มุมมองอาจารย์กับการจัดการความเครียด 101 : ปทิตตา ไชยปาน
บทสัมภาษณ์โดยศูนย์ดูแลสุขภาวะของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Law TU Health & Wellness)
คำถาม (1) : ประวัติส่วนตัว และแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมาย
“สวัสดีค่ะ สำหรับประวัติส่วนตัวของอาจารย์นั้นหลายท่านน่าจะเคยได้ทราบมาบ้างแล้วทั้งจากบทความสัมภาษณ์ของคณะนิติศาสตร์ เพจของอาจารย์ หรือรายการโทรทัศน์ที่เคยสัมภาษณ์อาจารย์นะคะ จริง ๆ แล้ว อาจารย์เป็นเด็กต่างจังหวัดที่ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนประจำ นั่นก็คือโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาตั้งแต่เด็กจนโต ตอนกลางวันจึงจะได้ออกไปเรียนร่วมกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนที่สอนนักเรียนทั่วไป ปิดเทอมถึงจะได้กลับบ้านสักครั้ง 12 ปีที่ใช้ชีวิตเช่นนี้เสมอมา พอถึงช่วงสอบเข้าปริญญาตรี มีเพื่อน ๆ ชวนกันมาสอบที่ธรรมศาสตร์มีหรือจะพลาดก็อยากมากับเขาด้วย เลยตัดสินใจมาค่ะ ตอนนั้นก็ไม่ทราบว่าจะเลือกคณะอะไรดี คิดว่าเลือกคณะที่มีชื่อเสียงก่อนแล้วกัน ซึ่งจะเป็นคณะใดไปไม่ได้ หากธรรมศาสตร์ก็ต้องนิติศาสตร์ใช่ไหมคะ เชื่อว่าบางคนน่าจะมีเหตุผลเดียวกับอาจารย์อยู่เหมือนกันจริงไหมคะ พอสอบได้ครอบครัวก็อยากให้เรียน อาจารย์จึงตัดสินใจเข้าเรียนคณะนี้ค่ะ ทั้งที่ในใจอาจารย์นั้นไม่เคยอยากเรียนกฎหมายเลย เพราะอยากเป็นครูและอยากเรียนครูมาตั้งแต่เด็กค่ะ แต่ตอนนั้นธรรมศาสตร์ยังไม่มีคณะศึกษาศาสตร์ อาจารย์จึงเลือกคณะนิติศาสตร์ และได้เข้ามาเรียนคณะนิติศาสตร์และสำเร็จการศึกษาในเวลา 3 ปีครึ่ง แต่ในใจก็ยังคงอยากเป็นครูอยู่เสมอ เมื่อเรียนอยู่ชั้นปี 2 จึงไปลงเรียนคณะศึกษาศาสตร์ที่รามคำแหงไว้ แต่สุดท้ายเมื่อความคิดเปลี่ยนไป อยากเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย จึงย้ายไปเรียนรัฐศาสตร์แทนค่ะ เมื่อสำเร็จการศึกษาจากคณะนิติแล้วก็ไปสอบเนติฯ โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 1 ปีค่ะ แต่ก็ยังรักคณะนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์อยู่นะคะ จึงได้เรียนต่อปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์เหมือนเดิมโดยใช้เวลาเรียน 2 ปีครึ่งค่ะ หลังจากนั้นก็ไปทำงานเป็นนิติกรอยู่ช่วงหนึ่งเมื่อธรรมศาสตร์เปิดรับอาจารย์จึงได้มาสอบ และเป็นอาจารย์มาจนถึงปัจจุบัน ตอนนี้ก็เป็นอาจารย์มา 6 ปี แล้วค่ะ”
“สำหรับแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมายของอาจารย์นั้น แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นอาจารย์คิดว่าตัวเองไม่ชอบกฎหมายและไม่อยากมาเรียนคณะนี้ แต่พอได้เข้ามาเรียน ประกอบกับเราเริ่มโตขึ้น เราเริ่มมีมุมมองใหม่ ๆ เริ่มเจอความไม่เป็นธรรมในสังคม เริ่มเข้าใจถึงสิทธิมนุษยชนและอาจารย์ก็แบกความคาดหวังของที่บ้านเอาไว้ ด้วยหลาย ๆ อย่าง ทำให้อาจารย์เริ่มคิดว่า หากเราทราบกฎหมายเราก็จะสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ และจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะผดุงความยุติธรรม และต้องการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมค่ะ เหล่านี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนกฎหมายของอาจารย์ค่ะ”
อ.ปทิตตา เมื่อสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำถาม (2) : ความสุขในการศึกษากฎหมาย ความมุ่งหมายในเส้นทางนิติศาสตร์ตั้งแต่ตอนเข้าศึกษาจนถึงปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง และค้นพบตัวเองว่าอยากเป็นอาจารย์เมื่อใด เหตุใดจึงตัดสินใจมาเป็นอาจารย์
“หากถามถึงความสุขในการเรียนกฎหมาย ยอมรับเลยนะคะว่าช่วงแรกที่เข้ามาเรียนไม่มีความสุขเลยค่ะ เพราะจะคิดเสมอว่าเราไม่ได้ชอบ เรียนตามใจที่บ้าน อะไรที่เราไม่ได้ชอบเราก็มักไม่อยากทำจริงไหมคะ ตอนแรกก็อยากไปสอบใหม่ตลอดค่ะ ยังอยากเป็นครูไม่เคยเปลี่ยนแปลง ด้วยในใจเราคิดเสมอว่าเราไม่อยากเรียน เหมือนกับเราพยายามที่จะปิดกั้นตัวเอง ทำให้ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากเรียน ไม่อยากอ่านหนังสือ ประกอบกับตัวอาจารย์มีปัญหาทางสายตา ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ จึงยิ่งไม่อยากเรียน เพราะคณะนิติต้องอ่านหนังสือค่อนข้างเยอะ แต่โชคดีที่อาจารย์มีเพื่อนที่ดี คอยช่วยเหลือ เป็นกำลังใจให้ตลอด และโชคดีที่ได้มีโอกาสเรียนที่นี่ เพราะนอกจากจะเป็นคณะที่มีชื่อเสียงแล้ว อาจารย์ก็ยังสอนสนุก เข้าใจง่าย เพราะบางวิชาแค่เข้าเรียนก็แทบไม่ต้องอ่านหนังสือแล้ว เนื่องจากเราเข้าใจในห้องเรียนอย่างทะลุปรุโปร่ง มีบ้างก็แค่ทบทวน และดูตัวบทประกอบ เพื่อนก็ช่วยกันติว ช่วยกันเรียน เมื่อเพื่อนดี อาจารย์สอนเข้าใจ สิ่งแวดล้อมดี อาจารย์ก็เริ่มเปิดใจ ประกอบกับเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม อาจารย์ก็คิดว่าการเรียนกฎหมายก็มีข้อดีมากมาย จึงเริ่มเปิดใจและหันมาสนใจกฎหมายมากขึ้น เมื่อเราเปิดใจ อาจารย์ก็พบว่าเราเรียนด้วยความสนุกมากขึ้น ชีวิตเรามีความสุขขึ้น เราพยายามที่จะทำทุกอย่างให้เต็มที่ เช่น อาจารย์อ่านหนังสือไม่ได้ ก็พยายามเข้าเรียน พยายามพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อน สิ่งเหล่านี้ช่วยให้อาจารย์ได้พัฒนาตัวเอง สามารถคิดวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น”
“สำหรับความมุ่งหมายในการเรียนกฎหมายนั้น แน่นอนว่าตอนแรก เรียนเพราะที่บ้านอยากให้เรียน ตัวเองไม่เคยคาดหวังว่าจบไปแล้วจะไปทำอะไร จิตใจไม่ได้ฝักใฝ่ด้านนี้เลย อย่างที่บอกไปว่าความฝันอยากเป็นครูมาตลอดชีวิต แต่พี่สาวอยากให้เป็นอาจารย์ด้านกฎหมายมากกว่าและเมื่อได้เข้ามาเรียนก็มีโอกาสได้เรียนกับท่านอาจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มีปัญหาทางสายตาเช่นกัน และเห็นท่านพยายามผลักดันกฎหมายและสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม อาจารย์คิดว่าการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็น่าสนใจ เพราะนอกจากจะได้สอนหนังสือแล้ว เรายังได้ช่วยเหลือสังคมอีกด้วย จึงเริ่มเปลี่ยนใจจากการเป็นครูมาเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยค่ะ อาจารย์เริ่มค้นพบว่าตัวเองอยากเป็นอาจารย์มาตั้งแต่เรียน ป. ตรี ช่วงประมาณปี 3 ค่ะ ส่วนสาเหตุที่อยากเป็นอาจารย์ก็อย่างที่กล่าวมาแล้วค่ะ”
คำถาม (3) : กิจกรรมและงานอดิเรกระหว่างศึกษา และเทคนิคการบริหารจัดการเวลาระหว่างการเรียนและการใช้ชีวิต
“สำหรับกิจกรรมและงานอดิเรกตอนเรียนนั้น อาจารย์จะเลือกทำกิจกรรมที่สนใจค่ะ เช่น ไปออกค่ายอาสา ร่วมทำงานในชุมนุมที่สนใจ ไปขึ้นสแตนเชียร์ฟุตบอลจุฬา – ธรรมศาสตร์ ไปออกกำลังกาย เมื่อมีเวลาว่างก็จะรับจ้างถอดเทป เพื่อหาเงินมาจุนเจือตัวเองอีกทางหนึ่ง จะได้ช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ค่ะ”
“สำหรับการบริหารจัดการเวลา อาจารย์ก็ไม่ได้มีเทคนิคอะไรเป็นพิเศษนะคะ แค่เราทราบว่าช่วงไหนเราต้องทำอะไรแค่นั้นเองค่ะ ช่วงที่เรียนเราก็เข้าเรียน ช่วงที่ว่างเราก็ใช้ชีวิตตามที่เรามีความสุข อยากไปออกกำลังกายก็ไป อยากนอนก็นอน อยากทำอะไรก็ทำ อาจารย์คิดว่าการแบ่งเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญมากค่ะ เพราะหากเราแบ่งเวลาดีก็จะไม่มีปัญหาต่อการเรียนค่ะ ซึ่งอันนี้คงจะต้องเป็นไปตามความเหมาะสมของแต่ละคนนะคะ”
อ.ปทิตตา ขณะเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำถาม (4) : เคยมีความเครียดในระหว่างศึกษาบ้างหรือไม่ (เช่น เรื่องการเรียน การใช้ชีวิต หรือด้านอื่น) และมีวิธีจัดการให้ก้าวผ่านอุปสรรคและความท้อแท้ใจไปได้อย่างไร รวมถึงมีวิชาที่ไม่ชอบบ้างหรือไม่ หากมีมีวิธีจัดการอย่างไร
“อาจารย์คิดว่าไม่น่าจะมีใครที่ไม่มีความเครียดอะไรเลยนะคะ ซึ่งแต่ละคนก็คงจะมีความเครียดที่แตกต่างกันออกไป สำหรับตัวอาจารย์เอง แน่นอนการที่เราเป็นผู้พิการทางสายตา ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำอะไรได้เหมือนคนทั่วไป อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่าหนังสือก็ไม่มีให้อ่าน จะไปไหนก็ไม่สะดวก ซึ่งมีทั้งปัญหาเกี่ยวกับการเรียนและการใช้ชีวิต อาจารย์จะขอเล่าถึงการเรียนก่อนนะคะ”
“ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งเรียนจบ อาจารย์ไม่เคยมีหนังสืออ่านเหมือนคนทั่วไป ความเครียดของอาจารย์ก็คือเราจะทำยังไงให้มีหนังสืออ่าน เราจะเรียนทันเพื่อนไหมหากเราไม่มีหนังสือ เราจะส่งการบ้านอย่างไร เราจะหาคนช่วยอ่านหนังสือได้จากที่ไหน เหล่านี้เป็นความเครียดที่หาทางออกได้ยากมาก แน่นอนอาจารย์อาจจะมีคนรอบข้างมากมาย แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาเหล่านั้นจะว่างคอยมาช่วยเหลือเราเสมอไปจริงไหมคะ แล้วการที่เราทำอะไรด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องคอยพึ่งพาคนอื่นอยู่เสมอก็เป็นความเครียดอย่างหนึ่งเหมือนกันค่ะ หลายครั้งที่อาจารย์ท้อ ไม่อยากเรียน ด้วยเหตุผลเหล่านี้ แต่เนื่องจากเรามีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน เมื่อท้อเราก็ไม่ถอย พยายามลุกขึ้นใหม่เสมอ ยิ่งตอนมาเรียนคณะนิติเป็นคณะที่ต้องอ่านหนังสือค่อนข้างเยอะใช่ไหมคะ แต่อาจารย์ไม่มีหนังสืออ่านเลย กว่าจะผลิตหนังสือเสียงหรือหนังสืออักษรเบรลล์ออกมาได้สักเล่มหนึ่งนั้นใช้เวลายาวนานมาก หลายครั้งหมดเทอมแล้วยังไม่มีหนังสืออ่านเลยค่ะ แต่โชคดีหน่อยที่เอกสารประกอบการบรรยายไม่ได้มีเนื้อหาเยอะเหมือนหนังสือ จึงใช้เวลาผลิตไม่นานนัก การเรียนกฎหมายโดยไม่มีหนังสือหรือเอกสารอ่าน อาจารย์คิดว่าไม่ต่างอะไรกับการออกรบที่ไม่มีอาวุธ ซึ่งเราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวรอดในสมรภูมิรบ อย่างถ้าเป็นคนทั่วไปกำลังจะสอบก็มีหนังสือ มีทุกสิ่งทุกอย่างให้ดู เปรียบเหมือนกับมีอาวุธครบมือ ซึ่งจะเลือกหยิบอาวุธชนิดไหนขึ้นมาต่อสู้ก็ได้จริงไหมคะ แต่อาจารย์แทบไม่มีอะไรเลย สิ่งที่ต้องทำก็คือ ทำยังไงก็ได้เพื่อให้อยู่รอด ไม่ล้มตายในสมรภูมิรบ อาจจะเปรียบได้ว่าออกรบมือเปล่าก็ได้นะคะ การออกรบโดยไม่มีอาวุธใด ๆ ก็เป็นปกติที่ต้องเครียดเป็นธรรมดาค่ะ ขนาดเพื่อน ๆ ของอาจารย์ซึ่งมีอาวุธครบมือก็ยังเครียดเลย แล้วอาจารย์ผ่านสิ่งเหล่านี้มาได้ยังไงใช่ไหมคะ ในเมื่ออาจารย์ไม่มีอาวุธ อาจารย์ก็ต้องพยายามสร้างความเข้มแข็งให้ตัวเองค่ะ เราต้องใช้ทุกอย่างที่เรามีให้คุ้มค่าที่สุด แทนที่อาจารย์จะคิดว่าไม่มีหนังสือ งั้นไม่อ่านก็ได้ ถ้าจะสอบไม่ผ่านก็คงเป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่คนมีหนังสืออ่านก็ยังมีโอกาสสอบไม่ผ่านเลย ซึ่งอาจารย์จะคิดเช่นนั้นก็ได้ แต่อาจารย์กลับไม่คิดเช่นนั้น อาจารย์พยายามหาทุกวิถีทางเพื่อให้สอบผ่าน โดยการเข้าเรียน ไปติวกับเพื่อน แลกเปลี่ยนความเห็นกัน ถามและปรึกษาพี่เทค และเป็นความโชคดีของอาจารย์ที่มีเพื่อนดี พี่เทคดี ถ้าเพื่อน ๆ และพี่เทคได้อ่าน อยากขอบคุณเป็นอย่างสูงนะคะ หากไม่มีพวกเขาอาจารย์ไม่มีทางมาถึงวันนี้ได้เลยค่ะ เมื่อเราเข้าใจข้อจำกัดของตัวเอง และเราพยายามที่จะหาทางทำทุกอย่างให้ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดของเรา อาจารย์เชื่อนะคะว่าเราก็สามารถผ่านสิ่งยากลำบากไปได้ค่ะ”
“การเรียนในชั้นปริญญาตรีว่าลำบากแล้ว แต่ยังไม่ได้สักครึ่งของการเรียนปริญญาโทเลยค่ะ การเรียนในชั้นปริญญาตรีและเนติฯนั้น เป็นการเรียนแบบท่องจำ เข้าใจ แล้วไปสอบ แต่สำหรับปริญญาโท เป็นการเรียนที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทุกอย่างต้องคิดวิเคราะห์ โดยต้องมีข้อมูลมาประกอบ จะคิดขึ้นมาเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นการจะทำเช่นนั้นได้ต้องหาข้อมูลเยอะมาก แต่อาจารย์มองไม่เห็น อ่านหนังสือไม่ได้ ประกอบกับการเรียนกฎหมายระหว่างประเทศส่วนใหญ่ข้อมูลก็จะเป็นภาษาต่างประเทศ หาคนอ่านหนังสือภาษาไทยว่ายากแล้ว หาคนอ่านภาษาต่างประเทศยากยิ่งกว่าหลายเท่านัก ยอมรับเลยค่ะว่าตอนนั้นเครียดมาก เครียดแบบหาทางออกไม่ได้ เครียดจนไม่อยากทำอะไร แต่อาจารย์โชคดีอย่างหนึ่งนะคะ คือเวลาเครียดจะไม่อยากฆ่าตัวตาย เพราะอาจารย์มีโอกาสเข้าวัดตั้งแต่เด็ก และพระท่านเคยสอนไว้ว่าการฆ่าตัวตายเป็นบาปหนัก ก็เลยไม่อยากบาปอีกแล้ว กลับกันเวลาเครียดมากอยากออกบวช อยากธุดงค์ อยากหลุดพ้น เพราะคิดว่าชีวิตเราลำบากถึงเพียงนี้เชียวหรือ อะไรก็ทำไม่ได้ แต่อาจารย์โชคดีที่มีพี่สาวที่ดี มีครอบครัวที่เข้าใจ พี่สาวอาจารย์ถึงกับต้องลาออกจากงาน full time มาทำงาน part time เพื่อช่วยอ่านหนังสือให้อาจารย์จนเรียนจบโท ต้องกราบขอบคุณเป็นอย่างสูงค่ะ”
“นอกจากเรื่องเรียนแล้ว เรื่องใช้ชีวิตยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลยค่ะ ด้วยความที่เรามองไม่เห็นและเป็นผู้หญิง ครอบครัวก็จะคอยเป็นห่วง ไม่อยากให้ไปไหนคนเดียว กลัวไม่ปลอดภัยต่าง ๆ นานา อยากบอกว่าใช้ชีวิตยากมากค่ะ จะไปไหนก็กลัวอันตราย จะเดินทางก็ลำบาก ต้องอาศัยคนอื่นเยอะมาก ทั้งที่เราอยากทำอะไรด้วยตัวเอง แต่หลายครั้งก็ไม่อาจทำตามตั้งใจได้ มันเป็นความอึดอัดอย่างบอกไม่ถูกเลยค่ะ แล้วอาจารย์มีวิธีที่ทำให้ก้าวผ่านปัญหาเหล่านั้นมาได้อย่างไรนั้น แน่นอนมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นเพียงลำพัง เพราะมันเป็นสิ่งที่ยากนักที่คนเพียงคนเดียวจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่อาจารย์ต้องเผชิญ อาจารย์คิดว่าในเมื่อเราเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมไม่ได้ เปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ไม่ได้ ก็ต้องทำใจค่ะ เพราะเราจะทุกข์หรือสุขมันอยู่ที่ใจเราค่ะ อาจารย์อยากบอกนักศึกษาว่าคนเราจะทุกข์หรือสุขอยู่ที่ตัวเองนะคะ เพราะอาจารย์รักตัวเอง อาจารย์จึงไม่นำสิ่งต่าง ๆ ที่พบเจอมาทำให้ตัวเองต้องเป็นทุกข์ อาจารย์ไม่อยากบอกว่าอาจารย์ลำบากกว่าใคร เพราะอาจารย์คิดว่าแต่ละคนก็ต้องเจอความลำบากด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งก็คงแตกต่างกันออกไป แต่อาจารย์อยากบอกว่าอาจารย์จะขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนก้าวผ่านความลำบากและผ่านปัญหาทุกอย่างไปให้ได้นะคะ”
“สำหรับวิชาที่อาจารย์ไม่ชอบก็มีค่ะ และอาจารย์คิดว่าหลายคนก็มีเช่นกันจริงไหมคะ อาจารย์ไม่ชอบวิชาสายมหาชนค่ะ เนื่องจากเป็นวิชาบรรยาย ต้องอ่านข้อมูลเยอะ แต่อาจารย์ไม่ค่อยมีอะไรให้อ่าน ทำให้อาจารย์รู้สึกไม่ชอบค่ะ วิธีแก้ปัญหาของอาจารย์ก็คือเข้าห้องเรียน หาคนช่วยอ่าน เมื่อรู้ว่าไม่ชอบก็ต้องทุ่มเทมากเป็นพิเศษ เพราะคิดว่าทุกวิชามีคะแนนเท่ากัน อาจารย์ไม่เคยคิดว่าจะทิ้งวิชาที่ไม่ชอบแล้วจะเอาวิชาที่ชอบเพียงอย่างเดียว อาจารย์พยายามหาทุกช่องทางเพื่อให้เราสอบผ่านค่ะ”
อ.ปทิตตา เมื่อสำเร็จการศึกษานิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำถาม (5) : เมื่อมีสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังเกิดขึ้น มีวิธีจัดการอย่างไร
“อาจารย์คิดว่า หลายครั้งที่บางสิ่งบางอย่างไม่เป็นไปตามที่เราหวังไว้ เช่น เราตั้งใจว่าต้องได้คะแนนเท่านี้เท่านั้น แต่สุดท้ายไม่ได้ดังตั้งใจ หรือคาดหวังให้เพื่อนทำแบบนี้แบบนั้นกับเรา พอไม่เป็นไปตามที่ต้องการก็จะเสียใจ ท้อใจ เรื่องเหล่านี้มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้กับทุกคนนะคะ สำหรับอาจารย์มองว่า เมื่อเราคาดหวังแล้วมันไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้หรือผิดหวังก็เป็นเรื่องธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อคิดเช่นนี้ก็จะไม่เสียใจมาก เพราะไม่มีใครจะได้อะไรตามที่ตัวเองต้องการเสมอไปค่ะ”
คำถาม (6) : หากย้อนเวลากลับไปได้ จะบอกกับตัวเองตอนกำลังศึกษาอยู่ว่าอย่างไร
