มุมมองอาจารย์กับการจัดการความเครียด 101 : อ.ศศิภา พฤกษฎาจันทร์
บทสัมภาษณ์โดยศูนย์ดูแลสุขภาวะของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Law TU Health & Wellness)
คำถาม (1) : ประวัติส่วนตัว และแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมาย
“ชื่อ ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ ชื่อเล่นชื่อ โม ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำที่ศูนย์กฎหมายมหาชน จบปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบปริญญาโท 2 ใบ ใบแรกจบที่ธรรมศาสตร์สาขากฎหมายมหาชน ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับนิติปรัชญา ใบที่สองจบที่ Göttingen ประเทศเยอรมนี เลือกทำงานจบเกี่ยวกับนิติปรัชญาเหมือนกัน ตอนนี้กำลังต่อปริญญาเอกอยู่ที่ Göttingen”
“แรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมาย แรกเริ่มเดิมทีไม่ได้สนใจคณะนิติศาสตร์เลยตั้งแต่ต้น เป็นความบังเอิญมากกว่า ตอนนั้นโดยพื้นฐานเราค่อนข้างเป็นคนชิว ๆ ไม่ได้กระตือรือร้นว่าอยากเป็นอะไร อยากทำอะไรในอนาคต แต่พออ่านหนังสือและทำข้อสอบสำหรับสอบตรงมันเป็นครั้งแรกเลยที่เรารู้สึกว่ามันสนุก น่าสนใจ ประกอบกับไปลองข้อสอบความถนัดแพทย์ แต่คะแนนออกมาก็ไม่ได้ดีมาก ทำให้รู้สึกว่าหรือว่าตรรกะทางแพทย์กับเราไปด้วยกันไม่ได้ ในทางกลับกัน สอบนิติดันติด เราเลยตัดสินใจเอานิติเลย เป็นความโชคดีของเราด้วยที่พอเข้ามาเรียนแล้วมันมีอะไรที่เราชอบจริง ๆ เหมือนบังเอิญเลือกถูกทาง แต่พอเข้ามาเรียนตอนแรก ๆ เราก็ยังไม่รู้เลยว่าอยากเป็นอะไร เพิ่งมาค้นพบตอนเรียนมาสักพักแล้ว เริ่มมีวิชาที่ชอบ เริ่มสโคปได้ว่าอยากเป็นอะไร”
คำถาม (2) : ความสุขในการศึกษากฎหมาย ความมุ่งหมายในเส้นทางนิติศาสตร์ตั้งแต่ตอนเข้าศึกษาจนถึงปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง และค้นพบตัวเองว่าอยากเป็นอาจารย์เมื่อใด เหตุใดจึงตัดสินใจมาเป็นอาจารย์
“สมัยตอนเรียน ป.ตรี มันก็พูดยากเหมือนกันนะว่าเรามีความสุขกับการเรียนกฎหมายหรือไม่ มันก็แค่รู้สึกว่าเรียนได้ ไม่ได้ suffer ขนาดนั้น มีวิชาที่ชอบและมีความสุขในตอนที่เราได้เรียนวิชาที่ชอบ มีสังคม มีกิจกรรมที่ชอบทำ แต่ว่ามันมีความสุขมากขึ้นเรื่อย ๆ ในตอนที่เราเริ่มชัดเจนกับเส้นทางต่อไป พอเริ่มมีเป้าหมาย เริ่มมีอะไรที่ชัดเจนขึ้น ความสุขของเรามาในรูปแบบรวม ๆ มากกว่า นึกไม่ออกจริง ๆ ว่าอะไรคือความสุข ณ ตอนนั้น”
