ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมธุรกิจ Healthcare ที่นอกจากมีความจำเป็นต่อการรักษาความเจ็บป่วยให้ผู้คนแล้ว ยังเฟื่องฟูและเติบโตตามโครงสร้างสังคมที่ปรับเปลี่ยนทั้งโครงสร้างประชากรที่เต็มไปด้วยผู้สูงวัย รวมไปถึงกระแสรักสุขภาพ ความงาม ศาสตร์การชะลอวัย รวมถึงเทคโนโลยีที่หนุนการแพทย์ให้รุดหน้า ทำให้ไทยซึ่งมีศักยภาพในอุตสาหกรรมนี้เติบโตตามตลาดโลก ส่งผลให้มีสถานพยาบาลเอกชนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
ผู้ที่คอยตรวจสอบคุณภาพของ ‘สถานพยาบาล’
สถานพยาบาลตามกฎหมายสถานพยาบาล พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มาตรา 4
กำหนดไว้ว่า
“สถานพยาบาล หมายความว่า สถานที่รวมตลอดถึงยานพาหนะซึ่งจัดไว้เพื่อการประกอบโรคศิลปะตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ การประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม การประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ การประกอบวิชาชีพทันตกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทันตกรรม การประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพกายภาพบำบัด การประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ การประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย หรือการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ทั้งนี้ โดยกระทำเป็นปกติธุระไม่ว่าจะได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือไม่”
ซึ่งการให้บริการด้านสุขภาพแต่ละอย่างนั้นจำเป็นต้องดำเนินการโดยผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ การที่มีสถานพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้นมาก ทั้งโรงพยาบาลและคลินิก จะต้องมีการกำกับดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐอย่างเคร่งครัดเพื่อให้บริการอย่างถูกต้องตามกฎหมายและได้มาตรฐานสากล
โดยหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่หลักคอยกำกับดูแลสถานพยาบาลเหล่านี้ ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มี 2 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 หน่วยงานของรัฐ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
ส่วนที่ 2 เจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ คณะกรรมการสถานพยาบาล และพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติ
ผู้ที่คอยกำกับดูแลเหล่านี้ มีอำนาจในการกำกับดูแล แบ่งออกเป็น 4 ข้อใหญ่คือ
- ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล
- ให้ใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล
- สั่งปิดหรือเพิกถอนใบอนุญาต
- ออกคำสั่งก่อนเลิกประกอบกิจการเพื่อประโยชน์และส่วนได้เสียของผู้ป่วย
ส่วนอำนาจในการพิจารณาความผิดและลงโทษทางอาญาในบทกำหนดโทษต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 อยู่ภายใต้เขตอำนาจขององค์กรตุลาการ
ทั้งนี้เมื่อกฎหมายให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่หรือฝ่ายปกครองในการควบคุมตรวจสอบสถานพยาบาลแล้ว การกระทำต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ทำลงไปตามกฎหมายนั้นก็ย่อมต้องถูกควบคุมตรวจสอบโดยศาลปกครองเพื่อความถูกต้องและชัดเจนเช่นกัน
โดยการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมดูแลสถานพยาบาลนั้นจะต้องมีความชัดเจนทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ เนื่องจากเป็นคำสั่งที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิทธิเสรีภาพในการประกอบกิจการและประกอบอาชีพของประชาชน
ยกตัวอย่างเช่น กรณีการออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล นั้น แม้จะพบความผิดปกติจากคำร้องเรียนของผู้ใช้บริการสถานพยาบาล แต่ถ้าหากยังไม่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงเกิดขึ้นก็ควรดำเนินการเพียงแค่ตักเตือนก่อนเท่านั้น ยังไม่สมควรมีคำสั่งให้เพิกถอน
ที่ต้องเป็นเช่นนั้นก็เพื่อสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างการคุ้มครองผู้บริโภคที่มารับบริการในสถานพยาบาลและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาล ให้กระทบสิทธิของทั้งสองฝั่งน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้นั่นเอง
ดังนั้นแม้การควบคุมสถานพยาบาลเอกชนจะเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ในขณะเดียวกันการควบคุมหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองก็มีความสำคัญมากเช่นกัน และจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบโดยศาลปกครองอย่างเคร่งครัด
โดยที่ผ่านมาคดีพิพาทเกี่ยวกับสถานพยาบาลเอกชนที่ถูกควบคุมตรวจสอบโดยศาลปกครองมักจะฟ้องร้องกันใน 4 ประเภทคดี ได้แก่
1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด ตามมาตรา 9(1) กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯ
2) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา 9(2) กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯ
3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ตามมาตรา 9(3) กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯ
คดีประเภทนี้ผู้ฟ้องคดีมักมุ่งประสงค์เรียกร้องการชดเชยค่าเสียหาย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าทดแทนอันเกิดจากการละเมิดหรือเกิดจากความรับผิดอื่นของฝ่ายปกครองเป็นจำนวนเงิน
4) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา 9(4) กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯ
อย่างไรก็ตาม 4 ประเภทคดีนี้ โดยรวมแล้วยังพบในประเทศไทยค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับข้อพิพาทหรือคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลปกครองในประเภทอื่น ๆ ซึ่งสะท้อนได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ควบคุมดูแลสถานพยาบาลเอกชนในประเทศไทย มีความถูกต้องตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และมีความเหมาะสมในการใช้ดุลยพินิจแล้ว
ที่มา : รายงานฉบับสมบูรณ์ศาลปกครองกับการควบคุมตรวจสอบฝ่ายปกครอง :ศึกษากรณีการควบคุมดูแลสถานพยาบาลเอกชนในประเทศไทย; รศ. ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร. (2561)
อ่านงานวิจัยเต็มได้ที่ : https://bit.ly/TuLawInfographic11