บทสัมภาษณ์ เมย์ ทับไทร และธนวัฒน์ ภัทรธีรชัยเจริญ (ภูมิ) ผู้ชนะเลิศการแข่งขันโต้เถียงปัญหากฎหมายโดยการแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นอุทธรณ์ ระดับประเทศ ครั้งที่ 6 ประจำปีการศึกษา 2562 จากทีมมหาวิทยาลัยรามคำแหง สัมภาษณ์โดยผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์
คำถาม (1) : เหตุผลในการสมัครเข้าแข่งขัน
ธนวัฒน์ : “สำหรับภูมิรายการนี้ภูมิตั้งใจไว้ตั้งแต่ปี 2 แล้วครับว่า ถ้ามีโอกาสภูมิอยากเข้าแข่งขัน เพราะตอนภูมิปี 2 ภูมิมีโอกาสได้เห็นพี่ ๆ ได้เข้าร่วมแข่งขันในรายการนี้ ภูมิรู้สึกว่ารายการนี้เป็นรายการที่ดี และสามารถพัฒนาบุคลิกภาพของเราได้ทั้งในเรื่องของการพูดแล้วก็ความรู้ ภูมิเลยรู้สึกว่ารายการนี้จะทำให้เราสามารถที่จะเป็นนักกฎหมายที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้ครับ ภูมิเลยตัดสินใจเลือกที่จะลองมาคัดเลือกเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยรามคำแหงครับ”
เมย์ : “ของเมย์ก็รู้สึกว่ารายการนี้เป็นรายการที่ท้าทายค่ะ เพราะว่าเราจะได้ทั้งทักษะของการเขียน ทักษะของการพูด แล้วด้วยความที่เราอะตามรายการนี้มาตั้งแต่เราเรียน pre-degree เลยตั้งแต่รุ่นพี่โอม พี่กัส แล้วรู้สึกว่ามันเป็นความยาก แล้วรุ่นพี่ที่แข่งเนี่ยเก่งกันหมดเลย เราก็เลยอยากเก่งบ้าง ก็คิดว่ารายการนี้ก็น่าจะสามารถทำให้เราสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ก็เลยมาลงค่ะ”
คำถาม (2) : รู้จักรายการแข่งขันโต้เถียงปัญหากฎหมายที่จัดโดยศูนย์นิติศาสตร์ฯ มาก่อนไหม
เมย์ : “รู้จักมาก่อนค่ะ ก็คือรู้จักจากตอนที่ดูไลฟ์สดตอนเวลาเขาแข่ง ทั้งสองปีเลย ก็ตามดู ก็อย่างที่บอกว่าชื่นชมจริง ๆ คนที่แข่ง เราก็เลยเลือกที่จะสมัคร”
ธนวัฒน์ : “ก็เหมือนกันครับ ก็คือดูผ่านทางไลฟ์ของคณะ แต่ของปีนี้ก็จะแตกต่างนิดนึงเพราะในตอนนั้นเขาจะเป็นการแข่งในห้องศาลจำลอง ซึ่งก็จะเป็นบรรยากาศอีกบรรยากาศนึง ปีนี้แข่งออนไลน์ก็เป็นอีกบรรยากาศนึง”
คำถาม (3) : มีวิธีการทำงานร่วมกันอย่างไร เนื่องจากไม่เคยแข่งร่วมกันในรอบภายในมาก่อน
ธนวัฒน์ : “อย่างของผม ช่วงตอนสอบเสร็จก็จะมีการติววิชาที่เราเรียนกันอยู่ด้วยกัน แล้วพอติวด้วยกันก็เลยมีความสนิทกันมากขึ้น พอสนิทกันมากขึ้นก็เลยมีการทำงานด้วยกันผ่านทาง Zoom ครับ ก็คือพยายามที่จะพูดคุยกันให้มากขึ้น เพราะว่าพอเราไม่ได้เป็นเพื่อนกันมาก่อน มันเลยทำให้การทำงานของเราเหมือนทำงานกับคนแปลกหน้าขึ้นอีก เพราะงั้นถ้าเราสนิทกันได้มันจะทำงานได้ดีขึ้น”
