มุมมองอาจารย์กับการจัดการความเครียด 101 : อ.กิตติภพ วังคำ
บทสัมภาษณ์โดยศูนย์ดูแลสุขภาวะของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Law TU Health & Wellness)
คำถาม (1) : ประวัติส่วนตัว และแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมาย
“สวัสดีครับ อ.กิตติภพ วังคำ จบการศึกษาชั้นปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ รหัส 56 ครับ หลังจากจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2560 ก็ได้ศึกษาต่อในระดับเนติบัณฑิต รวมทั้งปริญญาโทที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (สาขากฎหมายภาษี) และจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2562 ในระหว่างศึกษาต่อก็ทำงานเป็นทนายความที่สำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่ง และได้มีโอกาสเป็นผู้ช่วยอาจารย์ (โครงการทุนผู้ช่วยอาจารย์ระดับบัณฑิตศึกษา) ด้วยครับ จากนั้นจึงได้สอบและได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ประจำที่คณะนิติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน”
“ความจริงไม่ได้มีแรงบันดาลใจอะไรเป็นพิเศษครับ แค่รู้สึกชอบแค่นั้น ขอเล่าย้อนกลับไปสมัยเรียนมัธยมปลาย ผมเรียนสายศิลป์-คำนวณ ซึ่ง ณ ตอนนั้นตัดสินใจจะสอบเข้าคณะบัญชีซึ่งเป็นหนึ่งในคณะ Top ของสาย แต่ด้วยความที่ผมอ่อนเลขมาก สุดท้ายเลยต้องตัดใจเพราะคะแนนสอบที่ต้องใช้ยื่นรับตรงคณะบัญชีต่ำกว่าเกณฑ์ที่น่าจะได้รับคัดเลือก แต่โชคดีมากครับ ที่หลังจากนั้นไม่นานได้มีโอกาสเรียนวิชากฎหมายเบื้องต้นที่โรงเรียนสอน แล้วก็ได้ค้นพบว่าชอบเรียนกฎหมายครับ ประกอบกับคุณพ่อซึ่งมีอาชีพเป็นทนายความก็สนับสนุน สุดท้ายเลยตัดสินใจสอบเข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์”
คำถาม (2) : ความสุขในการศึกษากฎหมาย ความมุ่งหมายในเส้นทางนิติศาสตร์ตั้งแต่ตอนเข้าศึกษาจนถึงปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง และค้นพบตัวเองว่าอยากเป็นอาจารย์เมื่อใด เหตุใดจึงตัดสินใจมาเป็นอาจารย์
“ไม่แน่ใจว่าเรียกว่าความสุขได้ไหมนะครับ คืออย่างที่บอกไปว่ามันเริ่มด้วยความชอบ หลาย ๆ อย่างมันก็เลยไปต่อได้ง่าย อาจจะมีปรับตัวในช่วงแรก ๆ ที่นิดหน่อย แต่พอผ่านไปประมาณหนึ่งเทอมก็เริ่มจูนติดครับ เริ่มรู้สึกมั่นใจว่าตัวเองเลือกไม่ผิดที่เรียนกฎหมาย มี passion ที่อยากจะทำให้ทุกอย่างให้มันออกมาดี วิชาที่ทำให้รู้สึกแบบนั้นคือวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญาครับ อ.บรรยาย คือ อ.พัชยา ส่วน อ.สัมมนา คือ อ.กีระเกียรติ จำได้ว่าอินกับเนื้อหาและฝึกเขียนตอบเยอะมาก ๆ แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกอย่างจะง่ายไปหมด 100% จุดที่ยากก็มี เช่น วิชาสายมหาชนซึ่งผมรู้สึกไม่ถนัดเลย แต่เหมือนมีแรงผลักดันบางอย่างทำให้ผ่านความยากลำบากไปได้ตลอด บอกไม่ถูกเหมือนกันครับ คือไม่ได้ถึงขนาดว่ามีพลังเหลือเฟือ ไม่รู้จักเหนื่อย หรืออยากอ่านหนังสือกฎหมายตลอดเวลาอะไรแบบนั้นนะ แค่แบบไม่ได้มีความรู้สึกฝืนที่จะต้องทำ เต็มใจที่จะตื่นเช้ามาเรียน อ่านหนังสือ ทบทวน ทำโน๊ตย่อ ฯลฯ ผ่านไปไม่นานมันก็กลายเป็นความเคยชิน กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว”
