เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า การพิจารณาคดีอาญาน้ัน โดยหลักแล้วต้องมีตัวจำเลยอยู่ในการพิจารณาในศาล
แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีกรณีการพิจารณาคดีอาญาโดยไม่ปรากฏตัวจำเลยด้วยเช่นกัน
แล้วหลักการดังกล่าวเป็นอย่างไร? สามารถทำได้ในกรณีใดบ้าง? และกระบวนการที่มีอยู่ตอนนี้เหมาะสมแล้วหรือยัง?
วันนี้ #TULAW พาทุกคนไปหาคำตอบเหล่านั้นผ่านงานวิจัยเรื่อง “การพิจารณาคดีอาญาโดยไม่ปรากฏตัวจำเลย” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์เพียรรัตน์ ลีลาพงศธร กัน
การพิจารณาคดีอาญาโดยไม่ปรากฎตัวจำเลย (Trial in absentia)?
เป็นข้อยกเว้นของหลักการที่ต้องพิจารณาและสืบพยานโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย (มาตรา 172 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) เนื่องจากเป็นสิทธิของจำเลยที่จะเผชิญหน้ากับพยาน (Rights to Confrontation) เพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสซักค้านพยานหรือเตรียมสืบหักล้างพยานโจทก์ได้
3 ผลการศึกษาน่าสนใจจากงานวิจัย
1) ไม่เสมอไปที่ประเทศที่ใช้ระบบไต่สวนจะอนุญาตให้มีการพิจารณาคดีอาญาโดยปราศจากตัวจำเลยหรือในระบบกล่าวหาจะต้องห้ามพิจารณาคดีอาญาโดยไม่ปรากฎตัวจำเลยอันเป็นการแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด ดังนั้นสำหรับประเทศไทยจึงสามารถใช้ข้อยกเว้นเรื่องการพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลยมาใช้ได้โดยไม่ขัดต่อระบบพิจารณาความอาญาของประเทศไทยแต่อย่างใด
2) การพิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็นของการมีข้อยกเว้นในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 4 กรณี โดยผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะในแต่ละกรณีดังนี้
– กรณีที่หนึ่ง กรณีที่จำเลยไม่อาจมาฟังการพิจารณาและการสืบพยานได้เนื่องจากความเจ็บป่วยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ เมื่อจำเลยมีทนาย และจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลที่จะไม่มาฟังการพิจารณาและสืบพยาน ตามมาตรา 172 ทวิ (4) เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของจำเลย จำเลยยังสมควรได้รับสิทธิที่จะเผชิญหน้ากับพยานซึ่งโดยหลักการแล้วเป็นบทบังคับเพื่อประโยชน์ของจำเลย
อีกทั้งหากเปรียบเทียบกับกรณีที่จำเลยกลายเป็นผู้วิกลจริตระหว่างการพิจารณา ศาลยังสามารถสั่งงดการพิจารณาเพื่อรอก่อนได้ ตามมาตรา 14 แห่ง ป.วิ.อ. แต่กรณีเพียงเจ็บป่วยศาลกับสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาลับหลังจำเลยได้ เช่นนี้เหตุผลแห่งการมีบทบัญญัติอาจมีลักษณะที่ขัดแย้งกันได้
ข้อเสนอแนะ: กรณีที่จำเลยมีปัญหาด้านสุขภาพควรมีตัวเลือกให้จำเลยร่วมการพิจารณาคดีโดยใช้วิธีการทางจอภาพและเสียงได้
– กรณีที่สอง กรณีที่ในระหว่างการพิจารณาหรือสืบพยาน ศาลมีคำสั่งให้จำเลยออกจากห้องพิจารณา เพราะเหตุขัดขวางการพิจารณา หรือจำเลยออกไปจากห้องพิจารณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ตามมาตรา 172 ทวิ (5) กรณีนี้เป็นกรณีที่จำเลยมาร่วมการพิจารณาแล้วและในการพิจารณาก็มีการมอบสิทธิในการพิจารณาอย่างเปิดเผยต่อหน้าจำเลยให้แล้ว
แต่จำเลยขัดขวางการพิจารณาทำให้ต้องออกจากห้องพิจารณา หรือออกไปจากห้องพิจารณาไปเองโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่อย่างไรก็ตามสิทธิที่จะเผชิญหน้ากับพยานซึ่งโดยหลักการแล้วเป็นบทบังคับเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่รัฐควรต้องคุ้มครองอย่างเต็มที่ ดังนั้นรัฐก็ยังคงต้องมอบสิทธิในการเข้าถึงการพิจารณาให้แก่จำเลยอยู่เช่นเดิม