เมย์ : “อันนี้ก็อย่างที่พี่ภูมิพูดไปค่ะว่าเรามาสนิทกันตอนที่เราติวกฎหมายด้วยกันค่ะ แต่ก่อนหน้าหลังจากที่เรารู้ผลการคัดเลือกรอบภายใน ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักกันมาก่อน เลยมีการนัดเจอทำความรู้จักกันก่อนค่ะ เพื่อที่จะได้รู้ว่าแต่ละคนเป็นยังไงบ้าง จะได้ทำงานร่วมกันได้ลงตัว แล้วหลังจากได้รับโจทย์มาแล้วเราก็นัดทำ memo ด้วยกัน ได้พูดคุยกันมากขึ้น พอรู้จักกันมากขึ้น การทำงานก็มีความลื่นไหลมากขึ้น ถ้าไม่เข้าใจกันก็พูดคุยให้เข้าใจตรงกันเลย เพื่อจะได้ทำส่วนอื่นต่อๆ ไปค่ะ”
คำถาม (4) : การเตรียมตัวก่อนเข้าแข่งขันทำอย่างไรบ้าง
ธนวัฒน์ : “คือการเตรียมตัวในการแข่งขันนี้จะไม่เหมือนกันปีก่อน ๆ แน่นอน คืออย่างแรกคือเรามีเวลามากขึ้นเพราะมีช่วงหยุดโควิดการเตรียมตัวก็คือ หนึ่ง เราก็มีการแบ่งหน้าที่กันว่าคนนี้จะรับอะไร ทำอะไร แล้วส่วนในเรื่องของการพูดเนี่ยครับสำคัญมาก สิ่งที่เตรียมตัวก็คือฝึกพูดหน้ากระจก แล้วก็พยายามฝึกดู ก็คือดูรุ่นพี่ปีก่อน ๆ ที่เขาแข่งแล้วท่านกรรมการมีการคอมเม้นต์ว่าการพูดที่ดีต้องเป็นแบบไหน แล้วเราก็เอามาพัฒนาตัวเองครับ”
เมย์ : “ก็เหมือนกันค่ะ คือเราจะดูเทปเก่าว่าเราควรจะพูดยังไง คือพูดยังไงให้เข้าใจค่ะ เพราะว่ามันเป็นทักษะของการสื่อสาร เรามองว่าทักษะของการสื่อสารเนี่ยสำคัญมากกับการแข่งมูทคอร์ท แล้วโดยส่วนตัวแล้วเราก็เป็นคนที่ค่อนข้างที่จะชอบพูดอยู่แล้ว พอได้บทแล้ว คือมันต้องเริ่มมาจากการทำ memo เลยใช่มั้ยคะจนมาถึงบทที่จะใช้แถลง ซึ่งมันก็ต้องเป็นบทที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เราก็เอาในส่วนของ memo มาเรียบเรียงใหม่ เพื่อที่จะให้ผู้ฟังเนี่ยเข้าใจว่าเราต้องการที่จะสื่ออะไร แล้วหลังจากที่ได้บทแล้วเราคิดว่าการได้บทเร็วที่สุดเนี่ยมันจะดีต่อเวลาที่เราจะได้ซ้อมเยอะ ๆ เพราะว่ามันสำคัญมาก ๆ ที่เราจะไม่ต้องอ่าน เหมือนอย่างของเมย์ เมย์จะเรียบเรียงบทอ่านไปซักประมาณ 3 รอบเสร็จแล้วจะเริ่มท่อง ท่องเสร็จก็จะจดประเด็นไว้ในกระดาษแผ่นเล็ก ๆ แล้วก็ไล่ท่องไปอย่างนั้นเลยค่ะ เพื่อที่จะทำให้ตัวเองอะคุ้นเคย แล้วก็ให้เข้าใกล้การพูดมากที่สุด ไม่ใช่การท่องนะ แต่เป็นการพูด ก็ซ้อม ๆ ไปเรื่อย ๆ จนเราแม่นประเด็น ก็สื่อสารมาได้ ประมาณนี้ค่ะ”