“อยากขอบคุณตัวเอง และบอกกับตัวเองว่าสุดยอดมาก ภูมิใจในตัวเธอจริง ๆ เพราะแม้ว่าจะเจออุปสรรคสักแค่ไหนก็พยายามจนก้าวผ่านมาได้ จนมาถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ นอกจากจะขอบคุณตัวเองแล้ว ยังอยากขอบคุณครอบครัว คณาจารย์ทุกท่าน เพื่อนสนิทมิตรสหายรวมถึงทุกคนที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จด้วยนะคะ”
อ.ปทิตตา เมื่อสำเร็จการศึกษานิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำถาม (7) : ให้ข้อคิดสำหรับนักศึกษาที่หมดไฟหรือกำลังท้อแท้ใจ
“อาจารย์อยากบอกว่าไม่มีกำลังใจใดสำคัญเท่ากับกำลังใจจากตัวเองนะคะ หากเรารักและเป็นห่วงตัวเอง เราก็ย่อมอยากให้ตัวเองได้ดี เจอสิ่งที่ดี อยากให้ทุกคนรักตัวเองมากๆ หันมาใส่ใจ เข้าใจตัวเอง ไม่อยากให้กดดันตัวเอง ไม่ควรเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร เพราะแต่ละคนย่อมมีเอกลักษณ์ คุณสมบัติ และเงื่อนไขในชีวิตที่แตกต่างกัน เราจงทำทุกอย่างให้ดีที่สุดในแบบฉบับของเรา อาจารย์อยากบอกว่าเราท้อได้แต่เราต้องไม่ถอย เราล้มได้แต่เราต้องลุกขึ้นมาใหม่ ถ้าเราลุกไม่ไหวยังมีคนมากมายที่จะช่วยประคองและอยู่เคียงข้างเราเสมอ ไม่ว่าจะเป็น คนในครอบครัว ครูบาอาจารย์ เพื่อน คนเหล่านี้พร้อมจะเป็นกำลังใจและอยู่เคียงข้างคุณเสมอนะคะ ไม่อยากให้คิดว่าเราอยู่คนเดียวบนโลกใบนี้ เพราะนอกจากกำลังใจจากตัวเองจะสำคัญแล้วกำลังใจจากคนรอบข้างก็สำคัญเช่นกันค่ะ เราผิดหวังได้แต่เราต้องไม่สิ้นหวัง เมื่อเราไม่ถอย ไม่สิ้นหวัง ล้มแล้วก็ลุกขึ้นใหม่เราก็จะไปถึงฝันในสักวันค่ะ”
“และหากตอนนี้นักศึกษากำลังท้อใจ ไม่ว่าจะเกิดจากเรื่องอะไรก็ตาม อาจารย์ขอเป็นกำลังใจให้นักศึกษาก้าวผ่านปัญหาต่าง ๆ ไปให้ได้นะคะ สำหรับนักศึกษาที่กำลังเครียดเรื่องคะแนนสอบ กลัวจะได้คะแนนไม่ดี ไม่เป็นไปดังตั้งใจ หรือสอบไม่ผ่าน อาจารย์อยากบอกว่าคะแนนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเรา แต่ไม่ได้เป็นมาตรวัดความสำเร็จของเรานะคะ อาจารย์เห็นหลายคนที่คะแนนไม่สูงมาก หรือเคยสอบไม่ผ่าน แต่เขาก็ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ อาจารย์ไม่อยากให้หมดกำลังใจ เพราะนักศึกษาไม่ได้คะแนนตามที่ตั้งใจ เพราะเหนือกว่าคะแนนก็คือความรู้”
“และสิ่งสำคัญในชีวิตของนักกฎหมายก็คือความยุติธรรม หากนักกฎหมายมีสิ่งนี้ อาจารย์เชื่อว่าสุดยอดกว่าได้คะแนนดีแต่ไม่มีความยุติธรรมและคุณธรรมในจิตใจแน่นอนค่ะ ขอให้นักศึกษาสู้ต่อไปในเส้นทางของนักกฎหมาย ขอให้เป็นนักกฎหมายที่ดี มีคุณธรรมในจิตใจ ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจค่ะ”
อ.ปทิตตา เมื่อสำเร็จการศึกษาเนติบัณฑิตไทย
ภาพ : อ.ปทิตตา
เรียบเรียง : อ.ดร.พนัญญา