สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการ หัวข้อ “ธรรมศาสตร์ + เบรลล์บล็อก = จุดเริ่มต้นของความเท่าเทียม” วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เวลา 13.30-15.30 น. ณ ห้อง 221 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และถ่ายทอดสดทาง Facebook Page : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสวนาวิชาการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนวิชา น.461 หลักวิชาชีพนักกฎหมาย จัดโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากรโดย
- ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คุณกิติพงศ์ สุทธิ ผู้อำนวยการสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา
- คุณศุภณัฐ ลี้ภัยสมบูรณ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คุณเอกภาพ ลำดวน ผู้ฝึกอบรมทักษะการเดินทาง โรงเรียนสอนคนตาบอด กรุงเทพฯ
ดำเนินรายการโดย คุณจตุพร สุวรรณรัตน์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคบัณฑิต ชั้นปีที่ 4
สรุปความโดย นายอธิป ปิตกาญจนกุล นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คุณจตุพร สุวรรณรัตน์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคบัณฑิต ชั้นปีที่ 4 (ผู้ดำเนินรายการ) : กล่าวเปิดงานว่า งานเสวนานี้เป็นงานเสวนาเพื่อมองถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเท่าเทียมกันของผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย โดยเฉพาะผู้พิการทางสายตา ซึ่งจัดโดยกลุ่มนักศึกษาวิชาหลักวิชาชีพนักนักกฎหมาย ภาคบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานเสวนาวันนี้มีประเด็นที่น่าสนใจที่สังคมต้องพูดถึงกัน โดยเฉพาะเรื่องความเท่าเทียมกันของคนในสังคมอีกหนึ่งกลุ่มที่เราอาจจะละเลยหรือมองข้ามไป แม้ว่าประเทศไทยของจะมีกฎหมายหลายฉบับที่ส่งเสริมความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ทั้งผู้พิการทางสายตา และผู้พิการประเภทอื่น
อย่างไรก็ดี มีประเด็นหนึ่งที่กลุ่มนักศึกษาหลักวิชาหลักชีพนักกฎหมายได้มีการตั้งคำถาม และเป็นประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะหัวข้อเสวนาที่ว่า “ธรรมศาสตร์ + เบรลล์บล็อก = จุดเริ่มต้นของความเท่าเทียม” หลายคนสงสัยว่าเบรลล์บล็อกคืออะไร อธิบายง่าย ๆ คือ เวลาเราเดินไปตามท้องถนน ฟุตบาทต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงในเมืองใหญ่ เราจะเห็นทางเท้าที่มีความพิเศษกว่าทางเท้าอื่น ๆ ปกติแล้วเวลาเราเดินบนทางเท้า เราจะเห็นว่าทางเท้าจะมีความเรียบ แต่เมื่อมีเบรลล์บล็อกเข้ามา ความแตกต่างจะเกิดขึ้น คือเป็นทางเท้าที่มีหนึ่งบล็อกไว้สำหรับผู้พิพากทางสายตาได้ใช้ในการเดินทางต่าง ๆ คล้ายกับอักษรเบรลล์ ที่จะเป็นการบอกจุดในการเดินทางต่าง ๆ นี่คือจุดที่กลุ่มนักศึกษาวิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมายได้ตั้งคำถามกันว่า ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความเท่าเทียมมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตาในเรื่องของการเดินทาง ต้องยอมรับว่าคนปกติสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย แต่ถ้าเราลองหลับตา หรือเอาผ้าปิดตาเอาไว้ แล้วเดินไปในสถานที่ต่าง ๆ เราจะมีความยากลำบากมากน้อยแค่ไหน นี่จะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ผู้พิการทางสายตาที่ไม่สามารถมองเห็นเส้นทางได้เหมือนคนปกติได้มีโอกาสใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ ในการเดินไปตามจุดต่าง ๆ ได้ จึงเป็นที่มาของคำว่า “จุดเริ่มต้นความเท่าเทียม” ที่เกิดขึ้น วันนี้เรามีวิทยากรหลายท่านที่จะมาร่วมสะท้อนมุมมองรวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับความเท่าเทียม โดยเฉพาะการจัดทำทางเดินให้กับผู้พิการทางสายตา หรือว่าเบรลล์บล็อค ที่หลายคนเองก็อาจจะรู้จักอยู่แล้ว หรือหลายคนอาจจะเคยเจอ แต่อาจจะไม่รู้ว่าเรียกว่าอย่างไร แต่วันนี้เราคงจะได้มาพูดคุยทบทวนกัน โดยเฉพาะประเด็นที่เกิดขึ้น ว่าในแต่ละสถานที่สำคัญ ๆ รวมถึงในมหาวิทยาลัย มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน รวมถึงความเท่าเทียมกันที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร
ตัวแทนนักศึกษา (รองประธานโครงการหลักวิชาชีพนักกฎหมาย) : กล่าวว่า โครงการหลักวิชาชีพนักกฎหมาย จะจัดทำเกี่ยวกับเรื่องการจัดทำพื้นผิวต่างสัมผัส สำหรับผู้พิการทางสายตาภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หลักการและเหตุผล ด้วยหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต มีความมุ่งหมายในการผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความเข้าใจกฎหมาย และทักษะพื้นฐานของนิติศาสตร์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งในภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ รวมทั้งส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย ความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น การตระหนักถึงหน้าที่ของตน และการเคารพต่อความแตกต่างและความหลากหลาย จึงกำหนดให้มีการศึกษาหลักวิชาชีพนักกฎหมายขึ้น เพื่อให้ผู้ศึกษาได้นำความรู้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหา บริการสังคม ผู้พิการทางสายตาเป็นกลุ่มคนที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของการได้รับการปฏิบัติที่ไม่เสมอภาคและเท่าเทียมกัน ซึ่งจากการที่ได้ศึกษาพ.ร.บ. การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551 มาตรา 8 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “ให้สถานศึกษาในทุกสังกัดจัดสภาพแวดล้อม ระบบสนับสนุนการเรียนการสอน ตลอดจนบริการเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ที่คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้” จากบทบัญญัติดังกล่าว เราได้ลงไปศึกษาในพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการทางสายตาไม่ปรากฏเลยในมหาวิทยาลัย จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เรามีความต้องการที่จะจัดทำโครงงานกฎหมายนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลง และเกิดความเท่าเทียมขึ้นในสังคม เป้าหมายของโครงงาน คือ หนึ่ง จัดทำทางเดินผู้พิการทางสายตา ทั้งในส่วนของส่วนของบุคลากรผู้ทำงานในมหาวิทยาลัย นักศึกษา ตลอดจนผู้ที่มาติดต่อ สอง เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลธรรมดาทั่วไป ไม่ให้ได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นภายในรั้วของมหาวิทยาลัย สาม เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบ ในการที่จะมีพื้นที่ให้กับผู้พิการทางสายตา ก่อนที่จะถึงการจัดเสวนาในวันนี้ ทางกลุ่มได้ดำเนินการหลากหลายอย่าง เช่น มีการจัดทำแบบสอบถาม มีการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ รวมถึงการเสนอร่างเกี่ยวกับการจัดทำพื้นผิวต่างสัมผัส สำหรับผู้พิการทางสายตายื่นให้กับทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แล้ว ประกอบกับได้มีการดำเนินการขอการประเมินค่าใช้จ่ายกับทางกรุงเทพมหานคร เพื่อที่จะจัดทำพื้นผิวต่างสัมผัสให้กับผู้พิการทางสายตาในบริเวณภายรอบนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งจะได้ควบคู่กับทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่เราจะได้ดำเนินการจัดทำในครั้งนี้
ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) : กล่าวเกี่ยวกับแนวทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และทัศนคติต่อเรื่องของโครงการที่เกิดขึ้นอยากให้เข้าใจความคิดของสหประชาชาติ สหประชาตินั้นกำลังชูเรื่อง inclusive society หรือ society for all ซึ่งเป็นสังคมที่คำนึงถึงทุกคน หรือสังคมสำหรับทุกคน ตามลำดับ for all นี้สำคัญ เมื่อเรามองอะไร ต้องพยายามมองสำหรับทุกคน ถ้ามองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็อยากให้มองว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็น inclusive university คือเป็นมหาวิยาลัยสำหรับทุกคน กล่าวคือมหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมที่จะรองรับทุกคนเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้ การจะทำให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับทุกคน ปัญหาแรก คือปัญหาเรื่องของการเข้าถึง หรือ access การเข้าถึงมหาวิทยาลัยอาจจะมีหลายมิติ เช่น การเข้ามาเรียน เป็นต้น แต่ที่เราเรียกว่า access หรือการเข้าถึง จะต้องเป็น access for all คือต้องเป็นการเข้าถึงโดยสะดวกสำหรับทุกคน โดยปัจจุบันกฤษฎีกาใช้คำว่า “เข้าถึงโดยสะดวก” ซึ่งหมายถึงเข้าถึงโดยสะดวกสำหรับทุกคน หรือ access for all แล้วเราจะทำอย่างไรให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ที่ทุกคนเข้าถึง และเข้ามาใช้ประโยชน์ได้
ในมิติของการเข้าถึงมีหลายเรื่อง ซึ่งที่สำคัญมักจะเป็นเรื่องของการเข้าถึงเนื้อหาที่จะศึกษาในมหาวิทยาลัย เช่น ตำรา ที่เป็น text หรือตัวพิมพ์ ปัจจุบันตำราต่าง ๆ ก็เริ่มเป็นดิจิตอล ซึ่งเอื้อให้คนตาบอดใช้ได้ แต่บางอย่าง ถึงแม้จะเป็นดิจิตอลก็อาจจะยังใช้ไม่ได้หากไม่ได้คำนึงเรื่อง for all ยกตัวอย่างเช่น website ไม่ว่าจะเป็นของธรรมศาสตร์เอง หรือเว็บอื่น ๆ ในประเทศไทย มีน้อยมากที่คนตาบอดหรือหูหนวกจะเข้าไปใช้ได้ ทั้ง ๆ ที่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องให้ทุกคนเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ในทางปฏิบัติ เรายังขาดการศึกษา เช่น ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทางด้านเทคโนโลยี เราขาดการศึกษาที่จะเน้นเทคโนโลยี for all ซึ่งถ้าเราเน้นการศึกษาที่จะทำเทคโนโลยีสำหรับทุกคนแล้ว มันจะเป็นประโยชน์อย่างมาก อย่างในอเมริกา หรือยุโรป มีการใช้ for all เป็นตัวขาย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อะไรก็ตาม ทุกคนต้องใช้ได้ เช่น iPhone ซึ่งเป็นมือถือที่ทุกคนใช้ได้ คนตาบอดใช้ดี หูหนวกใช้ดี มีระบบช่วยเหลือผู้พิการที่สมบูรณ์ และเป็นตัวเลือกแรกสำหรับผู้พิการทางสายตา iPhone จึง for all หรือแม้กระทั่งโรงแรม ซึ่งเอื้อให้ทุกคนใช้ประโยชน์ได้ เป็นตัวขาย ผู้สูงอายุก็ชอบ ถ้าเมืองไทยเราทำ for all เมื่อไหร่ มันเป็นตัวขาย ผู้สูงอายุ คนพิการ ก็อยากจะไปพักที่นั่น เพราะมัน access สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ เข้าไปใช้สะดวก มันก็เป็น hotel for all หรือโรงแรมสำหรับทุกคน เช่นเดียวกัน ถ้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยสำหรับทุกคน มันก็เป็นตัวขาย และจะเปิดช่องให้ทุกคนสมัครมาเรียนที่มหาวิทยาลัยนี้ เพราะเขามองว่ามหาวิทยาลัยนี้เอื้อให้ทุกคนใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งการเอื้อที่จะให้ทุกคนใช้ประโยชน์ได้นั้น ตัวชี้วัดก็คือคนพิการ เมื่อไหร่ก็ตามที่คนพิการเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ไหนก็ได้ โดยสะดวกและทั่วถึง ก็สามารถจะบอกได้ทันทีว่าที่นั่น for all เพราะถ้าคนพิการใช้ได้แล้ว คนอื่นก็ต้องใช้ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจึงบอกว่าคนพิการเป็นตัวชี้วัดที่จะบอกว่าที่นั่น for all หรือไม่ เพราะถ้า for all จริง คนพิการทุกประเภทต้องใช้ประโยชน์ได้ เมื่อนั้นก็ไม่มีปัญหา for all แน่นอน
