พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 30 จาก #TULAWInfographic
“Rider” ริเริ่มขึ้นภายใต้แนวคิดการทำงานอิสระหรืองานชั่วคราว ส่งผลให้ “Rider” มองว่าตนเองเป็นนายของตนเอง และ “Platform” มองว่าสัญญาการทำงานเป็นสัญญาจ้างทำของ แต่ปัจจุบันลักษณะการทำงานเริ่มเปลี่ยนแปลงไปโดยมีความคล้ายคลึงกับการทำงานประจำมากขึ้น
มุมมองทางกฎหมายจึงเริ่มเปลี่ยนไป และทำให้เกิดปัญหาว่า “Rider” เป็นลูกจ้างของ “Platform” ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่และนำมาสู่ปัญหาว่าสถานะทางกฎหมายของ “Rider” คืออะไร ตลอดจนควรได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายมากน้อยเพียงใด
#TULAW สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการเรื่อง “ปัญหาสิทธิแรงงานนอกระบบของกลุ่มรับส่งอาหาร (Rider)” เพื่อให้ทุกคนเข้าใจถึงสิทธิแรงงานของกลุ่ม Rider ได้มากขึ้น อ่านรายละเอียดได้ที่
งานชิ้นนี้เป็นการดึงประเด็นส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ งานสัมมนา : https://www.law.tu.ac.th/seminar-24-7-2021/
Rider เป็นลูกจ้างของ Platform หรือไม่
แม้ Rider โดยพฤตินัยจะมีลักษณะเป็นผู้ใช้แรงงาน
แต่โดยนิตินัยการจะพิจารณาว่า Rider เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ จำเป็นต้องพิจารณาถึงนิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานเป็นหลัก
แม้การใช้แรงงานจะได้รับค่าตอบแทนก็อาจไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงานก็ได้ และพิจารณาได้ว่าเป็นสัญญาจ้างทำของ
ทั้งนี้ ต้องพิจารณาถึงรายละเอียดต่าง ๆ ตามข้อเท็จจริงเป็นสำคัญ เช่น อำนาจบังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง ระยะเวลาในการจ้างงาน ฯลฯ ประกอบกัน เพื่อจะทราบได้ว่านิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่าง Rider และ Platform นั้น เป็นสัญญาในลักษณะใด
ปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศได้มีคำพิพากษาของศาลชี้ว่า ผู้ที่ทำงานให้ Platform อาจเข้าข่ายเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานในหลายกรณี แต่ในประเทศไทยยังไม่มีคำพิพากษาของศาลวางบรรทัดฐานไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎ
ปัญหาที่เกิดขึ้น
Platform ต่าง ๆ เลือกที่จะไม่กำหนดให้ Rider เป็นลูกจ้างของตนเอง เพื่อลดภาระหน้าที่ตามกฎหมาย และค่าใช้จ่าย โดยเลือกที่จะระบุในสัญญาให้ Rider เป็นพาร์ทเนอร์แทนการเป็นลูกจ้าง เบื้องต้นสัญญาจึงไม่เป็นสัญญาจ้างแรงงานตามกฎหมาย
เมื่อไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน กลุ่ม Rider จึงถูกมองว่าเป็นแรงงานนอกระบบ ผลที่ตามมาคือทำให้ไม่สามารถนำ กฎหมายต่าง ๆ เกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ หรือ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาบังคับใช้ได้ และทำให้กลุ่ม Rider ไม่ได้รับคุ้มครองจากทางภาครัฐ ภายใต้กฎหมายมากเท่าที่ควร
รวมทั้งยังเกิดการเอารัดเอาเปรียบจาก Platform ด้วยสถานะที่ไม่ชัดเจนของทั้ง 2 ฝ่าย เพราะ Platform ในทางปฏิบัติยังคงมีอำนาจในการบังคับ Rider ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของตนเอง ในขณะที่ Rider ยังคงไม่ได้รับสิทธิต่าง ๆ ที่พึงได้จาก Platform โดยมักอ้างถึงสถานะของ Rider ว่าไม่ใช่ลูกจ้างเสมอ
สิทธิที่กลุ่ม Rider ควรได้รับ
เบื้องต้นกลุ่ม Rider พึงมีสิทธิตามกฎหมาย 2 ประการคือ
1) สิทธิในการรวมตัวตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเรียกร้องในประเด็นต่าง ๆ โดยเมื่อไม่มีกฎหมายลำดับรองกำหนดรายละเอียดของสิทธิและวิธีการปฏิบัติ จึงส่งผลให้การรวมกลุ่มขาดประสิทธิผล ผิดจากสิทธิในการรวมตัวกันตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ ที่เป็นรูปธรรมมากกว่า
2) สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง ตามมาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ
โดย Rider ควรสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ ซึ่งอัตราเงินทดแทนย่อมขึ้นอยู่กับเงินที่ส่งเข้าสมทบกองทุนเอง
นอกจากนี้ Rider ยังคงขาดการคุ้มครองในเรื่องอื่น ๆ เช่นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ หรือ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ อาทิ การประกันรายได้ขั้นต่ำ และการกำหนดสวัสดิการอื่น ๆ ที่จำเป็น
เช่น ประกันอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นสิทธิที่กลุ่ม Rider สมควรได้รับ
3 แนวทางการแก้ไขปัญหา Rider ของต่างประเทศ
ในต่างประเทศได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่อง Rider ที่น่าสนใจหลัก ๆ 3 ประการ ได้แก่
1. การตีความกฎหมายที่มีอยู่ให้เกิดความชัดเจน
การตีความกฎหมายที่มีอยู่โดยย้อนกลับไปพิจารณาในองค์ประกอบของการจ้างแรงงาน ว่าต้องเป็นลักษณะใด และพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นจุดตัดสินว่าสัญญานั้น ๆ เป็นสัญญาใดตามกฎหมาย
แต่ทางแก้นี้ก็มีข้อเสียเช่นกัน เพราะถ้าต้องยึดเอาตามการตีความกฎหมายก็จะต้องฟ้องคดีเพื่อให้ศาลตีความกฎหมายเป็นรายคดี
ทุกครั้ง แนวทางนี้จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถาวร และเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะกรณีไป
2. การกำหนดสถานะของ Rider ให้ชัดเจนโดยกฎหมาย
การกำหนดองค์ประกอบทางกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อกำหนดสถานะการทำงานของ Rider เช่น เรื่องอำนาจบังคับบัญชาอาจพิจารณาตัวอย่างจาก กฎหมายของมลรัฐ California ที่มีบทสันนิษฐานให้เป็นลูกจ้างไว้ก่อนจนกว่านายจ้างจะสามารถโต้แย้งได้ว่าไม่ใช่ลูกจ้าง เป็นต้น
3. การรองรับการรวมกลุ่มของ Rider เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง
เป็นมาตรการทางกฎหมายที่ประเทศสหรัฐอเมริการับรอง โดยเป็นกฎหมายที่เน้นการสนับสนุนให้ผู้ใช้แรงงานหรือ Rider สามารถรวมตัวกันเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการได้ รวมทั้งยังกำหนดขั้นตอนการดำเนินการและเปิดช่องให้รัฐเข้ามาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้อีกด้วย
สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันได้ตระหนักถึงปัญหาของกลุ่ม Rider และมีการพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมากขึ้น โดยมีการผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบฯ เพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานอิสระ เช่น Rider แล้วเช่นกัน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา
ประเด็นในเรื่องของกลุ่ม Rider กับสิทธิของผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยจึงเป็นสิ่งที่ต้องศึกษา และหาทางแก้ไขที่เหมาะสมแก่ทุกฝ่ายต่อไปในอนาคต
ที่มา : เสวนาวิชาการเรื่อง “ปัญหาสิทธิแรงงานนอกระบบของกลุ่มรับส่งอาหาร (Rider)”