“ในเรื่องความมุ่งหมาย อย่างที่บอกไปว่าตอนแรกเข้ามาแบบไม่มีจุดหมายอะไร เข้ามาคิดว่านิติน่าจะเป็นสิ่งที่เราชอบ น่าจะโอเคกับการเรียนกฎหมาย แต่เวลาใครถามว่าจบไปอยากไปเป็นอะไร ในตอนนั้นก็ยังไม่มีคำตอบให้ ส่วนวิชาชีพอาจารย์ เป็นวิชาชีพที่ไม่ได้อยู่ในหัวเลย แปลกเหมือนกันเพราะวิชาชีพอาจารย์เป็นวิชาชีพแรกในการเรียนกฎหมายเลยที่เข้ามาแล้วได้เจอ แต่เราไม่ได้นึกถึงเลยว่าเราสามารถไปประกอบอาชีพนี้ได้หลังเรียนจบ แต่ความสนใจความมุ่งหมายมันเพิ่งมาเปลี่ยนเลยตอนที่เรารู้ว่าชอบกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชน เราเริ่มคิดแล้วว่าถ้าเราชอบทางกฎหมายมหาชน เราจะไปเป็นผู้พิพากษา อัยการ มันก็คงไม่ใช่แนวเท่าไหร่ เพราะเราคงไม่ได้จับวิชาที่เราชอบในวิชาชีพ คือมันไม่ได้เป็นหลักในวิชาชีพนั้น ๆ เราเลยเริ่มกลับมาสำรวจตัวเองมากขึ้นว่าวิชาชีพต่าง ๆ มีเนื้องานเป็นอย่างไร เราเป็นคนชอบอะไรที่เป็นทฤษฎี หลักการ นามธรรม abstract ที่สามารถคิดต่อยอดอะไรไปได้ พอประมาณปี 3-4 ถึงมาคิดออกว่าวิชาชีพอาจารย์น่าจะเป็นอะไรที่เราชอบ เพราะเราชอบงานวิชาการ เราชอบสอนและเป็นคนที่ชอบติวให้เพื่อนมาตั้งแต่ตอนมัธยมและมหาลัยแล้ว เราชอบที่ได้อธิบายอะไรให้คนอื่นเข้าใจ และในตอนนั้นหลักสูตรเรายังไม่มีวิชาที่ให้นักศึกษาได้ลองเขียนงานวิชาการ ทำให้ตอนนั้นก็ยังไม่ค่อยแน่ใจมากนัก จนมาลงวิชาเลือกตัวนึงตอนปี 4 คือวิชาปัญหากฎหมายธุรกิจ มันไม่ใช่วิชาที่เราสนใจเลยแต่ปรากฏว่าอาจารย์สหธนให้สอบแบบเขียน Essay เป็นครั้งแรกเลยที่ได้ลองเขียนงานที่เกี่ยวกับวิชาการ โจทย์ที่อาจารย์ให้ก็เป็นแนวปลายเปิดที่เราต้องไปค้นคว้ามาเพื่อวิเคราะห์หาคำตอบของตัวเอง เรารู้สึกว่ามันแปลกมากเลยในแง่ที่ว่าเราไม่ชอบวิชาทางสายแพ่ง ไม่ถนัดวิชาธุรกิจ แต่เรารู้สึกสนุกมากเลยในตอนที่เขียน เราเลยคิดว่าเริ่มเคลียร์แล้วว่าเราน่าจะเหมาะกับวิชาชีพอาจารย์มากกว่าวิชาชีพผู้พิพากษาอัยการ ช่วงปี 3-4 จึงเป็น Final decision เลยว่าเราอยากเป็นอาจารย์ ตัดตัวเลือกอื่นออกไปหมดเลย เราถามตัวเองจนมั่นใจแล้วว่ามันน่าจะเป็นทางเดียวที่เหมาะสมกับตัวเอง หา career path ของการเป็นอาจารย์ตั้งแต่ตอนนั้นเลย”
