มุมมองอาจารย์กับการจัดการความเครียด 101 [ Season 3] EP.2 : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนภัทร ชาตินักรบ
บทสัมภาษณ์โดยศูนย์ดูแลสุขภาวะของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Law TU Health & Wellness)
(1) ประวัติส่วนตัวและแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมาย
ประวัติส่วนตัว
– น.บ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– น.ม. (กฎหมายระหว่างประเทศ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– LLM in Public International Law (merit), University of London (Queen Mary) สหราชอาณาจักร
– PhD in International Law, University of Manchester สหราชอาณาจักร
แรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมาย
อาจารย์มองว่าแรงบันดาลใจในการศึกษากฎหมายในแต่ละช่วงไม่เหมือนกัน โดยในช่วงแรกที่สมัครเข้าเรียนปริญญาตรี อาจารย์มองว่าหลาย ๆ คนที่เข้ามาศึกษาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่น่าจะมองเหมือนกัน คือ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคณะที่มีชื่อเสียง ดังนั้น แรงบันดาลใจในการศึกษาส่วนหนึ่งของอาจารย์เป็นเพราะชื่อเสียงของคณะและมหาวิทยาลัย รวมถึงทางบ้านของอาจารย์อยากให้อาจารย์สอบเป็นผู้พิพากษา แต่ในขณะที่เรียนแรงบันดาลใจของอาจารย์ได้เปลี่ยนไปเพราะเจอวิชาที่เรียนหลากหลายมากขึ้น บางวิชาที่อาจารย์คิดว่าชอบแต่พอมาเรียนจริงปรากฎว่าอาจารย์ไม่ได้ชอบ หรือในทางกลับกันบางวิชาที่อาจารย์คิดว่าจะไม่ชอบแต่พอมาเรียนจริงกลับพบว่าชอบ รวมถึงหลักในการคิดของอาจารย์ก็ได้เปลี่ยนไป อาจารย์ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การเป็นผู้พิพากษาอย่างเดิมแล้ว
(2) ความสุขในการศึกษากฎหมายและเหตุผลที่เลือกประกอบอาชีพอาจารย์
ความสุขในการศึกษากฎหมาย
ความสุขในการศึกษากฎหมายนั้นอาจารย์ขอแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ตอนกำลังศึกษา และตอนทำงาน
ในช่วงตอนกำลังศึกษา แน่นอนว่าความสุขของอาจารย์น่าจะเหมือนนักศึกษาทุกคนคือเรียนออกมาแล้วได้คะแนนดี แต่พอเรียนไปเรื่อยๆ อาจารย์ได้พบว่าความสุขในการศึกษานั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่คะแนนสอบเพียงอย่างเดียว แต่กลับกลายเป็นว่าความสุขของอาจารย์ คือ การได้เรียนวิชาที่ชอบและสนุกไปกับมัน
ในช่วงตอนทำงาน ความสุขของอาจารย์คือการได้นำกฎหมายที่ได้ศึกษามาปรับใช้ได้จริงกับข้อเท็จจริงหรือประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ทำให้ปัญหาเหล่านั้นสามารถแก้ไขผ่านไปได้ ดังนั้น ความสุขในการศึกษากฎหมายช่วงนี้ก็คงจะเป็นการที่ได้นำความรู้มาปรับใช้ได้จริงและรู้ว่าสิ่งที่เรียนมานั้นไม่ได้สูญเปล่าไป
เหตุผลที่เลือกประกอบอาชีพอาจารย์
