มุมมองอาจารย์กับการจัดการความเครียด 101 : อ.เพียรรัตน์ ลีลาพงศธร
บทสัมภาษณ์โดยศูนย์ดูแลสุขภาวะของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Law TU Health & Wellness)
คำถาม (1) : ประวัติส่วนตัว และแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมาย
“สวัสดีค่ะ ขออนุญาตแนะนำตัวนะคะ ชื่อ เพียรรัตน์ ลีลาพงศธร ค่ะ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และก็เป็นศิษย์เก่าของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยค่ะ”
“สำหรับแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมาย ถ้ามองย้อนกลับไปในชีวิตวัยมัธยมศึกษาของอาจารย์ ตอนนั้นอาจารย์ใช้วิธีหันกลับมามองหาสิ่งที่เราชอบและทำได้ดีค่ะ ซึ่งในตอนนั้นวิชาที่ทำได้ดีที่สุด คือ วิชาสังคมศึกษาและวิชาภาษาไทยค่ะ จำได้ว่าเคยทำคะแนนในส่วนความรู้เกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปได้คะแนนสูงที่สุดในชั้นเรียนด้วย และก็เป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก ๆ โดยเฉพาะหนังสือวรรณกรรมเยาวชนและหนังสือนิยาย ดังนั้น เมื่อเราพิจารณากลุ่มคณะสังคมศาสตร์ที่เปิดสอน คณะนิติศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่เราเก็บเอาไว้ในใจตั้งแต่แรกแล้วค่ะ ประกอบกับครอบครัวอาจารย์เองครั้งหนึ่งเคยประสบปัญหาเกี่ยวกับสัญญาการก่อสร้างและการซื้อขายบ้านค่ะ แต่โชคดีมากที่ได้ญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นนักกฎหมายเข้ามาให้ความช่วยเหลือจนเรื่องราวในครั้งนั้นผ่านไปได้ด้วยดี ในที่สุดอาจารย์จึงตัดสินใจสอบคัดเลือกเพื่อศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ค่ะ”
คำถาม (2) : ความสุขในการศึกษากฎหมาย ความมุ่งหมายในเส้นทางนิติศาสตร์ตั้งแต่ตอนเข้าศึกษาจนถึงปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง และค้นพบตัวเองว่าอยากเป็นอาจารย์เมื่อใด เหตุใดจึงตัดสินใจมาเป็นอาจารย์
“อาจารย์คิดว่าการเรียนในระดับปริญญาโทเป็นจุดที่ทำให้เส้นทางนิติศาสตร์ของอาจารย์ชัดเจนขึ้นและมีส่วนเป็นอย่างมากในการสร้างความเป็นนักวิชาการให้กับอาจารย์ค่ะ เพราะการเรียนระดับปริญญาโทไม่ใช่แค่เรื่องการจำหรือแค่ทำความเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามที่หนังสือเขียนเอาไว้หรือที่อาจารย์ที่สอนเราท่านบอกเราเท่านั้น แต่เราจะได้ลองคิดถึงถึงแง่มุมต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง ฝึกมองปัญหา และการหาทางแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยกฎหมายเป็นครั้งแรก ซึ่งอาจารย์คิดว่าช่วงชีวิตตอนนั้นเป็นการเรียนกฎหมายที่มีความสุขมาก ๆ เลยค่ะ ”
