สรุปสาระสำคัญจากสัมมนาวิชาการ หัวข้อ “การละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์โดยการสปอยล์ (Spoil)” จัดโดยโครงการเผยเเพร่วิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วันเสาร์ ที่ 28 สิงหาคม 2564 ระหว่างเวลา เวลา 13.30-15.30 น. ผ่านระบบ Facebook Live ทาง Facebook Page ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้กล่าวเปิดงาน
- อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ กรรมการศูนย์นิติศาสตร์ / อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- อาจารย์ปวีร์ เจนวีระนนท์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คุณศิริลักษณ์ รุ่งเรืองกุลดิษฐ์ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กรมทรัพย์สินทางปัญญา
- คุณปรียาวรรณ ภูวกุล ตัวแทนจากบริษัทจีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด
ผู้ดำเนินรายการ
- คุณพิมพ์ชนก ไกรสัย นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
- คุณกานต์ชนิต คชคีรี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายวิวัฒน์ กอสัมพันธ์ นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ผู้ดำเนินรายการ
กล่าวสวัสดีทุกท่านที่เข้าร่วมงานเสวนาในครั้งนี้ที่จัดขึ้นโดยศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับโครงการเผยแพร่วิชานิติศาสตร์ และกล่าวถึงสถานการณ์ในช่วงปัจจุบันที่สังคมไทยที่มีความเร่งด่วนในเรื่องต่างๆ ทำให้เวลาของแต่ละคนมีน้อยลงมาก การที่จะมาใช้เวลารับชมภาพยนตร์หนึ่งเรื่องที่มีเนื้อหาประมาณ 1-2 ชั่วโมง จึงอาจถูกมองว่าเป็นการเสียเวลาหรือไม่มีเวลาเพียงพอในการรับชม ด้วยเหตุนี้เองจึงมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งได้จัดทำเนื้อหาที่ชื่อว่า “การสปอยล์ (Spoil)” โดยนำภาพยนตร์ทั้งเรื่องหรือบางส่วนมาเล่าให้ผู้รับชมได้รู้ถึงเนื้อหาเรื่องราวในภาพยนตร์โดยใช้เวลาลดน้อยลงมาก ดังนั้น จึงมีการเสวนาในหัวข้อนี้ขึ้นในวันนี้ เพื่อไขข้อสงสัยว่าการสปอยล์ภาพยนตร์นั้นละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ อย่างไร โดยในการเสวนาครั้งนี้ จะประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก กล่าวคือ 1. ความหมายและรูปแบบของการสปอยล์ 2. กฎหมายลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการสปอยล์ 3. การดำเนินการเมื่อเกิดการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการสปอยล์ 4. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการสปอยล์ ซึ่งเมื่อจบการเสวนาในสี่ประเด็นนี้แล้ว ก็จะเป็นช่วงที่วิทยากรทั้งสามท่านจะตอบคำถามต่างๆจากผู้เข้าร่วมการเสวนา
อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กล่าวสวัสดีทุกท่านและเปิดงานเสวนา โดยอธิบายถึงการจัดงานเสวนาครั้งนี้ที่เป็นกิจกรรมของนักศึกษาภายใต้การดูแลของศูนย์นิติศาสตร์ ที่ให้นักศึกษาได้ฝึกฝนและเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดเสวนาทางวิชาการ ทั้งในการหาประเด็นปัญหาทางกฎหมายที่น่าสนใจในการพูดคุยเสวนารวมไปถึงการบริหารจัดการเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยหัวข้อเสวนาในวันนี้ อาจารย์ดิศรณ์คิดว่าเป็นหนึ่งในเรื่องที่หลายๆคนน่าจะสงสัยกันมานาน ซึ่งในวัยทำงานแบบตนนั้นก็ไม่ค่อยมีเวลาในการรับชมภาพยนตร์ซักเท่าไรนัก บางทีก็เลือกรับชมในเรื่องที่น่าสนใจเท่านั้น ฉะนั้น การสปอยล์ภาพยนตร์จึงเป็นทางเลือกของคนวัยทำงาน อย่างไรก็ดี ประเด็นที่อาจจะมองข้ามไปก็คือประเด็นทางกฎหมายลิขสิทธิ์ ตนจึงคิดว่าหัวข้อในวันนี้จะให้ประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่าน
ช่วงการเสวนา
คุณปรียาวรรณ ภูวกุล ตัวแทนจากบริษัทจีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด
กล่าวอธิบายในประเด็นความหมายและรูปแบบของการสปอยล์ว่า การสปอยล์ภาพยนตร์มีลักษณะเป็นการเล่าเรื่องว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร โดยเป็นการเฉลยความลับ จุดสำคัญ จุดเปลี่ยนที่เกิดในภาพยนตร์ ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่อง การเขียน การทำเป็นคลิปมีภาพประกอบของภาพยนตร์ การเล่าเรื่องแบบเป็นฉาก (scene) หรือเล่าทั้งเรื่อง ซึ่งการสปอยล์นี้อาจจะผ่านวิธีการเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ หรือพอดแคสต์
แต่เดิมการสปอยล์อาจจะมีรูปแบบแค่นำภาพของภาพยนตร์มาใส่แล้วเล่าเนื้อหาประกอบ แต่ในปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่า คนในโลกออนไลน์มีความสร้างสรรค์ (create) ในการทำอะไรใหม่ๆ ดังนั้น ในเรื่องของรูปแบบการสปอยล์ภาพยนตร์จึงมีหลายรูปแบบ อาจจะเป็นการนำคลิปมาตัดต่อสลับกับสิ่งที่ตนเองเล่า วาดภาพขึ้นมาประกอบการเล่าฉากต่างๆของภาพยนตร์ หรือนำคำพูด (dialog) หรือช่วงเวลาที่สำคัญมาระบุไว้ แล้วเล่าเนื้อหาช่วงนั้นประกอบ หรือบางคนก็วาดภาพประกอบเองเลย (story board) เพื่อแสดงให้เห็นถึงตัวละคร จุดสำคัญและนำไปสู่บทสรุปของเรื่อง
