สรุปสาระสำคัญจากสัมมนาวิชาการ หัวข้อ “สถาบันการศึกษากับพื้นที่แห่งเสรีภาพ” วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน 2563 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สัมมนาวิชาการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัมนาทางวิชาการตามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างระหว่างคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
วิทยากร
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทศพลธ์ ทรรศนะกุลพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งภพ คงฤทธิ์ระจัน หัวหน้าศูนย์กฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
- รองศาสตราจารย์ ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม / อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายวิวัฒน์ กอสัมพันธ์ นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขากฎหมายเอกชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
รศ.ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม / อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ :
กล่าวถึงที่มาของการจัดเสวนาครั้งนี้ว่า ได้รับความร่วมมือจากคณะนิติศาสตร์จากทั้ง 5 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เพื่อจะให้ประโยชน์แก่สังคมและเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของบุคคลทั่วไป เพราะเป็นเรื่องที่ร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาในช่วงเวลาที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงเยาวชน นักเรียนนักศึกษา ที่จะเป็นผู้นำในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของตนเองและผู้อื่นในสังคม แต่การใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวก็มีข้อจำกัดหลายอย่างทั้งในทางกฎหมายที่มีผู้เห็นว่ามีข้อจำกัดทางกฎหมาย แต่สิ่งที่เป็นปัญหามากกว่านั้นคือ ในพื้นที่สถาบันการศึกษานั้นเองก็มีกรอบบางอย่างที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะความห่วงใยของครูอาจารย์หรือผู้บริหาร เราจึงต้องมาคุยกันว่าท่าทีที่สถาบันการศึกษาหรือผู้บริหารมีต่อการใช้เสรีภาพของนักเรียนนักศึกษามีลักษณะที่ส่งเสริมหรือว่าลดทอนให้เขาไม่สามารถใช้ได้กันแน่ กล่าวคือ จากความเห็นต่างกันของครูอาจารย์กับเยาวชน การไม่ให้ใช้สถานที่ การห้ามไม่ให้แสดงออกทางการเมือง การยึดอุปกรณ์ที่เยาวชนจะใช้แสดงเสรีภาพ การที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้เครื่องมือทางกฎหมายในการจำกัดการใช้เสรีภาพ ควรที่จะถอดบทเรียนและสร้างหลักเกณฑ์บางอย่างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาที่จะเกิดในอนาคต
ช่วงที่หนึ่ง มุมมองต่อเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นของวิทยากร
จากเหตุกาณ์ที่ผ่านมา โดยผู้ชุมนุมที่เป็นนักศึกษาของ มธ. และอื่น ๆ รวมถึงบุคคลที่ไม่ได้เป็นนักศึกษาด้วยที่ต้องการใช้เสรีภาพในการชุมนุม แสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกทางการเมืองในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยที่เป็นถาบันการศึกษา และสิ่งที่สะท้อนออกไปแก่สังคมคือผู้บริหารมีความกังวลและตัดสินใจที่จะปิดประตูรั้วและไม่อนุญาตให้เข้ามาใช้สถานที่ แม้ในท้ายที่สุดผู้ชุมนุมจะเข้าไปชุมนุมก็ตาม แต่สิ่งสะท้อนแรกที่ออกไปคือการไม่อนุญาตให้เข้าไปใช้สถานที่ซึ่งสะท้อนต่อสังคมว่าการใช้เสรีภาพกับพื้นที่ของสถาบันการศึกษาบางทีก็มีข้อจำกัดในแง่ของการบริหารของผู้บริหาร
ผศ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ :
ในฐานะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ก็มีความผิดหวังในการตัดสินใจดังกล่าวของผู้บริหาร เพราะเชื่อว่าทุกคนคาดหวังต่อบทบาทของธรรมศาสตร์ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และในแง่ที่เป็นพื้นที่ในการต่อสู้อำนาจรัฐตลอดมาตั้งแต่อดีต วัฒนธรรมองค์กรในแง่ของประชาธิปไตยค่อนข้างเข้มแข็ง สังคมจึงคาดหวังบทบาทที่ธรรมศาสตร์มีต่อสังคมมาก และในอนาคตอันใกล้นี้จะไม่ใช่แค่ มธ แต่รวมไปถึงสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ที่จะเจอบททดสอบมากขึ้นเพื่อยืนยันเสรีภาพเหล่านี้แก่ตัวสถาบันเองและนักศึกษา
ในฐานะที่เป็นผู้บริหาร ก็พอที่จะเข้าใจหรือรู้ถึงเหตุผลที่ผู้บริหารตัดสินใจแบบนั้น เพราะปัจจุบัน มหาวิทยาลัยอยู่ในโครงสร้างทางอำนาจที่ใหญ่โต ระบบโครงสร้างอำนาจนี้ไม่ได้ให้หลักประกันเสรีภาพแก่มหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง ทำให้แทนที่จะยืนยันในสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ ต้องตัดสินใจในทางตรงกันข้าม เป็นจุดสำคัญในเชิงระบบที่ทำให้มหาวิทยาลัยไม่มีอิสระในการตัดสินใจอย่างแท้จริง
ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ :
ในฐานะศิษย์เก่าและผู้ที่ทำงานด้วย ตั้งแต่ที่สมัยเรียนมีการเปิดพื้นที่การแสดงออกมากกว่าในปัจจุบันนี้ จึงค่อนข้างผิดหวัง ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเข้าใจถึงข้อกังวลของผู้บริหารในด้านความปลอดภัย แต่ก็เห็นว่าสถาบันการศึกษาสามารถจัดการได้ดีกว่าการปิดกั้นไม่ให้เข้ามาเลย เพราะก่อนหน้านั้นก็เปิดพื้นที่ให้ตำรวจเข้ามาเคลียร์พื้นที่ต่าง ๆ จึงแสดงให้เห็นว่ามีมาตรการอื่นในการดูแลความปลอดภัยให้กับนักศึกษาทั้งในระดับประเทศหรือในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อเปิดพื้นที่ในการแสดงออก
มีประเด็นเพิ่มเติมก่อนหน้าที่จะมีการปิดรั้วมหาวิทยาลัย มีแนวทางของผู้บริหารเกี่ยวกับการอนุญาติให้จัดชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย สาระสำคัญจะมีอยู่ 3 เรื่อง ประการแรกคือโดยหลักใช้พื้นที่ได้ตามขอบเขตของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย สองคือต้องเป็นนักศึกษาและกลุ่มกิจกรรมที่สังกัดคณะหรือมหาวิทยาลัย สามคือให้มีความตกลงร่วมกันสามฝ่ายในเรื่องเนื้อหาของการชุมนุม ตนเห็นว่าข้อสามนี้รุนแรงที่สุด คือ บอกเลยว่าจะพูดอะไร แล้วมาตกลงกับมหาวิทยาลัยและตำรวจ จึงค่อนข้างจำกัดเสรีภาพมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรามองว่าเสรีภาพในการแสดงออกช่วงที่ผ่านมาเป็นไปตาม Political Movement/Political Speech เพราะฉะนั้นจึงมีบ้างที่อาจจะละเมิดคนอื่นบ้าง มีการเสียดสีล้อเลียนบ้าง เราก็ต้องมาตรฐานของเสรีภาพที่สูงกว่าการพูดในสถานการณ์ทั่วไป ดังนั้น การที่นำเรื่องความปลอดภัยมาอ้างเพื่อจำกัดเนื้อหาในการแสดงออกจึงไม่น่าจะถูกต้องในบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ควรจะเปิดพื้นที่แก่นักศึกษา
ในระดับนักเรียนนั้น สพฐ.ออกหนังสือราชการเกี่ยวกับการชุมนุมของนักเรียนในสถานศึกษา ที่มีสาระสำคัญว่าเพื่อความปลอดภัยของนักเรียน สถานศึกษาสามารถดำเนินการให้นักเรียนได้มีพื้นที่ภายในสถานศึกษาในการแสดงความเห็นของตนได้อย่างเปิดเผยและโปร่งใสโดยความสงบปราศจากอาวุธ ไม่มีการแทรกแซงใด ๆ จากครูหรือบุคคลภายนอก รวมทั้งให้ครูปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก ดูแลให้นักเรียนดำเนินกิจกรรมได้อย่างปลอดภัย ไม่กระทำการที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ตนเห็นว่า หลักการจริง ๆ ควรจะเท่านี้ โดยหลักจะต้องเปิดให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แสดงให้เห็นว่าแนวทางของธรรมศาสตร์ยังเปิดกว้างไม่เท่ากับระดับโรงเรียนเลย
รศ.ดร.ต่อพงศ์กล่าวเสริมว่า ประเด็นเรื่องการตกลงกันในเนื้อหามีก่อนหน้านี้ ในการชุมนุมที่รังสิต มหาวิทยาลัยแถลงการณ์ว่ามีการแสดงความคิดเห็นเกินกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ ทำให้เรารู้ว่ามีการตกลงเรื่องเนื้อหากันด้วย พอมาครั้งหลังจึงเน้นเรื่องความตกลงทางเนื้อหา ซึ่งตนเห็นด้วยกับวิทยากรว่ามีความสำคัญมาก และคุณจะไม่มีพื้นที่ให้คุณได้แสดงความคิดเห็นตามที่ต้องการเลยหากคุณไม่ยอมจำกัดจนเองอยู่ในพรมแดนที่คุณจะพูด
ผู้บริหารในนามธรรมศาสตร์มีเกณฑ์พิจารณาเป็นพิเศษหรือถูกเรียกร้องเป็นพิเศษหรือไม่ ที่ทำให้ต้องพิจารณาเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกมากไปกว่ามหาวิทยาลัยอื่น ๆ (แม้สถานะทางกฎหมายของผู้บริหารไม่ได้ต่างอะไรกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ) มีเกณฑ์พิเศษอะไรหรือไม่ที่ธรรมศาสตร์ต้องเปิดพื้นที่มากกว่าที่อื่น
ผศ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ :
กล่าวว่าการอ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัยกลายเป็นการโยนกลุ่มนักศึกษาให้สังคมมองว่าการชุมนุมของนักศึกษาจะนำไปสู่ความรุนแรง เป็นการปล่อยให้นักศึกษาไปเผชิญชะตากรรมด้วยตนเองแทนที่จะปล่อยให้นักศึกษาสามารถชุมนุมในมหาวิทยาลัยได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย
ผู้บริหารทุกสถาบันการศึกษาอยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจแบบนี้ หากเรายึดมั่นในหลักการของการรักษาสิทธิเสรีภาพ ทุกมหาวิทยาลัยก็ไม่แตกต่างกัน แต่ว่าเราต้องยอมรับในทางประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ที่เป็นมาจึงมีความคาดหวังว่าธรรมศาสตร์จะทำได้ดีกว่าที่ตัดสินใจแบบนั้น (ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่จัดชุมนุม) จึงเห็นว่า ด้วยความเป็นธรรมศาสตร์จึงมีลักษณะเฉพาะบางอย่างอยู่ในระดับหนึ่ง (แต่ไม่ได้หมายความว่าที่อื่นจะทำไม่ได้) และการควบคุมเนื้อหาของธรรมศาสตร์ก็เป็นแบบอย่างให้ที่อื่นด้วย เช่น การจัดชุมนุมที่ ม.อ. หลังจากที่ธรรมศาสตร์จัด ก็มีการเข้าไปควบคุมอยู่พอสมควร
ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ :
เห็นว่า โดยมาตรฐานก็เป็นผู้บริหารเหมือนทุกที่ แต่ในนามธรรมศาสตร์ด้วยประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ต้องแบกรับความคาดหวังจากสังคมค่อนข้างมาก ทำให้เป็นที่จับตามองต่อท่าทีการตอบสนองของธรรมศาสตร์ในกรณีที่ธรรมศาสตร์เปิดให้มีเสรีภาพและจัดการได้ดีก็จะเป็นสิ่งที่งดงามโดยสภาพและเป็นไปตามความคาดหวังของทุกคน แต่เมื่อตัดสินใจอีกแบบก็เป็นต้นแบบให้ที่อื่น ๆ ทำตาม กล่าวคือ แถลงการณ์ของธรรมศาสตร์ออกในลักษณะนี้ สถานศึกษาที่อื่น ๆ ก็จะออกมาในแนวทางนี้
ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย :
เข้าใจว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน แต่ว่าความเป็นธรรมศาสตร์มีลักษณะพิเศษมากกว่าที่อื่น ความพิเศษนั้นไม่ได้อยู่ที่ผู้บริหาร แต่อยู่ที่จิตวิญญาณของความเป็นธรรมศาสตร์ ในสมัยเป็นนักศึกษาก็มีโอกาสเข้าร่วมการรับเพื่อนใหม่ (เป็นตัวแฝง) ตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้ารั้วก็รู้สึกว่าธรรมศาสตร์เน้นจิตวิญญาณที่สอนให้รักประชาชน จิตวิญญาณนี้จึงผูกพันกับสังคมธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์จึงเป็นตัวนำและทำให้สังคมคาดหวังกับบทบาทของธรรมศาสตร์มากกว่าที่อื่น ๆ
ประเด็นสิ่งที่ที่ขาดหรือพร่องไปในการชุมนุมในช่วงที่ผ่านมา ประการแรกคือ ข้อสันนิษฐานในการชุมนุมว่าจะสงบและสันติ เสรีภาพนี้ถูกรับรองตามกฎหมายระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้บางส่วนยังเป็นเยาวชนก็จะมีอนุสัญญาที่คุ้มครองเขาเพิ่มเติมซึ่งรับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและสันติ เหตุผลเบื้องหลังมาจากการชุมนุมเป็นกระบวนการเรียกร้องที่อนุญาตให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง รัฐในฐานะผู้ผูกขาดการใช้กำลังตามกฎหมายก็จะต้องสันนิษฐานว่าผู้ชุมนุมจะชุมนุมโดยสงบและสันติ และหากเกิดความไม่สงบหรือไม่สันติขึ้น รัฐมีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมดูแลสถานการณ์นั้นได้อยู่แล้ว ดังนั้น รัฐจึงขาดข้อสันนิษฐานข้อหลักนี้ไป
ประการที่สองคือ สถานศึกษากับบทบาทหน้าที่ในการกล่อมเกลาเยาวชนให้เข้าใจสิทธิพลเมือง สิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ก็มีตัวอย่างของบทบัญญัติที่กำหนดเป้าหมายให้สถานศึกษาควรมุ่งส่งเสริมให้เด็กสามารถพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานที่รับรองตามกฎบัตรสหประชาชาติ อีกทั้งสถานศึกษาต้องเตรียมความพร้อมให้กับเด็กและเยาวชนในการที่สามารถจะใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเสรีที่มีจิตวิญญาณพร้อมด้วยความเข้าอกเข้าใจ มีสันติภาพ ความอดทนอดกลั้น ความเสมอภาคทางเพศ ยอมรับในความหลากหลายด้านต่าง ๆ เมื่อมองย้อนกลับมาดูสถานศึกษาในไทยแล้ว เรามีการวางมาตรฐานขั้นต่ำเรื่องเหล่านี้ไว้หรือไม่ ทำหน้าที่ตามเรื่องเหล่านี้ไว้ได้ดีเพียงใด เราต้องไปไกลกว่ากรณีที่รัฐมีค่านิยม 12 ประการ หรือการกำหนดมาตรฐาน KPI บางอย่าง เราต้องสร้างจิตวิญญาณให้เยาวชนมีบทบาทอย่างไรในสังคมเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนกฎหมาย แค่ในจุฬาฯ เช่น กฎหมายสิทธิมนุษยชนเป็นแค่วิชาเลือกเรียนเท่านั้น แล้วเราจะคาดหมายได้อย่างไรว่า นิสิตเหล่านี้ในอนาคตที่จะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายจะเข้าใจสิทธิมนุษยชนในเชิงลึกได้มากเพียงใด ผลในเชิงปฏิบัติตามอนุสัญญาต่าง ๆ ที่สะท้อนออกมาในระบบการศึกษาไทยจึงมีน้อยมาก ดังนั้น บทบาทส่วนนี้ของสถานศึกษายังขาดหายหรือบกพร่องไป
รศ.ดร.ต่อพงศ์ กล่าวเสริมว่า นักศึกษากล่าวโดยชัดเจนว่าการชุมนุมจะเป็นไปโดยสงบและก็ได้ทำให้เราเห็นด้วย เพียงแต่สิ่งที่คนไม่สบายใจคือเนื้อหาที่พูดกันมากกว่า ในทางกฎหมายการพูดในสิ่งที่รัฐอาจจะไม่สบายใจ เฉพาะตัวเนื้อหาที่มีคนกล่าวอ้างว่าผิดกฎหมาย จะทำให้ข้อสันนิษฐานว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบและสันติหายไปหรือไม่ เกณฑ์ในการพิจารณาความไม่สงบคืออะไร
ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย :
วิเคราะห์ในการกล่าวช่วงต่อไปเนื่องจากค่อนข้างซับซ้อน แต่จะกล่าวเบื้องต้นว่า การจำกัดเสรีภาพทำได้สองรูปแบบ คือ จำกัดในเชิงรูปแบบ กับจำกัดในเชิงเนื้อหา แต่ในเรื่องเนื้อหาบางทีอาจจะไม่ใช่เรื่องของเสรีภาพในการชุมนุม การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมในเรื่องเนื้อหาต้องทำผ่านกรอบในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยธรรมชาติของการประท้วงหรือชุมนุมสาธารณะจะมาจากความไม่พอใจอะไรบางอย่างจึงออกมาชุมนุมเรียกร้อง แตกต่างจากการเสวนาเชิงวิชาการ การใช้คำปลุกเร้า เสียดสี คำหยาบต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องปกติของความไม่พอใจ แต่เมื่อมองในมุมของผู้บริหารจะเห็นว่าเป็นความรุนแรงและเนื้อหาไม่เหมาะสมซึ่งก็ต้องไม่เหมาะสมอยู่แล้วเพราะเป็นฝ่ายถูกโจมตี หากมีการจำกัดทางเนื้อหาแล้ว เสรีภาพทางการชุมนุมอาจไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ จะชุมนุมได้เมื่อสมประโยชน์ของผู้บริหารเท่านั้น ก็ไม่ใช่เรื่องเสรีภาพแล้ว และประวัติศาสตร์ก็บอกเราว่าหากเป็นกรณีเหล่านี้ เสรีภาพก็ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง
ผศ.ทศพลธ์ ทรรศนะกุลพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ :
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นของธรรมศาสตร์ ต่อไปก็จะเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาอื่น ๆ เพราะว่าทุกคนย่อมทราบว่าการชุมนุมสาธารณะตั้งแต่มีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะที่กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ อีกทั้งสถานการณ์โควิดและ พ.ร.ก.ว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินที่เราไม่รู้แน่ชัดว่าเหตุผลเป็นเรื่องการจัดการโรคระบาดหรือว่าเป็นการควบคุมสถานการณ์การเมือง จึงทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับนักศึกษา นักเรียนรวมถึงบุคคลภายนอกเป็นพื้นที่ในการรวมกลุ่มเพื่อแสดงออก
ปรากฏการณ์ที่เกิดนี้คู่ขนานไปกับสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องการจะผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพต่อสังคมตามหลักสูตรที่จัดทำขึ้น อันที่จริงแล้ว มหาวิทยาลัยทั่วประเทศควรต้องดีใจกับการลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นอย่างกล้าหาญของนักศึกษา มหาวิทยาลัยพร้อมหรือยังกับการที่จะพูดคุยและส่งเสริมให้พวกเขาเป็นพลเมืองที่ตื่นตัวและรู้เท่าทันถึงปัญหาของสังคม สิ่งเหล่านี้การเรียนในห้องเรียนย่อมไม่เพียงพอ เมื่อพวกเขาสามารถชี้นำให้สังคมเห็นได้ถึงปัญหาย่อมบรรลุตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย (ในแง่ Student Centre กับ Civil Literacy)
แม้ในสถานการณ์ปัจจุบันอาจจะมีข้อคิดที่ว่ามหาวิทยาลัยทางกายภาพอาจจะไม่จำเป็นแล้ว เพราะมีการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ต แต่มหาวิทยาลัยมีคุณค่าที่เหนือกว่าโลกเสมือน สามารถให้พื้นที่ที่แท้จริงได้ในการที่ทุกคนสามารถถอดภาระหน้าที่ออกไปชั่วคราวและมาพูดคุยกันในฐานะปัจเจกที่สนใจประเด็นร่วมกันได้อย่างอิสระมากขึ้น
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการปะทะกันระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกกับการควบคุมการแสดงออกมิให้มีการละเมิดสิทธิ เช่น กลัวว่าจะเป็น hate speech การใช้คำหยาบคาย มีการคุกคามต่าง ๆ ซึ่งแนวทางในการกำกับหรือสร้างสมดุลนั้นมีมากกว่าหนึ่งแนวทาง แต่เหมือนว่ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะเลือกแนวทางเดียวกันและคล้าย ๆ กันคือ แนวทางที่ คสช. ได้ให้ไว้ตั้งแต่ปี 2557 เป็นการเรียกมาคุย หากคุยไม่รู้เรื่องก็ทำความตกลง (MOU) ก่อนที่จะปล่อยตัวไป และหากไม่ปฏิบัติตามก็อาจจะเรียกกลับ ยกเลิกหรือดำเนินคดีทางกฎหมายซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมากในการคิดว่าหากคุณจะใช้เสรีภาพ คุณมีหน้าที่จะต้องทำอะไรบางอย่างเสียก่อน
