สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมไทยในทศวรรษหน้า” เนื่องในโอกาส 60 ปี ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ วันศุกร์ที่ 18 กันยายน 2563 เวลา 16.00-17.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
วิทยากร
- ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / ประธานกรรมการบริหารสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการบริหารสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย
- นายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา
- ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม
ผู้ดำเนินรายการ
- รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายศุภสิน เจียรพาณิชย์พงศ์ นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน (ซ้ายในภาพ) คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ :
รศ.ดร.มุนินทร์ ได้กล่าวเปิดงานเสวนาวิชาการในช่วงบ่ายซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “กระบวนการยุติธรรมในทศวรรษหน้า” เป็นการเน้นเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของไทยที่รับมาจากต่างประเทศเมื่อ 100 ปีที่แล้วซึ่งในตอนนั้นกระบวนการยุติธรรมต่าง ๆ มีความก้าวหน้ามาก และได้กล่าวถึงปัญหาในช่วงไม่นานมานี้ (คดีกระทิงแดง) ว่าแสดงให้เห็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมซึ่งกระทบต่อความศรัทธาของประชาชน
ลำดับต่อมาเป็นการแนะนำวิทยากรทั้ง 3 คน โดยได้กล่าวถึงสาเหตุที่นางเมทินีไม่สามารถมาร่วมเสวนาในวันนี้ได้ว่าประสบอุบัติเหตุต้องรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล แต่ได้รับเกียรติจากผู้แทนศาลฎีกา นายชาญณรงค์ มาแทนในวันนี้
รศ.ดร.มุนินทร์ ได้ชี้แจ้งว่าการเสวนาครั้งนี้จะแบ่งออกด้วยกัน 3 ช่วง ช่วงแรกจะเปิดโอกาสให้วิทยากรนำเสนอกระบวนการยุติธรรมในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า ช่วงที่สองจะเป็นคำถามจากผู้ดำเนินรายการ ส่วนช่วงที่สามเป็นคำถามจากผู้รับฟังการเสวนา
ศ.พิเศษ วิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ (กลางในภาพ) ปลัดกระทรวงยุติธรรม :
รับหน้าที่ในการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และในอนาคต
กล่าวเบื้องต้นเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมว่ากระบวนการยุติธรรมสร้างมาจากประวัติศาสตร์ ในทางอาญาแบบหนึ่ง และในทางแพ่งแบบหนึ่ง ศ.พิเศษ วิศิษฎ์ ได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับระบบกฎหมายของประเทศไทยว่าเป็นระบบที่ค่อนข้างแปลกไม่ใช่ทั้งระบบประมวลกฎหมายหรือระบบแนววินิจฉัย
ศ.พิเศษ วิศิษฎ์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าในความเป็นจริงระบบกฎหมายทั่วโลกมีความคล้ายคลึงกันอย่างแยกออกจากกันไม่ได้แตกต่างกันด้วยตัวองค์กรภายในของแต่ละประเทศอาจเกิดจากความไว้เนื้อเชื้อใจในแต่ละองค์กร เช่น ในบางประเทศตำรวจสามารถดำเนินคดีได้เลยหรือสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องก็ได้สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นต่อองค์กรตำรวจที่สูงมาก