“ผมไม่ได้มีความตั้งใจที่จะเป็นอาจารย์ตั้งแต่แรก ตอนเข้ามาเรียนใหม่ ๆ ยังมีมุมมองต่อวิชาชีพกฎหมายที่ค่อนข้างแคบอยู่ รู้จักแค่ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ คิดว่าการรับราชการเป็นผู้พิพากษาอัยการเป็นความสำเร็จสูงสุดของการเรียนกฎหมาย ประกอบกับทางบ้านคาดหวังให้รับราชการ ในตอนแรกเลยอยากเป็นอัยการครับ หลังจากนั้นจึงได้รู้จักวิชาอาชีพอื่น ๆ มากขึ้น เริ่มมีความสนใจงาน law firm เพราะมีรุ่นพี่เล่าให้ฟังว่า partner ใน law firm ได้เงินเดือนสูงถึงเจ็ดหลัก (หัวเราะ) และก็ได้มีโอกาสไปฝึกงาน law firm แห่งหนึ่งเป็นเวลา 2 เดือน อย่างไรก็ตาม ผมกลับไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองชอบงาน law firm ครับ คิดว่าอาจเป็นเพราะลักษณะของการทำงานที่มันเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งที่ต้อง serve ลูกความ และต้องการความ active สูง ซึ่งผมคิดว่าตัวเองไม่ได้มีคุณสมบัติแบบนั้น แม้จะได้ค่าตอบแทนที่สูงแต่เมื่อเทียบกันแล้วผมรู้สึกว่าตัวเองต้องการเวลาในการใช้ชีวิตและมีอิสระในการทำงานมากกว่า เลยเบนเป้าหมายกลับมาที่อัยการอีกครั้ง จนจบการศึกษาและเรียนต่อชั้นเนติบัณฑิต เส้นทางก็ดูเหมือนจะราบรื่นดีตามลำดับ แต่จุดเปลี่ยนเริ่มต้นจากการเรียนต่อปริญญาโทครับ จากที่ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเรียน แค่ไปสอบตามเพื่อน ๆ และปรากฏว่าสอบได้พร้อมกับเพื่อน ๆ เลยตัดสินใจเรียน คิดแค่ว่าอย่างน้อยก็เป็นการเพิ่มสนามสอบอัยการ (สนามเล็ก) ได้ ที่บอกว่าเป็นจุดเปลี่ยน คือ เหมือนได้กลับมาเรียนที่คณะฯ อีกครั้งและได้รับแง่คิดและมุมมองใหม่ ๆ มากขึ้นกว่าเดิม ได้มีโอกาสทำงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์ ได้ค้นคว้าและเขียนงานวิชาการ ได้พบเจอและพูดคุยกับอาจารย์หลาย ๆ ท่านถึงประสบการณ์การทำงานในฐานะอาจารย์ซึ่งไม่เคยได้รู้มาก่อน ทำให้ทัศนคติที่มีต่อวิชาชีพกฎหมายเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก คือไม่ได้รู้สึกว่าวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งจะเป็นความสำเร็จสูงสุดของการเรียนกฎหมายหรือมีความสำคัญมากไปกว่าวิชาชีพอื่น ๆ คิดว่าเราควรตัดสินใจเลือกทำสิ่งที่ชอบหรือทำแล้วมีความสุขมากกว่า ก็เลยเริ่มสนใจอยากจะเป็นอาจารย์ครับ ตอนนั้นก็ยังมีความลังเลอยู่บ้างเพราะก่อนหน้านั้นตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางราชการไปแล้ว แต่ไม่รู้ว่าด้วยความบังเอิญหรืออะไรเป็นใจ ในช่วงที่กำลังลังเลนั้น คณะฯ ก็ประกาศรับสมัครอาจารย์วุฒิปริญญาตรีพอดี ความลังเลก็ค่อย ๆ หายไป สุดท้ายเลยตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะสมัครสอบเป็นอาจารย์ครับ”