สำหรับประเด็นเรื่องทางเท้า และสถานที่ต่าง ๆ ในทางทฤษฎีของคนตาบอดนั้น มี 2 อย่าง ถ้าในอเมริกาจะใช้ warning block ซึ่งก็คือตัวเตือน หรือบอกว่าข้างหน้ากำลังมีสิ่งผิดปกติ แล้วคนตาบอดก็จะใช้ไม้เท้าเขี่ยไป พอเจอเบรลล์บล็อก หรือผิวต่างสัมผัส เขาก็จะหยุด คือมัน warning คือเตือนให้เขารู้ว่าข้างหน้ามีความผิดปกติ เขาก็จะใช้ไม้เท้าเขี่ยให้แน่ใจ แล้วจึงเดินต่อ ซึ่งทางอเมริกาจะนิยมใช้ ตรงที่ต่าง ๆ ที่จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากของเดิม warning block จะเป็นตัวบอก แต่ญี่ปุ่นไม่ได้ใช้แค่ warning แต่ใช้ guiding คือนำทาง ประเทศญี่ปุ่นนั้น จะทำ guiding block เป็นเส้น เช่น ถนน จะมีเส้นให้คนตาบอดเดิน แม้ว่าคนตาบอดจะไม่ได้ไปตามเส้นนั้นก็ตาม เขาจะเดินตรงไหนก็ได้ เพราะเขาสนใจที่จะเดินอย่างอิสระเหมือนกับคนอื่น เพียงแต่สุดทางจะมี warning แบบอเมริกา สำหรับคนตาบอดเมืองไทยน่าจะถนัดแบบอเมริกามากกว่า อย่างตนไปเรียนที่ Harvard จะมีอาสาสมัครมาฝึกให้ว่า จากคณะนี้ จากหอพัก จะไปคณะนี้ เดินทางเส้นทางนี้ จุดสังเกตต่าง ๆ เจอตรงนี้ เลี้ยวขวา เลี้ยวซ้าย มันจะมี landmark ทำให้สามารถเดินไปไหนมาไหนได้โดยสะดวก โดยพึ่ง landmark ตัวนั้น บางครั้งเขาก็ไม่ทำตัว warning เพราะว่ามี landmark ธรรมชาติอยู่แล้ว สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราจะเลือกแบบไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น warning หรือ guiding แต่ทำแล้วต้องได้ประโยชน์ ระวังไม่ให้เกิดเป็นโทษ และควรให้คนพิการทดสอบใช้เลย ต้องคำนึงถึงผู้ใช้เป็นสำคัญ ซึ่งหมายความรวมถึงบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้พิการด้วย ไม่ใช่คิดถึงแต่คนพิการ โดยไม่คำนึงว่าสิ่งที่ทำให้คนพิการจะไปเป็นโทษกับคนอื่นหรือไม่ มิฉะนั้นก็จะไม่ for all แต่ for disability หรือสำหรับคนพิการเท่านั้น ซึ่งไม่ถูกหลัก เพราะว่าเราต้องทำสังคมนี้ให้เป็นสังคมสำหรับทุกคน ถนนต้องเป็นถนนสำหรับทุกคน หรือฟุตบาทสำหรับทุกคน ทุกคนสามารถที่จะได้รับประโยชน์ มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นบางคนได้บางคนเสีย เดิมคนทั่วไปได้ เปลี่ยนมาให้พิการได้ ก็ไม่ใช่หลักความเสมอภาค ดังนั้น ความเสมอภาค คือ for all สำหรับทุกคน ใช้ประโยชน์ได้
นอกจากเรื่อง access หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ถ้าไม่สามารถทำสิ่งอำนวยความสะดวกได้ ก็จะมีเรื่อง คำว่า “ช่วยเหลืออื่นใด” ซึ่งสามารถชดเชยกันได้ เช่น เราไม่มีหนังสือเสียง เราก็อาจจะมีอาสาสมัครช่วยอ่านหนังสือให้ สิ่งเหล่านี้ ด้วยตัวมันไม่ access อยู่แล้ว ก็ต้องชดเชยด้วยการช่วยเหลืออื่นใดแทน เพราะฉะนั้นในทางกฎหมายจึงมีคำว่า “ช่วยเหลืออื่นใด” อยู่เสมอ เพื่อให้ทราบว่าถ้าไม่สามารถมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อให้กับคนพิการแล้ว ก็อาจจะเอาการช่วยเหลืออื่นใดเข้ามาชดเชยแทนก็ได้ ซึ่งจะทำให้สังคมเป็นสังคมสำหรับทุกคนได้ครบถ้วนไม่ตกหล่น เนื้อหาทั้งหมดนี้มีอยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันไปแล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามอนุสัญญา แล้ววันหนึ่งสังคมไทยจะเป็นสังคมสำหรับทุกคน
สำหรับประเด็นเบรลล์บล็อกจำเป็นแค่ไหนกับผู้พิการทางสายตา ศ.วิริยะกล่าวว่า จะจำเป็นในมิติของ warning ซึ่งตนเห็นว่าสำคัญ อย่างน้อยเราจะต้องทำแบบสหรัฐอเมริกา เช่น จะถึงบันได หรือลิฟต์ ก็มีผิวต่างสัมผัส ซึ่งอาจจะเอาพรมมาวางไว้ พอเหยียบก็จะรู้ได้ว่าข้างหน้ามีบางอย่าง ถ้ารู้อยู่แล้วว่าจะตรงไปที่ลิฟต์ พอเจอพรมก็เข้าลิฟต์ได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องมีเบรลล์บล็อกเพียงแต่ให้มีสิ่งที่แตกต่าง หรือเป็นผิวต่างสัมผัส ซึ่งจะเป็นอะไรก็ได้ ที่สามารถรับรู้ได้ด้วยเท้า ก็จะทำให้คนตาบอดเรียนรู้ว่ามหาวิทยาลัยใช้ตัวนี้เป็นตัวเตือน หรือ warning ก็จะทำให้ไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเองอย่างปลอดภัย
สำหรับปัญหาที่แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตา หรือผู้พิการประเภทอื่น ๆ ทำไมบางหน่วยงานจึงละเลย ปัญหานี้เกิดจากความเชื่อ ความเชื่อของสังคมไทยทำให้คนไทยไม่เจริญ เพราะ 1. เราไม่เชื่อความสามารถของคนพิการ ว่าคนพิการมีความสามารถ และถ้าเราให้โอกาสเขา เขาก็สามารถที่จะพัฒนาศักยภาพของเขา และสามารถพึ่งตัวเองได้ แต่เรากลับเชื่อว่าตาบอดต้องขอทาน ตาบอดมาขอทาน ทุกคนก็ยินดีให้เงิน ซึ่งจริง ๆ ตาบอดจบปริญญาตรีได้เงินน้อยกว่าขอทานเยอะ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มองว่าคนไม่มีศักยภาพ แม้แต่ตัวเองก็ไม่ได้มองว่าตัวเองมีศักยภาพ ซึ่งต่างกับตะวันตกโดยสิ้นเชิง ตะวันตกสอนตลอดเวลาว่าตาบอดทำได้ทุกอย่าง และต้องหาเรื่องท้าทายทำ เพราะงั้นความท้าทายเท่านั้นที่ดึงศักยภาพของมนุษย์ออกมา มันจึงทำให้ตนมีวันนี้ สมัยเรียนกฎหมาย ตนเรียนได้ดี จบนิติศาสตร์ที่ 1 ของคณะ ตนพยายามชี้ให้เห็นว่าความเชื่อเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพพัฒนาได้อย่างไร้ขอบเขต แล้วเราเชื่อว่าสังคมเป็นสังคมสำหรับทุกคน เราก็จะให้ทุกคนพัฒนาศักยภาพสูงสุด แล้วสังคมก็จะเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้สารพัดปัญหา แต่พอเราไม่เชื่อว่าเขามีความสามารถ เราไม่เชื่อว่าเขาจะประกอบอาชีพได้ เรากำลังคิดว่าเราจะไปทำสิ่งเหล่านี้ให้เขาไปทำไม ความเชื่อนี้ทำลายคนพิการมาจนทุกวันนี้ แม้กระทั่งพ่อแม่ของคนพิการเองก็เชื่อแบบนี้ กอดลูกไว้ที่บ้าน ไม่ให้ทำอะไร แต่จริง ๆ มันไม่ใช่ เพราะมนุษย์ทุกคนก็ต้องการที่จะเข้าสังคม เพราะเราเป็นสัตว์สังคม สิ่งเหล่านี้ที่ปิดโอกาส สมาคมคนตาบอด จะสอดนวด 1000 คน ต้องใช้เวลาไปตามบ้านของคนตาบอด 1-2 ปี กว่าจะหาคนมาเรียนได้เป็นพัน ทั้ง ๆ ที่การเรียนก็ฟรี หรืออาจจะได้เงินด้วย ฝึกอาชีพก็มี ก็ยังมีปัญหา คือไม่มา หรือมาก็เพราะได้เงิน ไม่ใช่เพราะอยากที่จะไปต่อสู้เพื่อเลี้ยงตนเอง คำสอนและความเชื่อจึงเป็นเรืองสำคัญที่สุด ถ้าเป็น positive ก็จะทำให้มนุษย์อยู่ในโลกใบนี้ได้อย่างมีความสุข ถ้าเป็น negative มันก็ตรงกันข้าม สังคมไทยจึงต้องเหมือนตะวันตก ต้องมีการพยายามส่งเสริม และสร้างความเชื่อที่มันเป็น positive อย่างอเมริกา และเราจะเจริญและแข่งขันกับประเทศอื่นได้ แต่ถ้าเรายังไม่เชื่อศักยภาพเรา ไม่นานประเทศอื่นจะแซงหน้าเราหมด
