พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 33 จาก #TULAWInfographic
หลายคนอาจรู้จักกับการรับมรดก แต่น้อยคนที่จะรู้ถึงหลักการ “สละมรดก” ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงในหลักการทางกฎหมายมากมาย
#TULAW พาทุกคนทำความเข้าใจเรื่อง “สละมรดก” ผ่านเสวนาวิชาการ เรื่อง “ปัญหาการตีความกฎหมายในการสละมรดก”
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ งานเสวนา : https://bit.ly/43FtBTh
หลักการสละมรดก
การสละมรดก คือความประสงค์ของทายาทที่ไม่ต้องการที่จะรับทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก กฎหมายจึงได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการสละมรดกซึ่งเป็นการแสดงออกซึ่งความประสงค์ฝั่งผู้มีสิทธิรับมรดกเอาไว้
ตามมาตรา 1612 ของ ป.พ.พ. การสละมรดกสามารถทำได้ด้วยการแสดงเจตนาชัดแจ้งโดย
- ทำเป็นหนังสือมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ หรือ
- ทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
ซึ่งต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น เนื่องจากเป็นการกระทำที่กระทบถึงสิทธิของทายาทคนอื่น ๆ ด้วย กฎหมายจึงกำหนดแบบที่ต้องทำไว้อย่างชัดเจน
แบ่งมรดก vs สละมรดก
กฎหมายกำหนดว่าการสละมรดกต้องทำโดยชัดแจ้งเท่านั้น ห้ามมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลา รวมทั้งห้ามสละมรดกแต่เพียงบางส่วน เพราะการสละมรดกบางส่วนจะทำให้เกิดความยุ่งยาก และวุ่นวายซึ่งขัดต่อหลักพื้นฐานของการแบ่งมรดก
สำหรับการแบ่งมรดกนั้นสามารถทำได้ตามกฎหมาย จึงต้องอาศัยการตีความให้ชัดเจนว่าการแสดงเจตนาของผู้รับมรดกเป็นการแบ่งมรดกหรือสละมรดกบางส่วนซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย
โดยตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้นคือ ทรัพย์มรดกเป็นบ้านและตั้งอยู่บนท่ีดิน ผู้รับมรดกแสดงเจตนาสละมรดกที่ดิน แต่ไม่มีการกล่าวถึงบ้านเอาไว้ ศาลจึงตีความว่าเป็นการแบ่งมรดกไม่ใช่การสละมรดกเพราะการสละมรดกไม่สามารถทำแต่เพียงบางส่วนได้
ภายหลังได้มีคำพิพากษาของศาลตัดสินว่า บ้านเป็นทรัพย์ที่ติดกับที่ดินจึงเป็นส่วนควบ การที่ผู้รับมรดกแสดงเจตนาสละมรดกที่ดินจึงหมายความรวมถึงบ้านด้วย การแสดงเจตนาดังกล่าวจึงเป็นการสละมรดกสมบูรณ์ตามกฎหมาย มิใช่การสละมรดกบางส่วน
เรื่อง “การแบ่งมรดก” และ “การสละมรดก” จึงยังคงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการตีความ และไม่มีแนวทางที่ชัดเจน จึงต้องติดตามดูต่อไปว่าจะมีแนวทางที่ชัดเจนเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคต
สละมรดกในฐานะใดฐานะหนึ่ง
ประเด็นคำถามที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นอีกประเด็นหนึ่งคือ หากสละมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมแล้วจะสามารถรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมได้ไหม จะเป็นการซับซ้อน และถือว่าเป็นการสละมรดกบางส่วนหรือไม่
โดยประเด็นดังกล่าวมีคำพิพากษาของศาลที่วางหลักเอาไว้ว่าการสละมรดกในพินัยกรรมแล้วมารับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมนั้นไม่ใช่การสละมรดกบางส่วน เนื่องจากการสละมรดกในฐานะใดฐานะหนึ่งนั้นเป็นจะต้องเป็นการสละมรดกทั้งหมดที่ได้รับในฐานะนั้น ๆ
การมารับมรดกในฐานะอีกฐานะหนึ่งจึงไม่เป็นการแบ่งมรดกหรือเป็นการกระทำที่ซ้ำซ้อนกัน เพราะเนื้อหาหรือทรัพย์มรดกที่จะได้รับก็มีความแตกต่างกันไปแล้วนั่นเอง
สละมรดกมีผลย้อนหลัง ต้องคืนทรัพย์ไหม?
กฎหมายกำหนดให้การสละมรดกมีผลย้อนไปถึงวันที่เจ้ามรดกตาย คำถามที่ตามมาคือหากได้รับทรัพย์มรดกไปแล้ว แล้วมาสละมรดกในภายหลังทรัพย์มรดกที่ได้ไปนั้นต้องคืนหรือไม่ และต้องคืนแค่ไหน อย่างใด
มาตรา 1615 ของ ป.พ.พ. ที่กำหนดให้การสละมรดกมีผลย้อนหลังนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับสิทธิของผู้สืบทอดมรดกทั้งหมดและเจ้าหนี้ ดังนั้นหากเกิดการสละมรดกจึงต้องมีการคืนทรัพย์ให้แก่ผู้มีสิทธิต่อไป และนำหลักลาภมิควรได้มาปรับใช้ ซึ่งคือการคืนทรัพย์มรดกทั้งหมดที่ได้รับไป
การเพิกถอนการสละมรดก
กฎหมายไทยไม่ได้กำหนดเรื่องการเพิกถอนสละมรดกไว้โดยชัดเจน เพียงแต่กำหนดไว้อย่างกว้าง ๆ ว่า การสละมรดกนั้นจะถอนเสียมิได้เท่านั้น ต่างจากกฎหมายฝรั่งเศสที่กำหนดไว้เลยว่าการสละมรดกโดยกลฉ้อฉลหรือการสำคัญผิดนั้นจะตกเป็นโมฆะ
ดังนั้นหากเกิดกรณีที่จะเพิกถอนการสละมรดกเนื่องจากสำคัญผิดหรือถูกฉ้อฉลนั้นจึงต้องย้อนกลับไปใช้หลักทั่วไปคือหลักนิติกรรมสัญญา เนื่องจากการสละมรดกถือว่าเป็นการแสดงเจตนาในการทำนิติกรรมเช่นกัน ดังนั้นการบอกเพิกถอนการสละมรดกจึงเปรียบเสมือนการบอกล้างโมฆียะกรรม
ที่มา : เสวนาวิชาการ เรื่อง “ปัญหาการตีความกฎหมายในการสละมรดก”