พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 72 จาก #TULAWInfographic
.
“คลุมหัวด้วยถุงดำจนผู้ต้องหาเสียชีวิต” ประโยคที่ทำให้ทุกคนเข้าใจและนึกย้อนไปถึงอดีตการสอบสวนที่โหดร้ายของกระบวนการยุติธรรมของไทย การสอบสวนที่รุนแรงเช่นนั้นทำได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาว่าคดียาเสพติดคือคดีที่ร้ายแรงและต้องเร่งกำจัดให้หมดไป
.
#TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากเสวนาวิชาการเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยวกับโศกนาฏกรรมการสอบสวน: ปัญหาและทางออก”
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกบทคัดย่อซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://bit.ly/3yxfoxX
.
หลักสำคัญของการสอบสวน
กระบวนการในชั้นสอบสวนเป็นหนึ่งในขั้นตอนของการดำเนินคดีอาญาในภาพรวม จึงต้องอยู่บนหลักพื้นฐานของวิธีพิจารณาความอาญาด้วย ซึ่งเป็นหลักที่ใช้กับทุกองค์กรในกระบวนการยุติธรรมในทุกขั้นตอน โดยอยู่บนการรักษาสมดุล 2 ประการ คือ
.
1. การรักษาประโยชน์ของสาธารณะ
การค้นหาความจริงเป็นเรื่องสำคัญในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยต้องอาศัยการร่วมมือในทุกกระบวนการ ถ้าหากมีข้อเท็จจริงว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดก็ต้องดำเนินการลงโทษอย่างเหมาะสม แต่ถ้าข้อเท็จจริงพบว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ตั้งแต่ในชั้นสอบสวนก็ต้องมีการคืนความบริสุทธิ์ด้วยการยุติคดีอย่างเหมาะสม
.
นอกจากนี้การดำเนินคดียังจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วอีกด้วย เพราะกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าจะสร้างความเสียหายให้กับสังคม ผู้เสียหาย และผู้ถูกดำเนินคดี ดังนั้นการดำเนินคดีที่รวดเร็วจึงเป็นการรักษาประโยชน์ของสาธารณะอีกประการหนึ่งด้วยเช่นกัน
.
2. การรักษาประโยชน์ของปัจเจกชนหรือประชาชน
ประกอบไปด้วย “หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์” ซึ่งเป็นหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาล หลักการนี้ถูกปรับใช้ตั้งแต่ในชั้นสอบสวนด้วยเช่นกัน ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจึงมีหน้าที่หาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความจริงให้ได้นั่นเอง
.
ประโยชน์ของปัจเจกอีกประการหนึ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องรักษาคือ “สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมตั้งแต่ในชั้นสอบสวน” ซึ่งมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อาทิ สิทธิในการมีทนาย สิทธิในการได้รับการแจ้งข้อหา ฯลฯ แต่ในปัจจุบันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กลับตัดสิ่งพวกนี้ออกไปด้วยเหตุที่ว่ามีอยู่ในวิธีพิจารณาความอาญาอยู่แล้ว
.
สิทธิเด็ดขาดในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
การทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะกับประโยชน์ของผู้ถูกดำเนินคดีนั้นขึ้นอยู่กับกฎหมายแต่ละประเทศ ในบางประเทศเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินอาจจะมีการมุ่งเน้นไปที่การรักษาประโยชน์สาธารณะโดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มมากขึ้น และลดการคุ้มครองสิทธิของปัจเจกชนลงก็เท่าได้เช่นกัน
.
แต่ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะมากขึ้น หรือเพิ่มการคุ้มครองประโยชน์ปัจเจกชนมากขึ้นตามกฎหมาย หรือตามบริบทสถานการณ์ของแต่ละประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่จะไม่ถูกกระทบคือ สิทธิเด็ดขาดในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (absolute right)
.
สิทธิเด็ดขาดนี้หมายความว่า ไม่ว่าสถานการณ์ใด ๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะอ้างสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อดำเนินการใด ๆ อันกระทบสิทธิเหล่านี้ไม่ได้เด็ดขาด เช่น สิทธิที่จะไม่โดนทรมาน สิทธิที่จะไม่บังคับบุคคลให้สูญหาย เพราะแม้จะอ้างเรื่องประโยชน์สังคมขึ้นมาแต่สิทธิเด็ดขาดนั้นถือว่าเป็นขอบเขต และเป็นจุดตัดของการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถจะกระทำได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใด ๆ นั่นเอง
.
3 สาเหตุการทรมานผู้ต้องหาในประเทศไทย
ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทยคือ “ปัญหาการทรมานผู้ต้องหา” โดยอาจมีสาเหตุหลัก 3 ข้อคือ
.
- กฎหมายยังมีช่องว่าง
ระยะเวลาในการควบคุมตัวตามกฎหมายนั้นอาจเปิดช่องให้เกิดการทรมานโดยเจ้าหน้าที่ได้ โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ได้ 3 วันในสถานที่ที่ไม่ต้องเปิดเผย และยังสามารถส่งตัวให้พนักงานสอบสวนควบคุมไว้ได้อีก 48 ชั่วโมงหรือ 2 วัน รวมแล้วผู้ต้องอาจถูกควบคุมตัวไว้ถึง 5 วัน ถึงจะได้พบศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุมนั้น
.
โดยแต่ในทางปฏิบัติ การสอบสวนคดียาเสพติดจะไม่ได้สอบสวนที่สถานีตำรวจ แต่จะทำที่ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษในการสอบสวนคดีซึ่งเป็นตู้คอนเทนเนอร์ โดยปรากฎอย่างชัดเจนในสำนวนคดีของศาล และการสอบสวนดังกล่าวก็ไม่ทำให้การรับฟังพยานหลักฐานนั้นเสียไป เพราะเจ้าพนักงานมีอำนาจสอบสวนในตู้คอนเทนเนอร์แล้ว จึงไม่ใช่การกระทำที่ไม่ชอบในการรีดเอาพยานหลักฐานมาอีกด้วย
.
- รูปแบบองค์กรของตำรวจ
ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นส่วนใหญ่อาจเป็นเพราะความก้าวหน้าในอาชีพการงานเพราะโอกาสในการเจริญก้าวหน้าส่วนใหญ่มักขึ้นอยู่กับหัวหน้าหรือฝ่ายการเมือง ทำให้ตำรวจไม่ตอบโจทย์เรื่องของประโยชน์ที่จะทำให้กับประชาชนโดยตรง เพราะความเจริญก้าวหน้าดันไม่ได้ขึ้นอยู่กับประชาชน จึงอาจทำให้เกิดการแทรกแซง หรือความกดดันในความอยากเจริญก้าวหน้าจนนำไปสู่การทรมานผู้ต้องหาได้นั่นเอง
.
- ตัวชี้วัดของกระบวนการยุติธรรม
ตัวชี้วัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจในปัจจุบันคือ “ปริมาณคดี” ดังนั้นแนวทางในการทำงานก็จะมุ่งไปที่ปริมาณคดีมากกว่า เป็นสาเหตุให้เกิดการเร่งจับ หรือการเพิ่มปริมาณคดีทำให้ยอดถึงตามเป้า เพื่อไม่ให้ตัวเองโดนลงโทษหรือถูกขัดขวางจากการเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้นจริงได้ เพราะเจ้าหน้าที่จะมีความกังวลในการเพิ่มปริมาณคดีให้ครบเท่านั้น และยังอาจกระตุ้นให้เกิดการทรมานผู้ต้องหาเพื่อให้ตนเองสามารถปิดคดีได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
.
4 ข้อเสนอแนะ
จากการเสวนามีข้อเสนอแนะ 4 ข้อคือ
.
- แก้ไขกฎหมายยาเสพติด
ควรมีการแก้ไขกฎหมายโดยกำหนดให้การควบคุมผู้ต้องคดียาเสพติดนั้น เมื่อสามารถควบคุมผู้ต้องหาได้ให้ดำเนินการส่งตัวผู็ต้องหาให้แก่พนักงานสอบสวนโดยทันที โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการควบคุมตัวไว้ 3 วันในสถานที่ใดก็ได้อีกต่อไป และกำหนดสถานที่ให้ชัดเจนว่าต้องกระทำการสอบสวนที่สถานีตำรวจเท่านั้น
.