การทำให้กฎหมายมีผลใช้บังคับคือความยุ่งยาก นี่เป็นเรื่องใหญ่ของทั่วโลก อย่างที่สหประชาชาติบอกว่า make the right real เราจะต้องทุ่มเทเรื่องนี้ คือ ทำสิทธิให้มันเป็นจริง กฎหมายของประเทศไทยเขียนสมบูรณ์หมด แต่เป็นจริงไม่ถึง 50% แต่เราก็ต้องรณรงค์ต่อสู้กันไปในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้มันเป็นจริง เพื่อจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมสำหรับทุกคน
รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ าจารย์ประจำสาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) : สะท้อนมุมมองในเรื่องของการทำทางเท้าและความเป็นไปได้ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยว่า สำหรับสถานการณ์คนพิการในประเทศไทยตอนนี้ มีจำนวนคนพิการอยู่ประมาณ 3% หรือประมาณ 3 ล้านคน และประมาณ 191,000 คน เป็นคนตาบอด เรื่องของการศึกษา เป็นหนึ่งในมิติของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการที่สำคัญ การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เราต้องทำทั้งในเรื่องของสุขภาพ เรื่องของสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา เพื่อที่จะต่อยอดไปจนถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่อีกสิ่งหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ทั้งสี่มิตินั้นสามารถที่จะขับเคลื่อนและดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ก็คือมิติในเรื่องของสภาพแวดล้อม และเทคโนโลยี เครื่องช่วยต่าง ๆ ที่จะมาส่งเสริมการขับเคลื่อนเกี่ยวกับเกี่ยวกับเรื่องของการออกแบบสำหรับคนทุกกลุ่ม และสำหรับคนตาบอดเองก็สามารถที่จะใช้งานได้ดี มีชีวิตที่มีความสุข เป็น inclusive society ด้วย inclusive design นำไปสู่ design for all ซึ่งจะขอใช้คำว่า universal design คือเพื่อคนทั้งมวล มีวัตถุประสงค์เพื่อการขับเคลื่อนให้ทุกคนสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างสะดวกปลอดภัย และมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี สถานการณ์ด้านการศึกษาของคนพิการในประเทศไทยเป็นตัวบ่งชัดว่าจริง ๆ แล้วทำไมคนพิการในไทยถึงยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้ง 4 มิติไม่ได้ เพราะว่าการเข้าถึงการศึกษาของคนพิการ มีคนที่เข้าถึงการศึกษาในระดับประถมศึกษา ประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งระดับประถม การเตรียมไปประกอบอาชีพต่อไม่ใช่เรื่องง่าย โอกาสทางการทำงาน หรือทางสังคมก็ไม่ได้เยอะมากในปัจจุบัน ระดับมัธยม มีเพียง 169,000 คน ระดับอุดมศึกษาขึ้นไปก็น้อยลงไปอีก ปัจจุบันจบเพียง 21,220 คน เราสูญเสียโอกาสในการที่จะพัฒนาพลังของประเทศนี้ ประชากร พลเมือง ไปกว่ากี่ล้านคน สองล้านกว่าคน ถ้าการศึกษาเข้าถึงได้สำหรับทุกคน ถ้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นมหาวิทยาลัยระดับอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศอยากจะเป็นชั้นนำของโลก ก็ต้องไม่ลืมที่จะนำเรื่องความเป็นสากลของ universal design ให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงพื้นที่การศึกษาของมหาวิทยาลัยได้
สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในอดีต กว่าจะมีนักศึกษาพิการแต่ละคนเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ อาจารย์ เจ้าหน้าที่ก็กังวลว่าจะให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนยังไง เพื่อน ๆ เองก็กังวล ว่าจะต้องวางตัวยังไงให้อยู่กับเขาได้อย่างปกติที่สุด พ.ศ. 2546 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีโครงการรับนักศึกษาพิการโดยระบบรับตรงเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เรามีนโยบายชัดเจนว่า ทุกคณะจะต้องรับนักศึกษาพิการ โดยมีสัดส่วนนักศึกษาพิการต่อสัดส่วนของนักศึกษาทั่วไป อย่างน้อย 1% ช่วงแรก ๆ ได้รับการตอบรับอย่างดีในสายสังคม คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ คณะสังคมวิทยา คณะมานุษยวิทยา มีนักศึกษาพิการเข้ามาเรียนในคณะ และประสบความสำเร็จ ยุคหลัง ๆ คณะวารสารศาสตร์ เริ่มมีน้อง ๆ คนพิการไปเป็นผู้ประกาศข่าว อันนี้พูดถึงความพิการทุกประเภทก่อน เราพบว่าจริง ๆ แล้วนักศึกษาพิการเมื่อได้รับโอกาส เขาจะไปได้ไกล ไม่ต่างกับนักศึกษาทั่ว ๆ ไป
อย่างไรก็ตาม เราพบว่านักศึกษาพิการมีผลการเรียนเฉลี่ยต่ำกว่า mean ที่ควรจะเป็น มีโอกาส drop หรือรีไทร์สูง เราได้เปิดศูนย์บริการนักศึกษาพิการ เพื่อจัดทำสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไม่ว่า การให้บริการวีวแชร์ไฟฟ้ากับนักศึกษาพิการทุกคน การให้ยืมอุปกรณ์ต่าง ๆ เครื่องช่วยฟัง เครื่องสำหรับคนที่มีสายตาบกพร่อง เครื่องช่วยขยายหน้าจอคอมต่าง ๆ และมีการประเมิน เราก็มองว่าน่าจะครบแล้ว ปรากฏว่าเราขาดไปหนึ่งมิติ คือมิติของกายภาพ พ.ศ. 2556 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีโครงการประเมินสิ่งอำนวยความสะดวกของอาคารทั้ง 84 หลังที่เราบริหารจัดการเอง มีการประเมิณว่า ที่ศูนย์รังสิต มีอาคารกี่หลังที่เป็นไปตามมาตรฐานของกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุในอาคารสาธารณะ และตรวจสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน 5 อย่าง คือ ทางลาด ที่จอดรถ จุดบริการข้อมูล ป้ายสัญลักษณ์ ลิฟต์ ปรากฏว่าอาคารของเราทุกหลัง ร้อยละร้อยสอบตก ผู้บริหารยอมไม่ได้ที่จะทำน้อยกว่ากฎหมาย เพราะเราเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน หลังจากนั้น ทุกปีพอเรามีข้อมูล ยอมรับปัญหาของตนเอง ทำให้ให้ปัญหาค่อยๆ คลี่คลายไป มีการทำแผน และในปีถัด ๆ มา มีงปมในการปรับสิ่งอำนวยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ล้านบาท บางปี 20 ล้านบาท เพื่อทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิยาลัยที่เข้าถึงได้โดยคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน เพื่อคนทั้งมวลอย่างแท้จริง นักศึกษาสนใจมาเรียนกับเรามากขึ้น เราก็เริ่มต้องคำนึงถึงเรื่องของกายภาพ มีการจัดตั้งศูนย์บริการนักศึกษาพิการ ทั้งที่ ศูนย์รังสิต และท่าพระจันทร์ เพื่อครอบคลุมการอำนวยความสะดวก และการจัดทำสื่อการเรียนกการสอนต่าง ๆ ให้นักศึกษาพิการทุกกลุ่ม มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในหอพัก เริ่มจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบตามมาตรฐานขั้นต่ำ จริง ๆ แล้วพื้นผิวต่างสัมผัสอาจไม่ใช่พระเอกของการเดินทาง สัญจรของคนตาบอด แต่เมื่อเราต้องการเป็นผู้นำในการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการอย่างแท้จริง เราก็ทดลองทำทางเดิน ขยายใหม่ตามมาตรฐาน 1.5 เมตร ติดตั้งพื้นผิวต่างสัมผัสสำหรับเตือนที่มีระบุในกฎหมายว่าต้องทำ และสำหรับนำทาง ที่เราติดตั้งเพิ่มเติม และทดลองใช้กับนักศึกษาพิการตาบอด ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี เราจึงทำทางเดิน guiding block ที่ยาวที่สุด เราได้รับรางวัลอารยสถาปัตย์ ติดต่อกัน 3 ปี เราได้มีการตั้งศูนย์ศึกษาออกแบบเกี่ยวกับเรื่องของ universal design เพื่อที่จะประเมิน วิจัย ค้นคว้า ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเรายังขาดอะไร
ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวของเกี่ยวกับการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในประเทศไทย มีกฎหมาย มาตรฐาน ประกาศ กฎกระทรวงต่าง ๆ ที่เรานำมาเป็นแนวทางในการที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ ที่นิติศาสตร์ทำเรื่องนี้ ช่วยให้พวกเราเห็นความสำคัญของการทำตามกฎหมายที่แม้ว่าจะไม่มีสภาพบังคับ หรือลงโทษใด ๆ แต่ถ้าใจเรามา เราก็จะสามารถทำให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อคนทั้งมวลได้เช่นกัน การทำพื้นผิวต่างสัมผัส จะเป็นสีอะไรก็ได้ ขอให้ตัดกันกับพื้นผิวรอบ ๆ ถ้าพื้นที่คนเยอะก็จะขยายขนาดพื้นผิวที่ใหญ่กว่าปกติ ซึ่งเป็นมาตรฐานของต่างประเทศ warning และ guiding block เป็นเรื่องทั่วไปที่เราเคยเจอ สีต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยในเรื่องของผู้ที่มีความบกพร่องด้านสายตา เช่น สายตาเลือนลาง ตาแคบผิดปกติ ตาบอดสี หลักการเดียวกัน นำทางให้เขาไปได้สะดวกปลอดภัย ไม่หลง ทางเดินที่กว้าง ราวจับก็ใช้นำทางได้ วิธีการไหนก็ได้ ถ้าไปถูกทิศ ปลอดภัย นำทางได้ ใช้ได้หมด การฝังไฟให้เห็นตอนกลางคืนก็ด้วย กฎหมายใช้คำว่า “พื้นผิวต่างสัมผัส” เปลี่ยนแค่ texture ทำให้เรารับรู้และเข้าใจถึงพื้นที่ในการใช้งานตรงนี้ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการนำทางด้วยการสัมผัส ใช้สี หรือ texture หรือด้วยแสง สิ่งสำคัญคือการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล เพื่อคนส่วนรวม เพื่อทุกคนให้สามารถใช้งานได้ เราจะได้ไม่รู้สึกว่าต้องออกแบบเพื่อใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ ที่อาจทำให้เรารู้สึกเหมือนแปลกแยก การนำทางขนานกันไป เส้นสี guiding block ผสมกัน การนำทางที่ไม่ใช่แค่ guiding warning แต่เราสามารถใช้พื้นผิวต่างสัมผัส และแนวทางอื่น ๆ มาประยุกต์ใช้ได้ แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ก็ต้องทำได้แน่นอน
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เลือกทำที่รังสิตก่อน เพราะว่าในช่วงแรก ๆ ที่มีการเสนอให้มีการทำ guiding block เรามีบทเรียนราคาแพงในการลงทุน แล้วลงทุนไปสู่ความไม่ปลอดภัยในสังคมของเราเยอะมาก เราจะเห็นว่าฟุตบาทในประเทศไทยเป็นฟุตบาทที่ไม่ได้นำทางไปสู่ความปลอดภัย แต่นำทางไปสู่อันตราย อาจจะพิการซ้ำซ้อน พิการเพิ่มก็ได้ เพราะฉะนั้นข้อกังขาว่า guiding block ดีจริงหรือไม่ เราจึงลองที่รังสิตก่อน แล้วการที่เราจะติด guiding block ถ้าเป็นพื้นที่ที่ compact ที่อย่างที่ทาพระจันทร์เอง จริง ๆ แล้วเราสามารถเรียนรู้สภาพแวดล้อมได้ง่ายกว่า พื้นที่ 1700 ไร่ของรังสิตมีความท้าทาย ถ้าเราจะต้องใช้มันจริง เราจะทำยังไงเพื่อให้เราเกิดการเรียนรู้ และเราจะได้อธิบายได้ว่าแม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้บอกให้เราทำตรงนี้ แต่ถ้าเราทำแล้วมันจะดีหรือไม่ดี ดังนั้น พอเราเริ่มที่รังสิตเสร็จ ณ วันนี้เราก็เริ่มกลับมามองที่ท่าพระจันทร์แล้ว โดยเริ่มจากตัว warning block ก่อน เราจะเริ่มเห็นอาคารบางหลังเริ่มมีการติดตั้งแล้ว และคิดว่าการที่เราได้มีการทดลองที่รังสิตแล้ว และก็มีโอกาสที่จะทำเพิ่ม และคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้มาสู่ที่ทางท่าพระจันทร์ด้วย
สำหรับประเด็นการมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มนักศึกษาที่เป็นผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็ตาม มีผลกระทบต่อการศึกษา การเรียนอย่างไรบ้างนั้น มีการประเมินที่ชัดเจนก่อนที่เราจะจัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของสื่อการเรียนการสอน จนถึงเรื่องของกายภาพของนักศึกษา อย่างที่บอกว่านักศึกษาพิการเคยมีสถิติว่าผลการเรียนต่ำกว่า mean ที่ควรจะเป็น ปัจจุบันนี้นักศึกษาของเราได้เกียรตินิยมกันเยอะมาก เพราะว่าเขาเข้าถึงการจัดการเรียนการสอน แน่นอนว่าความตั้งใจ หรือพยายามของนักศึกษาพิการ ในการใช้ชีวิตของเขา เขาฝึกที่จะต้องพยายาม และต้องตั้งใจในการทำสิ่งต่าง ความท้าทายในชีวิตของเขาเยอะกว่าคนทั่ว ๆ ไป อยู่แล้ว เพราะงั้นเมื่อเขาได้โอกาสเข้าถึงได้เหมือนพวกเรา เขาจึงใช้ทักษะความพยายาม ความอดทนตรงนั้นก้าวไปสู้ความสำเร็จได้ หรืออาจจะมากกว่านักศึกษาทั่วไปด้วยซ้ำ
