สรุปสาระสำคัญจากสัมมนาหัวข้อ “เหลียวหลัง แลหน้า การประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไทยในยุค New Normal” เนื่องในโอกาส 60 ปี ศ.ดร.อำนาจ วงศ์บัณฑิต วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม 2563 เวลา 9.00-12.30 น. ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
วิทยากร
- ศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- อาจารย์ ชาคริต สิทธิเวช อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- คุณสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการและทนายความ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
ผู้ดำเนินรายการ
- อาจารย์ ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายวิวัฒน์ กอสัมพันธ์ นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขากฎหมายเอกชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
อาจารย์ ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผู้ดำเนินรายการ)
ช่วงแรก : กล่าวเบื้องต้นถึงความสำคัญของ EIA ว่า การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment Report: EIA) เป็นกระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดจากกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้มีอำนาจได้ตัดสินใจอย่างรอบคอบ ไม่ได้คำนึงถึงแค่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือสังคม แต่ต้องคำนึงถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมประกอบการพิจารณาด้วย EIA เป็นเครื่องมือที่สำคัญของกฎหมายสิ่งแวดล้อมในการทำหน้าที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน
ช่วงท้าย : กล่าวขอบคุณและสรุปประเด็นของวิทยากรทุกท่าน โดยอาจารย์ชาคริตได้พูดถึงวิวัฒนาการและช่องโหว่ที่เกิดขึ้น อาจารย์ณรงค์ก็พูดถึงความพยายามในการแก้ไขปรับปรุงที่เกิดขึ้นและแนวทางที่จะต้องพัฒนาต่อไปในอนาคต และคุณสุรชัยกล่าวถึงปัญหาที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขต่อไป ซึ่งอาจารย์ ดร.พนัญญาได้นำมาโยงกับเรื่องที่ตนสนใจ คือ แนวคิด Life Cycle Approach เช่น กรณีการผลิตหน้ากากอนามัย เราควรจะต้องมองถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ได้มาซึ่งวัตถุดิบจนถึงเวลาที่เราไม่ใช้และทิ้งไปว่าแต่ละขั้นตอนเหล่านี้มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ความสามารถของสภาพแวดล้อมที่จะรองรับต้นทุนหรือผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า ทุกอย่างมีความเชื่อมโยงกัน การที่เรามองผลิตภัณฑ์แบบแยกส่วนจากผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จะทำให้เห็นภาพไม่ครบ จึงควรมองให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ และความสามารถของสิ่งแวดล้อมในขณะนั้นด้วย
อาจารย์ชาคริต สิทธิเวช อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (วิทยากร)
อ.ชาคริต กล่าวถึงประเด็นวิวัฒนาการของกฎหมายไทยว่าด้วยการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยการเริ่มต้นกล่าวถึงพัฒนาการทางสากลเล็กน้อย กล่าวคือ จุดเริ่มต้นเกิดเมื่อมีการตีพิมพ์หนังสือ Silent Spring ของนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน Rachel Carson ที่กล่าวง่าย ๆ ว่า เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิมาถึง ต้นไม้ ดอกไม้ ทุกอย่างยังคงสวยงาม แต่ปรากฏว่าเสียงของสัตว์ แมลงต่าง ๆ กลับเงียบหายไปอย่างผิดปกติ และผู้เขียนได้สรุปว่า ความเงียบนี้เป็นผลมาจากการใช้ยาฆ่าแมลงนั่นเอง หนังสือเล่มนี้ก่อให้เกิดความตื่นตัวในด้านการควบคุมการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม และยังส่งผลมาถึงในปัจจุบันนี้ นอกจากหนังสือเล่มนี้แล้ว ยังเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วและการปล่อยสารพิษตามมาอีกหลายเหตุการณ์ ในที่สุดสหรัฐอเมริกา (USA) จึงออกกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมขึ้นในปี พ.ศ.2513
พ.ศ.2516 ประเทศไทยเกิดการเคลื่อนไหวของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญปีต่อมาที่มีบทบัญญัติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย อาจจะเรียกได้ว่า รัฐธรรมนูญสีเขียว ต่อมา พ.ศ.2518 ไทยจึงมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมขึ้น (พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2518) ซึ่งถือว่าเป็นประเทศแรก ๆ ในโลกที่มีกฎหมายลักษณะนี้ แต่ในกฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีเรื่อง EIA เป็นแค่การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป จนกระทั่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ.2521 ที่สามารถที่จะประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ แต่ก็บัญญัติไว้เพียงกว้าง ๆ ลอย ๆ ไม่ได้กำหนดรายละเอียดไว้ ทำให้ในทางปฏิบัติจึงไม่สามารถทำ EIA ได้