ดังนั้น วิธีการอื่นมีอีกมากมาย จึงควรปล่อยให้พวกเขาได้แสดงเสรีภาพ และในกรณีที่เขากระทำไปผิดกฎหมายก็เป็นความรับผิดของเขา ผู้บริหารไม่ได้ต้องมาแบกรับความรับผิดอยู่แล้ว หรือจริง ๆ แล้วสิ่งที่ผู้บริหารมองว่าต้องรับผิดไม่ใช่ประเด็นทางอาญาแต่ผู้บริหารกำลังคาดหวังความสำเร็จอะไรบางอย่างที่ประชาชนควรมาอยู่ภายใต้แผนการเจริญก้าวหน้าของผู้บริหารนั้นหรือไม่
รศ.ดร.รุ่งภพ คงฤทธิ์ระจัน หัวหน้าศูนย์กฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต :
มองว่า เป็นการพลิกฟื้นบทบาทของนักศึกษาที่เคยมีมาในอดีตใน (ตุลาคม 2516 กับ 2519) ต่อมาก็เป็นบทบาทของคนชั้นกลางแทน (พฤษภาคม 2535) การเรียกร้องของกลุ่มคนเสื้อแดง (เมษายน 2553) และก็วนกลับมาใหม่ในบทบาทของนักศึกษาในปัจจุบัน ก่อนที่จะวนมาเกิดแบบนี้ได้ มีสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นมาประมาณปีกว่า ๆ โดยไม่ได้ผ่านสื่อหลักที่เป็นโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ แต่เป็นสื่อทวิตเตอร์ การเรียนรู้เหตุการณ์ผ่านทวิตเตอร์จึงเป็นสิ่งที่บอกพวกเขาว่าจะต้องรับมือหรือแสดงออกอย่างไร และในเด็กนักเรียนก็ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เป็นผลมาจากธรรมศาสตร์ที่เพาะบ่มนักศึกษาให้เป็นนักศึกษาที่สอดคล้องกับหลักสูตร มีความเป็นผู้นำสังคมอย่างชัดเจน โดยมองว่าธรรมศาสตร์เป็นสัญญะทางการเมือง เมื่อนักศึกษาจากธรรมศาสตร์ชุมนุมขึ้น คนจะเชื่อและคาดหวังว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีนัยยะแอบแฝงทางการเมืองหรือมีการแทรกแซงจากกลุ่มการเมือง เพราะสังคมเชื่อว่ามีการบ่มเพาะจากอาจารย์ที่เป็นแบบนั้นและสืบทอดต่อกันมารุ่นต่อรุ่น และหากไม่เชื่อในมหาวิทยาลัยนี้ก็คงไปไหนไม่รอด จึงรู้สึกดีใจในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ที่เคยผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มา และพูดกับนักศึกษาเสมอถึงการอยู่ในวงจรอุบาทว์ที่อยู่ไปเรื่อย ๆ อยู่ไปวันไปตลอด โดยเฉพาะในคณะของตนเองก็เงียบทั้งด้านวิชาการและด้านการอภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ประกอบกับมีมาตรการของมหาวิทยาลัยที่กำหนดว่าอะไรควร อะไรไม่ควร อีกทั้งสัญญาจ้างที่ทำให้เหล่าอาจารย์รู้สึกว่าอะไรควรจะพูด ภาระทางด้านครอบครัวของแต่ละคนจึงทำให้เกิดการชะงักไปในยุคนั้น แต่ในหมู่เด็ก ๆ เขายังไม่มีเรื่องเหล่านี้ให้ต้องคำนึงถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นการปลุกเร้าให้คนในหาวิทยาลัยอื่นมาเป็นแนวร่วม และสร้างศรัทธาว่าสังคมไม่ได้เดียวดาย สะท้อนออกไปในส่วนภูมิภาค และรู้สึกยินดีที่มีการกระจายไปยังต่างจังหวัด อย่างน้อยเป็นการทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เขาพูดคืออะไร คนที่ฟังก็เรียนรู้ไป เป็นไปตามเสรีภาพในการให้ความรู้แล้ว สังคมไม่ได้อยู่ในรูปแบบเดียวหรือในความหมายเดียวไปตลอดเวลา การพูดเรื่องการเมืองเป็นวัฒนธรรม ข้อความคิดในอดีตที่เคยใช้ได้ก็อาจจะใช้ไม่ได้ เช่น ประเด็นชุดนักเรียน เหตุผลที่เคยใช้แต่เดิมอาจจะไม่ตอบโจทย์ในปัจจุบัน ทำให้พวกเขาไม่เชื่อในเหตุผลที่รัฐอ้าง ข้อความหรือเครื่องมือที่ใช้ของรัฐเมื่อล้าสมัยก็อาจจะกลายเป็นเรื่องขำขันสำหรับพวกเขา นอกจากนี้ธรรมศาสตร์ยังเป็นสัญญะของเสรีภาพ ประเด็นหนึ่งคือเสรีภาพในการแต่งกายที่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของเด็ก ๆ ทำให้พวกเขามองและเข้าใจว่าธรรมศาสตร์คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าคือเสรีภาพ ในประเด็นที่มีการใช้คำเสียดสี ล้อเลียน คำหยาบตามที่ดร.พัชร์ได้กล่าวไปบ้างแล้ว ตนก็เห็นว่าจริง ๆ แล้วคือ คำเทคนิค (Technical Term) ในการปลุกเร้าและสร้างแรงจูงใจตามปกติในการชุมนุมอยู่แล้ว
ช่วงที่สอง การอภิปรายในประเด็นสังคมที่อยู่ในภาวะความเปลี่ยนแปลง การปะทะกันของหลักการหรือความคิดต่าง ๆ บทบาทของมหาวิทยาลัยในแง่กลไกของรัฐและในแง่กลไกในการดูแลนักศึกษา
ผศ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ :
กล่าวในประเด็นพัฒนาการของเสรีภาพทางวิชาการและสิ่งที่ขาดหายไปในปัจจุบัน
พัฒนาการบทบาทของมหาวิทยาลัย (ศึกษาจากตะวันตกเป็นหลัก) ซึ่งไทยก็รับเอามาใช้ เริ่มแรกในการก่อตั้งช่วง ค.ศ.1000 มหาวิทยาลัยเป็นชุมชนของนักศึกษาและนักเรียน หน้าที่หลักคือการส่งต่อความรู้ที่ได้รับการยอมรับแล้ว พอเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Enlightenment) หน้าที่จึงไม่ใช่แค่การส่งต่อความรู้ แต่จะต้องตรวจสอบความรู้เหล่านั้นด้วย มหาวิทยาลัยจึงต้องวิพากษ์และตั้งคำถามกับความรู้ที่ได้รับการยอมรับแล้ว การเรียนการสอนกับการวิจัยจึงเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่ออาจารย์สอนจึงต้องถ่ายทอดวิธีการวิจัยให้แก่นักศึกษาไปด้วยเพื่อตั้งคำถามกับความรู้ที่ได้รับการยอมรับแล้วทั้งหลาย ต่อมาในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 20 บทบาทก็มีการเปลี่ยนแปลงในบางประการคือ การศึกษาเพื่อให้มีงานทำเมื่อศึกษาจบแล้ว ดังนั้น บทบาทมหาวิทยาลัยจึงเป็นส่งต่อความรู้ สร้าง ขยายองค์ความรู้ และเป็นหลักประกันว่าผู้ที่ศึกษาจบแล้วจะมีงานทำ
การตั้งคำถามกับความรู้ที่ได้รับการยอมรับแล้ว ย่อมไม่ถูกใจผู้ที่มีอำนาจหรือปัจจัยอื่นในบางครั้ง ในยุโรปจึงมีหลักการเสรีภาพทางวิชาการ (Academic Freedom) เพื่อทำให้สามารถตั้งคำถามกับทุกเรื่องได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะได้รับผลกระทบต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบหรือขยายองค์ความรู้ใหม่ ๆ ได้ เช่น สถาบันการศึกษาคาดหวังว่าอยากได้บัณฑิตแบบกาลิเลโอ แต่สภาวะที่เกิดคือ เมื่อบอกว่าโลกกลม ก็ถูกสั่งว่าห้ามคิด ห้ามพูด ซึ่งดูย้อนแย้งกัน
ในเบื้องต้น คำว่าเสรีภาพ (Freedom) ยังไม่เกิดขึ้นเมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัย มีแต่เอกสิทธิ์ (Privilege) บางอย่าง เดิมก่อนที่จะมีมหาวิทยาลัย ศูนย์กลางของความรู้ทั้งหลายอยู่ที่ศาสนจักร เมื่อก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมา จึงสามารถที่จะเคียงข้างกับศาสนจักรในการถ่ายทอดความรู้ แต่ว่าก็ยังต้องการการรับรองจากศาสนจักรก่อน ดังนั้น เสรีภาพทางวิชาการช่วงแรกจึงเป็นสิทธิเฉพาะของมหาวิทยาลัยที่ถ่ายทอดองค์ความรู้นอกเหนือไปจากตัวศาสนจักรเอง (หน่วยอื่น ๆ ในสังคมไม่มีสิทธิตรงนี้)
นอกจากนี้ ความหมายของเสรีภาพทางวิชาการแบบเดิม มหาวิทยาลัยสมัยนั้นเป็นศูนย์รวมนักวิชาการกับนักศึกษาที่มาจากต่างถิ่นในยุโรป สิทธิที่เราเรียกว่าเป็นเสรีภาพทางวิชาการจึงเป็นสิทธิของคนต่างถิ่นที่มารวมกันในที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งบางแห่งก็มีข้อห้ามไม่ให้นักศึกษาที่ศึกษาในพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่แต่จะต้องไปศึกษาต่างถิ่น ในยุคแรกนี้ นักวิชาการจึงมีเสรีภาพในการเดินทางไปเพื่อสอนในที่ต่าง ๆ ในยุคแรกนี้ เสรีภาพทางวิชาการจึงหมายถึงเฉพาะบุคคลที่เป็นครูหรืออาจารย์เป็นหลัก
คริสต์ศตวรรษที่ 17-18 มีการใช้คำว่า res publica literaria (Republic of Teacher) เป็นความตั้งใจที่จะใช้คำว่า Republic ในขณะที่การปกครองส่วนใหญ่ยังเป็นระบอบกษัตริย์อยู่ นักวิชาการทั้งหลายคือสังคมที่สามารถจัดการตัวเองได้และจัดการโดยยอมรับว่าสมาชิกทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน มีส่วนร่วมในการปกครองชุมชนวิชาการของตัวเอง เป็นการยืนยันว่ามหาวิทยาลัยมีอิสระจากผู้มีอำนาจ และรูปแบบของมหาวิทยาลัยเป็นการยอมรับสิทธิเท่าเทียมกันของสมาชิกในกลุ่ม
คริสต์ศตวรรษที่ 18 บทบาทในแง่การตรวจสอบความรู้เด่นชัดมากขึ้น จึงเกิดหลักในการวิจัยขึ้นมา เสรีภาพทางวิชาการจึงครอบคลุมไปถึงเรื่องการวิจัยด้วย ไม่ได้เป็นเรื่องของการถ่ายทอดความรู้เพียงอย่างเดียวแล้ว
คริสต์ศตวรรษที่ 19 มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ในการค้นหาความรู้สำหรับนักศึกษา ซึ่งบทบาทนี้ไม่ค่อยถูกพูดถึงในยุคก่อนซักเท่าไรนัก เสรีภาพทางวิชาการจึงมีมิติเพิ่มขึ้นมา คือ การเรียน ผู้เรียนจึงสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเรียนแบบไหน เลือกเรียนอะไร ให้เหมาะกับแผนการศึกษาของเขาตามที่มหาวิทยาลัยเสนอไว้ ครอบคลุมไปถึงการกำหนดการใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่อยู่ในมหาวิทยาลัยนั้นด้วย