คุณกิติพงศ์ สุทธิ ผู้อำนวยการสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา (วิทยากร) : กล่าวในมุมมองเรื่องของความรู้สึกต่อทางเท้า และข้อเสนอเกี่ยวกับการดำเนินงานในโครงการว่าตนชื่นชอบหัวข้อที่ตั้งไว้ เพราะแสดงถึงว่าความเท่าเทียมยังต้องเริ่มจากสิ่งที่อยู่ใต้เท้า ทำให้พวกเราและคนตาบอดได้ยื่นได้มั่นคงขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการพูดในมุมของสิทธิ ความเท่าเทียมที่เป็นสิทธิของทุกคนที่พึงได้รับ เวลาพูดถึงสิทธิ ก็ตั้งอยู่บนฐานของการเรียกร้องได้ตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาอาจจัดให้ทุกอย่างไม่ได้ แต่หลาย ๆ กรณีที่เป็นเรื่องของความจำเป็น แทนที่จะเป็นสิทธิ กลับเป็นเรื่องของการกุศล ไม่มีหลักประกันอะไร อยู่ที่ความพร้อมของผู้ให้ ทั้งที่ควรจะเป็นหน้าที่
ในเรื่องของเบรลล์บล็อก เป็นเรื่องที่ได้รับการพิสูจน์จากนานาชาติแล้วว่ามันช่วยเพิ่มความปลอดภัย และเพิ่มความสะดวกให้กับคนตาบอด และสายตาเลื่อนลาง และเป็นการช่วยแบบมีมาตรฐานและแบบแผน เพราะจริง ๆ แล้วการช่วยลักษณะนี้ จะทำให้เกิดการขยายผลได้ง่าย เพราะคนที่นี่ไปใช้ในอีกที่หนึ่ง ถ้าเป็นมาตรฐานเดียวกัน เขาก็รู้เรื่อง สามารถใช้ร่วมกันได้ เข้าใจถึงคุณประโยชน์ เข้าถึงเครื่องมือที่รัฐต้องการให้เกิดประโยชน์ได้ เบรลล์บล็อกเริ่มจากประเทศญี่ปุ่น ตอนเขาเริ่มคิด เขาแค่เอาไปติดตั้งในโรงเรียนสอนคนตาบอด แต่ปรากฏว่า พอหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะการรถไฟ ก่อนหน้านี้คนตาบอดญี่ปุ่นที่ใช้รถไฟ ประสบอุบัติเหตุกันเยอะมาก อย่างหนึ่งที่คนตาบอดใช้ในเรื่องของการเดินทาง คือใช้เสียง ที่ใช้เป็นตัวนำทาง คนตาบอดบางคนใช้เสียงสะท้อน เพื่อจะได้รู้ว่ามีอะไรขวางอยู่ข้างหรือไม่ หรือแม้กระทั่งเสียงของผู้ร่วมเดินทางคนอื่น ๆ มีสถานนีรถไฟที่เต็มไปด้วยผู้คน คนตาบอดจะฟังเสียงจากผู้ร่วมเดินทาง เช่น เสียงของรองเท้าเดิน วิ่ง ก็จับทิศทางว่าต้องไปทางไหน ทีนี้เสียงเหล่านี้เป็นเสียงระหว่างที่จุดกำเนิดเสียงมาถึงหูของคนตาบอด แต่ไม่ได้รับประกันว่าตรงกลางระหว่างสองที่มีมีอะไรกีดขวาง หรือเป็นตัวเปลี่ยนระดับหรือป่าว ปรากฏว่ามีคนตาบอดจำนวนมากที่ตกชานชาลา จึงได้มีการติดตั้งเบรลล์บล็อกตามสถานนีรถไฟต่าง ๆ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็น warning block เพราะลดเรื่องอุบัติเหตุ และเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยได้ สำหรับตัวเบรลล์บล็อก องค์ประกอบที่จะทำให้ใช้ได้อย่างได้ผล ได้แก่ มาตรฐานของเครื่องมือ เช่น ขนาดของจุด ต้องเท่าไหร่ ความสูงเท่าไหร่ มาตรฐานในการติดตั้ง จากนั้นคือเรื่องของผู้ร่วมใช้ ซึ่งจะมีทั้งคนตาบอดเอง คนสายตาเลือนราง แล้วก็บุคคลทั่ว ๆ ไปที่ร่วมกันใช้ทางเท้า หรือร่วมกันใช้พื้นที่นั้น ๆ ด้วย และท้ายที่สุดก็คือเรื่องของการบริหารจัดการ จุดอ่อนของประเทศไทยที่มีการนำเรื่องของเบรลล์บล็อกมาใช้ มาจากเรื่องของผู้ร่วมใช้ และเรื่องของการบริหารจัดการ ในส่วนของผู้ร่วมใช้ ส่วนของคนตาบอด ในบ้านเราส่วนใหญ่ คนตาบอดไม่ได้เรียนหนังสือหรือไม่ได้รับการฝึกอาชีพในระบบ เมื่อไม่ได้เรียนในสิ่งเหล่านั้น ก็มักจะไม่ได้เรียนวิชาสำคัญ ทักษะสำคัญ ที่เราเรียกว่า O&M หรือการใช้ไม้เท้าในการเดินทางก็ไม่ได้เรียน ดังนั้น โอกาสที่จะได้รู้จักกับเรื่องของเบรลล์บล็อก ก็จะได้รู้จักจากการบอกต่อ หรือการสัมผัสโดยตรง แต่ว่าไม่ได้รู้จักในแง่มุมของการเข้ามาเป็นเครื่องมือ ในขณะเดียวกันบุคคลทั่วไปก็อาจจะไม่ได้เข้าอกเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ใช้ประโยชน์เพื่ออะไร รู้ว่าสำหรับคนตาบอด แต่ไม่เข้าใจว่าคนตาบอดจะต้องเดินไปตามเส้นทางเหล่านี้ จะต้องใช้สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งนำทาง สิ่งเตือน พ่อค้าแม่ค้าก็ตั้งของต่าง ๆ บนเบรลล์บล็อก คนตาบอดเดินเร็ว ๆ ด้วยความมั่นใจไปก็ชน ก็เพิ่มความอันตรายขึ้นไปอีก ทั้ง ๆ น่าจะเป็นทางที่ปลอดภัย แต่ก็เปล่าประโยชน์ และท้ายสุดที่เป็นจุดอ่อนของเรา คือเรื่องของการบริหารจัดการ ต้องทำให้เกิดความชัดเจนว่า สิ่งที่คนตาบอดเดินไปเหยียบ มันเป็นเบรลล์บล็อกจริง ๆ ไม่ใช่รอยแตกของถนน ซึ่งบางทีแยกแยะลำบาก การบริหารจัดการภายหลังการติดตั้งแล้ว การควบคุมให้มันใช้งานได้ทั้งในเชิงของสภาพแวดล้อม และในเชิงของตัวอุปกรณ์เอง อาจไม่มีคนมาดูแลในส่วนนี้ ทำให้เกิดปัญหา ถึงขนาดที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยคัดค้านการติดตั้งพื้นผิวต่างสัมผัสในยุคหนึ่ง ซึ่งหลัง ๆ ก็เริ่มคลาย ในส่วนที่เป็น guiding เพราะว่าบางทีติดตั้งไป แทนที่จะนำไปสู่ทางของความปลอดภัย guiding block นำเราไปชนเสาไฟฟ้าก็มี เพราะไม่คำนึงถึงมาตรฐานของการติดตั้ง เราเลยบอกว่าส่วนที่เป็น guiding ทั้งหลายบนทางสาธารณะที่จะไม่มีใครดูแลอย่างจริงจัง แต่เราไม่ได้คัดค้านในส่วนที่เป็น warning ในต่างประเทศมีการคัดค้านเรื่องของ เบรลล์บล็อกเป็นการคัดค้านในเชิงปรัชญา มีกลุ่มคนตาบอด และองค์กรของคนตาบอดที่มีความรู้สึกว่าไม่ควรมีใครมาขีดเส้นให้คนตาบอดเดิน ซึ่งเท่ากับเป็นการจำกัด เป็นการควบคุมเสรีภาพของคนตาบอด แม้จะมีคนเถียงว่า เวลาเดินก็ไม่มีใครมาจับคุณเดินไปบนทาง guiding แต่เขาบอกว่ามันเป็นสัญลักษณ์ที่ขีดบอกว่าคนตาบอดต้องเดินบนนี้ คนตาบอดที่ไม่เดินบนนี้แสดงว่าเป็นคนตาบอดที่นอกคอก เพราะขีดเส้นให้เดินแล้ว แต่ว่าในส่วนของประเทศไทยเอง สมาคมคนตาบอดเราให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยมากกว่าในการติดตั้ง