กล่าวต่อมาในประเด็นของผลกระทบของการสปอยล์ที่เกิดขึ้นกับภาพยนตร์ว่า การสปอยล์ภาพยนตร์มีผลกระทบหลักๆที่เห็นได้เลยคือ ประการที่หนึ่ง ผิดวัตถุประสงค์ของภาพยนตร์หรือทำให้อรรถรสหายไป กล่าวคือ การดูภาพยนตร์จะถูกออกแบบวิธีการเล่าเรื่องหรือดำเนินเรื่องที่สร้างให้ผู้รับชมมีความรู้สึกร่วมกับภาพยนตร์ เมื่อมีการสปอยล์ รายละเอียดต่างๆในภาพยนตร์จะหายไป มีการใส่อารมณ์ความรู้สึกและความคิดเห็นของผู้สปอยล์เข้าไปด้วย ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เกี่ยวกับผีที่มีการสร้างความรู้สึกกลัว ลุ้น จังหวะต่างๆ ในเนื้อหาต้นฉบับ เมื่อถูกสปอยล์ ความรู้สึกต่างๆเหล่านี้จะหายไป เป็นต้น
ประการที่สองคือ เมื่อมีการทราบเนื้อเรื่องของภาพยนตร์แล้ว คนก็จะไม่เข้าไปรับชมภาพยนตร์หรือมีจำนวนน้อยลงและส่งผลกระทบต่อรายได้ของภาพยนตร์
ในส่วนของการรีวิว (review) ภาพยนตร์นั้น มีผลกระทบที่แตกต่างจากการสปอยล์ กล่าวคือ การรีวิวเป็นการที่ผู้รีวิวได้เข้าไปรับชมแล้วออกมาบรรยายถึงความรู้สึก ความคิดเห็นว่าเป็นอย่างไร ไม่ได้มีลักษณะเป็นการเล่าหรือสรุปเรื่องของภาพยนตร์ ไม่ได้เปิดเผยจุดสำคัญต่างๆของเนื้อเรื่องเพื่อให้แต่ละคนเข้าไปรับชมด้วยตัวเอง
อาจารย์ปวีร์ เจนวีระนนท์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กล่าวในประเด็นของกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการสปอยล์ โดย อ.ปวีร์อธิบายเพิ่มเติมจากที่คุณปรียาวรรณกล่าวมา ในบริบทที่พิจารณาว่าการสปอยล์ภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่นั้น ในจุดเริ่มต้นจึงต้องพิจารณาลักษณะของการสปอยล์ เช่น เป็นการสปอยล์แค่เล่าตอนจบภาพยนตร์คืออะไร หรือนำวิดีโอของภาพยนตร์บางส่วนมาประกอบการสปอยล์ด้วย (ทำให้ภาพยนตร์ที่สปอยล์สั้นลงกว่าภาพยนตร์ต้นฉบับ) ดังนั้น การสปอยล์ภาพยนตร์ในแต่ละรูปแบบจึงอาจจะมีผลทางกฎหมายลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกัน บางกรณีอาจจะไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ บางกรณีอาจจะละเมิดลิขสิทธิ์ หรือบางกรณีอาจจะละเมิดลิขสิทธิ์แต่เข้าข้อยกเว้นก็ได้ จึงอาจจะต้องพิจารณาแต่ละกรณี ดังนั้น จึงต้องหาจุดตั้งต้นว่า การสปอยล์ภาพยนตร์ที่กำลังพูดถึงในวันนี้มีลักษณะแบบใด
ในประการแรกที่จะต้องพิจารณาคือ การกระทำนั้นได้กระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ ซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์เป็นงานที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีการแสดงออกมาเป็นรูปร่างปรากฏตามลักษณะที่ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 (พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์) ให้ความคุ้มครองไว้ เช่น งานวรรณกรรม นาฏกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ เป็นต้น เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับการสปอยล์แล้วจะเห็นได้ว่าเป็นการกระทำต่อภาพยนตร์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์
นอกจากประเด็นหัวข้อในวันนี้แล้ว อ.ปวีร์ได้กล่าวสั้นๆให้เห็นถึงประเด็นเรื่องใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ที่มีผู้เกี่ยวข้องในการสร้างสรรค์หลายฝ่าย เช่น ผู้กำกับภาพยนตร์ คนเขียนบท ช่างภาพ นักแสดง ผู้อำนวยการสร้าง ผู้บันทึกภาพนิ่ง ผู้ตัดต่อลำดับภาพ เป็นต้น
ในประการต่อมา ให้พิจารณา พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ มาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 15 ประกอบกันว่า การสปอยล์ภาพยนตร์เป็นการทำซ้ำหรือไม่ ดัดแปลงหรือไม่ เผยแพร่ต่อสาธารณชนหรือไม่ ดังนั้น หากการสปอยล์ภาพยนตร์มีลักษณะเป็นวิดีโอสรุปเนื้อหาของภาพยนตร์ก็อาจจะเข้าลักษณะของการกระทำที่เป็นอันละเมิดต่อสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์
หากเป็นกรณีที่นำภาพยนตร์มาตัดและนำแต่ฉากสำคัญมารวมไว้เป็นลักษณะคลิปสปอยล์ภาพยนตร์ จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง (ละเมิดลิขสิทธิ์ชั้นต้น Primary Infringement)
อย่างไรก็ดี ก็ต้องมีข้อพิจารณาเพิ่มเติมด้วย โดย อ.ปวีร์ ได้ศึกษาลักษณะการสปอยล์ภาพยนตร์ในแพลตฟอร์ม YouTube ประกอบกับคำพิพากษาของประเทศญี่ปุ่นประกอบกัน จึงเห็นว่า โดยปกติแล้ว การสปอยล์ภาพยนตร์จะมีลักษณะเป็นการตัดต่อเอาฉากต่างๆภาพยนตร์มารวมกัน มีความยาวประมาณ 10-20 นาที โดยมีรายละเอียดที่มากกว่าตัวอย่าง (trailer) ภาพยนตร์ทั่วไป และเป็นการสรุปเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์นั้น ดังนั้น การเสวนาในวันนี้ คำว่า “การสปอยล์ภาพยนตร์” ของตนจึงมีลักษณะที่วางอยู่บนข้อสันนิษฐานหรือคำจำกัดความนี้ ไม่ใช่ลักษณะการสปอยล์ภาพยนตร์ว่าตอนจบของเรื่องเป็นอย่างไรแค่นั้น แต่เป็นลักษณะของการตัดต่อวิดีโอของภาพยนตร์สั้นๆและเพิ่มรายละเอียดเข้ามา