คริสต์ศตวรรษที่ 20 สิ่งที่โดดเด่นคือ มีการเรียกร้องความเป็นอิสระ (Autonomy) ของตัวมหาวิทยาลัย ในการค้นหาความรู้ผ่านการทำวิจัยไม่ควรที่จะถูกแทรกแซงโดยสถาบันอื่น ประเด็นสำคัญคือ โดยหลักงานวิจัยที่ไม่ก่อรายได้ ทำให้ต้องรับทุนสนับสนุนการวิจัยจากแหล่งอื่น การจัดระบบเพื่อรักษาความเป็นอิสระทางวิชาการนี้จึงมีความสำคัญ และโครงสร้างของมหาวิทยาลัยที่จะต้องให้หลักประกันเสรีภาพทางวิชาการของอาจารย์
ในปัจจุบัน คุณสมบัติในการประกอบวิชาชีพทั้งหลาย ระบบหลักสูตรและข้อชี้วัดที่ออกแบบให้นักศึกษาเป็นไปในรูปแบบเดียวกัน เป็นการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการแก่นักศึกษาอย่างมาก แต่กระแสก็เริ่มเปลี่ยนไปบ้าง มีการให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการเลือกเรียนของนักศึกษามากขึ้น การหายไปของเสรีภาพทางวิชาการของนักศึกษาไม่ใช่แค่เรื่องในชั้นเรียนที่ต้องเรียนตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ แต่รวมถึงการเลือกตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตได้ การตั้งคำถามทั้งหลายเกี่ยวกับสังคมด้วย ในฐานะมหาวิทยาลัยต้องสนับสนุนพวกเขาในการตั้งคำถามถึงสิ่งต่าง ๆ เพื่อยืนยันถึงเสรีภาพทางวิชาการของพวกเขาที่ถูกกดทับมานาน
ความหมายของหลักการเสรีภาพทางวิชาการไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว ปรับเปลี่ยนไปตามบทบาทมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนไปด้วย อาจจะแบ่งได้ 3 ชั้น ส่วนแรกคือระบบอุดมศึกษาทั้งระบบ หากเป็นระบบดีที่ให้หลักประกันเสรีภาพทางวิชาการ เราจะไม่กังวลเลยว่ารัฐมนตรีจะเปลี่ยนเป็นใคร แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแล้วเราจะต้องมาดูนโยบายของรัฐมนตรีคนนั้น หรือเมื่อเราเห็นประกาศการขอตำแหน่งทางวิชาการออกมา ปัญหาเหล่านี้แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงแต่ก็เป็นมานานแล้ว ที่สะท้อนให้เห็นว่าตัวระบบไม่ได้มีความเป็นอิสระ ส่วนสองคือมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง โครงสร้างภายในมหาวิทยาลัยที่กดทับอาจารย์ที่จะต้องทำอะไรมากขึ้นนอกจากการสอนการวิจัย อีกทั้งเชื่อมกับงบประมาณที่ถูกปรับลดลงเรื่อย ๆ ส่วนสุดท้ายคืออาจารย์นักวิชาการและนักศึกษา ทั้งสามส่วนนี้เป็นประธานแห่งเสรีภาพในทางวิชาการ ซึ่งในปัจจุบันเรามักจะนึกถึงเสรีภาพทางวิชาการของนักวิชาการเป็นหลัก และสิ่งที่ถูกกดทับเอาไว้คือเสรีภาพทางวิชาการของนักศึกษา
จะเห็นได้ว่า พัฒนาการเสรีภาพทางวิชาการที่เราพูดถึงนี้จะรับรองเฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ไม่รวมถึงนักเรียนในโรงเรียนที่เป็นอีกระบบหนึ่ง ซึ่งสภาวะที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีกรณีนักเรียนทำเพจตั้งคำถามว่าควรที่จะยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนพิธีไหว้ครู ปรากฏว่าถูกรุ่นพี่รุมทำร้าย โรงเรียนเรียกทั้งสองฝ่ายไปคุย ตัดคะแนนความประพฤติฝ่ายที่ทำร้าย 10 คะแนน ส่วนนักเรียนที่ตั้งคำถามถูกพักการเรียน 7 วันและถูกกดดันให้ลาออก แสดงให้เห็นว่า นักเรียนมีเครื่องมือในการปกป้องตนเองน้อยกว่านักศึกษา เมื่อพูดถึงนักเรียนจะต้องถึงในกรอบของเสรีภาพของการใช้ห้องเรียนที่กว้างกว่าเสรีภาพในทางวิชาการ กล่าวโดยสรุป เสรีภาพทางวิชาการครอบคลุมถึงตัวนักศึกษาด้วย มหาวิทยาลัยต้องสนับสนุนพวกเขาทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน
ส่วนสิ่งที่ ม.อ. ทำในระหว่างนี้คือ การให้พื้นที่นักศึกษาในการล่ารายชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ การดูภาพยนตร์ การแสดงความคิดเห็น การเสวนาต่าง ๆ และยังให้ชุมชนภายนอกเข้ามาใช้พื้นที่ด้วย เช่น เสวนารัฐธรรมนูญคนจนร่วมกับสมัชชาคนจน เสวนาวิชาการประเด็นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เรื่องการอุ้มหาย โครงการจะนะ เป็นต้น และช่วงที่ผ่านมาก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเฝ้าดูนักศึกษาที่ใช้สิทธิต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ
ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ :
ประเด็นความคิดเห็นต่อการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษา องค์กรที่ใช้อำนาจรัฐ และการป้องกันของนักเรียนนักศึกษา
ผศ.สาวตรีรู้สึกหลายอย่างผสมกันไป ทั้งแปลกใจและตื่นเต้น เพราะแต่เดิมการเรียกร้องต่าง ๆ เป็นเรื่องของผู้ใหญ่หรือวัยทำงานโดยส่วนมาก ในเนื้อหาของการเรียกร้องที่ไม่ได้ชี้ให้เห็นเลยว่าเป็นเครื่องมือของนักการเมืองตามที่มีฝ่ายด้อยค่าการชุมนุมของพวกเขาไว้ แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากการศึกษาวิเคราะห์ของพวกเขาเอง มีการเชิญฝ่ายตรงข้ามมาเพื่อพูดคุย มีการโต้ตอบแบบทันทีทันใดกับฝ่ายตรงข้าม หลาย ๆ ครั้งก็พบว่าพวกเขารู้มากกว่าเราอีก ประเด็นต่าง ๆ ที่เสนอนั้นไปไกลกว่าที่นักการเมืองเสนอไว้ด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านี้จึงมีความชัดเจนว่า นักเรียกนักศึกษามีความคิดเป็นของตนเอง
นอกจากนี้ประเด็นที่เรียกร้องกันของแต่ละกลุ่มจะมีความหลากหลาย นักเรียนจะเริ่มที่ประเด็นเกี่ยวกับพวกเขาก่อน เช่น ทรงผม เครื่องแบบ และสุดท้ายสามารถมารวมกลุ่มกันได้แบบหลวม ๆ กับกลุ่มผู้หญิง ผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มที่เรียกร้องทางการเมือง กลุ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นถึงการมองเห็นปัญหาร่วมกัน สามารถสังเคราะห์ปัญหาได้และรู้ได้ถึงจุดร่วมของกันและกัน ซึ่งปัญหาที่พวกเขาเห็นร่วมกันเลยก็คือ ปัญหาของระบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยม ความไม่เท่าเทียมกันตามโอกาส ความอยุติธรรมที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย
ผศ.สาวตรีรู้สึกทึ่งและชื่นชมความสร้างสรรค์กับความกล้าหาญในการจัดขึ้น เช่น กรณีที่มีการเชิญรัฐมนตรี ศธ. มาร่วม สิ่งที่โดดเด่นมากเลย คือ การให้ รมต. ไปเข้าแถว ซึ่งนักกิจกรรมรุ่นก่อนทึ่งมากเพราะหากเป็นรุ่นพวกเขาจะไม่ทำและไม่คิดด้วยซ้ำว่าจะมีปรากฏการณ์แบบนี้ขึ้นเพราะเมื่ออีกฝ่ายมาก็จะต้องรีบให้พูดเลย เพื่อที่จะได้นำเสนอข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ต่างกับกรณีนักเรียนที่พวกเขาได้สะท้อนให้เห็นว่าผู้ใหญ่และเด็กมีความเท่าเทียมกันในการแสดงออก การใช้สิทธิเสรีภาพ เป็นการตบหน้าทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมและพวกเราและผู้ที่เคยสู้มาก่อนว่าเหตุใดไม่คิดแบบนี้บ้าง และยินดีกับพวกเขาในฐานะอาจารย์ที่เห็นว่าพวกเขาไปไกลกว่าเราแล้ว อีกทั้งยังฝากความหวังไว้ที่พวกเขาว่าให้จบที่รุ่นพวกเขาจริง ๆ
บทบาทของอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยส่วนตัวเห็นว่า ค่อนข้างย่อหย่อนในการให้เสรีภาพแก่เด็ก ในการแสดงความคิดเห็นที่เป็นตัวของตัวเอง ในช่วงหลัง ๆ มหาวิทยาลัยมีภาพมายาคติบางอย่างว่า เด็กหรือมหาวิทยาลัยต้องเป็นกลางทางการเมือง อย่าไปยุ่งการเมือง แต่ตนรู้สึกว่านิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ วารสารศาสตร์ (คณะทางสายวิทย์ตนไม่ทราบ) จะไม่ยุ่งการเมืองไม่ได้ เพราะเรื่องราวที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวพันกับการเมืองทั้งนั้น การมองการเมืองในภาพอย่างแคบที่เมื่อพูดแล้วจะนึกถึงนักการเมือง การทุจริต ทำให้พอจะไปยุ่งก็เท่ากับการไปยุ่งกับนักการเมืองหรือสังกัดพรรคการเมือง มายาคติแบบนี้คือความล้าหลัง เด็กไปไกลกว่านั้นแล้วพวกเขาเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน การใส่มายาคติเรื่องนี้ไปจึงเป็นการกีดกันและใช้ข้ออ้างต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยว การที่พวกเขายังมองภาพมายาคติออกและใช้สิทธิเสรีภาพได้ก็ต้องชื่นชมและยินดีกับพวกเขา
ประเด็นองค์กรที่ใช้อำนาจกับเด็กที่มีหลายองค์กรที่เข้ามาขัดขวาง เป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกใจ แต่ไม่ควรที่จะยอมรับได้และจะต้องช่วยกันโต้แย้ง เพราะแนวคิดอำนาจนิยม เผด็จการหรือผู้ใหญ่เป็นใหญ่มีอยู่ทั่วโลก ผู้ที่เป็นเผด็จการหรือเผด็จการแฝงจะคอยสอดส่องการกระทำของมวลชนผู้ตื่นรู้ โดยสภาพก็จะไม่ชอบการตั้งคำถามอยู่แล้ว กลัวผู้มีอิทธิพลทางความคิด จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะขัดขวาง ชะลอ ด้อยค่าบุคคลเหล่านี้
