พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 21 จาก #TULAWInfographic
จะตายทั้งทีขอตายอย่างสงบได้ไหม?
เมื่อมีประกันชีวิต ทำไมถึงต้องโดนผ่าศพ
ตามกฎหมายหรือสัญญาประกันชีวิตมีการกำหนดให้ต้อง “ผ่าศพ” เท่านั้นจริง ๆ หรือไม่ ถึงจะเรียกเอาเบี้ยประกันได้ หรือเป็นเพียงความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่ในสังคมกันแน่
#TULAW ได้สรุปเนื้อหาและประเด็นที่น่าสนใจจากเสวนาวิชาการเรื่อง “มีประกันชีวิต ก็ขอตายอย่างสงบ…ไม่ต้องผ่าศพได้ไหม” เพื่อให้ทุกคนทำความเข้าใจถึงประเด็นเรื่อง “ประกันชีวิต” และ “การผ่าศพ” ได้มากขึ้น
งานชิ้นนี้เป็นการดึงประเด็นส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
– งานเสวนาวิชาการ : https://bit.ly/436qxQq
3 ปัญหาการเรียกเอาเงินประกันชีวิต
1) ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียกเอาเงินประกันชีวิต
เกิดความเข้าใจผิดว่า ต้องมีการผ่าศพก่อนเท่านั้นจึงจะสามารถเรียกเอาเงินประกันชีวิตได้ หรือในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าจะสามารถขอเรียกเอาเงินประกันชีวิตได้หรือไม่ หลายคนมักเลือกให้เกิดการผ่าศพไว้ก่อนเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจจะตามภายหลัง
2) การฉ้อฉลประกันภัย
คนบางกลุ่มเมื่อได้ทราบว่าผู้เสียชีวิตมีประกันอุบัติเหตุ มักจะกล่าวอ้างว่าสาเหตุในการเสียชีวิตนั้นว่าเป็นเพราะอุบัติเหตุทั้ง ๆ ที่จากลักษณะการเสียชีวิตแล้วไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพื่อทำให้ตนเองได้รับผลประโยชน์ที่มากขึ้น ทำให้ต้องเกิดการ “ผ่าศพ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อเป็นการพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง
3) การเรียกร้องและการให้ข้อมูลของญาติ
โดยปกติแล้วแพทย์นิติเวชมักจะไม่ทำการผ่าศพ และสัญญาหรือบริษัทประกันชีวิตก็ไม่ได้กำหนดให้ทำการผ่า แต่มักเกิดกรณีที่ญาติของผู้เสียชีวิตเรียกร้องให้ผ่าศพซึ่งเกิดมาจากปัญหาความเข้าใจผิด เมื่อญาติเรียกร้องแพทย์นิติเวชก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ต้องทำตามความเรียกร้องของญาติเท่านั้น
รวมทั้งยังเกิดกรณีที่ญาติไม่ยอมให้ข้อมูลที่มีความละเอียดมากพอแก่เจ้าหน้าที่อีกด้วย ถ้าหากมีการให้ประวัติหรือข้อมูลที่ละเอียดมากเพียงพอแพทย์นิติเวชก็จะไม่ทำการผ่าศพอยู่แล้ว แต่เมื่อญาติไม่ยอมให้ข้อมูลเช่นนั้น เพื่อการพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้เสียชีวิต และเพื่อป้องกันการร้องเรียน แพทย์นิติเวชก็ต้องทำการผ่าศพเพื่อความละเอียดชัดเจนไว้ก่อนนั่นเอง
จำเป็นต้อง “ผ่าศพ” เท่านั้น?
การเรียกเอาเงินประกันชีวิตตามกฎหมายประกันภัยและการผ่าศพนั้นมีกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนี้
– ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
– พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535
– ประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
– ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
หากเป็นการเสียชีวิต บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้อยู่แล้ว โดยไม่เรียกเอาเอกสารให้มากเกินความจำเป็นเพื่อคุ้มครองการเสียชีวิตและผู้ที่เกี่ยวข้องผู้รับประโยชน์จึงสามารถนำเพียง “ใบมรณบัตร” หรือ “ผลการชันสูตร” มายื่นในการเอาเบี้ยประกันได้
“การชันสูตร” ในที่นี้เป็นความหมายอย่างกว้าง ซึ่งการชันสูตรอาจประกอบไปด้วยหลายขั้นตอนโดยไม่จำเป็นต้องเป็นการ “ผ่าศพ” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
นอกจากนี้ตามกฎหมายต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้น หรือสัญญาจากบริษัทประกันเองก็ไม่มีการกำหนดให้ต้องมีการ “ผ่าศพ” ก่อนเท่านั้น จึงจะสามารถเรียกเอาเงินได้
ดังนั้น ญาติหรือผู้รับเอาประโยชน์สามารถใช้ใบมรณบัตรหรือผลการชันสูตรของแพทย์ในการเรียกเอาเงินตามสัญญาประกันชีวิตได้เลยโดยไม่ต้องพิจารณาถึงการผ่าศพ
กรณีที่จำเป็นจะต้อง “ผ่าศพ”?
การ “ผ่าศพ” จะถูกนำเข้ามาใช้ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตรวจดูบาดแผลเบื้องต้นแล้วพบว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ญาติหรือผู้รับผลประโยชน์บอกเล่า และมีเหตุให้ควรเชื่อว่าผู้เสียชีวิตไม่น่าจะเสียชีวิตด้วยสาเหตุดังกล่าว เป็นต้น
ปัญหาจึงมักเกิดในกรณีที่ผู้เสียชีวิตมีประกันอุบัติเหตุเพิ่มมาด้วย เพราะถ้าการเสียชีวิตนั้นมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ ผู้รับประโยชน์จะได้รับเงินเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง ทำให้ญาติหรือผู้รับผลประโยชน์ส่วนใหญ่จึงเลือกจะให้การว่าผู้เสียชีวิตนั้นประสบอุบัติเหตุเสียมากกว่า
จากกรณีดังกล่าวนี้เองจึงทำให้การ “ผ่าศพ” จะต้องเข้ามามีบทบาทในการพิจารณาถึงสิทธิได้รับเงินตามสัญญา เนื่องจากเป็นกลไกที่จะป้องกันการฉ้อฉลในการเรียกเอาประกันนั่นเอง
แต่ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีเช่นกัน มิใช่ว่าจะต้องเกิดการ “ผ่าศพ” ทุกครั้งที่มีการเรียกเอาเงินตามสัญญาประกันอุบัติเหตุ ถ้าหากลักษณะหลักฐานต่าง ๆ สามารถยืนยันได้ว่าเกิดจากอุบัติเหตุจริงก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำการผ่าศพ
ดังนั้นการผ่าศพจึงไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำแต่อย่างใด เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยเท่านั้น การจะเรียกเอาเเงินตามสัญญาประกันชีวิตผู้รับผลประโยชน์จึงสามารถใช้เพียงเอกสารเพียงใบมรณบัตร ผลชันสูตร และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการเรียกรับได้เลยนั่นเอง
ที่มา : เสวนาวิชาการเรื่อง “มีประกันชีวิต ก็ขอตายอย่างสงบ…ไม่ต้องผ่าศพได้ไหม”