ข้อพิจารณาต่อมาคือ การที่นำภาพยนตร์มาดัดแปลง พากย์เสียงเอง สรุปเนื้อหาเข้าไป จะเป็นงานสร้างสรรค์ต่อเนื่องหรือไม่ หากเป็นงานสร้างสรรค์ต่อเนื่อง ในกฎหมายไทยหรือกฎหมายบางประเทศก็ให้ผู้ดัดแปลงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานต่อเนื่องนั้นได้ แต่ถ้าหากไม่ใช่งานสร้างสรรค์ต่อเนื่อง จะเข้าข้อยกเว้นที่เป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (fair use) หรือไม่
กล่าวต่อมาในประเด็นงานสร้างสรรค์ต่อเนื่องว่า กฎหมายแต่ละประเทศอาจจะกำหนดไว้ไม่เหมือนกัน โดยการคุ้มครองงานสร้างสรรค์ต่อเนื่องเป็นไปเพราะต้องการหาจุดสมดุลของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากับการต่อยอดสร้างสรรค์ในงานต่างๆด้วย โดยในการหาจุดสมดุลนี้จะมีหลักเกณฑ์ใดบ้าง อ.ปวีร์ก็อธิบายถึงอนุสัญญากรุงเบิร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม (Berne Convention for the Protection of Literary and Artistic Works) ก็มี Article 2, paragraph (3) เกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ต่อเนื่อง (Derivative Works) ที่อาจจะเป็นการแปล (tranlations) การดัดแปลง (adaptations) การเรียบเรียงหรือปรับปรุง (arrangments) ก็ได้
งานสร้างสรรค์ต่อเนื่อง จะมีข้อพิจารณาอยู่ 2 ประการ ประการแรกคือ การนำงานมาดัดแปลงนั้นได้รับอนุญาตหรือไม่ หรือประการที่สอง เป็นการกระทำโดยพลการและไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งข้อแตกต่างสองประการนี้ อาจจะทำให้ผลทางกฎหมายแตกต่างกัน เมื่อพิจารณาตามกฎหมายบางประเทศ เช่น กฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกา (Copyright Law of the United States (Title 17) article 103) ที่มีรายละเอียดแตกต่างกับกฎหมายไทย ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ มาตรา 11 ที่กำหนดให้งานที่มีลักษณะเป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองเมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์
เมื่อพิจารณาการสปอยล์ภาพยนตร์ที่มีลักษณะการตัดต่อ ดัดแปลง จะเป็นงานดัดแปลงตามมาตรา 11 หรือไม่ อ.ปวีร์เห็นว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้สปอยล์จะดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ ก็ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองในงานที่ได้ดัดแปลงนั้น
เมื่อไม่ใช่งานดัดแปลงที่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 11 แล้ว จะเป็นกรณีของการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมหรือไม่ (fair use) เมื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ นั้นจะคำนึงถึงวัตถุประสงค์และการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ ลักษณะของงานอันมีลิขสิทธิ์ ปริมาณและเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญที่ถูกนำมาใช้เมื่อเทียบกับเนื้อหาทั้งหมด ผลกระทบต่อตลาดหรือมูลค่าของงานอันมีลิขสิทธิ์ โดย อ.ปวีร์ ยกตัวอย่างว่า มีบุคคลหนึ่งทำคลิปสปอยล์ภาพยนตร์ โดยนำเนื้อหาของต้นฉบับมา 75% อาจจะตอบได้ไม่ยากว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่เข้าข้อยกเว้นการใช้งานที่เป็นธรรม
ในคู่มือการใช้ลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมของกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีการยกตัวอย่างไว้เกี่ยวกับการรายงานข่าวภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการฆาตกรรมและสืบสวนสอบสวน ได้มีการเปิดเผยว่าคนร้ายคือใคร ซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว การรายงานข่าวนี้แม้ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ถือว่ากระทบกระเทือนต่อสิทธิเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร เพราะอาจจะทำให้คนที่ทราบเรื่องแล้วไม่ต้องการไปรับชมภาพยนตร์เรื่องนั้นอีก การกระทำดังกล่าวนี้ (การรายงานข่าว) จึงไม่เข้าลักษณะของการใช้ลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม ซึ่งคู่มือนี้เป็นการอธิบายเพิ่มเติมจากตัวบทบัญญัติ
อ.ปวีร์ กล่าวว่า จะเห็นคลิปวิดีโอในลักษณะนี้เป็นจำนวนมากในแพลตฟอร์มออนไลน์ ก็จะมีคำถามว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้มีนโยบายเกี่ยวกับวิดีโอสปอยล์ภาพยนตร์อย่างไรบ้าง โดยหลักแล้วแพลตฟอร์มมีนโยบายหลักที่เกี่ยวกับงานอันละเมิดลิขสิทธิ์อยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น YouTube ที่กำหนดให้ผู้อัปโหลดเนื้อหาต้องอัปโหลดงานที่ตนมีสิทธิโดยชอบธรรมในการใช้งานนั้น
ในประเทศญี่ปุ่น มีคดีที่เป็นการตัดต่อวิดีโอคลิปจากงานภาพยนตร์ต้นฉบับ ในลักษณะที่เรียกว่า “fast movie” หรือเป็นการสรุป (เนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับการสปอยล์ภาพยนตร์ที่พูดคุยกันในวันนี้ ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นไม่ได้มีบทบัญญัติทั่วไป (general provision) ที่ระบุเกี่ยวกับการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (Fair use) ซึ่งได้มีความพยายามในการแก้ไขกฎหมาย แต่ก็ถูกเลื่อนการพิจารณาออกไปในปี 2018 อย่างไรก็ดี แม้ญี่ปุ่นจะไม่มีบทบัญญัตินี้ แต่ก็มีการบัญญัติไว้เฉพาะเจาะจงในงานอันลิขสิทธิ์บางลักษณะ (แต่ก็ไม่ได้แตกต่างจากกฎหมายไทยมาก)
หากคดีของญี่ปุ่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยก็เป็นกรณีละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ เพียงแต่ว่าอาจจะต้องมาพิจารณาเป็นกรณีไปว่า ในแต่ละกรณีที่มีการสปอยล์ภาพยนตร์ ผลอาจจะแตกต่างกันได้ ดังนั้น จึงไม่สามารถกล่าวได้ว่า การสปอยล์ภาพยนตร์ในประเทศไทยทุกกรณีจะมีผลเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ไปทั้งหมด หรือไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ไปทั้งหมด
คุณศิริลักษณ์ รุ่งเรืองกุลดิษฐ์ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กรมทรัพย์สินทางปัญญา
กล่าวในประเด็นของการรีวิวหรือวิเคราะห์ภาพยนตร์ว่า ละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่นั้นว่า ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ มาตรา 6 และมาตรา 15 กำหนดให้เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์มีสิทธิเพียงผู้เดียวในการทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน รวทั้งอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิดังกล่าว ดังนั้น หากบุคคลอื่นตัดต่อคลิปภาพยนตร์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจจะเข้าข่ายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และก็มีข้อยกเว้นไว้ตามมาตรา 32 ที่ใช้งานลิขสิทธิ์บางลักษณะสามารถกระทำได้โดยไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงาน โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น เป็นต้น แต่ว่าข้อยกเว้นนี้ก็ต้องอยู่ภายใต้หลักการ 2 ประการ คือ ต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานนั้นตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร ฉะนั้น การรีวิวหรือวิจารณ์ภาพยนตร์โดยมีการรับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อาจจะเข้าข่ายได้รับการยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ซึ่งต้องเป็นไปตาม 2 เงื่อนไขที่ได้กล่าวไปข้างต้น เช่น หากนำบางส่วนของภาพยนตร์เพียงเล็กน้อยและไม่ใช่สาระสำคัญของเรื่องมาประกอบการรีวิวและอ้างอิงถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ก็อาจจะเข้าข่ายไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ในทางกลับกัน หากนำส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเรื่องนั้นหรือเล่าเรื่องราวทั้งหมดของเรื่อง ก็อาจจะเข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์
ในการพิจารณาว่า การกระทำใดขัดต่อการแสวงหาประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือว่ากระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร จะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีๆไป โดยอาศัยข้อเท็จจริง ปัจจัยต่างๆมาประกอบการพิจารณา โดยเฉพาะเรื่องปริมาณของการนำงานไปใช้ หากผู้กระทำเห็นว่าตนนำงานผู้อื่นมาใช้ในลักษณะที่มาก ก็ควรขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น
คุณศิริลักษณ์ รุ่งเรืองกุลดิษฐ์
ในประเด็นการดำเนินการเมื่อเกิดการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการสปอยล์ คุณศิริลักษณ์กล่าวว่า คดีละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความผิดอันยอมความได้ ต้องมีเจ้าของลิขสิทธิ์ที่เป็นผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่สามารถดำเนินคดีแทนได้ ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด โดยมีหลักฐานประกอบคำร้องทุกข์ เช่น หลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ (จะมีได้เมื่อมาแจ้งความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา) หลักฐานการได้มาซึ่งงานลิขสิทธิ์ หลักฐานการมอบอำนาจ โดยในการจับกุมคดีละเมิดลิขสิทธิ์จะเหมือนคดีอาญาทั่วไป เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์แล้วต้องร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจค้น จับกุมและนำชี้ว่าสินค้าใดละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะในบางครั้งเจ้าหน้าที่ไม่เชี่ยวชาญในการพิจารณาว่ามีสินค้าใดมีการละเมิดลิขสิทธิ์ และเมื่อเป็นความผิดอันยอมความได้ เจ้าของลิขสิทธิ์และผู้ละเมิดสามารถตกลงประนีประนอมยอมความกันได้เลย โดยคุณศิริลักษณ์แนะนำว่าในการยอมความกันให้ทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจและลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเพราะว่าการยอมความ ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องจะทำให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไป
แม้ว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่สามารถดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยตัวเองได้ แต่กรมฯก็ได้สนับสนุนการสร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ สร้างความตระหนักรู้และสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องในการใช้งานลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โดยหากผู้ใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ก็สามารถสอบถามได้ผ่านกล่องข้อความ (in box) ของเพจกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เลย
คุณปรียาวรรณ ภูวกุล
กล่าวในประเด็นการดำเนินการเมื่อเกิดการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการสปอยล์ว่า นโยบายในการดำเนินคดีลิขสิทธิ์ของบริษัทจีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด (บริษัทฯ) จะพิจารณาในส่วนของวัตถุประสงค์ของงานดัดแปลงนั้นๆตามที่วิทยากรอีกสองท่านได้กล่าวไป คือ พิจารณาว่ามีผลกระทบต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานนั้นตามปกติของบริษัทฯ หรือกระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของบริษัทฯเกินสมควร เช่น งานดัดแปลงนั้นมีวัตถุประสงค์ทางการค้า มุ่งทำลายจุดประสงค์ของภาพยนตร์ เปิดเผยหรือเฉลยสาระสำคัญในเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ เป็นต้น ในขั้นตอนแรกจะเป็นการเจรจากับผู้กระทำ เช่น ขอความร่วมมือให้ลบเนื้อหาออกไป แต่หากขั้นตอนแรกไม่ได้ผลก็จะให้ฝ่ายกฎหมายส่งหนังสือแจ้งเตือน (notice) และฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แล้วก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี เมื่อเจรจาไป อีกฝ่ายก็ดำเนินการให้ตามที่บริษัทฯแจ้ง
อาจารย์ปวีร์ เจนวีระนนท์
ในประเด็นเกี่ยวกับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการสปอยล์ อ.ปวีร์ กล่าวในภาพรวมว่า ในปัจจุบัน อาจจะมีลักษณะของการละเมิดลิขสิทธิ์และการละเมิดลิขสิทธิ์ในรูปแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และมีการละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านทางออนไลน์มากขึ้น แต่จะกล่าวว่าจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายโดยตรงหรือไม่นั้น อาจจะตอบยากสักหน่อย เพราะบางกรณีก็สามารถปรับใช้กฎหมายที่มีอยู่ได้ แต่ตนเห็นว่าหากมองภาพในอนาคต อาจจะต้องมีคำแนะนำหรือแนวปฏิบัติ (guideline) ที่เข้ามาเพิ่มเติมจากในส่วนของกฎหมายที่มีอยู่บางมาตราให้เป็นไปในแนวทางที่ไม่แตกต่างกันมากเกินไป เช่น หากพิจารณากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องอื่นที่ไม่ใช่ลิขสิทธิ์ ข้อยกเว้นของงานที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายสิทธิบัตรในส่วนของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่อาจจะต้องดูต่อไปว่าจะต้องมีแนวปฏิบัติมากำกับคู่ไปกับตัวกฎหมายหรือไม่ ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่บัญญัติไว้ในลักษณะนี้คืออะไร ตนจึงเห็นว่า นอกจากที่เสนอแนะมาแล้ว รูปแบบในการตรวจสอบ (monitor) อาจจะเปลี่ยนแปลงไป มีการทำงานร่วมกันมากขึ้นของทุกภาคส่วน ที่ทำให้การคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาลดจำนวนลง
คุณศิริลักษณ์ รุ่งเรืองกุลดิษฐ์
กล่าวในประเด็นเกี่ยวกับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการสปอยล์ว่า ในปัจจุบัน กรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ในระหว่างการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาฉบับใหม่ จะมีเรื่องของมาตรการแจ้งเตือนและเอาออก (Notice and Takedown) ที่เข้ามาช่วยลดการละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ และการกำหนดบทลงโทษผู้ผลิต ขายเครื่องมืออุปกรณ์เกี่ยวกับการแฮกข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งร่างฉบับนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ทางอินเทอร์เน็ตและป้องกันการค้าอุปกรณ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับการแฮก ซึ่งกรมฯก็หวังว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะช่วยลดการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์
คุณปรียาวรรณ ภูวกุล
ในประเด็นเกี่ยวกับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการสปอยล์ คุณปรียาวรรณเห็นด้วยกับคุณศิริลักษณ์ ในมาตรการแจ้งเตือนและเอาออก (Notice and Takedown) ว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นเรื่องที่เรากำลังรอคอยกันอยู่
นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติ มีกรณีที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลธรรมดาที่เมื่อเจ้าของแจ้งไปแล้วผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ได้สนใจ แตกต่างกับกรณีของกรณีนิติบุคคลเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะเกรงกลัวมากกว่า ซึ่งการดำเนินการของบุคคลธรรมดาจะยุ่งยากกว่า ตนจึงคิดว่าหากเป็นกรณีที่สามารถให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาช่วยดำเนินการแจ้งเตือนให้ น่าจะเป็นผลดีของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่เป็นบุคคลธรรมดาอย่างมาก ก่อนที่จะไปถึงกระบวนการไกล่เกลี่ยและฟ้องร้องคดี (ในข้อเสนอนี้ คุณศิริลักษณ์ รุ่งเรืองกุลดิษฐ์ แนะนำให้บุคคลธรรมดามาใช้บริการระบบการไกล่เกลี่ยออนไลน์ของกรมฯที่มีความง่าย สะดวก และไม่มีค่าใช้จ่าย หากบุคคลธรรมดาเจ้าของลิขสิทธิ์มาใช้บริการ ระบบไกล่เกลี่ยนี้ก็จะติดต่อคู่กรณีอีกฝ่ายเพื่อเข้าร่วมกระบวนการได้เลย แต่หากไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ ก็สามารถไปที่ศาลได้)
ช่วงตอบคำถาม
คำถาม (1) : ในกรณีการทำคลิปวิจารณ์หรือรีวิวภาพยนตร์ มีข้อแนะนำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์
คุณศิริลักษณ์ รุ่งเรืองกุลดิษฐ์ : การขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์คือทางออกที่ดีที่สุด แต่หากจะให้แนะนำเพิ่มเติม ตนก็ยกตัวอย่างกรณีของยูทูปเบอร์ (YouTuber) โดยมีคำแนะนำง่ายๆ 3 ข้อ คือ 1. ตามนโยบายของ YouTube กำหนดให้ผู้อัปโหลดสามารถนำภาพ เสียง วิดีโอมาใช้ได้ไม่เกิน 10-15 วินาที ซึ่งอาจจะทำให้ผู้อัปโหลดเข้าใจผิดว่าการทำตามที่กำหนดนี้ก็ไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว ซึ่งจะพิจารณาแค่จากปัจจัยเรื่องระยะเวลาอย่างเดียวไม่ได้ เพราะในส่วนของ 10-15 วินาทีอาจจะเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญก็ได้ 2. การเข้าใจผิดว่าสปอยล์ภาพยนตร์ของผู้อื่นมาในส่วนสาระสำคัญและใส่การอ้างอิง (credit) ถึงเจ้าของลิขสิทธิ์แล้วจะไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือมีการระบุไว้ว่าขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย (ไม่ได้ไปขออนุญาต แต่เขียนไว้เผื่อถ้าเจ้าของลิขสิทธิ์มาเห็น) การเข้าใจเช่นนี้จะมีความเสี่ยงในการละเมิดลิขสิทธิ์ 3. หากไม่อยากให้ช่องของตนเองถูกแบนเพราะละเมิดลิขสิทธิ์ ตนแนะนำให้ขออนุญาตไปยังเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นลายลักษณ์อักษรจะดีที่สุด และรอให้เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ใช้จะดีที่สุด สิ่งสำคัญคือให้มีการตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างสองฝ่าย
คุณปรียาวรรณ ภูวกุล: เห็นด้วยกับคำตอบของคุณศิริลักษณ์ คือ การขออนุญาต หากต้องการจะใช้ภาพ เสียงหรือวิดีโอที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ และผู้ที่เป็นยูทูปเบอร์หากจะกล่าวถึงภาพยนตร์ก็ไม่ควรกล่าวถึงในลักษณะของการสปอยล์ภาพยนตร์ อย่างน้อยก็เป็นการให้เกียรติผู้เข้าชม โดยมีนักศึกษาหลายคนที่ขออนุญาตบริษัทฯในกรณีที่เขาทำภาพยนตร์เลียนแบบหรือใช้บางฉากของภาพยนตร์ในงานของเขา ทางบริษัทฯก็อนุญาตให้ ซึ่งงานที่นักศึกษาทำออกมาก็มีผลตอบรับที่ดีและน่าติดตาม ซึ่งบริษัทก็ได้รับประโยชน์ในแง่ของการส่งเสริมภาพยนตร์และผู้ขออนุญาตก็ได้รับประโยชน์ในแง่ของผลตอบรับในงานของเขา
คำถาม (2) : ในปัจจุบัน กรมทรัพย์สินทางปัญญามีมาตรการในการคุ้มครองผู้เสียหายอย่างไรบ้าง เช่น กรณีเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ส่วนผู้ละเมิดลิขสิทธิ์เป็นประชาชนธรรมดา
คุณศิริลักษณ์ รุ่งเรืองกุลดิษฐ์ : หากเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ หากไม่ต้องการไปศาล ก็สามารถมาใช้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ของกรมฯได้ โดยเมื่อมีผู้ขอใช้บริการ กลุ่มระงับข้อพิพาทของกรมฯจะพิจารณาข้อเท็จจริงและประสานกับผู้ยื่นคำขอเพื่อชี้แนะเบื้องต้นว่ามีลักษณะเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ และติดต่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อนัดหมาย โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 45 วัน แต่บางกรณีก็ใช้เวลาเพียง 2 วัน ก็สามารถไกล่เกลี่ยได้เรียบร้อย
คำถาม (3) :การสปอยล์ภาพยนตร์ต่างประเทศ ใครจะเป็นผู้เสียหาย และสามารถดำเนินคดีอย่างไรได้บ้าง
อาจารย์ปวีร์ เจนวีระนนท์: เข้าใจว่ามีตัวแทนของเจ้าของภาพยนตร์ดังกล่าวที่ดูแลเรื่องลิขสิทธิ์นี้ในประเทศไทยอยู่แล้ว ในการจัดทำเนื้อหาที่เกี่ยวกับภาพยนตร์นี้จึงต้องหาช่องทางในการติดต่อกับตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อขออนุญาตให้ถูกต้อง
คุณศิริลักษณ์ รุ่งเรืองกุลดิษฐ์: ในการดำเนินคดีนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถดำเนินคดีได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนลิขสิทธิ์แต่อย่างใด
คำถาม (4) :การสปอยล์ภาพยนตร์ที่ผิดกฎหมาย หรือมีเนื้อหาผิดกฎหมาย เช่น (snuff film ที่มีลักษณะเป็นการบันทึกภาพการทรมาน ใช้ความรุนแรง ฆาตกรรม เล่นจริง เจ็บจริงหรือตายจริง) จะละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่
อาจารย์ปวีร์ เจนวีระนนท์: ต้องพิจารณาหลักการของกฎหมายลิขสิทธิ์ว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ กล่าวคือ เป็นงานสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง ในประเด็นของงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจะกำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้ว เช่น ข่าวสาร กฎหมาย เป็นต้น และหากงานที่สร้างสรรค์นั้นมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย อาจจะต้องพิจารณาแยกว่าว่างานนั้นได้สร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ และหากเป็นงานในลักษณะภาพยนตร์ก็อาจจะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครอง
คำถาม (5) : การสปอยล์ภาพยนตร์ผ่านทางแชทที่เผยแพร่แบบสาธารณะ เช่น Instagram story จะละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ และผู้ประกอบการสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง
คุณศิริลักษณ์ รุ่งเรืองกุลดิษฐ์: การกระทำดังกล่าวเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชน ต่อมาจึงต้องพิจารณาเรื่องของข้อยกเว้นว่าเป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งมีหลักการ 4 ประการ คือ 1. วัตถุประสงค์และการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น ทำเพื่อการค้าและหากำไรหรือไม่ 2. ลักษณะของงานอันมีลิขสิทธิ์ที่อาจจพิจารณาจากความคิดสร้างสรรค์ของงาน หากเป็นงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาก เช่น ภาพยนตร์ โอกาสที่จะไม่เข้าข้อยกเว้นการใช้งานที่เป็นธรรมจะสูง 3. ปริมาณและเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญที่ถูกนำมาใช้เมื่อเทียบกับเนื้อหาทั้งหมด แต่หากเป็นปริมาณที่น้อยแต่ส่วนนั้นเป็นสาระสำคัญของงานก็ไม่เข้าข้อยกเว้นการใช้งานที่เป็นธรรม 4. ผลกระทบต่อตลาดหรือมูลค่าของงานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งหลักการเหล่านี้ เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น ศาลจะเป็นผู้ชี้ขาดโดยพิจารณาพยานหลักฐานต่างๆประกอบ ดังนั้น หากนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาใช้จะมีโอกาสละเมิดลิขสิทธิ์ได้ อย่างที่ได้แนะนำไปเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น จึงต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสร้างสรรค์งานขึ้นมาเองทั้งหมด
คำถาม (6) : การสปอยล์ภาพยนตร์ใน Facebook โดยนำฉากตอนจบและประโยคไม่กี่ประโยคมาประกอบ จะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการมากน้อยเพียงใด
คุณปรียาวรรณ ภูวกุล: นอกจากมีผลกระทบต่อตัวผู้ชมที่จะขาดอรรถรสในการรับชมแล้ว ก็มีผลกระทบต่อบริษัทผู้ประกอบการในแง่ของจำนวนผู้ชม เพราะว่าเมื่อรู้ตอนจบแล้วอาจจะไม่เข้าไปรับชมภาพยนตร์อีก ทำให้รายได้ลดน้อยลง และบริษัทฯก็จะแจ้งเตือนไปยังผู้กระทำตามนโยบายของบริษัท
คำถาม (7) : การอัดหน้าจอภาพยนตร์ในแอปต่างๆแล้วนำไปใส่คำบรรยายภาพ (caption) ต่างๆ หรือเผยแพร่ต่อในโลกออนไลน์ เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่
อาจารย์ปวีร์ เจนวีระนนท์: การกระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ในแง่ของการทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น โดยหลักแล้วจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ข้อยุ่งยากที่จะต้องพิจารณาคือ จะเข้าข้อยกเว้นของการใช้งานที่เป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามที่คุณศิริลักษณ์ได้กล่าวไปประกอบข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆไป
คำถาม (8) : ในทางกฎหมาย จะพิสูจน์อย่างไรได้ว่า คลิปที่ทำออกมาไม่ได้ขัดต่อแสวงหาผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น ในบริบทของประเทศไทย แม้ไม่มีคลิปดังกล่าว ประชาชนก็ไม่ได้ไปรับชมภาพยนตร์ดังกล่าวอยู่แล้ว
อาจารย์ปวีร์ เจนวีระนนท์: เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ตามที่คุณศิริลักษณ์ได้กล่าวไป หากนำไปลงในช่องของตัวเองเพื่อต้องการยอดวิวผู้รับชม ฝ่ายผู้ที่ทำคลิปอาจจะต่อสู้ได้ยากว่าไม่ได้ทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ อาจจะต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกัน แต่หากเป็นกรณีที่พูดกันวันนี้ ที่สปอยล์ภาพยนตร์โดยตัดต่อภาพยนตร์มาทำเป็นคลิปประมาณ 10-20 นาที แล้วนำไปอัปโหลดในช่องของตัวเอง ก็สะท้อนให้เห็นถึงพฤติการณ์ว่าเป็นการแสวงหาผลประโยชน์
คำถาม (9) : ปัจจุบัน กรมทรัพย์สินทางปัญญามีโครงการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการอบรมพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์อย่างไร
คุณศิริลักษณ์ รุ่งเรืองกุลดิษฐ์: กรมฯทำงานร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดเวลา แต่จะมีอีกกองหนึ่งที่ชื่อ กองป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ที่ทำหน้าที่ประสานงานร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดจนจัดอบรมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ
คำถาม (10) : นโยบายของแพลตฟอร์มต่างๆทางออนไลน์มีความแตกต่างหรือไม่สอดคล้องกับกฎหมายลิขสิทธิ์ไทยหรือไม่ อย่างไร
อาจารย์ปวีร์ เจนวีระนนท์: หากจะกล่าวว่าไม่สอดคล้องอาจจะไม่ถูกต้อง กล่าวคือ โดยหลักผู้ให้บริการเจ้าของแพลตฟอร์มในโลกออนไลน์จะมีนโยบายที่ป้องกันไม่ให้ผู้ใช้บริการอัปโหลดเนื้อหาอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้อยู่แล้ว แต่อาจจะต้องพิจารณาต่อเนื่องในแง่ของการนำเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ออกไปจากแพลตฟอร์ม มีกระบวนการแจ้งอย่างไร ซึ่งต้องมีการร่วมมือกันในหลายๆส่วน