อ.กิตติภพ ขณะเป็นนักศึกษาปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำถาม (3) : กิจกรรมและงานอดิเรกระหว่างศึกษา และเทคนิคการบริหารจัดการเวลาระหว่างการเรียนและการใช้ชีวิต
“จำได้ว่าช่วงแรก ๆ ตอนปี 1 ไม่ได้ทำกิจกรรมในคณะฯหรือมหาวิทยาลัยอะไรเลยครับ ความจริงอยากลองทำหลาย ๆ อย่าง แต่ด้วยความที่เป็นคนขี้อาย ยังไม่ค่อยรู้จักใคร และกลัวว่าอาจจะกระทบกับการเรียน เลยกลายเป็นว่าไม่ได้ทำอะไรเลยซึ่งก็น่าเสียดายเหมือนกันครับ จนมาเริ่มเห็นความสำคัญตอนอยู่ปี 2 ครับ เพราะว่าต้องเริ่มเขียน resume เพื่อยื่นสมัครฝึกงาน เลยรู้สึกตัวว่าตัวเองแทบไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย จากนั้นมาก็เลยพยายามหากิจกรรมที่คิดว่าเป็นประโยชน์และเหมาะสมกับตัวเองครับ ก็เลยไปสมัครเป็นผู้ช่วยอาจารย์สัมมนา แล้วก็เป็นคณะกรรมการ ALSA ด้วยครับ รู้สึกประทับใจกับทั้งสองกิจกรรม เพราะนอกจากจะช่วยทบทวนและเสริมความรู้ทางวิชาการแล้ว ยังเป็นการฝึกฝนทักษะภาษาและทักษะในการทำงานร่วมกับคนอื่นไปด้วย สำหรับงานอดิเรกผมชอบฟังเพลง เล่นเกม เล่นกีฬา แล้วก็มีสังสรรค์กับเพื่อนบ้างครับ เกมที่เล่นบ่อยและรู้สึกช่วยคลายเครียดมากที่สุด คือ GTA ส่วนกีฬาที่ผมเล่น คือ ฟุตบอลกับแบดมินตันครับ อ้อ แล้วก็ชอบนัดเพื่อน ๆ ไปแทงสนุ๊กเกอร์กันที่ร้านแห่งหนึ่งหลัง City Park บ่อย ๆ ด้วยครับ ไม่แน่ใจว่าตอนนี้ยังอยู่ไหม”
สำหรับการบริหารเวลาผมว่าเป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะต้องวางแผนให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของตนเอง เพราะแต่ละคนมีภาระหน้าที่และเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญที่แตกต่างกัน ส่วนตัวผมไม่ได้มีภาระหน้าที่อะไรเป็นพิเศษ การบริหารเวลาเลยให้ความสำคัญกับการเรียนเป็นหลัก ผมจะแบ่งเวลาเป็น 2 ช่วง โดยแบ่งครึ่งเวลานับแต่เปิดเรียนจนถึงวันสอบวิชาสุดท้าย ช่วงครึ่งแรก คือ ตั้งแต่เปิดเรียนจนถึงเวลาก่อนสอบประมาณ 1-2 เดือน ช่วงนี้ไม่มีอะไรเป็นพิเศษครับ เน้นที่การเข้าฟังบรรยายตรงเวลาแล้วโฟกัสให้มากที่สุดในคาบเรียน พยายามเลกเช่อให้ครบถ้วนเท่าที่จะทำได้ ผมคิดว่าข้อดีของวิธีการนี้คือผมสามารถทำความเข้าใจเนื้อหาทุกอย่างได้อย่างรวดเร็วและประหยัดเวลา เพราะจะไม่เสียเวลาในการตามบรรยายภายหลัง บางวิชาที่เนื้อหาไม่เข้มข้น ย่อยง่าย หรือมีเอกสารประกอบที่ละเอียดครบถ้วนอยู่แล้ว ก็อาจสามารถทำความเข้าใจเสร็จสิ้นในการบรรยายครั้งนั้นได้เลย แต่หากจำเป็นต้องขาดเรียนหรือหลุดโฟกัสในบางช่วงบางตอน หรือเป็นวิชาที่ผมคิดว่ายากหรือมีเนื้อหาซับซ้อนเป็นพิเศษ ก็จะกลับมาทบทวนและทำโน๊ตย่อให้เป็นระเบียบอีกครั้งโดยจะพยายามจัดการให้เสร็จสิ้นในวันนั้นเลยหรืออย่างช้าภายในอาทิตย์นั้น เพราะหากปล่อยให้นานกว่านั้นอาจจะลืมเนื้อหาที่อาจารย์บรรยายและอาจเกิดความไม่ต่อเนื่อง ส่วนช่วงครึ่งหลัง ก็จะเริ่มเตรียมตัวสอบจริงจังครับ ผมจะทำตารางเวลาอ่านหนังสือสอบยาวไปจนถึงวันสอบวิชาสุดท้าย โดยก่อนถึงวันสอบวิชาแรกผมจะจัดสรรเวลาเตรียมตัวสอบในแต่ละวิชาให้ชัดเจน จะจัดสรรเวลาในแต่ละวิชาเท่าใดอาจจะตอบไม่ได้ ต้องประเมินว่าแต่ละวิชาหนักเบาแค่ไหน ยังเหลือส่วนที่ต้องทำความเข้าใจมากน้อยอย่างไร ส่วนในเรื่องลำดับการอ่าน ผมจะอ่านให้จบเป็นวิชาไปโดยเริ่มจากวิชาที่สอบหลังสุดก่อน ไล่เรียงไปจนถึงวิชาที่สอบวิชาแรกซึ่งจะได้ทบทวนเป็นวิชาสุดท้าย ทั้งนี้ โดยจัดสรรเวลาให้กับวิชาที่สอบวิชาแรกมากกว่าวิชาอื่นเล็กน้อย เนื่องจากวิชาที่สองเป็นต้นไป เรายังมีเวลาทบทวนได้อีกครั้ง 1-3 วัน ก่อนสอบในแต่ละวิชา ผมคิดว่าวิธีนี้ช่วยให้เรามีระเบียบวินัยในการอ่านครับ และช่วยเตือนสติให้เรา move on ไปอ่านวิชาถัด ๆ ไปได้ แม้สุดท้ายจะอ่านบางวิชาไม่ทันจริง ๆ อย่างน้อยก็น่าจะพอมีความรู้ไปสอบได้ครบทุกวิชาครับ”
อ.กิตติภพ ขณะฝึกงานที่ Clifford Chance
คำถาม (4) : เคยมีความเครียดในระหว่างศึกษาบ้างหรือไม่ (เช่น เรื่องการเรียน การใช้ชีวิต หรือด้านอื่น) และมีวิธีจัดการให้ก้าวผ่านอุปสรรคและความท้อแท้ใจไปได้อย่างไร รวมถึงมีวิชาที่ไม่ชอบบ้างหรือไม่ หากมีมีวิธีจัดการอย่างไร และคำถาม (5) : เมื่อมีสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังเกิดขึ้น มีวิธีจัดการอย่างไร
“ก็มีบ้างนะครับ คิดว่าเป็นเรื่องปกติของทุกคน เช่น ทะเลาะหรือไม่เข้าใจกันกับเพื่อนสนิท อกหัก หรือกังวลเรื่องการสอบหรือคะแนนสอบอะไรทำนองนั้นครับ ขอเล่าเรื่องคะแนนสอบแล้วกันครับ คิดว่านักศึกษาหลาย ๆ คนน่าจะเคยหรือกำลังเครียดเรื่องนี้เหมือนกัน ในตอนแรกผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องทำคะแนนได้ดีหรือได้เกียรตินิยม เพราะที่ผ่านมาผมไม่ได้เป็นคนที่มีผลการเรียนดีเด่นอะไร แล้วก็ไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ด้วยครับ คิดแค่ว่าจะทำเต็มที่ แต่หลังจากเรียนจบปี 1 ผลลัพธ์ที่ออกมามันดีเกินคาด เกินไปไกลมาก ๆ คือ คะแนนเฉลี่ยแตะ 85 คะแนนซึ่งเป็นเกณฑ์ที่จะได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ครับ ซึ่งนั่นทำให้ผมมีความมั่นใจและเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น และยังเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ผมอยากจะรักษาระดับคะแนนนั้นไปจนจบการศึกษา แต่ในขณะเดียวกันมันก็สร้างแรงกดดันที่หนักหน่วงเหมือนกันนะครับในการที่จะรักษาระดับผลการเรียนให้ได้สม่ำเสมอ เช่น