“ส่วนการค้นหาตัวเอง โดยส่วนตัวอาจารย์คิดว่าตัวเองเป็นคนประเภทที่ค้นพบตัวเองจากการทดลองลงมือปฏิบัติจริงค่ะ เมื่อเรียนจบปริญญาตรีอาจารย์เริ่มต้นชีวิตการทำงานครั้งแรกที่ Law firm แห่งหนึ่งค่ะ ได้ทำงานเป็น Lawyer ของแผนก IP ดูแลเรื่อง Trademark ซึ่งตอนที่ทำงานก็ทำให้เรารู้ตัวว่านี่อาจจะไม่ใช่งานที่ใช่สำหรับเรา จึงตัดสินใจลาออกในเวลาต่อมาค่ะ หลังจากลาออกมาอาจารย์ก็ไปของานเพื่อนสนิททำค่ะ ซึ่งในตอนนั้นเพื่อนของอาจารย์เป็นทนายอยู่ที่สำนักงานทนายความแห่งหนึ่งแถวฝั่งธนฯ ค่ะ โดยคดีของสำนักงานนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคดีเกี่ยวกับการสวมสิทธิในหนี้ต่าง ๆ แต่ก็จะมีคดีประเภทอื่น ๆ ด้วยนะคะ อาจารย์เองก็ได้มีโอกาสสำรวจตัวเองว่าเหมาะไหมกับบทบาทการเป็นทนายความที่ว่าความในศาลหรือไม่เป็นครั้งแรกค่ะ ซึ่งอาจารย์ก็ค้นพบว่าเราน่าจะไม่ชอบบทบาทนี้ค่ะ หลังจากนั้นไม่นานอาจารย์ก็เรียนจบระดับชั้นปริญญาโทและมีมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งเปิดรับสมัครอาจารย์ประจำพอดีค่ะ อาจารย์ก็เลยตัดสินใจไปสมัครและก็ได้สอนกฎหมายที่นั่นเป็นครั้งแรก อาจารย์คิดว่าที่นั่นเป็นที่ ๆ ทำให้อาจารย์ค้นพบตัวเองว่าเราชอบและอยากเป็นอาจารย์ค่ะ เราค้นพบว่าเราชอบสอน เราอยากพูดเรื่องที่ดูเข้าใจยาก ๆ ให้นักศึกษาเข้าใจได้ง่ายขึ้น แล้วเวลามีนักศึกษาบอกว่าเราที่ทำให้เค้าเกิดความเข้าใจในสิ่งที่เรียนได้ อาจารย์คิดว่าอาจารย์รู้สึกหัวใจพองโตมาก ๆ เลยค่ะ”
คำถาม (3) : กิจกรรมและงานอดิเรกระหว่างศึกษา และเทคนิคการบริหารจัดการเวลาระหว่างการเรียนและการใช้ชีวิต
“ถ้าเป็นกิจกรรมนักศึกษาในคณะ ฯ อาจารย์เคยเป็นกองบรรณาธิการหนังสือรพีค่ะ และก็สมัยก่อนจะมีหนังสือพิมพ์ของคณะ ฯ ชื่อว่า “ฎีกา” อาจารย์เคยรับผิดชอบเขียนคอลัมน์ ‘Legal mind’ และ ‘เปิดตำราพยากรณ์’ ค่ะ ส่วนถ้าเป็นกิจกรรมของมหาวิทยาลัยก็มีไปช่วยเป็น staff งานฟุตบอลประเพณีฯ ค่ะ”
“ส่วนงานอดิเรกของอาจารย์หลัก ๆ ก็คือ ‘การดูหนัง’ ค่ะ สมัยเรียนระดับชั้นปริญญาตรีกลุ่มเพื่อนสนิทของอาจารย์จะทราบดีว่า ถ้าไม่มีเรียนอาจารย์มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องดูหนังของหอสมุดป๋วย ฯ ค่ะ รวมไปถึงการดูหนังที่ทางโทรทัศน์นำมาออกอากาศให้ชมด้วยนะคะ แต่อาจารย์ไม่ค่อยดูหนังในโรงภาพยนตร์สักเท่าไหร่นักค่ะ”