มีความพยายามในการใช้ความรุนแรงอยู่ก่อนที่จะใช้เครื่องมือทางกฎหมาย สังเกตได้จากระดับนักเรียน องค์กรที่จะเข้ามาใช้คือครูอาจารย์สถาบันการศึกษา ในรูปแบบของการริบเครื่องมืออุปกรณ์ ทำโทษเด็ก การเรียกผู้ปกครองเข้าพบ เพียงแต่ว่าในระดับประเทศใช้ได้ยาก การต่อสู้ของรัฐในครั้งนี้ต่อการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาได้ยากกว่าปกติ ไม่สามารถที่จะใช้ความรุนแรงได้มาก เพราะอีกฝ่ายเป็นเด็ก ภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบมาก รัฐจึงเหลือเครื่องมือทางกฎหมายมาใช้
ปกติกลไกที่รัฐจะใช้มากำกับเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน จะมี 2 กลไก กล่าวคือ กลไกทางนโยบาย ที่จะออกมาตรการต่าง ๆ ทางกฎหมาย กลไกทางบรรทัดฐานของสังคม (รัฐที่เผด็จการหรือเผด็จการแฝงใช้กลไกนี้มาก) ที่ไม่ออกกฎหมาย แต่ใช้สิ่งที่สังคมยึดถือเพื่อห้ามไม่ให้พูด (ไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่เหมาะสมที่จะพูด) ไทยใช้เครื่องมือนี้มาตลอด หลาย ๆ คนถูกกดทับเพราะสถาบันครอบครัว ครูอาจารย์ไม่ให้พูด ในปัจจุบัน กลไกทางสังคมบางเรื่องอ่อนพลังลงมากประกอบกับปัญหาของประเทศที่พวกเขาพบเจอมาตลอด การพยายามปลุกเร้าเพื่อให้เกิดการปะทะนำไปสู่ความรุนแรงจึงไปไม่ได้ (ในอดีตใช้ได้เพราะกลไกทางสังคมทรงพลัง) เมื่อใช้กลไกนี้ไม่ได้ รัฐจึงเหลือกลไกเดียวคือกลไกทางกฎหมาย ซึ่งกฎหมายหลักที่นำมาใช้คือ ป.อาญา มาตรา 116 ส่วนมาตรา 112 ไม่ได้หายไป แต่อาจจะแฝงอยู่ในรูปของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่มีจุดเชื่อมโยงกัน พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุม การละเมิดอำนาจศาล เห็นได้ว่า เป็นการฟ้องเพื่อปิดปาก เป้าหมายไม่ได้ต้องการลงโทษจริง ๆ เป็นการฟ้องเชิงยุทธศาสตร์ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว กฎหมายหมิ่นประมาทจะถูกนำมาใช้ แต่ในประเทศที่เผด็จการหรือเผด็จการแฝงจะใช้เรื่องปลุกปั่นยุยง ก็คือ มาตรา 116 นั่นเอง
การปิดปากในยุคนี้เริ่มอ่อนกำลังลงเพราะว่ามีการปะทะกับโซเชียลมีเดีย (Social Media) ที่ใช้ในการสื่อสารกัน เช่น เมื่อมีการจับกุม ประชาชนก็จะติดตามไปที่สถานีตำรวจแทนที่จะกลับเข้าบ้าน เป็นต้น แต่ก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงการพยายามใช้ความรุนแรงและใช้กฎหมายอยู่ การรวมตัวของนักศึกษาที่ใช้โซเชียลมีเดียคล้ายกับช่วงอาหรับสปริง เมื่อถูกกดปราบทางกฎหมาย พวกเขาจะไปแสดงออกในโซเชียลมีเดียที่รัฐคุมไม่ได้ การกล่าวว่าเด็กถูกครอบงำจากโซเชียลมีเดียนับว่าเป็นการดูถูกโซเชียลมีเดียพอสมควร เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างมาก เช่น แฮชแท๊กต่าง ๆ ที่สุดท้ายรัฐฟ้องได้ แต่รัฐจะทำอย่างไรกับแฮชแท๊กที่เกิดขึ้นและนำไปสู่การขับเคลื่อนในโลกทางกายภาพ เห็นว่า การใช้กฎหมายจึงเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้ปกติ องค์กรที่ใช้กฎหมายก็มีหลายองค์กร แต่ผลที่ได้อาจจะลดน้อยลง
อย่างไรก็ดี การป้องกันของนักเรียนนักศึกษานั้นยากมาก เพราะรัฐอ้างกฎหมาย ตามที่เราเคยได้ยินว่า ความอยุติธรรมที่เลวร้ายที่สุดคือความอยุติธรรมที่อ้างกฎหมาย แม้เราจะระมัดระวังเพียงใดว่าไม่ได้พูดผิดกฎหมาย แต่อีกฝ่ายก็จะพยายามตีความให้เข้าได้ หรือเบื้องต้นก็ฟ้องปิดปากไปก่อน พวกเขาต้องมีนักกฎหมายช่วยเหลือ เพื่อให้ความรู้ในการใช้ความระมัดระวังไม่ให้ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ รุ่นผู้ใหญ่อย่าเมินเฉยต่อข้อเรียกร้องของพวกเขาหากเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาของสังคมมาโดยตลอด เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ต้องสนับสนุนและโต้แย้งถึงการใช้กลไกต่าง ๆ ของรัฐเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงหรือการใช้เครื่องมือทางกฎหมาย ดังนั้น จึงอย่าคิดว่าการวางเฉยหรือการไม่ไปร่วมตำหนิกับฝ่ายตรงข้ามเป็นการช่วยเหลือผู้ที่กำลังสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ แท้ที่จริงแล้วเป็นการทำร้ายเขาทางอ้อมต่างหาก ดังคำกล่าวของ Martin Niemöller (1892–1984) ที่ว่า
ครั้งแรกพวกนั้นมาจับชาวคาทอลิก แต่ฉันเป็นโปรเตสแตนต์ ฉันจึงวางเฉย
ถัดมาเขามาจับพวกคอมมิวนิสต์ แต่ฉันไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ ฉันจึงไม่ได้ทำอะไร
ต่อมาเขามาจับนักสหภาพแรงงาน แต่ฉันไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้น ฉันจึงยังนิ่งอยู่
แล้วเขาก็มาจับคนยิว แต่ฉันไม่ได้เป็นคนยิว ฉันจึงนิ่งเฉย
พอถึงเวลาที่เขามาจับฉัน ตอนนั้นก็ไม่เหลือใครที่จะพูดอะไรได้อีกแล้ว
คำพูดนี้สะท้อนให้เห็นว่า การนิ่งเฉยนั้นสุดท้ายแล้วจะเป็นการกลับมาทำร้ายสิทธิเสรีภาพของทุกคน ดังนั้น การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจึงไม่น่าแปลกใจ แต่เราก็ไม่ควรที่จะต้องยอมรับและต้องโต้แย้งต่อการอ้างกฎหมายเพื่อที่จะใช้กดปราบความคิดเห็นที่แตกต่างเท่านั้นด้วย
ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย :
กล่าวใน 4 ประเด็น คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะกับสถานศึกษา การใช้สถานที่ราชการในการชุมนุมสาธารณะ การที่ผู้บริหารสถานศึกษามีอำนาจในการห้ามไม่ให้ใช้พื้นที่ กติกาในการชุมนุมในสถานศึกษา
อาจารย์ที่ปรึกษาปริญญาเอกเคยถามตนว่า เสรีภาพมีเยอะแยะ เหตุใดตนจึงสนใจเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ ก็นิ่งไปสักพัก และตอบไปว่าเป็นเครื่องมือที่แสดงออกทางการเมือง อาจารย์ที่ปรึกษาจึงตอบว่าใช่ มันเป็นอาวุธของคนจนกับคนไร้ทางสู้เพื่อเรียกร้องเรื่องต่าง ๆ ต่อผู้มีอำนาจ การชุมนุมสาธารณะขึงมีความสัมพันธ์กับคนที่ถูกกดหรือรังแก เมื่อรวมตัวกันก็ทำให้เสียงดังขึ้น และบอกอีกว่า ถ้าอยากจะทดสอบว่าสังคมใดมีสิทธิเสรีภาพแค่ไหนตามรัฐธรรมนูญ ให้ดูเสรีภาพในการชุมนุม เป็นตัวที่ทดสอบเสรีภาพทุกอย่างที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ เพราะการออกไปชุมนุมมีการพูด (เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น) การเข้าร่วมการชุมนุม (เสรีภาพในการเดินทาง) เสรีภาพในชีวิตและทรัพย์สิน
ประเด็นแรก มีความพยายามในการกำหนดกติกาการชุมนุมสาธารณะมีมานานแล้ว มีถึง 8 ต้นร่างแต่ก็ยังไม่ผ่านสภา จนกระทั่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ บังคับใช้ปี 2558 ในบริบทที่ไม่ค่อยจะเป็นประชาธิปไตยเท่าใดนัก จึงมีผลไม้พิษแอบแฝงอยู่ คือ มีการวางดุลพินิจให้กับตำรวจมากโดยที่ไม่มีเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจ ทำให้การตัดสินใจขึ้นอยู่กับท่าทีของผู้บริหาร
ตามหลักกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ICCPR รัฐมีพันธะเชิงบวกและเชิงลบ โดยเชิงลบคือสถานศึกษาในฐานะหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องละเว้นจากการแทรกแซงการใช้เสรีภาพในการชุมนุม หากแทรกแซงจะต้องตอบให้ได้ว่ามีความจำเป็นอย่างไรต่อการพิทักษ์สังคมประชาธิปไตย มาตรการที่ใช้ได้สัดส่วนหรือไม่ หากตอบคำถามเหล่านี้ได้จึงจะเข้าไปแทรกแซงได้ ส่วนพันธะเชิงบวกคือการเข้าไปอำนวยความสะดวกในการใช้เสรีภาพ เช่น การจัดการจราจรในพื้นที่ ปกป้องผู้ที่มาชุมนุมจากอีกฝ่ายที่เห็นต่าง รัฐจะนิ่งไม่ได้ เป็นต้น
การชุมนุมในสถานศึกษามีความพิเศษกว่าการชุมนุมในที่สาธารณะทั่วไป กล่าวคือ การชุมนุมในสถานศึกษาไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง กล่าวคือ นักเรียนถูกตัดค่าขนม ถูกขับออกจากบ้าน ทุนที่ได้จำกัดการเคลื่อนไหวทางการเมือง สิทธิความเป็นส่วนตัว การถูกดำเนินคดี เราจะมีมาตรการสำหรับพวกเขาอย่างไร เช่น ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ มีการกำหนดกรณีที่จับซึ่งหน้าได้ จะมีวิธีการจับเด็กอย่างไร เป็นต้น
สถานศึกษามีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐาน พลเมืองในสังคมเสรีประชาธิปไตยให้แก่พวกเขาอย่างไร เห็นว่า ส่วนใหญ่นักเรียนนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องจะศึกษาผ่านสื่อออนไลน์ ไม่ใช่ครูอาจารย์ที่มีภาพลักษณ์ปิดกั้นการตั้งคำถามของพวกเขามากกว่า