ผมมักจะคาดหวังว่าถ้าผมตั้งใจเรียนหรืออ่านหนังสืออย่างสุดความสามารถแล้วก็จะได้รับผลตอบแทนเป็นคะแนนในระดับที่น่าพอใจกลับคืนมา ซึ่งความจริงแล้วมันอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะคะแนนสอบมันอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้ของเราเพียงอย่างเดียว นึกออกไหม มันยังมีปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ความแตกต่างของคะแนนระหว่างกลุ่มเรียน ดุลพินิจในการตรวจของอาจารย์แต่ละท่าน อุบัติเหตุ อาการเจ็บป่วย หรือความกดดันในขณะสอบซึ่งทำให้เกิดข้อผิดพลาด เช่น บางครั้งตอนเรียนเราจำได้ แต่พอเข้าไปในห้องสอบกลับลืมไปเสียดื้อ ๆ ก็มี ซึ่งความคาดหวังนี้บางทีมันทำให้เราหมกมุ่นกับคะแนนมากเกินไป และถ้ามันเกิดไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้ มันก็จะบั่นทอนจิตใจเราได้เหมือนกัน”
ผมว่าเราไม่สามารถหยุดความคาดหวังของตัวเองได้ ผมหมายถึงในทุก ๆ เรื่องเลยนะครับ ไม่ใช่เฉพาะแต่การเรียน ซึ่งผมว่าไม่ผิดนะที่เราจะคาดหวัง แต่ทุกครั้งที่คาดหวังก็ต้องเผื่อใจรับความผิดหวังไว้ด้วย ถ้ามันเกิดไม่เป็นไปตามที่หวังขึ้นมา คือถ้ามีโอกาสแก้ไขได้ก็แก้ไขและเรียนรู้ ถ้าแก้ไขไม่ได้ก็ต้อง move on คือ ยอมรับและอยู่กับมันให้ได้ ซึ่งแต่ละคนอาจจะใช้เวลา heal ตัวเองสั้นยาวไม่เท่ากันและวิธีการก็อาจจะแตกต่างกัน สำหรับผมเวลาผิดหวังก่อนอื่นต้องหาที่ระบายก่อนครับ ก็เลยมักจะเล่าปัญหาของตัวเองให้เพื่อน ๆ ฟัง ผมคิดว่าตัวเองโชคดีมาก ๆ ครับที่มีเพื่อน ๆ ที่คอยรับฟังปัญหาและก็มักจะมีปัญหาที่คล้าย ๆ กัน และหลาย ๆ คนมักจะมีพลังบวกให้คนรอบข้างอยู่เสมอครับ พอได้มาอยู่ในบรรยากาศแบบนั้น ได้พูดคุยแชร์ปัญหากัน ปัญหาทุกอย่างมันก็ดูเล็กน้อยลงไปเลยครับ จากนั้นก็พยายามหากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำครับ โดยส่วนตัวแล้วกิจกรรมที่ทำให้ผมผ่อนคลายและ move on จากความเครียดหรือความวิตกกังวลได้อย่างรวดเร็วคือการออกทริปไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือไม่ก็ออกไป shopping ซื้อของที่ตัวเองอยากได้ครับ”
ผมไม่ได้มีวิชาใดที่ไม่ชอบเป็นพิเศษนะครับ แต่อาจจะบอกรวม ๆ ได้ว่าตอนแรก ๆ ที่เข้ามาเรียนใหม่ ๆ ผมไม่ชอบวิชาที่ต้องตอบข้อสอบบรรยาย ซึ่งต้องการวัดความรู้ความเข้าใจในเชิงหลักการหรือทฤษฎี นอกจากความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ อย่างละเอียดแล้ว ยังต้องอาศัยความสามารถในการจัดลำดับความคิด วางแผน แล้วจึงถ่ายทอดออกมาเป็นลำดับขั้นตอน นึกออกไหม คือบางทีเรารู้คำตอบที่โจทย์ถาม แต่เราไม่สามารถตอบสั้น ๆ เพียง 1-2 บรรทัดได้ อาจต้องมีการเกริ่นนำ อธิบายเนื้อหาหรือบริบทที่เกี่ยวข้อง อาจจะต้องยกตัวอย่างประกอบหรือวิเคราะห์และแสดงความเห็น ซึ่งแตกต่างจากการตอบข้อสอบอุทาหรณ์ซึ่งต้องการเพียงแค่วัดความรู้ความเข้าใจในบทบัญญัติกฎหมายและความสามารถในการปรับใช้กฎหมายกับข้อเท็จจริง