พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 60 จาก #TULAWInfographic
.
ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาในการจัดการผู้กระทำความผิดที่มีความผิดปกติทางจิต เพราะกฎหมายในปัจจุบันยังมีช่องโหว่ซึ่งทำให้ผู้กระทำความผิดเหล่านี้ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั่วไป ซึ่งส่งผลให้พวกเขาอาจต้องรับโทษจำคุก และขาดโอกาสในการได้รับการรักษาจนนำไปสู่การกระทำผิดซ้ำในที่สุด
.
ช่องโหว่ที่เกิดขึ้นคืออะไร? ทิศทางการเปลี่ยนแปลงควรไปทางไหน? #TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากงานวิจัยเรื่อง “การปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของผู้กระทำความผิดที่มีความผิดปกติทางจิตของประเทศไทย: กรณีข้อต่อสู้เรื่องการกระทำความผิดในขณะวิกลจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65” โดย ญาดา เดชชัย เธียรประสิทธิ์
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://bit.ly/4bQYsSf
.
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65
ข้อต่อสู้เรื่องการกระทำความผิดในขณะวิกลจริตของประเทศไทยถูกบัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 โดยหากผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นจะได้รับการยกเว้นโทษ แต่หากผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่จะได้รับการลดโทษแทน
.
ดังนั้น ผลของการยกข้อต่อสู้เรื่องการกระทำความผิด ในขณะวิกลจริตของประเทศไทยจึงเป็นเหตุยกเว้นโทษและเหตุลดโทษเท่านั้น ซึ่งต่างจากกฎหมายของ สหราชอาณาจักร (อังกฤษและเวลส์ และสกอตแลนด์) ที่ข้อต่อสู้เรื่องการกระทำความผิดในขณะวิกลจริตเป็นเหตุยกเว้นความผิด
.
นอกจากนี้ตามโครงสร้างความรับผิดทางอาญาของประเทศไทยแล้ว การยกข้อต่อสู้เรื่องวิกลจริตในขณะกระทำความผิดนี้ จำเลยมีภาระการพิสูจน์ถึงความวิกลจริตของเขา โดยจะต้องพิสูจน์ว่า ตนมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน และจะต้องพิสูจน์ได้ว่าในขณะกระทำความผิดนั้น ตนไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้
.
เปรียบเทียบระหว่างกฎหมายสหราชอาณาจักร
ในอังกฤษและเวลส์และสกอตแลนด์ ข้อต่อสู้เรื่องวิกลจริตในขณะกระทำความผิดเป็นเหตุยกเว้นความผิด ในขณะที่ในไทยข้อต่อสู้เรื่องการกระทำความผิดในขณะวิกลจริตเป็นเหตุยกเว้นโทษหรือเหตุลดโทษ โดยมีรายละเอียดสำคัญที่แตกต่างกัน 4 ข้อ คือ
.
- ถ้อยคำและการตีความ
กฎหมายของแต่ละประเทศนั้นใช้คำที่แตกต่างกันเพื่ออธิบาย “ความวิกลจริต” รวมทั้งยังมีการตีความที่แตกต่างกันอีกด้วย โดยในอังกฤษและเวลส์ ใช้คำว่า “disease of the mind” ซึ่งกว้างพอที่จะครอบคลุมความเจ็บป่วยทางกายบางอย่างที่มีสาเหตุภายในด้วย แต่ไม่รวมถึงอาการไซโคพาธ ในขณะที่สกอตแลนด์ใช้คำว่า “mental disorders” ซึ่งจำกัดเฉพาะความผิดปกติทางจิต และไม่รวมถึงอาการไซโคพาธด้วยเช่นกัน
.
สำหรับกฎหมายไทยใช้ถ้อยคำว่า “จิตบกพร่อง โรคจิต จิตฟั่นเฟือน” นั้น โดยมีนัยว่า เป็นความผิดปกติทางจิตเท่านั้น และในทางปฏิบัติอาการที่ถูกยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เรื่องวิกลจริตในขณะกระทำความผิดที่ประสบความสำเร็จคือ ความผิดปกติทางจิต จึงยังมีข้อสงสัยอยู่ว่าจะตีความรวมถึงความเจ็บป่วยทางกายด้วยหรือไม่ และกฎหมายไทยก็ไม่ได้มีการยกเว้นอาการไซโคพาธไว้โดยเฉพาะด้วยเช่นกัน
.
- บททดสอบความวิกลจริต
บททดสอบความวิกลจริตในกฎหมายแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ในอังกฤษและเวลส์ และสกอตแลนด์ จะใช้เฉพาะบททดสอบด้านความรู้ความเข้าใจเท่านั้น โดยจำเลยต้องพิสูจน์ว่า เขาไม่รู้หรือไม่สามารถตระหนักถึงธรรมชาติของการกระทำได้ หรือไม่รู้ว่าการกระทำนั้นผิด หรือไม่สามารถตระหนักถึงความผิดของการกระทำของเขาได้
.
ที่น่าสังเกตคือในอังกฤษและเวลส์ บททดสอบจะถูกตีความอย่างแคบ กล่าวคือ คำว่า “ความรู้” (know) จำกัดเฉพาะความรู้ทางกายภาพของการกระทำ และคำว่า “ความผิด” (wrongfulness) หมายถึง ความผิดทางกฎหมาย ส่วนในสกอตแลนด์ คำว่า “ตระหนัก” (appreciation) มุ่งเน้นไปที่ความมีเหตุผลของจำเลย และ “ความผิด” (wrongfulness) ครอบคลุมทั้งความผิดทางกฎหมายและทางศีลธรรม
.
สำหรับกฎหมายไทยมีการใช้ทั้งบททดสอบความรู้ความเข้าใจ (cognitive test) และความไม่สามารถควบคุมตนได้ (volitional test) ประกอบกัน โดยไม่ปรากฏคดีที่อาศัยบททดสอบความไม่สามารถควบคุมตนได้เพียงอย่างเดียว
.
อย่างไรก็ดี คำว่า “ผิด” และ “รู้” ภายใต้บททดสอบความรู้ความเข้าใจของประเทศไทยก็ถูกตีความอย่างแคบเช่นเดียวกับในอังกฤษและเวลส์ โดยคำว่า “ผิด” หมายถึง ผิดกฎหมาย ในขณะที่คำว่า “รู้” นั้นไม่รวมถึงการประเมินความมีเหตุผลของจำเลย แต่จำกัดอยู่เพียงว่าขอให้จำเลยทราบว่าตนได้มีการกระทำทางกายอย่างไรก็เพียงพอ
.
- ข้อกำหนดสำหรับการยื่นพยานหลักฐานทางการแพทย์
ในอังกฤษและเวลส์ จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานจากผู้เชี่ยวชาญสองคนซึ่งมักจะเป็นจิตแพทย์ แต่ในบางครั้งก็ยื่นเพียงชิ้นเดียว ขณะที่ในสกอตแลนด์ แม้ไม่มีข้อกำหนดอย่างเป็นทางการ แต่ก็มักจะมีการยื่นพยานหลักฐานทางการแพทย์ประกอบด้วย สำหรับประเทศไทยนั้นไม่มีข้อกำหนดให้ต้องยื่นเช่นกัน แต่ในทางปฏิบัติสามารถยื่นประกอบได้ในฐานะพยานหลักฐานชิ้น แม้จะมีหลายกรณีที่ได้รับการพิพากษาโดยไม่มีหลักฐานทางการแพทย์
.