“สำหรับการจัดสมดุลในชีวิต อาจารย์เองในสมัยเรียนระดับชั้นปริญญาตรีระหว่างภาคเรียนถ้ามีเรียนอาจารย์ก็จะไปเรียนตามปกติค่ะ แต่ถ้าไม่มีเรียนเราก็ใช้เวลาว่างพักผ่อนกับกลุ่มเพื่อนสนิท ไปทานข้าวร้านอร่อย ไปปั่นจักรยานเล่น หรือไปดูหนังค่ะ อย่างไรก็ตาม พอถึงเวลาที่จะต้องสอบ เราก็ต้องรู้ตัวเองแล้วว่า ถึงเวลาแล้วนะที่เราต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ความเป็นนักศึกษาที่ในการที่จะต้องทบทวนบทเรียนและเตรียมตัวให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้สำหรับการสอบค่ะ”
คำถาม (4) : เคยมีความเครียดในระหว่างศึกษาบ้างหรือไม่ (เช่น เรื่องการเรียน การใช้ชีวิต หรือด้านอื่น) และมีวิธีจัดการให้ก้าวผ่านอุปสรรคและความท้อแท้ใจไปได้อย่างไร รวมถึงมีวิชาที่ไม่ชอบบ้างหรือไม่ หากมีมีวิธีจัดการอย่างไร
“แน่นอนค่ะว่าต้องเคย เวลาเจอปัญหาหรือเรื่องที่ไม่สบายใจ ส่วนใหญ่อาจารย์จะใช้วิธีการการลุยกับปัญหาไปเลยค่ะ เพราะอาจารย์สังเกตว่าตัวเองเป็นคนที่ถ้าเจอกับปัญหาหรือเรื่องที่ไม่สบายใจจะต้องจัดการหรือรู้วิธีที่จะจัดการกับมันก่อนถึงจะหายเครียดค่ะ ดังนั้น เวลาเจอปัญหาหรือเรื่องไม่สบายใจ อาจารย์ก็จะมองหาว่าสาเหตุของปัญหาหรือเรื่องที่เราไม่สบายใจมันคืออะไร แล้วก็ค่อย ๆ แก้ปัญหาไป ตอนแรกที่เรายังไม่ได้ทำอะไรเลยเราอาจจะเครียดมาก แต่พอเรารู้วิธีการรับมือกับมัน หรือทยอยแก้ไขเรื่องต่าง ๆ ไปได้ เราจะค่อย ๆ สบายใจขึ้นค่ะ ซึ่งถ้าเป็นไปได้อาจารย์ก็จะพยายามให้ช่วงเวลาที่เราจัดการกับปัญหามันสั้นที่สุด เพื่อที่ว่าจิตใจเราจะได้ไม่ต้องแบกรับเรื่องที่ค้างคาใจเอาไว้นาน ๆ ค่ะ”
“ส่วนวิชาที่อาจารย์ไม่ชอบสมัยเรียน คือ กฎหมายวิธีพิจารณาความค่ะ เพราะในตอนนั้นเราเรียนแล้วยังมองไม่เห็นภาพของกระบวนการยุติธรรม เราเรียนโดยพยายามทำความเข้าใจกระบวนการต่าง ๆ แต่ถ้าส่วนไหนที่นึกภาพไม่ออกก็ใช้ความจำในการท่องจำไปเลยค่ะว่ากฎหมายบัญญัติไว้ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ค่ะ มันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่าเรียนแล้วค่อนข้างอึดอัดเหมือนเราไม่สามารถต่อจิ๊กซอว์ให้ภาพมันสมบูรณ์ได้ อย่างไรก็ตาม พอเราได้มีโอกาสเห็นกระบวนการจริงในภายหลังทั้งจากการฝึกงานและการทำงานก็ทำให้ความอึดอัดนั้นคลี่คลายออกไปและทำให้ภาพความเข้าใจในหัวของเราก็ค่อย ๆ สมบูรณ์ขึ้น เหมือนได้ชิ้นส่วนจิ๊กซอที่หายไปมาเติมเลยค่ะ”
คำถาม (5) : เมื่อมีสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังเกิดขึ้น มีวิธีจัดการอย่างไร