ในตอนแรกทางบ้านของอาจารย์อยากให้เป็นผู้พิพากษา แต่พออาจารย์ได้ศึกษามาเรื่อยๆ อาจารย์กลับค้นพบว่าการเป็นผู้พิพากษานั้นไม่เข้ากับอาจารย์แต่ก็ยังคงมีแนวคิดที่จะสอบผู้พิพากษาอยู่ อย่างไรก็ตามพอเรียนจบมา อาจารย์ก็ได้เรียนต่อปริญญาโททันทีเนื่องจากสอบติด และในระหว่างที่กำลังศึกษาปริญญาโทนั้นอาจารย์ก็ได้ไปลองสอบเนติบัณทิตด้วย แต่ปรากฎว่าคะแนนสอบเนติบัณทิตของอาจารย์ขาดเพียงนิดเดียวเท่านั้น แต่นั้นก็ทำให้อาจารย์ล้มเลิกความคิดที่จะสอบเป็นผู้พิพากษาอีกต่อไปเพราะคิดว่าคงจะไม่ใช่ทางของตน อาจารย์จึงมุ่งกลับมาให้ความสำคัญกับการศึกษาปริญญาโทซึ่งการเรียนปริญญาโทนั้นมันเรียนมุ่งไปทางวิชาการและอาจารย์กลับทำได้ดีในการศึกษาปริญญาโท อาจารย์จึงมองว่าบางทีอาชีพอาจารย์อาจจะเป็นอาชีพที่ใช่สำหรับอาจารย์ เมื่อเป็นเช่นนี้อาจารย์จึงได้มุ่งเป้าหมายมาเป็นการประกอบอาชีพอาจารย์จนในที่สุดอาจารย์ก็ได้เป็นอาจารย์ที่เห็นอยู่ทุกวันนี้
(3) กิจกรรมและงานอดิเรกระหว่างศึกษาและเทคนิคการบริหารจัดการเวลาระหว่างเรียนและการใช้ชีวิต
กิจกรรมและงานอดิเรกระหว่างศึกษา
ในสมัยที่อาจารย์ศึกษาปริญญาตรี อาจารย์ไม่ใช่สายวิชาการขนาดนั้น อาจารย์ได้เป็นสันทนาการที่ต้องออกไปเต้นในงานกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจารย์ได้ทำกิจกรรมสันทนาการมาตั้งแต่ปี 1 จนถึงปี 3 แต่ในช่วงปี 3 อาจารย์ได้รับโอกาสเข้าเป็นตัวแทนของประเทศในการแข่งขันที่ประเทศแคนนาดา โดยมีชมรม Thammasat University Model United Nations Club (TUMUN) เป็นผู้ดูแล แต่หลังจากที่แข่งขันเสร็จปรากฎว่ารุ่นพี่สตาฟในชมรมไม่ได้ทำชมรมต่อ ทำให้อาจารย์ได้เริ่มเข้ามาช่วยในช่วงก่อตั้งของชมรม Thammasat University Model United Nations Club (TUMUN) ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ดังนั้นในช่วงปี 3 จนถึงปี 4 อาจารย์จึงได้เข้ามาดูแลชมรมนี้และเนื่องจากงานชมรมประกอบกับการเรียนทำให้อาจารย์ไม่สามารถทำกิจกรรมสันทนาการต่อได้
เทคนิคการบริหารจัดการเวลาระหว่างเรียนและการใช้ชีวิต
ในระหว่างเรียนอย่างที่เห็นว่าอาจารย์ได้ทำกิจกรรมอย่างเต็มที่ทำให้เวลาเรียนหายไปเยอะ แต่อาจารย์ได้จัดการบริหารเวลาโดยการทำกิจกรรมให้อย่างเต็มที่ แต่เว้นช่วงหนึ่งเดือนก่อนที่จะสอบไว้เพื่ออ่านหนังสือ โดยอาจารย์จะมุ่งตรงไปแค่การอ่านหนังสือสอบเท่านั้น
(4) เมื่อมีความเครียด อาจารย์มีวิธีจัดการอย่างไร
ตอนเรียนเรื่องที่เข้ามาในชีวิตทุกเรื่องเป็นเรื่องใหญ่มาก เช่น สอบตก เพื่อนไม่คุยด้วย ไปเรียนเช้าเพื่อนไม่จองที่นั่งไว้ให้ ตอนเป็นนักศึกษาประสบการณ์ไม่ได้สอนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่วาระสุดท้ายของชีวิต ความเครียดเกิดขึ้นได้แทบจะตลอดเวลา ซึ่งความเครียดสมัยนั้นส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องที่ไม่เคยเจอและไม่รู้วิธีการรับมือ
การบริหารจัดการความเครียดที่ดีที่สุดสำหรับตอนอาจารย์เป็นนักศึกษา คือ หาคนคุยที่ให้กำลังใจ เป็นคนคุยที่เข้าใจว่าปัญหาที่เจอเป็นเรื่องใหญ่ในวัยนี้ บางเรื่องต้องคุยกับเพื่อน เช่น เรื่องที่เจอในมหาวิทยาลัยต้องคุยกับคนที่อยู่ในมหาลัย คนข้างนอกไม่รู้ สมมติถ้าไปคุยกับคนข้างนอกแล้วไม่เห็นด้วยจะทำให้ยิ่งหงุดหงิด ยิ่งรู้สึกว่าไม่เข้าใจเรา เช่น คุยกับพ่อแม่ ด้วยประสบการณ์และสิ่งที่เจอในมหาวิทยาลัยในรุ่นของพ่อแม่อาจไม่ใช่แบบนี้