ศ.พิเศษ วิศิษฎ์ ได้กล่าวต่อไปอีกว่าตังแต่เปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีระบบศาลสมัยใหม่ กฎหมายจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่มุมมองของแต่ละบุคคล อยู่ที่ความเชื่อมั่นในแต่ละประเทศ บางประเทศต้องมีศาลเดี่ยว บางประเทศต้องมีหลายศาล บางประเทศกระทรวงยุติธรรมอยู่ในสังกัดฝ่ายบริหาร บางประเทศกระทรวงยุติธรรมอยู่ในสังกัดศาล ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างถูกสร้างมาในบริบทของแต่ละประเทศ ดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง
ศ.พิเศษ วิศิษฎ์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับหัวข้อการเสวนาในครั้งนี้ “กระบวนการยุติธรรมในทศวรรษหน้า” ว่า กระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันเชื่อมต่อกับระบบกฎหมาย ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของโลกในตอนนี้มีอัตราเร่งที่สูงมาก สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในอดีตเป็นไปได้ แต่ระบบกฎหมายเป็นแนวอนุรักษ์นิยมซึ่งจะเปลี่ยนแปลงช้ากว่าโลก และกระบวนการยุติธรรมซึ่งขึ้นกับระบบกฎหมายจะเปลี่ยนแปลงช้ายิ่งกว่าอีก ได้ยกตัวอย่างถึงคดีนักแสดงแย่งบุตรในปัจจุบัน และกล่าวว่าทุกวันนี้ทุกคนสามารถเป็นผู้พิพากษาได้ในโลกโซเซียล และยังได้ตั้งคำถามที่น่าฉงนต่อไปอีกว่าทุกวันนี้สื่อดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมโลก แล้วกฎหมายปรับเปลี่ยนทันหรือไม่ และยังได้ตอกย้ำความคิดของตนว่าไม่มีอะไรทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ประเด็นอยู่ที่ว่ากระบวนการยุติธรรมจะเปลี่ยนแปลงตามทันหรือไม่
ศ.พิเศษ วิศิษฎ์ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับลำดับขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในปัจจุบันว่า ตำรวจจะเป็นผู้ที่รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อส่งอัยการฟ้องต่อไปในอนาคตและศาลจะเป็นผู้ดำเนินการพิจารณา มีการสืบพยานในชั้นศาล ฯลฯ ในปัจจุบันโลกดิจิตอลทำให้บุคคลมีตัวตนมากขึ้น เช่น มี ดิจิตอล ID การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายก็จะล่าสมัย ขณะที่ในช่วงแรกมีการตั้งข้อครหาว่าเทคโนโลยีไม่มีความน่าเชื่อถือสามารถปรับเปลี่ยนได้ เทคโนโลยีก็อุดช่องว่างโดยการสร้างระบบ Blockchain ขึ้นมา
ศ.พิเศษ วิศิษฎ์ ได้ย้ำถึงความเห็นของตนว่ากระบวนการยุติธรรมจำต้องเปลี่ยนตามบางสิ่งบางอย่าง การต่อสู้ในชั้นศาลในห้องพิจารณาอาจไม่มีอีกต่อไป ในตอนนี้บางประเทศสืบพยานด้วยระบบ Video Conference ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกดิจิตอลถูกดึงมาใช้ตัดสินคดีความมากขึ้น ในอนาคตอาจมีการพิสูจน์คดีที่ดีกว่า เร็วกว่าส่งผลต่อการพิจารณาคดีทางแพ่งและพาณิชย์อย่างแน่นอน หลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องใช้มนุษย์ทำอาจใช้เครื่องมือเข้ามาทดแทน
ในส่วนเกี่ยวกับเรือนจำ ศ.พิเศษ วิศิษฎ์ ได้กล่าวว่าจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไป มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทน เช่น ในการประกันตัวอาจใช้ระบบความน่าจะเป็นในการหลบหนีจากฐานข้อมูล
ในส่วนเกี่ยวกับความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม ศ.พิเศษ วิศิษฎ์ ได้ให้ความเห็นว่าทุกวันนี้โลกดิจิตอลเปลี่ยนแปลงทุกอย่างแม้แต่กระบวนการยุติธรรม ความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมมีอยู่ตั้งแต่อดีต แต่สิ่งที่เป็นประเด็นในโลกโซเซียลจนทำให้เกิดผู้พิพากษาในโลกโซเซียลจำนวนมาก มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นมากมาย เช่น เป็นใคร อยู่ที่ไหน แม้แต่กระบวนการยุติธรรมก็จะต้องถูกตรวจสอบ ความผิดพลาดมีทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ แต่ทุกวันนี้มันจะถูกตรวจพบ ต้องเข้าใจว่าคุณทำงานอยู่ภายใต้การตรวจสอบ
