พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 38 จาก #TULAWInfographic
.
ในปี 64 ประเทศไทยมีการนำเข้าสารอันตรายภาคเกษตรกรรมมากถึง 1.3 แสนตัน โดยเพิ่มขึ้นจากปี 63 ที่มีเพียงแค่ 9.8 หมื่นตัน และมีการนำเข้าสารอันตรายในภาคอุตสาหกรรมมากถึง 3.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 63 ที่มีปริมาณ 3.1 ล้านตันกว่า 1 แสนตัน
.
การนำเข้าดังกล่าวคือการนำเข้าจากประเทศที่พัฒนาแล้วเพื่อมาทำการกำจัด ซึ่งมีการควบคุมและดำเนินการให้เป็นไปตามอนุสัญญาบาเซล แต่เนื้อหาของอนุสัญญาบาเซลเป็นอย่างไร และประเทศไทยมีการดำเนินการอย่างไรให้เป็นไปตามอนุสัญญา #TULAW สรุปมาให้แล้ว
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ งานวิจัย: https://bit.ly/3Llobqe
.
อนุสัญญาบาเซล
ในอดีตประเทศต่าง ๆ ได้มีการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการขยายตัวของการผลิตสินค้าต่าง ๆ ขึ้นมากมาย เมื่อมีการผลิตก็เป็นเรื่องปกติที่จะมีการก่อให้เกิดของเสียมากขึ้นจากกระบวนการผลิตหรือโรงงานอุตสาหกรรม
.
ของเสียเหล่านี้บางชนิดเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วต้องมีการตรากฎหมายและออกมาตรการต่าง ๆ ที่เข้มงวดในการจัดการหรือกำจัดของเสียดังกล่าว
.
จากมาตรการต่าง ๆ ทำให้ต้นทุนในการกำจัดขยะหรือของเสียเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก รวมทั้งประชาชนในประเทศที่พัฒนาก็มีการตื่นตัวมากขึ้นจนเกิดการต่อต้านโครงการจัดการของเสียอันตรายในท้องถิ่นของตนเอง ทำให้การจัดการยุ่งยากมากขึ้นไปอีกด้วย
.
หลายกิจการที่ก่อให้เกิดของเสียอันตรายจึงหาวิธีการที่จะลดต้นทุนในการกำจัดของเสียเหล่านี้ โดยการส่งไปกำจัดในประเทศกำลังพัฒนา ที่ค่าแรงและอุปกรณ์ต่าง ๆ มีราคาถูก แถมยังไม่มีกฎหมายที่เข้มงวดเกี่ยวกับการกำจัดของเสียอันตราย และประชาชนไม่ตื่นตัวในเรื่องนี้
.
การกระทำดังกล่าวจึงทำให้เกิด “อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด ค.ศ. 1989” หรือ “อนุสัญญาบาเซล” ขึ้นมา เพื่อป้องกันการส่งของเสียระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยจำกัดและกำหนดหลักเกณฑ์การเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามแเดน ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาบาเซลด้วยเช่นกัน
.
5 กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง
การที่ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาบาเซลนั้น ทำให้มีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง 5 ฉบับคือ
.
- พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
กฎหมายที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตราย แต่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ “ของเสียอันตราย” โดยตรง เพราะกฎหมายฉบับนี้ควบคุม “วัตถุอันตราย” แต่ทั้งนี้ได้มีการกำหนดให้ของเสียอันตรายบางอย่างเป็นวัตถุอันตรายตามกฎหมายนี้แล้ว จึงทำให้กฎหมายฉบับนี้ใช้ควบคุม “ของเสียอันตราย” ได้เช่นกัน
.
ดังนั้นผู้ที่จะนำเข้าหรือส่งออกของเสียอันตรายที่ถูกประกาศว่าเป็นวัตถุอันตราย จะต้องขออนุญาตจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบก่อนเท่านั้น ทั้งนี้แต่ละหน่วยงานจะมีประกาศของรัฐมนตรีกำหนดหลักเกณฑ์การนำเข้าและส่งออกวัตถุอันตรายที่อยู่ในความรับผิดชอบเอาไว้
.
- พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522
เป็นกฎหมายที่สามารถนามาใช้ควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายได้เช่นกัน เพราะมาตรา 5 วางหลักไว้ว่า ในกรณีที่จำเป็นหรือสมควรเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สาธารณประโยชน์ การสาธารณสุข ความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อประโยชน์อื่นใดของรัฐ
.
