กฎหมายและความหลากหลายทางเพศนั้น เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมาอย่างยาวนาน
และก่อให้เกิดประเด็นทางสังคมตามมามากมาย ซึ่งกฎหมายเองก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
กฎหมายจะเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องใดบ้าง และควรมีมาตรการรับมือ แก้ไขเรื่องดังกล่าวอย่างไร #TULAW พาไปหาคำตอบผ่าน เสวนาวิชาการ “สถานการณ์กฎหมายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ”
ในเรื่องของความหลากหลายทางเพศมีประเด็นทางกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องดังนี้
– การสมรสหรือการสร้างครอบครัว
โดยเป็นประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันมากมายในช่วงที่ผ่านมา สำหรับไทยมี 2 กฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ. คู่ชีวิตและ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ทั้งสองกฎหมายนี้แม้จะแตกต่างกันแต่จุดประสงค์ก็เหมือนกันคือการมุ่งรับรองสิทธิของกลุ่มคน LGBTQIA+ ให้สามารถสร้างครอบครัวไปจนถึงการมีบุตรด้วยกันได้ แต่ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาอยู่นั่นเอง
แต่ทั้งนี้การรับรองสิทธิในเรื่องการสร้างครอบครัวและการรับรองบุตรนั้นเป็นเรื่องที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ บางประเทศต้องผลักดันกว่า 20 ปีถึงจะสามารถผลักดันจากคู่ชีวิตไปสู่การสมรสได้ บางประเทศก็เปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกได้เลยว่าต้องการจะใช้คำว่าคู่ชีวิตหรือคู่สมรส รวมทั้งยังมีกรณีที่อนุญาตให้สามารถสมรสได้แต่ไม่เปิดโอกาสให้รับรองบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ ซึ่งกฎหมายไทยเองก็ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันผลักดันต่อไป
– การรับรองเพศหรือการเปลี่ยนแปลงเพศ
การเปลี่ยนคำนำหน้านาม เปลี่ยนเพศ นั้นมีการต่อสู้ในกลุ่มของ transgender และ intersex มากขึ้น โดยเป็นการต่อสู้เพื่อทำให้สามารถสมรสกับคนที่เพศกำเนิดเดียวกันได้ รวมทั้งเพื่อให้ได้รับสิทธิ หรือประโยชน์บางอย่างที่เขาควรได้รับในฐานะเพศนั้น ๆ ด้วย ในต่างประเทศก็มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้เช่นกัน แต่สำหรับประเทศไทยนั้นมีการขับเคลื่อนเรื่องสมรสและเรื่องรับรองเพศไปพร้อมกัน จนบางครั้งทำให้เกิดความสับสนขึ้นมา
– การเลือกปฏิบัติ
การเลือกปฏิบัตินั้นไม่ใช่แค่เรื่องทางเพศอย่างเดียวแต่บางครั้งยังรวมถึง เชื้อชาติ ศาสนาด้วย ซึ่งประเทศไทยเองก็มี พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ที่เป็นเหมือนเครื่องมือกลไกที่ให้ผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองถูกเลือกปฏิบัติได้เข้ามาร้องเรียน โดยมีกระบวนการเฉพาะและมีการเยียวยาด้วยเหมือนกัน แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่รู้ถึงการมีอยู่ของกฎหมายนี้ และยังขาดการผลักดันจากองค์กรต่าง ๆ อีกด้วย
– การจัดการความเกลียดชัง
กลุ่ม LGBTQIA+ ถือว่าเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่โดน hate crime หรือ hate speech บ่อยครั้ง จนหลายประเทศต้องออกมาทำการรณรงค์หรือออกกฎหมายต่อต้านเรื่องที่เกี่ยวกับด้านนี้เป็นการเฉพาะ สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการเก็บสถิติที่เกี่ยวกับด้านนี้มากนัก ดังนั้นประเทศไทยเลยยังไม่สามารถรู้ได้ว่า สาเหตุการก่อเหตุฆาตกรรมบุคคลที่เป็น LGBTQIA+ นั้นเกิดมาจากสาเหตุความเกลียดชังหรือไม่
ในส่วนของเรื่องคำพูดที่เป็น hate speech นั้นเกิดให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ แต่ก็เกิดการพัฒนาของคนในสังคมที่ทำการต่อต้านหรือพยายามเรียนรู้เช่นกัน ซึ่งในบางกรณีเราอาจใช้กฎหมายเรื่องหมิ่นประมาทเข้ามาจัดการได้ แต่ทั้งนี้ก็ยังขาดกรณีตัวอย่างหรือบรรทัดฐานที่เอาใช้วัดได้เหมือนเช่นกรณีอื่นอยู่
– เด็กกับ LGBTQIA+