ถ้ามีการติดตั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าการติดตั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความเหมาะสมในองค์ประกอบดังต่อไปนี้ ในเรื่องของกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้ กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ นักศึกษา บุคลากร ไม่ใช่เฉพาะคนตาบอดเท่านั้น คนทั่ว ๆ ไปด้วย เพราะเป็นการใช้ทางเท้าร่วมกัน ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตนคิดว่ามันง่ายต่อการสื่อสาร ต่อการสร้างความเข้าใจ ที่ศูนย์รังสิตก็ได้ทำมาแล้ว เพราะฉะนั้นการขยายมาทำที่ท่าพระจันทร์เพิ่มเติม ก็มีองค์ประกอบที่เรียกว่า การสื่อสารการสร้างความเข้าใจ จะทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ในส่วนต่อมา ในเรื่องของกลุ่มคนตาบอดโดยตรง ซึ่งเป็นผู้ใช้หลัก คนสายตาเลือนราง ผู้ที่เข้ามาศึกษา หรือมาทำงาน ส่วนใหญ่น่าจะได้รับการฝึกเรื่อง O&M มาแล้ว มีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะเกี่ยวกับเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้ ก็มีโอกาสที่จะใช้สิ่งเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เวลามาติดตั้งในสถานที่ที่มีผู้ดูแลชัดเจน ก็เชื่อว่าการดูแลให้ใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะในเชิงของกายภาพ หรือในเชิงของการบริหารจัดการ
คุณศุภณัฐ ลี้ภัยสมบูรณ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) : กล่าวว่า สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลิฟต์ มีเบรลล์ ปุ่มนูน และมีเสียง ซึ่งสำคัญมากสำหรับนักศึกษาที่พิการทางสายตา สำหรับเบรลล์บล็อก คิดว่าจะเป็นประโยชน์ เพราะบางทีพื้นพรม หรือพื้นผิวต่างกัน สัมผัสไม่ค่อยได้ ถ้าเป็นเบรลล์บล็อก หรือพรมที่สัมผัสนูน หรือต่างกว่านี้ก็จะดีมาก สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการประเภทอื่น ทางลาดก็สำคัญมากเช่นกันสำหรับนักศึกษาที่ใช้วีวแชร์ สภาพทางเดิน โดยเฉพาะตรงบริเวณหอพระ ตรงประตูทางเข้า ค่อนข้างขรุขระ และเป็นปัญหาในด้านความปลอดภัย
สำหรับ digital technology ตนชื่นชม reg.tu ของธรรมศาสตร์มาก แต่สิ่งที่อยากจะให้ปรับปรุงก็คือ การกดเข้าไปเปลี่ยน password ยังมีปัญหาอยู่ เรื่องสื่อการเรียน การที่เรามีศูนย์บริการนักศึกษาพิการก็ดี แต่ว่าบุคลากรก็ต้องมีความรู้ ทำไฟล์ในรูปแบบที่คนพิการสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้จริงด้วย ช่วงหลัง พอตนส่งไฟล์ไปให้ทำ พอได้กลับมา บางทีไฟล์ จัดการไม่ค่อยเรียบร้อย ซึ่งคนพิการทางการเห็นเขาจะใช้โปรแกรมอย่าง JAWS หรือ Text VBA อ่านจาก Microsoft Word เวลาเขาเปิดไฟล์ เขาคาดหวังว่าการจัดเรียงจะจัดมาในรูปแบบที่เข้าใจได้ ถ้าทำไฟล์ออกมาไม่เรียบร้อย ก็ไม่มีประโยชน์สำหรับนักศึกษาพิการ
เรื่องการขนส่ง การเดินทาง ถ้ามีระบบการขนส่งสำหรับนักศึกษาพิการ โดยเฉพาะนักศึกษาที่ใช้วีวแชร์จะดีมาก เพราะ Grab หรือแท็กซี่ปัจจุบัน อาจจะไม่เหมาะสำหรับนักศึกษาพิการ ซึ่งควรจะฟรีด้วย เพราะค่าเดินทางเป็นภาระสำหรับนักศึกษา โดยเฉพาะนักศึกษาพิการชนชั้นกลาง หรือต่ำกว่านั้น อาจจะไม่มีเงินมากพอ และหอพัก ควรจะลดค่าเช่าครึ่งนึงสำหรับนักศึกษาพิการที่มาเช่า ตลอดจนคอนโด อาจจะร่วมมือกับภาครัฐ และอาจจะเพิ่มสวัสดิการสำหรับคนพิการด้วย เช่น นั่งรถไฟฟ้า รถไฟฟรี เป็นต้น และการขนส่งสาธารณะ ต้องปรับปรุงให้มากเพื่อให้คนพิการเข้าถึงได้ เริ่มแรกเลยคือระบบเสียง ว่าถึงไหนแล้ว ต้องการให้ปรับปรุง รถไฟต่างจังหวัดไม่มีเลย คนพิการที่บ้านอยู่ต่างจังหวัด มาทำงาน เรียน จะรู้ได้อย่างไรว่าถึงแล้วถ้าไม่มีคนรอบ ๆ บันได ทางลาดก็ควรทำด้วย เพื่อให้คนนั่งวิวแชเข้าถึงได้
สำหรับที่บอกว่าคนพิการปัจจุบันถูกมองว่าไม่มีความสามารถ นอกจากการอำนวยความสะดวกให้คนพิการ ในสื่อการเรียนรู้ คนพิการเองก็ต้องพยายามปรับตัวด้วย คือสิ่งที่อยากจะฝากสำหรับเด็กพิการ น้อง ๆ คนพิการ คืออย่ายอมแพ้ พยายามมุ่งมั่น พิสูจน์ให้พ่อแม่ เพื่อนๆ ชุมชน ทุกคนเห็นว่าเรามีความสามารถที่จะประสบความสำเร็จได้ เพราะทุกคนคือความหวังของประเทศของเรา ที่จะพัฒนาประเทศได้
คุณศุภณัฐกล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ระบบการศึกษา สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ ช่วยให้ตนเรียนดีขึ้น เพราะการเข้าถึง class material, handout จะทำให้นักศึกษาพิการสามารถอ่านทวนเนื้อหาที่อาจารย์สอนได้ โดยเฉพาะถ้าเราจดไม่ทัน และสิ่งที่สำคัญเลยคือการที่เราได้เวลาเพิ่มในการทำข้อสอบ โดยเฉพาะนักศึกษาที่พิการทางการมองเห็นอาจต้องใช้เวลาทำมากกว่า ทำให้เราไม่เครียด สำหรับตน การได้เวลาเพิ่มนี่เป็นประโยชน์มาก ๆ
คุณเอกภาพ ลำดวน ผู้ฝึกอบรมทักษะการเดินทาง โรงเรียนสอนคนตาบอด กรุงเทพฯ (วิทยากร) : กล่าวว่า ไอเดียเรื่องของการสร้างเบรลล์บล็อก ตนเห็นด้วยกับการจัดให้มีเบรลล์บล็อก หรือ guiding จากปัญหาที่ผ่านมา ตัว guiding block ถูกสร้างขึ้นโดยที่อาจจะไม่ได้คำนึงถึงเรื่องของการวางระบบที่ถูกต้อง เนื่องจาก guiding วางอยู่บนพื้น ส่วนใหญ่จะมองเรื่องของหลุมบ่อที่เป็นอุปสรรคเป็นหลัก แต่คนสร้างอาจจะลืมไปว่า ส่วนที่อยู่ด้านบนในระดับศรีษะ ก็เป็นสิ่งกีดขวางที่อันตรายสำหรับคนตาบอดเหมือนกัน เพราะฉะนั้น การออกแบบทางเท้าที่ปลอดภัยสำหรับคนพิการ นอกจากเรื่องของเบรลล์บล็อก มันต้องไปด้วยกันทั้งหมด ทั้งเรื่องของสิ่งกีดขวาง สภาพแวดล้อมที่อยู่บริเวณทางเท้า นอกจากเรื่องของทางเท้า สิ่งกีดขวาง เรื่องของinformation ก็เป็นปัญหาหลักอันหนึ่ง คือ คนตาบอดที่ไปในสถานที่ใหม่ ๆ หรือสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ก็จะไม่รู้ว่าตึกนี้มีห้องอะไรบ้าง อยู่ตรงไหน หรือห้องที่ยืนอยู่คือห้องอะไร จึงควรจะมีข้อมูลที่บอกกคนตาบอดได้ ไม่ว่าจะเป็นอักษรเบรลล์ ภาพนูน แผนที่ภาพนูน หรือเป็นระบบเสียง แล้วแต่บริบท และสภาพแวดล้อมของสถานที่นั้น ๆ ว่าจะเป็นยังไง
