พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 26 จาก #TULAWInfographic
การใช้คำว่า “ขอ” ในการซื้อขาย จะทำให้สัญญากลายเป็นสัญญาให้หรือไม่?
เราสามารถปฏิเสธการจ่ายเงินในตอนที่ร้านค้าขึ้นราคาโดยที่ไม่บอกเราได้หรือไม่?
ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป หากเราสามารถตีความเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาได้
แต่หลักการหรือลำดับในการตีความเจตนาตามกฎหมายจะเป็นอย่างไรบ้าง และต้องพิจารณาถึงสิ่งไหนเป็นลำดับแรก #TULAW เปิดเวทีเสวนา “การตีความการแสดงเจตนาและการตีความสัญญา” เพื่อเผยแพร่ความเข้าใจในเรื่องการตีความเจตนาในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านแง่มุมของกฎหมายให้มากขึ้น
งานชิ้นนี้เป็นการดึงประเด็นส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.law.tu.ac.th/seminar-summary-interpretation/
หลักคิดในการตีความเจตนา
การตีความเจตนาเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมากเนื่องจากนิติกรรมทุกชนิดเป็นผลมาจากการแสดงเจตนา การจะรู้ว่ามีนิติกรรมเกิดขึ้นหรือไม่นั้น จึงต้องค้นหาเจตนาของผู้แสดงเจตนา และผู้รับการแสดงเจตนาหรือคู่กรณี (ถ้ามี) ก่อนว่า ประสงค์ต่อผลทางกฎหมายหรือไม่ เจตนาที่แสดงออกมามีผลอย่างไร และเป็นการแสดงเจตนาชนิดใด
มีหลักความคิดอยู่สองหลักคือ การตีความ “เจตนา” จะถูกนำเข้าใช้เมื่อมีความไม่ชัดเจนเกิดขึ้นเท่านั้น แต่อีกหลักความคิดหนึ่งเห็นว่า “เจตนา” ต้องตีความเสมอ เพราะเจตนาในแต่ละครั้งมีความชัดเจนในตัวของมันเองแต่อาจจะไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริง ดังนั้นจึงต้องเกิดการตีความเสมอไม่ว่าจะชัดเจนหรือไม่ชัดเจนก็ตาม
4 ลำดับการตีความเจตนาของสัญญา
โดย “การตีความเจตนาของสัญญา” ต้องพิจารณาไปตามลำดับที่กฎหมายกำหนด 4 ลำดับคือ
– ลำดับที่ 1 พิจารณาจาก “เจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญา”
เมื่อสัญญาเกิดขึ้นหากจะตีความถึง “เจตนา” ของสัญญานั้น ๆ ต้องเริ่มดูเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญา ว่าเริ่มต้นทำสัญญากันด้วยเหตุผลอะไร มากกว่าถ้อยคำหรือตัวอักษร ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 171
– ลำดับที่ 2 พิจารณาจาก “เอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร”
หากไม่สามารถหาเจตนาที่แท้จริงระหว่างคู่สัญญาได้ ให้พิจารณาจากเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเป็นการ “ตีความเอกสาร” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 10-14 ที่เป็นหลักทั่วไปตามกฎหมาย
– ลำดับที่ 3 พิจารณาตาม “ข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย”
หากไม่สามารถทำตาม 2 ขั้นตอนแรกได้ ให้บังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ได้บัญญัติบทสันนิษฐานของการกระทำของคู่สัญญาเอาไว้
– ลำดับที่ 4 พิจารณาตาม “หลักสุจริตและปรกติประเพณี”
ในลำดับสุดท้ายหากไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ให้บังคับตามหลักสุจริตและปรกติประเพณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 มาตีความเพื่อหาเจตนาของคู่สัญญา
“เจตนาแท้จริง” ของคู่สัญญาสามารถตกลงกันให้ขัดกับกฎหมาย รวมทั้งสามารถขัดกับปรกติประเพณีได้ ตราบใดที่ไม่เป็นการเอาเปรียบคู่สัญญามากจนเกินไป และไม่ขัดกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งหากเป็นกรณีเอาเปรียบหรือขัดต่อกฎหมายก็อาจจะมีผลบังคับเท่าที่เป็นธรรมหรือไม่มีผลบังคับทางกฎหมายเลย
“ขอ” = “ซื้อ” ?
การพูดคำว่า “ขอ” ในการซื้อขายนั้น บางครั้งอาจสามารถมองเป็นเจตนาในการทำ “สัญญาให้” แทนที่จะเป็นเจตนาในการทำ “สัญญาซื้อขาย” ได้เหมือนกัน หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า คนที่แสดงเจตนา “ขอ” เป็นคนที่ผู้ขายหรือคนทั่วไปสามารถเห็นและเข้าใจได้ว่า เขาเป็นคนที่ไม่สามารถทำการซื้อขายได้ เช่น เป็นคนที่เที่ยวขอของกินคนอื่นเป็นการทั่วไปอยู่แล้ว หากเป็นเช่นนี้ถ้าผู้ขายยังให้สินค้าแก่เขา ก็อาจถือว่าเป็นสัญญาให้ได้เช่นกัน
ขึ้นราคาแล้วไม่บอก = สัญญาไม่เกิด ?
การจะพิจารณาว่าสัญญาเกิดหรือไม่นั้นต้องดูที่ “เจตนา” ของคู่สัญญาเป็นหลัก การเดินเข้าร้านค้าแล้วสั่งอาหารและทางร้านได้มีการตอบรับไม่ว่าจะโดยแจ้งชัดหรือไม่ เช่น การพยักหน้าตอบรับ ก็ถือว่ามีสัญญาเกิดขึ้นระหว่างกันแล้ว
ดังนั้นหากร้านค้าขึ้นราคาโดยที่ไม่บอกแก่ลูกค้า ลูกค้าก็มีสิทธิปฏิเสธที่จะจ่ายตามราคาที่ขึ้น และสามารถจ่ายตามราคาเดิมได้
แต่หากข้อเท็จจริงคือลูกค้าคนนั้นเป็นลูกค้าประจำที่กินร้านอาหารนี้ติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน ลูกค้าอาจอ้างเรื่องที่ตนเองเป็นลูกค้าประจำ และการที่ร้านค้าไม่ได้แจ้งเรื่องการขึ้นราคาอาหารมาเพื่อปฏิเสธการจ่ายอาหารในราคาใหม่ที่สูงกว่าเดิมได้เช่นกัน
ทั้งนี้เป็นเพราะต้องตีความตามเจตนาที่แท้จริงของทั้งคู่ตามมาตรา 171 โดยสามารถดูจากพฤติการณ์แวดล้อมที่ทั้งสองเคยปฏิบัติต่อกันได้ ดังนั้นถ้าทางร้านค้าไม่อยากให้เกิดการตีความตามเจตนานี้ ทางร้านก็ควรจัดให้มีการติดป้าย หรือบอกกล่าวลูกค้าถึงการขึ้นราคาอาหาร
ที่มา : สัมมนาวิชาการหัวข้อ “การตีความการแสดงเจตนาและการตีความสัญญา”