กลุ่มเด็กที่เป็น LGBTQIA+ ยิ่งต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เพราะมีความกดทับที่ซ้ำซ้อนและประเด็นอ่อนไหวที่มากขึ้น เช่น กรณีที่พ่อแม่ โรงเรียน กลุ่มเพื่อน ไม่ยอมรับ ซึ่งเด็กไทยที่เป็น LGBTQIA+ นั้นมักพูดว่าตนเองถูกกลั่นแกล้งจากกลุ่มเพื่อน มากกว่านั้นคือการโดนดูถูกจากอาจารย์อีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เกิดปัญหา ความรุนแรงภายในครอบครัว การหนีออกจากบ้าน การค้าประเวณี หรือการเข้าสู่สังคมยาเสพติด ตามมานั่นเอง
ในเรื่องของเด็กกับ LGBTQIA+ นั้นยังรวมถึงกรณีที่เด็กเติบโตมาภายในครอบครัวที่เป็น LGBTQIA+ ด้วยเช่นกัน การคุ้มครองเด็กกลุ่มนี้ไม่ให้ถูกเหยียดหยามจากสังคมภายนอกจึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่กฎหมายต้องเข้ามาดูแล
นอกจากนี้การรับรองเพศไม่ใช่เป็นเรื่องของการยอมรับเท่านั้น แต่เป็นการรับรองที่มาพร้อมกับสวัสดิการที่ส่งเสริมเพศสภาพเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคด้วย โดยประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องคือเรื่องงบประมาณเพื่อตอบสนองนโยบายเกี่ยวกับเพศ ซึ่งเป็นต้นทุนทางเพศที่เหลื่อมล้ำ
ยกตัวอย่างเช่น เพศหญิง มีภาะระที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเรื่องผ้าอนามัยซึ่งถือเป็นเงินจำนวนค่อนข้างมากสำหรับกลุ่มคนที่ไม่ได้มีฐานะสูง หรือในกรณีที่ผู้หญิงจำเป็นต้องออกจากงานที่มีรายได้สูง เพื่อมาทำงานที่ไม่ได้รับรายได้อย่างการตั้งครรภ์ เลี้ยงลูก ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ยังไม่ได้ถูกกฎหมายรับรองเท่าที่ควร
ในกรณีของกลุ่มคน LGBTQIA+ เองก็เช่นกัน โดยหากกลุ่มคนเหล่านี้เกิดความทุกข์ใจในเพศสภาพของตนเองเป็นอย่างมาก และต้องการแปลงเพศหรือ transition ซึ่งถือว่ามีค่าใช้จ่ายที่สูงมากจนทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงได้ จนเกิดเป็นวงจรที่ต้องออกไปต่างประเทศเพื่อทำงานหาเงินและกลับมาแปลงเพศที่ประเทศไทย
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่รัฐมองข้ามไป รัฐจึงควรมีการจัดสรรงบประมาณที่ให้สวัสดิการ นโยบายการเงิน กองทุนที่จะลดความเหลื่อมล้ำ อย่างเช่น การเปิด LGBTOIA+ คลินิกทั่วประเทศ เพื่อให้โอกาสกลุ่มคนที่เพศสภาพต่างจากเพศกำเนิดสามารถเข้าถึงและได้แสดงศักยภาพของพวกเขาได้อย่างเต็มที่
นอกจากการเคลื่อนไหวทางกฎหมายแล้ว การเคลื่อนไหวในมิติอื่น ๆ ก็สำคัญเช่นกันที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในสังคมไทย โดยประกอบไปด้วยมิติต่าง ๆ ต่อไปนี้
– องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีหลากหลายทางเพศ
ควรดำเนินการเพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดสังคม
– กลุ่มนักวิชาการ
ควรทำงานเพื่อปรึกษาหารือกัน และทำข้อมูลที่สามารถทำให้เกิดการพัฒนาสังคมได้ เนื่องจากตอนนี้แม้แต่จำนวนของ LGBTQIA+ ก็ยังคงเป็นข้อมูลที่ยังไม่ถูกจัดเก็บโดยเฉพาะ
– กลุ่มนักการเมือง
ควรเร่งผลักดันกฎหมาย มาตรการ หรือนโยบายต่าง ๆ ที่จะมาช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนเหล่านี้
– กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
ควรแสดงตัวตนและศักยภาพออกมาให้เห็น เพื่อให้เกิดการยอมรับและการเข้าใจภายในสังคมที่มากขึ้น
– สื่อมวลชน
ควรสื่อสารไปในทางที่เน้นให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ผลิตสื่อที่ตอบสนองต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
โดยกลุ่มคนเหล่านี้ควรต้องเคลื่อนไหวในแง่มุมต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนสังคมประเทศไทยให้เกิดความเข้าใจอันดีกับคนทุกเพศ และตระหนักรู้ว่าเป็นสิ่งที่รัฐควรเร่งแก้ไขเพื่อทำให้คนทุกเพศ เสมอภาคเท่าเทียมและสามารถใช้ชีวิตในสังคมไทยได้นั่นเอง
หากท่านใดสนใจศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นนี้ สามารถอ่านรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ “โครงการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศเพื่อจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยการรับรองเพศ” (โดยสามารถอ่านได้ทาง http://bit.ly/3Jok7Fe)
ที่มา : เสวนาวิชาการเรื่อง “สถานการณ์กฎหมายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ”
อ่านสรุปสาระสำคัญจากสัมมนาวิชาการเต็มได้ที่ https://bit.ly/3Zrvx0q