กฎหมายไทยมีประกาศแนบท้าย คู่มือของสิ่งอำนวยความสะดวก ที่ออกโดยกรมสงเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในประเทศไทยไม่ค่อยมีการอัพเดทมาตรฐานตัวนี้เท่าไหร่ ซึ่งในมาเลเซีย จะมีการทำการวิจัยแล้วก็อัพเดทตัวมาตรฐานสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการอยู่เรื่อย ๆ มีการวิเคราะห์ และทดลองกันอยู่ทุกปี เอามาประชุมเพื่อหารือกัน และวางมาตรฐานกันใหม่ว่าสิ่งที่เป็นอยู่ ที่เราวางมาตรฐานเอาไว้ คนพิการใช้แล้วเป็นอย่างไร อาคารแบบไหนควรใช้ เบรลล์บล็อก พื้นที่แบบไหนควรใช้พื้นผิวต่างสัมผัส อย่างที่มหาวิทยาลัยมหิดล นำพื้นผิวต่างสัมผัสหยาบ ๆ มาเป็น landmark เพราะว่าในอาคารมีสภาพแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคสำหรับคนตาบอด เพราะมีลักษณะที่เสียงจะสะท้อนไปหมด ถ้าคนตาบอดที่ไม่คุ้นเคย อาจจะทำให้หลงทางได้ เพราะฉะนั้น ข้อเสนอสุดท้ายที่อยากจะเน้นย้ำ ก็คืออยากจะให้ธรรมศาสตร์มีการพัฒนา ทำวิจัยเรื่องของการสร้างมาตรฐานสิ่งอำนวยความสะดวกในเรื่องของตัวอาคารสถานที่ขึ้นมาอีก ว่านอกจากที่กำหนดเอาไว้แล้วโดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแล้ว มีอย่างอื่นอีกหรือไม่ที่จะมาช่วยซับพอตในการเดินทาง ในการใช้ชีวิตของคนพิการได้ดีขึ้น เพราะว่าสภาพแวดล้อม โลก และการใช้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไป มาตรฐานก็ไม่ควรที่จะหยุดนิ่ง
คำถามเพิ่มเติมจากการเสวนา
คำถาม (1) : ศูนย์ออกแบบของธรรมศาสตร์มองประเด็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสภาพสังคม สถานที่ต่าง ๆ หรือไม่
ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ : เรามีการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องของการใช้ user experience เป็นตัวกำหนดทิศทางการออกแบบ มีอยู่สองเรืองใหญ่ ๆ ที่ตนเห็นด้วยว่าทีมของนักวิจัยก็ต้องวิจัยมาตรฐานที่จะมาเสริมให้ดีขึ้นไป สอง คือสิ่งที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไป และล้าสมัยไปแล้ว ก็พัฒนาให้ดีขึ้น กับส่วนที่สอง ด้วยความที่มาตรฐานบางอย่างออกมาแล้ว หลายครั้งที่เราออกแบบเอง เราก็ออกแบบโดยใช้มาตรฐานตรงนั้น และก็มีการประเมิน มีการวิเคราะห์ วิจัย และใช้เวลากับมัน พวกเราในฐานะนักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ universal design ก็พัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ และนอกจากของหน่วย universal design ตอนนี้เรามีศูนย์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นของคณะวิศวะ ที่ทำเรื่องของนวัตกรรมเครื่องช่วยสำหรับคนพิการ หรือแม้แต่หลักสูตรใหม่ ๆ เช่น หลักสูตรที่ระหว่างแพทย์กับวิศวะ มีการทำเทคโนโลยีเครื่องช่วยพวกนี้ให้มีความสอดคล้องเหมาะสม เราไม่สามารถใช้กายภาพล้วน ๆ ได้ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวกระโดดแบบนี้ ก็ต้องอาศัยโอกาสจากเทคโนโลยีที่ดีมาช่วยทำให้สิ่งอำนวยความสะดวกมันดี และสอดคล้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วย
คำถาม (2) : เรื่องของความคุ้มค่า ทำไมธรรมศาสตร์ถึงเห็นความสำคัญตรงนี้ เพราะบางสถานที่อาจจะมองว่าผู้พิการมีแค่จำนวนหนึ่ง เมื่อเทียบงบประมาณที่จะต้องสูญเสียไปในการทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ : เรามองว่าทุกคนเป็นคนเหมือนกัน ความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องสวยงามในโลกของเรา มีคนถนัดซ้าย มีคนถนัดขวา มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แปลว่าเราไม่สามารถทำอะไรคนเดียวได้ แต่เราต้องมีสังคม มีเพื่อนมนุษย์มาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพราะฉะนั้น เมื่อเรามองเห็นคุณค่าของทุกคน ว่าทุกคนสามารถที่จะเป็นพลังของสังคมได้ เราก็ไม่ควรจะมองข้ามคุณค่าเหล่านั้น เรามีหน้าที่ที่จะต้องหนุนเสริมคุณค่าเหล่านั้น เศษดิน กรวด ถ้าเรารวมกันก็ถมทะเลได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเมื่อไหร่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีโอกาสที่จะทำให้เยาวชน หรือคนของประเทศไทยของเราสามารถที่จะเป็นพลังของสังคมได้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอไม่ทิ้งโอกาสนั้น และอย่างที่บอกว่าคนหนึ่งคน ถ้าเรามองว่าเขาสามารถที่จะทำอะไรให้สังคมได้มากมายขนาดไหนถ้าเขามีความรู้ความสามารถเพียงพอ การสร้างคนคือสิ่งที่วิเศษและสำคัญที่สุด ถ้าเราสามารถสร้างคนได้ เขาจะไปทำผลกำไรต่อสังคม ต่อประเทศชาติได้มากกว่าเงินที่เราลงทุนไป บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้ว่าจะเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับผู้พิการในสังคมที่จบออกไป แต่พอเราเห็นว่าน้อง ๆ ไปทำอะไรได้บ้างในสังคม ไปเป็นนักกฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์ พิธีกร ผู้ประกาศข่าว จิตอาสา เราเลิกมองที่มูลค่า เรามองที่คุณค่า แค่นี้ก็คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พอใจและภูมิใจแล้ว
คำถาม (3) : อยากให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหลักในการที่จะบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการสร้างความเท่าเทียมกันในมหาวิทยาลัย
ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ : ขอแบ่งเป็นสองส่วน ถ้าเป็นการบังคับใช้กฎหมาย แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ไม่ละเลยที่จะทำตามกฎหมาย และแน่นอนว่าเป้าหมายของเราคือทำให้มากกว่ากฎหมายที่กำหนด มากเท่าที่เราจะทำให้พื้นที่ของพวกเราสามารถทำให้ทุกคนมีความเสมอภาคได้อย่างแท้จริง ในส่วนที่สอง คือ พอเราบังคับใช้กฎหมายได้แล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองก็ต้องทำอยู่แล้ว เราก็จะได้สิ่งที่ตามมาคือเรื่องของความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน เป็นคำที่เราพูดกันในแวดวงของการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการอยู่แล้ว ว่าจริง ๆ สังคมเราไม่มีคนพิการหรอก มีแต่สภาพแวดล้อมที่พิการเท่านั้น เพราะงั้นเราจะทำไงให้สภาพแวดล้อมของเราสมบูรณ์ เพื่อชดเชยสิ่งที่ขาดของบางคน และทำให้คนทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข มีความสะดวกสบายที่สุด ซึ่งธรรมศาสตร์ ก็จะพยายาม หนึ่ง คือ ทำตนเองให้พร้อม และสอง คือ ชวนคนอื่นทำด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเราก็จะชวนเครือค่ายมหาวิทยาลัยในการที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกัน