การทรมาน การอุ้มหาย และการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ไม่ควรเกิดขึ้นกับใคร การป้องกันและปราบปรามการกระทำเหล่านี้ จึงถูกให้ความสำคัญในระดับนานาชาติ และเกิดเป็นอนุสัญระหว่างประเทศ 2 ฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) และ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED)
สำหรับประเทศไทย ได้เข้าร่วมอนุสัญญา CAT แล้ว และกำลังเตรียมความพร้อมเข้าร่วม ICPPED จนเป็นที่มาของ “พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565”
#TULAW ได้สรุปเนื้อหาและจุดน่าสนใจส่วนหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้จากงานเสวนาวิชาการ “พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 : แนวทางการตีความและการบังคับใช้”
จุดเริ่มต้นของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
ที่มาของกฎหมายฉบับนี้นั้นเริ่มมาจากกฎหมายระหว่างประเทศ 2 ฉบับ ได้แก่
– อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี
– อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ
โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันใน ‘อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี’ เท่านั้น แต่ “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ” ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน แต่ก็มีการตระเตรียมกฎหมายภายในอยู่บ้างแล้วเช่นกัน
การให้สัตยาบันและเตรียมการให้สัตยาบันนั้นทำให้ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนกฎหมายภายในให้สอดคล้องไปกับอนุสัญญา ซึ่งในเรื่องของ “การทรมาน” กฎหมายไทยในตอนแรกเลือกที่จะอิงกับกฎหมายอาญาเป็นหลักไม่มีการตราเป็นกฎหมายเฉพาะ
แต่เมื่อพิจารณาความผิดที่ตรงกับนิยามคำว่าทรมานแล้ว กลับมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องหลายมาตรา และบางฐานมีโทษที่ไม่เหมาะสมตามอนุสัญญาอีกด้วย
สำหรับเรื่องบังคับบุคคลสูญหาย เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญา กฎหมายของประเทศไทยจึงมีข้อจำกัดว่าสามารถลงโทษได้โดยใช้ฐานความผิดคือ “การหน่วงเหนี่ยวกักขัง”’ เท่านั้น ไม่สามารถลงโทษตามอนุสัญญาได้
ดังนั้นเมื่อพิจารณาว่า ทั้ง 2 อนุสัญญาได้กำหนดให้ประเทศที่ให้สัตยาบันต้องกำหนดฐานความผิดเอาไว้เป็นการเฉพาะ และกฎหมายที่มีอยู่ภายในของประเทศนั้นไม่สามารถนำมาบังคับใช้กับความผิดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของ “พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565” ซึ่งเป็นการรวมทั้งสองอนุสัญญาเข้าไว้ด้วยกันนั่นเอง
ฐานความผิดใหม่ทั้ง 3 รูปแบบ?
สิ่งที่กฎหมายฉบับนี้มุ่งควบคุมคือการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีความหมายรวมถึง ผู้ใช้อำนาจรัฐ และผู้ที่ได้รับมอบอำนาจหรือแต่งตั้งจากผู้ที่มีอำนาจรัฐด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นความหมายที่กว้างกว่า “เจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา
นอกจากนี้กฎหมายยังมุ่งลงโทษเจ้าพนักงานที่เป็นผู้บังคับบัญชาด้วย โดยกำหนดหน้าที่ให้ผู้บังคับบัญชาในการยับยั้งการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเอง โดยถ้าหากรู้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของตนจะไปกระทำการใด ๆ ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว แล้วไม่กระทำการที่เป็นการยับยั้ง ผู้บังคับบัญชาก็จะมีความรับผิดด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามก็ต้องพิจารณาถึง “หลัก Effective Control” ด้วยว่า ผู้บังคับบัญชาที่จะต้องรับผิดนั้นมีอำนาจในการออกคำสั่งบังคับบัญชาเจ้าพนักงานที่ทำความผิดได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป
โดยฐานความผิด แบ่งเป็น 3 ฐาน ดังนี้
– ฐานกระทำทรมาน
– ฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
– ฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย
สำหรับเรื่องการกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น อนุสัญญาไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นความผิดอาญา แต่กฎหมายประเทศไทยได้มุ่งให้การคุ้มครองในเรื่องดังกล่าว จึงมีการบัญญัติไว้เป็นความผิดเฉพาะด้วยเช่นกัน
ความผิดฐานกระทำทรมานและฐานกระทำการที่โหดร้ายนั้นแตกต่างกันตรงที่ กฎหมายกำหนดว่าความผิดฐานทรมานน้ันต้องเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน “อย่างร้ายแรง” เท่านั้น แต่สำหรับความผิดฐานการกระทำการที่โหดร้ายนั้นไม่จำเป็นต้องถึงขั้น “อย่างร้ายแรง” ก็เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ได้
รวมทั้งความผิดทรมานต้องกระทำโดยมีเจตนาพิเศษที่กำหนด เช่น ทำเพื่อให้ได้ข้อมูล ทำเพื่อข่มขู่ เป็นต้น แต่ความผิดฐานการกระทำที่โหดร้ายอาจทำเพราะเรื่องส่วนตัว หรือมีมูลเหตุชักจูงใจอื่น ๆ ก็ได้ ทั้งนี้การตีความว่าการกระทำใดที่ “ร้ายแรง” นั้น เป็นการตีความจากตัวอย่างของต่างประเทศเท่านั้น ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลไทยวางแนวทางเอาไว้อย่างชัดเจน
สำหรับความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายนั้น การจับกุมหรือคุมขังนั้นแม้จะเริ่มการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแต่ภายหลังทำให้บุคคลนั้นสูญหาย ก็สามารถเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้ด้วยเช่นกัน รวมทั้งยังกำหนดให้เป็นความผิดต่อเนื่องจนกว่าจะทราบชะตากรรมของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายอีกด้วย
3 จุดน่าสนใจใน ‘พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565’
.
- มาตรการในการป้องกัน
ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้มีการกำหนดเรื่องหน้าที่ต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเอาไว้ เช่น การบันทึกภาพและเสียงระหว่างการจับและการควบคุมตัวบุคคล หรือการแจ้งรายละเอียดต่าง ๆ ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย ฯลฯ ซึ่งถือเป็นมาตรการป้องกัน ทั้งสำหรับผู้ถูกควบคุมตัวและเจ้าหน้าที่ท่ีปฏิบัติหน้าที่ด้วย
- กลไกการสอบสวน
การสอบสวนตามอนุสัญญาทั้งสองจะต้องทำโดยเร็วและมีองค์กรที่เป็นอิสระ กฎหมายฉบับนี้เลยได้มีการออกแบบการสอบสวน โดยทำให้องค์กรที่สอบสวนกับถูกสอบสวนเป็นคนละองค์กรกันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมได้มากที่สุด
รวมทั้งยังมีกลไกที่กฎหมายกำหนดไว้โดยให้สิทธิผู้ที่เกี่ยวข้องของบุคคลผู้ถูกบังคับให้สูญหายในการร้องขอให้เจ้าหน้าที่ติดตามญาติของเขาจนกว่าจะพบตัวหรือไม่มีทางจะพบได้อีกแล้วและญาติเขาพึงพอใจได้อีกด้วย
- กลไกในการให้อำนาจศาล
กฎหมายได้กำหนดให้ศาลมีอำนาจในการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเปิดเผยรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวได้ รวมทั้งมีอำนาจในการเรียกให้ส่งเอกสารหรือต่าง ๆ เพื่อประกอบการไต่สวนหรือสั่งให้นำตัวผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลด้วยก็ได้
นอกจากนี้หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าอาจมีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ขึ้นจริง ศาลอาจออกคำสั่งให้มีการยุติการกระทำต่าง ๆ หรืออาจสั่งให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวก็ได้ ซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายให้อำนาจศาลเพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ผู้ที่ถูกควบคุมและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ เพราะการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องใช้ระยะเวลานาน การออกคำสั่งของศาลจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
ที่มา : เสวนาวิชาการเรื่อง “พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 : แนวทางการตีความและการบังคับใช้”
รับชมเสวนาวิชาการได้ที่ https://bit.ly/41ezGFZ
อ่าน พ.ร.บ. ฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/3VbkAyI