พ.ศ.2524 มีการออกประกาศกระทรวงกำหนดประเภท โครงการ ขนาดและแนวทางในการทำ EIA แต่ก็ยังไม่ได้มีการกำหนดบุคคลผู้ทำ EIA จนกระทั่งในปี พ.ศ.2527 จึงได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติบุคคลที่สามารถทำ EIA ได้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของไทยในเรื่อง EIA (เรียกว่า ยุคที่ 1)
ยุคต่อมา (ยุคที่ 2) ใน พ.ศ.2535 ที่มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ (พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535) กฎหมายฉบับนี้มีรายละเอียดเยอะกว่าฉบับปี 2518 มาก โดยมีส่วนที่ว่าด้วย EIA โดยเฉพาะ และรับรองบทบาทของ NGO ไว้ในกฎหมายเป็นครั้งแรกในการเข้ามาช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมแทนประชาชนได้ จากกฎหมายฉบับนี้จึงมีประกาศกระทรวงออกมาเกี่ยวกับทำ EIA ตามมาเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ในปี พ.ศ.2539 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ ในปี พ.ศ.2540 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ในปี พ.ศ.2542 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในปี พ.ศ.2548 ซึ่งแม้ก่อนหน้านี้จะมีระเบียบว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอยู่บ้าง แต่ก็ดูคลุมเครือไม่ชัดเจน จนกระทั่งมีการออกระเบียบฉบับนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้ผลก็คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน แม้ในกฎหมายฉบับปี 2535 และประกาศที่ออกมาจะไม่มีบัญญัติไว้อย่างชัดเจน แต่การที่เกิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ขึ้นมา ได้สร้างกลไกที่ค่อนข้างใหม่ให้กับไทย (แม้จะเป็นกลไกที่เก่าแล้วในต่างประเทศ) ทำให้ประชาชนสามารถไปขอดูข้อมูลข่าวสารได้อย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการทำ EIA จึงมีความชัดเจนมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ดีพอ
อนึ่ง อาจารย์ชาคริตได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า กฎหมายหลายฉบับที่ดีรวมถึงกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมนี้ด้วย มักจะถูกตราขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่ปกติ กล่าวคือ ในช่วงที่มีการรัฐประหาร ซึ่งมีการตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นและกฎหมายจะผ่านสภาเป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งที่ประหลาดมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ
พ.ศ.2550 ใน ร.ธ.น. มีการบัญญัติเรื่องการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไว้เช่นเดียวกัน จนกระทั่ง พ.ศ.2553 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) มอบหมายให้คณะนิติศาสตร์ มธ. ทำวิจัยเพื่อพัฒนากฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น โดยมีศ.ณรงค์เป็นหัวหน้าทีมผู้วิจัย และตนก็หนึ่งในผู้วิจัยด้วย วิจัยฉบับนี้เรียกว่า Jaiharn Report โดยผลักดันหลักการสากลให้ปรากฏในสายตาของ สผ. เพื่อทำให้ระบบการทำ EIA ดีขึ้น ประเด็นสำคัญที่มีการนำเสนอในวิจัยคือ การมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะต้องนำมาบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน และประเด็นผู้ชำนาญการที่มีหน้าที่พิจารณาว่า EIA ที่เจ้าของโครงการเสนอมานั้นคุณภาพดีหรือไม่ คลอบคลุมมากน้อยเพียงใด ด้วยเหตุที่ว่าไม่มีใครเชี่ยวชาญทุกด้าน ซึ่งในต่างประเทศจะตั้งคณะกรรมการเป็นเฉพาะ ๆ โครงการไป ไม่ใช่การตั้งผู้เชี่ยวชาญไว้ประจำแบบไทย และบทบาทของหน่วยงานผู้รับผิดชอบด้าน EIA ของไทยคือ สผ. คณะผู้วิจัยยังได้เสนอไปด้วยว่า ให้ยุบ สผ. ไปเลย (ศ.ณรงค์จะอธิบายในประเด็นนี้ต่อไป)
ยุคปัจจุบัน (ยุค 2.5) ในปี พ.ศ.2559 มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมปี 2535 ที่นำเรื่อง Fast Track มาใช้บังคับ ทำให้บางโครงการที่รัฐเห็นว่ามีความสำคัญและไม่อยากให้เสียเวลาล่าช้ากับการทำ EIA ก็สามารถพักหรือระงับกระบวนการ EIA ได้ ก่อให้เกิดข้อสังเกตในประเด็นนี้จากสังคมว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งในต่างประเทศก็มีกระบวนการเรื่อง Fast Track นี้เหมือนกัน ซึ่งเขาก็จะกำหนดระบบการตรวจสอบเฉพาะขึ้นมา แต่ไม่ได้กำหนดเป็นการหลบเลี่ยงหนักขนาดนี้
ร.ธ.น. ปี พ.ศ.2560 ก็มีบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และใน พ.ศ.2561 ก็มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ฉบับปี 2535 ซึ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ EIA เช่น มีการเพิ่มนิยามคำว่า EIA เพื่อให้คนไทยเข้าใจว่า EIA คืออะไร มีการรับรู้ถึงการมีอยู่ของนโยบายสิ่งแวดล้อมของประเทศ (SEA) ให้นำมาประกอบการพิจารณา EIA ด้วย (ถ้ามี) และมีการกำหนดความชัดเจนของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการทำ EIA โดยไม่อิงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่กว้างเกินไปที่จะนำมาใช้กับ EIA โดยเฉพาะได้ ตลอดจนมีเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ด้วย เป็นต้น
เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายแม่บทแล้ว ก็ต้องมีการปรับปรุงรายละเอียด จึงมีการออกประกาศกระทรวงเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภท ขนาด แนวทางการทำ EIA และรายละเอียดคุณสมบัติของผู้ชำนาญการ อย่างไรก็ดี กฎหมายยังไม่ได้นำหลักการต่าง ๆ ที่เสนอไว้ใน Jaiharn Report มาปรับใช้อย่างมากพอ สุดท้ายนี้แล้ว อาจารย์ชาคริตจึงเห็นว่า ประเทศไทยยังเป็นแค่ยุค 2.5 เท่านั้น ยังไม่ได้เข้าไปสู่ยุคที่ 3
ศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (วิทยากร)
ศ.ณรงค์ กล่าวถึงในประเด็นการศึกษาใน Jaiharn Report ที่อาจารย์ชาคริตได้พูดถึงไปบ้างแล้ว เป็นสิ่งที่สำคัญและการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เราจะเป็นฝ่ายตามไม่ได้ เช่น ในคดีคลิตี้ จะเห็นได้ชัดว่า ในการแก้ไขสารพิษ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ยุติ การฟื้นฟูก็ยังมีปัญหาอยู่ ฉะนั้น EIA จึงเป็นเครื่องมือสำคัญมากในแง่ที่จะหาทางป้องกันหรือแก้ไขก่อนที่จะลงมือในโครงการนั้น ๆ
ในอดีต ช่วง พ.ศ.2535 EIA ถูกเรียกในชื่อ รายงานวิเคราะห์ จึงเข้าใจไม่ตรงกันว่าเป็นเรื่องการประเมินผลกระทบของสิ่งแวดล้อม ปัญหาที่พบคือ กระบวนการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังไม่เป็นระบบชัดเจน จึงทำเป็นแค่รายงานฉบับหนึ่ง ซึ่งกฎหมายกำหนดระยะเวลาการประเมินไว้เพียง 45 วัน ทำให้ไม่มีเวลาลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามรายงานที่ได้รับอย่างครบถ้วน ผลที่เกิดขึ้นคือ ประชาชนไม่เชื่อถือในรายงาน เช่น บางกรณีประเมินไปแล้ว และระบุว่าไม่มีปลาโลมาอยู่แถวนั้น แต่ปรากฏว่ากลับมีปลาโลมามาอยู่บริเวณนั้น สิ่งเหล่านี้จึงชี้ให้เห็นว่า รายงานวิเคราะห์ไม่ได้สะท้อนข้อมูลที่เป็นปรากฏจริง หรือในกรณีถ้าหากให้ใบอนุญาตไปแล้ว กฎหมายกำหนดเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติตาม EIA ด้วย ในทางปฏิบัติก็ไม่ได้มีความจริงจังกับรายงานวิเคราะห์เพราะว่าหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตเป็นคนละหน่วยงานกับหน่วยงานที่ตรวจสอบ EIA
ปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นเพียงในรูปแบบ กล่าวคือ ผู้ขอใบอนุญาตใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมงในการชี้แจงแก่ประชาชน ชาวบ้านก็ไม่ได้รู้ข้อมูลมาก่อน และบางทีก็เชิญแค่บางฝ่ายที่เป็นคุณกับตนเองเข้าฟังเท่านั้น เมื่อประชาชนที่ไม่ได้รับเชิญก็ไปขอใช้สิทธิกับหน่วยงานที่อนุญาตว่าตนไม่เห็นด้วย ทำให้เห็นว่าระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีไม่ได้ชัดเจนเพียงพอหรือเหมาะสมกับเรื่องนี้ (ในปี พ.ศ.2561 มีประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ ออกมากำหนดรายละเอียดในเรื่องนี้แล้วนับเป็นความก้าวหน้าระดับหนึ่ง)
ปัญหาการดูแค่โครงการเป็นรายเฉพาะ ๆ ไป ไม่ได้ดูในเรื่องของนโยบายหรือยุทธศาสตร์ต่าง ๆ หรือปัญหารายงานวิเคราะห์ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่มีความชัดเจน อีกทั้งกฎหมายฉบับปี 2535 ก็กำหนดระยะเวลาการตรวจสอบไว้แค่ 45 วัน เพื่อไม่ให้รัฐพิจารณาล่าช้าเกินไป ถ้าพิจารณาไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนดให้ถือว่าเห็นชอบ ทำให้เกิดข้อจำกัดคือถ้าไม่มีเวลาพิจารณาเมื่อพ้นกำหนดแล้ว รายงานก็ถือว่าได้รับความเห็นชอบ และระยะเวลาเท่านี้ไม่เพียงพอในการดูรายละเอียดหรือลงพื้นที่ได้ ซึ่งระยะเวลานี้ยังมีอยู่ในกฎหมายปัจจุบัน แต่ว่าก็ได้มีการกำหนดรายละเอียดกลไกการจัดทำรายงานไว้มากขึ้น
คณะผู้วิจัยจึงเสนอว่า ให้ผู้อำนาจอนุญาตพิจารณารายงานเลย โดยใช้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่ตั้งขึ้นโดยเฉพาะเข้ามาดูแลแต่ละโครงการ ซึ่งเท่ากับรื้อระบบเดิมทั้งหมด จึงไม่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพราะในไทย ใช้ สผ. เป็นฝ่ายประสานและใช้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เป็นผู้พิจารณา อันนี้จึงเป็นที่มาว่าคณะผู้วิจัยเสนออะไร และมีกระบวนการที่จะปรับปรุงอะไรบ้าง
ศาสตราจารย์ณรงค์กล่าวต่อมาในช่วงปัจจุบัน กล่าวคือ ในปี พ.ศ.2561 ที่ได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแล้ว ความเปลี่ยนแปลงประการแรกคือ เปลี่ยนชื่อรายงานวิเคราะห์มาเป็นการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมกำหนดนิยามไว้ให้ชัดเจน โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
ประการที่สอง คือ การทำ EIA ให้ทำเฉพาะในกิจการหรือโครงการที่รัฐระบุไว้ ในประกาศกระทรวงจึงระบุประเภท ลักษณะหรือโครงการไว้ กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องทำทุกโครงการ เพราะในโครงการเล็ก ๆ นั้นการทำ EIA ก่อค่าใช้จ่ายเยอะและมีจำนวนมาก กฎหมายจึงเน้นโครงการที่มีลักษณะใหญ่อาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ประการที่สาม คือ การนำหลักประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ไปไว้ใน EIA ด้วย ซึ่งตรงกับที่บัญญัติไว้ใน ร.ธ.น. ปี 2540 กับปี 2550 แม้ ร.ธ.น. ปี 2560 จะไม่ได้บัญญัติไว้ แต่การนำมาบัญญัติในกฎหมายฉบับนี้เลยจึงเป็นการวางหลักเกณฑ์ไว้ได้ละเอียดพอสมควร ดังนั้น ถ้าคณะที่ปรึกษาที่จัดทำเกี่ยวกับ EIA นำหลักเกณฑ์เหล่านี้ไปใช้ ก็จะทำให้ คชก. ได้รายงานที่มีข้อมูลพอสมควรในการพิจารณา โดย HIA ต้องทำในทุกรายงาน แต่ในกรณีที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงก็จะต้องระบุให้ละเอียดมากขึ้นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ในประเด็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีการกำหนดรายละเอียดไว้ เช่น ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในระยะเวลาเตรียมการกี่ครั้ง ในระหว่างที่ทำ EIA ต้องรับฟังกี่ครั้ง ถ้าเป็นเรื่องของผลกระทบต่อสุขภาพต้องรับฟังกี่ครั้ง และในแต่ละครั้งก็จะต้องให้ข้อมูลอะไรบ้าง เป็นต้น ตนเห็นว่า ประกาศที่ออกมามีมาตรฐานอยู่ ซึ่งถ้าหากทำได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โอกาสที่ประชาชนจะมาคัดค้านก็จะน้อยลง
ประเด็นต่อมาคือ สภาพบังคับของ EIA ในสมัยก่อน EIA ยื่นไปเมื่อขอใบอนุญาต และกำหนดเวลาพิจารณา 45 วัน ถ้ามีการแก้ไขก็ต้องเริ่มนับกระบวนการใหม่ จึงเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ ในทางปฏิบัติจึงมีการเริ่มต้นก่อสร้างหรือดำเนินการโครงการไปก่อน เมื่อก่อสร้างเสร็จก็ตรงกับช่วงเวลาที่ EIA ผ่านและได้รับใบอนุญาตพอดี แต่ในปัจจุบัน กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า หากยังไม่ได้รับอนุมัติ EIA ก็จะเริ่มต้นก่อสร้างหรือประกอบกิจการไม่ได้ มิฉะนั้น จะมีโทษปรับทางกฎหมาย และการต่อใบอนุญาตก็ต้องปฏิบัติตาม EIA ซึ่งในการประเมินว่ามีการปฏิบัติตาม EIA นั้นจะมีบริษัทเอกชนที่รับประเมินให้ จุดอ่อนหรือปัญหาคือความเป็นกลางเพราะผู้ประเมินได้รับเงินจากผู้รับใบอนุญาต ควรกำหนดให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ประเมิน แต่เท่าที่ดูยังไม่มีในกฎหมายใหม่ มีเพียงการกำหนดให้ต้องรายงานผลการประเมิน EIA เพื่อประกอบการต่อใบอนุญาต หากไม่รายงานก็จะมีโทษปรับ แสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยก็มีการนำ EIA ไปใช้ในทางปฏิบัติได้ดีขึ้น บังคับใช้ได้จริง กล่าวโดยสรุปคือ ในปัจจุบัน ผู้ออกใบอนุญาตต้องพิจารณาถึง EIA ก่อน หาก EIA ไม่ผ่านก็ออกใบอนุญาตไม่ได้ ถ้าออกใบอนุญาตแล้วให้เอา EIA เป็นตัวกำหนดของเงื่อนไขและการต่อใบอนุญาตต้องนำผลการประเมิน EIA มาเป็นเงื่อนไขในการต่อใบอนุญาต
ประเด็นที่น่าสนใจคือ การปรับปรุง EIA ในอนาคต ปัญหาช่องว่างที่อาจารย์ชาคริตได้ชี้ให้เห็นไว้น่าสนใจมาก คือ กรณีที่มีการทำกิจการไปก่อนโดยไม่ได้ทำ EIA จะก่อให้เกิดช่องว่างหรือความเสี่ยงหรือไม่ และจะมีหลักประกันอย่างไร และในประเด็นที่กำหนดให้ คชก. มีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น เป็นไปได้ไหมที่จะกำหนดให้ คชก. ให้ความเห็นทางวิชาการประกอบข้อมูลต่าง ๆ และความเห็นของประชาชน ส่วนอำนาจตัดสินใจอยู่ที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจที่ได้รับข้อมูลทุกด้านอย่างครบถ้วนแล้ว และประเด็นที่จะเลือก คชก. ที่เชี่ยวชาญโดยเฉพาะให้ตรงกับแต่ละโครงการได้ ไม่ได้ถูกจำกัดแค่ คชก. ตามที่ได้ถูกกำหนดไว้เป็นคณะ ๆ ไว้แล้ว และมีเครื่องมือใดหรือไม่ที่จะช่วย คชก. ในการลงพื้นที่ในระยะเวลาที่จำกัด ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจและควรนำไปศึกษาถึงความเป็นไปได้เพื่อปรับปรุง EIA ในอนาคตต่อไป
คุณสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการและทนายความ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) (วิทยากร)
คุณสุรชัย กล่าวถึงประเด็นปัญหาว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นของ EIA คือ รัฐพิจารณา EIA เป็นรายโครงการ แยกส่วน ไม่มองในภาพรวม เป็นปัญหาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน กับโครงการท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหิน เป็น EIA แยกกัน ทั้ง ๆ ที่เป็นโครงการเดียวกันเพราะถ่านหินก็ต้องผ่านท่าเรือและเข้าสู่โรงไฟฟ้า เหตุใดต้องแยกส่วนการพิจารณา ทำไมไม่บูรณาการพิจารณาเข้าด้วยกัน
