สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการเรื่อง “ประเด็นสำคัญในการศึกษาคนไทยในต่างประเทศ : กรณีศึกษาคนไทยไร้สัญชาติในญี่ปุ่น” จัดโดยศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 15.30 – 18.30 น. ผ่านระบบ Cisco Webex Meetings และ Facebook Live ทาง Facebook Page : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- อาจารย์ ดร.พัทยา เรือนแก้ว นักวิชาการอิสระ และประธานสมาคมเครือข่ายคนไทยในต่างประเทศ ณ ประเทศเยอรมนี
- อาจารย์บงกช นภาอัมพร นักศึกษาปริญญาเอกของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
- อาจารย์พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ นักศึกษาปริญญาเอกของคณะนิติศาสตร์ ควีนแมร์รี่ มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร / อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ
- รองศาสตราจารย์ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายวัฒนกร อุทัยวิวัฒน์กุล นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
อาจารย์บงกช นภาอัมพร นักศึกษาปริญญาเอกของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย (วิทยากร) :
ประเด็นที่อยากจะแลกเปลี่ยนมี 5 ประเด็น ดังนี้
(1) แรงบันดาลใจและจุดเริ่มต้นการศึกษาประเด็นคนไทยไร้สัญชาติในต่างประเทศ : จุดเริ่มต้นของการศึกษา คือ การศึกษาเรื่องราวของแม่อายและ “คนกลุ่ม 5” ซึ่งคนกลุ่ม 5 หมายถึง การแบ่งคนไร้สัญชาติออกเป็น 5 กลุ่ม โดยคนกลุ่มที่ 1 – 4 เป็นคนไร้สัญชาติที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทย การแก้ไขปัญหาจะมีกฎหมายไทยเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนกลุ่มที่ 5 เป็นคนไร้สัญชาติที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับต่างประเทศ การศึกษาเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจคนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยก่อน เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกของคนไทยไร้สัญชาติในต่างประเทศ เพราะปัญหาของคนไร้สัญชาติมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ตัวอย่างกรณีศึกษา เช่น กรณีของคุณพรทิพย์ ม่วงทอง เป็นคนไร้สัญชาติ แต่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร์ ต้องการจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยและย้ายไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น หรือกรณีของคุณฟอง เลวัน เกิดที่ไทย มีมารดาเป็นคนไทยเชื้อสายเวียดนาม ซึ่งสมัยก่อนประเทศไทยมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นภัยต่อความมั่นคง การอยู่ในประเทศไทยเลยถูกกีดกันและมีความยากลำบาก จึงต้องปลอมหนังสือเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อทำงานที่นั้น เป็นต้น
(2) ความสำคัญของปัญหาและการศึกษาประเด็นคนไทยไร้สัญชาติในต่างประเทศ : ปัญหาคนไทยไร้สัญชาติในต่างประเทศมีความสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับหลักต่างตอบแทนในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือการทูตการกงสุล กล่าวคือ หากประเทศไทยปฏิบัติต่อคนประเทศอื่นดี ต่างประเทศก็จะปฏิบัติต่อคนไทยในต่างประเทศดีเช่นกัน โดยการแก้ไขปัญหาต้องใช้แนวคิดแบบสหวิทยาการ ซึ่งต้องอาศัยความรู้กฎหมาย ความรู้รัฐศาสตร์ การศึกษากฎหมายเปรียบเทียบ และทักษะในทางปฏิบัติ