สุดท้าย ศ.พิเศษ วิศิษฎ์ ได้ตอบคำถามในประเด็น “กระทรวงยุติธรรมมีแนวทางการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างไรบ้าง รู้สึกเป็นปัญหา อุปสรรคหรือประโยชน์” ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีทั้งบวกและลบในตัวเอง การนำข้อมูลดิจิตอลมาใช้อาจทำให้สามารถทำงานได้เร็วขึ้น ในตอนนี้ก็ได้มีการนำเทคโนโลยีขึ้นมาใช้ในหลายส่วน เช่น กรมบังคับคดีได้มีการใช้รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ มีการใช้ AI ในการคำนวณหาความน่าจะเป็นในการกระทำความผิดซ้ำ เริ่มมีการลดการใช้กระดาษมากขึ้น แต่เทคโนโลยีก็มีจุดที่อันตราย เช่น ความมั่นคงปลอดภัย อาชญากรรมทางไซเบอร์
นายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ (ที่สองจากขวา) ผู้พิพากษาศาลฎีกา :
รับหน้าที่ในการตอบคำถามว่า ในช่วงที่ผ่านมามีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ศาลยุติธรรมเป็นองค์กรที่ได้รับความน่าเชื่อถือมากที่สุด และในช่วงที่คนเสื่อมศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมล่าสุดทาง TIJ มีการสำรวจองค์กรที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากที่สุด ศาลยุติธรรมก็ยังได้รับความน่าเชื่อถือสูงที่สุดมีบางส่วนบอกว่าศาลยุติธรรมมีความเข้มแข่งในการทำงาน แต่บางส่วนก็สงสัยว่าศาลยุติธรรมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใดบ้างในการรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ในส่วนเหตุผลที่ศาลได้รับความศรัทธา นายชาญณรงค์ กล่าวว่า ศาลต่าง ๆ ทั่วโลกจะมีความแตกต่างกันแต่ไม่ว่าจะแตกต่างอย่างไรแต่ก็ยังได้รับความเชื่อมั่นศรัทธา เพราะศาลมีการทำงานโดยเปิดเผย และองค์กรตุลาการแทบทุกประเทศจะมีหลักประกันความเป็นอิสระ แม้แต่ประเทศไทย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ว่าระบบศาลจะไม่สอดรับกับระบบอย่างไรก็จะไม่มีความสงสัยเรื่องความเป็นอิสระ
นายชาญณรงค์ ตอกย้ำว่า 2 เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่สำคัญและผู้พิพากษาทุกยุคทุกสมัยหวงแหน ซึ่งอาจมองได้หลากหลายมิติ ในมุมมองของคนทั่วไปอาจเป็นเรื่องเล็ก แต่ในมุมมองของศาลเป็นเรื่องใหญ่ และ
ในทุกวันนี้สิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจนอกจากการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมแล้วจะต้องมีหลักประกันการคุ้มครองสิทธิของประชาชน เพราะแม้ผลของคดีจะเป็นธรรมแต่ในระหว่างทางเขาอาจถูกจำกัดเสรีภาพไปแล้วก็ได้
นายชาญณรงค์ ได้กล่าวถึงข้อครหาต่อศาล “คุกมีไว้ขังคนจน” เพราะชาวบ้านไม่ได้รับการประกันตัวหรือการปล่อยตัวชั่วคราวว่า สาเหตุเกิดจากการที่ไม่มีหลักประกันมาวางต่อศาลเพราะขาดทรัพยากร ซึ่งปัญหาไม่ได้เกิดจากตัวกฎหมายเพราะในแทบทุกประเทศก็เขียนคล้าย ๆ แบบนี้ ศาลก็ได้มีการแก้ไขเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาศาลก็ได้มีการศึกษาว่าเดิมทีสาเหตุที่ไม่ปล่อยไปเพราะกลัวว่าจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานหรือหลบหนี เป็นเรื่องในอนาคตที่ไม่มีใครรู้ เป็นเรื่องของความเสี่ยง ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาใช้ปัจจัยสภาพแวดล้อมของบุคคลว่าเขามีโอกาสที่จะหลบหนีมากน้อยแค่ไหน ประเทศไทยก็เริ่มมีการนำระบบนี้มาศึกษา และเริ่มที่จะปล่อยผู้ต้องหาไปโดยไม่มีหลักประกัน ในการใช้ระบบนี้บางศาลได้มีการใช้อย่างเต็มรูปแบบแล้วซึ่งนางเมทินีเป็นตัวละครหลัก นายชาญณรงค์ยังกล่าวอีกว่า “เราฝันว่าจะให้มีการปล่อยตัวโดยไม่มีหลักประกันทั้งหมด และโอกาสที่จะหลบหนีก็เป็นศูนย์ แม้ความเป็นจริงจะเป็นไปไม่ได้แต่ก็เป็นความฝันอันสูงสุด”
ในประเด็นต่อมานายชาญณรงค์ได้กล่าวถึงโทษจำคุกว่า น่าจะมีโทษระดับกลางที่ไม่ใช่จำคุกและไม่ใช่กักขัง และทุกวันนี้ศาลได้พยายามหลีกเลี่ยงการจำคุกโดยไม่จำเป็นผ่านช่องทางการรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษซึ่งเป็นการระบายคนออกจากเรือนจำในขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของสังคมด้วย
ในประเด็นการกักขังแทนค่าปรับ นายชาญณรงค์ได้กล่าวว่าการกักขังแทนค่าปรับอัตราทุกวันนี้คือวันละ 500 บาท จึงได้มีการผลักดันให้เกิดการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับมากขึ้น 3 ปีที่ผ่านมาจำนวนการทำงานบริการสังคมมีมากขึ้นประมาณ 20,000 คดี คิดเป็นมูลค่า 12 ล้านบาท แต่หากเป็นการกักขังจะต้องสูญเสียทรัพยากรมากแค่ไหนดังนั้นโครงการนี้ต้องเดินต่อ
ในลำดับสุดท้าย นายชาญณรงค์ได้ตอบคำถามในประเด็นว่า สำนักงานศาลได้มีการปรับตัวกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ผู้ถามเคยได้ยินว่ามีระบบ e-filing teleconference ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาทางศาลมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ว่าศาลไม่สามารถดำเนินงานคนเดียวได้ เรื่องแรกที่ศาลทำคือ สืบพยานผ่านระบบ video-conference เรื่องที่สอง ระบบ e-filing ฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องมาศาล ฟ้องได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ต่าง ๆ นานา เรื่องที่ทำผ่านระบบ e-document ไม่ว่าการพิจารณา การเก็บพยานหลักฐานซึ่งก็พึ่งมีการประชุมของศาลฎีกาไป แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของภาคประชาชนด้วย
ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล (ขวาในภาพ) ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / ประธานกรรมการบริหารสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย :
รับหน้าที่ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม
ศ.ดร.สุรศักดิ์ได้กล่าวเริ่มต้นโวยทัศนะคติที่มีต่อศ.ดร.สุรพลว่าเป็นบุคคลซึ่งน่าภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ลำดับต่อมาเป็นการชี้แจงเกี่ยวกับเนื้อหาการบรรยายของตนว่าเป็น “ความสำเร็จ และความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม” โดยจะเน้นไปที่กระบวนการยุติธรรมส่วนอาญา
ในส่วนความล้มเหลว ศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่าอาจเรียกไม่ได้ว่าล้มเหลวแต่ช้าไปนิดหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ความเปลี่ยนแปลงนั้นค่อนข้างก้าวกระโดด กระบวนการยุติธรรมไม่ใช่เรื่องของการเอาคนเข้าคุกแต่เป็นการปรับพฤติกรรมด้วย
ในส่วนความสำเร็จ อาจแสดงให้เห็นโดยแบ่งเป็นแง่ได้ดังนี้