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(1) กำหนดสินค้าใดให้เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการส่งออกหรือในการนำเข้า หรือ
(2) กำหนดสินค้าใดให้เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการส่งออกหรือในการนำเข้า
.
ดังนั้นหากทางการต้องการจะควบคุมการนำเข้าหรือส่งออกของเสียอันตรายชนิดใด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ย่อมสามารถประกาศกำหนดให้ต้องมีการขออนุญาตการนำเข้าหรือส่งออกของเสียอันตรายนั้นก่อนได้
.
- พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560
เป็นกฎหมายที่มีบทบาทสำคัญอีกฉบับหนึ่งในการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายเพราะมีบทบัญญัติควบคุมการนำเข้ามาหรือส่งออกสิ่งของไปนอกราชอาณาจักรไทย แม้ว่าวัตถุประสงค์หลักของกฎหมายนี้ จะเป็นการควบคุมให้นำเข้าหรือส่งออกสิ่งของตามที่กฎหมายนี้หรือกฎหมายเกี่ยวกับพิกัดอัตราศุลกากรกำหนดไว้ แต่ก็มีหน้าที่ในการควบคุมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผ่านแดนด้วยเช่นกัน
.
- พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านนำ้ไทย พระพุทธศักราช 2456
กฎหมายนี้มีความเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายของของเสียอันตรายข้ามแดนต่อเมื่อใช้เรือเป็นพาหนะในการขนส่งของเสียอันตรายเท่านั้น โดยมาตรา 189 กำหนดให้เจ้าท่าโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดชั้นของสิ่งของและสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้
.
- พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535
แม้กฎหมายนี้ไม่ได้ถูกตราขึ้นเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของอันตราย แต่มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานประเภทต่าง ๆ เช่น การควบคุมการปล่อยและจัดการกับของเสียที่เกิดจากโรงงาน ซึ่งทำให้กฎหมายนี้มีความเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามแดนทางอ้อมด้วยเช่นกัน
.
4 ปัญหาใหญ่ของประเทศไทย
ปัญหาในเรื่องการนำเข้าและส่งออกของเสียของประเทศไทยจะแบ่งออกเป็น 4 ปัญหาใหญ่คือ
.
- ปัญหาการกำหนดหน่วยงานผู้มีอำนาจอนุญาตการส่งออกและทำหน้าที่ในการนำกลับของเสีย
ตามอนุสัญญาบาเซลนั้น ภาคีจะต้องแต่งตั้งหน่วยงานผู้มีอำนาจเพื่อทำการประสานงานและควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสีย ประเทศไทยจึงได้แต่งตั้งให้ “กรมโรงงานอุตสาหกรรม” เป็นหน่วยงานผู้มีอำนาจตามอนุสัญญา
.
แต่การกำหนดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่มีอำนาจในการควบคุมการนำเข้าและส่งออกของเสียตามอนุสัญญาบาเซลนั้น มีข้อจำกัดว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจตามกฎหมายในการควบคุมการนำเข้าและส่งออกวัตถุอันตรายที่ใช้ในทางอุตสาหกรรมเท่านั้น
.
จึงเกิดเป็นปัญหาเมื่อมีผู้ต้องการส่งออกของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล แต่เป็นวัตถุอันตรายที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นซึ่งไม่ใช่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่สามารถเข้าไปจัดการของเสียดังกล่าวได้
.
- ปัญหาหน่วยงานในการนำกลับของเสียที่ส่งออกโดยผิดกฎหมาย
เมื่อมีการส่งของเสียอันตรายข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย อนุสัญญาบาเซลกำหนดให้รัฐผู้ส่งออกนำของเสียนั้นกลับ ส่วนหน่วยงานใดจะมีหน้าที่นำกลับของเสียนั้น เป็นเรื่องภายในของแต่ละประเทศ ในกรณีของประเทศไทย แม้จะมีการกำหนดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานผู้มีอำนาจตามอนุสัญญาแต่ก็ไม่ได้กำหนดให้มีหน้าที่ในการนำกลับของเสียอันตราย ทำให้เกิดความสับสนตามมานั่นเอง
.