“หลังจากที่เราจบคณะฯมีเปิดรับอาจารย์วุฒิ ป.ตรี ครั้งนึง แต่ว่าเราติดปัญหาส่วนตัวนิดหน่อยเลยทำให้ไปสอบไม่ได้ และเราคิดว่าถ้าคณะฯเปิดรับอาจารย์วุฒิ ป.ตรี อีกครั้งค่อยมาสอบใหม่ก็ได้ แต่ปรากฏว่าคณะฯไม่เปิดรับอาจารย์วุฒิ ป.ตรี อีกเลย เริ่มเปิดเป็น ป.โท แทน เราเลยไปเรียน ป.โท ระหว่างที่เราเรียน ป.โทอยู่ ก็มีการเปิดรับอาจารย์วุฒิ ป.โทด้วย แต่พอเราใกล้จบ ป.โท คณะฯก็ไปเปิดวุฒิ ป.เอก แทนอีก เป็นเส้นทางที่เรียกได้ว่าหนักหนาอยู่เหมือนกัน เราใช้เวลาเกือบ 10 ปีกว่าจะสอบมาเป็นอาจารย์อย่างที่ตั้งใจไว้ได้ เป็นการไล่ตามเป้าหมายแบบที่เส้นชัยมันขยับไปเรื่อย ๆ”
อ.ศศิภา ขณะเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำถาม (3) : กิจกรรมและงานอดิเรกระหว่างศึกษา และเทคนิคการบริหารจัดการเวลาระหว่างการเรียนและการใช้ชีวิต
“อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าไม่ใช่เด็กเรียนเลย เป็นคนชิว ๆ ด้วยซ้ำ ไม่ค่อยทำอะไร กิจกรรมที่ทำตอนนั้นก็แน่นอนว่าตัดกิจกรรมวิชาการออกไปได้เลย เพราะตอนนั้นคิดว่าเรียนก็หนักแล้ว ถ้าไปทำกิจกรรมวิชาการอีกก็คงจะไม่ไหว ดังนั้นกิจกรรมที่เราทำก็จะเป็นสันทนาการ เพราะเราเป็นคนชอบเต้น ชอบตั้งแต่ช่วง ม.6 ตอนนั้นจริงจังกับการเต้นมากขนาดจะไปเป็น dancer แล้ว กิจกรรมหลักที่เราทำคือเต้น cover dance งานอดิเรกหลักในช่วงนั้นก็จะเป็นเล่มเกม เล่นดนตรี และเต้น”
“การแบ่งเวลา สมัย ป.ตรี เราไม่ค่อยเข้าเรียน เราเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเอง เพราะเราเป็นคนที่สมาธิสั้น ไม่สามารถนั่งเรียน 3 ชั่วโมงนาน ๆ อ่านหนังสือนาน ๆ ได้ โฟกัสหลุดง่ายมาก การอ่านหนังสือเองสำหรับเราเลย practical มากกว่า ในแง่ที่ว่าเราอ่านตั้งแต่ต้นเทอมอ่านวันละนิดละหน่อย อ่านวันละ 10-20 หน้า แต่ก็มีช่วงนึงที่เราเข้าฟังเลคเชอร์บ่อย ๆ คือช่วงปี 3 เพราะเรารู้สึกว่าวิชามันยาก อาจจะอ่านเองไม่ไหว เราจะอ่านหนังสือตั้งแต่ต้นเทอม เก็บเล็กผสมน้อย และช่วงท้ายเทอมเราจะไม่อ่านหนังสือทั้งเล่มแล้ว เราจะทำ mindmap ของตัวเอง ไม่ใช่ถอดเทป ไม่ใช่เลคเชอร์อะไรแบบนี้นะ แต่จะทำสรุปเป็น mindmap และเตรียมอ่านเฉพาะตรงนั้น อาจจะมีกลับไปอ่านหนังสือเสริมบ้างเป็นจุด ๆ แต่ไม่ได้กลับไปอ่านทั้งเล่มแล้ว เรามีเป้าหมายอยู่ว่าเราต้องอ่านให้ทัน ทำสรุปให้ทัน ดังนั้น จะไม่มีไปเผาช่วงท้ายเทอม ไม่มีการโต้รุ่งไปสอบแน่นอน”
คำถาม (4) : เคยมีความเครียดในระหว่างศึกษาบ้างหรือไม่ (เช่น เรื่องการเรียน การใช้ชีวิต หรือด้านอื่น) และมีวิธีจัดการให้ก้าวผ่านอุปสรรคและความท้อแท้ใจไปได้อย่างไร รวมถึงมีวิชาที่ไม่ชอบบ้างหรือไม่ หากมีมีวิธีจัดการอย่างไร