ในแง่ของการพัฒนากฎหมาย ศ.ดร.สุรศักดิ์ เห็นว่าประเทศไทยแก้ไขประเด็นใหญ่ ๆ เยอะมาก ตั้งแต่มี รธน.ปี 40 ศาลได้แก้ไขกฎหมายเยอะมากนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่ควรจะเป็น เพียงแต่ว่ากระบวนการยุติธรรมเราใหญ่มาก
ตัวอย่าง รัฐธรรมนูญปี 40 บอกว่าการดำเนินคดีต้องต่อเนื่อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ก็มีการจัดการเชิงบริหารคดีในคดีไหนที่ไม่ยุ่งยากก็มีการเร่งให้เร็วขึ้น ในปัจจุบันนี้ศาลชั้นต้นมีคดีอาญาประมาณ 600,000 คดี มีคดีแพ่งประมาณ 1,200,000 คดีผู้พิพากษามีประมาณ 5,000 คน
ในส่วนของการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาที่เป็นเด็ก เป็นผู้หญิงเริ่มมีทัศนะคดีต่อผู้ต้องหาที่ดีขึ้น
ในส่วนของเรื่องการประกันตัว ศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้เล่าถึงการดำเนินการปล่อยผู้ต้องหาโดยไม่มีหลักประกันว่า ริเริ่มที่แรกคือจังหวัดกาญจนบุรี เป็นเรื่องที่น่าเศร้าว่า ผู้ต้องหา 70กว่าคนเป็นการกักขังระหว่างการสอบสวน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากไม่มีหลักทรัพย์ หรือไม่รู้ข้อกฎหมาย ในวันนั้นมีการปล่อยผู้ต้องหาไปโดยไม่มีหลักประกันกว่า 50คน
สุดท้ายในส่วนนี้ศ.ดร.สุรศักดิ์ได้ตั้งขอสังเกตว่าแม้จะมีกฎหมายแก้ไขในหลายๆเรื่องแต่สุดท้ายเราก็ปฏิบัติตามในลักษณะพิธีกรรมหรือทำๆให้เสร็จๆไป
ในแง่ของประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม ศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ ๆ คือ ประเด็นแรกคดีล้นศาล ประเด็นที่สองคนล้นคุก ส่วนประเด็นสุดท้ายการกระทำความผิดซ้ำ
ในประเด็นคนล้นคุก ศ.ดร.สุรศักดิ์ได้แสดงให้เราเห็นถึงสถิติของจำนวนคนที่อยู่ในคุกตั้งแต่มีการอภัยโทษ สถิติเมื่อ 1 กันยายน 2563 มีจำนวน 381,000 คนเท่ากับเดือนพฤษภาคมที่แล้ว กระทรวงยุติธรรมได้กำไรขึ้นเรื่อย ๆ กรมราชทัณฑ์ไม่มีทางเลือกเพราะถ้ามีหมายมาก็ต้องส่งเข้าคุกเท่านั้น
ในจำนวน 381,000 คน จำนวน 300,000 คนคือผู้ต้องหาคดียาเสพติด ศ.ดร.สุรศักดิ์ เสนอว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางอาชญากรรม อาจจะต้องปล่อยผู้เสพกัญชาหรือใบกระท่อมไป
ในแง่ความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ ต้นทุนต่อวันมีต้นทุน 54 บาทต่อคน ต่อวัน วันหนึ่งคือ 20 ล้านบาท ปีหนึ่ง 7,000 ล้านบาท แต่ความจริงได้งบประมาณแค่ 2,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นประเทศไทยสูญเสียเงินเยอะมาก ๆ
ในส่วนของประเด็นคดีล้นศาล จากสถิติที่ศ.ดร.สุรศักดิ์ได้กล่าวมาว่าในปัจจุบันศาลชั้นต้นมีคดีแพ่ง 1,200,000 คดี คดีอาญา 600,000 คดี ตอนนี้ได้มีการออก พ.ร.บ.การไล่เกลี่ยข้อพิพาท ตัวเลขก็อาจจะลดลง และ
ประเด็นสุดท้าย ประเด็นการกระทำความผิดซ้ำ ศ.ดร.สุรศักดิ์ แสดงให้เห็นสถิติของผู้กระทำความผิดซ้ำ ปี 2013-2015 ซึ่งออกจากเรือนจำว่า ภายใน 1 ปีแรกมีการกลับเข้าไปใหม่ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์(12%) ปีที่ 2 กลับเข้าไปใหม่ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์(22.93%) ปีที่ 3 กลับเข้าไปใหม่ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์(27.21%) ศ.ดร.สุรศักดิ์ เห็นว่าแทบจะไม่มีประโยชน์เลย และได้เสนอทางแก้ว่า จำต้องมีการพยายามปล่อยตัวชั่วคราว บางคนไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้สิทธิ การทำงานแทนค่าปรับ คนคิดฉลาดมากทำให้คนทำงานแทนการกักขัง แต่ตามสถิติคนไม่ค่อยใช้เพราะไม่มีใครรู้ ไม่มีใครบอก การปล่อยตัวชั่วคราวอาจใช้กำไร EM ด้วย เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีจะช่วยแก้ไขปัญหาได้หลายอย่าง
