พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 29 จาก #TULAWInfographic
ปี 2565 มีสถิติคดีเยาวชนเกี่ยวกับยาเสพติดมากถึง 4,885 คดี
ซึ่งคิดเป็น 40% จากการดำเนินคดีของเยาวชนทั้งหมด
โดย “กัญชา” เป็นยาเสพติดที่เด็กและเยาวชนนิยมใช้มากสุดเป็นอันดับ 2 จากการใช้ยาเสพติดทุกประเภท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในทุก ๆ ปี แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่น่ากังวลในเรื่องกัญชากับเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก
แล้ว “กัญชา” เป็นสิ่งที่เสรีตามกฎหมายจริงหรือไม่? มุมมองด้านกฎหมายในการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากกัญชาคืออะไร? #TULAW พาทุกคนหาคำตอบผ่านเสวนาวิชาการ “ทิศทางของกัญชาเสรีกับมุมมองของการคุ้มครองเด็กและเยาวชน”
งานชิ้นนี้เป็นการดึงประเด็นส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ งานเสวนา : https://bit.ly/44KhwNB
กัญชาเสรี?
แม้ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 จะมีการถอดกัญชาจากบัญชียาเสพติด ทำให้กัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติด และมีการยกเลิกความผิดฐานการผลิต นำเข้า ส่งออก มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือเพื่อเสพ ทำให้การครอบครองกัญชา หรือการปลูกกัญชาไม่ว่าจะมีจำนวนเท่าใดก็ไม่มีความผิดแล้ว
แต่ในส่วนของการมี การใช้ การจำหน่าย สารสกัดจากกัญชาที่มีปริมาณสาร Tetrahydrocannabinol (THC) เกินกว่าร้อยละ 0.2 ในกรณีไม่มีใบอนุญาต หรือเป็นสารสกัดจากกัญชาที่มีแหล่งที่มาจากนอกราชอาณาจักรนั้น ยังถือว่ามีความผิดตามกฎหมายอยู่
รวมทั้ง “ช่อดอกกัญชา” ยังคงเป็นสมุนไพรควบคุม ตามความหมายของประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 อีกด้วย
ดังนั้น “กัญชา” จึงยังไม่ใช่สิ่งที่เปิดกว้างอย่างเสรี กฎหมายเพียงแค่อนุโลมในบางส่วนเพื่อให้สามารถใช้กัญชาได้มากขึ้นเท่านั้น
กฎหมายกัญชาในการคุ้มครองเด็กและเยาวชน?
มีกฎหมายหลายฉบับที่เข้ามากำหนดมาตรการในเรื่องของกัญชากับเด็กและเยาวชนเอาไว้ แต่กฎหมาย 2 ฉบับที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ
– ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565
– ประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถานศึกษาส่วนราชการหรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2565
โดยมีการกำหนดมาตรการในเรื่องต่าง ๆ เช่น การห้ามจำหน่ายกัญชาให้แก่เด็กและเยาวชน การห้ามเด็กและเยาวชนใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ หรือสถานที่ที่ห้ามขายกัญชา แต่ประกาศทั้ง 2 ฉบับนั้นไม่มีการกำหนดห้ามขายกัญชาบริเวณใกล้สถานศึกษาเอาไว้อย่างชัดเจน ทำให้ในปัจจุบันเราเห็นร้านขายกัญชาเปิดใกล้สถานศึกษากันมากขึ้น
นอกจากนี้ประกาศทั้ง 2 ฉบับนี้ยังเป็นเพียงแนวทางปฏิบัติเท่านั้น ไม่มีบทลงโทษกำหนดเอาไว้ ทำให้การบังคับใช้ไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควรอีกด้วย
ทำไมเด็กและเยาวชนสนใจกัญชา?
สาเหตุที่ทำให้ทำให้เยาวชนหันมาสนใจในเรื่องกัญชาอาจประกอบไปด้วย 3 เหตุผลหลักคือ
1) การโฆษณากัญชา
เมื่อมีการถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด หลายธุรกิจต่างหยิบจับเรื่องกัญชามาเป็นจุดขายของตนเอง ทำการโฆษณาถึงข้อดีต่าง ๆ ของกัญชาแต่ไม่มีการพูดถึงข้อเสีย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในเด็กและเยาวชนว่ากัญชาเป็นสิ่งที่ดีและเริ่มหันมาลองใช้กันมากขึ้น
2) ความคึกคะนอง
ความอยากรู้อยากลองของเยาวชน ประกอบกับกระแสสังคมที่คอยสื่อสารให้เกิดความเข้าใจว่า กัญชาไม่ผิดกฎหมาย ทำให้เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เริ่มหันมาลองกัญชากันมากขึ้น จนเกิดเป็นค่านิยมที่ต้องทำเพื่อให้คนอื่นยอมรับตนเอง
3) ความเข้าถึงง่ายของกัญชาในปัจจุบัน
เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำหนดข้อจำกัดของ สถานที่ขาย และราคา ทำให้กัญชาคือสิ่งที่เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่ายมากในยุคปัจจุบัน เมื่อเข้าถึงได้ง่ายก็ทำให้กลายเป็นสิ่งที่นิยมมากขึ้นนั่นเอง
ทางออกของปัญหากัญชา
ทางแก้ปัญหากัญชาในเด็กและเยาวชนนั้น อาจต้องทำลดการโฆษณาลงเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในสรรพคุณของกัญชา และทำให้การเข้าถึงกัญชาทำได้ยากมากขึ้น รวมทั้งต้องสื่อสารให้เกิดการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วนทั้งทางฝั่ง ผู้ปกครอง โรงเรียน ในการปรับมุมมองความคิดของเด็กและเยาวชน
การเสริมความแข็งแกร่งทางครอบครัวจะเป็นสิ่งที่ช่วยคุ้มครองเด็กและเยาวชนในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี และจะเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กไม่กลับมาทำความผิดซ้ำอีกด้วย การคุ้มครองเด็กและเยาวชนในเรื่องของกัญชาจึงไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายแต่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและความเข้าใจของสังคมโดยรวมด้วย
ที่มา : เสวนาวิชาการ “ทิศทางของกัญชาเสรีกับมุมมองของการคุ้มครองเด็กและเยาวชน”