CYBER CRIME
เมื่อโลกออนไลน์ เต็มไปด้วยอาชญากรรม :
อาชญาวิทยาและบทบาทของกฎหมาย
ในโลกสมัยใหม่ อินเทอร์เน็ตมีบทบาทต่อชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การมีตัวตนบนโซเชียลมีเดีย การสื่อสาร ธุรกรรมการเงิน ไปจนถึงการสร้างพื้นที่เสมือนจริงอย่าง Metaverse แม้จะสะดวกสบาย แต่สิ่งที่ตามมาคือ “การก่ออาชญากรรม”
ข้อมูลจาก Statista แสดงให้เห็นว่าในปี 2022 มีสถิติการก่ออาชญากรรมบนโลกออนไลน์ทั่วโลกกว่า 650,000 คดี ซึ่งอาชญากรรมที่เกิดขึ้นมากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
– การหลอกลวงโดยแอบอ้างตนเองเพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล
– การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
– การโกงการซื้อขายทางออนไลน์ เช่น ได้รับเงินแล้ว แต่ไม่จัดส่งสินค้าให้ตามที่ตกลง
Cybersecurity Ventures หน่วยงานรวบรวมข้อมูลความปลอดภัยไซเบอร์ คาดการณ์ว่าในปี 2021-2025 ค่าใช้จ่ายในการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ทั่วโลก จะมีมูลค่ารวมถึง 1.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 15% ต่อปีเลยทีเดียว
ทำไมโลกออนไลน์ถึงกลายเป็นพื้นที่สำหรับอาชญากรรม ? กฎหมายมีมาตรการในการรับมือความผิดที่เกิดบนโลกออนไลน์อย่างไร? ถ้าเกิดอาชญากรรมบนโลกเสมือน (Metaverse) จะเอาผิดใครได้บ้าง?
มาหาคำตอบเรื่องนี้ไปกับชุดความรู้อินโฟกราฟิกจาก #TULAW ชุดที่ 20
ทำไมอาชญากรถึงเลือกก่ออาชญากรรมบนโลกออนไลน์?
ทฤษฎีทางอาชญาวิทยาที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีอยู่ 2 ทฤษฎีด้วยกัน ได้แก่
1) ทฤษฎีไร้ตัวตน
การที่คนกล้าทำความผิดบนโลกออนไลน์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการ “ไร้ตัวตน” ความนิรนามของโลกออนไลน์ ที่ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้กระทำความผิดได้ จึงทำให้เกิดความมั่นใจว่าตนเองจะสามารถหลบหนีจากความผิดได้ จึงอาจเป็นเหตุที่ทำให้คนกล้าก่ออาชญากรรมมากขึ้นบนโลกออนไลน์
2) ทฤษฎีเปลี่ยนพื้นที่
ทฤษฏีนี้มีสมมติฐานเกี่ยวกับพัฒนาการทางเทคโนโลยี กิจกรรมต่าง ๆ ที่ถูกย้ายจากโลกจริงเข้าไปสู่โลกเสมือนที่ไม่หยุดนิ่ง เคลื่อนไหวตลอดเวลา ทำให้อาชญากรไม่ต้องแบกรับสถานภาพบางอย่างแบบเดียวกับโลกจริง เช่น สถานะทางสังคม ความมีชื่อเสียง ฯลฯ ทำให้ผู้คนตัดสินใจก่ออาชญากรรมบนโลกออนไลน์กันมากขึ้น
ทั้งนี้เมื่อมีการทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว คำถามในแง่มุมทางกฎหมายคือ
หากการก่ออาชญากรรมเกิดขึ้นในโลกออนไลน์จะใช้หลักกฎหมายประเทศใดบังคับกับความผิดนั้น ?
