มุมมองอาจารย์กับการจัดการความเครียด 101 : รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท
บทสัมภาษณ์โดยศูนย์ดูแลสุขภาวะของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Law TU Health & Wellness)
คำถาม (1) : ประวัติส่วนตัว และแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมาย
“สวัสดีครับ ผมชื่อปกป้อง ศรีสนิท ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนเรียนมัธยมแรงบันดาลใจในการเรียนกฎหมายไม่มีครับ ผมตัดสินใจมาเรียนกฎหมายเพราะเมื่อตอน ม.4 ผมสอบเทียบ ม.6 ได้ และคุณพ่อของผมแนะนำให้ลองสอบ Entrance คณะนิติศาสตร์ ผมก็เลยลองดู แล้วก็เกิดสอบติดขึ้นมา ทำให้ผมได้มาเรียนกฎหมายตั้งแต่อายุ 16 ปี ครับ”
คำถาม (2) : ความสุขในการศึกษากฎหมาย และเหตุผลที่เลือกประกอบวิชาชีพอาจารย์
“ความสุขในการเรียนกฎหมายของผม คือ การที่ได้เห็นความเป็นเหตุเป็นผลของกฎหมายแต่ละเรื่อง รวมทั้งการตีความกฎหมายต่าง ๆ อย่างมีเหตุมีผล สามารถอธิบายได้อย่างเป็นธรรม ผมมองว่ามันคือความสุขในการศึกษากฎหมายของผมนะ
ส่วนเหตุผลที่เลือกประกอบวิชาชีพอาจารย์ ในตอนศึกษากฎหมายช่วงแรก ๆ ผมก็ยังไม่มีเส้นทางไปไหน ผมก็เรียนกฎหมายจนจบปี 4 ซึ่งระหว่างที่ยังเรียนอยู่ก็คุยกับเพื่อน ๆ คุยกับคนรู้จัก และคุยกับครอบครัว ส่วนใหญ่ก็จะแนะนำเส้นทางวิชาชีพกฎหมายหลายเส้นทาง ทั้งสายผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ ฯลฯ แต่สุดท้ายในตอนนั้นผมก็เลือกว่าผมคงไปสอบผู้พิพากษาหรืออัยการ แต่พอเรียนจบป.ตรี ผมก็ไปเรียนเนติฯ และเนื่องจากผมสอบเทียบได้ ผมเลยจบป.ตรีตอนอายุ 20 ปี ทำให้พอสอบเนติฯ ได้ตอนอายุ 21 ปี ก็มีเวลาอีกตั้ง 4 ปีที่จะมีสิทธิสอบผู้พิพากษาหรืออัยการ เผอิญว่าคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์เปิดรับสมัครอาจารย์สาขาอาญาพอดี ผมก็เลยลองมาสมัครและเผอิญสอบได้ จึงทำให้ผมเข้าสู่เส้นทางของการเป็นอาจารย์ และช่วงที่เป็นอาจารย์เหมือนค้นพบอะไรบางอย่างของตัวเอง คิดว่าวิชาชีพอาจารย์ก็น่าสนใจนะ สนุกดี รู้สึกชอบ ผมเลยเลิกล้มความคิดที่จะไปสอบวิชาชีพกฎหมายอื่น ๆ และก็เป็นอาจารย์มาตั้งแต่ 11 มกราคม พ.ศ. 2542 ตอนนี้ก็เป็นมา 23 ปีแล้ว และตั้งแต่เป็นอาจารย์ที่นิติธรรมศาสตร์ ก็ไม่ได้คิดจะเปลี่ยนวิชาชีพหรือไปที่ไหน คิดว่านี่แหละคือ เป็นอาชีพที่เราชอบและเหมาะสมกับเรา และก็คงอยู่ที่นี่ตลอดครับ”
คำถาม (3) : กิจกรรมและงานอดิเรกระหว่างศึกษา และเทคนิคการบริหารจัดการเวลาระหว่างการเรียนและการใช้ชีวิต
“ผมเรียนและทำกิจกรรมอยู่หลายอย่าง ตั้งแต่ปี 2-4 เรื่องการแบ่งเวลา ผมมองว่าไม่มีสูตรสำเร็จ ปัจจัยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผมคิดว่าทุกคนมีคำตอบในตัวเอง เพราะทุกคนโตเป็นผู้ใหญ่และรับผิดชอบตัวเองได้หมดแล้ว สำหรับคำแนะนำของผมในการบริหารเวลาคือ ใช้ความรู้สึกของตัวเองในการแบ่งเวลา เพราะตัวเราเองจะตอบได้ว่า ตอนนี้เราเรียนหนักไปแล้วเริ่มรู้สึกไม่ไหวแล้ว ก็แบ่งเวลาไปพักผ่อนไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ในทางกลับกันเมื่อทำกิจกรรมถึงจุดหนึ่ง คุณก็จะรู้สึกว่าเรียนไม่ทันแล้ว สิ่งนั้นคือสัญญาณที่คุณจะต้องแบ่งเวลาให้กับการเรียนบ้างแล้วนั่นเอง”