คำถาม (11) : ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ศึกษาว่าการสปอยล์ภาพยนตร์ทำให้ประชาชนไม่ไปเข้าชมภาพยนตร์แล้วหรือยัง
คุณปรียาวรรณ ภูวกุล: ในแง่ของงานวิจัย เรายังไม่มีข้อมูลตรงนี้ แต่พิจารณาจากความคิดเห็นที่ปรากฏในโลกออนไลน์ โดยจะมีทีมงานที่ติดตามแต่ละประเด็นและจะพบความเห็นในทำนองว่า “รู้เรื่องแล้ว ไม่ไปดูละ”
คุณศิริลักษณ์ รุ่งเรืองกุลดิษฐ์: ตนยังไม่เห็นผลวิจัยในเรื่องนี้ แต่ในประเทศญี่ปุ่น มีการสำรวจกลุ่มการค้าภาพยนตร์และอนิเมะในประเทศญี่ปุ่น พบว่าในปีที่ผ่านมา มีคลิปสั้นที่นำฉากสำคัญของภาพยนตร์มาประกอบการสรุปเนื้อเรื่องจำนวน 2,100 คลิปจากผู้อัปโหลด 55 บัญชี ยอดผู้เข้าชมประมาณ 477 ล้านวิว สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 2,700 ล้านบาท จึงดำเนินคดีกับผู้กระทำแบบนี้เช่นเดียวกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ลักษณะอื่นอย่างจริงจัง
อาจารย์ปวีร์ เจนวีระนนท์: อ.ปวีร์ไม่แน่ใจว่ามีการเก็บข้อมูลในลักษณะของงานวิจัยที่เก็บสถิติตัวเลขแล้วหรือไม่ และหากมีการรวบรวมก็ไม่แน่ใจว่าจะรวบรวมในรูปแบบใด จะเก็บจากยอดคนอ่านสปอยล์หรือยอดจำนวนผู้เข้าชม อาจจะเก็บข้อมูลได้ค่อนข้างยาก แต่ว่าหากมีการเก็บข้อมูลจากผู้ประกอบการหรือประชาชนทั่วไป ตนเชื่อว่าการสปอยล์ภาพยนตร์น่าจะมีผลกระทบต่อความต้องการรับชมภาพยนตร์แบบเต็มเรื่อง เพราะอย่างน้อยก็ไม่น่าจะมีใครที่อยากรู้เรื่องที่เป็นส่วนสาระสำคัญของเรื่องก่อนที่จะเขาจะได้รับชมด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางเรื่อง ตอนจบอาจจะเป็นส่วนสำคัญที่สุดของเรื่อง หรือบางฉากเป็นจุดพลิกผันหรือสำคัญของเรื่อง เช่น “ใครฆ่าประเสริฐ” เป็นประเด็นที่ใครๆก็อยากรู้ ก็ไม่มีใครที่อยากรู้ว่าฆาตกรคือใครก่อนที่จะได้รับชมด้วยตนเอง
คำถาม (12) : การสปอยล์ภาพยนตร์โดยใช้แค่ตัวอักษร (ไม่มีภาพและไม่มีวิดีโอของภาพยนตร์) จะเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ และมีผลกระทบต่อผู้ประการอย่างไร
คุณปรียาวรรณ ภูวกุล: ต้องพิจารณาเนื้อหาที่เล่าเป็นตัวอักษรและการสอปยล์นั้นมีผลกระทบต่อภาพยนตร์หรือไม่ เช่น อาจจะเป็นการเขียนประเดียว แต่ประโยคนั้นเป็นประเด็นสำคัญของเรื่องอย่างตัวอย่างที่อาจารย์ปวีร์ยกมาว่าใครฆ่าประเสริฐ หากใช้แค่ตัวอักษรว่า “คนนี้ฆ่าประเสริฐ” ก็มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างแน่นอน และส่งผลต่อผู้ชมคนอื่นๆด้วย ทำให้อรรถรสระหว่างการรับชมก่อนไปถึงตอนจบหายไป โดยตนเคยมีประสบการณ์เพื่อนของตนที่เกือบจะชกต่อยกันเพราะคนที่หนึ่งไปดูภาพยนตร์เรื่อง The Sixth Sense มาและเล่าประเด็นสำคัญให้เพื่อนที่ทำงานฟัง เมื่อคนอื่นๆไปดูในวันต่อมาก็รู้สึกโกรธคนที่มาสปอยล์มาก เพราะอรรถรสของการดูภาพยนตร์เรื่องนี้หายไปเกือบ 80%
คุณศิริลักษณ์ รุ่งเรืองกุลดิษฐ์: ในความเห็นของตน หากเป็นการนำมาเรียบเรียงใหม่ (rewrite) จากความเข้าใจของผู้เขียนคนนั้นเอง อาจจะเป็นการสร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์ขึ้นมาใหม่ก็ได้ ซึ่งต้องพิจารณาเรื่องสำคัญสองประการที่ได้กล่าวไปแล้วคือ ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร กล่าวคือ กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้คุ้มครองความคิด (idea) หรือแนวความคิด (มาตรา 6) ดังนั้น หากมีพลอตเรื่องว่าพระเอกรวย นางเอกจน มาเจอกันแล้วรักกันและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้ให้ความคุ้มครอง แต่หากมีรายละเอียดของพระเอก สถานที่ต่างๆ มีบทสนทนาต่างๆเข้าไป ซึ่งไม่ใช่แค่แนวความคิดแล้ว กฎหมายลิขสิทธิ์ก็จะเข้ามาคุ้มครองให้
คำถาม (13) : การที่เพจเฟซบุ๊คต่างๆนำภาพยนตร์มาเผยแพร่โดยการไลฟ์ (Live) เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ และจะมีมาตรการป้องกันอย่างไร
คุณศิริลักษณ์ รุ่งเรืองกุลดิษฐ์: กรณีนี้เป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชน หากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก็เข้าข่ายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ในมาตรการป้องกันนั้น จะขออธิบายตัวอย่างในกรณีของแพลตฟอร์ม YouTube ที่มีมาตรการแจ้งเตือนและเอาออก (Notice and Takedown) หากงานที่อัปโหลดมีลักษณะละเมิดลิขสิทธิ์ก็จะถูกนำออกไปทันที ซึ่งมาตรการนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของแพลตฟอร์มออนไลน์และประเทศไทย ซึ่งในระบบนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยต่อไปก็คือจะทำให้ผู้ให้บริการบางประเภทต้องปรับตัวในการจัดให้มีช่องทางส่งการแจ้งเตือนและดำเนินการตามระบบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้รับการยกเว้นความรับผิดหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้น