กองทุนศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประกาศเกียรติคุณและเป็นอนุสรณ์แห่งความดีของศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ซึ่งเป็นนักกฎหมายที่สำคัญของประเทศชาติ ท่านได้อุทิศตน ทำนุบำรุงการศึกษาวิชานิติศาสตร์ ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรม และวิชาชีพกฎหมายมีผลงานปรากฏเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ปฏิบัติภารกิจรับใช้ประเทศชาติในตำแหน่งสำคัญ ๆ ด้วยความอุตสาหะ วิริยะ ซื่อสัตย์ สุจริต เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม เป็นที่ประจักษ์กันโดยทั่วไป
ระเบียบมูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยกองทุนศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ พ.ศ. 2539
โดยที่ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ได้ปฏิบัติภารกิจรับใช้ประเทศชาติในตำแหน่งสำคัญ ๆ ด้วยความอุตสาหะ วิริยะ ซื่อสัตย์ สุจริต เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม เป็นที่ประจักษ์กันโดยทั่วไป ท่านได้อุทิศตน ทำนุบำรุงการศึกษาวิชานิติศาสตร์ ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรม และวิชาชีพกฎหมายมีผลงานปรากฏเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ นับได้ว่าท่านเป็นนักกฎหมายที่สำคัญของประเทศชาติ เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและเป็นอนุสรณ์แห่งความดีที่ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ประเทศชาติตลอดมา บรรดาศิษยานุศิษย์ ญาติมิตร สมาคม องค์การ และมูลนิธิต่างๆ ผู้มีจิตศรัทธาและเคารพรักในตัวท่าน จึงได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้น
อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๑๗ แห่งข้อบังคับของมูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๒๖ จึงตราระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
- ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบมูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยกองทุนศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ พ.ศ. ๒๕๓๙”
- ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากประกาศนี้เป็นต้นไป
- ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบมูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยกองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ พ.ศ.๒๕๓๒
หมวด ๑
วัตถุประสงค์ ข้อ ๔ วัตถุประสงค์ของกองทุนมีดังต่อไปนี้
-
-
- ๔.๑ จัดสรรทุนเพื่อทำนุบำรุงการศึกษาและการวิจัยทางนิติศาสตร์ และส่งเสริมวิชาชีพกฎหมาย
- ๔.๒ ส่งเสริมและให้ทุนอุดหนุนการจัดพิมพ์ตำรากฎหมายและเผยแพร่วิชานิติศาสตร์
- ๔.๓ ส่งเสริมการพัฒนาห้องสมุดกฎหมายและการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลด้านกฎหมาย
- ๔.๔ ให้รางวัลแก่นักศึกษาหรือผู้ทำการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการด้านกฎหมาย
- ๔.๕ ให้ทุนอุดหนุนการศึกษาและกิจกรรมอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการจะพิจารณาเห็นสมควร
-
หมวด ๒
ทุนทรัพย์ ทรัพย์สิน และการได้มาซึ่งทรัพย์สิน
-
-
- ข้อ ๕ กองทุนนี้ได้จัดตั้งเป็นกองทุนรับบริจาคทั่วไป และให้นำดอกผลของทรัพย์สินของกองทุนมาจัดสรรตามวัตถุประสงค์ในข้อ ๔
- ข้อ ๖ ทรัพย์สินของกองทุนมีทุนเริ่มแรกคือเงินสด จำนวน ๗๐๐,๐๐๐ บาท (เจ็ดแสนบาทถ้วน)
- ข้อ ๗ กองทุนอาจได้มาซึ่งทรัพย์สิน โดยวิธีดังต่อไปนี้
-
-
-
- ๗.๑ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้โดยพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่น ๆ ที่ปราศจากหนี้สินหรือ ภาระติดพันแก่กองทุน
- ๗.๒ เงิน หรือทรัพย์สินที่มีผู้มีจิตศรัทธาอุทิศให้
- ๗.๓ ดอกผลซึ่งเกิดจากทรัพย์สินของกองทุน
- ๗.๔ ค่าลิขสิทธิ์และรายได้จากการพิมพ์ตำราและเอกสารต่างๆ
- ๗.๕ รายได้อื่นๆ
-
หมวด ๓
การดำเนินงาน
-
-