“ช่วง ป.ตรี จะเป็นช่วงที่เราไม่ได้เครียดอะไรขนาดนั้น ถึงคะแนนอาจจะมีผิดหวังไปหลายตัวบ้าง แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้อยู่ แต่ช่วงที่เครียดจริง ๆ จะเป็นช่วงที่เราไล่ตามความฝันในการเป็นอาจารย์มากกว่า เพราะเหมือนเส้นชัยมันขยับออกไปทุกที พอเราจะก้าวถึงมันก็ขยับออกไปอีก มันเคว้งมาก ยิ่งมหาลัยรับสมัครวุฒิสูงขึ้น มันหมายความว่าสาขาที่รับสมัครจะยิ่งแคบลง เค้าจะระบุเฉพาะเจาะจงมากขึ้นแล้วมันเดาไม่ได้ว่าคณะฯจะมีความต้องการอาจารย์ในสาขาอะไร มันจะเกิดความเครียดในลักษณะที่ว่าในระหว่างสาขาที่เราอยากเรียนกับสาขาที่คณะต้องการเราจะเรียนยังไง และการเรียน ป.เอก ถ้าเราเลือกเรียนไปแล้วแต่คณะฯไม่รับสมัครขึ้นมาเราจะทำยังไง แล้วเราตัดสินใจเรียนด้านนิติปรัชญา ซึ่งถ้าลองไปดูสถิติจะพบว่าคณะฯไม่เคยเปิดรับอาจารย์ในสาขานิติปรัชญาเลย เราก็เครียดมากว่าจะเอายังไงดี เป็นอย่างงี้เกือบ 10 ปี มันเคว้ง เคยไปปรึกษาหลายคน และเคยเข้าไปถามที่คณะฯเลยว่าจะมีโอกาสเปิดรับสมัครอาจารย์วุฒิ ป.โท อีกมั้ย เพราะถ้าให้เราไปเรียน ป.เอก ต่อเลยเราไม่ไหว เพราะใจจริงอยากเป็นอาจารย์ก่อนแล้วค่อยไปเรียน ป.เอก แต่สุดท้ายแล้วเราก็ตัดสินใจว่าไม่ไหวก็ต้องไหว จังหวะพอดีมากเลยที่คณะฯเปิดรับสมัครอาจารย์พอดี เราเลยได้สถานะเป็น candidate มาสมัคร ตอนสอบอาจารย์ก็เครียดนะว่าถ้าเราพลาดรอบนี้ไปจะมีเปิดสอบรอบใหม่อีกมั้ย”
อ.ศศิภา ขณะเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“วิธีการจัดการให้ก้าวผ่านอุปสรรคของเราคือ ชีวิตเราต้องมีเป้าหมาย เราเป็นคนที่ต้องขับเคลื่อนด้วย passion หรือความชอบ รู้ตัวเลยว่าถ้าชอบอะไรจะทำได้ดี ในขณะเดียวกันถ้าไม่ชอบเราก็จะไม่ทำเลย เพราะฉะนั้นพอมีเป้าหมายแล้ว อย่างน้อยในใจเรายังไงก็ต้องพยายามทำให้ได้ และจริง ๆ เราเป็นคนที่ค่อนข้างมีแพลนชีวิตอยู่พอสมควร เราจะแบ่งวิธีออกเป็นเป้าหมายระยะยาว ระยะกลางและระยะสั้น ก่อนอื่นต้องมีเป้าหมายระยาว ultimate goal พอมีเป้าหมายระยะยาวแล้ว เช่น เราอยากเป็นอาจารย์ เราจะมีแพลนระยะกลางคือการที่เราจะไปถึงเป้าหมายได้ เราไปทางไหนได้บ้าง เช่น เรียนภาษา เรียน ป.โท เรียน ป.