ที่ตอนแรกไม่ชอบเพราะรู้สึกว่ายาก เนื้อหาน่าเบื่อไม่น่าสนใจ ไม่มีตัวบทกฎหมายที่จับต้องได้ บางครั้งไม่รู้จะเขียนอะไรในการสอบ ทำให้ต้องท่องจำเนื้อหาไปสอบและมักจะทำคะแนนสอบได้ไม่ดี หลังจากรู้จุดอ่อนของตัวเอง ก็เริ่มแก้ไขครับ อย่างแรกเลยคือพยายามเปลี่ยนทัศนคติ เลิกคิดว่าไม่ชอบ ลองเปิดใจ เข้าฟังบรรยายและพยายามทำความเข้าใจอย่างละเอียด อ่านหนังสือเพิ่มเติม ฝึกฝนการเขียนและการวางโครงการตอบจากข้อสอบเก่า ซึ่งพอทำไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มชำนาญ เหมือนเราค่อย ๆ ซึมซับทั้งความรู้และความสามารถในการจัดลำดับความคิดไปพร้อม ๆ กัน สุดท้ายก็สามารถพัฒนาการเขียนให้ดีขึ้นและทำให้ความไม่ชอบนั้นหมดไปครับ”
อ.กิตติภพเมื่อสำเร็จการศึกษา
คำถาม (6) : หากย้อนเวลากลับไปได้ จะบอกกับตัวเองตอนกำลังศึกษาอยู่ว่าอย่างไร
“อยากบอกให้ตัวเองใช้ชีวิตมหาวิทยาลัยให้เต็มที่ครับ ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ๆ มากขึ้น หากิจกรรมทำมากขึ้น ลองหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ไปเที่ยวในที่ที่อยากไป ถ้ามีเวลาก็ให้ฝึกและพัฒนาด้านภาษาอยู่ตลอดเพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำงานและการเรียนต่อในอนาคต อยากก็ให้รักษาสุขภาพครับ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ หยุดพฤติกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น นั่งอ่านหนังสือนานเกินไป หรือจ้องโทรศัพท์มือถือในที่มืด และก็อยากจะบอกตัวเองว่าให้เลิกเติมเงินในเกมที่เล่นอยู่ได้แล้วเพราะอีกไม่นานเดี๋ยวก็เลิกเล่นแล้ว เสียดายเงินครับ”
คำถาม (7) : ให้ข้อคิดสำหรับนักศึกษาที่หมดไฟหรือกำลังท้อแท้ใจ
“สำหรับคนที่กำลังหมดไฟหรือกำลังท้อแท้ ถ้าคิดว่าค้นพบเป้าหมายและเส้นทางของตัวเองชัดเจนแล้ว อย่าลังเลที่จะเดินต่อไปให้ถึงเป้าหมาย แม้ระหว่างทางจะเจออุปสรรคก็ขอให้อดทนไว้ ถ้าเหนื่อยจะพักบ้างก็ได้ ตราบใดที่ยังไม่ยอมแพ้ เชื่อว่าสักวันก็ต้องไปถึงเป้าหมายได้แน่นอน ส่วนคนที่ยังไม่ค้นพบเป้าหมายหรือกำลังลังเลในเส้นทางของตัวเอง ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี ขอให้ค้นหาตัวเองให้เจอ ตอบตัวเองให้ได้ว่าแท้จริงแล้วเราต้องการอะไร และอย่ากลัวที่จะลองเปิดโอกาสให้ตัวเองได้พบเจอเส้นทางใหม่ ๆ สุดท้าย อยากให้ทุกคนเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองและมั่นใจในเส้นทางที่ตนเองเลือก อย่าพยายามเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เพราะแต่ละคนมีเป้าหมายและเส้นทางความสำเร็จที่แตกต่างกัน มีเงื่อนไขและจังหวะเวลาที่ไม่เหมือนกัน ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนได้พบกับเส้นทางและความสำเร็จในแบบของเราเองในสักวันหนึ่งครับ”
ภาพ : อ.กิตติภพ
เรียบเรียง : อ.ดร.พนัญญา