ในปัจจุบัน มีเรื่องการประเมินผลกระทบระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ซึ่งถ้ามีก็นำมาพิจารณาด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่มี โดยน่าจะมีการศึกษาเป็นครั้งคราวตามมติ ครม. และสภาพัฒน์น่าจะกำลังศึกษาอยู่ ซึ่งมีความสำคัญและสามารถช่วยให้เห็นถึงความเหมาะสมและเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่
ปัญหาของการที่ไม่ได้ศึกษาศักยภาพในการรองรับมลพิษของพื้นที่ (Carrying Capacity) ที่เป็นการศึกษาถึงมลพิษที่สะสมอยู่เดิมในพื้นที่ หากมีโครงการใหม่เข้ามา สภาพแวดล้อม ทรัพยากรในพื้นที่จะรับได้หรือไม่ มีผลกระทบอย่างไร เช่น กรณีพิพาทฟ้องร้องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มวกเหล็ก สระบุรี นักวิชาการได้อ่าน EIA และพบว่าในรายงานไม่ได้ศึกษาถึงมลพิษสะสมที่มีอยู่ก่อน มีการศึกษาเพียงว่าโรงไฟฟ้าจะปล่อยมลพิษปริมาณเท่าไร ซึ่งโรงไฟฟ้าดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษอื่น ๆ อยู่แล้ว อาจจะเป็นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินอื่นที่ตั้งอยู่ก่อนแล้ว มลพิษจากการจราจรในเส้นทางบริเวณนั้น เป็นต้น การศึกษาศักยภาพในการรองรับมลพิษของพื้นที่นี้ไม่ปรากฏชัดเจนในการจัดทำ EIA ตามมาตรา 48 ซึ่งในกฎหมายต่างประเทศ เช่น แคนาคา กำหนดข้อมูลที่หน่วยงานต้องนำมาพิจารณาประกอบด้วย เช่น ให้นำผลกระทบสะสมที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการนี้หรือโครงการอื่นที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว
วิทยากรยังได้ยกตัวอย่างการวิจัยถึงผลกระทบของไนโตรเจนออกไซด์ที่มีต่อโคนมในพื้นที่ดังกล่าว เช่น ถ้าศึกษาแค่ผลกระทบจากมลพิษของการจราจรบริเวณนั้น จะมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 120 ล้านบาทต่อปี และหากรวมมลพิษที่เกิดจากโครงการโรงไฟฟ้าที่มีอยู่และที่จะมีเพิ่มขึ้น ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจะมีประมาณ 270 ล้านบาทต่อปี จากตัวอย่างนี้ ชี้ให้เห็นว่า การไม่ได้ศึกษาผลกระทบสะสมทำให้ข้อมูลในการตัดสินใจไม่ครบถ้วน
ปัญหาช่องว่างในการกลั่นกรองโครงการที่ต้องทำ EIA หนึ่งในโครงการที่มีปัญหามากก็คือ โครงการที่ระบุขนาดหรือกำลังการผลิต ทำให้เกิดการปรับลดขนาดหรือกำลังการผลิตลงเพียงเล็กน้อยเพื่อให้ต่ำหว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เช่น กฎหมายกำหนดว่าโครงการโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปต้องทำ EIA ก็มีการทำโครงการโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิตที่ 9.9 เมกะวัตต์ หรือมีการแยกส่วนโครงการ ให้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องจัดทำ EIA ซึ่งในต่างประเทศการแยกส่วนโครงการทำไม่ได้เพราะว่าเป็นการหลบเลี่ยงการจัดทำ EIA
ตัวอย่างคดีการก่อสร้างท่าเทียบเรือบริเวณแม่น้ำบางปะกง บ้านโพธิ์ ฉะเชิงเทรา มีท่าเรือ A B C D E F อยู่ใกล้ ๆ กัน ใช้โกดังเก็บสินค้าร่วมกัน เจ้าของคนเดียวกัน แต่ว่ามีการแยกในแต่ละท่าเรือทำให้ไม่ถึงขนาดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำ EIA ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า กรณีนี้ไม่ต้องทำ EIA จึงพิพากษายกฟ้อง (คดีอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด)
ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหานี้ คือ เปิดช่องทางเพิ่มเติม ให้มีการนำปัจจัยความอ่อนไหวเปราะบางของสิ่งแวดล้อมหรือความเสี่ยงในการก่อให้เกิดผลกระทบอื่น ๆ มาประกอบการพิจารณาด้วย และการเสนอชื่อโครงการที่ต้องจัดทำ EIA ต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดช่องทางให้มีการร้องเรียนเพื่อให้พิจารณาว่าต้องมี EIA
ปัญหาความไม่เป็นอิสระของผู้จัดทำ EIA กับผู้ประกอบการที่เป็นผู้จ้างโดยตรง (ตามที่ อ.ณรงค์ ได้กล่าวไว้แล้ว) จึงเสนอว่า ควรมีหน่วยงานใหม่ที่มีหน้าที่จัดจ้างผู้จัดทำรายงานโดยผู้ประกอบการจ่ายเงินเข้ากองทุน และในประเด็น มาตรา 51/6 ที่เป็นหลักการใหม่ที่น่าสนใจ กล่าวคือ รายงาน EIA ที่ได้รับความเห็นชอบให้ใช้ประกอบการอนุญาตได้ 5 ปี แต่ก็ไม่ได้รวมถึงการทบทวนมาตรการใน EIA หรือ EHIA ที่ผิดพลาด หรือไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ในกรณีคดีที่ไปค้นพบสุสานหอย 13 ล้านปีในเหมืองแม่เมาะในขณะที่ได้รับใบประทานบัตรในการทำเหมืองไปแล้ว การค้นพบนี้จะเป็นข้อเท็จจริงใหม่ในการทบทวนมาตรการใน EIA หรือไม่ ซึ่งปกติถ้าศาลปกครองเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะเพิกถอนไปเลย ไม่ได้มีการสั่งให้มีการทำ EIA ใหม่
กรณีเหมืองหินที่หนองบัวลำภู มีการต่อใบอนุญาตถึง 2 ครั้ง โดยใช้ EIA ปี 2542 ซึ่งวิทยากรเห็นว่าเก่ามาก แม้ว่าจะมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมและให้ความเห็นโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ แต่ว่าโดยกระบวนการแล้วไม่ได้ผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการตามระบบที่ควรจะเป็น และมีการค้นพบภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งควรจะต้องมีการประเมินผลกระทบใหม่ (คดีอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด) วิทยากรต้องการบรรทัดฐานคำพิพากษาในประเด็นที่ว่า ถ้า EIA ไม่ทันสมัยหรือไม่ตอบสนองต่อการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและสิ่งแวดล้อม จะมีกลไกการแก้ไขอย่างไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ให้ถูกฟ้องคดี
ในปัญหาอีกประการ คือ อุปสรรคในการใช้สิทธิเข้าถึงข้อมูลรายงาน EIA ต้องเสียค่าใช้จ่าย และแม้จะเข้าถึง EIA ได้ แต่ไม่ใช่ประชาชนทุกคนจะอ่านเพื่อทำความเข้าใจได้ ต้องไปสอบถามขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ อีก จึงควรมีระบบสนับสนุนเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ควรมีเพื่อช่วยเหลือประชาชน และ สผ. ควรจะทำ EIA ในรูปแบบที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น ให้ผู้ประกอบการทำแบบ CD ตั้งแต่แรกเพื่อประชาชนจะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการคัดถ่ายเอกสารเยอะเกินไป (ปกติ สผ. จะทำในรูปแบบ CD เมื่อ EIA นั้นผ่านความเห็นชอบแล้ว)
การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต การมีส่วนร่วมของประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญแบบที่ อ.อำนาจกล่าวไว้ จึงจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือ กลไกสมัยใหม่รูปแบบต่าง ๆ ในการรับมือโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ใช่การตัดสินใจเพียงกลุ่มเดียว
คำถามจากงานสัมมนา
คำถาม (1) : คำถามจากผศ.ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ขอแสดงความคิดเห็นและกึ่งสอบถามความคิดเห็น เพราะว่ากำลังทำวิจัยในประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนกับเรื่อง EIA ในไทย ซึ่งตนมองว่า ปัญหาในไทย มี 2 เรื่อง คือ ประเด็น EIA ยังไม่เชื่อมกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน และประเด็นกฎหมาย EIA กับกฎหมายระบบใบอนุญาตนั้นยังเขียนไว้เชื่อมกันไม่เพียงพอ เพราะว่าไทยให้อำนาจ คชก. และ สผ. เป็นผู้มีบทบาทในการพิจารณา EIA ว่าผ่านหรือไม่ ในขณะที่ต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ให้หน่วยงานที่มีอำนาจออกใบอนุญาตเป็นผู้พิจารณา EIA ด้วย
ผศ.ดร.สุรศักดิ์จึงเสนอโดยเชื่อมโยงกับ Jaiharn Report ว่า ระดับการมีส่วนร่วมที่แม้จะพัฒนาไปทางบวกมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นเพียงการรับฟัง ส่วนระดับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือการฟ้องคดีเพื่อทบทวนกระบวนการ EIA นั้นมีน้อยมาก ในออสเตรเลียมีจุดที่น่าสนใจ คือ เวลาฟ้องคดี EIA กับเวลาฟ้องคดีเพิกถอนการประกอบกิจการ กฎหมายจะเขียนไว้ว่า หน่วยงานที่มีอำนาจออกใบอนุญาตและพิจารณา EIA จะต้องพิจารณาเกณฑ์บางข้อด้วย เช่น หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถ้าไม่ได้พิจารณาแล้ว ใบอนุญาตและ EIA ก็จะถูกเพิกถอน แต่ในกฎหมายไทย เมื่อผู้ประกอบกิจการยื่นเสนอ EIA ต่อ สผ. และไปสู่ คชก. แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดว่า คชก. ต้องพิจารณาอย่างไร ในการฟ้องคดีจึงมีแค่ประเด็นว่า ประเมิน EIA แล้วหรือยัง ประเมินครบตามหลักเกณฑ์หรือไม่ แต่ว่าไม่มีการโต้แย้งในประเด็นว่า หน่วยงานที่พิจารณาได้คำนึงถึงหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่ พิจารณากระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะหรือไม่ ซึ่งในออสเตรเลียนั้นมีประเด็นเหล่านี้
จึงขอสอบถามว่า เป็นไปได้ไหมว่า จะแก้กฎหมาย EIA ตามที่ศาสตราจารย์ณรงค์และอาจารย์ชาคริตได้เสนอไว้ใน Jaiharn Report ให้หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตมีอำนาจพิจารณา EIA ด้วย คชก. แค่ให้ความเห็นทางวิชาการเท่านั้น และในขณะเดียวกัน เราควรออกกฎหมายให้หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตต้องพิจารณาถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ถ้าไม่พิจารณาแล้วอนุมัติโครงการไป แล้วชาวบ้านเห็นว่าโครงการนี้ผ่านได้อย่างไร EIA ไม่มีคุณภาพเลย อีกทั้งหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตก็ออกใบอนุญาตให้อีก จะฟ้องได้หรือไม่ แต่ถ้าเรากำหนดว่า การทำ EIA กับการประเมินต้องพิจารณาถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ผลกระทบต่อคนในรุ่นต่อ ๆ ไป พอจะเป็นไปได้ไหม