คำถาม (5) : วิธีการเตรียมการเขียน memo ทำอย่างไร
เมย์ : “การเตรียม memo นะคะ อย่างแรกเราต้องเข้าใจโจทย์ให้ได้ก่อน พอเราเข้าใจโจทย์ได้แล้วเราจะมาแยกประเด็นค่ะว่ามันมีประเด็นอะไรบ้าง จากนั้นคิดว่าเราจะต่อสู้อะไร ประเด็นไหนมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน เราก็ไล่เรียงความสำคัญ แล้วไปหาว่าข้อต่อสู้ของเราเนี่ยมันจะมีอะไรที่มา support เราได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาศาลฎีกา เอกสารทางวิชาการ วิทยานิพนธ์ต่าง ๆ ก็ไปหามา พอได้ข้อมูลแล้วเราถึงจะเริ่มเรียบเรียงว่าจะนำเสนอยังไงเพื่อให้ท่านคณะกรรมการเข้าใจ และที่สำคัญคือ memo มีการกำหนดจำนวนคำที่ใช้เขียนด้วย ดังนั้นเราจึงต้องวางแผนให้ดีเพื่อจะได้เขียนให้กระชับที่สุด ประมาณนี้ค่ะ”
ธนวัฒน์ : “ สำหรับของผมก็คือ อย่างแรกนะครับ พอได้โจทย์มาเราก็ต้องอ่านโจทย์ก่อนให้เข้าใจประเด็นว่าโจทย์เนี่ยเขาให้ประเด็นอะไรมาบ้าง แล้วประเด็นไหนเป็นประเด็นสำคัญ แล้วเสร็จแล้วเราก็ลองมาดูว่าสิ่งที่ศาลชั้นต้นพิพากษาในโจทย์นั้นคืออะไร เพื่อที่เราจะได้กำหนดประเด็นได้ว่าเราต้องเขียนกี่ประเด็นใน memo พอเรากำหนดประเด็นเสร็จปุ๊บเราก็ต้องไปอ่านคำอธิบายทางตำราของในมาตราที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีคำอธิบายตรงไหน แล้วมีอันไหนที่เราต้องใช้ต่อสู้แล้วไปหาเอกสารทางวิชาการมาคอยสนับสนุน ซึ่งพอเราทำทั้งหมดนี้ เราก็จะเอาข้อเท็จจริงที่เราได้จากตัวโจทย์เนี่ยมาบวกกับข้อกฎหมายแล้วก็เหตุผลต่าง ๆ และก็นำไปเขียนใส่ memo ครับ ซึ่งใน memo เนี่ยท่านกรรมการท่านก็ให้คำแนะนำว่า memo ที่ดีจะต้องมีการแบ่งประเด็นชัดเจน เช่น เวลาเขียน สมมติมี 8 ประเด็นก็ต้องเขียนประเด็นที่หนึ่งว่าอะไร ประเด็นที่สองว่ายังไง ประเด็นที่สามว่ายังไง แล้วก็ memo ที่ดีคือต้องเขียนแล้วให้คนอ่านเข้าใจง่ายครับ คนที่ไม่เคยอ่านต้องรู้ว่าเป็นเรื่องอะไรแล้วเราจะสื่ออะไร และที่สำคัญก็คือต้องอ่านแล้วรู้เรื่องครับ ซึ่งตรงนี้ท่านกรรมการย้ำมากครับ ด้วยความที่บางท่านก็อาจจะไม่ได้มีการรู้มาก่อนท่านก็ต้องมาอ่านในตัว memo ของเราอย่างนี้ ท่านก็จะรู้ว่าเราจะมีประเด็นไหนบ้าง ถ้าเราสามารถเขียนให้ท่านเข้าใจง่าย โดยท่านบอกว่าการเขียนที่ดีคือการเขียนแบ่งองค์ประกอบ เช่น ถ้ามาตรา 341 เราก็แบ่งไปทีละองค์ประกอบ เขียนอธิบายให้ท่านเข้าใจอย่างนี้ครับ ก็สำหรับการเตรียม memo จะมีเท่านี้ครับ”
คำถาม (6) : ปัญหาในการแข่งขันมีอะไรบ้าง
ธนวัฒน์ : “ปัญหาแรกนะครับ คือ ด้วยการที่การแข่งขัน Moot Court เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเรียนมาก่อน เลยทำให้เราต้องมาศึกษาเพิ่มเติมว่า การเขียน Memo นั้นต้องเขียนอย่างไร และการอ้างเอกสารต้องอ้างยังไง เช่น ในเรื่องปัญหาความเห็น ตอนแข่งเราอ้างเอกสารแค่ความเห็นเดียวเฉพาะความเห็นที่ตรงกับเรา และส่งเอกสารแค่นั้น แต่ท่านกรรมการแนะนำว่าเราต้องส่งเอกสารทั้ง 2 ความเห็น แล้วปัญหาต่อมาก็คืออาจจะเป็นปัญหาในเรื่องของพอมันเป็นอะไรที่มันแปลกใหม่ และของรามปีนี้การคัดเป็นการคัดในรูปแบบรายบุคคล ทำให้คนในทีมนั้นไม่รู้จักกันมาก่อน จึงทำให้อาจจะต้องมีการจูนกันในทีม อาจมีปัญหาที่เราในทีมอาจไม่เข้าใจกันบ้างครับเหล่านี้คือปัญหาที่เจอครับ”
เมย์ : “อันนี้เรื่องเวลาพี่ภูมิพูดไปแล้วนะคะ แต่เมย์คิดว่าปัญหาที่ว่าทำให้เราเสียเวลามาก ๆ ก็คือเรื่องโจทย์ค่ะ คือเราเข้าใจโจทย์ที่กรรมการให้มาไม่ตรงกันค่ะ อย่างตอนนั้นจำนวนเงินสองแสนเนี่ย คนนึงตีไปอย่างนึง อีกคนนึงตีไปอีกอย่างนึง ซึ่งมันเสียเวลากับตรงนี้มาก ๆ อันนี้ก็เลยรู้สึกว่ามันเสียเวลา เพราะว่าด้วยความที่ว่าเราก็จะต้องรีบสอบแล้ว คือมันอาจจะเป็นข้อเสียของการคัดโดยที่คัดแยก ไม่ได้คัดเป็นทีมจับคู่มาตั้งแต่แรก ทำให้ความคิดของแต่ละคนที่มากันคนละทิศคนละทางเนี่ยแล้วก็มาตีกันในที่สุด หมายถึงว่ามาตีกันในด้าน discuss ของประเด็นนะคะ”
คำถาม (7) : คิดว่าทักษะที่จำเป็นในการแข่งขันมีอะไรบ้าง
เมย์ : “นอกจากทักษะด้านกฎหมายซึ่งมีความจำเป็นอยู่แล้วสำหรับการแข่งขันโต้เถียงปัญหากฎหมาย อีกทักษะนึงที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือทักษะของการสื่อสารค่ะ คือการสื่อสารที่ว่าเนี่ยเริ่มตั้งแต่การเขียน memo ให้กรรมการเข้าใจชัดในประเด็น จนถึงการพูดนำเสนอซึ่งเป็นการแถลงการณ์ปิดคดีด้วยวาจา ซึ่งในส่วนของการเขียนเนี่ยมันอาจจะเป็นความถนัดอยู่แล้วเพราะว่าเวลาเรียนกฎหมายเนี่ยเราก็ต้องตอบข้อสอบอัตนัยอยู่แล้วค่ะ แล้วอีกอย่างนึงกรรมการที่เขาตรวจเนี่ยเขาก็เป็นนักกฎหมายอยู่แล้ว แต่ว่าในเรื่องของการพูดเนี่ยค่ะ คนที่ดูเราเนี่ยไม่ได้มีแค่คณะกรรมการแล้ว คนอื่นก็จะมาดูเราด้วยไม่ว่าจะเป็นนักศึกษากฎหมาย หรือคนที่อาจจะไม่ได้เรียนกฎหมาย เพราะฉะนั้นแล้วเราก็ต้องสร้างทักษะการสื่อสารโดยการพูดให้คนที่ ไม่ได้เป็นคณะกรรมการ ไม่ได้รู้ข้อเท็จจริงในโจทย์ สามารถเข้าใจสิ่งที่เรานำเสนอได้ด้วย”
ธนวัฒน์ : “ก็สำหรับภูมิก็เหมือนว่าการแข่งมูทคอร์ทมันคือนำทุกสิ่งที่เราเคยเรียนมาทั้งในเลคเชอร์หลาย ๆ อย่างมาสังเคราะห์กับข้อเท็จจริงเพื่อออกมาเป็นสิ่งที่เราจะพูดครับ แต่ว่าของภูมิในเรื่องของการพูดครับ การพูดคือด้วยความเป็นรายการแรกที่แข่งเกี่ยวกับการพูดเลยทำให้เราอาจจะต้องมีการพัฒนาเรื่องการพูดมากกว่าเดิม แต่สิ่งที่ต้องใช้ทักษะจริง ๆ ในการแข่งรายการนี้ หนึ่งก็คือ ถ้าเป็นไปได้นะครับ คนแข่งถ้าเป็นคนที่รู้กฎหมาย เข้าใจตัวบทกฎหมายอย่างจริง ๆ มันจะได้เปรียบกว่าคนที่อาจจะไม่ได้ถนัดในข้อกฎหมาย เพราะว่าการพูดเป็นส่วนหนึ่งครับ การพูดเป็นเรื่องของการ present ที่สามารถทำให้กรรมการเข้าใจ แต่สิ่งที่มันจะทำให้กรรมการเชื่อเราหรือไม่อะมันเป็นเรื่องของข้อกฎหมายและเหตุผล ซึ่งตรงนี้ถ้าเราไม่มีความรู้หรือไม่มีองค์ประกอบในเรื่องของข้อกฎหมายที่เราได้เรียนมาเนี่ยมันก็จะทำให้เราไม่สามารถที่จะทำให้กรรมการเชื่อแล้วก็คล้อยตามเราได้ครับ”
คำถาม (8) : คิดอย่างไรกับรูปแบบการแข่งขัน โจทย์เดียวตลอดการแข่งขัน และเก็บคะแนน
ธนวัฒน์ : “สำหรับภูมินะครับ คือภูมิรู้สึกว่าการจัดแข่งแบบนี้คือส่วนตัวคือชอบมากครับ เพราะว่าด้วยความที่พอเป็นโจทย์เดียว เราสามารถที่จะทำเต็มที่กับโจทย์นี้ได้ โดยจากตอนแรกภูมิไม่รู้เลยครับว่า การเล่นแชร์คืออะไร เขาเล่นกันยังไง และมีปัญหาอะไรบ้างที่อาจเกิดขึ้นได้จากการเล่นแชร์ แต่พอเราได้มีการมาทำตรงนี้แล้วใช้เวลากับโจทย์ตรงนี้ครับ มันเปรียบเสมือนว่าเราได้เข้าไปเป็นทนายของคน ๆ นี้จริง ๆ ทำให้เราไปศึกษาว่าการเล่นแชร์เขาเล่นกันยังไง เขามีสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้อะไรบ้าง ซึ่งตรงนี้สำหรับภูมินะครับ ภูมิรู้สึกว่าการที่มีแค่โจทย์เดียว มันทำให้ผู้เข้าแข่งขันสามารถที่จะโฟกัสในเรื่องนี้ได้แล้วหาความรู้ได้อย่างเต็มที่ในเรื่องนี้ครับ และสำหรับการแข่งขันในรูปแบบเก็บคะแนน สำหรับภูมิ ภูมิรู้สึกว่าการเก็บคะแนนทำให้ทุกทีมมีโอกาสเข้ารอบครับ เพราะในบางครั้งทีมที่เจอกันก็เป็นทีมที่มีความสามารถทั้งคู่ และการแข่งในรูปแบบนี้จะให้ทีมที่เจอกันมีโอกาสเข้ารอบครับ แม้อาจจะแพ้อีกทีมก็ตาม ส่วนตัวเลยรู้สึกชื่นชอบกับการแข่งขันโดยวิธีการเก็บคะแนนครับ”
เมย์ : “เห็นด้วยกับพี่ภูมิค่ะในเรื่องของการที่ได้โจทย์เดียวแล้วทำให้เราเข้าใจเนื้อหาของกฎหมายที่ให้มามากขึ้น แล้วอีกอย่างนึงเรารู้สึกว่าโจทย์เดียวอะมันเปรียบเทียบง่ายด้วย อย่างตอนครั้งแรกรอบคัดเลือกเนี่ย เราก็ยังรู้สึกว่าเรายังไม่ได้เข้าใจตรงนั้นมาก ไม่ได้เข้าใจในข้อเท็จจริง ไม่ได้เข้าใจในข้อกฎหมายมาก แต่พอเราได้ฟังคอมเม้นต์ของคณะกรรมการอย่างนี้ เราก็ได้กลับมาทบทวนตัว memo ของเราอีกครั้ง ถ้าสำหรับเมย์นะ เมย์คิดว่ามันพัฒนาทักษะของการเขียน memo อะได้มากขึ้นกว่ารอบก่อน แล้วก็ขอขอบคุณคณะกรรมการ เพราะว่าคณะกรรมการเนี่ยคอมเม้นต์มาดีมาก เราได้นำส่วนที่คณะกรรมการคอมเม้นต์เนี่ยมาปรับใช้ได้จริง ๆ ค่ะในรอบถัดไป”
คำถาม (9) : สิ่งที่ได้รับจากการแข่งขัน
ธนวัฒน์ : “อย่างแรกที่ได้เลยนะครับก็คือประสบการณ์ครับ เพราะการแข่งขันรายการนี้นอกจากจะทำให้เราสามารถที่จะพัฒนาบุคลิกภาพ และความสามารถในการมองกฎหมายแล้ว รายการนี้ยังให้ประสบการณ์กับผมทำให้ผมได้มีโอกาสได้พูดต่อหน้าท่านผู้พิพากษา ท่านอัยการ และท่านทนายความที่เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย และผมยังได้รับคำแนะนำ และแนวทางในการเป็นพัฒนาจากท่านกรรมการ ซึ่งจะทำให้เราสามารถกลับไปพัฒนาตัวเองได้ครับ อีกทั้งรายการนี้ยังเป็นรายการที่ทำให้ผมรู้ว่าการใช้กฎหมายจากความรู้ที่เราได้เรียนมาครับ ว่าเราใช้กฎหมายถูกหรือไม่ เราเข้าใจกฎหมายที่เราเรียนมาจริง ๆ หรือไม่ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมได้รับจากการแข่งขันครับ”
เมย์ : “ส่วนของเมย์ก็น่าจะเป็นการได้พิสูจน์ตัวเองค่ะ อันนี้หมายถึงว่าได้พิสูจน์ตัวเองในเรื่องการเล่าเรียนกฎหมายที่ผ่านมาเนี่ย เราสามารถนำส่วนที่ได้รับมามาส่งออกได้มากแค่ไหน ซึ่งอย่างที่บอกว่ามันได้หลายทางอะ ทั้งด้านการเขียน ด้านการพูด การอธิบายกฎหมาย แล้วก็อีกอย่างนึงกฎหมายบางตัวอย่างพระราชบัญญัติการเล่นแชร์อย่างนี้ค่ะ จากที่เราไม่รู้เลยอะ เราก็ได้รู้ว่ากฎหมายตัวนี้มันก็มีความสำคัญมากเหมือนกันในยุคปัจจุบันที่มีการเล่นแชร์กันมากขึ้น แล้วก็บางอย่างเนี่ยบอกว่าเป็นการเล่นแชร์ก็จริง แต่จริง ๆ แล้วมันอาจจะเป็นการแอบอ้างก็ได้ ก็เนี่ยทำให้รู้สึกว่าเราอะได้ใช้กฎหมายแบบจริง ๆ”
