การคุ้มครอง “ประโยชน์สูงสุดของเด็ก” ในประเทศไทยอาจถูกมองข้ามไป เพราะโดยสภาพปกติของสังคมที่คนไทยมักคุ้นชินกับการที่พ่อแม่ตัดสินใจแทนลูกทุกอย่างตั้งแต่เล็กไปจนโต จนทำให้เราไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของหลักเหล่านี้ ทั้ง ๆ ที่บุตรก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง และควรมีสิทธิในการเลือกการดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง
สิ่งเหล่านี้ถูกสะท้อนอยู่ในกฎหมายครอบครัวของประเทศไทยด้วยเช่นกัน ถ้อยคำในบทบัญญัติกฎหมายของประเทศไทยในบางมาตรา ได้สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างอำนาจบางอย่างขึ้นมาที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันครอบครัวไทย
บทบัญญัติเหล่านั้นคือบทใด มีเนื้อหาอย่างไร #TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากเสวนาวิชาการเรื่อง “ 88 ปีกฎหมายครอบครัวไทย : พลวัตของแนวคิดใหม่ในความเป็นสถาบันครอบครัว”
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานเสวนาวิชาการ: https://bit.ly/41NnEV0
ความสำคัญของหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก
หลักประโยชน์สูงสุดของเด็กประกอบไปด้วยหลักหลาย ๆ เรื่อง ที่พ่อแม่หรือผู้ใช้อำนาจปกครองต้องทำหน้าที่ด้วยการดูแลตามลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไปของเด็กคนนั้น ๆ ไม่ใช่การใช้อำนาจ เป็นหน้าที่ที่กฎหมายไม่ได้กำหนดขึ้นเอง แต่เป็นไปตามลักษณะธรรมชาติ
ประโยชน์สูงสุดของเด็กมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในด้านต่าง ๆ ซึ่งความท้าทายของเรื่องนี้คือ คนในสังคมมีความเข้าใจเรื่องตรงนี้มากน้อยแค่ไหน พ่อแม่เข้าใจว่าการกระทำของตนเองมีผลต่อประโยชน์สูงสุดของเด็กอย่างไร เด็กมีส่วนร่วมในการเติบโตและพัฒนาการอย่างเหมาะสมหรือไม่
แต่ทั้งนี้การมีส่วนร่วมตรงนี้ก็ต้องมีความเหมาะสมตามวัยของเด็กด้วย เด็กทุกคนจะต้องมีตัวช่วยในการพัฒนาที่เหมาะสมแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย เพราะเด็กอาจไม่พร้อมที่จะตัดสินใจในเรื่องบางเรื่อง อย่างเช่น เรื่องการผ่าตัดแปลงเพศ เป็นต้น ที่แม้จะเป็นสิทธิของพวกเขาแต่ก็ยังต้องมีกระบวนการการคัดกรองด้วยเช่นกัน
ข้อสังเกตการใช้ถ้อยคำในกฎหมายครอบครัวไทย
- ผู้ให้อำนาจให้ความยินยอมในการหมั้นและการสมรสของผู้เยาว์ตามมาตรา 1436 (3)
มาตรา 1436 (3) กำหนดเอาไว้ว่า ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของผู้รับบุตรบุญธรรม และผู้ปกครอง โดยกรณีบุตรบุญธรรมถ้าจะหมั้นหรือสมรสก็ต้องอนุโลมมาใช้มาตรานี้ ซึ่งปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลที่ต้องการหมั้นหรือสมรสนั้นเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมเสียเอง คำถามที่ตามมาคือเมื่อเป็นเช่นนั้นผู้เยาว์จะสามารถแสดงเจตนาที่แท้จริงได้หรือไม่
ในเมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นผู้ที่มีบุญคุณและดูแลอุปการะเลี้ยงดูมาตลอด ซึ่งโดยสภาพธรรมชาติผู้เยาว์ก็จะไม่มีความกล้าที่จะปฏิเสธ ประกอบกับในสังคมและวัฒนธรรมไทยนั้นผูกติดกับเรื่องหลักความกตัญญู รู้คุณ เป็นอย่างมากอีกด้วย
นอกจากนั้นกฎหมายยังเขียนเพียงแค่ว่า การสมรสระหว่างบุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ถือว่าเป็นโมฆะหรือโมฆียะ และมีผลสมบูรณ์เพียงแต่สถานะผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุญธรรมจะหายไป ซึ่งการที่กฎหมายกำหนดเพียงเท่านั้น เหมือนกฎหมายเพียงแค่ต้องการจัดการในเชิงนิติศาสตร์ให้สถานะไม่ทับซ้อนกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องประโยชน์สูงสุดของเด็ก
- ผู้มีอำนาจปกครองกรณีบุตรนอกสมรสตามมาตรา 1546
