พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 71 จาก #TULAWInfographic
.
“ความเท่าเทียมระหว่างเพศ” เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน ทั้งในเวทีระดับโลกและภายในประเทศไทย แต่รู้หรือไม่ประเทศไทยมีกฎหมายที่ส่งเสริมเรื่องดังกล่าว โดยออกมาในรูปแบบ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558
.
แม้กฎหมายจะออกมาอย่างยาวนาน แต่ทำไมการส่งเสริมยังคงมีปัญหาอยู่? ปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร? #TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากวิจัยวิชาการเรื่อง “พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558:ปัญหาของบทบัญญัติและการบังคับใช้”
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกบทคัดย่อซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานวิจัยมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://bit.ly/3UTOoRM
.
พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558
วัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ความคุ้มครองแก่บุคคลไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง เพศชาย รวมทั้งบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศให้สามารถดำรงสถานะของตนอยู่ในสังคมไทยได้อย่างเท่าเทียมเสมอหน้าและมีโอกาสเหมือนกัน
.
โดยกฎหมายฉบับนี้เป็นความพยายามในการสร้างสังคมแห่งความเสมอภาคสำหรับคนทุกเพศทุกวัยให้เกิดขึ้นในประเทศไทยผ่านกลไกทางกฎหมาย และเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสามารถเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย รวมทั้งกระบวนการเยียวยาได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น
.
กลไกสำคัญ
พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกอบไปด้วยกลไกลที่สำคัญ 3 ประการคือ
.
- การกำหนดให้มีคณะกรรมการ 2 ชุด
โดยมีภารกิจและอำนาจหน้าที่ต่างกัน แบ่งออกเป็น
.
– คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.)
มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย มาตรการ และแผนปฏิบัติงานเพื่อให้มีการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในทุกภาคส่วน รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ต่อคณะรัฐนตรี
.
นอกจากนี้ยังต้องกำหนดแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายจากการถูกเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และส่งเสริมการศึกษาวิจัย การเก็บข้อมูล เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการเลือกปฏิบัติเพื่อขจัดอคติในทางเพศอีกด้วย
.
– คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.)
ทำหน้าที่เป็นผู้วินิจฉัยคำร้องว่าด้วยการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศที่มีผู้ยื่นเข้ามาตามกฎหมาย โดยมีอำนาจในการกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวหรือบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ยื่นคำร้องได้ รวมทั้งอาจออกคำสั่งใด ๆ เพื่อระงับหรือป้องกันการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่งเพศ และเพื่อชดเชยเยียวยาให้กับผู้เสียหาย
.
นอกจากนี้เมื่อคณะกรรมการได้วินิจฉัยว่ามีความผิดเกิดขึ้นจริง คณะกรรมการ วลพ. ยังมีอำนาจในการยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อยื่นต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่พบว่าการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศนั้นเกิดขึ้นโดยขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญอีกด้วย
.
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมฯ ได้กำหนดบทลงโทษทางอาญาซึ่งมีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับไว้สำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการหรือผู้ที่คณะกรรมการมอบหมาย แต่ไม่มีการกำหนดฐานความผิดและบทลงโทษสำหรับการกระทำใด ๆ ในลักษณะของการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศไว้โดยตรง
.
- กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
พ.ร.บ.ความเท่าเทียมฯ ได้กำหนดให้ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว คอยรับผิดชอบงานธุรการและงานวิชาการให้แก่คณะกรรมการทั้งสองชุด และเป็นหน่วยงานรับคำร้องและทำความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศด้วย รวมทั้งเป็นหน่วยงานผู้ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและระหว่างประเทศในการให้ความคุ้มครองและป้องกันอีกด้วย
.
- กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ
เพื่อใช้เป็นทุนสำหรับทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ คุ้มครองและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ รวมทั้งเป็นเงินในการช่วยเหลือ ชดเชยเยียวยาผู้เสียหายจากการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และเพื่อดำเนินการอื่น ๆ ไปเป็นไปตามกฎหมายฉบับนี้อีกด้วย
.
ปัญหาที่เกิดขึ้น
พ.ร.บ. ฉบับนี้บังคับใช้มาแล้วกว่า 5 ปี แต่ก็ยังคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง โดยแบ่งข้อพิจารณาออกตามแต่ละกลไกได้ดังนี้
.
- คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.)
แบ่งเป็นปัญหาย่อย 3 ด้านคือ
.