ศ.ดร.สุรศักดิ์ ยังได้ให้ข้อสังเกตถึงปัญหาองค์กรในกระบวนการยุติธรรมอีกว่าที่ผ่านมาหลาย ๆ องค์กรในกระบวนการยุติธรรมมีต้นทุนสูงมาก ในชั้นสอบสวนมีเยอะมาก ฝ่ายปกครอง ฝ่ายตำรวข ปปช. ปปง. DSI ฯลฯ
สมัยก่อนองค์กรเหล่านีสังกัดอยู่มหาดไทย ตั้งแต่มี รธน.ปี 40 เป็นต้นมาองค์กรเหล่านี้มีความเป็นอิสระแต่สิ่งที่ขาดคือการเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงาน ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่น อัยการมีบทบาทมาก เช่น กำกับการสอบสวน ใน 1 ปีมีการฟ้องคดีเพียงแค่ 50,000 คดี ในประเทศไทยอัยการไม่เคยเจอผู้ต้องหาเลย ถ้าอัยการมีบทบาทบ้างในการไกล่เกลี่ยคดีอาจจะลดลง ใน พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ย ไม่มีอัยการเลย
สุดท้ายแล้ว ศ.ดร.สุรศักดิ์ ทิ้งท้ายสั้น ๆ ว่า “คนในกระบวนการยุติธรรมต้องกระตือรือล้นให้มากขึ้น”
ช่วงตอบคำถามจากผู้ดำเนินรายการและผู้เข้าร่วมการเสวนา
คำถาม (1) : ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมเกิดจากสาเหตุที่ว่าต่างคนต่างทำงานหรือไม่ และมีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไรให้องค์กรต่าง ๆ เกิดความร่วมมือ
ศ.พิเศษ วิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ :
กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยนั้นมีระบบการถ่วงดุลระหว่างองค์กรค่อนข้างมากอันเป็นผลมาจากเหตุผลในทางประวัติศาสตร์ หากต้องการให้เป็นไปในทางใดทางหนึ่งเช่นอัยการต้องการชะลอการฟ้องแต่ศาลไม่เห็นด้วย หรือตำรวจต้องการไกล่เกลี่ยแต่อัยการต้องการฟ้อง เป็นเรื่องของเอกภาพและความเป็นอิสระ จะเกิดปัญหาที่แตกต่างได้
ในส่วนของทางแก้ ศ.พิเศษ วิศิษฎ์ เห็นว่าควรจะต้องมีเวทีกลาง
นอกจากนี้ ศ.พิเศษ วิศิษฎ์ ยังได้กล่าวถึงปัญหาคนล้นคุกที่นายชาญณรงค์และศ.ดร.สุรศักดิ์ว่า “คนล้นคุกไม่ใช่ปัญหาแต่เป็นอาการ” เพราะถ้าไม่รู้ว่าปัญหาเกิดจากอะไรก็ไม่สามารถแก้ไขได้ ศ.พิเศษ วิศิษฎ์ ยังได้กล่าวถึงค่าเฉลี่ยของผู้ที่กระทำความผิดว่ามีประมาณปีละ 800,000 คน และจบที่เรือนจำประมาณ 200,000 คน และในปี ๆ หนึ่งจะมีการปล่อยคนออกจากเรือนจำ 160,000 คน ดังนั้นในแต่ละปีมีผู้ต้องขังตกค้างประมาณ 40,000 คน นี้คืออาการของคนล้นคุก
ในเรือนจำมีนักโทษยาเสพติดกว่า 80% ผู้ต้องขังโทษไม่เกิน 5 ปี ประมาณ 200,000 คน โทษที่มากกว่า 5 ปี จำนวน 100,000 คน ส่วนนักโทษคดีอาชญากรรมสะเทือนขวัญมีเพียงแค่ 1,000 คนเท่านั้น
ในส่วนทางแก้ไขปัญหาคนล้นคุก ศ.พิเศษ วิศิษฎ์ เสนอว่าตัดวิธีการสร้างเรือนจำไปได้เลย ต้องตั้งคำถามกับกระบวนการตัดการยาเสพติดมีปัญหาหรือไม่ หรือการส่งคนเข้าสู่เรือนจำโดยโทษที่ไม่จำเป็นมีมากเกินไปหรือไม่ เช่น พืชกระท่อมทั่วโลกไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด
คำถาม (2) : อะไรเป็นความท้าทายของศาลยุติธรรมที่ต้องการจะทำ
นายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ :
กล่าวถึงนโยบายแก้ไขปัญหากักขังแทนค่าปรับว่าตอนแรกมีผู้ที่ต้องกักขังแทนค่าปรับจำนวน 7,000 กว่าคน ภายหลังมีการจัดทำกฎหมายเพื่อระบายคนดังกล่าว สามารถปล่อยออกไปได้ 7,000 กว่าคน นายชาญณรงค์ ได้กล่าวถึงตัวเลขในปัจจุบันว่ามีประมาณ 3,000 กว่าคน โดยกลุ่มที่ยากคือผู้ต้องขังคดียาเสพติด แต่ที่สามารถทุเลาปัญหาได้ก็มีอยู่ ตัวอย่างในสมัยก่อนหากมีการนำเข้ายาเสพติดให้โทษแม้เพียงนิดเดียวต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ภายหลังฝ่ายนิติบัญญัติได้มีการแก้ไขโทษให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายศาลในการใช้ดุลพินิจ
ในส่วนของความท้าทาย นายชาญณรงค์กล่าวว่า “ไม่มีอะไรมาก” สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการกระทบต่อความศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม เช่น วาทะกรรม “คนล้นคุก” สิ่งเหล่านี้ศาลต้องทำให้ได้ทุกเรื่อง เพราะศาลก็เป็นส่วนหนึ่งของกลไก แต่สาเหตุมีหลาย ๆ ปัจจัยหน้าที่ของศาลคือเดินหน้าให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
นายชาญณรงค์ ได้ยกตัวอย่างถึง พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ย ในปัจจุบันว่าแต่เดิมต้องมีการฟ้องเป็นคดีแพ่งเสียก่อนที่จะมีการไกล่เกลี่ย แต่กฎหมายใหม่นี้จะต้องมีการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง เพราะการไกล่เกลี่ยประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้สะดวกและไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นเรื่องหนึ่งที่ศาลพยายาม
ในเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ Covid-19 เป็นปัญหาที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะกระบวนการของศาลเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงกันยากและกระบวนการพิจารณาคดีมีคนเกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะ แต่ก็ต้องปรับเปลี่ยนเพราะมิฉะนั้นคดีจะเกิดการจุกตัว ในปัจจุบันแม้จะทำเรื่องผ่านระบบออนไลน์ได้ เช่น เรื่องไม่ยุ่งยากมีหลักฐานเงินกู้ แต่หากมีการโต้แย้งก็ยังต้องมาที่ศาลอยู่ดี
คำถาม (3) : ปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม
ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล :
ในส่วนของปัญหา ศ.ดร.สุรศักดิ์ ไม่ขอลงประเด็นในเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องที่ทุก ๆ คนก็รู้กันอยู่แล้ว
ในส่วนของอุปสรรค ศ.ดร.สุรศักดิ์ เห็นว่ามีอยู่ด้วยกัน 2 เรื่อง
เรื่องแรก กระบวนการยุติธรรมขาดความเชื่อมั่น เช่น คดีประหารชีวิตจำคุกจริงไม่กี่ปีก็ออกมาแล้ว แม้จะรู้ปัญหาแต่การแก้ไขนั้นยาก หรือเรื่องของ พ.ร.บ.ชะลอการฟ้อง ก็มีคนร้องว่าขาดการตรวจสอบเป็นการขาดต่อรัฐธรรมนูญในที่สุดศาลก็ต้องตรวจสอบ
เรื่องที่สอง ขาดการปรับกระบวนทัศน์ เพราะแม้กฎหมายจะดีมากเพียงใดแต่หากคนไม่ปรับเปลี่ยนก็ยากที่จะแก้ไข ในเหตุการณ์ครั้งก่อน “คดีกระทิงแดง” TIJ ทำการสำรวจความคิดเห็น โดยก่อนเปิดเผยรายละเอียดคดีมีคนเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม 2.4 เต็ม 5 ภายหลังเหตุการณ์คดีกระทิงแดง ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมเหลือเพียง 0.91
ในส่วนวิธีการแก้ไขปัญหาการยกระดับกระบวนการยุติธรรมก่อนชั้นศาล จากรายงานของ TIJ เห็นว่า ประชาชนเชื่อว่ามีอำนาจอื่นเข้ามาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และมีเพียง 25% เท่านั้นที่เชื่อว่าสามารถปฏิรูปได้ โดยระบบกระบวนการยุติธรรมนั้นดีอยู่แล้วแต่เกิดจากผู้ปฏิบัติงานโดยไม่สุจริตหรือไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งคนเห็น 50:50 และ