มาตรา 1546 กำหนดให้ เด็กที่เกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ปัญหาคือประโยคที่กำหนดว่า “เว้นแต่กฎหมายจะบัญญัติเป็นอย่างอื่น” นั้นจะถูกโยงไปเรื่องการอุ้มบุญ หรือพระราชบัญญัติเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ที่ให้อำนาจปกครองเป็นของบุคคลที่กฎหมายกำหนดในฐานะเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย แทนที่จะเป็นผู้หญิงที่อุ้มท้องเด็กคนนั้น
การที่กฎหมายกำหนดให้ผู้หญิงที่อุ้มท้องมาตลอด 9 เดือนไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจใด ๆ ที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเด็กได้เลย นอกจากจะทำให้เกิดคำถามขึ้นมาในแง่ของความสัมพันธ์แล้วยังกระทบกระเทือนไปถึงกฎหมายอาญาด้วย เช่น หากบุตรที่เกิดจากการอุ้มบุญนั้น ทำการฆาตรกรรมหญิงที่ให้กำเนิดตนเองมาก็จะไม่ถือว่าเป็นการฆ่าบุพการีตามกฎหมายอาญา เป็นต้น
รวมทั้งผู้หญิงที่ทำการอุ้มท้องมาตลอดก็ไม่สามารถใช้อำนาจปกครองกับเด็กคนดังกล่าวได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการอบรบ สั่งสอน จึงอาจทำให้เกิดกรณีการละเมิดอำนาจปกครองของเจ้าของไข่หรือเจ้าของสเปิร์มขึ้นได้ หากเด็กคนนั้นอยู่ใกล้ชิดหรือได้รับการอบรบสั่งสอนกับหญิงที่อุ้มท้อง
- ขอบเขตอำนาจในการใช้อำนาจปกครองในมาตรา 1564 และ 1567
มาตรา 1564 กำหนดให้ บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ หรือหลังจากบรรลุนิติภาวะแล้วในกรณีที่บุตรเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ การที่กฎหมายกำหนดว่า “จำต้อง” ทำให้มาตราดังกล่าวมีลักษณะของการบังคับให้ทำทั้ง ๆ ที่การดูแล การเอาใจใส่ ควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความรู้สึก ความสัมพันธ์ ของพวกเขามากกว่าการที่ให้กฎหมายเข้าไปกำหนด
นอกจากนี้การกำหนดเช่นนี้ยังส่งอิทธิพลต่อการปฏิบัติ และส่งผลต่อไปยังเรื่องมรดกด้วย ถ้าพ่อแม่ดูแลบุตรเพียงพราะความจำยอม หรือดูแลเพื่อหวังให้บุตรดูแลกลับ ความสัมพันธ์เหล่านี้จะสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สถาบันครอบครัวได้อย่างไร เป็นโจทย์ที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป
สำหรับมาตรา 1567 นั้นกำหนดว่า ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิในการ กำหนดที่อยู่ของบุตร ทำโทษบุตร ให้บุตรทำการงาน และเรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นได้ การกำหนดเช่นนี้เป็นการให้อำนาจแก่พ่อแม่ในการกระทำการใด ๆ กับบุตรได้ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเมื่อพิจารณาตามหลักประโยชน์สูงสุดของเด็กแล้วจะเห็นว่าต้องมีสองกระบวนการที่สำคัญคือ sharing และ hearing ที่เด็กต้องสามารถพูดสิ่งที่ต้องการได้อย่างอิสระ โดยพ่อแม่ไม่มีสิทธิที่จะตัดสินใจแทนเด็กได้หากขาดกระบวนการดังกล่าวไป
ซึ่งในต่างประเทศเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญและระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะการใช้อำนาจปกครองของพ่อแม่หรือผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องคำนึงถึงหลักประโยชน์สูงสุดของเด็กด้วย ในบางประเทศจึงได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า หน้าที่ในการอบรมเลี้ยงดู หน้าที่ในการสั่งสอน แทนการใช้คำว่า “มีสิทธิ”
- การเพิกถอนอำนาจปกครองเพราะการเลี้ยงดูโดยมิชอบตามมาตรา 1582
เรื่องของการถอนปกครองที่กฎหมายใช้คำว่า “ใช้อํานาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ” นั้น ทำให้เกิดประเด็นคำถามว่า “โดยมิชอบ” หมายถึงกรณีอะไรบ้าง กรณีที่พ่อแม่สอนลูกให้เป็นโจร หรือสั่งสอนลูกให้ไปกระทําความผิดถือว่าเป็นปัญหาการเลี้ยงดูที่ไม่ชอบหรือไม่ แล้วถ้าพ่อแม่งดเว้นกระทำหน้าที่ในการที่ต้องป้องกันผลพวกเขาจะถูกถอนอำนาจปกครองได้หรือไม่ คําพิพากษาฎีกาของประเทศไทยยังไม่ครอบคลุมไปถึงกรณีเหล่านั้น และยังห่างไกลอยู่มาก ส่วนใหญ่จะต้องเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนเท่านั้นศาลถึงจะตัดสินเพิกถอนอำนาจ
ที่มา: เสวนาวิชาการเรื่อง “ 88 ปีกฎหมายครอบครัวไทย : พลวัตของแนวคิดใหม่ในความเป็นสถาบันครอบครัว”