พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 57 จาก #TULAWInfographic
.
“อนุญาโตตุลาการ” คือกระบวนการการระงับข้อพิพาททางเลือกที่เปิดโอกาสให้เอกชนสามารถเลือกใช้ได้นอกเหนือจากการใช้กระบวนการทางศาล ซึ่งโดยปกติแล้วมักถูกใช้ในกรณีที่คู่พิพาทเป็นเอกชนด้วยกันเท่านั้นแต่รู้หรือไม่ว่า อนุญาโตตุลาการนั้นสามารถใช้กับ “สัญญาทางปกครอง” ที่คู่พิพาทคือฝ่ายเอกชนและฝ่ายรัฐได้เช่นกัน
.
โดยเนื้อหาในการพิจารณาจะเป็นอย่างไร? และศาลปกครองสามารถเข้ามามีส่วนในการพิจารณาได้หรือไม่? #TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากเสวนาวิชาการเรื่อง “อนุญาโตตุลาการในสัญญาทางปกครอง : ความรู้พื้นฐานและข้อสังเกต”
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานเสวนาวิชาการ: https://bit.ly/3SNR56v
.
อนุญาโตตุลาการในสัญญาทางปกครอง
การให้อนุญาโตตุลาการเข้ามามีส่วนในสัญญาทางปกครองถือเป็นการเชื่อมกันของแนวคิดของฝั่งเอกชนและมหาชนเข้าด้วยกัน แต่ทั้งนี้การกำหนดดังกล่าวเป็นไปตามสิทธิที่ถูกกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน โดยคู่สัญญาสามารถกำหนดไว้ในสัญญาตั้งแต่แรก หรือตัดสินใจในภายหลังก็ได้ว่าจะเลือกใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการหรือกระบวนการทางศาล
.
ในการเลือกใช้อนุญาโตตุลาการนั้น สาเหตุหลักอาจมาจากการต้องการรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจเนื่องจาก คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสามารถนำไปบังคับใช้ได้ทั่วโลก เพียงแค่นำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไปฟ้องต่อศาลในแต่ละประเทศเพื่อทำการบังคับคดีให้เท่านั้น
.
จึงอาจกล่าวได้ว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นมีอำนาจมากกว่ากระบวนการทางการศาลในมุมมองระหว่างประเทศ แต่สำหรับการนำมาใช้ในสัญญาทางปกครองนั้นส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะจำนวนของข้อพิพาททางปกครองที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
.
คุณสมบัติของอนุญาโตตุลาการ
อนุญาโตตุลาการที่จะเข้ามาทำคำชี้ขาดในคดีที่เกี่ยวข้องกับสัญญาทางปกครองนั้น ต้องเข้าใจถึงหลักในกฎหมายปกครอง และหลักในการทำสัญญาทางปกครองก่อน อาทิ ความเข้าใจในเรื่องเอกสิทธิการบอกเลิกสัญญาที่ฝ่ายรัฐมีอำนาจในการบอกเลิกหรือแก้ไขสัญญาได้ฝ่ายเดียว ในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ และรัฐต้องจ่ายค่าชดเชยให้ เป็นต้น เพื่อให้การทำคำชี้ขาดนั้นไม่ขัดต่อหลักกฎหมายปกครอง และลดปัญหาเรื่องถูกศาลปกครองเพิกถอนคำชี้ขาด
.
การตรวจสอบของศาลปกครอง
กรณีที่คู่พิพาทไม่ยอมทำตามคำชี้ขาด คู่พิพาทอีกฝ่ายสามารถนำคำชี้ขาดดังกล่าวไปร้องแก่ศาลเพื่อให้เกิดการบังคับคดีได้ ซึ่งกรณีคำชี้ขาดในสัญญาทางปกครองนั้น คู่พิพาทจะต้องร้องต่อศาลปกครอง โดยศาลปกครองสามารถเข้าไปบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการที่ให้ศาลปกครองเข้าไปในฐานะ “ศาลที่มีเขตอำนาจ” นอกจากนี้ศาลปกครองยังอาจทำการตรวจสอบคำชี้ขาดได้ด้วยเช่นกัน
.
ขอบเขตที่ศาลเข้าไปเกี่ยวข้องได้
คำสั่งของศาลปกครองที่ อ.72-73/2566 ได้วางหลักไว้ว่า บทบาทของศาลปกครองในการตรวจสอบคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นบทบาทที่จำกัด ศาลปกครองไม่อาจตรวจสอบเกินกว่าที่กฎหมายและหลักวิชากำหนดไว้ได้
.
ทั้งนี้เป็นเพราะอนุญาโตตุลาการเป็นฝ่ายคณะของเอกชนที่มารวมกันโดยความประสงค์ของคู่พิพาท และไม่ใช่การชี้ขาดที่ยึดหลักตามกฎหมาย ดังนั้นศาลจึงไม่มีอำนาจที่จะไปตรวจสอบทุกรายละเอียดและกระบวนการตามกฎหมายได้ รวมทั้งอนุญาโตตุลาการไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ และไม่ใช่ศาลปกครองชั้นต้น ศาลจึงไม่มีขอบเขตอำนาจที่จะเข้าไปตรวจสอบได้ทุกรายละเอียดนั่นเอง
.
นอกจากนี้การเข้าไปตรวจสอบคำชี้ขาดของศาลปกครองต้องไม่เป็นลักษณะที่ทำให้ฝ่ายที่เสียประโยชน์ในชั้นของศาลอนุญาโตตุลาการสามารถรื้อคดีขึ้นมาเพื่อให้ศาลปกครองพิจารณาใหม่ได้ และศาลปกครองจะต้องควบคุมคำชี้ขาดให้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย
.
ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี?
หลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ถูกกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน แต่มีคำสั่งของศาลปกครองที่วางหลักไว้ว่า การควบคุมคำชี้ขาดให้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของศาลปกครองนั้นจะต้องควบคุมให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ 2 ข้อคือ
.
- คำชี้ขาดนั้นต้องอาศัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานของระบบกฎหมายปกครอง เช่น พิจารณาให้ฝ่ายเอกชนสามารถบอกเลิกสัญญาทางปกครองได้
.
- คำชี้ขาดนั้นต้องไม่เห็นประจักษ์ชัดแจ้งว่าขัดต่อสามัญสำนึกเกี่ยวกับความเป็นธรรมของสังคม เช่น เห็นว่ามีการทุจริตอย่างชัดเจน
.
ที่มา: เสวนาวิชาการเรื่อง “อนุญาโตตุลาการในสัญญาทางปกครอง : ความรู้พื้นฐานและข้อสังเกต”