำนองเดียวกัน ประเทศไทยที่จะนำทรัพย์อิงสิทธิมาใช้ก็ควรจะต้องมองถึงเรื่องบริบทในทางสังคม เศรษฐกิจ
ในทางวิชากฎหมายเปรียบเทียบ ที่ผศ.ดร.มุนินทร์ได้กล่าวถึงความจริงสิ่งที่สำคัญมากกว่าคอมมอนลอว์หรือซีวิลลอว์ คือ กฎหมายเปรียบเทียบและวิธีการเปรียบเทียบกฎหมาย รศ.ดร.กิตติศักดิ์เห็นด้วยในแง่นี้ เพราะฉะนั้น รศ.ดร.กิตติศักดิ์เห็นด้วยส่วนหนึ่งว่า การแยกแยะซีวิลลอว์และคอมมอนลอว์มันควรจะลดความสำคัญลงไป อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.กิตติศักดิ์กล่าวว่า เราจะเข้าใจกฎหมายไทยได้เราต้องเข้าใจกฎหมายต่างประเทศด้วย เช่น เรื่องละเมิดถ้าเราไม่เข้าใจว่าละเมิดว่าละเมิดของไทยไม่ใช่ละเมิด (tort) ของอังกฤษ และในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ละเมิดแบบของฝรั่งเศส แต่มันเป็นละเมิดแบบของเยอรมัน จะเห็นได้ว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับคอมมอนลอว์หรือซีวิลลอว์เท่านั้น มันขึ้นอยู่กับการศึกษาเปรียบเทียบในทางกฎหมาย
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ยังได้ยกตัวอย่างกรณีอื่น เช่น หลักซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ด้วยหลักฐานเป็นหนังสือ จะต้องวางมัดจำหรือชำระหนี้บางส่วน ถ้าไม่เข้าใจความเป็นมาของมันในแง่ consideration ในระบบกฎหมายอังกฤษ causa ในกฎหมายฝรั่งเศส หรือserious intention ในกฎหมายเยอรมัน ก็จะทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ และทำให้บทบาทหรือคุณค่าของคำมั่น…จะลดความสำคัญลงไป เพราะฉะนั้น ในแง่นี้กฎหมายเปรียบเทียบจะช่วยให้มองเห็นภาพรวมและเห็นจุดเด่น ในทำนองเดียวกัน หลักการโอนกรรมสิทธิ์ว่าโอนกันอย่างไร การคุ้มครองการได้มาโดยสุจริต หลักเรื่องมรดกพินัยกรรม เหล่านี้ล้วนมีอิทธิผลของกฎหมายอังกฤษขณะเดียวกันก็มีอิทธิพลของระบบกฎหมายเยอรมันและฝรั่งเศสแทรกอยู่ ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยกฎหมายเปรียบเทียบและความรู้กฎหมายโรมันมาช่วยให้เกิดความกระจ่างทั้งสิ้น รศ.ดร.กิตติศักดิ์ได้กล่าวโดยสรุปโดย “เสนอมุมมองในแง่ประวัติศาสตร์กฎหมายเปรียบเทียบหรือการเปรียบเทียบกฎหมายโดยใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์เข้ามาประกอบด้วยซึ่งเป็นวิธีการที่เราควรจะนำเข้ามาเป็นจุดสนใจสำหรับการนำเข้ามาค้นความและศึกษาในทางวิชาการต่อไป”
ผศ.ดร.มุนินทร์ ได้สรุปตอนท้ายว่า ตนคิดว่าการแบ่งแยกคอมมอนลอว์และซีวิลลอว์มีความจำเป็นมากเป็นพิเศษสำหรับความเข้าใจที่มาของกฎหมายเอกชนและการทำความเข้าใจนิติวิธีของกฎหมายเอกชน แต่ไม่ได้มีความสำคัญมากที่สุดหรืออย่างมากมายมหาศาลที่บางท่านเข้าใจ เพราะฉะนั้นควรที่จะให้ความสำคัญกับความแตกต่างระหว่างซีวิลลอว์กับคอมมอนลอว์อย่างระมัดระวังและไม่ยึดติดกับความแตกต่างนี้มากเกินไป
สำหรับสาระสำคัญของตำรา “ระบบกฎหมายซีวิลลอว์: จากกฎหมายสิบสองโต๊ะสู่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” โดย ผศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน สามารถอ่านได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/munin_pongsapan_book/