คนยังเชื่อว่าคดีนี้จะทำให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้จริงเพียง 25% อาจเป็นไปได้ 50% และเป็นไปไม่ได้เลย 25%
ในส่วนตัว ศ.ดร.สุรศักดิ์ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเป็นไปได้เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจ
คำถาม (4) : ควรหรือไม่ที่องค์กรนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ องค์กรเอกชน ศาลปรึกษาหารือกันเพื่อลดอำนาจส่วนกลางและให้ส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมบ้าง ในระบบการบริหารจัดการมีความเป็นไปได้ไหมที่จะให้ส่วนท้องถิ่นเข้ามาจัดการ
ศ.พิเศษ วิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ :
ในส่วนหนึ่งก็มีความพยายามดำเนินการอยู่ แต่ติดปัญหาที่ข้อกฎหมายของส่วนท้องถิ่นว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ มีความพยายามให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นตั้งหน่วยงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เมื่อไกล่เกลี่ยแล้วหากไม่มีการดำเนินการก็สามารถร้องศาลขอบังคับตามได้เลย
ในส่วนงานราชทัณฑ์ ท้องถิ่นอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ในส่วนการดำเนินคดี การสอบสวน ก็คงต้องเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง
คำถามสุดท้าย : รศ.ดร.มุนินทร์ขอให้วิทยากรกล่าวทิ้งท้ายเกี่ยวกับภาพรวมของกระบวนการยุติธรรมในทศวรรษหน้า
นายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ :
ในเรื่องการมีส่วนร่วมในระบบศาล เพราะการทำงานของศาลไม่ค่อยไปถึงประชาชน สิ่งที่ศาลต้องการเป็นอย่างมากคือการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม อย่างเช่น ในเรื่องการติดตามดูแลผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็อยากให้ส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม
สุดท้ายนายชาญณรงค์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในการเปลี่ยนแปลงหากเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายในจะสามารถทำได้เร็ว แต่หากเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกจะทำได้ช้า บางเรื่องก็ควรปล่อยให้เป็นเรื่องภายในขององค์กรนั้น ๆ เช่น การชะลอการฟ้อง
ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล :
ศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้กล่าวว่าความเห็นส่วนใหญ่ค่อนข้างสอดคล้องที่อยากให้ประชาชนเข้ามาติดตามดูแล โดยจากสถิติปรากฏว่า จำนวน 74% เห็นว่าคดีกระทิงแดงจะทำให้ประชาชนสนใจตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น 90% ยังเสนอว่าควรจะมีช่องทางที่สามารถติดตามการทำงานได้
วิธีการที่ดีในการให้ภาคประชาชนสามารถตรวจสอบได้โดยอ้อมคือการเผยแพร่คำพิพากษา
ศ.พิเศษ วิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ :
ศ.พิเศษ วิศิษฎ์ เห็นว่า โลกที่เทคโนโลยีเจริญมากขึ้น จะทำให้กระบวนการยุติธรรมที่เป็นตัวแทนของประชาชนจะต้องฟังประชาชนมากยิ่งขึ้น เพราะเดียวนี้เพียงแค่ลงเรื่องในสื่อสังคมออนไลน์ไม่ถึงกับต้องฟ้องร้องกันก็ทำให้วิ่งกันวุ่นได้แล้ว จะทำให้เกิดการปรับตัวของตัวแทน