การวินิจฉัยว่าศาลใดจะมีอำนาจในการตัดสินคดีต่าง ๆ หรือที่เรียกกันว่า “เขตอำนาจศาล” นั้น ประกอบไปด้วย 3 หลักเกณฑ์ ได้แก่
– หลักเกณฑ์เชิงเขตแดน (Territorial Principle)
เป็นสิทธิของรัฐในการปกครองบุคคลและทรัพย์สินที่อยู่ในเขตแดนของตน หากความผิดเกิดขึ้นในประเทศใด ผู้กระทำผิดลงมือกระทำการต่าง ๆ ที่เป็นความผิดตามกฎหมายในประเทศนั้น ย่อมต้องถูกบังคับตามกฎหมายของประเทศนั้น และศาลอาญาของประเทศนั้น ๆ ก็เป็นศาลที่มีสิทธิพิจารณาคดี
ยกตัวอย่างเช่น ผู้กระทำผิดโพสต์เนื้อหาที่เป็นความผิดกฎหมายไทยในประเทศไทย แม้จะมีคนในประเทศอื่นเข้าถึงเนื้อหานั้นได้ด้วย ศาลไทยก็ย่อมมีเขตอำนาจและใช้กฎหมายไทยพิจารณาคดีได้
หรือในกรณีที่มีคนในประเทศไทยทำการเจาะระบบคอมพิวเตอร์ของประเทศอื่นไปจากประเทศไทย ซึ่งการเจาะระบบเป็นความผิดตามกฎหมายไทย ถ้าผู้เสียหายมาฟ้องศาลไทย ศาลไทยก็มีเขตอำนาจพิจารณาคดีนี้ได้เช่นกัน
– หลักเกณฑ์เชิงบุคคล (Personality Principle)
สิทธิของรัฐในการปกครองพลเมืองของตนไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของโลก เป็นหลักการที่อิงกับเรื่องของสัญชาติของรัฐนั้น ๆ โดยหากผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนสัญชาติของรัฐใด ผู้กระทำความผิดนั้นก็อาจต้องรับโทษตามกฎหมายของประเทศที่เป็นเจ้าของสัญชาติของตนด้วยแม้ว่าจะกระทำนอกประเทศก็ตาม
อย่างเช่นในกรณีของกฎหมายประเทศไทยที่ได้กำหนดไว้ว่า แม้ความผิดจะเกิดขึ้นนอกประเทศไทย แต่หากผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้นหรือเป็นผู้เสียหายได้ร้องขอ ผู้กระทำความผิดนั้นก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมายประเทศไทยด้วยเช่นกัน
– หลักการเชิงผลลัพธ์ (Effects Principle)
เป็นสิทธิของรัฐในการปกครองผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจและกฎหมายในเขตแดนของตน โดยเป็นผลจากการกระทำที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ หากผู้กระทำผิดลงมือกระทำการในประเทศหนึ่ง แต่มี “ผล” เกิดขึ้นในอีกประเทศหนึ่ง โดยปกติแล้วนานาประเทศก็มักมีกฎหมายเขียน “ขยายหลักดินแดน” ให้เอาผิดกับบุคคลดังกล่าวตามกฎหมายของประเทศที่มี “ผล” เกิดขึ้นได้เช่นกัน
อย่างเช่น ในกรณีตามกฎหมายอาญาของไทยเอง หากผู้กระทำผิดอยู่ต่างประเทศทำการโพสต์เนื้อหาที่เป็นความผิดตามกฎหมายไทยลงบนอินเทอร์เน็ต หรือทำการเจาะระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในประเทศไทยมาจากประเทศอื่น กรณีแบบนี้ศาลไทยก็มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีหรือใช้กฎหมายไทยกับการกระทำดังกล่าวได้เช่นกัน ถ้าวันหนึ่งผู้กระทำความผิดนั้นเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
แต่ถ้าผู้กระทำผิดไม่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ศาลไทยจะเอาตัวบุคคลนั้นมาพิจารณาคดีในไทยได้หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือหรือการร้องขอให้ประเทศที่ผู้กระทำความผิดอาศัยอยู่ “ส่งผู้ร้ายข้ามแดน” มาซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง
อีกวิธีหนึ่งคือ ประเทศไทยร้องขอให้ศาลแห่งประเทศที่ผู้กระทำความผิดอาศัยอยู่นั้นดำเนินคดีให้ หากการกระทำของเขาก็เป็นความผิดตามกฎหมายของประเทศนั้นเช่นกัน ซึ่งเป็นตาม “หลักดินแดน” ของประเทศอื่นนั่นเอง
การกระทำความผิดบนโลกออนไลน์เป็นความผิดตามกฎหมายอาญาประเทศไทยได้หรือไม่?
การกระทำความผิดในโลกออนไลน์หรือโลกเสมือนอย่าง Metaverse นั้นจะไม่สามารถเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาไทยได้ เนื่องจากการจะเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาได้นั้นวัตถุของการกระทำต้องเป็นมนุษย์หรือบุคคลจริงเท่านั้น
ความผิดเช่น การฆ่า การทำร้ายร่างกาย การกระทำชำเรา ฯลฯ ในโลกออนไลน์หรือโลกเสมือนจึงไม่สามารถเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาไทยได้นั่นเอง แต่การกระทำต่อ “ข้อมูล” ที่มีมูลค่า เช่น การหลอกเอาข้อมูลไป หรือทำลายข้อมูลน้ันจนเสียหาย อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ได้
ดังนั้น ประเด็นที่ต้องถกเถียงกันต่อไป คือกฎหมายที่มีอยู่นั้นเพียงพอที่จะรับมือต่ออาชญากรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ที่มีแนวโน้มว่าจะมีการใช้งานมากขึ้นในอนาคตแล้วหรือไม่? หรือจะต้องมีการบัญญัติกฎหมายใหม่ขึ้นมาสำหรับควบคุมเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ
ที่มา : Statista, Tisco, เคอร์บาลิจา, โจวาน.เปิดประตูสู่การอภิบาลอินเทอร์เน็ต.– กรุงเทพฯ : มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง, 2558.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก รศ.สาวตรี สุขศรี และ อาจารย์ปวีร์ เจนวีระนนท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
https://www.tisco.co.th/th/advisory/2021-12-31-cybersecurity-in-metaverse-with-tcyber.html
https://www.statista.com/statistics/184083/commonly-reported-types-of-cyber-crime-global/
https://thainetizen.org/wp-content/uploads/2015/08/internet-governance-intro-web.pdf