(3) มาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอันสำคัญ : ตัวอย่างพัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องคนไร้สัญชาติ เช่น UDHR (1948) European Convention on HRs (1950) Convention relating to the Status of Refugees (1951) Convention relating to the Status of Stateless Persons (1954) Convention on the Reduction of Stateless (1961) CERD (1965) ICCPR&ICESCR (1966) American Convention on HRs (1969) CEDAW (1979) African Charter on Human and People’s Rights (1981) CAT (1984) CRC (1989) ICMIW (1990) European Convention on Nationality (1997) CRPD (2006) ASEAN HRs Declaration (2012)
(4) สถานการณ์คนไทยไร้สัญชาติในญี่ปุ่นและรูปแบบปัญหาที่พบในญี่ปุ่น : ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้คนถือสัญชาติเดียว ซึ่งตามบันทึกในปี 2020 ประเทศญี่ปุ่นมีคนไร้สัญชาติจำนวน 707 คน โดยปัญหาคนไร้สัญชาติที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ (1) คนไร้สัญชาติที่อยู่ในประเทศไทย แล้วเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในขณะที่ตนเองไร้สัญชาติ เช่น กรณีคุณพรทิพย์ ม่วงทอง กรณีคุณฟองเลวัน กรณีบุตรนอกสมรสของมารดาไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศญี่ปุ่นแต่บิดาสัญชาติญี่ปุ่นไม่รับรองบุตร เป็นต้น (2) คนที่มีสัญชาติไทย แต่อพยพออกจากประเทศไทยแล้วตกเป็นคนไร้สัญชาติในประเทศญี่ปุ่น เช่น กรณีหญิงไทยสละสัญชาติไทยเพื่อขอสัญชาติสามี กรณีบุตรนอกสมรสของมารดาสัญชาติไทยที่เกิดในประเทศญี่ปุ่นแต่บิดาสัญชาติญี่ปุ่นไม่รับรองบุตร เป็นต้น
(5) การศึกษาในประเด็นคนไทยไร้สัญชาติในญี่ปุ่น : วิทยานิพนธ์ที่กำลังทำอยู่ชื่อว่า “Negotiating identities and inclusion: Analysis of interactions between stateless migrants and the state where they have legal connection (The case of stateless persons from Thailand in Japan)” เป็นวิทยานิพนธ์ที่วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับรัฐ โดยศึกษาคนไร้สัญชาติที่เดินทางจากประเทศไทยไปประเทศญี่ปุ่นว่าบุคคลดังกล่าวเจรจากับรัฐอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติตามกระบวนการของกฎหมาย และรัฐมีการดำเนินการหรือตอบโต้ต่อบุคคลไร้สัญชาติอย่างไร ซึ่งหวังว่าวิทยานิพนธ์นี้จะช่วยให้คนไทยไร้สัญชาติกลับมามีบทบาทหรือตัวตนอีกครั้งและหวังว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะสร้างมาตรฐานหรือความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติ
อาจารย์ ดร.พัทยา เรือนแก้ว นักวิชาการอิสระ และประธานสมาคมเครือข่ายคนไทยในต่างประเทศ ณ ประเทศเยอรมนี (วิทยากร) :