ข้อเสนอแนะ: หากเป็นไปได้ควรมีการจัดเตรียมให้จำเลยสามารถติดตามการพิจารณาคดีผ่านทางจอภาพและเสียงนอกห้องพิจารณาได้ด้วย
– กรณีที่สาม กรณีที่จำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วแต่ได้หลบหนีไป และศาลได้ออกหมายจับแล้ว แต่ยังจับตัวมาไม่ได้ ตามมาตรา 172 ทวิ / 1 เป็นกรณีที่จำเลยจงใจ หลบหนีคดีไป อาจเพื่อให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวจนหมดอายุความ หรือหากจับตัวมาได้ก่อนหมดอายุความความทรงจำของพยานบุคคลอาจเลือนหายหรือถึงแก่ความตายไปก่อน
ทำให้โจทก์ “ไม่สามารถพิสูจน์” ให้ศาลเห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดและยกฟ้องได้ การมีบทบัญญัติที่กำหนดให้สามารถพิจารณาคดีอาญาได้โดยปราศจากตัวจำเลยในกรณีของการหลบหนีไปของตัวจำเลยอาจสามารถอำนวยความยุติธรรมคืนมาสู่เหยื่อได้
ข้อเสนอแนะ: อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นกระบวนพิจารณาที่เกิดขึ้นไม่ปรากฏตัวจำเลยจึงควรให้จำเลยมีสิทธิในการพิจารณาคดีใหม่ด้วย
– กรณีที่สี่ กรณีจำเลยเป็นนิติบุคคลและศาลได้ออกหมายจับผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคลนั้นแล้ว แต่ยังจับตัวไม่ได้ตามมาตรา 172 ทวิ / 2 เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นจำนวนมากที่อาจได้รับผลกระทบเสมือนเป็นผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษอยู่แล้ว เหตุใดจึงไม่เลือกคนเหล่านี้มาทำหน้าที่เป็นผู้แทนเฉพาะคดี
เหมือนเช่น กรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์โดยไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือกรณีผู้วิกลจริตและคนไร้ความสามารถที่อาจจะไม่มีผู้อนุบาลหรือผู้แทนโดยชอบธรรม หรือมีแต่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ หรือมีผลประโยชน์ขัดกัน ผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องสามารถยื่นคำร้องขอศาลแต่งตั้งผู้แทนเฉพาะกาลเพื่อดำเนินการแทนได้มากกว่า
ข้อเสนอแนะ: ให้ศาลสามารถเรียกผู้อื่นที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษ เช่น ผู้ถือหุ้น ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเป็นผู้แทนเฉพาะคดีก่อนที่จะอนุญาตให้มีการพิจารณาโดยไม่ปรากฏตัวจำเลยได้
3) จากการศึกษากฎหมายในระดับระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศของประเทศต่าง ๆ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ แม้จะมีการให้อำนาจศาลในการพิจารณาคดีอาญาโดยไม่ปรากฏตัวจำเลยได้ อันเป็นการลิดรอนสิทธิในการเผชิญหน้ากับพยานหลักฐานและถามค้านของจำเลยไป แต่กลับมีการสร้างหลักประกันสิทธิให้แก่จำเลยเข้ามาแทนที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการพิจารณาคดีใหม่ (Right to retrial หรือ ex novo)
โดยข้อเสนอแนะจากผู้วิจัยเสนอให้กฎหมายประเทศไทยควรอนุญาตให้คดีที่มีการพิจารณาคดีอาญาโดยไม่ปรากฎตัวจำเลย หากภายหลังได้ตัวจำเลยมาอยู่ในเขตอำนาจศาลสามารถถูกร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้
ที่มา : เพียรรัตน ลีลาพงศธร และ Pianrat Leelapongsatorn (2563). การพิจารณาคดีอาญาโดยไม่ปรากฏตัวจำเลย. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. คณะนิติศาสตร์. คณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัย.