พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 28 จาก #TULAWInfographic
คอนเทนต์สปอยล์หนัง กลายเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผู้คนยุคใหม่ให้ความสนใจกันมากขึ้น อาจเป็นเพราะความรวดเร็ว และความสะดวกสบายที่ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาไปดูภาพยนตร์เอง ทำให้คอนเทนต์สปอยล์หนังกลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน
แต่รู้หรือไม่ คอนเทนต์สปอยล์หนังที่กำลังแพร่หลายในขณะนี้ อาจเป็นสิ่งที่ผิดตามกฎหมายลิขสิทธิ์ได้เช่นกัน แต่จะผิดอย่างไร? และการสปอยล์หนังทุกรูปแบบถือว่าผิดกฎหมายหมดเลยหรือไม่?
#TULAW พาหาคำตอบผ่านสัมมนาวิชาการ หัวข้อ “การละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์โดยการสปอยล์ (Spoil)”
งานชิ้นนี้เป็นการดึงประเด็นส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานสัมมนา : https://bit.ly/43j069L
“ทำได้ ไม่ผิดหรอก” เรื่องลิขสิทธิ์ คนมักเข้าใจผิดเรื่องอะไรบ้าง?
1. ความเข้าใจผิดจากนโยบายของ Platform ออนไลน์
เช่น นโยบายของ YouTube กำหนดให้ผู้อัปโหลดสามารถนำภาพ เสียง วิดีโอของผู้อื่นมาใช้ได้ไม่เกิน 10-15 วินาที ทำให้ผู้อัปโหลดเข้าใจผิดว่า หากทำตามข้อกำหนดนี้แล้ว ถือว่าไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
2. ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการอ้างอิงถึงเจ้าของลิขสิทธิ์
อีกความเข้าใจผิดที่พบเห็นได้บ่อย คือผู้อัปโหลดคลิปเข้าใจผิดว่า หากมีการใส่การอ้างอิงถึงเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือมีการระบุไว้ว่าขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำการขออนุญาตจริง ถือว่าไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
2 ความเข้าใจผิดนี้เอง ที่ทำให้เกิดคอนเทนต์การสปอยล์หนังมากจนพบเห็นได้ทั่วไป
สปอยล์แบบไหนถึงผิดลิขสิทธิ์?
ในปัจจุบันมีการสปอยล์หลายรูปแบบ อาจเป็นการนำคลิปมาตัดต่อสลับกับสิ่งที่ตนเองเล่า วาดภาพขึ้นมาประกอบการเล่าฉากต่าง ๆ ของภาพยนตร์ หรือนำคำพูดช่วงเวลาที่สำคัญในภาพยนตร์มาระบุแล้วเล่าเนื้อหาประกอบ
ซึ่งการสปอยล์ภาพยนตร์ในแต่ละรูปแบบอาจมีผลทางกฎหมายลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกัน บางกรณีอาจจะไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ บางกรณีอาจจะละเมิดลิขสิทธิ์ หรือบางกรณีอาจจะละเมิดลิขสิทธิ์แต่เข้าข้อยกเว้น ดังนั้นการจะบอกว่าการสปอยล์ภาพยนตร์แบบไหนผิดกฎหมายจึงต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป
การพิจารณาตามกฎหมายลิขสิทธิ์
จุดเริ่มต้นต้องพิจารณาลักษณะของการสปอยล์ เช่น เป็นการสปอยล์แค่เล่าตอนจบภาพยนตร์ หรือมีการนำวิดีโอของภาพยนตร์บางส่วนมาประกอบการสปอยล์ด้วย เพื่อดูผลทางกฎหมายของการสปอยล์ในรูปแบบนั้น ๆ ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น
ต่อมาต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ มาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 15 ประกอบกันว่า การสปอยล์ภาพยนตร์เป็นการทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนหรือไม่ หากการสปอยล์ภาพยนตร์มีลักษณะเป็นวิดีโอสรุปเนื้อหาของภาพยนตร์ก็อาจจะเข้าลักษณะของการกระทำที่เป็นการละเมิดต่อลิขสิทธิ์ตามกฎหมายได้
ข้อพิจารณาต่อมาคือ วิดีโอดังกล่าวเป็น “งานสร้างสรรค์ต่อเนื่อง” คือเป็นการนำเนื้อหาต่าง ๆ มาเรียบเรียงใหม่หรือไม่ หากเป็นงานสร้างสรรค์ต่อเนื่องกฎหมายไทยหรือกฎหมายบางประเทศก็ให้ผู้ดัดแปลงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานต่อเนื่องนั้นได้ แต่ถ้าหากไม่ใช่งานสร้างสรรค์ต่อเนื่องจะต้องพิจารณาต่อไปว่าการกระทำนั้นเข้าข้อยกเว้นเป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (Fair Use) หรือไม่
อย่างไรก็ตามงานสร้างสรรค์ต่อเนื่องจะต้องพิจารณาว่า การนำงานมาดัดแปลงนั้นได้รับอนุญาตหรือไม่ หรือเป็นการกระทำโดยพลการและไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการสปอยล์ในยุคปัจจุบันมักจะดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์อยู่แล้ว ดังนั้นก็ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองในงานที่ได้ดัดแปลงนั้นด้วยเช่นกัน
ข้อยกเว้นตามกฎหมาย
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ มาตรา 6 และมาตรา 15 กำหนดให้เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์มีสิทธิเพียงผู้เดียวในการทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน รวมทั้งอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิดังกล่าว ดังนั้นหากบุคคลอื่นตัดต่อคลิปภาพยนตร์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตอาจจะเข้าข่ายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้
แต่มีข้อยกเว้นกำหนดไว้ตามมาตรา 32 ที่อนุญาตให้สามารถใช้งานที่คนอื่นเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้โดยไม่ถือเป็นการละเมิด เช่น การติชม วิจารณ์ หรือการนำไปใช้เพื่อวิจัยหรือศึกษา เป็นต้น ซึ่งข้อยกเว้นเหล่านี้จะต้องอยู่ภายใต้หลักการ 2 ประการคือ ต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานนั้นตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร
อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น ศาลจะพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ประกอบกับหลักการทั้ง 4 ข้อเพื่อสรุปว่าการใช้งานลิขสิทธิ์ดังกล่าวเป็นไปตามหลักการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมหรือไม่ โดยหลักการทั้ง 4 ข้อ คือ
1) วัตถุประสงค์และการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น ทำเพื่อการค้าและหากำไรหรือไม่
2) ลักษณะของงานอันมีลิขสิทธิ์ที่อาจจะพิจารณาจากความคิดสร้างสรรค์ของงาน หากเป็นงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาก อย่างเช่น ภาพยนตร์ โอกาสที่จะไม่เข้าข้อยกเว้นการใช้งานที่เป็นธรรมก็จะสูง
.
3) ปริมาณและเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญที่ถูกนำมาใช้เมื่อเทียบกับเนื้อหาทั้งหมด แต่หากเป็นปริมาณที่น้อยแต่ส่วนนั้นเป็นสาระสำคัญของงานก็ไม่เข้าข้อยกเว้นการใช้งานที่เป็นธรรมเช่นกัน
4) ผลกระทบต่อตลาดหรือมูลค่าของงานอันมีลิขสิทธิ์นั้น
ดังนั้นหากจะนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาใช้ การขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์หรือการสร้างสรรค์ชื้นงานขึ้นมาใหม่เองทั้งหมดจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
ข้อเสนอแนะจากงานสัมมนา
– จัดทำคำแนะนำหรือแนวปฏิบัติเพิ่ม
การทำคำแนะนำหรือแนวปฏิบัติที่ชัดเจนควบคู่ไปกับการใช้กฎหมายจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องลิขสิทธิ์เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และทำให้เกิดความชัดเจนในการตีความและการบังคับใช้มากยิ่งขึ้น
– ออกแบบการตรวจสอบให้เกิดการร่วมมือกันทุกฝ่าย
รูปแบบในการตรวจสอบควรออกแบบให้มีการทำงานร่วมกันมากขึ้นของทุกภาคส่วน เพื่อลดจำนวนคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้น้อยลง รวมถึงการร่วมมือจากทาง platform ต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน อย่างในกรณี YouTube ที่มีมาตรการแจ้งเตือนและเอาออกโดยทางแอปเองหากงานที่อัปโหลดมีลักษณะละเมิดลิขสิทธิ์ก็จะถูกนำออกไปทันที
– จัดทำให้มีมาตรการแจ้งเตือนและเอาออกในกฎหมาย
เป็นมาตรการที่กำลังแก้ไขในส่วนของกฎหมายที่จะเข้ามาช่วยลดการละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ได้ เพราะคดีละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความผิดอันยอมความได้ จึงจำเป็นต้องให้เจ้าของลิขสิทธิ์ที่เป็นผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเท่านั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่สามารถดำเนินคดีแทนได้
การกำหนดในส่วนของมาตรการตรงนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ทางเจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจในการตรวจสอบการกระทำความผิดได้มากยิ่งขึ้น
ที่มา : สัมมนาวิชาการ หัวข้อ “การละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์โดยการสปอยล์ (Spoil)”