เอก จากนั้นพอรู้แพลนระยะกลางแล้วมันจะเป็นรูปธรรมขึ้น ทำให้เรารู้ว่าระยะสั้นต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ไปถึงระยะกลาง ถ้าระยะกลางแพลนแรกไม่สำเร็จ เราจะไปแพลน 2 หรือ 3 ได้อย่างไร ต่อมาสิ่งที่เราโฟกัสที่สุดคือแพลนระยะสั้น ทำให้เสร็จไปทีละอย่าง อย่าเพิ่งไปคิดว่าพอมีแพลนระยะยาวแล้วมันจะต้องสำเร็จพรุ่งนี้เลย ถ้าคิดอย่างนั้นจะเครียดอยู่แล้วแหละ ถ้าเรามีแพลนระยะยาว ระยะกลาง ระยะสั้นแล้วเราจะรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง เหมือนเล่นที่เราต้องเก็บ missions ย่อยไปเรื่อย ๆ ให้เราได้ level แล้วพลังเราจะเยอะ เพราะฉะนั้นวิธีที่เราจัดการกับความเครียดคือเราจะกลับมายึดเป้าหมายระยะสั้น ให้ผ่านมันไปให้ได้ทีละอย่าง และวิธีที่จะทำให้เราผ่านเป้าหมายระยะสั้นไปได้อีกก็คือการให้รางวัลกับตัวเอง พยายามหาความสุขอะไรให้กับตัวเองในระหว่างทาง ชมตัวเองเยอะ ๆ ก็ได้ เพราะเรามีเป้าหมายก็จริงแต่ระหว่างทางมันก็สำคัญ และถ้ามันเครียดมากจริง ๆ ให้หยุดพัก หยุดทุกอย่าง อย่าเพิ่งฝืน พักแล้วไปทำอะไรที่ตัวเองชอบก่อน ถ้าเป็นเราในกรณีที่เครียดมาก ๆ ก็จะเล่นดนตรี ฟังเพลง ออกไปเดินเล่น แต่ถ้าเครียดไม่มากก็จะเล่นเกม คือให้ไป heal ตัวเองก่อน แล้วถ้าจะกลับมาใหม่ อาจจะเริ่มจากการตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น อ่านหนังสือวันละ 10 หน้าแล้วจะกินขนมที่ตัวเองชอบก็ได้”
“วิชาที่ไม่ชอบ เช่น วิชาวิแพ่ง ไม่ถึงขนาดกับไม่ชอบในตัววิชาขนาดนั้น แต่วิแพ่งเป็นวิชาที่เลี่ยงฎีกาค่อนข้างยาก และน่าจะจำเยอะที่สุดแล้วในการเรียนคณะนิติเพราะส่วนใหญ่เป็นแนวคำพิพากษา เป็นเรื่องของ practice ในกระบวนการ และเราเรียนเซคที่หนังสือมันเยอะมากด้วย ซึ่งส่วนตัวเราเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือมากขนาดนั้น จริง ๆ ก็ไม่ได้มีวิธีการรับมืออะไรเป็นพิเศษ คือคิดว่ามันก็ต้องเรียนอ่ะ โดยรวมการเรียนนิติเป็นสิ่งที่เราเลือก เมื่อเราเลือกแล้วเราก็ต้องรับผิดชอบกับมัน เป็นอีกวิชาที่ต้องผ่านมันไปให้ได้ เราก็จะพยายามทำให้เต็มที่ ยิ่งวิชาที่ไม่ชอบเราก็จะไม่ค่อยอยากเรียน แต่เราก็จะยิ่งกลัวสอบตกเหมือนกัน ทำให้เราเตรียมตัวเยอะขึ้น อาจจะไปเน้นเรื่องการทำข้อสอบเก่าให้เยอะขึ้น”
คำถาม (5) : เมื่อมีสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังเกิดขึ้น มีวิธีจัดการอย่างไร