คำถาม (4) : เมื่อมีความเครียด อาจารย์มีวิธีจัดการอย่างไร
“สมัยที่ผมเรียนหนังสือ ผมก็มีความเครียด มีความกังวล รู้สึกไม่สบายใจแล้วก็ไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการนะ เหมือนนักเรียนนักศึกษาทุกคนนั่นแหละ เป็นเรื่องธรรมดา ในเรื่องของวิธีการจัดการความเครียด ผมก็พักผ่อน หาสิ่งที่ชอบทำ บางทีจมอยู่กับความเครียด ใช้ความคิดพยายามแก้ปัญหามันก็แก้ไม่ได้ แต่พอไปทำอย่างอื่น มันนึกทางแก้ปัญหาออกขึ้นมาอย่างนั้น”
คำถาม (5) : วิชาที่ไม่ชอบหรือรู้สึกว่ายากมาก ๆ และมีวิธีการจัดการกับวิชาเหล่านั้น
“ผมจำไม่ได้ว่ามีวิชาอะไรที่ไม่ชอบ ผมจำได้แต่วิชาที่ผมชอบนะ ผมชอบเรียนแพ่ง อาญาตอนเรียนป.ตรี ผมรู้สึกเฉยๆ แต่เวลาไปเรียนเนติฯ ได้ฟังอาจารย์เกียรติขจรบรรยาย กลายเป็นชอบอาญามาตั้งแต่นั้น อาจารย์เกียรติขจรเป็นต้นแบบทางอาญาของผมเลย สำหรับเทคนิคในการเรียนวิชาที่ผมไม่ชอบ คือ ผมรู้สึกว่าเมื่อเรามีหน้าที่เรียน เราก็ต้องเรียนมันไปให้ได้ และสร้างรางวัลให้กับตัวเองบ้าง หากต้องเรียนวิชาที่ไม่ชอบ”
คำถาม (6) : เมื่อมีสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังเกิดขึ้น มีวิธีจัดการอย่างไร
“ทำใจ ปล่อยวางมันลงไป ผมได้คำแนะนำดี ๆ จากคนรู้จัก แล้วก็นำมาปรับใช้กับชีวิตตัวเอง เวลาเจอปัญหาอะไรก็แล้วแต่ พยายามหาสาเหตุของปัญหาแล้วลงมือแก้ไขปัญหานั้นเต็มความสามารถที่เราจะทำได้ เมื่อเราพยายามอย่างถึงที่สุดแล้ว ผลมันก็มีแค่ 2 อย่าง คือ หนึ่ง เราแก้ปัญหาได้สำเร็จ คุณจะเกิดความภูมิใจ เหมือนยกภูเขาออกจากอก ผลอันที่สองคือแก้ไขไม่ได้ เมื่อคุณพยายามทำทุกทางแล้วมันก็ยังผ่านไปไม่ได้ ก็แค่อยู่เฉยๆปล่อยมันไป กาลเวลาจะช่วยเยียวยาทุกสิ่ง ปัญหาที่พยายามแล้วแก้ไม่ได้มันก็เหมือนเป็นสายลมที่พัดผ่านเราไป เท่านั้น”
คำถาม (7) : ฝากข้อคิดสำหรับนักศึกษา
“ผมอยากให้ทุกคนมีความหวัง ความหวังเป็นสิ่งสำคัญของมนุษย์ ความหวังในที่นี้เริ่มตั้งแต่หวังกับเรื่องของตัวเองก่อนก็ได้ หวังว่าจะจบการศึกษา หวังว่าประกอบวิชาชีพกฎหมายหรืออาจจะไม่ใช่วิชาชีพกฎหมายก็ได้ ที่สุจริต ที่หาเลี้ยงตัวเองชอบ และทำประโยชน์ให้กับสังคมตามความสามารถที่เรามี ความหวังตรงนี้อยากให้พวกเรารักษามันไว้ ให้เรารักษาความหวังอันสวยงามของพวกเราไว้ แล้วเดินสู่ความหวังที่พวกเราวาดไว้ หวังเพื่อตัวคุณเอง หวังเพื่อบ้านเมือง หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคม ความหวังที่ดีเป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น ผมเป็นกำลังใจให้พวกเราเดินตามความหวังของพวกเราครับ”
ภาพ : รศ.ดร.ปกป้อง
เรียบเรียง : Law TU Health & Wellness