- ข้อต่อสู้เรื่องการกระทำความผิดในขณะวิกลจริตบางส่วน
สำหรับข้อต่อสู้เรื่องการกระทำความผิดในขณะวิกลจริตบางส่วน ในไทยผลสำเร็จของการยกข้อต่อสู้นี้คือได้รับการลดโทษ และมีโอกาสที่ศาลจะมีคำสั่งให้คุมตัวในสถานพยาบาล ขณะที่ในอังกฤษและเวลส์ และสกอตแลนด์ ไม่อนุญาตให้อ้างความวิกลจริตบางส่วนเป็นส่วนหนึ่งของข้อต่อสู้เรื่องการกระทำความผิดในขณะวิกลจริต
.
5 ปัญหาหลักกฎหมายไทย
ปัญหาของกฎหมายไทยในเรื่องดังกล่าว สามารถแบ่งออกเป็น 5 ข้อหลักคือ
.
- การใช้ถ้อยคำที่ไม่ชัดเจนในบทบัญญัติ
คำว่า “จิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน” ไม่มีความหมายที่เฉพาะเจาะจง ไม่ว่าจะทางด้านกฎหมายหรือการแพทย์ แต่มีความเห็นตรงกันว่า “จิตบกพร่อง” อาจหมายถึง “ความบกพร่องทางสติปัญญา” ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าศาลแทบไม่เคยให้นิยามของความหมายของคำอีกสองคำเลย เพราะศาลมักจะวินิจฉัยโดยรวมว่าจำเลยมี “จิตบกพร่อง โรคจิตหรือ จิตฟั่นเฟือน”
.
รวมทั้งจากการศึกษาคำพิพากษายังแสดงให้เห็นว่า โรคทางจิตเวชที่ยกประกอบข้อต่อสู้เรื่องการกระทำความผิดในขณะวิกลจริตของประเทศไทยส่วนใหญ่ มักเป็น โรคจิต โรคจิตเภท หรือความพิการทางสติปัญญา มากกว่าอีกด้วย
.
อย่างไรก็ตามเนื่องจากกฎหมายไม่มีนิยามของคำว่า “จิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน” จึงยังเป็นที่น่าสงสัยว่า หากเป็นกรณีที่สภาพร่างกายมีส่วนทำให้เกิดความผิดปกติของจิตใจ เช่น การมีเนื้องอกในสมอง หรือการที่สมองถูกทำลาย จะรวมอยู่ในความหมายของคำว่า “จิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน” ตามกฎหมายไทยหรือไม่ ในปัจจุบันยังไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยในเรื่องนี้ไว้อย่างเฉพาะเจาะจง ศาลจึงสามารถใช้ดุลยพินิจในการตีความได้ในแต่ละคดีจนบางครั้งผลลัพธ์อาจขัดแย้งกัน
.
- ความไม่ชัดเจนในการวินิจฉัยเรื่อง “ความไม่รู้ผิดชอบ” และ “ความไม่สามารถบังคับตนเองได้”
การตีความอย่างแคบของคำว่า “ไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้” ว่า จำเลยรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ และการตีความโดยแคบของ “ความผิดกฎหมาย/ความผิดศีลธรรม” ว่าหมายถึง ความผิดทางกฎหมายเท่านั้น ทำให้การที่ผู้กระทำความผิดที่เป็นบุคคลวิกลจริตจะประสบความสำเร็จในการยกข้อต่อสู้นั้นเป็นเรื่องที่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามวรรค 1 เนื่องจากว่าในกรณีส่วนใหญ่พวกเขารู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ทางกายภาพ และ/หรือ รู้ว่าการกระทำของตนไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ยังคงกระทำความผิดเพราะผลกระทบจากความผิดปกติทางจิตของพวกเขาอยู่ดีนั่นเอง
.
- การใช้บททดสอบเพียงแค่รูปแบบเดียว
ถึงแม้จะมีบททดสอบสองแบบสำหรับข้อต่อสู้เรื่องการกระทำความผิดในขณะวิกลจริตได้แก่ “ความรู้ความเข้าใจ” และ “การบังคับตน” แต่ในทางปฏิบัติศาลกลับไม่เคยแยกความแตกต่างระหว่างบททดสอบทั้งสองในคำพิพากษา
.
นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า ศาลมักจะพิจารณาเพียงในส่วนของ “ความรู้ความเข้าใจ” เท่านั้น โดยเน้นว่า จำเลยรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ โดยไม่คำนึงถึงองค์ประกอบเรื่องความผิดกฎหมายของการกระทำนั้น และแม้ว่าจะมีการบัญญัติถึงบททดสอบเรื่อง “การบังคับตน” ไว้ แต่ในทางปฏิบัตินั้นกลับไม่มีตัวอย่างคดีที่ตัดสินโดยอาศัยบททดสอบนี้เลย
.
- การไม่มีข้อกำหนดสำหรับหลักฐานทางการแพทย์
การไม่มีข้อกำหนดให้ต้องมีการยื่นพยานหลักฐานทางการแพทย์เกี่ยวกับความผิดปกติทางจิตประกอบการวินิจฉัยข้อต่อสู้เรื่องการกระทำความผิดในขณะวิกลจริตนั้น ทำให้ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจของตนเองในการพิจารณาว่าจำเลย “วิกลจริต” หรือไม่
.
ในทางปฏิบัติมีคดีเกี่ยวกับข้อต่อสู้เรื่องวิกลจริตในขณะกระทำความผิดหลายคดีที่ศาลวินิจฉัยอาการ “จิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน” ของจำเลยเองโดยไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ ถึงแม้ว่า อาจมีการโต้แย้งได้ว่ากรณีเหล่านี้เป็นกรณีที่ความวิกลจริตของจำเลยอาจมีความชัดเจน แต่คงจะเป็นการดีกว่าหากให้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยโรค
.
- การใช้ดุลยพินิจในการแยกระหว่างความไม่รู้ผิดชอบและความไม่สามารถบังคับตนได้ “ทั้งหมด” และ “บางส่วน”
แนวปฏิบัติในปัจจุบันส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคดี ทำให้เกิดความเสี่ยงที่คำพิพากษาจะไม่สอดคล้องกันและเป็นการตีตราผู้กระทำผิด การให้ศาลใช้ดุลยพินิจของตนเองในการแยกความแตกต่างระหว่างความวิกลจริต “ทั้งหมด” กับ “บางส่วน” นั้นอาจส่งผลต่อการบำบัดรักษาของผู้ที่มีอาการวิกลจริตได้
.
คำพิพากษาตามมาตรา 65 วรรค 1 ซึ่งเป็นเหตุยกเว้นโทษ อาจทำให้ผู้กระทำผิดถูกสั่งให้คุมตัวไว้ในสถานพยาบาล เพราะคำพิพากษาที่ว่า วิกลจริตแต่ได้รับยกเว้นโทษ นั้นบ่งบอกว่าผู้กระทำความผิดนั้น “วิกลจริตโดยสิ้นเชิง” ดังนั้นจึงเหมาะสมที่จะมีคำสั่งให้คุมตัวไว้ในสถานพยาบาล
.
แต่สำหรับคำพิพากษาตามมาตรา 65 วรรค 2 ซึ่งเป็นเหตุลดโทษนั้น ผู้กระทำความผิดมีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกลงโทษจำคุก เนื่องจากโทษส่วนใหญ่ของความผิดในประเทศไทยคือโทษจำคุก ซึ่งถ้าหากถูกตัดสินจำคุกแล้วนั้น โอกาสที่จะได้รับการบำบัดความผิดปกติทางจิตก็จะลดน้อยลง เนื่องจากข้อจำกัดของระบบราชทัณฑ์
.
นอกจากนี้หากผู้ต้องขังจำต้องได้รับการรักษาในขณะต้องโทษจำคุก เวลาที่ผู้กระทำผิดถูกคุมตัวไว้ในสถานพยาบาลนั้นจะไม่ถูกหักจากโทษจำคุก ซึ่งจะเป็นกรณีที่ผู้กระทำผิดที่เป็นบุคคลวิกลจริตนั้นถูกลิดรอนเสรีภาพนานกว่าผู้กระทำผิดทั่วไป ดังนั้นการแยกระหว่างการไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ทั้งหมดหรือบางส่วนนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่การนำตัวผู้กระทำผิดไปบำบัดรักษา
.