“ส่วนตัวเราก็มีสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังเหมือนกัน ค่อนข้างเฮิร์ทกับเราพอสมควรคือวิชาปกครอง 2 เป็นวิชาที่เราแบบว่ามั่นใจมาก ขยันมาก มีคำถามไปถามอาจารย์เยอะที่สุดตั้งแต่ที่เคยเรียนมา ทำเลคเชอร์ อ่านหนังสือเข้าใจทุกประเด็น ทำชีทสรุปแจกและข้อสอบเราก็ทำได้ แต่พอคะแนนออกมาได้ 70 คะแนน ซึ่งคะแนนออกมาค่อนข้างห่างจากที่เราหวังไว้อยู่พอสมควร ด้วยความที่เรามั่นใจมากและข้อสอบมันก็ไม่ได้ยาก เราทำได้ แต่เรารู้ตัวว่าเขียนตอบไปไม่ค่อยดี ไม่ได้อธิบายมากนัก เขียนฟังธงออกไปอย่างเดียว คะแนนออกมามันก็เฟลจริง เพราะเราหวังไว้เยอะ แต่สุดท้ายแล้ว การสอบมันคือรูปแบบของการวัดความรู้ในรูปแบบหนึ่ง ณ ขณะหนึ่งเท่านั้น การสอบมันไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในการวัดความสามารถของเรา สถานการณ์ในการทำข้อสอบมันมีปัจจัยอะไรอื่นอีกเยอะ ไม่ว่าจะสมาธิ อารมณ์ สุขภาพหรือเหตุขัดข้องทางเทคนิคอื่น ๆ คะแนนสอบดีมันก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้ามันไม่โอเค เราว่าสิ่งแรกที่ต้องทำคือ reflect ว่าเราทำเต็มที่หรือยัง สิ่งที่เราเขียนไปมันสะท้อนคะแนนเราจริงหรือเปล่า ถ้ามันสะท้อนแล้วนักศึกษาอาจจะต้องคิดว่าเราจะพัฒนาให้มันดีขึ้นยังไง แต่ถ้าสิ่งที่เขียนไปมันไม่สะท้อนคะแนน สิ่งที่เราทำได้คือเราอาจจะต้องไปถามอาจารย์ว่ามีข้อผิดพลาดตรงไหน มีคอมเมนต์ตรงไหนหรือเขียนไม่ดีตรงไหน ถ้าได้คะแนนน้อยกว่าที่ตั้งใจไว้ เสียใจได้ผิดหวังได้ มันเป็นกันทุกคน เราก็เป็น แต่ก็ต้องมูฟออน ถ้าคะแนนจะน้อยไปสักวิชาหรือหลายวิชามันไม่ได้หมายความว่าคุณจะจบไปเป็นนักกฎหมายที่ไร้คุณภาพ”
“การที่ประตูบานนึงมันอาจจะปิดไป นั่นไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีทางไปต่อ อาจจะหมายความว่าเราได้ค้นพบประตูบานอื่นที่เราอาจจะไม่เคยมองมันเลย และถ้าเราได้ลองเปิดประตูบานนั้นไปมันก็อาจจะเป็นทางที่เราชอบมากกว่าเดิมก็ได้ ถึงแม้โอกาสนึงหมดไปแต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งชีวิตเราจะไม่มีโอกาสอีกแล้ว ผิดหวังได้ ท้อได้ เสียใจได้แต่อย่าจมไปกับมัน ดึงตัวเองกลับมาให้ได้ ถ้ารู้สึกว่าเราไม่สามารถจัดการกับความรู้สึกได้ ลองหาที่ปรึกษาหรือลองพูดคุยกับคนอื่นที่เค้าพร้อมช่วยดึงเราหรือเป็นพลังใจให้เราออกมาจากตรงนั้นได้ดู ถ้านักศึกษาไม่รู้จะปรึกษาใคร ไม่รู้จะไประบายให้ใครฟังก็สามารถมาคุยกับเราได้ เรารู้สึกว่านี่ก็เป็นหนึ่งในหน้าที่ความรับผิดชอบของอาจารย์ด้วยที่จะต้องดูแลนักศึกษา เราอาจจะไม่สามารถช่วยนักศึกษาได้ทุกเรื่อง ในแง่ที่ว่าเข้าไปแก้ปัญหาให้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็สามารถรับฟังและให้คำแนะนำเบื้องต้นกับนักศึกษาได้”