“อาจารย์ก็คงจะดูก่อนว่าเราสามารถแก้ไขอะไรได้อยู่ไหม ถ้าแก้ไขอาจารย์ก็จะพยายามจัดการแก้ไขก่อนค่ะ แต่ถ้าแก้ไขไม่ได้จริง ๆ อาจารย์คิดว่าตัวเองก็คงต้องรู้สึกผิดหวังและเสียใจตามธรรมดา ซึ่งปกติแล้วอาจารย์คงเริ่มจากการพูดคุยกับเพื่อนสนิทหรือคนที่อาจารย์รู้สึกไว้ใจก่อนค่ะ ก็จะบ่นจะเล่าใส่อารมณ์อย่างเต็มที่เลยค่ะ หลังจากเราเล่าให้เค้าฟัง บางทีเค้าอาจจะสะท้อนแง่มุมที่เรามองเองไม่เห็นหรือมอบคำแนะนำดี ๆ ให้เรา ซึ่งบางครั้งอาจจะทำให้เราเกิดความหวังขึ้นมาใหม่เลยก็มีนะคะ หลังจากนั้นโดยปกติแล้วอาจารย์จะพยายามทำให้ตัวเองกลับมาสดใสอีกครั้งค่ะ อาจารย์คิดว่าเรื่องนี้แต่ละคนคงมีวิธีการเฉพาะของตัวเองในการเรียกพลังงานบวกของตัวเองกลับมา เช่น นั่งสมาธิ ออกกำลังกาย ฟังเพลง เต้น เป็นต้น โดยส่วนตัวอาจารย์จะใช้วิธีเปิดเพลงที่ชอบ เพลงที่มีจังหวะหน่อย แล้วก็ร้องเพลงตามค่ะ คึก ๆ หน่อยก็อาจจะมีโยกตามบ้างเหมือนกันนะคะ หรือไม่อาจารย์ก็จะหาคลิปวีดีโอสนุก ๆ ดูค่ะ หลังจากนั้นก็จะพาตัวเองเข้าสู่กระบวนการปลอบใจตัวเองค่ะ อาจจะบอกตัวเองว่าคนเราเกิดมามีชีวิตเดียว เป็นธรรมดาที่ต้องเผชิญกับอารมณ์ที่หลากหลาย ถ้าเราเจอแต่ความสุขสมหวังอย่างเดียวก็เบื่อแย่สิ นี่ชีวิตนี้เราได้เจออีกอารมณ์แล้วนะ แต่ก็อย่ามาให้เจอบ่อย ๆ เลยนะคะ เจ้าความผิดหวังเนี่ย เราคงต้องยอมให้สิ่งที่แก้ไขอะไรไม่ได้แล้วผ่านพ้นไป เพื่อที่ว่าเราจะได้เริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้งแล้วหละ แล้วอาจารย์ก็จะกลับมาเป็นเพียรรัตน์คนเดิมที่ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างสดใสค่ะ”
อ.เพียรรัตน์เมื่อสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต
คำถาม (6) : หากย้อนเวลากลับไปได้ จะบอกกับตัวเองตอนกำลังศึกษาอยู่ว่าอย่างไร
“อาจารย์อยากจะชมตัวเองนะคะว่า ‘เก่งมาก ๆ เลยเพียรรัตน์ เธอใช้ชีวิตได้ดีมาก ๆ เลยนะ’”
คำถาม (7) :ให้ข้อคิดสำหรับนักศึกษาที่หมดไฟหรือกำลังท้อแท้ใจ
“ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อาจจะส่งผลให้นักศึกษาต้องแบกรับความเครียดจากการเรียนและรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก อาจารย์เองก็มีโอกาสได้รับทราบถึงความกังวลของนักศึกษาส่วนหนึ่งว่ารู้สึกเครียดและยังปรับตัวกับการเรียนในรูปแบบออนไลน์ไม่ได้ ทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนลดลงและส่งผลให้คะแนนจากการวัดผลครั้งที่ผ่านมาไม่เป็นอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ค่ะ ในส่วนนี้อาจารย์ไม่อยากให้นักศึกษารู้สึกหมดกำลังใจหรือท้อใจกับการเรียน แต่อยากให้เราหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าเรามองว่าการเรียนจากที่พักของเราทำให้เราเรียนได้ไม่ดีเหมือนกับการเรียนในห้องเรียน นักศึกษาอาจจะลองหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เพื่อแก้ไขในส่วนที่เราพอจะสามารถทำได้ค่ะ อาจารย์ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาความง่วงระหว่างการเรียนออนไลน์ ทำไมเมื่อเรียนออนไลน์แล้วรู้สึกง่วงตลอดเลย ทั้ง ๆ ที่ตอนเรียนในห้องเรียนไม่เคยเป็น เราก็อาจจะลองหันมาพิจารณาว่าปัจจัยอะไรที่เราทำที่บ้านแล้วต่างไปจากตอนเรียนในห้องเรียนบ้าง เช่น เราเรียนออนไลน์บนเตียงนอนขณะที่อยู่ในชุดนอนที่แสนสบายหรือไม่ ถ้าใช่ นี่อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญเลยก็ได้นะคะที่ทำให้เราเผลองีบหลับไประหว่างเรียน เราอาจจะลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยการลุกขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัวด้วยชุดที่เป็นทางการขึ้นมานิดนึงก่อนเรียน และก็อาจจะลองเปลี่ยนอิริยาบถจากการนอนเรียนมาเป็นการนั่งเรียนแทนค่ะ รวมถึงอาจจะลองเปิดกล้องตอนเรียน เนื่องจากการที่เราปิดกล้องเรียนและรู้ว่าอาจารย์ไม่เห็นอยู่แล้วว่าเราจะอยู่ในสภาพไหน เวลาง่วงนอนจึงตัดสินใจอำลาท่านอาจารย์ด้วยตัวเองเข้าสู่ห้วงนิทราได้โดยง่ายค่ะ ซึ่งแตกต่างไปจากการที่เรานั่งเรียนในห้องเรียนและเราเกรงใจว่าอาจารย์ผู้สอนจะเห็นว่าเราหลับในชั้นเรียนค่ะ”
“นอกจากนี้ อาจารย์ไม่อยากให้นักศึกษาปล่อยให้ตัวเองรู้สึกเดียวดายนะคะ การเรียนออนไลน์อาจจะเผลอทำให้เรารู้สึกว่าต้องเรียนหน้าจอคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค หรือไอแพดอยู่คนเดียว อีกทั้ง พอนึกย้อนไปถึงบรรยากาศเก่า ๆ ที่ได้เข้าเรียนพร้อมเพื่อนฝูง มีการจองโต๊ะให้กัน พักเที่ยงแล้วก็ไปทานข้าวพร้อมกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่าง ๆ กัน ก็อาจจะทำให้รู้สึกเหงาเพิ่มขึ้นมาอีกเป็นกอง เราอาจจะลองเปลี่ยนมุมมองและวิธีการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดู เช่น เพื่อนก็นั่งเรียนอยู่พร้อมกับเรานั่นแหละ อาจารย์ก็ยังคงสอนเราอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนมาอยู่ในห้องเรียนออนไลน์แทนเท่านั้น หรือความจริงแล้วเราก็ยังสามารถทานข้าวพร้อมกันกับเพื่อน ๆ ได้เหมือนเดิมนะ เพียงแต่อาจจะเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบออนไลน์ด้วยการนำอาหารกลางวันมาทานหน้ากล้องและพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเหมือนเดิม เป็นต้นค่ะ”
“อาจารย์ขอเป็นกำลังใจให้กับนักศึกษาทุกท่าน และขอให้นักศึกษาทุกท่านดูแลสุขภาพกายและใจของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอนะคะ”
ภาพ : อ.เพียรรัตน์
เรียบเรียง : อ.ดร.พนัญญา