การบริหารจัดการความเครียดพยายามเอาตัวเองออกมาจากตรงนั้นให้ได้มากที่สุดด้วยการทำอย่างอื่น บางทีเครียดมากก็อาจจะไปเที่ยวต่อให้พรุ่งนี้เป็นวันสอบ ในช่วงหลัง ๆ ตอนที่อาจารย์เป็นนักศึกษา วันสุดท้ายก่อนสอบอาจารย์จะไม่อ่านหนังสือ รู้สึกหนักหัวมากแล้วและไม่อยากจะเอาตัวเองลงไปในจุดนั้น ท้ายที่สุดพอผ่านจุดนั้นมาได้คิดว่าควรจะเที่ยวมากกว่านั้นด้วย เพราะตอนนั้นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นเรื่องคะแนน แต่พอโตมาแล้วคะแนนแทบไม่มีอิทธิพลบทบาทในความเป็นจริง ไม่มีใครสนใจว่าได้เกียรตินิยมหรือไม่ สนใจแค่ว่าทำงานได้หรือเปล่า เกียรตินิยมอาจจะเป็นใบเบิกทางเบื้องต้น แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องที่ได้มาเพราะคะแนน ส่วนนี้เป็นวิธีบริหารจัดการจัดการความเครียดในช่วงอาจารย์เป็นนักศึกษา นอกจากนี้จะฟังเพลง หรือหาอะไรก็ตามที่ทำให้ไปอยู่กับสิ่งนั้นได้โดยที่ไม่ต้องไปจมอยู่กับความเครียด เพราะเรื่องเครียดเยอะมาก ทั้งเรื่องการเรียน เพื่อน ความสัมพันธ์ อย่างตอนนี้ก็มีเรื่องการเมืองด้วย
หลังจากที่โตมาวิธีการจัดการความเครียด เรื่องที่อาจารย์เคยเครียดสมัยก่อนพอมองกลับไปตอนนี้เป็นเรื่องเล็กมากธรรมดามากเมื่อเทียบกับสิ่งที่เจออยู่ตอนนี้ ถ้าสมมติไม่เคยผ่านช่วงเวลานั้นมา แล้วเจอความเครียดสภาพนี้ตั้งแต่ยุคนั้นอาจไม่สามารถจัดการได้ ดังนั้น วิธีในการที่รับได้กับปัญหาจะค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น เราจะค่อย ๆ โตมากขึ้นจากการจัดการกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงของชีวิต
(5) วิชาที่ไม่ชอบหรือรู้สึกว่ายากและอาจารย์มีวิธีจัดการกับวิชาเหล่านั้นอย่างไร
บางคนบอกว่าวิชาที่ไม่ชอบจะไม่เข้า แต่วิชาที่ไม่ชอบอาจารย์จะตั้งใจมาก ๆ ตั้งใจจะเรียนรอบเดียวแล้วจะต้องตอบให้ได้ว่าจริง ๆ ผู้สอนต้องการอะไร เมื่อทำข้อสอบมีห้าข้อ เรื่องที่ออกสอบได้ก็มีห้าเรื่องเป็นหลัก ถ้าสามารถรู้ได้ว่าห้าเรื่องที่จะออกคืออะไรก็ทำห้าเรื่องให้ดี ส่วนใหญ่อาจารย์จะไม่อ่านหนังสือใหม่ทั้งหมด แต่จะใช้วิธีเข้าเรียนทุกครั้ง ให้รู้ว่าเป็นสิ่งที่สอนในห้อง อาจารย์จะจดแล้วเอาสิ่งที่ผู้สอนสอนนำไปเขียนในกระดาษคำตอบ ซึ่งท้ายที่สุดก็ผ่านและคะแนนดีด้วย กลายเป็นวิชาที่คะแนนโดดกว่าวิชาอื่น เพราะต้องการผ่านวิชานี้ไปให้เร็วที่สุด ถ้าไม่ชอบแล้วตัดสินใจไม่เข้าเรียน อ่านหนังสือเล่มหนึ่งมาตอบ อาจสอบตกอีกปี แล้วต้องเจอวิชานี้อีกรอบแทนที่จะเรียนให้จบในเทอมเดียว ไม่ต้องสอบซ่อมในช่วงซัมเมอร์ที่จะต้องอ่านโดยไม่รู้ขอบเขตเนื้อหาว่าผู้สอนจะออกข้อสอบอะไร
(6) เมื่อมีสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังเกิดขึ้น อาจารย์มีวิธีการจัดการอย่างไร