จากการรับฟังแนวคิดวิทยานิพนธ์ของอาจารย์บงกช นภาอัมพร มีข้อแนะนำ คือ อยากให้ลองศึกษาความเป็นพลวัตของคนไร้สัญชาติที่อพยพมา กล่าวคือ อยากให้มองปัญหาของคนไร้สัญชาติที่อพยพย้ายถิ่นฐานทั้งปัญหาเบื้องหลังและปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตัวอย่างเช่น กรณีผู้หญิงไร้สัญชาติหรือมีสัญชาติไทยแต่ภายหลังถูกยึดเอกสารระบุตัวตนทำให้ไร้สัญชาติเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อแต่งงาน แต่พอแต่งงานและให้กำเนิดบุตร บิดากลับไม่รับรองความเป็นบุตร ๆ จึงตกเป็นคนไร้สัญชาติและไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่นได้อย่างสะดวก ตัวอย่างนี้เป็นผลพ่วงจากปัญหาคนไร้สัญชาติที่อพยพย้ายถิ่นฐาน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ละเลยต่อปัญหานี้อย่างมาก เห็นได้จากกรณีคนไร้สัญชาติหรือคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในมหาชัย เมื่อคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่นานเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็จะเกิดชุมชนขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลพ่วงของปัญหาคนไร้สัญชาติที่อพยพมาขยายใหญ่ขึ้น
อาจารย์พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ นักศึกษาปริญญาเอกของคณะนิติศาสตร์ ควีนแมร์รี่ มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ / อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
สิ่งที่อยากแลกเปลี่ยน คือ (1) การมองปัญหาคนไทยไร้สัญชาติในต่างประเทศไม่ควรมองเฉพาะในมุมของประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองด้วยว่าปัญหาในลักษณะเดียวกันที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ๆ มีวิธีการจัดการกับปัญหาเรื่องคนไร้สัญชาติอย่างไร เพื่อให้มีมุมมองการแก้ไขปัญหากว้างขึ้น (2) การทำวิจัยในประเทศไทยอาจไม่ค่อยมีการใช้วิธีศึกษาแบบสหวิทยาการ (Interdisciplinary) เพราะประเทศไทยไม่มีนิยามหรือกระบวนการแบบสหวิทยาการที่ชัดเจน ดังนั้น หากมีนักศึกษาวิจัยเข้ามาร่วมฟังเสวนา อยากอธิบายว่าวิธีการศึกษาแบบสหวิทยาการ คือ การศึกษาโดยไม่ปฏิเสธความรู้สาขาหรือศาสตร์อื่น ๆ เช่น การศึกษาวิจัยที่มีทั้งมุมมองของกฎหมาย รัฐศาสตร์ และมิติของคน เป็นต้น
สิ่งที่อยากตั้งคำถามกับวิทยานิพนธ์ของอาจารย์บงกช นภาอัมพร คือ วิทยานิพนธ์ของอาจารย์บงกชมีการศึกษาปัญหาสิทธิของคนไร้สัญชาติทั้งที่ไร้สัญชาติตั้งแต่กำเนิดหรือเคยมีสัญชาติแต่สูญเสียสัญชาติจากการอพยพไปต่างประเทศในระหว่างรอกระบวนการรับสัญชาติใหม่หรือไม่
รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ) :
การจำแนกการถือสัญชาติของคนไทยในต่างประเทศ แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ (1) คนถือสัญชาติไทย (2) คนไม่ถือสัญชาติไทย แต่ถือสัญชาติของรัฐต่างประเทศ (3) คนถือสัญชาติของรัฐไทยควบคู่กับสัญชาติของรัฐต่างประเทศ (4) คนไม่ถือสัญชาติของรัฐใด (คนไร้สัญชาติ) โดยในกรณีของคนไร้สัญชาติ ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 28 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิแก่คนไร้สัญชาติหรือคนต่างด้าวที่ถือเอกสารการเดินทางที่รัฐบาลไทยเป็นผู้ออกให้ สามารถจดทะเบียนเป็นคนเกิด คนตาย และจดทะเบียนราษฎรอื่นที่มีขึ้นนอกราชอาณาจักรได้ ซึ่งมีนายทะเบียน (กงสุลไทยหรือข้าราชการสถานทูตไทยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแต่งตั้ง) เป็นผู้รับจดทะเบียน และเมื่อนายทะเบียน จดทะเบียนให้แล้ว เอกสารหลักฐานของการจดทะเบียนคนเกิดและคนตายสามารถใช้เป็นสูติบัตรและมรณบัตรได้ ข้อกฎหมายนี้อาจนำมาปรับใช้กับการศึกษากรณีตัวอย่างในวิทยานิพนธ์ของอาจารย์บงกชได้
อาจารย์บงกช นภาอัมพร นักศึกษาปริญญาเอกของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย (วิทยากร) :