- ปัญหาความล่าช้าในการนำกลับของเสียหรือกำจัดของเสีย
ข้อ 9 วรรคสองของอนุสัญญาบาเซล กำหนดให้เมื่อมีการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียที่ผิดกฎหมาย รัฐผู้ส่งออกต้องรับประกันว่าจะมีการนำกลับของเสียมายังประเทศตนหรือมีการกำจัดของเสียในรัฐผู้นำเข้าภายใน 30 วัน นับแต่รัฐผู้ส่งออกได้รับแจ้งการเคลื่อนย้ายข้ามแดนที่ผิดกฎหมายหรือภายในระยะเวลาอื่นที่รัฐเกี่ยวข้องจะตกลงกัน
.
แต่จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เมื่อมีการส่งของเสียที่ผิดกฎหมายจากประเทศไทยไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ การนำของเสียดังกล่าวใช้เวลาไปไม่น้อยกว่า 6 ปี ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก และทำให้ประเทศไทยเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาอีกด้วย
.
- ปัญหาในการเรียกค่าใช้จ่ายคืนในการนำกลับของเสีย
ปัญหาหลักของการเรียกค่าใช้จ่ายคืนคือ ไม่มีกฎหมายกล่าวถึงการเรียกคืนค่าใช้จ่ายในการนำกลับของเสียเอาไว้อย่างชัดเจน เมื่อหน่วยงานของประเทศไทยได้นำกลับของเสียอันตรายที่ถูกส่งออกไปโดยผิดกฎหมายแล้ว หรือดำเนินการให้มีการจัดการของเสียนั้นในต่างประเทศเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาบาเซลแล้ว
.
ปัญหาที่ตามมาคือหน่วยงานนั้นจะมีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายทั้งหมดคืนจากผู้ส่งออกหรือไม่ ซึ่งหากก่อนการส่งออก หน่วยงานราชการได้เรียกให้ผู้ส่งออกวางประกันทางการเงิน หรือทำสัญญาว่าจะรับผิดค่าใช้จ่าย
ดังกล่าวไว้แล้ว ก็จะไม่มีปัญหาใดเกิดขึ้น
.
แต่หากเป็นการส่งออกที่ผิดกฎหมายอาจไม่ได้มีการวางประกัน หรือทำสัญญาประกันเอาไว้ จึงต้องพิจารณากฎหมายตามประเทศไทยต่อไปว่าจะเรียกร้องค่าใช้จ่ายคืนได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องข้างต้น ก็พบว่ายังไม่มีกฎหมายใดที่กำหนดในเรื่องดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน
.
ข้อเสนอแนะ
วิธีการแก้ไขปัญหาข้างต้น แบ่งออกเป็น 2 แนวทางคือ
.
- กำหนดหน่วยงานให้ชัดเจน
แต่งตั้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบวัตถุอันตรายทั้งหมดเป็นหน่วยงานผู้มีอำนาจตามอนุสัญญาบาเซล หรืออาจยังคงให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานผู้มีอำนาจเพียงหน่วยงานเดียว แต่ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการสัญญาบาเซล
.
โดยแต่งตั้งผู้แทนหน่วยงานทั้งหมดที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลวัตถุอันตรายเป็นคณะอนุกรรมการนี้เพื่อให้มีการประสานงานกันในการปฏิบัติตามอนุสัญญาเมื่อมีการนำเข้าหรือส่งออกของเสียอันตราย
.
- แก้ไขกฎหมายในเรื่องค่าใช้จ่ายในการนำกลับของเสีย
ควรมีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายพ.ศ. 2535 ให้ผู้ส่งออกของเสียที่ผิดกฎหมายต้องรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายในการนำของเสียกลับประเทศไทยหรือค่าจัดการของเสียดังกล่าวนั้นในต่างประเทศ
.
ผู้ทำวิจัยเห็นว่าควรจะนำเรื่องดังกล่าวไปบรรจุไว้ในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เนื่องจาก เป็นการส่งออกวัตถุอันตรายที่มีหน่วยงานรับผิดชอบกำกับดูแลเรื่องเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว และที่ผ่านมาก็ได้ใช้กฎหมายนี้เป็นกฎหมายหลักในการควบคุมการนำเข้าและส่งออกวัตถุอันตราย
.
ที่มา: ความรับผิดต่อค่าใช้จ่ายในการนำกลับของเสียอันตรายข้ามเขตแดนที่ผิดกฎหมาย
;อำนาจ วงศ์บัณฑิต. (2561)