– ให้น้ำหนักกับ การรับเรื่องร้องเรียน มากกว่าการแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้าง
.
– กฎหมายไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการทำงานที่ชัดเจน
.
– สัดส่วนของคณะกรรมการ สทพ. เป็นบุคลากรของภาครัฐจำนวนมาก แต่ยังคงขาดคนทำงานในภาคประชาสังคมซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านสิทธิสตรีและความหลากหลายทางเพศ
.
- คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ (วลพ.)
แบ่งเป็นปัญหาย่อย 5 ด้านคือ
.
– ผลของการบัญญัติของกฎหมายทำให้คณะกรรมการ วลพ. ไม่สามารถทำงานเชิงรุกได้ ทั้งการรับเรื่องร้องเรียนก็สามารถทำได้ภายในขอบเขตที่จำกัดเท่านั้น
.
– แม้บุคคลจะมีการใช้สิทธิร้องเรียนกับคณะกรรมการ วลพ. ไว้ก่อนแล้ว แต่หากในระหว่างการพิจารณาบุคคลนั้นยื่นฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลอื่น เช่น ศาลปกครอง คณะกรรมการ วลพ. ก็จะไม่มีอำนาจรับคำร้องไว้อีกต่อไปและจะยุติการพิจารณานั้นทันที
.
– กระบวนการพิจารณาใช้เวลานาน และกระบวนการทำคำวินิจฉัยมีความล่าช้าจนไม่สามารถทำให้เกิดความเป็นธรรมได้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จนทำให้เกิดการถอนคำร้องออกไปเพราะไม่สามารถทนแรงกดดันจากคู่กรณีได้
.
– คณะกรรมการ วลพ. ไม่มีอำนาจในการบังคับคำวินิจฉัยด้วยตนเอง แม้จะมีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานรัฐ เอกชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามอำนาจด้วยวิธีการที่เหมาะสมเพื่อระงับและป้องกันการเลือกปฏิบัติได้ แต่กลับต้องอาศัยการแจ้งความดำเนินคดีหรือการใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป
.
– ภาระงานของคณะกรรมการ วลพ. นั้นหนักจนเกินไปทั้งในแง่ของเนื้อหาการทำงาน และในแง่ของกรอบเวลาในการทำงาน ซึ่งไม่สมดุลกับค่าตอบแทนและเวลาที่คณะกรรมการส่วนใหญ่ต้องทุ่มให้
.
- กรมกิจการสตรีฯ และพนักงานเจ้าหน้าที่
ด้วยกลไกต่าง ๆ ที่ถูกออกแบบโดยกฎหมายฉบับนี้ ทำให้เกิดประเด็นปัญหาอื่น ๆ ตามมา ทั้งการประชาสัมพันธ์และการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ครอบคลุมกว้างขวางเพียงพอ การสร้างความรู้ที่ยังเน้นไปที่หน่วยงานรัฐด้วยกันเอง ไปจนถึงจำนวนบุคลากรมีน้อยเกินไปไม่สมดุลกับภาระงาน และส่วนใหญ่อยู่ที่หน่วยงานส่วนกลาง และอีกมากมาย จนทำให้ประเมินได้ว่า หน่วยงานนี้ประสบความสำเร็จตามเจตนารมณ์ของกฎหมายจริง ๆ
.
- กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ
แบ่งเป็นปัญหาย่อย 2 ด้านคือ
.
– นับแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับจนถึงปัจจุบันมีการจ่ายเงินเพื่อชดเชยเยียวยาให้กับผู้เสียหายจากการเลือกปฏิบัติเพียง 2 กรณี รวมแล้วจำนวน 42,000 บาทเท่านั้น โดยอาจเกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ ผู้ร้องเรียนไม่ได้ต้องการการเยียวยา ไปจนถึง ความล่าช้าของกระบวนการ รวมทั้งการเยียวยาจากกองทุนนี้จะสามารถจ่ายภายหลังมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ วลพ. เท่านั้น แต่ไม่มีการจ่ายในระหว่างการพิจารณา ทั้ง ๆ ที่ในระหว่างการพิจารณาผู้ร้องเรียนอาจต้องรับผลกระทบจากหลายปัจจัย
.
– การพิจารณาให้เงินสนับสนุนเพื่อดำเนินการอื่น ๆ อาทิ การสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาวิจัย การให้ความรู้หรือสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน และการประชาสัมพันธ์กฎหมายและสิทธิต่าง ๆ เพื่อเป้าหมายในการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ยังมีข้อจำกัดค่อนข้างมากทั้งในขั้นตอนการยื่นขอ การพิจารณาอนุมัติ และการประเมินผล
.
ข้อเสนอแนะ
จากปัญหาข้างต้น ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะโดยแบ่งออกเป็น 2 ข้อหลักคือ
.
- แก้ไขปรับปรุงกฎหมาย
สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ข้อย่อยคือ
.
– บทนิยามในมาตรา 3 “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” ควรได้รับการพิจารณาทบทวนเพื่อแก้ไขถ้อยคำอันเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยเปลี่ยนเป็นคำว่า “การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ” แทน
.
รวมทั้งควรปรับเปลี่ยนข้อความในคำนิยามว่า “มีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด” เป็นข้อความอื่นใดที่หมายความรวมถึงบุคคลที่แม้จะมีการแสดงออกไม่แตกต่างจากเพศกำเนิดแต่มีวิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากเพศกำเนิดอีกด้วย
.
นอกจากนี้เนื่องจากบทนิยามของคำดังกล่าวมีความหมายค่อนข้างกว้างจนส่งผลต่อการบังคับใช้ ดังนั้นจึงควรมีการรวบรวมและสรุปตัวอย่างกรณีศึกษาต่าง ๆ เอาไว้ทั้งจากภายในและต่างประเทศเพื่อใช้เป็นคู่มือในการอ้างอิงด้วยเช่นกัน
.
– ควรพิจารณาแก้ไข หรือตัดบทยกเว้นตามมาตรา 17 วรรคสอง ออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ว่า “การปฏิบัติตามหลักการทางศาสนา หรือเพื่อความมั่นคงของประเทศ ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” เนื่องจากเป็นส่วนที่ทำให้กฎหมายฉบับนี้ขัดแย้งต่อความเป็นจริง และอาจทำให้กฎหมายไม่สามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ได้
.
– พิจารณาทบทวนและแก้ไข มาตรา 18 แห่งพ.ร.บ. ความเท่าเทียมฯ โดยกำหนดให้เฉพาะ “ผู้เสียหาย” หรือ “ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง” จากการกระทำหรือการละเมิดเท่านั้นที่มีอำนาจในการยื่นเรื่องดังกล่าว เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งและการทำให้กระบวนการล่าช้า รวมทั้งควรเปิดช่องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการเพื่อระงับการกระทำดังกล่าวได้โดยไม่ต้องรอให้มีคนร้องเรียนก็ได้
.
นอกจากนี้ยังอาจต้องมีการหาแนวทางร่วมกันว่า พ.ร.บ.ความเท่าเทียมฯ จำเป็นต้องมีบทที่เปิดช่องให้คณะกรรมการ วลพ. สามารถใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยได้ว่าประเด็นที่อยู่ในอำนาจของตนกับประเด็นที่มีผู้เสียหายฟ้องต่อศาลอื่นนั้นซ้อนทับกันหรือไม่อีกด้วย
.
- ปรับปรุงประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย
.
– พิจารณาทบทวนเพื่อกำหนดให้คณะกรรมการ วลพ. อย่างน้อยกึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้นเป็นตำแหน่งประจำและทำงานเต็มเวลาทำนองเดียวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อขจัดอุปสรรคปัญหาทั้งในเรื่องของความล่าช้าในการพิจารณาและทำคำวินิจฉัย รวมทั้งภาระงานของคณะกรรมการ วลพ.
.
– เพิ่มอัตรากำลังพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลประเด็นความเท่าเทียมระหว่างเพศโดยตรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าพนักงานที่ประจำอยู่ในส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมาย การสร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นนี้ รวมทั้งการดูแลรับเรื่องร้องเรียนการเลือกปฏิบัติครอบคลุมทั่วถึงมากขึ้น
.
– เพิ่มการทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น โดยการแก้ไขกฎหมายหรืออนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องให้เปิดช่องมากขึ้น และกำหนดนโยบายและแผนการปฏิบัติงานใหม่
.
– ปรับให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ให้มีสถานภาพเป็นหน่วยงานที่มีความอิสระ หรือไม่ต้องทำงานอยู่ภายใต้กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง โดยอาจกำหนดให้มีอำนาจแบบเดียวกับกลไกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เพื่อให้การดำเนินการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย
.
ที่มา: สาวตรี สุขศรี, ‘พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558:ปัญหาของบทบัญญัติและการบังคับใช้’, (2564)