ประเด็นที่สอง การใช้สถานที่ราชการในการชุมนุมสาธารณะ ต้องพิจารณาก่อนว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ ถ้าเป็นแล้วดูต่อว่าเป็นการชุมนุมในสถานศึกษาหรือไม่ ในข้อแรก พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ มีนิยามการชุมนุมสาธารณะไว้ที่ตรงตามหลักสากล โดยมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ ประการแรกเป็นการชุมนุมของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป การถือป้ายคนเดียวจึงไม่ใช่การชุมนุม การจำกัดเรื่องนี้จะต้องไปเป็นกรณีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่เสรีภาพในการชุมนุม ประการต่อมาเป็นการชุมนุมในที่สาธารณะตามที่กฎหมายนิยามไว้และประชาชนมีความชอบธรรมในการเข้า-ออกได้ ความเป็นสาธารณะในพื้นที่หนึ่ง ๆ ต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป เช่น ถนนท่าพระจันทร์เป็นที่สาธารณะ แต่ห้องสมุดคณะนิติศาสตร์อาจจะไม่แน่ใจว่าเป็นหรือไม่ เป็นต้น การชุมนุมในห้องสมุดคณะนิติศาสตร์กับสนามบอลจึงไม่เหมือนกัน ประการที่สามคือการชุมนุมเรียกร้องต้องแสดงให้เห็นถึงข้อเรียกร้อง ค่อนข้างซับซ้อนอยู่บ้าง เช่น อาจารย์ยืนอยู่ในที่ชุมนุมแล้วตะโกน เห็นได้ชัดว่ามีการเรียกร้องออกมา การยืนถือป้ายเปล่า ๆ ไม่มีข้อความใด ๆ ก็ถือว่ามีการแสดงออกโดยดูจากการยืนเฉย ๆ นั่นเอง ส่วนกลุ่มคนที่ยืนรอรถเมล์ไม่ใช่การชุมนุม และประการสุดท้ายที่เป็นประเด็นในวันนี้คือ บุคคลทั่วไปสามารถเดินเข้า-ออกการชุมนุมได้หรือไม่ เนื่องจากการชุมนุมสาธารณะเป็นการเชื้อเชิญผู้อื่นที่เห็นด้วยให้เข้าร่วมได้ และเมื่อผู้พูดกล่าวในสิ่งที่ผู้เข้าร่วมไม่เห็นด้วย ผู้เข้าร่วมก็สามารถออกจากากรชุมนุมได้ทันที ฉะนั้น การที่เข้าได้อย่างเดียวและจะออกได้เมื่อถึงเวลาที่กำหนดจะไม่ใช่การชุมนุมสาธารณะ และบุคคลที่เข้าร่วมเป็นใครก็ได้ ไม่ต้องเป็นเฉพาะนักเรียน นักศึกษา หรือสังกัดใด ๆ หากกำหนดไว้เฉพาะบุคคลกลุ่มใด องค์ประกอบข้อนี้ก็จะหายไป
พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะกำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าไม่ให้บังคับใช้กับการชุมนุมสาธารณะในสถานศึกษา จึงไม่ได้มีนิยามเกี่ยวกับสถานศึกษา ก็ต้องไปดูกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ที่นิยามไว้ และการที่กฎหมายไม่ให้ใช้กับการชุมนุมในสถานศึกษาไม่ได้หมายความว่าชุมนุมไม่ได้ เพราะมีรัฐธรรมนูญรับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสันติ สงบ ปราศจากอาวุธไว้ ตนตีความว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ไม่ให้ใช้ในสถานศึกษาเพราะสถานศึกษามีเสรีภาพทางวิชาการ เป็นสถานที่บ่มเพาะความเป็นพลเมือง ให้นักเรียนนักศึกษาสามารถฝึกใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะในสถานศึกษาเพื่อที่ว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะสามารถไปใช้เสรีภาพในการชุมนุมภายนอกได้อย่างถูกต้องตามสิ่งที่เป็นของสังคมประชาธิปไตย
ประเด็นที่สามคือ การที่ผู้บริหารสถานศึกษามีอำนาจในการห้ามไม่ให้ใช้พื้นที่ หากตอบโดยเร็วก็สามารถห้ามได้ (หน้าที่ตามกฎหมาย) แต่การห้ามนั้นขัดกับหลักสากลหรือไม่ ควรจะห้ามหรือไม่ ตามหลักสากลการวางข้อจำกัดของการชุมนุมมีเงื่อนไขเบื้องต้น 3 ประการ คือ การห้ามต้องมีฐานรับรองตามกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ หากมีกฎหมายต้องดูว่าเป้าหมายของกฎหมายฉบับนั้นชอบหรือไม่ (Pursue a Legitimate Aim) เช่น เรื่องความมั่นคงของรัฐไม่ได้ตีความไม่ถึงความมั่นคงของรัฐบาล-ความเห็นโดยคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เป็นคนละเรื่องกัน เป็นต้น ข้อจำกัดเสรีภาพนั้นจำเป็นต่อสังคมเสรีประชาธิปไตยหรือไม่ และหากจำเป็นแล้วมีความได้สัดส่วนหรือไม่ กล่าวคือ หากมีข้อเรียกร้อง 10 เรื่อง เรื่องที่จำเป็นต้องห้ามมีแค่ 1 เรื่อง แต่รัฐกลับไปห้ามพูดทั้งหมดเลย ย่อมไม่ได้สัดส่วน ต้องห้ามเฉพาะเรื่องที่ต้องจำกัดเท่านั้น
ผู้บริหารจะสั่งห้ามหรือไม่ อาจจะพิจารณาจากรูปแบบหรือเนื้อหาก็ได้ ในเชิงของรูปแบบ จากที่ผ่านมาเราจะเห็นรูปแบบการชุมนุมที่หลากหลายและยังเชื่อมโยงกับโลกออนไลน์ด้วย ซึ่ง UN (General comment 37 เดือนกรกฎาคม 2563) ก็ได้รับรองให้เสรีภาพในการชุมนุมขยายไปถึงการชุมนุมที่มีความเกี่ยวเนื่องของโลกกายภาพกับโลกออนไลน์และการชุมนุมในโลกออนไลน์ล้วน ๆ ด้วย ฉะนั้น การผลักดันทั่วไปหรือการดันโล่กัน ในทางสากลไม่ถือว่าเป็นการใช้ความรุนแรง แต่ถ้าสาดสิ่งปฏิกูลจะถือว่ามีความรุนแรง ดังนั้น ถ้าการชุมนุมนั้นยังคงสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ ก็ไม่สมควรเข้าไปห้าม (รูปแบบขึ้นอยู่กับความสร้างสรรค์ของผู้ชุมนุม) ในส่วนของเนื้อหา โดยหลักไม่ควรเข้าไปจำกัดเนื้อหาของผู้ชุมนุมดังที่ได้เคยกล่าวไปแล้ว ถ้าหากให้อำนาจผู้บริหารในการจำกัดเนื้อหาก็ย่อมไม่เกิดการชุมนุมขึ้น เพราะว่าในเชิงของสถานศึกษาย่อมไม่อยากให้มีการชุมนุมเกิดขึ้น ในข้อยกเว้นที่จำกัดเนื้อหาได้ก็คือ เนื้อหานั้นเป็นการใช้ Hate Speech ยุยงให้เกิดความรุนแรงหรือการใช้กำลังเกิดขึ้น ยุให้ข้าราชการรัฐละทิ้งหน้าที่ การปราศรัยขัดกับหลักการประชาธิปไตย
ประเด็นที่สี่ กติกาในการชุมนุมในสถานศึกษา ก็เป็นไปตามการตกลงระหว่างนักเรียนนักศึกษากับสถานศึกษา โดยเรื่องที่จะตกลงโดยหลักคือ รูปแบบการชุมนุม การแจ้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ หน้าที่ของแต่ละฝ่าย บทบาทของผู้ปกครอง มารยาทในการใช้เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการบันทึกการชุมนุม แต่เมื่อนำไปเผยแพร่อาจจะต้องมีการเซ็นเซอร์ในกรณีที่ผู้พูดเป็นเยาวชน และแผนการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน (อ่านประกอบคำตอบในคำถามที่ 3)
ผศ.ทศพลธ์ ทรรศนะกุลพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ :
กล่าวในประเด็นการคุ้มครองสิทธิเด็กทั้งในการชุมนุมและในสถานศึกษาที่ไม่เกี่ยวกับการชุมนุม
ความรุนแรงที่ปรากฏในปัจจุบันที่คุกคามนักเรียนนักศึกษาหรือผู้แสดงออกทางการเมือง มีความรุนแรงโดยตรง เช่น การใช้กำลัง คำพูดที่ดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือหมิ่นประมาท สิ่งที่ทำให้ความรุนแรงทางตรงนี้ยังเกิดขึ้นซ้ำ ๆ มีอยู่คือ ความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่หากเป็นเรื่องกฎหมายก็เป็นเรื่องของกลไกระบบกฎหมายที่เพิกเฉยในการบังคับใช้และคุ้มครองเยียวยาผู้ได้รับความรุนแรง ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่อ้างว่ามีความดีงามบางอย่างเหนือกว่าการใช้สิทธิเสรีภาพของผู้อื่นหรือวัฒนธรรมการลอยนวล ความรุนแรงเชิงสัญญะที่ว่าการกระทำหนึ่งถูกทำซ้ำ ๆ และเป็นภาพลักษณ์ติดตัวว่าเป็นการล้ำเส้นสิ่งที่สังคมเชื่อหรือกำหนดไว้ เช่น การที่มองว่าเด็กนักเรียนเถียงผู้ใหญ่เป็นเด็กเลว เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้อยู่คู่กับวัฒนธรรมไทยมายาวนานดังนั้น เมื่อมีการท้าทายความเชื่อเดิมทำให้ผู้ที่อยากอยู่กับวัฒนธรรมเดิมจะหวั่นไหวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเพราะเป็นการไปสั่นคลอนสิ่งที่พวกเขาเชื่อหรือยึดถือไว้
หลักประกันที่มีนักเรียนนักศึกษา ในประเด็นที่มีการใช้กำลังละเมิดสิทธิชีวิต ร่างกาย จิตใจ ก็มีกฎหมายรับรองไว้ทั้งหมดในหลายระดับ แต่สิ่งที่ยากคือ การประทุษร้ายด้วยคำพูด (Hate Speech) ที่ยังถกเถียงกันอยู่ในหลาย ๆ ประเด็น แต่ตนไม่ได้เชี่ยวชาญจึงไม่ขอพูดในรายละเอียด
อนุสัญญาสิทธิเด็กที่รับรอง เช่น ให้เด็กมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แสดงความเห็นได้และต้องรับฟังเด็ก นำไปสู่การชุมนุมเพื่อทำให้มีการรับรู้ข้อมูลที่หลากหลาย ประเด็นที่สำคัญคือ การปราศจากการแทรกแซงในความเป็นส่วนตัวหรือการสื่อสาร (right to privacy) ของเด็ก กล่าวคือ รัฐไม่ใช้ความรุนแรง การฟ้องปิดปากก็อาจจะไม่มีผลดีเหมือนเดิม แต่ใช้มาตรการที่ดูก้ำกึ่งว่าผิดกฎหมายเพราะยังไม่มีใครออกมาชี้ให้เห็นว่าผิดกฎหมายหรือฟ้องคดีในกรณีเหล่านี้ กล่าวคือ การที่รัฐหรือบุคคลอื่นไปสอดส่อง จับจ้อง ไปอยู่หน้าบ้าน ไปหาพ่อแม่ผู้ปกครอง โทรศัพท์ติดต่อ ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก ตนเห็นว่า เราจะต้องพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมาตรการเหล่านี้ถูกใช้มากขึ้น และการกระทำเหล่านี้ขัดต่ออนุสัญญาสิทธิเด็ก และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
โครงสร้างที่เพิกเฉยละเลยไม่ใจต่อการละเมิดต่าง ๆ การไม่มีมาตรการป้องกันกลุ่มเสี่ยง การไม่มีกลไกเยียวยา การไม่ให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิในการได้รับการเยียวยาจากการละเมิดสิทธินั้น เป็นการบกพร่องต่อการประกันสิทธิตามพันธกรณี
วัฒนธรรมลอยนวล และการที่ต่างฝ่ายต่างแสดงออก โดยปกติแล้วต้องรับฟังทั้งสองฝ่าย แต่ไทยกลับทำว่าเสียงฝั่งหนึ่งจะต้องดังกว่า เช่น อุดมการณ์ชาตินิยม บางคนกล่าวว่าเป็นแค่เรื่องวัฒนธรรม วาทกรรมที่ต้องโต้แย้งกันไปเรื่อย ๆ ตนเห็นว่าจริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่นั้น สิ่งที่น่ากังวลคือ ใน ICCPR นั้นประเทศไทยยังตั้งข้อสงวนว่าจะไม่ประกันสิทธิในเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อ (เรื่องการห้ามโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสงครามนั้นไทยถือว่าไม่รวมถึงสงครามเพื่อป้องกันตนเอง ในกรณีที่ไทยจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์และชักชวนให้ประชาชนรักชาติในกรณีที่ต้องทำสงครามเพื่อป้องกันการรุกรานจากประเทศอื่น) มีความหมายกว้างเกินไปหรือไม่ เราไม่ทราบว่าเมื่อใดที่รัฐจะหยิบตรงนี้มาใช้ หรือมีนัยยะว่าไทยได้ประกาศแก่ทั่วโลกว่ารัฐไทยจะยังทำเรื่องนี้อยู่ (ไทยถอนข้อสงวนเรื่องนี้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบแล้ว) ประเด็นนี้ส่งผลในเชิงสัญญะว่าหากใครปกป้องชาติก็ถือเป็นวีรบุรุษหรือวีรสตรีซึ่งนับว่าอันตรายต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และอาจจะจัดการไม่ได้ด้วยเพราะอาจจะมีผู้บังคับบัญชาที่มองเห็นหรือมองไม่เห็นให้ความคุ้มครองบุคคลนั้นไว้