- การบันทึกภาพในระหว่างการปฏิบัติงาน
การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจควรจะมีการติดกล้องบันทึกตลอดระยะเวลานั้น เพราะการติดกล้องเป็นการคุ้มครองประชาชนจากการกระทำโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ และยังเป็นการคุ้มครองเจ้าหน้าที่จากการถูกประชาชนร้องเรียนด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการร้องเรียนเท็จหรือร้องเรียนเพื่อข่มขู่เจ้าหน้าที่ ซึ่งในปัจจุบันเองพระราชบัญญัติป้องกันและปราบการทรมานฯ และคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้กำหนดมห้มีการติดกล้องบันทึกภาพขณะปฎิบัติหน้าที่ไว้แล้วเช่นกัน
.
3. ปฏิรูปวงการตำรวจ
ควรปรับเปลี่ยนให้ความก้าวหน้าของตำรวจไม่ขึ้นอยู่กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งอีกต่อไป ปรับเปลี่ยนให้การแต่งตั้งโยกย้ายและความเจริญก้าวหน้ามีเกณฑ์ที่ชัดเจน ไม่ขึ้นกับดุลพินิจโดยเด็ดขาดของผู้บังคับบัญชา โดยควรมีเรื่องความอาวุโสกำหนดไว้ในเรื่องการเลื่อนขั้นด้วยเช่นกันซึ่งจะช่วยส่งเสริมกำลังใจของคนที่ทำงานในองค์กรตำรวจ แต่ต้องมีการถ่วงดุลกันระหว่างอาวุโสกับความรู้ความสามารถ
.
นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ต้องให้ประชาชนซึ่งเกี่ยวข้องในการรับบริการจากเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยตรงมีระบบการให้คะแนนด้วย โดยต้องมีการประเมินความพึงพอใจของประชาชนเพื่อที่จะส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าของตำรวจ หรือของคนที่ทำหน้าที่ด้วย เพื่อให้การทำงานของเจ้าหน้าที่นั้นยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง
.
4. เปลี่ยนตัวชี้วัดของกระบวนการยุติธรรม
โดยปรับเปลี่ยนให้ตัวชี้วัดคือ คุณภาพของคดี และเพิ่มตัวชี้วัดในเรื่องของการร้องเรียน หากเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกร้องเรียนมากก็ถือว่าไม่มีประสิทธิผลในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน และนำเรื่องกล้องบันทึกภาพขณะปฏิบัติงานมาใช้เพื่อป้องกันการกล่าวหาหรือร้องเรียนเท็จจากประชาชนด้วยเช่นกัน
.
โดยหากปริมาณการร้องเรียนมากจะสร้างผลท่ีไม่ดีต่อเจ้าหน้าที่ ก็จะกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ต้องคุ้มครองตัวเอง โดยการหากล้องมาติดในการปฏิบัติงาน เพื่อที่หากมีเรื่องร้องเรียนขึ้นมาตำรวจจะได้มีหลักฐานในการยืนยันการปฏิบัติงานของตนว่าสุจริตหรือไม่นั่นเอง
.
นอกจากนี้ควรมีการกำหนดแบ่งแยกสายงานให้ชัดเจน โดยอาจแบ่งแยกให้เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสายสืบสวนที่แยกออกมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสายปฏิบัติอื่น ๆ เพื่อทำให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านสืบสวนนั้นสามารถมุ่งเน้นไปที่การทำงานสอบสวนเพียงอย่างเดียว ซึ่งทำให้เกิดคุณภาพในการทำงานที่มากขึ้นได้
.
ทั้งนี้การทรมานผู้ต้องหานั้นเป็นการขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศทั้ง บทบัญญัติของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เพราะการทรมานไม่ได้ให้ความจริง ผู้ต้องรับสารภาพไม่ใช่เพราะการอยากพูดความจริง แต่สารภาพเพราะความเจ็บปวด ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดระบบการจับแพะ และความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมอย่างมหาศาลตามมา ดังนั้นประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญกับปัญหานี้และเร่งแก้ไขอย่างจริงจังนั่นเอง
.
ที่มา: เสวนาวิชาการ เรื่อง “กระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยวกับโศกนาฏกรรมการสอบสวน: ปัญหาและทางออก”