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในงานวิจัยฉบับนี้สามารถแยกออกได้เป็น 2 แนวทางคือ
.
- แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรค 2
มาตราดังกล่าวควรถูกยกเลิก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในการใช้ดุลยพินิจในการแยกระหว่างความวิกลจริตบางส่วนและความวิกลจริตทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามแนวคิดเรื่องความวิกลจริตบางส่วนนั้นควรถูกนำมาบัญญัติเป็นเหตุลดโทษในกรณีอื่น ๆ ที่แยกจากข้อต่อสู้เรื่องการกระทำความผิดในขณะวิกลจริต และอาจถูกใช้เป็นเหตุในการออกคำสั่งให้คุมตัวไว้ในสถานพยาบาล ตามความเหมาะสมของผู้กระทำความผิดแต่ละคนได้
.
- บัญญัติข้อต่อสู้ใหม่เพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น
สร้างข้อต่อสู้ใหม่โดยใช้คำว่า “ข้อต่อสู้เรื่องการไม่มีความสามารถทางอาญา” ซึ่งเป็นเหตุยกเว้นความผิด โดยข้อต่อสู้นี้จะครอบคลุมทั้งสาเหตุทางด้านจิตใจและร่างกาย และอาศัยพยานหลักฐานทางการแพทย์เพื่อประกอบการวินิจฉัย โดยมีรายละเอียดดังนี้
.
– แก้ไขคำว่า “จิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน”
แทนที่คำดังกล่าวด้วยคำว่า “โรคที่ได้รับการยอมรับในทางการแพทย์” เพราะเป็นคำกลาง ๆ ที่สามารถเข้าใจได้โดยทุกฝ่าย และไม่จำกัดความทางกฎหมายแต่ปรับไปตามความรู้ทางการแพทย์ในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งการใช้คำนี้ยังสามารถหลีกเลี่ยงการตีตราทางกฎหมายที่ไร้เหตุผลหรือไม่เหมาะสมซึ่งอาจขัดแย้งกับคำศัพท์ทางการแพทย์ได้อีกด้วย
.
– เพิ่มเติมข้อกำหนดเรื่องหลักฐานทางการแพทย์
เนื่องจากศาลจะยังคงต้องเป็นผู้วินิจฉัยเรื่องข้อต่อสู้ดังกล่าว ดังนั้นจึงควรกำหนดให้ในการยกข้อต่อสู้จำเลยจะต้องยื่นพยานหลักฐานทางการแพทย์อย่างน้อย 2 ฉบับ โดยเป็นลายลักษณ์อักษรหรือโดยวาจา อาทิ การเบิกความจากพยานผู้เชี่ยวชาญ
.
– แก้ไขบททดสอบ
สร้างบททดสอบใหม่ 2 บท ได้แก่ บททดสอบ “ความมีเหตุผล” บททดสอบที่เน้นว่า ความสามารถในเชิงเหตุผลของจำเลยนั้นบกพร่องจากโรคที่ได้รับการยอมรับในทางการแพทย์ถึงขนาดหรือไม่ รวมทั้งมุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการให้เหตุผลเชิงปฏิบัติของเขา และบททดสอบ “ความผิด” ที่มุ่งเน้นไปที่ความสามารถของจำเลยในการตระหนักรู้ถึงการกระทำความผิดของเขา ซึ่งรวมถึงความผิดทางกฎหมายและทางศีลธรรม
.
ที่มา: การปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของผู้กระทำความผิดที่มีความผิดปกติทางจิตของประเทศไทย: กรณีข้อต่อสู้เรื่องการกระทำความผิดในขณะวิกลจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65; ญาดา เดชชัย เธียรประสิทธิ์ (2565)