ประเทศไทยเลยจุดที่ยอมรับการใช้ความรุนแรงทางตรงกับเด็กมาแล้ว (ปัญหายังมีอยู่ แต่เมื่อเกิดขึ้นสังคมจะไม่ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องต่อไป) แต่ก็มีการสร้างความยินยอมบางอย่างที่ทำให้ประชาชนต้องยอมปฏิบัติตามภายใต้เพดานบางอย่างผ่านโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม เช่น รักชาติ เป็นเด็กดี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้หากไม่มีการตรวจสอบความรู้หรือความจริงแบบที่ผศ.สุทธิชัยกล่าว สุดท้ายจะเป็นการคุกคามตัวสถาบันการศึกษาเอง
วิธีการควบคุมเด็กที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้ มีการแบ่งซอยพื้นที่ เพื่อสามารถควบคุมได้ง่ายขึ้น กำหนดเวลาให้ทั้งเด็กและอาจารย์ต้องปฏิบัติตามเวลาที่กำหนด การกำหนดกติกาที่อาจจะไม่ได้สอดคล้องกับหลักสากล เช่น การศึกษานำไปสู่การพัฒนาเคารพสิทธิมนุษยชน เข้าอกเข้าใจผู้อื่นนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างอดทนอดกลั้นและสันติภาพ ระเบียบวินัยที่มีในสถานศึกษาต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ว่าในปัจจุบัน ยังไม่มีความเข้าในในเรื่องเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง จึงไม่เข้าใจกันว่าเหตุใดจะต้องให้พวกเขาได้ใช้สิทธิเสรีภาพ
สิ่งน่ากังวลอีกคือ การสอดส่องที่มีหลายรูปแบบ อาจจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ครู หรือว่าให้เด็กคนอื่น ๆ สอดส่อง กลายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกันหรือไม่ หากใครทำตัวแตกต่างไป การที่สถานศึกษาทำสิ่งเหล่านี้ได้เพราะว่ากุมอำนาจในการประเมิน การให้รางวัลและลงโทษเยาวชน การกำหนดว่าพฤติกรรมต่าง ๆ มีส่วนในการศึกษาในระดับต่อไป ก็เป็นการยิ่งเพิ่มอำนาจให้กับสถานศึกษามากไปอีก
คำถามทิ้งท้ายที่น่าสนใจคือ การที่สถานศึกษาแต่ละแห่งกล่าวว่าตนมีธรรมนูญหรือวัฒนธรรมของตนซึ่งไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ สถานศึกษาเอกชนอยู่บนหลักอิสระทางแพ่งอย่างเดียวหากใครไม่พอใจก็ลาออกไปจริงหรือไม่ บทบาทของสถานศึกษาในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของนักเรียนนักศึกษาจากการคุกคามของเจ้าหน้าที่จะมีขอบเขตมากน้อยเพียงใด การใช้เหตุผลความปลอดภัยกับการสอดส่องจะมีมาตรการที่จะรักษาสมดุลได้อย่างไร เสรีภาพทางวิชาการของนักศึกษากับแนวนโยบายของรัฐจะมีความสัมพันธ์กันอย่างไร การเรียนการสอนจะต้องสอนในสิ่งที่สอดคล้องหลักประชาธิปไตยอย่างไร สิ่งใดที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยจะมีผลอย่างไร มหาวิทยาลัยมีการปกครองอย่างไร ใครควบคุม มีเครือข่ายหรืออุดมการณ์ครอบงำหรือไม่ อย่างไร จุดประสงค์ของสถานศึกษาที่ต้องการสร้างพลเมืองในศตวรรษที่ 21 (Global Citizen) แต่เมื่อดูจากการปฏิบัติต่อนักเรียนนักศึกษาในรูปแบบการควบคุมไม่ให้ใช้สิทธิเสรีภาพสอดคล้องกับหลักสากล แล้วจะคาดหวังได้อย่างไรว่าจะสัมฤทธิ์ผลที่ตั้งไว้ และหากเราเชื่อในเทคโนโลยีที่จะทำให้มนุษย์เป็นอมตะในอนาคตใกล้ ๆ นี้ ในการส่งต่อความรู้หรือตรวจสอบความรู้นั้นมหาวิทยาลัยยังจำเป็นต้องมีอยู่หรือไม่
รศ.ดร.รุ่งภพ คงฤทธิ์ระจัน หัวหน้าศูนย์กฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต :
กล่าวใน 3 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 แนวโน้มการใช้สิทธิเสรีภาพในอนาคตจะเป็นอย่างไร
ปัจจัยที่จะทำให้สิทธิเสรีภาพของนักศึกษาดำรงอยู่ต่อไปได้ในอนาคต มี 3 ประการ คือ นักเรียนนักศึกษาจะต้องรักษาคุณภาพในการเรียกร้องไว้ จึงต้องมีความรู้ทั้งในเชิงกฎหมาย สังคมวิทยา มานุษยวิทยาและศาสตร์อื่น ๆ มาบูรณการเพื่อให้ได้รับความรู้อย่างแท้จริงและถูกต้อง การคุกคามทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและการคุกคามในระดับครอบครัวซึ่งในระดับครอบครัวเป็นเรื่องที่น่ากังวลต่อความอ่อนตัวของพวกเขาโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด และสถานที่ในการใช้พื้นที่ในการเรียกร้องต้องดำรงอยู่คู่กับข้อเรียกร้องไม่ว่าจะเป็นสถานที่ในเชิงสัญญะหรือเชิงกายภาพ
บทบาทของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริม อาจารย์หรือนักศึกษาต้องมีความรู้ในระดับหนึ่งและส่งต่ออย่างถูกต้อง โดยเฉพาะในเชิงกฎหมายจะทำให้คุณภาพในการปราศรัยกระจายความรู้ได้ส่งต่ออย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ การให้ความรู้เรื่องสิทธิ สาระสำคัญสามหลักคือ สิทธิที่จะใช้สิทธิ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองเมื่อใช้เสรีภาพ การใช้เสรีภาพเพื่อไม่ไปทำลายสิทธิผู้อื่น สามหลักนี้จะเป็นอาวุธประเภทหนึ่งในการรับมือกับการคุกคามได้ ซึ่งในต่างจังหวัดอาจจะยังมีจุดอ่อนในเรื่องนี้ ทำให้ถูกใช้เป็นช่องทางในการยุติข้อเรียกร้องได้ และมหาวิทยาลัยต้องทำระเบียบเกี่ยวกับการชุมนุมต่าง ๆ ในพื้นที่และจัดการความรู้ต่าง ๆ ส่งต่อไปยังสถานศึกษาอื่น ๆ เพื่อทำให้การชุมนุมมีคุณภาพและสิทธิและเสรีภาพสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ในระยะยาว
ประเด็นที่ 2 การปรับตัวเข้าหากันระหว่างนักเรียนนักศึกษากับสถาบันการศึกษามีแนวทางอย่างไร
โครงสร้างทางอำนาจ โดยเฉพาะในโรงเรียนของรัฐ ครูเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและภูมิใจในความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อรัฐให้อำนาจมาก็ใช้ได้เต็มเปี่ยม พอยุคสมัยเปลี่ยนไป เด็กจึงมีการตั้งคำถามถึงสิ่งต่าง ๆ เช่น การแต่งกาย ทรงผม ว่าเกี่ยวข้องกับผลการเรียนอย่างไร เป็นต้น การถืออำนาจกับการตั้งคำถามจึงนำมาสู่ความขัดแย้งกัน ในการหาข้อยุติยากที่จะหาทางได้ลงตัว แต่อาจารย์เห็นว่าฝ่ายที่ปรับตัวจะต้องเป็นฝ่ายผู้ใหญ่มากกว่าเพราะโลกหมุนไปข้างหน้าย่อมมีสิ่งใหม่ๆที่จะต้องเรียนรู้ ฝ่ายผู้ใหญ่จะต้องไม่สร้างกระบวนการที่ทำให้เชื่องหรือมองว่าเด็กที่ไม่เถียงครูคือเด็กดี ต้องทำความเข้าใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงของเด็กสมัยใหม่ และเมื่ออยู่กันด้วยข้อขัดแย้งผ่านไประยะหนึ่งแล้ว สุดท้ายจะตกผลึกทางความคิดกันได้ว่าวิธีการแบบใดที่จะทำให้อยู่ด้วยกันได้ในที่สุด
ประเด็นที่ 3 การอยู่ร่วมกันของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่
รศ.ดร.รุ่งภพเชื่อว่า คนรุ่นเก่าไม่ค่อยเห็นคุณค่าทางความคิดของคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นใหม่ก็เห็นถึงความไร้ประโยชน์ของคนรุ่นเก่า (รุ่นใหม่คือไม่ใช่เรื่องอายุแต่หมายถึงทัศนคติที่มีต่อปรากฏการณ์หนึ่ง ๆ ) จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่คนรุ่นเก่าไปสร้างความด้อยค่าในตัวเขาเอง การพูดหลักการต่าง ๆ คุณธรรมจริยธรรม แต่ไม่ได้แสดงตนเป็นแบบอย่าง จึงสายเกินไปแล้วที่จะนำวัฒนธรรมประเพณีมาเชื่อมร้อยร้าวของทั้งสองรุ่น ทางออกที่ดีคือการกำหนดกติการ่วมกันทั้งกติกาทางกฎหมายและกติกาทางสังคม ดังนั้น มหาวิทยาลัยเป็นผู้เสนอหรือทำร่างเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งในเชิงการเมือง สังคม เศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และชี้ให้สังคมได้เข้าใจว่าทางออกทางสังคมเป็นอย่างไร
คำถาม (3) : พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ไม่ได้ใช้กับการชุมนุมในสถานศึกษา ดังนั้น การชุมนุมในสถานศึกษาจะใช้หลักเกณฑ์ใด
ดร.พัชร์ นิยมศิลป : แนวทางการกำหนดคือต้องยึดหลักสากล มีอยู่ 2 รูปแบบที่ได้รับการยอมรับระดับโลก แบบแรกมาจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตาม ICCPR ที่วางแนวไว้ อีกแนวคือแนวคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป และจะมี Office for Democratic Institutions and Human Rights (ODIHR) หรือ Venice Commission ที่ออกแนวทางการดูแลการชุมนุมสาธารณะว่าเป็นอย่างไร เช่น ข้อสันนิษฐานว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ และรัฐมีภาระการพิสูจน์ว่าการชุมนุมนั้นไม่สงบหรือมีความรุนแรง การใช้สถานศึกษาต้องมีกรอบเวลาชัดเจนว่าเริ่มต้นเมื่อไร สิ้นสุดลงเมื่อไร และเป็นระยะเวลาที่เพียงพอต่อการแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่ง การใช้เหตุผลด้านจราจรอยู่เหนือการใช้เสรีภาพในการชุมนุมไม่ได้ เป็นต้น