อ.ศศิภา ขณะเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำถาม (6) : หากย้อนเวลากลับไปได้ จะบอกกับตัวเองตอนกำลังศึกษาอยู่ว่าอย่างไร
“อยากบอกตัวเองให้เข้าฟังบรรยายให้เยอะกว่านี้ ระยะเวลา 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นช่วงเวลาที่พิเศษสำหรับเรา มันเป็นช่วงเวลาที่มันหาเวลาอื่นมาทดแทนไม่ได้ เรารู้สึกเห็นใจนักศึกษารุ่นนี้มากที่ชีวิตมหาลัยหายไปเพราะโควิด 2 ปีแล้ว ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็อยากใช้ชีวิตในมหาลัยให้เยอะกว่านี้ เข้าเรียน ไปเจอเพื่อนเยอะกว่านี้”
คำถาม (7) : ให้ข้อคิดสำหรับนักศึกษาที่หมดไฟหรือกำลังท้อแท้ใจ
“ท้อได้ หมดไฟได้ แต่ต้องดึงตัวเองกลับมาให้ได้ ท้อก็พัก เหนื่อยก็พัก หมดไฟก็พักไปทำอย่างอื่นเพื่อเติมพลังให้กลับมาทำตามเส้นทางที่เรามุ่งมั่นต่อไป ถ้าเราท้ออย่างน้อยเป้าหมายระยะยาวอย่าหาย สิ่งที่เราอยากให้นักศึกษาทำจริง ๆ คือการสำรวจตัวเอง พยายามหาว่าตัวเองมีเป้าหมายอะไรจริง ๆ พอเป้าหมายระยะยาวเราชัด ไม่ว่าเราจะท้อหรือเราจะหมดไฟกับอะไรที่อยู่ตรงหน้าแต่เราจะกลับมาได้ การหมดไฟเป็นกันได้ทุกคนและแต่ละคนอาจจะใช้เวลาไม่เท่ากันในการที่จะกลับมาให้ได้เหมือนเดิม แต่สิ่งสำคัญที่เราคิดว่าจะช่วยได้คือเราต้องรู้จุดที่เราต้องการพัก พยายามหาอะไรที่ทำแล้วตัวเองมีความสุข เติมความสุขให้ตัวเองให้ได้ เติมไฟให้ตัวเองกลับมา พักจากเรื่องที่ท้อไปก่อน ส่วนใหญ่เราคิดว่าคนที่หมดไฟคือเราไม่ได้รู้สึกถึงความสำเร็จของตัวเอง รู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่มันไม่ได้นำไปสู่อะไร ดังนั้นการเติมไฟมันคือการรีเฟรชตัวเอง ทำให้ตัวเองรู้สึกว่ามีเป้าหมายและพยายามทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จกับอะไรบางอย่าง อาจจะต้องเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ก่อน เช่น ไปออกกำลังกาย การหาเป้าหมายอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วทำให้สำเร็จนั้นจะรู้ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า รู้สึกแฮปปี้ มันจะค่อย ๆ เติมไฟให้เราได้ แล้วเราค่อยกลับมาสู่เป้าหมายหลัก อันนี้ก็จะเป็นวิธีการของเราซึ่งอาจจะพอเอาไปปรับใช้กับหลาย ๆ คนได้”
ภาพ : อ.ศศิภา
เรียบเรียง : อ.ดร.พนัญญา