คนเราตั้งความหวังไว้ได้แล้วก็ถ้าเป็นไปตามที่หวังก็ดี แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องที่เราอยากได้แล้วจะได้ ในตอนที่อาจารย์เป็นนักศึกษาพอตั้งความหวังไว้ แล้วไม่ได้ไปตามที่หวังก็ผิดหวังครับ มันเป็นเรื่องปรกติที่เป็นกลไลทางธรรมชาติของเรา จะเสียใจจะร้องไห้หรือรู้สึกแย่ก็รู้สึกให้เต็มที่เลยครับ แต่ต้องมีขอบเขตที่ไม่ควรจะนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง หรืออะไรก็ตามในลักษณะนั้น แต่ถ้ารู้สึกว่ามันอาจจะถึงขั้นนั้น เราก็ต้องตั้งสติก่อนเลยว่า มันเกิดขึ้นแล้ว คือ ร้องไห้ให้ตายยังไงคะแนนที่ตกมันก็ไม่ผ่าน หรือเวลาเลิกกับแฟนร้องไห้แค่ไหนยังไงแฟนก็ไม่กลับมา
ถามว่าอาจารย์จะจัดการอย่างไร ก็แล้วแต่เรื่องครับ เรื่องบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่เป็นความที่ผิดหวังที่สามารถแก้ไขได้ เช่น สำหรับอาจารย์ตอนที่ยังเป็นนักศึกษา วิธีการคิดของอาจารย์ คือ มองว่าเรื่องไหนที่แก้ได้ ถ้าเราผิดหวังแล้วเรารู้ตัวเร็ว โอกาสที่เราจะแก้เรื่องนั้นก็เป็นไปได้มากขึ้น เช่น สอบตกมันมีทางแก้โดยคิดว่าจะต้องตั้งเป้าหมายใหม่ ว่าในเทอมซัมเมอร์จะสอบซ่อมให้ได้คะแนนดี เพื่อที่อย่างน้อยเกรดเฉลี่ยรวมก็จะสูงขึ้น แม้จะไม่ได้เกียรตินิยม หรือถ้าเป็นความผิดหวังที่ไม่สามารถแก้ไขได้ มันพลาดไปแล้ว สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องยอมรับให้ได้ แล้วเราต้องดูว่าความผิดพลาดนั้นกระทบต่อเป้าหมายใหญ่ของเราหรือเปล่า ถ้ามันกระทบต่อเป้าหมายใหญ่ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เราจะต้องไปต่อ คือ อาจจะต้องเปลี่ยนเป้าหมาย สมมติว่าอยากเป็นผู้พิพากษาแต่สอบเนติบัณฑิตไม่ได้ แต่ถ้ายังอยากเป็นผู้พิพากษาอยู่ก็สอบใหม่เพราะมันก็จัดสอบทุกปี นี่คือกรณีที่ผิดพลาดไปแต่อยากกลับไปสู้ใหม่ซึ่งเป็นเรื่องของปัญหาที่แก้ได้ แต่บางเรื่องที่แก้ไม่ได้แล้ว ก็อาจจะต้องมองอีกแบบหนึ่งว่าต้องยอมรับและต้องหาทางเปลี่ยนเป้าหมายของเราในบางเรื่องแต่ยังคงจุดประสงค์เดิมไว้อยู่ อันนี้เป็นวิธีการรับมือของอาจารย์ในตอนที่เป็นนักศึกษา
ถ้าถามว่าโตขึ้นมาแล้วรับมือยังไง อาจารย์คิดว่าปัญหาหรืออุปสรรคหรือสิ่งที่เราตั้งเป้าหมายแล้วทำไม่ได้มีอยู่ 2 เรื่อง อย่างแรก คือ ปัญหาที่แก้ได้ อย่างที่สอง คือ ปัญหาที่แก้ไม่ได้ โดยปัญหาที่แก้ได้ เราอาจจะเน้นตรงส่วนนี้ให้มากหน่อย แต่ก็ไม่ต้องไปเครียดกับมันมาก เพราะเรารู้ว่าปัญหานี้เราสามารถแก้ไขได้ ส่วนปัญหาที่แก้ไม่ได้ เราก็ไม่ต้องไปเสียใจ เพราะเสียใจให้ตายยังไงก็แก้ไม่ได้ เพราะมันเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ สมมติว่าเราไม่ชอบการบริหารงานของรัฐบาล ส่งเสียงให้ตายยังไง มันก็ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจของเรา แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่พยายามจะแก้ปัญหาเหล่านี้โดยการส่งเสียงหรือการกระทำบางอย่างไป ถึงแม้ในท้ายที่สุดมันอาจจะดันขึ้นไปได้ แต่เราอาจจะต้องตั้งคำถามด้วยว่า มันคุ้มมากน้อยแค่ไหนกับการแลกช่วงเวลาในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยของเรา แต่อาจารย์ก็เคารพคนที่เขาทำนะ อันนี้เป็นเรื่องของมุมมองวิธีคิดของแต่ละคน แต่ถ้าว่าเราพยายามดันแล้วแต่ท้ายที่สุดมันไม่ได้ ถ้าเรามุ่งในสิ่งที่เราทำได้มากกว่าแล้วเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อจะเติบโตขึ้นไปแก้ไขดีกว่าไหม อันนี้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่อาจารย์ใช้ในการจัดการตัวเองมาเรื่อย ๆ ครับ