คำถาม (4) : วิทยากรแต่ละท่านคาดหวังหรืออยากเห็นภาพในอนาคตว่ามหาวิทยาลัยและสังคมจะเป็นอย่างไร
ผศ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ : อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า หน้าที่มหาวิทยาลัยคือการตรวจสอบความรู้และความจริง และสิ่งเหล่านี้ต้องส่งต่อไปยังนักศึกษาด้วยในการตั้งคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ (มีจารีตประเพณีบางประการ เช่น ความเป็นครูบาอาจารย์ ที่ทำให้เสรีภาพไม่สามารถใช้ในบริบทสังคมไทยหรือไม่) ตนเห็นว่า บทบาทมหาวิทยาลัย เสรีภาพทางวิชาการมีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา จารีตประเพณีก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปในทำนองเดียวกัน หน้าที่ของนักวิชาการคือการใช้เหตุและผล ในการวิจัยทั้งหลายเพื่อเข้าไปตรวจสอบสิ่งเหล่านี้และทำให้การเปลี่ยนผ่านระหว่างนี้ที่มีความไม่แน่นอนในบางประการให้สามารถถกเถียงกันด้วยเหตุผล และเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มหาวิทยาลัยจะต้องหวงแหนเอาไว้ เพื่อขับเคลื่อนเปลี่ยนผ่านสังคมไปได้อย่างสงบ
รู้สึกดีใจการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษา เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงบางอย่างทำให้คนในสังคมหันมามองเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้มากขึ้น ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อาจารย์มหาวิทยาลัยก็จะต้องพร้อมรับมือกับนักเรียนเหล่านี้ที่จะ (radical-ไม่มั่นใจว่าจะใช้คำว่ารุนแรง หรือคำว่าอะไรดี) กว่ารุ่นปัจจุบัน และหากมหาวิทยาลัยไม่เปลี่ยนโครงสร้างข้างบนที่กดทับเสรีภาพของมหาวิทยาลัยและนักศึกษาไว้ เด็กเหล่านี้เข้ามาเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนเอง และสรุปตามคำกล่าวของ Richard Lawty ว่า “Take Care of Freedom and Truth Will Take Care of Itself” ถ้าหากมหาวิทยาลัยไม่ปกป้องพื้นที่แห่งเสรีภาพเอาไว้ก็ไม่ต้องพูดถึงการทำหน้าที่ที่จะตรวจสอบความจริง ค้นหาความจริงเพื่อขยายพรมแดนของความรู้ได้เลย
ดร.พัชร์ นิยมศิลป : อยากเห็นภาพการชุมนุมที่สอดคล้องกับหลักสากล เพราะว่าในบางครั้งรัฐธรรมนูญหรือตัวกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็มีปัญหาในตัวเอง และเรื่องที่กังวลคือการปิดปากของสถานศึกษาหรือรัฐ ที่ก่อให้เกิด chilling effect ทำให้การใช้เสรีภาพลดลงหรือใช้ได้ไม่เต็มที่
รศ.ดร.รุ่งภพ คงฤทธิ์ระจัน หัวหน้าศูนย์กฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต : ผู้ใหญ่และอาจารย์ต้องเชื่อในตัวตนของพวกเขา ให้พวกเขามีสิทธิเสรีภาพของเขาเอง ในส่วนของมหาวิทยาลัยในการเผชิญถึงปัญหาความท้าทายต่าง ๆ กับหลักการเก่า ๆ เช่น การทำแท้งเสรี การจดทะเบียนโสเภณี ซึ่งมีทั้งคนเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย ก็จะต้องบริการให้พวกเขาได้พูดถึงในพื้นที่ที่ไม่ได้ไปละเมิดผู้อื่น และในเรื่องข้อดีข้อเสีย (Pro and Con) หรือความแตกต่างทางความคิดและการโต้แย้งหาเหตุผลสนับสนุนเป็นสิ่งที่สวยงาม
ผศ.ทศพลธ์ ทรรศนะกุลพันธ์: กล่าวถึงประเด็นการสอดส่องเฝ้าระวัง โดยเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อรักษาความปลอดภัย เมื่อมีการละเมิดกฎหมายก็ต้องเก็บเป็นพยานหลักฐาน แต่จะต้องมีหลักความโปร่งใสประกอบด้วย เพื่อที่จะทราบได้ว่ารัฐได้กระทำแบบนั้นหรือไม่ ข้อมูลที่ได้ไปเมื่อพ้นสถานการณ์ไปแล้วถูกลบทิ้งไปแล้วหรือไม่ ถูกนำไปใช้ถูกวัตถุประสงค์หรือไม่ ซึ่งเราไม่สามารถคาดหวังให้รัฐทำได้เองในทุกครั้งที่มีการชุมนุม หากจะมีมาตรการขึ้นมา จะต้องมีผู้แทนจากภาคประชาชน มหาวิทยาลัยหรือไม่ เพื่อทำให้ประชาชนวางใจได้ว่าการสองส่องเก็บข้อมูลนั้นจะถูกทำลายและใช้ตรงวัตถุประสงค์
ผศ.สาวตรี สุขศรี : เห็นว่า การใช้เครื่องมือทางกฎหมายของรัฐย่อมดีกว่าการใช้เครื่องมืออื่น ๆ เช่น ความรุนแรง การคุกคามที่ไม่มีกฎหมายรองรับ เป็นต้น และสามารถใช้ได้กับทุกคนอย่างเสมอหน้ากันตามหลักนิติรัฐ โดยมีข้อสำคัญ 5 ประการ ดังนี้
ประการที่หนึ่งคือ อยากให้รัฐไม่ว่าจะในแง่ของเจ้าหน้าที่ องค์กร สถาบันการศึกษา จะมีเพดานหรือเส้นของกฎหมายนั้นที่จะนำมาใช้สูงกว่าปกติในการใช้กับเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุมที่เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง (political movement) เพราะว่ารัฐเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง ต้องมีความอดทนอดกลั้นมากกว่า เมื่อพวกเขาเห็นว่าการกระทำใดไม่ถูกต้องจึงชุมนุมเพื่อเรียกร้อง ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการเสียดสี ล้อเลียนหรือละเมิดอะไรบางอย่าง ตราบใดที่เป็นไปตามบทสันนิษฐานที่ว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ ก็ต้องให้เขาสามารถพูดเช่นนั้นได้ แม้ว่าเนื้อหานั้นอาจจะมีความรุนแรงในสายตาของรัฐ แต่ก็ต้องเป็นไปตามข้อสันนิษฐานและรัฐจะต้องมีภาระการพิสูจน์ว่าการชุมนุมนั้นรุนแรงหรือไม่สงบอย่างไร เลิกใช้กฎหมายที่หยุมหยิม เช่น กฎหมายจราจร กฎหมายโบราณสถาน เป็นต้น เพราะการใช้แบบนี้จะทำให้สังคมรู้สึกว่ารัฐกำลังรังแกเด็ก และยังถูกเด็กโต้แย้งด้วยว่าการกระทำครั้งก่อน ๆ ของรัฐเหตุใดจึงไม่ผิดกฎหมาย ทำให้ดูน่าอาย การฟ้องจะต้องใช้เมื่อมีความชัดเจนว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้น
ประการที่สองคือ รัฐอย่าใช้กฎหมายเพื่อปิดปากประชาชนอย่างที่ดร.พัชร์กล่าวไว้
ประการที่สามคือ รัฐต้องใช้กฎหมายในมาตรฐานเดียวกัน อย่าใช้แบบสองมาตรฐาน กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็ต้องบังคับใช้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่ากลุ่มหนึ่งใช้ แต่อีกกลุ่มกลับไม่ใช้ ทั้ง ๆ ที่กลุ่มนั้นอาจจะมีความชัดเจนของความผิดมากกว่า การเลือกปฏิบัติจะเป็นการตอกย้ำปัญหาและทำให้พวกเขาเห็นว่าเป็นความจริงและสอดคล้องกับที่พวกเขามีข้อเรียกร้องของพวกเขา
ประการที่สี่คือ นอกจากปัญหาการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ปัญหาหลาย ๆ เรื่องมาจากตัวบทกฎหมายที่เขียนกว้างเกินไป เปิดช่องให้ใช้ดุลพินิจมากเกินไป เช่น มาตรา 116 ที่ถูกนำมาใช้มาก ควรถูกแก้ไขเพราะว่าเนื้อหาค่อนข้างกว้างมาก ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญคืออะไร เป็นการเน้นที่รัฐธรรมนูญซึ่งถูกฉีกมาหลายรอบ แต่ไม่ได้เน้นถึงคุณค่าประชาธิปไตยหรือหลักเสรีภาพขึ้นมาเน้น เพื่อล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินซึ่งกฎหมายแผ่นดินมีประมาณหมื่นฉบับ ซึ่งเคยมีคดีในลักษณะนี้ที่ผู้ชุมนุมชักชวนกันปิดถนนเพื่อชุมนุมก็เป็นการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินคือกฎหมายจราจรแล้ว ดังนั้น ควรแก้ไขให้ชัดและชูคุณค่าของประชาธิปไตยขึ้นมาว่า “ผู้ใดกระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา เอกสารหรือวิธีการอื่นใดอันขัดต่อระบอบประชาธิปไตยหรือหลักเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต” เมื่อการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธย่อมไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็อ้างกฎหมายมาตรานี้ไม่ได้แล้ว และมีอนุมาตรา “(1) เพื่อยุยงให้บุคคลลงมือกระทำความผิดตามมาตรา 113” ที่เป็นฐานกบฏ และอนุมาตรา “(2) ปลุกปั่นให้ประชาชนหยิบอาวุธ หรือใช้ความรุนแรงอื่นในทำนองเดียวกันเพื่อก่อความไม่สงบเรียบร้อยในราชอาณจักร” ส่วนอนุมาตรา (3) ไม่ต้องมี เพราะฉะนั้น บางทีอาจจะใช้คำที่พูดที่เสียดสี ล้อเลียน หรือกระทบคนอื่นบ้างก็ใช้มาตรานี้ไม่ได้ ต้องเป็นสิ่งที่กระทบคุณค่าที่สูงที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของสาธารณะ ชีวิตมนุษย์ ในกรณีของ hate speech มีหลายระดับซึ่งระดับที่จะเข้ามาตรานี้คือระดับที่นำไปสู่การเข่นฆ่า การทำร้ายกันทางกายภาพจริง ๆ เท่านั้น
ประการที่ห้าคือ ประชาชนควรจะต้องโต้ตอบอีกฝ่ายด้วยกฎหมาย เพื่อลดวัฒนธรรมลอยนวล เช่น ในต่างประเทศ กรณีที่กฎหมายออกมาไม่ดี หรือการใช้บังคับไม่ดี ประชาชนก็ฟ้องศาลเลย ประชาชนจะไม่วิพากษ์วิจารณ์อย่างเดียวอีกต่อไป แม้ในการฟ้องคดีอาจจะไม่มั่นใจว่าฟ้องไปแล้วผลจะเป็นอย่างไร แต่ก็ควรทำเพื่อให้ผู้บังคับใช้กฎหมายได้กระอักกระอ่วนในการบังคับใช้กฎหมายระหว่างพวกเดียวกันเองบ้าง เช่น ป.อาญา มาตรา 397 มาตรา 157 มาตรา 200 วรรคสอง เป็นต้น ทำให้ในการบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่จะมีความระมัดระวังในการใช้มากขึ้น