อาจารย์ชาคริต : เห็นว่า สิ่งที่ผศ.ดร.สุรศักดิ์กล่าวมานั้นเป็นสิ่งที่ตนยืนยันมาตั้งแต่เรียนจบปริญญาโท ซึ่งก็นานมาแล้ว จนถึงตอนนี้ก็ยังยืนยันอยู่ว่า ควรจะเป็นเช่นนั้น แต่ในทางปฏิบัติเท่าที่ได้ยินมา ก็มีข้อโต้แย้งว่าเรายังไม่พร้อม ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าไม่พร้อมยังไง ที่ควรจะเป็นแบบนั้นเพราะว่าควรจะชี้ให้ชัดว่า ในการที่จะเกิดโครงการอะไรขึ้นมา ใครกันแน่ที่ควรเป็นผู้รับผิดชอบ และอย่างตอนนี้ที่มีมาตรา 49 ที่ให้ Fast Track ได้ จริง ๆ แล้วออสเตรเลียก็มี แต่ไม่ได้มีลักษณะห้วน ๆ แบบของไทย รัฐบาลออสเตรเลียถ้าเห็นว่าโครงการไหนดีและสร้างผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจแก่ประเทศ รัฐบาลและรัฐสภาจะเข้ามารับผิดชอบ โดยตราเป็นกฎหมายสำหรับโครงการนั้นโดยเฉพาะ อาจจะกำหนด EIA โดยเฉพาะ ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือของโครงการ และทำให้การลงทุนรวดเร็วขึ้นด้วย ดังนั้น อาจารย์ชาคริตจึงยืนยันแบบที่ผศ.ดร.สุรศักดิ์กล่าวมา และในที่สุดประเทศไทยควรจะไปในทิศทางนั้น แค่ยังทราบว่าจะเป็นในยุคที่เท่าไร เพราะปัจจุบันเราถึงยุคที่ 2.5
ศาสตราจารย์ณรงค์ : ตามที่ผศ.ดร.สุรศักดิ์กล่าวมา เป็นสิ่งที่เราตั้งใจให้รวมกันไว้ (Integrate) กล่าวคือ ผู้ที่ออกใบอนุญาตน่าจะมีใบเดียว โดยเนื้อหาของ EIA ก็อยู่ในใบนั้น ข้อสำคัญที่ตนเป็นห่วงคือ ถ้าจะแก้ไขก็จะต้องเขียนไว้ให้ชัดเจน ซึ่งในกระบวนการที่จะออกใบอนุญาตจะต้องไปแก้ไขในตัวกฎหมายที่ออกใบอนุญาตเลยว่าต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้และการพิจารณา EIA ก็ต้องไม่ขัดต่อหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน มิฉะนั้นแล้ว การมอบให้เขาอนุมัติโดยมีหลักการนี้ประกอบเข้าไปด้วย มันอาจจะทำให้เรื่อง EIA ถูกให้ความสำคัญน้อยลง ซึ่งถ้าหากเขียนได้แบบนั้นและมีกระบวนการตรวจสอบองค์กรเอกชนหรือประชาชนและสามารถทบทวนได้โดยศาล ก็น่าจะสมบูรณ์แบบสำหรับกระบวนการอนุมัติที่เป็นหนึ่งเดียวและสามารถทบทวนได้ สุดท้ายศาสตราจารย์ณรงค์ได้ฝากให้ผศ.ดร.สุรศักดิ์นำไปขยายความต่อไป
คุณสุรชัย : เห็นด้วยกับผศ.ดร.สุรศักดิ์ ที่จริงแล้วควรต้องใส่ไว้เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจ และควรช่วยกันผลักดันให้มีอยู่ในกฎหมายต่อไป ทำให้มีหลักในการวินิจฉัยตอนใช้ดุลพินิจหรือเมื่อศาลมีคำพิพากษาจะได้มีหลักประกอบในการตีความ
คำถาม (2) : คำถามจากอาจารย์ณัฐสุดา รัตตมณี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เหตุใดประเทศไทยต้องมี สผ. กับ คชก. แยกออกมา ระบบนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เหตุใดจึงไม่ให้องค์กรผู้ออกใบอนุญาตพิจารณา EIA ไปด้วยเลยเหมือนกับระบบสากล
ศาสตราจารย์ณรงค์ : เข้าใจว่าองค์กรที่ให้ใบอนุญาตเกิดขึ้นมาก่อน แล้วเรื่อง EIA เกิดขึ้นทีหลัง จึงสร้างระบบมาทีหลังว่ากระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร และนำไปเป็นส่วนหนึ่งของใบอนุญาต จึงออกมาเป็นสองกลไก
อาจารย์ชาคริต : เคยพยายามค้นแล้วเหมือนกัน ซึ่งก็ไม่พบในต่างประเทศ และเห็นว่า กฎหมายที่เกิดช่วงเวลานั้นที่เร่งด่วนมาก (เวลาที่ไม่ปกติ เพราะช่วงการรัฐประหาร กฎหมายตราเร็วมาก) โดยช่วงเวลาปกติ คณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีบันทึกเอกสารตามระบบ หรือที่รัฐสภาจะมีการบันทึกการประชุมอย่างละเอียด แต่เมื่อเกิดในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ทุกเรื่องกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนไปหมด จึงแทบจะหาบันทึกอะไรไม่ได้เลย มีแค่ประมาณว่าเรื่องเข้ามาและผลเป็นอย่างไร และส่ง ครม. เมื่อเข้าสู่สภา ก็จะบันทึกสั้น ๆ ว่าประชุมอย่างไร ผลเป็นอย่างไร แต่ไม่มีการอธิบายเหตุผล เท่าที่ตนค้นคว้าจากเอกสารก็ไม่พบเหตุผล จึงคาดว่า เกิดจากการคิดกันเอาเอง
คำถาม (3) : คำถามจากผศ.ดร.นพดล เดชสมบูรณ์รัตน์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
คำถามประเด็นแรก ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่เชื่อมโยงกับ EIA กล่าวคือ แม้พื้นที่ตรงนั้นอาจจะรับได้หรือมีผลกระทบไม่มากนัก แต่เหตุใดจึงต้องเป็นพื้นที่ตรงนั้น มีกลไกใดที่จะบอกได้ว่าทำไมพื้นที่นั้นต้องรับความเสี่ยงหรือผลกระทบ ทำไมไม่ใช่พื้นที่อื่น กลไกใดในระดับประเทศที่จะชี้ว่า เป็นการระบุหรือการกระจายความเสี่ยงที่ไม่ได้หนักเกินไปในพื้นที่นั้น ๆ
คำถามประเด็นที่สอง การเชื่อมโยงกันของ EIA กับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือผลกระทบของประโยชน์สาธารณะ ที่มีลักษณะเป็นหลักการที่มีความเป็นนามธรรมสูง คนตัดสินใจจะมีเกณฑ์อะไรในการพิจารณา มีโอกาสที่จะถูกใส่ไว้เพื่อให้ดูดีเท่านั้นหรือไม่ว่า ได้มีการพิจารณาแล้ว และคำที่มีความหมายกว้าง ๆ นี้ จะเกิดโอกาสที่จะใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือไม่ เพราะว่าไม่ได้มีเนื้อหาที่ชัดเจนพอจะมาถือเป็นหลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณาได้