(7) ข้อคิดที่อาจารย์อยากฝากให้กับนักศึกษา
อาจารย์อยากจะให้เราอยู่กับปัจจุบันให้เยอะมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ สำหรับอาจารย์ เวลามีอยู่สามอย่าง คือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต สิ่งที่เราควรจะโฟกัสมากที่สุด คือ ปัจจุบัน สิ่งที่ควรจะโฟกัสน้อยที่สุด คือ อดีต โฟกัสอนาคตได้แต่ไม่ควรเท่าปัจจุบัน เพราะหลาย ๆ คนเวลาเจอปัญหาหรืออุปสรรคอะไรก็ตามที่มันเกิดขึ้นไปแล้ว แล้วเรารู้สึกผิดว่าทำไมเราถึงทำแบบนั้น ถ้าเราเอาเวลาที่เกิดขึ้นไปแล้วในอดีตให้มีอิทธิพลกับปัจจุบัน เราจะทำปัจจุบันได้ไม่ดี เพราะฉะนั้น ถ้าเราพยายามอยู่กับอดีตให้น้อยที่สุด แล้วก็พยายามทำความเข้าใจกับความผิดพลาดในอดีต หรือถ้าทำความเข้าใจไม่ได้ เราอาจจะโฟกัสแค่ว่าสิ่งที่พลาดไปแล้วไม่เป็นไร เราจะทำยังไงกับสิ่งที่เหลืออยู่ตรงนี้ให้ดีที่สุด
และอีกเรื่องหนึ่งที่อาจจะต่างจากคนอื่น บางคนบอกให้โฟกัสอนาคตด้วย แต่อาจารย์คิดว่าเราก็ไม่ควรโฟกัสอนาคตขนาดนั้น เราควรจะโฟกัสปัจจุบัน เพราะเวลาในตอนนี้ ณ วินาทีนี้ มันคือปัจจุบัน อนาคตยังไงมันก็มาแน่อยู่แล้ว เราอย่าไปโฟกัสในสิ่งที่มันยังไม่เกิด หลาย ๆ คนอาจจะมีความกลัวว่าจะสอบไม่ได้ กลัวว่าคะแนนในอนาคตจะออกมาไม่ดี กลัวว่าจบไปแล้วจะไม่มีงานทำ สิ่งที่กลัวทั้งหมดมันเป็นเรื่องของอนาคตซึ่งไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือเปล่า ถ้าเราเอาสิ่งที่กลัวว่าจะเกิดในอนาคตมาใส่ในปัจจุบัน ก็จะทำเวลาที่เราจะโฟกัสในปัจจุบันยิ่งน้อยลงไป การที่เอาอดีตหรืออนาคตมาใส่ในปัจจุบัน มันก็จะกลายเป็นว่าเราไปให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วกับสิ่งที่ยังไม่เกิดซึ่งอาจจะไม่เกิดเลยก็ได้เป็นแค่สิ่งที่เราคิดกังวลไปเอง
เพราะฉะนั้น คำตอบ คือ อาจารย์คิดว่าเราควรจะโฟกัสกับปัจจุบันให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยเอาประสบการณ์จากอดีตมาเป็นบทเรียนให้เราป้องกันไม่ให้เราทำผิดซ้ำเดิม แต่ถ้าเกิดความผิดซ้ำเดิมอีก ก็ไม่เป็นไร คนเราผิดพลาดกันเป็นธรรมดา แค่อย่าให้ผิดซ้ำอีกรอบที่สาม รอบที่สี่ คือให้เรียนรู้จากอดีต แล้วอนาคตอยากให้เป็นแบบไหนก็ทำปัจจุบันให้มันดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ซึ่งเราทำให้มันสมบูรณ์ไม่ได้หรอกเพราะบางทีก็อาจจะมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่ทำให้เรากำหนดทิศทางตัวเราไม่ได้
ภาพ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนภัทร ชาตินักรบ
เรียบเรียง : Law TU Health & Wellness