- ข้อ ๘ ให้มีคณะกรรมการกองทุนคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการกองทุนศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ประกอบด้วยผู้แทนมูลนิธินิติศาสตร์ มธ. เป็นประธานกองทุน ผู้แทนคณะนิติศาสตร์ มธ. และผู้แทนสมาคมนิติศาสตร์ มธ. เป็นกรรมการกองทุน โดยตำแหน่งและบุคคลอื่นๆ อีกไม่น้อยกว่า ๓ คนเป็นกรรมการ และให้ประธานกองทุนเป็นผู้แต่งตั้ง ผู้จัดการกองทุน สำหรับตำแหน่งกรรมการกองทุน หากมูลนิธิฯ มิได้ประกาศแต่งตั้งไว้ ให้คณะกรรมการกองทุนเป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งตามเห็นสมควร ทั้งนี้ให้กรรมการกองทุนมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๒ ปี แต่อาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกก็ได้
- ข้อ ๙ ให้จัดสรรดอกผลของกองทุนอย่างน้อยร้อยละ ๑๐ สมทบเข้าในเงินกองทุนทุกปี จนกว่าเงินกองทุนจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าล้านบาทถ้วน)
- ข้อ ๑๐ การจัดสรรเงินตามวัตถุประสงค์ในข้อ ๔ ให้นำเฉพาะดอกผลจากทรัพย์สินของกองทุนมาใช้จ่ายเท่านั้น ทั้งนี้ภายในบังคับแห่งเงื่อนไขหรือวัตถุประสงค์ซึ่งผู้มีจิตศรัทธาอุทิศเงิน และทรัพย์สิน ให้แก่กองทุนได้กำหนดไว้
- ข้อ ๑๑ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่พิจารณาจัดสรรเงินทุนและพิจารณาให้เงินทุนอุดหนุนและคัดเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับทุนตามความเหมาะสม
- ข้อ ๑๒ ให้นำเงินกองทุนไปลงทุนในธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มั่นคง และมีธนาคารค้ำประกัน หรือสหกรณ์ออมทรัพย์ ตามที่คณะกรรมการจะเห็นสมควร โดยให้นำระเบียบมูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการเงินและการบัญชีมาใช้บังคับโดยอนุโลม
-
หมวด ๔
บทเบ็ดเตล็ด
-
-
- ข้อ ๑๓ การแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบหรือการวางระเบียบเฉพาะเรื่อง ให้คณะกรรมการตามข้อ ๘ พิจารณาขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อประธานกรรมการมูลนิธิ
- ข้อ ๑๔ ให้ประธานกองทุนเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้
-
ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๓๙
ประภาศน์ อวยชัย (ศาสตราจารย์ประภาศน์ อวยชัย)
ประธานมูลนิธิ
คณะกรรมการกองทุนศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ได้กำหนดให้มีการจัดงานวิชาการรำลึกศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ขึ้นในวันเสาร์สุดท้ายของเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงท่านอาจารย์และส่งเสริมวิชาการทางด้านนิติศาสตร์ให้พัฒนาไป จากนั้นจะสรุปเนื้อหาการสัมมนาทางวิชาการในแต่ละปีมาพิมพ์เผยแพร่ต่อไป หัวข้อการสัมมนาทุกหัวข้อที่เลือกสรรมานั้นล้วนเกี่ยวข้องกับงานวิชาการและมาจากแบบอย่างในชีวิตการงานของศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ทั้งสิ้น
งานวิชาการรำลึกศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ (ครั้งที่ ๒๙) ประจำปี ๒๕๖๗
เรื่อง “ร่างกฎหมายความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า จะเปรี้ยว หวาน หรือขม?”
คณะกรรมการกองทุนศาสตราจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์ มีความเห็นพ้องกันว่า การจัดให้มีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. … ทั้งตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคผู้บริโภค ภาคผู้ประกอบการ นักวิชาการ ตลอดจนประชาชนที่สนใจ เพื่อให้ได้คิด วิเคราะห์ หยิบยกประเด็นปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการบัญญัติและบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. … รวมถึงหาแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเหล่านั้นร่วมกัน อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเสนอแนะปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวอย่างเหมาะสม ป้องกันประเด็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการบังคับใช้กฎหมายในอนาคต และทำให้สามารถบังคับใช้กฎหมายและแก้ไขปัญหาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการมีกฎหมายดังกล่าวต่อไป