คำถาม (10) : ฝากถึงผู้เข้าแข่งขันในปีนี้
ธนวัฒน์ : “อย่างของรามต้องบอกก่อนเลยครับว่าของรามจะไม่เหมือนมหาลัยอื่น ก็คือเราเป็นตลาดวิชา เราเป็นมหาวิทยาลัยเปิด ดังนั้นอาจมีหลายนคนที่ไม่มีโอกาส หรืออาจคิดว่าตัวเองยังไม่พร้อมที่จะแข่งรายการนี้ ผมอยากบอกเพื่อน ๆ และน้อง ๆ ทุกคนนะครับว่า ผมเป็นคนที่ไม่มีทักษะเรื่องการพูดเลย แต่ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เราสามารถที่จะฝึกได้ครับ ซึ่งอาจารย์ท่านหนึ่งในคณะได้บอกกับผมว่า “ ยิ่งเรารู้ว่าเราไม่เก่งเรายิ่งต้องพยายามมากกว่าคนอื่น” เพราะฉะนั้นผมอยากให้เพื่อน ๆ หรือว่ารุ่นน้อง ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ทุกมหาลัย สมัครเข้าร่วมแข่งขันในรายการนี้ เพื่อที่จะทำให้เราได้รู้ว่าตัวเราเหมาะกับอะไรครับ เพราะการแข่งรายการนี้อย่างที่ผมบอกว่าเป็นรายการที่สร้างประโยชน์มากให้กับตัวเด็กคนนึง เพราะรายการนี้จะทำให้เรารู้ว่าเราชอบการเป็นทนายหรือไม่ เราเข้าใจตัวบทกฎหมายอย่างแท้จริง ๆ หรือไม่ ดังนั้นผมอยากเชิญชวนให้น้อง ๆ ทุกคนที่อยากจะพัฒนาตัวเอง เข้าร่วมการแข่งขันในรายการนี้ครับ สุดท้ายนี้ผมอยากขอบคุณทางผู้เกี่ยวข้องในการจัดการแข่งขันรายการนี้ด้วยนะครับที่ได้จัดการแข่งขันรายการนี้ขึ้นมาครับ และขอขอบคุณทางมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ให้โอกาสผมได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมแข่งขันในรายการนี้ครับ ผมได้รับประโยชน์จากรายการนี้มาก ๆ ครับ”
เมย์ : “เรายึดถือคติว่าไม่ลองไม่รู้ค่ะ ก็อยากให้มาลองจริง ๆ เพราะถือว่าเป็นเวทีที่ทำให้เราได้พิสูจน์ตัวเองด้วย หลายๆ คนมักจะพูดกับเราว่ายังไม่เก่ง ทำไม่ได้ ซึ่งเราเองก็ไม่ใช่คนเก่งเหมือนกันค่ะ แต่เราอยากท้าทาย อยากพิสูจน์ ถ้าเรารอให้ตัวเองเก่ง เราก็คงจะไม่ได้พิสูจน์ เพราะฉะนั้นแล้ว เรามาใช้ความพยายามและความสามารถที่เรามีในการต่อสู้จะดีกว่าค่ะ ผลออกมาเป็นยังไงไม่สำคัญเท่าเราได้ทำอะไร”
ถ่ายภาพ Pump
แต่งภาพ ST
เรียบเรียง ผศ.ดร.กรศุทธิ์