เห็นด้วยกับสิ่งที่อาจารย์ ดร.พัทยา เรือนแก้ว แนะนำว่าควรศึกษาปัญหาคนไร้สัญชาติให้ครอบคลุมถึงพลวัตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เห็นปัญหาคนไร้สัญชาติปัญหาใดปัญหาหนึ่ง แล้วแก้ปัญหานั้นเพียงปัญหาเดียว โดยฉพาะสถานการณ์ที่โลกเผชิญกับโควิด ยิ่งทำให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนไร้สัญชาติมากขึ้น ส่วนการสัมภาษณ์จะใช้วิธี Semi – structured Interview หรือการสัมภาษณ์ชนิดกึ่งโครงสร้าง โดยจะทำการสัมภาษณ์กับกลุ่มคนไร้สัญชาติ เจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนกลุ่มบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือคนไร้สัญชาติ เช่น นักกฎหมาย NGOs เพื่อรวบรวมข้อมูลว่าบุคคลเหล่านี้มีการตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร
รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ) :
หากอาจารย์บงกช นภาอัมพร หากรณีศึกษาตัวอย่างไม่ได้ อาจนำเอาข้อมูลที่เชื่อถือได้มาสร้างเป็นตุ๊กตาสมมติ
อาจารย์ ดร.พัทยา เรือนแก้ว นักวิชาการอิสระ และประธานสมาคมเครือข่ายคนไทยในต่างประเทศ ณ ประเทศเยอรมนี (วิทยากร) :
กรณี Case เด็กไร้สัญชาติ อาจค้นหาได้จากสถานที่เลี้ยงเด็กกำพร้าเพราะสามารถพบกรณีศึกษาได้ง่ายกว่า ส่วนเรื่องการสัมภาษณ์ Case ต่าง ๆ มีวิธีการสัมภาษณ์หนึ่งที่น่าสนใจ คือ การสัมภาษณ์อัตชีวประวัติเชิงบรรยาย ซึ่งจะทำให้เห็นช่วงชีวิตหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตของคนไร้สัญชาติ ดังนั้น ในการสัมภาษณ์คนไร้สัญชาติ อาจเลือกใช้การสัมภาษณ์อัตชีวประวัติเชิงบรรยาย ส่วนการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐหรือกลุ่มบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือคนไร้สัญชาติ อาจเลือกใช้การสัมภาษณ์แบบ Semi – structured Interview
รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ) :
การเข้าไปแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือหารือข้อกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสังคมปัจจุบันกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อช่วยเหลือคนไร้สัญชาติ ต้องเตรียมข้อมูลของคนไร้สัญชาติและข้อกฎหมายให้ละเอียด เพราะ 10 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการใช้อำนาจนิยมโดยมีการกล่าวหาให้ความผิดหรือเลือกปฏิบัติต่อคนไร้สัญชาติอยู่มากซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปัจจุบันเข้าสู่สังคมสูงวัย ก็ควรมีการให้สัญชาติแก่ผู้ที่สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศได้ เช่น ในประเทศเยอรมันมีนโยบายรับผู้ลี้ภัยที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ หากคนไร้สัญชาติใดที่เกิดในประเทศไทยและมีบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย คนไร้สัญชาตินั้นก็ต้องได้รับสัญชาติไทย เพราะเขามีจุดเกาะเกี่ยวบางอย่างกับประเทศไทย แม้ว่าบางกรณีเขาจะมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐต่างประเทศอื่นก็ตาม
อาจารย์บงกช นภาอัมพร นักศึกษาปริญญาเอกของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย (วิทยากร) :
เมื่อศึกษาเรื่องคนไทยไร้สัญชาติในต่างประเทศ เกิดคำถามว่า “คนไทย” หมายถึงใคร
รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ) :
ความเห็นส่วนตัว มองว่า คนไทยคือคนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทย ซึ่งคนนั้นอาจจะอพยพมาจากรัฐอื่น แต่ต่อมาอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็มองว่าเป็นคนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทย ในมาตรฐานสากลโลกนั้น กฎหมายหลาย ๆ ประเทศมักกำหนดคุณสมบัติให้การขอแปลงสัญชาติไว้ โดยต้องอยู่ในรัฐที่จะขอแปลงสัญชาติเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี ปัจจุบันประเทศไทยกำหนดไว้อย่างน้อย 5 ปี เช่นเดียวกัน แต่ขณะนี้ฝ่ายความมั่นคงพยายามจะแก้กฎหมายโดยให้เปลี่ยนจากอย่างน้อย 5 ปี เป็น 15 ปี ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นการยื้อความเจริญของประเทศไทยไว้ เพราะคนต่างด้าวหรือคนสัญชาติรัฐอื่นที่อยู่ในประเทศไทยและมีความสามารถในการพัฒนาประเทศควรได้รับสัญชาติไทย
อาจารย์พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ นักศึกษาปริญญาเอกของคณะนิติศาสตร์ ควีนแมร์รี่ มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ / อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
การค้นหาความหมายว่าคนไทยคือใคร มองว่า เป็นการเรียนรู้ในรายละเอียด เพราะจากการศึกษาค้นคว้ากฎหมายสัญชาติก่อนปี พ.ศ. 2456 พบว่า ประเทศไทยไม่ค่อยมีการศึกษาว่าคนไทยในประเทศไทยตั้งแต่ดั้งเดิมจนปัจจุบันเป็นใครบ้าง ทำให้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง กฎหมายสัญชาติของประเทศไทยมีการดูแลคนอพยพย้ายถิ่นดีกว่าคนที่อยู่ประเทศไทยมาตั้งแต่ดั้งเดิม นอกจากนี้ ประเทศไทยไม่ค่อยดูแลคนสัญชาติไทยที่ตกระกำลำบากในรัฐต่างประเทศ เช่น การถูกค้ามนุษย์ในต่างประเทศ อันสะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐในประเทศไทยยังไม่มีการดูแลและช่วยแหลืออย่างเป็นระบบ
อาจารย์บงกช นภาอัมพร นักศึกษาปริญญาเอกของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย (วิทยากร) :
ปัญหาอย่างหนึ่งที่เห็นแล้วพยายามสื่อสาร คือ บางช่วงประเทศไทยทำการเมืองระหว่างประเทศดี เช่น มีการเจราจาต่อรองกับรัฐต่างประเทศ แต่ในปัจจุบันประเทศไทยทำการเมืองระหว่างประเทศไม่ค่อยดี ส่งผลต่อการดูแลคนไทยในรัฐต่างประเทศ เช่น การจัดการแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยที่ประเทศไทยพยายามไปทำ MOU การพิสูจน์สัญชาติ แต่ก็ยังไม่สำเร็จ
อาจารย์ ดร.พัทยา เรือนแก้ว นักวิชาการอิสระ และประธานสมาคมเครือข่ายคนไทยในต่างประเทศ ณ ประเทศเยอรมนี (วิทยากร) :
กฎหมายหลาย ๆ ฉบับในประเทศไทยมีความเป็น Gender Bias ที่แฝงแนวคิดการนิยมชายเป็นใหญ่ ไม่ค่อยสนใจผู้หญิง ตัวอย่างเช่น ช่วงหนึ่งของกฎหมายสัญชาติถ้ามารดาเป็นคนต่างด้าวแล้วคลอดบุตร ๆ จะไม่ได้รับสัญชาติไทย หากพิสูจน์ถึงบิดาไม่ได้ หรือช่วงหนึ่งที่กฎหมายกำหนดให้หญิงที่จดทะเบียนสมรสแล้ว ต้องใช้นามสกุลของชายผู้เป็นสามี ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดและทัศนคติของผู้บริหารประเทศที่ละเลยการมองปัญหาของคนไทย นอกจากนี้ มองว่างานวิจัยในประเทศไทยมีจำกัด เพราะบางครั้งหลาย ๆ หัวข้อของงานวิจัยถูกกำหนดโดยผู้บริหาร หากนักวิชาการใดประสงค์จะทำหัวข้อแตกต่างจากที่ผู้บริหารกำหนดต้องหาเงินจากต่างประเทศหรือองค์กรอื่นใดที่สนับสนุนงานวิจัยเอง