อาจารย์ชาคริต : ประเด็นที่ถามเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันทั่วโลกว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนคืออะไร มันไม่มีความชัดเจนจริง ๆ ในออสเตรเลียจะมียุทธศาสตร์ระดับชาติหากจะเปรียบเทียบก็คือเรื่องการผังเมืองที่ออกแบบเมืองว่าตรงไหนจะทำอะไร ออสเตรเลียจึงวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าในอนาคตจะมีอุตสาหกรรมอะไร จะทำกิจการใดบ้าง จึงนำมาสู่คำถามแรก ซึ่งในระดับยุทธศาสตร์ก็มีกำหนดอยู่แล้ว แต่ในประเทศไทยไม่มีการให้ความสนใจ ส่วนมากจะเป็นเรื่องประเด็นทางการเมืองหรือผลประโยชน์ของบางกลุ่มมากกว่า และจะอ้างว่ามีการเลือกระบุพื้นที่ไว้แล้ว
คุณสุรชัย : ในแง่ของความเป็นนามธรรมของหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นนั้น เห็นว่า เป็นช่วงการก่อร่างสร้างตัวเหมือนกับหลักนิติรัฐแต่เดิม ซึ่งหลักการนี้ก็ต้องพยายามช่วยกันทำให้มันมีความชัดเจนมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ปัญหาที่เกิดในไทยคือไม่ได้มีหลักการกำหนดให้มีความชัดเจนประกอบการใช้ดุลพินิจมากกว่า
ศาสตราจารย์ณรงค์ : เห็นด้วยว่าการเลือกพื้นที่ทางยุทธศาสตร์สำคัญมาก และเป็นการกำหนดโดยระดับรัฐบาลซึ่งมีข้อมูลที่ชัดเจน แต่ว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายแบบนี้เหมือนกับกฎหมายผังเมืองที่ควบคุมอาคารการก่อสร้าง การที่ต้องไปตั้งโครงการในพื้นที่หนึ่งจึงเป็นเพราะว่าเจ้าของโครงการมองว่าพื้นที่นั้นมีโอกาสที่จะประกอบกิจการได้จึงนำเงินทุนมาซื้อที่ตรงนั้นซึ่งตรงนี้รัฐบาลก็ควรทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น
ในส่วนของคำถามประเด็นที่สองที่ผศ.ดร.นพดลเสนอมา เห็นว่าเป็นเรื่องการพัฒนาว่าจะทำอย่างไรให้เราเปลี่ยนเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากนามธรรมมาเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และกำหนดไว้ให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้มีอำนาจได้นำไปประกอบการใช้ดุลพินิจว่าต้องคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย นอกจากผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจหรือนโยบายการลงทุน
ส่วนสุดท้ายที่น่าคิดก็คือ กระบวนการ EIA จะสำเร็จได้ต้องอาศัยคนที่มีความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ เราจะไปฝากไว้กับผู้มีอำนาจอนุมัติแต่ละโครงการไม่ได้เพราะอยู่คนละหน่วยงานกัน ดังนั้น สผ. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ทำศูนย์ข้อมูลเฉพาะด้านต่าง ๆ และนำ EIA เข้ามาปรับดูว่าข้อมูลเดียวกันที่เป็นกิจจะลักษณะมีความชัดเจนหรือไม่ ประกอบกับข้อมูลที่ประชาชนให้มา ทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจจะมีข้อมูลอย่างเป็นระบบจากหน่วยงานเหล่านี้สนับสนุนประกอบการตัดสินใจ ตนก็ขอฝากไว้เป็นข้อพิจารณา
คำถาม (4) : ในกฎหมายที่กำหนดให้นำ SEA มาใช้ประกอบ (ถ้ามี) แล้วถ้าไม่มีจะเป็นอย่างไร และในประเด็นการประเมินผลกระทบสะสม ไทยควรกำหนดการประเมิน โดยส่วนตัวมองว่า SEA เป็นการกำหนดกรอบนโยบายที่ทำให้ทราบได้ว่าพื้นที่นั้น ๆ มีความสามารถในการรองรับผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้เท่าใด ดังนั้น ถ้ายังคิดว่า ถ้ามี เราก็จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า พื้นฐานของพื้นที่นั้น ๆสามารถรองรับผลกระทบได้มากน้อยเพียงใด แล้ว EIA ในปัจจุบันก็พิจารณาแยกเป็นรายโครงการ ไม่ได้มองถึงโครงการข้างเคียงหรือองค์ประกอบในภาพรวม เมื่อประกอบกับไม่มี SEA ที่จะบอกขีดความสามารถในการรองรับผลกระทบ จึงอยากทราบว่า ทิศทางของประเทศไทยควรกำหนดให้บางพื้นที่ต้องประเมิน SEA เพื่อวางกรอบนโยบายต่าง ๆ ทำให้เวลาประเมิน EIA มีฐานให้เปรียบเทียบหรือไม่ เพียงใด
คุณสุรชัย : ประเทศไทยขาดข้อมูลพื้นฐานในการจัดการ เช่น ระบบรวบรวมการปลดปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรมหรือกิจกรรมต่าง ๆ ปัจจุบันเรามีกฎหมายที่แยกต่างหากจากกันและกระจัดกระจาย ยังไม่มีการรวบรวมมาเป็นระบบเดียวกันเพื่อจะประเมินในลักษณะของเชิงพื้นที่
คำถาม (5) : Public Hearing นอกจากจะอยู่ใน Decision Making Process ก่อนเริ่มโครงการ แล้วสามารถนำไปไว้ในกระบวนการหรือขั้นตอนอื่น ๆ ของโครงการได้ด้วยหรือไม่
อาจารย์ชาคริต : โดยทางทฤษฎี การมีส่วนร่วมของประชาชนควรเกี่ยวข้องทุกขั้นตอน และ public hearing เป็นแค่วิธีการหนึ่ง เพราะในทางทฤษฎีทำอย่างไรก็ได้ให้ได้ฟังได้ยินว่าใครต้องการอะไร ยิ่งได้ข้อมูลเหล่านี้มามากก็ยิ่งดี ประกอบกับข้อมูลและความเห็นทางวิชาการ จะช่วยให้คนมีอำนาจตัดสินใจได้รับข้อมูลที่มากที่สุดทีจะตัดสินใจได้ว่าควรหรือไม่ควรจะทำอะไร อย่างไร ดังนั้นแล้ว จึงไม่ควรจำกัดเฉพาะ public hearing และกระบวนการรับฟังประชาชนนั้นก็มีอยู่หลายระดับ
คุณสุรชัย : ควรอยู่ในทุกกระบวนการ เพราะว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เช่น กระบวนการฟื้นฟูก็ต้องมีส่วนร่วมของประชาชน